คำสั่งคำสาป (2497)
คำสั่งคำสาป (2497/1954) ดร.ทองคำ เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ยึดมั่นในลัทธิประชาธิปไตย มีสานุศิษย์เคารพเป็นจำนวนมาก เมื่อ ดร.ทองคำ เสียชีวิต นายพูน พี่ชายของดร.ทองคำ ซึ่งเป็นผู้ร่วมอุตสาหกรรมน้ำพูนจิตต์ รับ เครือมาศ ลูกสาวคนเดียวของ ดร.ทองคำ มาดูแล นายพูนได้สร้างอนุสาวรีย์ ดร.ทองคำ ขึ้น และพยามยามชักจูงผู้ที่เคยเลื่อมใส ดร.ทองคำ ให้มาเลื่อมใสตน แต่เบื้องหลังกลับวางแผนการกำจัดเครือมาศโดยการวางยาทำลายเส้นประสาท เครือมาศรู้ตัวทันจึงลอบหนีไปหา ขุนลีลาศาสตร์สุนทร เพื่อนรักของ ดร.ทองคำ ขุนลีลาศาสตร์สุนทรอาศัยอยู่กับ ชัยศิริ บุตรชายซึ่งมีอาชีพเป็นนักสืบชัยศิริจึงรับปากจะช่วยเครือมาศ ชัยศิริลอบเข้าบ้านพูนโพคาเพื่อสืบหาหลักฐานสาเหตุการเสียชีวิตของ ดร.ทองคำ นายพูนมาพบเข้าจึงเกิดการต่อสู้กัน นายพูนและแม่ผันแยกกันหนี แม่ผันออกไปทางลับเพื่อเรียกคนมาช่วย ส่วนนายพูนหนีไปทางตึกที่มีรูปปั้น ดร.ทองคำ ชัยศิริซ้อนกลนายพูนต่อหน้าคนที่แม่ผันเรียกมา โดยทำให้รูปปั้นเปิดโปงว่านายพูนทรยศต่อ ดร.ทองคำ และออกคำสั่งให้จัดการนายพูนเสีย แต่นายพูนพยายามแย่งระเบิดจากคนใกล้ๆ พ.ต.ต. ว่อง โดดออกมาจากด้านหลังรูปปั้นเข้าแย่งระเบิดไว้ทัน และใส่กุญแจมือนายพูนติดไว้กับรูปปั้น แต่ไม่ทันไรรูปปั้นนั้นก็ล้มทับนายพูนตายคาที่
สามล้อประจันบาน (2495)
สามเกลอถ่ายหนัง (2495)
สามเกลอถ่ายหนัง (2495/1952) เรื่องราวของคณะถ่ายหนังที่ต้องมาสู้กับผู้ร้ายนอกจอ กรุงเทพ พ.ศ. 2493 เสือฉาย กำลังอาละวาดออกปล้นสะดมสร้างความหวาดกลัวให้ชาวบ้านร้อนถึงตำรวจต้องเร่งปราบปรามขนานนัก เสือฉาย จึงไปหลบซ่อนตัวที่จังหวัดเพชรบุรี ขณะนั้น สมพงษ์ ล้อต๊อก และ ดอกดิน สามเกลอหนุ่มเพิ่งเรียนการสร้างหนังจากประเทศอเมริกาจบ เกิดร้อนวิชาอยากทดลองฝีมือ อนิจจา สามเกลอสิ้นเนื้อประดาตัวแต่ก็ยังไม่ละความพยายาม ดิ้นรนเอาข้าวไปจำนำจนสามารถตั้งบริษัท "จิ้งจกภาพยนตร์" สำเร็จ บริษัทจิ้งจกภาพยนตร์เริ่มถ่ายหนัง โดยมีดอกดินเป็นผู้กำกับ สมพงษ์เป็นช่างถ่ายภาพยนตร์ ล้อต๊อกเป็นผู้ร้ายและได้ ณรงค์ มาเป็นพระเอก ชูศรี เป็นนางเอก แต่การทำงานเป็นไปอย่างทุลักทุเล สามเกลอหารือกันว่าจะเปลี่ยนไปถ่ายหนังที่จังหวัดเพชรบุรี แต่สามีนางเอกเกิดไม่ยอมให้นางเอกแสดงต่อ สามเกลอเข้าตาจนจึงต้องหาผู้มาแสดงแทน โชคดีได้พบสาวชาวไร่ชื่อ น้อย จึงชวนมาเป็นนางเอกโดยไม่รู้ว่าน้อยเป็นที่หมายปองของเสือฉาย