Rainbow Boys: The Movie เรนโบว์บอยส์ เดอะ มูฟวี่ (2548/2005) เรื่องราวรักวัยรุ่นสามคน และมิตรภาพอันลึกซึ้งเปี่ยมด้วยอารมณ์ขัน ระหว่างเพื่อนนักเรียนเกย์สามคนในเมืองหลวง พวกเขาต้องการค้นหาความรู้สึกของตัวเอง ผ่านการเรียนรู้และต่อสู้กับความขัดแย้งภายในใจ พวกเขาดิ้นรนให้หลุดจากสิ่งที่ใครๆ บอกและตีกรอบเอาไว้ จนเริ่มเรียนรู้ว่าการเป็นตัวของตัวเองคือ สิ่งที่มีความหมายที่สุด
Crying Tiger เสือร้องไห้ (2548/2005) ความหมายของ “เสือร้องไห้” คืออะไร 1) การหลั่งของเหลวคล้ายน้ำออกมาทางดวงตา เพื่อแสดงความดีใจและเสียใจของสัตว์บกชนิดหนึ่งที่มนุษย์เรียกมันว่า “เจ้าแห่งป่า” 2) “เนื้อย่างไฟ” จากเตาถ่านร้อนๆ หั่นเป็นชิ้นพอคำ แล้วคลุกคล้าในหม้อกับเครื่องปรุงรสจัดจ้าน มะนาวสวนเปรี้ยว พริกขี้หนูเผ็ดป่น ข้าวคั่วหอมหอม ต้นหอมสดๆ น้ำปลาแท้ น้ำตาลทรายแดง โรยเติมด้วยงาขาวกับยอดใบยี่หรา เสิร์ฟกับข้าวเหนียวร้อนๆ มีขายตามปั๊มน้ำมันทั่วไป 3) เรื่องราวชีวิตจริงของ “คนไทยใจสู้” กรรมวิธีในการทำ “เสือร้องไห้” ทีมงานออกค้นหา “ชาวอีสาน” ที่เข้ามาทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ ตามสถานที่ต่างๆ กว่าร้อยอาชีพ คัดเลือกอาชีพที่ทีมงานคิดว่าน่าสนใจ เพื่อสอบถาม พูดคุย หาข้อมูลที่ลึกลงไปในแต่ละคน ถึงเรื่องราวในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เฝ้าติดตามเพื่อถ่ายทำการดำเนินชีวิตของเขาเหล่านั้นในเมืองหลวง การทำงาน ความรัก ความฝัน ความเจ็บปวดของเขาที่เราไม่เคยรู้เรื่องเหล่านั้นมาก่อน และไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของเขา หรือชีวิตของทีมงาน คัดย่อเรื่องราวที่ใช้เวลานานกว่า 1 ปี ม้วนเทปทั้งหมดกว่า 300 ม้วนให้เหลือเพียงสิ่งที่น่าสนใจแค่เพียง 2 ชั่วโมง รู้จักมั้ยสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “คนอีสาน” “คนอีสาน” ผู้ซึ่งอยู่บนแผ่นดินไม่ติดทะเล แต่ก็ออกเรือตังเกหาปลาได้ ผู้กินแจ่วปลาร้า แต่ทำซูชิให้แขกในร้านญี่ปุ่นกินได้ ผู้ที่คุ้นเคยกับลำเพลิน ลำซิ่ง แต่ก็สามารถเป็นพระเอกงิ้ว ยังคงมีอะไรอีกมากมายที่ชาวอีสานทำไว้ที่เรายังไม่ได้พูดถึง เพราะนอกจากจะเป็นกลุ่มคนกลุ่มใหญ่ที่สุดในประเทศแล้ว พวกเขายังมีความสามารถในการปรับตัวที่เป็นเลิศที่สุด ภาพยนตร์แนว “Reality Film” เรื่องแรกของเมืองไทยที่จะถูกฉายตามโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศจากผลงานการกำกับของ “สันติ แต้พานิช” ผู้กำกับที่มีผลงานมามากมายจากการทำหนังสั้น อาทิ “กท.2541”, “One Way Ticket”, “ร ฟ ท บ ข ส” และสารคดีเบื้องหลังหนัง “มนต์รักทรานซิสเตอร์” ฉบับไม่เป็นทางการ และล่าสุดเรื่อง “เสือร้องไห้” ภายใต้การโปรดิวซ์ของ “ปรัชญา ปิ่นแก้ว” ร่วมด้วย “ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม” และ “พงศ์นรินทร์ อุลิศ” “เสือร้องไห้” เรื่องราวของการติดตามบันทึกเหตุการณ์ชีวิตของ “คนอีสาน” กลุ่มหนึ่งที่ต้องเข้ามาอาศัยและมีอาชีพต่างๆ อยู่ในกรุงเทพฯ ที่ต่างทั้งความฝันและจุดมุ่งหมาย ทีมงานใช้เวลาในการถ่ายทำร่วม 1 ปีเต็มใช้เทปบันทึกภาพไปกว่า 300 ม้วน แต่ต้องตัดออกมาให้ได้เท่ากับภาพยนตร์ที่จะฉายเพียง 1 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น ซึ่งทุกภาพบนแผ่นฟิล์มคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แม้แต่คนที่ปรากฏอยู่ในหนังหรือแม้แต่ทีมงานก็ตาม ไม่มีบท ไม่มีการคัตหรือเทกใหม่ แต่เป็นการปลดปล่อยให้ทุกชีวิตโลดแล่นไปโดยไร้การกำกับการแสดง เสียงหัวเราะ หรือน้ำตาคือสิ่งหนึ่งที่ทีมงานพลาดไม่ได้แม้แต่วินาทีเดียว โดยเรื่องนี้ได้ทำการติดตามบุคคลที่น่าสนใจจากภาคอีสานทั้งหมด 5 คน… “พรศักดิ์ ส่องแสง” นักร้องหมอลำชื่อดังคนแรกของเมืองไทยที่เล่นคอนเสิร์ตมาแล้วทั่วโลก บุคคลที่เคยอยู่บนที่สูงสุดของอาชีพและต่ำสุดแต่ไม่มีใครได้ล่วงรู้ “เหลือเฟือ มกจ๊ก” ดาราและนักแสดงตลกที่มากฝีไม้ลายมือ แรงงานอีสานที่อยู่ในกรุงเทพฯ คือกระจกสะท้อนตัวเอง อาชีพตลกที่ไม่ได้มีแต่เสียงหัวเราะเสมอไป “แมน หัวปลา” อดีตพนักงานโบกรถทีใส่ชุดสัตว์น้ำเชิญชวนลูกค้าหน้าร้านอาหาร ป.กุ้งเผา กับอาชีพใหม่ที่อยากมุ่งไป “ตลกคาเฟ่” “เนตร อินทรีเหล็ก” สตันต์แมนที่ใช้ชีวิตอยู่บนความเสี่ยงทุกวินาทีเพื่อเป็นหนทางนำไปสู่ “จา พนม หมายเลข 2” “พี่อ้อย สิงห์นักขับ” สาวขับแท็กซี่รุ่นใหญ่อารมณ์ดีที่เพื่อนร่วมทางมักแปลกหน้าอยู่เสมอ เส้นทางกลับบ้านคือถนนที่ไกลที่สุด
Mysterious Object at Noon ดอกฟ้าในมือมาร (2543/2000) เป็นภาพยนตร์สารคดี แนวทดลอง ที่กำกับโดยอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ในปี พ.ศ. 2543 เล่าเรื่องราวโดยใช้เทคนิคที่เรียกว่า "Exquisite corpse" เล่าเรื่องราวของ "ครูดอกฟ้า" แบบบอกต่อจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง โดยทีมงานตระเวนถ่ายทำจากภาคเหนือสู่ภาคใต้และภาคอีสาน สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนไทยในภูมิภาคต่าง ๆ ภาพยนตร์ถ่ายทำด้วยฟิล์มขาวดำ 16 ม.ม. โดยไม่มีบทภาพยนตร์ แล้วขยายเป็น 35 ม.ม.
Placeholder
ประชาชนนอก (2524/1981) ภาพยนตร์ที่ได้รับทุนจากสภาคาธอริกแห่งประเทศไทยเพื่อการพัฒนา ที่สะท้อนปัญหาการอพยพของย้ายถิ่นของคนในภาคอีสาน โดยผู้กำกับได้รับแรงบันดาลใจในการเขียนบทจากอัตชีวประวัติของคนรอบข้าง ใช้เวลาในการทำงานยาวนานกว่า 4 ปี และเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับความสนใจอย่างมากจากหน่วยงานของรัฐในการเข้าตรวจสอบในระหว่างการถ่ายทำ หลังจากที่ ประชาชนนอก ออกฉายในปี 2524 ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในกลุ่มนักศึกษา กลุ่มองค์กรเพื่อการพัฒนาต่างๆ นอกจากนี้ยังได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานเทศกาลภาพยนตร์ในประเทศต่างๆ อาทิ ประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น ฮ่องกง และล่าสุดเมื่อปี 2542 ที่เมืองพูซาน ประเทศเกาหลี
ใจไทย (2484)
