I AM THE DIRECTOR ฝันฉันคือผู้กำกับ (2553/2010) หนังสารคดี I am the Director หรือ ฝันฉันคือผู้กำกับ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ 4 เด็กหนุ่ม กับ 5 ผู้กำกับชื่อดังของเมืองไทยที่ร่วมกันถ่ายทอดความฝัน และประสบการณ์ที่มีอยู่ ออกมาในรูปแบบเรียลลิตี้สารคดีสุดมันส์ ซึ่งมีการฟาดฟันและปะทะฝีปากกันในเรื่องของความคิดของคนมีฝันกับคนทำจริง ในหนังเรื่องนี้จะได้พบกับบุคคลที่มีประสบการณ์ในการเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ดัง ๆ หลายเรื่องมารวมกันถึง 5 ท่าน ได้แก่ อาทิตย์ อัสสรัตน์ (Wonderful Town), ศักดิ์ชาย ดีนาน (สบายดีหลวงพระบาง), ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล (13 เกมสยอง, รักแห่งสยาม), วิทยา ทองอยู่ยง (แฟนฉัน, เก๋า เก๋า ) และ คมกฤษ ตรีวิมล (แฟนฉัน, เพื่อนสนิท) พวกเขาจะมาบอกเล่าประสบการณ์ในการสร้างหนังให้ได้ซักเรื่อง กว่าจะออกมาเป็นหนังดี ๆ นั้นต้องใช้อะไรมาเป็นองค์ประกอบบ้าง ทำยากง่ายยังไง ต้องพร้อมในด้านใดบ้าง พร้อมกับวัยรุ่นคนมีฝันอีก 4 คน ที่เคยทำหนังสั้นและอยากทำหนังใหญ่ซักครั้งในชีวิต ได้แก่ โจ เด็ก ม.6 โรงเรียนทวีธาภิเศก, เสือ นักศึกษาสาขาภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต, เฟิร์ส นักศึกษาเอกนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา และ บอย เด็กจบใหม่จากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชมงคลธัญบุรี คลอง 6 "ความฝัน" ของพวกเขาจะเป็นจริงได้ไหม มันจะเป็นจริงได้อย่างไร และ "ทางเดิน" ทางไหนที่ "ผู้กำกับหนังใหญ่" จะชี้ทางให้พวกเขา ต้องมาร่วมกันค้นหาความหมายใน I am the Director ฝันฉันคือผู้กำกับ ภาพยนตร์สารคดีที่รอคอยการพิสูจน์! ท้าทุกสายตา! ท้าทุกความฝัน! ประชันกันทุกคารม!
พลเมืองจูหลิง CITIZEN JULING (2552/2009) จูหลิง ปงกันมูล หญิงสาวชาวพุทธจากเชียงราย ครูสอนศิลปะช่างฝัน ผู้เปี่ยมด้วยอุดมการณ์ ความรักในแผ่นดินและเพื่อนมนุษย์ นอนจมกองเลือดท่ามกลางของเล่นที่ตกกระจายบนพื้นโรงเรียนอนุบาลประจำหมู่บ้านมุสลิมเล็กๆในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เรื่องโหดร้ายนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ? นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ วุฒิสมาชิกและนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน ออกเดินทางค้นหาคำตอบ ทั้งในภาคใต้ ในกรุงเทพ และขึ้นเหนือไปยังหมู่บ้านของพ่อแม่ครูจูหลิงที่เชียงราย ระหว่างทางเขาได้รับฟังความทุกข์จากคำเล่าของผู้สูญเสียทั้งที่เป็นชาวพุทธและชาวมุสลิม ซึ่งล้วนเป็นคนไทยด้วยกันทั้งนั้น ถึงแม้ว่าสิ่งที่ปรากฎนั้นเป็นเรื่องเศร้า และสารคดีเรื่องนี้ดูจะหาตอนจบที่สุขสันต์อย่างภาพยนตร์ที่สร้างมาจากนิยายไม่ได้ แต่จิตวิญญาณของคนไทยทุกคนใน‘พลเมืองจูหลิง’ ซึ่งสุดท้ายแล้วพร้อมเสมอที่จะให้อภัย คือความงดงามที่น่าพิศวง ‘พลเมืองจูหลิง’ ไม่ได้เป็นเพียงการสืบสวนเหตุการณ์ไม่สงบในสามจังหวัดภาคใต้เท่านั้น สารคดีไม่ธรรมดาเรื่องนี้ พาเราขึ้นเหนือล่องใต้ลงลึกเข้าไปในจิตวิญญาณของความเป็นไทย ซึ่งบางครั้ง อาจแปลกประหลาดเกินความคาดหมาย ตั้งแต่ฉากแรกที่ลานพระบรมรูปทรงม้า วันที่ 9 มิถุนายน 2549 ท่ามกลางพลเมืองที่จงรักภักดีและปลื้มปีติ ถึงฉากสุดท้าย ท่ามกลางฝูงชนที่กำลังเฉลิมฉลองรถถังและทหารที่ทำการรัฐประหาร 19 กันยายน โดยไม่ได้คาดหมาย การถ่ายทำ ‘พลเมืองจูหลิง’ ได้กลายเป็นการบันทึกบรรยากาศของสี่เดือนสุดท้ายภายใต้รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เข้มข้นมากในอารมณ์และความรู้สึก