รุ่งขึ้นถึงคิวการถ่ายฉากพลอดรักระหว่างพระเอกนางเอก เสือฉายผ่านมาเห็นเข้านึกว่าเป็นเรื่องจริงก็เกิดโทสะ วิ่งพรวดเข้าไปชกณรงค์ สมพงษ์สวมวิญญาณตากล้องถ่ายภาพยนตร์ต่อไป น้อยวิ่งไปขอความช่วยเหลือจากตำรวจที่ขับรถผ่านมาแถวนั้น ตำรวจเห็นหน้าเสือฉายก็จำได้ว่าเป็นมหาโจรที่ทางการกำลังต้องการตัวแต่ไม่เคยมีใครมีภาพถ่ายเสือฉาย เสือฉายฉวยโอกาสหลบหนีไป สามเกลอกลับมาล้างฟิล์มที่กรุงเทพ เจอข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ประกาศให้รางวัลแก่ผู้ที่มีภาพเสือฉาย จึงไม่รอช้ารีบเอาฟิล์มไปให้ตำรวจ แต่ เสือปาน ลูกสมุนของเสือฉายมาดักรอกลางทาง สามเกลอพากันวิ่งหนีจนกระทั่งถึงสถานีตำรวจ อารามรีบวิ่งตามสามเกลอเสือปานจึงไม่รู้ตัวว่ากำลังวิ่งเข้าสถานีตำรวจจึงถูกจับเข้าตาราง สามเกลอกลับมาถ่ายหนังต่อที่จังหวัดเพชรบุรีและมาสู่ขอน้อยให้พระเอกเสือฉายสบโอกาสตามมาล้างแค้น แต่พลาดท่าเสียทีถูกตำรวจจับเสียเอง รางวัลนำจับเสือฉายจึงตกเป็นของสามเกลอคณะถ่ายหนัง เอวังด้วยประการฉะนี้
ชายสะไบ (2493)

ชายสะไบ (2493/1950) เรื่องของลูกทุ่งและการล้างทุ่งเพื่อแก้แค้นกัน ด้วยหมัดต่อหมัด ดาบต่อดาบ สุรสิทธิ์เป็นเจ้าหนุ่มเลือดไพร่ ผู้เผยอพิศมัยในลูกสาวของนายทุน จนกระทั่งพบกับความทารุณกลั่นแกล้งอย่างเจ็บแสบจากทัต เอกทัต หัวแก้วหัวแหวนของนายทุน ผู้ซึ่งปองสาวงามนั้นอยู่เหมือนกัน พรรณี สำเร็จประสงค์ แม่สาวผู้นี้ เปนตัวการที่ความงามของหล่อนสร้างความเกลียดให้เกิดแก่ชีวิตของคนหลายคนเชื่อมโยงกันไป ดีที่สุดที่สุรสิทธิ์แสดงได้ ก็คือบทบาทเมื่อเขารู้ตัวว่าเมียของเขากำลังจะมีลูกถึงกับตื่นเต้นโลดถลาจะไปตามหมอตำแยทั้งที่เมียเพิ่งตั้งไข่ได้ 1 เดือน ดีที่สุดของทัต เอกทัต ก็คือบททารุณทั้งอย่างเลือดร้อนและเลือดเย็นของเขา ดีที่สุดในบรรดาตัวประกอบ ก็คือ ม.ล. เตาะ โกมารชุน ซึ่งแสดงบทบาทเป็นแม่เฒ่า ของสุรสิทธิ์ได้อย่างมีชีวิตชีวา และดีที่สุดในกะบวนจี้เส้นด้วยหน้าตายและหนวดจิ๋มคือจำรูญ หนวดจิ๋ม (ที่มา: หนังสือพิมพ์รายวัน สยามนิกร 11 กันยายน พ.ศ. 2493)

ดาบทหารเสือ (2493)
ดาบทหารเสือ (2493/1950) ครอบครัวของ รุ่ง และ จัน ชาวบ้านด่าน จังหวัดสุโขทัย เคยอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขตามประสาพ่อแม่ลูก จนกระทั่งวันหนึ่ง สอน เพื่อนบ้านชักชวนให้รุ่งไปประดาบกับนักเลงบ้านหนองดินแดง แต่รุ่งไม่อยากมีเรื่องตีรันฟันแทงกับใครจึงไม่ขอร่วมด้วยปรากฏว่าสอนเสียชีวิตในการประดาบ ชาวบ้านพากันรุมประณามรุ่ง