ใจไทย (2484/1941) เป็นภาพยนตร์ที่จัดสร้างขึ้นเพื่อเผยแพร่กิจการของกรมประชาสงเคราะห์ เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2483 กรมประชาสงเคราะห์ได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ประกอบด้วย นายแพทย์ยง ชุติมา ขุนสงัดโรคกิตติขุนสอนสุขกิจ และเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ ไปแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ผู้อพยพที่หนีความทารุณของฝรั่งเศสในอินโดจีน จากตำบลไพลินมาอยู่ที่จังหวัดจันทบุรีและตราด ขุนประสงค์สุขการี ข้าหลวงประจำจังหวัดจันทบุรี เป็นผู้ต้อนรับเจ้าหน้าที่ของกรมประชาสงเคราะห์ และพาข้ามแม่น้ำจันทบุรีไปชมการทำถนนบนเขาเกลือ ทำเสื่อจันทบูรณ์ การทำพลอย พาไปศาลเจ้าตากสิน ศาลากลางจังหวัดซึ่งกำลังแห่โฆษณาฉายภาพยนตร์การกุศลเพื่อหาเงินช่วยผู้อพยพ จากนั้นจึงพาข้ามแม่น้ำจันทบุรีมาขึ้นรถที่ท่าโรงสีกานหลี ไปเยี่ยมเยียนผู้อพยพที่อำเภอมะขาม ผู้อพยพส่วนมากเป็นชาวกุหล่าที่หนีมาจากตำบลไพลิน ขุนประสงค์สุขการีและขุนสงัดโรคกิตติ ตัวแทนเจ้าหน้าที่กรมประชาสงเคราะห์ขึ้นกล่าวปราศรัย ก่อนจะแจกจ่ายเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ผู้อพยพ และกลับไปยังจังหวัดจันทบุรี เพื่อเยี่ยมเยียนคนงานทำถนนบนเขาเกลือ วันที่ 26 ธันวาคม 2483 นายพันโท ขุนจำนงภูมิเวท รักษาการอธิบดีกรมประชาสงเคราะห์พร้อมข้าราชการในกรมไปตรวจเยี่ยมราษฎรที่จังหวัดจันทบุรีผู้อพยพ ทหาร และตำรวจในนามของนายกรัฐมนตรี โดยมีนายพันตรีประพันธ์ รองผู้บังคับการทหารม้าปืนใหญ่และข้าราชการจังหวัดจันทบุรีให้การต้อนรับที่ท่าเรือ ค่ำวันนั้นมีการฉายภาพยนตร์ของกรมประชาสงเคราะห์จากนั้นในวันที่ 28 ธันวาคม 2483 กองพลจันทบุรีได้จัดให้มีพิธีเดินผ่านธงชัยเฉลิมพล ที่ค่ายทหาร
รวมไทย (2484)
รวมไทย (2484/1941) บันทึกเหตุการณ์กรณีพิพาทไทย-อินโดจีนของฝรั่งเศส เกียรติประวัติของ ร.พัน 3 หลังจากที่ฝรั่งเศสตอบปฏิเสธรัฐบาลไทยกรณีเรียกร้องดินแดนคืนฝ่ายไทยจึงเริ่มมีการลำเรียงทหารและจัดตั้งองค์การอาสากาชาดเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขพลเมืองไทยตามแนวรบชายฝั่งแม่น้ำโขง แล้วจึงมีการสู่รบทางอากาศที่เมืองนครพนม เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2483 เป็นชนวนให้เกิดการรบใหญ่ในเวลาต่อมาที่สมรภูมิบ้านพร้าวซึ่งกองทัพบูรพายึดธงชัยเฉลิมพลของข้าศึกได้ กองหน้าฝ่ายไทยได้ยึดดินแดนไปจนถึงบริเวณก่อนประตูศรีโสภณประมาณ 6 กม. ก่อนจะมีการพักรบในวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2483 แล้วจึงมีการจัดการเดินสวนสนามฉลองชัย ที่กรุงเทพ ระหว่างพักรบ นายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมทหารในแนวรบ กองทัพบูรพาและประดับเหรียญชัยสมรภูมิแก่แม่ทัพ นายกอง และนายทหาร หลังจากนั้นเหล่าทหารที่ร่วมรบได้เดินทางกลับกรุงเทพ ท่ามกลางการต้อนรับของมหาชน และสวนสนามฉลองชัยรวมทั้งแสดงอาวุธอันทันสมัยที่ใช้ในการรบคราวนี้ ในวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2484