สาระแน ห้าวเป้ง!! (2552/2009) จากใบสมัครกว่า 500 ใบ ถูกคัดเหลือเพียง 100 กว่าคน ในท้ายที่สุดกลายมาเป็น สตาร์บัคส์ กับ หลังเลนส์ 2 บัณฑิตจบใหม่จากศิลปากร ว่าที่พนักงานตำแหน่งครีเอทีฟประจำทีมงานสาระแน กับงานแรกในชีวิตโดยได้รับมอบหมายให้ทำ 4 ภารกิจสำคัญนั่นคือการแคนดิต 4 ซุปเปอร์สตาร์ชื่อดังของเมืองไทยและเอเชีย นั่นคือ ถ้าหม่ำ จ๊กม๊ก นักแสดงตลกเจ้าของฉายาผู้กำกับ300ล้านตกอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องแสดงบทผาดโผนแอ็คชั่นเสี่ยงตายที่ตัวเองปฏิเสธโดยการใช้ตัวแสดงแทนมาทั้งชีวิต, ไม่เคยมีใครลูบคม แอ๊ด คาราบาว ต้นตำรับศิลปินเพลงเพื่อชีวิตอันดับ1ของเมืองไทยผู้เป็นตำนานได้ เพราะฉะนั้นจงไปเอาหนวดของพี่แอ๊ดมา, 2 สิ่งที่ โก๊ะตี๋ ตลกอารมณ์ดีขวัญใจมหาชนที่มีหนัง ละคร งานพิธีกร โชว์ตัวมากที่สุดจะต้องเผชิญถึงขนาดต้องปาดน้ำตาด้วยความกลัวสุดขีด, Baby Vox Re.V ศิลปินเกิร์ลกรุ๊ปสุดเซ็กซี่จากประเทศเกาหลีที่มีแฟนๆทั่วเอเชียและห่วงภาพลักษณ์ตัวเองมากที่สุด กลับโดนถูกแอบถ่ายคลิป ซึ่งทั้งหมดต้องเกิดขึ้นโดยที่ห้ามให้ศิลปินทั้งหมดจะรู้ตัว ตลอดระยะเวลา 120 วันในการทำงาน นับตั้งแต่ลุกขึ้นจากเตียงไปจนถึงเข้านอนในแต่ละคืนตลอด 24 ชั่วโมง ได้ถูกกล้องจำนวนนับสิบนับร้อยตัวบันทึกชีวิตของทั้งคู่ไปพร้อม ๆ กับเหล่าซุปเปอร์สตาร์ทั้ง4ที่ตกเป็นเหยื่อของ ทีมงานสาระแนที่รวมหัวกันทั้งบริษัทและกลายเป็นส่วนหนึ่งของภาพยนตร์เรียลลิตี้คอมิดี้อารมณ์ดี สาระแนห้าวเป้งเป็นที่เรียบร้อย มาตามดูกันว่า 2 พนักงานใหม่จะผ่านช่วงทดลองงาน จนได้บรรจุเป็นพนักงาน สาระแน หรือไม่? แผนการที่จะห้าวเป้งเหล่าซุปเปอร์สตาร์ทั้ง 4 จะเป็นอย่างไร? อะไรที่ทำให้พี่หม่ำถึงงอนได้ซะขนาดนั้น? และจริงไหมว่าสิ่งที่โก๊ะตี๋ต้องเจอ ยืนยันว่าทั้งห้าวและเป้งกว่าที่พี่หม่ำเจอเสียอีก? โดยเฉพาะอย่างยิ่งนึกภาพไม่ออกจริง ๆ ว่ายังจะมีใครในโลกนี้ที่ใจกล้ามาเลือกห้าวเป้งกับพี่แอ๊ดได้จริง ๆ เหรอเนี่ยะ? และที่สำคัญแฟน ๆ จะได้สัมผัสกับธรรมชาติ ความสดใส ที่แสนน่ารักของศิลปินสาวเกาหลีสุดฮอต Baby Vox Re.V ในโรงภาพยนตร์เป็นครั้งแรก แม้แต่ตอนโดนห้าวเป้ง แน่นอนว่าความหนุกหนานมันส์ฮาทั้งหมดทั้งมวล จะขาดเหล่าสาระแนตัวดี วิลลี่-เปิ้ล-หอย ที่มาร่วมแจมในภารกิจ ห้าวเป้งขึ้นจอหญ่าย...ย ครั้งแรกในรอบ11ปีบนจอภาพยนตร์ได้อย่างไร... เจอกันแน่นอน
มูอัลลัฟ (2551/2008) ชีวิตของ จูน (ธัญวดี เหมรา) หญิงสาววัย 29 ปี ที่ใช้ชีวิตอย่างอิสระเสรีในกรุงเทพฯ ต้องเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง หลังจากเธอตัดสินใจแต่งงานกับ เอก (เอกสิทธิ์ เหมรา) ชายหนุ่มมุสลิมผู้เคร่งศาสนาจากจังหวัดสตูล จูนต้องเปลี่ยนศาสนา จากศาสนาพุทธซึ่งเธอนับถือมาตั้งแต่เด็ก ไปเป็นศาสนาอิสลามซึ่งเธอไม่เคยมีความรู้แม้แต่น้อย หลังจากแต่งงาน จูนลาออกจากการเป็นพนักงานฝ่ายศิลป์ของนิตยสารฉบับหนึ่ง และเดินทางตามสามีไปยังจังหวัดสตูล ที่นั่นเธอได้สัมผัสกับประสบการณ์ใหม่มากมาย ในฐานะของ มูอัลลัฟ หรือบุคคลที่เข้ารับอิสลาม ไม่เพียงแค่ห้ามรับประทานเนื้อหมูและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เท่านั้น ที่จังหวัดสตูล จูนได้ถือศีลอดเป็นครั้งแรก ได้เข้าร่วมพิธีทางศาสนาอิสลาม และฝึกอ่านภาษาอาหรับ ไปจนถึงได้ก้าวข้ามจากหญิงสาววัย 30 ปีที่ไม่มั่นใจในชีวิต ไปสู่บทบาทของแม่ที่สมบูรณ์แบบ
แอบถ่าย เดี่ยว 7 (2551/2008) แอบถ่าย เดี่ยว 7 เป็นภาพยนตร์สารคดี/ตลก ออกฉายในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2551 แบบจำกัดโรงที่โรงภาพยนตร์ลิโด้ เป็นภาพยนตร์ที่ถ่ายทำเบื้องหน้า และเบื้องหลังการแสดงโชว์ เดี่ยวไมโครโฟน 7 ของอุดม แต้พานิช ผู้เป็นพี่ชายของสันติ แต้พานิช โดยใช้กล้องวิดีโอ และกล้องดิจิตอล โดยที่ตัวอุดม แต้พานิช เอง ก็ไม่ทราบว่าน้องชายตั้งใจจะถ่ายเพื่อนำมาตัดต่อเป็นภาพยนตร์เรื่องนี้