ซ้ำร้ายยังพาลรังเกียจครอบครัวของรุ่งไปด้วย จนเป็นเหตุให้ เรือง ลูกสาวเพียงคนเดียวของรุ่งต้องตายเพราะไม่มีหมอคนไหนยอมรักษาเรืองซึ่งกำลังป่วยการสูญเสียเรืองทำให้รุ่งบันดาลโทสะฆ่าหมอตายและหนีหายไปตั้งแต่วันนั้น 5 ปีผ่านไป สุโขทัยถูกรุกรานจากศัตรู สาเหตุมาจาก โต พ่อของจัน เป็นไส้ศึกให้ฝ่ายเขมร และยังคิดจะยกลูกสาวให้แม่ทัพเขมรเพื่อแลกกับตำแหน่งผู้ครองอาณาจักรสุโขทัย รุ่ง ซึ่งบัดนี้กลายเป็นเสือออกปล้นชาวบ้าน ได้พบอาจารย์เฒ่าผู้หนึ่งเตือนสติว่า ควรจะเอากำลังไปต่อสู้ศัตรูที่กำลังทำร้ายสุโขทัย เสือรุ่งจึงจับดาบทหารเสือขึ้นปกป้องบ้านเกิดจากน้ำมือศัตรู
แสนแสบ (2493)
แสนแสบ (2493/1950) เมื่อ ผิว พ่อของ แผลง หนุ่มลูกทุ่งแสนแสบเสียชีวิตลง แผลงได้มาอาศัยอยู่กับ ลุงเชื่อม ซึ่งช่วยดูแลที่นา 30 ไร่ อันเป็นมรดกของแผลงตามคำสั่งเสียของผิว แต่ลุงเชื่อมเกิดละโมบอยากจะได้ที่นาเป็นของตนเอง จึงหาทางกำจัดแผลงสารพัดวิธี ทั้งใส่ร้ายว่าแผลงข่มขืน ช้อย ลูกสาวของตน หลอกให้แผลงไปซื้อควายที่หนองจอกแล้วจ้างคนไปดักฆ่า แม้กระทั่งใส่ร้ายว่าแผลงขโมยเงินของตนไป แล้วไปฟ้องให้ กำนันแปลก จับตัวแผลง แต่กำนันแปลกเห็นท่าไม่ดีจึงพยายามไกล่เกลี่ยแต่ไม่เป็นผล แผลงประกาศความแค้นก่อนจะออกจากทุ่งแสนแสบไป เทียม คู่หมั้นของช้อยสบโอกาสที่แผลงไม่อยู่หาเรื่องถอนหมั้นช้อยเพราะหมายปอง โปรย คนรักของแผลงมานานแล้ว เมื่อแผลงรู้เรื่องเข้าจึงกลับมาแก้แค้นเทียมและพรรคพวก แผลงหนีมาที่ศาลเจ้าพ่อขวัญเจ้าแม่เรียมและบังเอิญได้พบกับโปรย จึงมีโอกาสปรับความเข้าใจกัน กำนันแปลกซึ่งตามมาจับแผลงแอบได้ยินหนุ่มสาวสองคนคุยกัน จึงได้รู้ว่าที่ผ่านมาแผลงถูกลุงเชื่อมใส่ร้าย แผลงจึงได้ทั้งที่ดินและคนรักกลับคืนมา
รอยไถ (2493)
รอยไถ (2493/1950) เป็นเรื่องชีวิตของชาวทุ่งบางเขนที่คลุกเคล้าอยู่กับควาย โคลนและคล่ำด้วยแดดลมตามธรรมชาติ ห่างไกลจากการแต่งลวงเยี่ยงคนในกรุง แต่ชีวิตนั้นต้องผจญกับความแค้นอย่างแสนสาหัส ด้วยเรื่องรักและเหลี่ยมนักเลง เพราะลูกน้อยและเมียรัก จนต้องจับ ดาบขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเรียกเลือดมาล้างรอยน้ำตาของ เขา ... ในด้านรัก เราจะได้เห็นความรักของเจ้าลือที่ซื่อ ต่อเมียรักและทนุถนอมลูกน้อยเพียงดวงใจ ความรักในฐานชู้ และความรักของสาวเพิ่งรุ่นกับชายอารมณ์เริงอย่างสุขสด ต่างกันถึงสามรส ในด้านแค้น ก็เกินที่จะเปรียบกับเรื่องใด นอกจากจะรู้แก่ใจของผู้ที่ถูกพรากเมียรักและทิ้งลูกแดงที่ยังอ้อนนมไว้ให้เลี้ยง ซ้ำถูกพวกนักเลงเหยียบเกียรติของเขาอีก (ที่มา: นิตยสารภาพยนตร์สาร กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2493)