Placeholder
กินอะไร (2472/1929) เป็นภาพยนตร์แถลงการณ์ของกรมสาธารณสุข ซึ่งได้จัดทำขึ้นเป็นพิเศษเป็นเรื่องแรก มีกำหนดจะนำออกฉายตามโรงภาพยนตร์ต่าง ๆ ภาพยนตร์เรื่องนี้ควรต้องนับว่า เป็นภาพยนตร์แถลงการณ์เชิงภาพข่าวกลายๆ อย่างน่าดูได้เรื่องหนึ่ง ซึ่งทุกท่านควรไปชม เพื่อประดับความรู้รอบตัวให้มากยิ่งขึ้นทางสุขศึกษา ในเรื่องของการ "กินอะไร" เพราะทุกๆ คนจะต้องกินกัน ทุกวัน แต่อะไรจะควรกินและไม่ควรกิน ภาพยนตร์เรื่อง นี้จะบอกคุณประโยชน์ให้ท่านผู้ดูทราบโดยถี่ถ้วน (ที่มา: หนังสือพิมพ์รายวัน ศรีกรุง 31 ตุลาคม พ.ศ. 2472) กล่าวถึงสวนผัก สกปรกเพราะรดด้วยน้ำอุจจาระ คนมาซื้อผักจากสวนไปขาย พายเรือไปขาย คน ซื้อเรียกซื้อ ไปถึงตลาด ตลาดสกปรก คนมาซื้อ แม่บ้าน อ้วนๆ มาซื้อไปบ้าน บ้านสะอาดแต่ข้างหน้าข้างหลังใน ครัวสกปรก แม่บ้านทำอาหารไม่ได้ล้างผัก ให้สามีและลูกกินกันสองคน รุ่งเช้าสามีปวดท้อง เข้าส้วม ลูกก็เข้าส้วม ส้วมก็ไม่ถูกสุขลักษณะ สองพ่อลูกเป็นอหิวาต์แม่บ้านไป โทรศัพท์เรียกแผนกโรคติดต่อ กรมสาธารณสุข มารับไป โรงพยาบาลกลาง สรุป กินอะไร? คือกินอุจาระนั่นเอง (ที่มา: หนังสือพิมพ์รายวัน ศรีกรุง หลายวัน ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2472)
ไม่เชื่อน้ำมนต์หมอผี 2470

เรื่องย่อ : ไม่เชื่อน้ำมนต์หมอผี (2470/1927) ไม่เชื่อน้ำมนต์หมอผี เล่าถึงครอบครัวหนึ่งซึ่งอาศัยอยู่ทางจังหวัดธนบุรีตอนเหนือ ตั้งแต่พ่อสมบุญ จิตต์กระด้างยังเชื่อน้ำมนต์หมอผี จนกระทั่งไม่เชื่อน้ำมนต์หมอผี เรื่องมีอยู่ว่า พ่อสมบุญป่วยเรื้อรังเป็นเวลานาน ไม่ยอมทานยารักษาโรคแผนปัจจุบันใดๆ เพราะพ่อสมบุญมีความเชื่อว่าอาการของแกจะทุเลาลงได้ ก็ต่อเมื่อได้รับการเสกเป่าน้ำมนต์เท่านั้น วันหนึ่ง พ่อสมบุญได้ยินกิตติศัพท์ของหมอดั่น ว่าสามารถรักษาผู้เจ็บป่วยหรือถูกผีเข้าได้ พ่อสมบุญจึงให้ลูกชายชื่อ นายสุพินธ์ ไปเชิญหมอดั่นมาตรวจอาการ ก่อนเริ่มพิธี หมอดั่นขอเงินค่าไหว้ครูเป็นเงิน 5 บาทแล้วจึงลงมือปลุกเสกน้ำมนต์ แต่อาการของพ่อสมบุญก็ไม่มีทีท่าจะดีขึ้น จนกระทั่ง แกคิดว่าจะต้องสิ้นชีวิตแน่จึงแจกเงินให้ลูกคนละ 1 บาท เพื่อไปทำบุญอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่ตนชอบแล้วให้แผ่กุศลมาให้แก นายสุพินธ์นำเงินไปซื้ออ้อยให้ช้างกิน นายโสพิตร์ให้ทานคนพิการ 10 คน คนละ 10 สตางค์นางสาวสนองบริจาคเงิน 1 บาท แก่สภากาชาดสยามปรากฏว่า พ่อสมบุญเห็นดีงามกับการทำบุญของนางสาวสนอง เพราะยังประโยชน์แก่คนหมู่มาก จึงขอให้ลูกทั้งสามพาไปรักษาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แพทย์ตรวจพบว่าพ่อสมบุญเป็นโรคลำไส้พิการ ไม่ใช่ถูกคุณไสยแต่อย่างใด อาการป่วยของพ่อสมบุญค่อยๆ หายเป็นปรกติ ทำให้เขาเลื่อมใสในวิธีการแพทย์แผนปัจจุบันเป็นอันมาก ต่อมา หมอดั่นบังเอิญผ่านมาหน้าบ้านพ่อสมบุญ เห็นพ่อสมบุญแข็งแรงดีก็คุยโวโอ้อวดสรรพคุณของตน พ่อสมบุญจึงไล่ตะเพิดพร้อมกับตะโกนว่า "ไอ้เรื่องวิธีรักษาของแกอย่างบ้าๆ ฉันไม่ขอพบขอเห็นอีกแล้ว"

หน้าที่