ปักษ์ใต้บ้านเรา (2551/2008) ปักษ์ใต้บ้านเรา จัดจำหน่ายโดย Documentary Film กำหนดฉายหนัง 26 มิถุนายน 2551 เรื่องย่อหนัง ปักษ์ใต้บ้านเรา ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ถ่ายทอดชีวิตจริงๆ ของชาวใต้โดยไม่มีการปรุงแต่งใดๆผ่านวิถีของ4ครอบครัวที่อยู่ต่างพื้นที่กันหากแต่มีความดีงามที่เกี่ยวเนื่องและมีน้ำใจ ส่งต่อให้แก่กันภาพจากความเป็นจริงเหล่านี้ ถูกนำมาเรียงร้อยเป็นเรื่องราวเพื่อบอกเล่าว่าภาคใต้ของไทยยังคงสวยงามและ ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่ใครหลายๆคนเข้าใจ บังหมาด มีภรรยาและลูก5 คนใช้ชีวิตอยู่อย่างเรียบง่ายในหมู่บ้านทะเลนอก จ.ระนอง หาเลี้ยงครอบครัวด้วยการออกทะเลหาปลาในทุกๆวันบังจะทำละหมาด5 ครั้ง เพื่อขอพรจากพระอัลเลาะห์ให้เกิดสันติสุข ในครอบครัวและเพื่อนมนุษย์ แต่แล้ววันหนึ่งหมู่บ้านทะเลนอกต้องเจอกับคลื่นยักษ์สึนามิ ยังโชคดีที่ครอบครัวของบังรอดชีวิตจากเหตุการณ์ร้าย และได้กลับมาอยู่พร้อมหน้ากันอีกครั้ง สามีของพี่อ้อยพยาบาลผู้เคราะห์ร้ายเป็นตำรวจที่ย้ายไปประจำการที่ปัตตานีและถูกผู้ร้ายยิงเสียชีวิตพี่อ้อยมีลูก 2 คนที่ต้องดูแลและกำลังอยู่ในวัยเรียน เมื่อเสาหลักของบ้านต้องหักลง พี่อ้อยจึงจำเป็นที่จะต้องลุกขึ้นมาเป็นหลักเสาใหม่ให้ลูกๆ เธอต้องยอมรับความเป็นจริง และพยายามเป็นให้ได้ทั้งพ่อและแม่ เพื่อให้ลูกๆ ได้มีขวัญและกำลังใจในการดำเนินชีวิตต่อไป พี่ก้อย หนุ่มใต้เชื้อสายจีนเกิดและเติบโตในนครศรีธรรมราช และมาก่อร่างสร้างตัวที่กระบี่พี่ก้อยเกิดมาในครอบครัวที่มักคุ้นกับการทำอาหารจึงเริ่มต้นเปิดร้านอาหารด้วยการคิดเองทำเอง และให้บริการลูกค้าด้วยตัวของตัวเอง กระทั่งร้านเล็กๆเติบโตขยายใหญ่ทว่า พี่ก้อยก็ยังคงเข้าครัวทำอาหารและออกไปดูแลให้บริการลูกค้าด้วยตัวเองเสมอเพราะพี่ก้อยเชื่อมั่นในการทำอะไรด้วยใจ หาดทิพย์บริษัทที่ได้รับลิขสิทธิ์ให้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มโค้กใน14 จังหวัดภาคใต้ มีบ้านหลังใหญ่ตั้งอยู่ที่อ.หาดใหญ่ จ.สงขลามี ร.ต.ไพโรจน์ รัตตกุล เป็นเหมือนพ่อที่คอยดูแลใส่ใจในทุกเรื่องของพนักงานและของเพื่อนบ้านที่เป็นคนใต้ในทุกพื้นที่ทุกครั้งที่ภาคใต้ ต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่พนักงานหาดทิพย์ทุกคนจะพร้อมใจกันหยุดงาน เพื่อลงไปช่วยเหลือเพื่อนชาวใต้ในทุกรูปแบบ
ความจริงพูดได้ (คดีสุภิญญา) (2551/2008) หากใครได้ติดตามข่าวสารบ้านเมืองในช่วง 2–3 ปีที่ผ่านมาคงจะเคยผ่านตาหรือได้ยินชื่อของ “เก๋ - สุภิญญา กลางณรงค์” มาบ้าง โดยเฉพาะในเรื่องการต่อสู้และท้าทายอย่างหาญกล้าของเธอกับบริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศ ที่ส่งผลให้บทบาทและภาพลักษณ์ของเธอในความรู้ของคนทั่วไป คือ ผู้หญิงแกร่งที่กำลังทวงคืนเสรีภาพแห่งการพูดความจริงจากอำนาจที่ครอบงำสังคมให้มืดมน จากการเคลื่อนไหวต่อสู้ดังกล่าว ได้นำไปสู่การนำเสนอชีวิตของเธอจากมุมมองแบบสารคดี โดยฝีมือของผู้กำกับหญิงอย่าง พิมพกา โตวิระ ภายใต้ชื่อผลงาน “ความจริงพูดได้ (คดีสุภิญญา)” (The Truth Be Told: The Cases against Supinya Klangnarong) แน่นอนว่าจากชื่อผลงานก็ทำให้คิดไปว่าภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ย่อมหนีไม่พ้นจากประเด็นคดีความที่บริษัทชินคอร์เปอเรชั่น ฟ้อง นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) เป็นจำเลยที่หนึ่งร่วมกับหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ในข้อหาหมิ่นประมาท