ลานท่าฟ้า (2491)

ลานท่าฟ้า (2491/1948) ภาพยนต์ไทยเรื่องแรกหลังสงคราม ของบริษัทดาราภาพยนต์ (ที่มา: นิตยสาร จอเงิน พฤษภาคม พ.ศ. 2491)

ชอนกาเหว่า (2489)

ชอนกาเหว่า (2489/1946) เพราะความเหลวแหลกของ ประเวศทำให้เขาถูก นายประวัติ ผู้เป็นบิดา เฉดหัวออกไปจากบ้าน ประเวศจึงต้องออกรอนแรมไปยังหมู่บ้านชอนกาเหว่า สถานที่ที่เขาได้พบกับ ผู้ใหญ่ฟื้น เพื่อนของบิดา ทว่าผู้ใหญ่ฟื้นกลับไม่รู้จักประเวศ ประเวศจึงเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น นายเริกษ์ และขอทำงานในไร่ฝ้ายของผู้ใหญ่ฟื้น ฝ่ายนายประวัติ หลังจากไล่ประเวศลูกชายออกจากบ้าน ก็ชักชวน จามรี หลานสาวมาช่วยงาน รวมถึงไปช่วยดูแลไร่ฝ้ายของผู้ใหญ่ฟื้น ทำให้เธอได้พบกับประเวศ แต่เพราะท่าทียียวนของประเวศทำให้เธอไม่อยากจะผูกสมัครรักใคร่ทั้งที่ในใจก็แอบชอบ กระทั่งประเวศรู้ข่าวว่า นายยศ ลูกเขยของผู้ใหญ่ฟื้นกำลังคิดจะโกงฝ้าย และจับจามรีเป็นตัวประกัน ด้วยความรักประเวศจึงเร่งรุดไปช่วยจนเกิดการต่อสู้ขึ้น ในจังหวะเดียวกับที่ประวัติและผู้ใหญ่ฟื้นเดินทางมาพบเข้า จึงช่วยประเวศล้างบางพวกคิดคดทรยศ แต่น่าเสียดายที่ผู้ใหญ่ฟื้นพลาดท่าเสียชีวิต ประเวศและจามรีจึงดูแลไร่ฝ้าสืบไป

ชายชาตรี (2489)
ชายชาตรี (2489/1946) ณ เมืองกาญจนบุรี คงจะไม่มีนักเลงหน้าไหนใหญ่เกินกว่า กำนันหาญ แต่เพราะวัยอันใกล้จะร่วงโรยรา กำนันจึงตามตัว นาฏยา ลูกสาวที่อยู่เมืองกรุงกลับมาช่วยสานต่ออำนาจ ครั้นนาฏยากลับมาถึงบ้านเธอก็ได้พบกับ แผน นักเลงหนุ่มพเนจร ซึ่งดูท่าว่าจะช่วยเหลืองานของพ่อตนได้ จึงให้แผนมาอยู่ด้วย ทว่านานวัน ด้วยความหล่อเหลาของแผนก็ทำเอานาฏยาตกหลุมรักซึ่งเขาเองก็คิดไม่ต่างจากเธอ ทั้งสองจึงสานสัมพันธ์ฉันท์คนรัก ท่ามกลางความไม่พอใจของ ไอ้สุข มือขวาของกำนันหาญ ที่คิดจะทรยศกำนันหาญมาก่อนหน้านั้นเนื่องจากกำนันหาญคิดจะเลิกปล้น ในขณะที่มันต้องการจะเป็นโจรต่อไป เมื่อเห็นว่านาฏยากำลังรักกับแผน ไอ้สุขจึงจัดการปล้นวัวกำนันหาญรวมทั้งจับนาฏยาเป็นตัวประกัน แผนซึ่งแท้ที่จริงคือนายร้อยตำรวจปลอมตัวมาจับขบวนการของกำนันหาญ จึงเปิดเผยตัวออกตามล่าไอ้สุข แต่ก็สายไปเสียแล้วเมื่อไอ้สุขกระทำการพรากพรหมจรรย์ไปจากนาฏยา และด้วยความโกรธแค้นนาฏยาจึงฆ่าไอ้สุขตายคาที่ แล้วจึงหนีไปบวช ละทิ้งซึ่งชะตากรรมอันแสนเศร้า ที่ทำให้แผนสุดแสนช้ำใจ