จากการตีพิมพ์บทความของเธอเรื่อง "เอ็นจีโอประจาน 5 ปีรัฐบาลไทยชินคอร์ปรวย" ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ โดยถูกเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 400 ล้านบาทในคดีแพ่ง และติดคุกในคดีอาญา ซึ่งคดีความดังกล่าวศาลได้พิพากษาให้ยกฟ้องไปแล้วเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2549 แม้ว่าชื่อของผลงานจะทำให้คนพลอยคิดไปในประเด็นของ “คดีความ” แต่เอาเข้าจริงเมื่อได้ดูหนังเรื่องนี้แล้วก็ทำให้เข้าใจและเห็นภาพที่มากกว่า เรื่องราวได้นำเสนอภาพของหญิงสาวคนหนึ่งที่กำลังต่อสู้ทางคดีกับบริษัทยักษ์ใหญ่ แม้ว่าภายนอกของเธอจะดูเป็นผู้หญิงที่แกร่งกล้า แต่สารคดีทำให้เห็นภาพในมุมกลับ ที่ลึกๆ แล้วเธอก็เป็นเฉกเช่นมนุษย์ทั่วไป ที่มีความกลัว ความกดดัน และความหวัง ในฉากเปิดเรื่องที่ทุกสิ่งวนเวียนอยู่บนรถขณะที่เธอ พ่อและแม่ กำลังจะไปให้การกับศาล ได้สะท้อนให้เห็นภาพลักษณ์ธรรมดาของชีวิตมนุษย์มากกว่าที่จะเป็นภาพลักษณ์ของนักต่อสู้ที่หลายคนมองเธอ เช่นเดียวกับฉากบทสัมภาษณ์ที่เกิดขึ้นในห้องพักของเธอ ก็ได้เห็นภาพของผู้หญิงคนหนึ่งที่ย้ายจากต่างจังหวัดเข้ามาอาศัยในเมืองใหญ่ ต้องเผชิญกับภาระหน้าที่และความรับผิดชอบในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการเงิน นอกจากนี้ชีวิตของเธอที่ผิดแผกไปจากผู้หญิงคนอื่นยังเป็นสิ่งที่ต้องเผชิญกับความกดดันจากบรรดาญาติและคนในสังคมต่างจังหวัด ที่แม้จะเห็นด้วยกับการกระทำของเธอ แต่ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงต้องทำเช่นนั้น หรือทำไมเธอไม่ทำตัวเหมือนผู้หญิงคนอื่นๆ ภาพลักษณ์ของ “สุภิญญา” ที่นำเสนอ ชี้ให้เห็นถึงบทบาททางเพศที่ลื่นไหล เปลี่ยนไปมา และสลับบทบาท เป็นชีวิตของหญิงสาวที่มีทั้งแง่มุมอันกล้าหาญ ธรรมดา สิ้นหวัง หรือเต็มไปด้วยพลัง ปะปนกันไป ตัวตนของเธอจึงเป็นสิ่งที่มีความหลากหลายเช่นเดียวกับคนอื่นๆ แต่กระนั้นแม้ตัวตนของเธอจะมีความหลากหลายดังที่สะท้อนมาในสารคดีเรื่องนี้ แต่ในความเป็นจริงภาพลักษณ์ของเธอที่บรรดาสื่อหรือองค์กรพัฒนาเอกชนทั้งหลายพยายามนำเสนอกลับเลือกเพียงแง่มุมของหญิงสาวผู้กล้าหาญออกมาเท่านั้น กลายเป็นตราประทับ “สุภิญญา” เท่ากับความ “แข็งแกร่ง กล้าหาญ” และบดบังแง่มุมอื่นๆ ของชีวิตออกไป ที่ดูเหมือนจะไม่ต่างกับตราประทับของความเป็น “ชาย” ที่ต้องอดทด หรือ “หญิง” ที่ต้องอ่อนช้อยตามแบบที่คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจ แต่อย่างไรทั้งหมดนี้ สารคดี “ความจริงพูดได้ (คดีสุภิญญา)” ได้ทลายเส้นแบ่งของภาพลักษณ์ดังกล่าวลง พร้อมเผยให้เห็นความหลากหลายซับซ้อนในตัวตนของหญิงสาวคนหนึ่ง ที่อาจเป็นภาพแทนให้กับคนในสังคมหรือเพศหนึ่งๆ ที่มีความแตกต่างหลากหลายในตัวเองได้
Final Score 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์ (2550/2007) เรื่องราวการเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย ของเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 4 คน ในช่วงปีการศึกษา พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นปีแรกที่ใช้การสอบแอดมิดชันส์ แทนการสอบเอ็นทรานซ์ และชีวิตที่ถูกฟันธงของเด็ก ปี 2549 ปีนี้ไม่เหมือนปีไหน ๆ เพราะมันเป็นปีที่ปฏิทินการเมืองร้อนระอุด้วยม็อบกู้ชาติ ปีที่ใคร ๆ ก็ถามไถ่ "ไปพารากอนมารึยัง?" ปีที่ขวัญและกำลังใจของนักเรียน ม.6 แหลกสลาย เมื่อพระพรหมเอราวัณถูกทุบทำลาย ที่สำคัญมันเป็นปีแรกของการประกาศใช้ระบบแอดมิชชั่นส์ ปีนี้... วัยรุ่นไทยวัย 17 ที่อยากเอ็นทรานซ์ต้องสอบ โอเน็ต-เอเน็ต สดจากโรงเรียน กองถ่ายภาพยนตร์สุดอึดจาก GTH ทุ่มเทเวลา 1 ปีเต็มเฝ้าติดตามชีวิตของนักเรียน ม.6 จำนวน 4 คนในปีที่พวกเขาก้าวเข้าสู่สนามการแข่งขันที่ดุเดือดที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต โดยไม่รู้ว่าพระเจ้าจะดลบันดาลใจให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง
เด็กโต๋ อย่าเพิ่งรีบโต มาโต๋กันก่อน (2548/2005) ภาพยนตร์ดังกล่าวถ่ายด้วยกล้องวิดีโอดิจิตอล เล่าเรื่องราวของประยูร คำชัย ครูใหญ่โรงเรียนบ้านแม่โต๋ในแถบภูเขาชนบทของจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีครอบครัวเป็นชาวเขาฐานะยากจน (ส่วนใหญ่เป็นกะเหรี่ยงและม้ง) ดำรงชีพด้วยการเป็นเกษตรกรในสภาพภูมิประเทศที่มีความทุรกันดารและห่างไกล เด็กนักเรียนมักจะต้องเดินทาง 80 - 90 กิโลเมตรโดยใช้ถนนบนภูเขาที่แคบและคดเคี้ยว ซึ่งในฤดูฝนจะทำให้ถนนดังกล่าวใช้สัญจรไปยังโรงเรียนไม่ได้ และบ่อยครั้งที่ผู้ปกครองของนักเรียนยากจนเกินกว่าจะจ่ายค่าเล่าเรียนได้ ประยูรจึงมองหาหนทางที่จะรับประกันว่าเด็กนักเรียนในโรงเรียนขนาดใหญ่แห่งนี้จะได้รับการศึกษาอย่างเหมาะสม ประยูร ผู้ซึ่งถูกขอร้องให้ไปทำหน้าที่ในโรงเรียนแห่งนี้เมื่อเขาเริ่มสอนในปี พ.ศ. 2526 ในตอนแรกเขาสังเกตว่าเด็กนักเรียนไม่มีอาหาร ดังนั้นเขาจึงริเริ่มโครงการอาหารกลางวันฟรี ด้วยการสร้างโรงเรียนกินนอนและหาหนทางที่เด็กนักเรียนยอมรับได้มากที่สุด โรงเรียนแห่งนี้ได้รับเงินสนับสนุนจำนวนเล็กน้อยจากรัฐบาลไทย วัสดุก่อสร้างหอพักโรงเรียนกินนอนได้มาจากเงินบริจาคที่ได้รับการสนับสนุนจากหลายๆ แห่ง ซึ่งงานก่อสร้างและการพัฒนาอื่นๆ ส่วนใหญ่ เด็กนักเรียนและครูเป็นผู้ลงมือทำเอง นอกเหนือไปจากค่าอาหารส่วนหนึ่งที่ได้รับจากรัฐบาลนั้น นักเรียนต้องปลูกผักและเลี้ยงปศุสัตว์เองด้วย เพื่อนำผลผลิตที่ได้บางส่วนมาปรุงอาหารเลี้ยงดูกันภายในโรงเรียน โรงเรียนบ้านแม่โต๋เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ประยูรกำหนดให้นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาได้รับรางวัลเป็นการเดินทางไปท่องเที่ยวยังจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นระยะทางมากกว่า 1,000 กิโลเมตรเป็นเวลาสามวัน โดยรถบรรทุกหกล้อและรถบัส ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมดเกิดจากการร่วมเก็บออมเงินกันเองภายในโรงเรียน สำหรับนักเรียนแล้ว นั่นคือการเห็นทะเลเป็นครั้งแรกในชีวิต ถือเป็นกุศโลบายอันแยบยลที่ส่งเสริมให้เด็กนักเรียนมุ่งมั่นในการออมและร่ำเรียนให้จบการศึกษา ตลอดจนมีวิชาติดตัวเพื่อประกอบอาชีพหรือศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นไป
Crying Tiger เสือร้องไห้ (2548/2005) ความหมายของ “เสือร้องไห้” คืออะไร 1) การหลั่งของเหลวคล้ายน้ำออกมาทางดวงตา เพื่อแสดงความดีใจและเสียใจของสัตว์บกชนิดหนึ่งที่มนุษย์เรียกมันว่า “เจ้าแห่งป่า” 2) “เนื้อย่างไฟ” จากเตาถ่านร้อนๆ หั่นเป็นชิ้นพอคำ แล้วคลุกคล้าในหม้อกับเครื่องปรุงรสจัดจ้าน มะนาวสวนเปรี้ยว พริกขี้หนูเผ็ดป่น ข้าวคั่วหอมหอม ต้นหอมสดๆ น้ำปลาแท้ น้ำตาลทรายแดง โรยเติมด้วยงาขาวกับยอดใบยี่หรา เสิร์ฟกับข้าวเหนียวร้อนๆ มีขายตามปั๊มน้ำมันทั่วไป 3) เรื่องราวชีวิตจริงของ “คนไทยใจสู้” กรรมวิธีในการทำ “เสือร้องไห้” ทีมงานออกค้นหา “ชาวอีสาน” ที่เข้ามาทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ ตามสถานที่ต่างๆ กว่าร้อยอาชีพ คัดเลือกอาชีพที่ทีมงานคิดว่าน่าสนใจ เพื่อสอบถาม พูดคุย หาข้อมูลที่ลึกลงไปในแต่ละคน ถึงเรื่องราวในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เฝ้าติดตามเพื่อถ่ายทำการดำเนินชีวิตของเขาเหล่านั้นในเมืองหลวง การทำงาน ความรัก ความฝัน ความเจ็บปวดของเขาที่เราไม่เคยรู้เรื่องเหล่านั้นมาก่อน และไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของเขา หรือชีวิตของทีมงาน คัดย่อเรื่องราวที่ใช้เวลานานกว่า 1 ปี ม้วนเทปทั้งหมดกว่า 300 ม้วนให้เหลือเพียงสิ่งที่น่าสนใจแค่เพียง 2 ชั่วโมง รู้จักมั้ยสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “คนอีสาน” “คนอีสาน” ผู้ซึ่งอยู่บนแผ่นดินไม่ติดทะเล แต่ก็ออกเรือตังเกหาปลาได้ ผู้กินแจ่วปลาร้า แต่ทำซูชิให้แขกในร้านญี่ปุ่นกินได้ ผู้ที่คุ้นเคยกับลำเพลิน ลำซิ่ง แต่ก็สามารถเป็นพระเอกงิ้ว ยังคงมีอะไรอีกมากมายที่ชาวอีสานทำไว้ที่เรายังไม่ได้พูดถึง เพราะนอกจากจะเป็นกลุ่มคนกลุ่มใหญ่ที่สุดในประเทศแล้ว พวกเขายังมีความสามารถในการปรับตัวที่เป็นเลิศที่สุด ภาพยนตร์แนว “Reality Film” เรื่องแรกของเมืองไทยที่จะถูกฉายตามโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศจากผลงานการกำกับของ “สันติ แต้พานิช” ผู้กำกับที่มีผลงานมามากมายจากการทำหนังสั้น อาทิ “กท.2541”, “One Way Ticket”, “ร ฟ ท บ ข ส” และสารคดีเบื้องหลังหนัง “มนต์รักทรานซิสเตอร์” ฉบับไม่เป็นทางการ และล่าสุดเรื่อง “เสือร้องไห้” ภายใต้การโปรดิวซ์ของ “ปรัชญา ปิ่นแก้ว” ร่วมด้วย “ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม” และ “พงศ์นรินทร์ อุลิศ” “เสือร้องไห้” เรื่องราวของการติดตามบันทึกเหตุการณ์ชีวิตของ “คนอีสาน” กลุ่มหนึ่งที่ต้องเข้ามาอาศัยและมีอาชีพต่างๆ อยู่ในกรุงเทพฯ ที่ต่างทั้งความฝันและจุดมุ่งหมาย ทีมงานใช้เวลาในการถ่ายทำร่วม 1 ปีเต็มใช้เทปบันทึกภาพไปกว่า 300 ม้วน แต่ต้องตัดออกมาให้ได้เท่ากับภาพยนตร์ที่จะฉายเพียง 1 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น ซึ่งทุกภาพบนแผ่นฟิล์มคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แม้แต่คนที่ปรากฏอยู่ในหนังหรือแม้แต่ทีมงานก็ตาม ไม่มีบท ไม่มีการคัตหรือเทกใหม่ แต่เป็นการปลดปล่อยให้ทุกชีวิตโลดแล่นไปโดยไร้การกำกับการแสดง เสียงหัวเราะ หรือน้ำตาคือสิ่งหนึ่งที่ทีมงานพลาดไม่ได้แม้แต่วินาทีเดียว โดยเรื่องนี้ได้ทำการติดตามบุคคลที่น่าสนใจจากภาคอีสานทั้งหมด 5 คน… “พรศักดิ์ ส่องแสง” นักร้องหมอลำชื่อดังคนแรกของเมืองไทยที่เล่นคอนเสิร์ตมาแล้วทั่วโลก บุคคลที่เคยอยู่บนที่สูงสุดของอาชีพและต่ำสุดแต่ไม่มีใครได้ล่วงรู้ “เหลือเฟือ มกจ๊ก” ดาราและนักแสดงตลกที่มากฝีไม้ลายมือ แรงงานอีสานที่อยู่ในกรุงเทพฯ คือกระจกสะท้อนตัวเอง อาชีพตลกที่ไม่ได้มีแต่เสียงหัวเราะเสมอไป “แมน หัวปลา” อดีตพนักงานโบกรถทีใส่ชุดสัตว์น้ำเชิญชวนลูกค้าหน้าร้านอาหาร ป.กุ้งเผา กับอาชีพใหม่ที่อยากมุ่งไป “ตลกคาเฟ่” “เนตร อินทรีเหล็ก” สตันต์แมนที่ใช้ชีวิตอยู่บนความเสี่ยงทุกวินาทีเพื่อเป็นหนทางนำไปสู่ “จา พนม หมายเลข 2” “พี่อ้อย สิงห์นักขับ” สาวขับแท็กซี่รุ่นใหญ่อารมณ์ดีที่เพื่อนร่วมทางมักแปลกหน้าอยู่เสมอ เส้นทางกลับบ้านคือถนนที่ไกลที่สุด
Mysterious Object at Noon ดอกฟ้าในมือมาร (2543/2000) เป็นภาพยนตร์สารคดี แนวทดลอง ที่กำกับโดยอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ในปี พ.ศ. 2543 เล่าเรื่องราวโดยใช้เทคนิคที่เรียกว่า "Exquisite corpse" เล่าเรื่องราวของ "ครูดอกฟ้า" แบบบอกต่อจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง โดยทีมงานตระเวนถ่ายทำจากภาคเหนือสู่ภาคใต้และภาคอีสาน สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนไทยในภูมิภาคต่าง ๆ ภาพยนตร์ถ่ายทำด้วยฟิล์มขาวดำ 16 ม.ม. โดยไม่มีบทภาพยนตร์ แล้วขยายเป็น 35 ม.ม.