Placeholder
หาดแสนสุข (2487/1944) ส้างไหม่ไนเมืองไทย หาดแสนสุขโดยฝีมือผู้ชำนาญการภาพยนต์มาแล้ว ม.ร.ว. อนุสักดิ์ หัสดิน เปนที่ปรึกสา ชนินท์ วังอินทร์ อารี ดุลยพันธุ์ สแดงนำ เสี่ยล้อต๊อก + สุคน คิ้วเหลี่ยม แสดงหัสนาตกัมเรื่อง "ธิดาเจ้ากรุงจีน" สลับ (ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยใหม่ 28 กันยายน พ.ศ. 2487)
Placeholder
บ้านไร่นาเรา (2485)
บ้านไร่นาเรา (2485/1942) ในสมัยที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ณ จังหวัดสุโขทัย เฉิด และ เฉิดฉาย บำเพ็ญดีสองสามีภรรยาซึ่งดำรงชีพด้วยการเป็นกสิกร ใช้ชีวิตเป็นพลเมืองที่ดีต้องตามรัฐนิยม ครอบครัวบำเพ็ญดีมีบุตรสองคน ชื่อ ชาญ และ อาจ และมีบุตรี ชื่อ เจริญศรี โดยมีเพื่อนบ้าน คือ ขำ บำรุงชาติ ซึ่งมีลูกสาวสองคน ชื่อ ขำคม และ ลำเพา และลูกชาย เมื่อยามบ้านเมืองเกิดศึกสงคราม เฉิดและขำก็พร้อมพลีกายต่อสู้ปกป้องประเทศ แม้เฉิดจะบาดเจ็บจากการสู้รบในสงคราม ระหว่างที่เฉิดไปรับใช้ชาติ เฉิดฉายก็คอยดูแลครอบครัว และส่งเสียให้ชาญ ลูกชายคนโตได้ศึกษาเล่าเรียน 8 ปีผ่านไป บ้านเมืองเข้าสู่สภาวะปรกติสุข ชาญมุ่งมั่นตั้งใจเรียนและหวังจะสืบทอดอาชีพกสิกรรมแทนพ่อจนสำเร็จการศึกษาที่เกษตรศาสตร์แม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่และกลับมาสุโขทัย ชาญได้พบกับ ลุงอยู่ ซึ่งเขานับถือเสมือนลุง ลุงอยู่พาชาญไปเลี้ยงฉลองที่ร้านเย็นทรวง ที่นั่น ชาญได้แอบเห็นพ่อค้าขูดรีดราคาสินค้าจากกสิกร ชาญจึงเข้าไปขัดขวางและแนะนำให้กสิกรไปซื้อสินค้าที่สหกรณ์หรือรถไฟทำให้ ฟู แสวงสิน นักเลงเจ้าถิ่นไม่พอใจจนมีเรื่องชกต่อยกัน แต่ลุงอยู่มาห้ามไว้ได้ทัน ชาญพยายามให้ความรู้กสิกรในเรื่องการเกษตรตามที่ตนได้ร่ำเรียนมา เป็นที่ชื่นชอบแก่ชาวบ้านและกสิกรมาก รวมทั้งขำคม เพื่อนวัยเด็ก แต่อย่างไรก็ตาม ฟูก็ยังไม่เลิกไปหลอกลวงกสิกร ชาญซึ่งซุ่มดูพฤติกรรมเมื่อเห็นดังนั้นจึงเข้าไปปราบปรามจนฟูและพรรคพวกพ่ายแพ้ไปในที่สุด ชาญได้แต่งงานกับขำคมและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง (2485)
น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง (2485/1942) เพียบพร้อมไปด้วยวัธนธัม ให้คติ สมัยสร้างชาติ รัก ตลก ขบขัน เพลงไพเราะห์ สนองนโยบายผู้นำ ปลอบใจน้ำท่วมดีกว่า พระเอกเป็นกรรมกรเรือจ้าง (ที่มา: หนังสือพิมพ์รายวัน ศรีกรุง พ.ศ. 2485)
Placeholder

หน้าที่