Placeholder
ประชาชนนอก (2524/1981) ภาพยนตร์ที่ได้รับทุนจากสภาคาธอริกแห่งประเทศไทยเพื่อการพัฒนา ที่สะท้อนปัญหาการอพยพของย้ายถิ่นของคนในภาคอีสาน โดยผู้กำกับได้รับแรงบันดาลใจในการเขียนบทจากอัตชีวประวัติของคนรอบข้าง ใช้เวลาในการทำงานยาวนานกว่า 4 ปี และเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากหน่วยงานของรัฐในการเข้าตรวจสอบในระหว่างการถ่ายทำ หลังจากที่ ประชาชนนอก ออกฉายในปี 2524 ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในกลุ่มนักศึกษา กลุ่มองค์กรเพื่อการพัฒนาต่างๆ นอกจากนี้ยังได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์ในประเทศต่างๆ อาทิ ประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น ฮ่องกง และล่าสุดเมื่อปี 2542 ที่เมืองพูซาน ประเทศเกาหลี
ใจไทย (2484)
ใจไทย (2484/1941) เป็นภาพยนตร์ที่จัดสร้างขึ้นเพื่อเผยแพร่กิจการของกรมประชาสงเคราะห์ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2483 กรมประชาสงเคราะห์ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ประกอบด้วย นายแพทย์ยง ชุติมา ขุนสงัดโรคกิตติขุนสอนสุขกิจ และเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ไปแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ผู้อพยพที่หนีความทารุณของฝรั่งเศสในอินโดจีน จากตำบลไพลินมาอยู่ที่จังหวัดจันทบุรีและตราด ขุนประสงค์สุขการี ข้าหลวงประจำจังหวัดจันทบุรี เป็นผู้ต้อนรับเจ้าหน้าที่ของกรมประชาสงเคราะห์ และพาข้ามแม่น้ำจันทบุรีไปชมการทำถนนบนเขาเกลือ ทำเสื่อจันทบูรณ์ การทำพลอย พาไปศาลเจ้าตากสิน ศาลากลางจังหวัดซึ่งกำลังแห่โฆษณาฉายภาพยนตร์การกุศลเพื่อหาเงินช่วยผู้อพยพ จากนั้นจึงพาข้ามแม่น้ำจันทบุรีมาขึ้นรถที่ท่าโรงสีกานหลี ไปเยี่ยมเยียนผู้อพยพที่อำเภอมะขาม ผู้อพยพส่วนมากเป็นชาวกุหล่าที่หนีมาจากตำบลไพลิน ขุนประสงค์สุขการีและขุนสงัดโรคกิตติ ตัวแทนเจ้าหน้าที่กรมประชาสงเคราะห์ขึ้นกล่าวปราศรัย ก่อนจะแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ผู้อพยพ และกลับไปยังจังหวัดจันทบุรี เพื่อเยี่ยมเยียนคนงานทำถนนบนเขาเกลือ วันที่ 26 ธันวาคม 2483 นายพันโท ขุนจำนงภูมิเวท รักษาการอธิบดีกรมประชาสงเคราะห์พร้อมข้าราชการในกรมไปตรวจเยี่ยมราษฎรที่จังหวัดจันทบุรีผู้อพยพ ทหาร และตำรวจในนามของนายกรัฐมนตรี โดยมีนายพันตรีประพันธ์ รองผู้บังคับการทหารม้าปืนใหญ่และข้าราชการจังหวัดจันทบุรีให้การต้อนรับที่ท่าเรือ ค่ำวันนั้นมีการฉายภาพยนตร์ของกรมประชาสงเคราะห์จากนั้นในวันที่ 28 ธันวาคม 2483 กองพลจันทบุรีได้จัดให้มีพิธีเดินผ่านธงชัยเฉลิมพล ที่ค่ายทหาร
รวมไทย (2484)
รวมไทย (2484/1941) บันทึกเหตุการณ์กรณีพิพาทไทย-อินโดจีนของฝรั่งเศส เกียรติประวัติของ ร.พัน 3 หลังจากที่ฝรั่งเศสตอบปฏิเสธรัฐบาลไทยกรณีเรียกร้องดินแดนคืนฝ่ายไทยจึงเริ่มมีการลำเรียงทหารและจัดตั้งองค์การอาสากาชาดเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขพลเมืองไทยตามแนวรบชายฝั่งแม่น้ำโขง แล้วจึงมีการสู่รบทางอากาศที่เมืองนครพนม เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2483 เป็นชนวนให้เกิดการรบใหญ่ในเวลาต่อมาที่สมรภูมิบ้านพร้าวซึ่งกองทัพบูรพายึดธงชัยเฉลิมพลของข้าศึกได้ กองหน้าฝ่ายไทยได้ยึดดินแดนไปจนถึงบริเวณก่อนประตูศรีโสภณประมาณ 6 กม. ก่อนจะมีการพักรบในวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2483 แล้วจึงมีการจัดการเดินสวนสนามฉลองชัย ที่กรุงเทพ ระหว่างพักรบ นายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมทหารในแนวรบ กองทัพบูรพาและประดับเหรียญชัยสมรภูมิแก่แม่ทัพ นายกอง และนายทหาร หลังจากนั้นเหล่าทหารที่ร่วมรบได้เดินทางกลับกรุงเทพ ท่ามกลางการต้อนรับของมหาชน และสวนสนามฉลองชัยรวมทั้งแสดงอาวุธอันทันสมัยที่ใช้ในการรบคราวนี้ ในวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2484
Placeholder
กินอะไร (2472/1929) เป็นภาพยนตร์แถลงการณ์ของกรมสาธารณสุข ซึ่งได้จัดทำขึ้นเป็นพิเศษเป็นเรื่องแรก มีกำหนดจะนำออกฉายตามโรงภาพยนตร์ต่าง ๆ ภาพยนตร์เรื่องนี้ควรต้องนับว่า เป็นภาพยนตร์แถลงการณ์เชิงภาพข่าวกลายๆ อย่างน่าดูได้เรื่องหนึ่ง ซึ่งทุกท่านควรไปชม เพื่อประดับความรู้รอบตัวให้มากยิ่งขึ้นทางสุขศึกษา ในเรื่องของการ "กินอะไร" เพราะทุกๆ คนจะต้องกินกัน ทุกวัน แต่อะไรจะควรกินและไม่ควรกิน ภาพยนตร์เรื่อง นี้จะบอกคุณประโยชน์ให้ท่านผู้ดูทราบโดยถี่ถ้วน (ที่มา: หนังสือพิมพ์รายวัน ศรีกรุง 31 ตุลาคม พ.ศ. 2472) กล่าวถึงสวนผัก สกปรกเพราะรดด้วยน้ำอุจจาระ คนมาซื้อผักจากสวนไปขาย พายเรือไปขาย คน ซื้อเรียกซื้อ ไปถึงตลาด ตลาดสกปรก คนมาซื้อ แม่บ้าน อ้วนๆ มาซื้อไปบ้าน บ้านสะอาดแต่ข้างหน้าข้างหลังใน ครัวสกปรก แม่บ้านทำอาหารไม่ได้ล้างผัก ให้สามีและลูกกินกันสองคน รุ่งเช้าสามีปวดท้อง เข้าส้วม ลูกก็เข้าส้วม ส้วมก็ไม่ถูกสุขลักษณะ สองพ่อลูกเป็นอหิวาต์แม่บ้านไป โทรศัพท์เรียกแผนกโรคติดต่อ กรมสาธารณสุข มารับไป โรงพยาบาลกลาง สรุป กินอะไร? คือกินอุจาระนั่นเอง (ที่มา: หนังสือพิมพ์รายวัน ศรีกรุง หลายวัน ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2472)
ไม่เชื่อน้ำมนต์หมอผี 2470

เรื่องย่อ : ไม่เชื่อน้ำมนต์หมอผี (2470/1927) ไม่เชื่อน้ำมนต์หมอผี เล่าถึงครอบครัวหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ทางจังหวัดธนบุรีตอนเหนือ ตั้งแต่พ่อสมบุญ จิตต์กระด้างยังเชื่อน้ำมนต์หมอผี จนกระทั่งไม่เชื่อน้ำมนต์หมอผี เรื่องมีอยู่ว่า พ่อสมบุญป่วยเรื้อรังเป็นเวลานาน ไม่ยอมทานยารักษาโรคแผนปัจจุบันใดๆ เพราะพ่อสมบุญมีความเชื่อว่าอาการของแกจะทุเลาลงได้ ก็ต่อเมื่อได้รับการเสกเป่าน้ำมนต์เท่านั้น วันหนึ่ง พ่อสมบุญได้ยินกิตติศัพท์ของหมอดั่น ว่าสามารถรักษาผู้เจ็บป่วยหรือถูกผีเข้าได้ พ่อสมบุญจึงให้ลูกชายชื่อ นายสุพินธ์ ไปเชิญหมอดั่นมาตรวจอาการ ก่อนเริ่มพิธี หมอดั่นขอเงินค่าไหว้ครูเป็นเงิน 5 บาทแล้วจึงลงมือปลุกเสกน้ำมนต์ แต่อาการของพ่อสมบุญก็ไม่มีทีท่าจะดีขึ้น จนกระทั่ง แกคิดว่าจะต้องสิ้นชีวิตแน่จึงแจกเงินให้ลูกคนละ 1 บาท เพื่อไปทำบุญอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ตนชอบแล้วให้แผ่กุศลมาให้แก นายสุพินธ์นำเงินไปซื้ออ้อยให้ช้างกิน นายโสพิตร์ให้ทานคนพิการ 10 คน คนละ 10 สตางค์นางสาวสนองบริจาคเงิน 1 บาท แก่สภากาชาดสยามปรากฏว่า พ่อสมบุญเห็นดีงามกับการทำบุญของนางสาวสนอง เพราะยังประโยชน์แก่คนหมู่มาก จึงขอให้ลูกทั้งสามพาไปรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แพทย์ตรวจพบว่าพ่อสมบุญเป็นโรคลำไส้พิการ ไม่ใช่ถูกคุณไสยแต่อย่างใด อาการป่วยของพ่อสมบุญค่อยๆ หายเป็นปรกติ ทำให้เขาเลื่อมใสในวิธีการแพทย์แผนปัจจุบันเป็นอันมาก ต่อมา หมอดั่นบังเอิญผ่านมาหน้าบ้านพ่อสมบุญ เห็นพ่อสมบุญแข็งแรงดีก็คุยโวโอ้อวดสรรพคุณของตน พ่อสมบุญจึงไล่ตะเพิดพร้อมกับตะโกนว่า "ไอ้เรื่องวิธีรักษาของแกอย่างบ้าๆ ฉันไม่ขอพบขอเห็นอีกแล้ว"