ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๑ องค์ประกันหงสา

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๑ องค์ประกันหงสา (2550/2007) พุทธศักราช 2106 “พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง” ทรงกรีฑาทัพเข้าตีราชอาณาจักรอยุธยาทางด่านระแหงแขวงเมืองตาก ทัพพม่ารามัญซึ่งมีรี้พลเหลือคณานับได้เข้ายึดครองหัวเมืองฝ่ายเหนือของราชอาณาจักรอยุธยาอันมีเมืองพิษณุโลกเป็นประหนึ่งเมืองราชธานีได้เป็นผลสำเร็จ ครั้งนั้น “สมเด็จพระมหาธรรมราชา” (ฉัตรชัย เปล่งพานิช) พระราชบิดาของ “สมเด็จพระนเรศวร” หรือ “พระองค์ดำ” (ปรัชฌา สนั่นวัฒนานนท์) ซึ่งเป็นเจ้าแผ่นดินครองเมืองพิษณุโลกจำต้องยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าบุเรงนองเพื่อรักษาไว้ซึ่งชีวิตอาณาประชาราษฎร์มิให้ต้องมีภยันตรายและจำต้องยอมร่วมกระบวนทัพพม่าเข้าตีกรุงศรีอยุธยา ศึกครั้งนั้นสมเด็จพระมหา จักรพรรดิเจ้าแผ่นดินอยุธยาทรงยอมเจรจาหย่าศึกกับพม่ารามัญ และยอมถวายช้างเผือก 4 เชือก ทั้งให้สมเด็จพระราเมศวรราชโอรสโดยเสด็จพระเจ้าบุเรงนองไปประทับยังนครหงสาวดีตามพระประสงค์ของกษัตริย์พม่า ข้างสมเด็จพระมหาธรรมราชาซึ่งได้ยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าบุเรงนองก็ได้ถวายสมเด็จพระนเรศวรราชโอรสองค์โตให้ไปเป็นองค์ประกันประทับยังหงสาประเทศเฉกเช่นกัน ครั้งนั้นพระองค์ทรงมีพระชนมายุได้เพียง 9 ชันษา สมเด็จพระนเรศวรทรงเป็นที่รักใคร่ของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองประดุจพระราชบุตรร่วมสายสันตติวงศ์ ด้วยองค์ยุพราชอยุธยาทรงมีพระปรีชาสามารถด้านพิชัยยุทธ ทั้งยังองอาจกล้าหาญสบพระทัยกษัตริย์พม่าซึ่งก็ทรงเป็นนักการทหาร นิยมผู้มีคุณสมบัติเป็นนักรบเยี่ยงพระองค์ พระเจ้าบุเรงนองทรงมีสายพระเนตรยาวไกล แลเห็นว่าสืบไปเบื้องหน้าสมเด็จพระนเรศวรจะได้ขึ้นเป็นใหญ่ในอุษาคเนย์ประเทศ จึงทรงคิดใคร่ปลูกฝังให้สมเด็จพระนเรศวรผูกพระทัยรักแผ่นดินหงสา เพื่อจะได้อาศัยพระองค์เป็นผู้สืบอำนาจอุปถัมภ์ค้ำชูราชอาณาจักรซึ่งพระองค์ทรงสถาปนาขึ้นด้วยความยากลำบาก เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าพระเจ้าบุเรงนองนั้นหาได้วางพระทัยในพระราชโอรสคือ “มังเอิน – พระเจ้านันทบุเรง” (จักรกฤษณ์ อำมะรัตน์) และพระราชนัดดา “มังสามเกียด” (โชติ บัวสุวรรณ) นัก ถึงแม้ทั้งสองพระองค์จะทรงเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขโดยตรง ด้วยทรงเล็งเห็นว่าราชนิกุลทั้งสองพระองค์นั้นหาได้เป็นผู้ทรงคุณธรรมอันจะน้อมนำเป็นพื้นฐานให้เติบใหญ่เป็นบูรพกษัตริย์ ปกป้องครองแผ่นดินที่พระองค์ทรงสร้างและทำนุบำรุงมาด้วยกำลังสติปัญญาและความรักใคร่หวงแหน เหตุทั้งนี้เป็นชนวนให้พระเจ้านันทบุเรงและราชโอรสมังสามเกียดขัดพระทัย ทั้งผูกจิตริษยาสมเด็จพระนเรศวรซึ่งเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองกว่าราชนิกุลข้างพม่าทั้งหลายทั้งสิ้น พระเจ้าบุเรงนองทรงโปรดให้ “พระมหาเถรคันฉ่อง” (สรพงษ์ ชาตรี) พระรามัญผู้มากด้วยวิทยาคุณและเจนจบในตำราพิชัยสงครามเป็นพระอาจารย์ถ่ายทอดศิลปะวิทยาการแก่สมเด็จพระนเรศวร นับแต่เริ่มเข้าประทับในหงสานครยังผลให้ยุพราชอยุธยาเชี่ยวชาญการยุทธ กลช้าง กลม้า กลศึก ทั้งข้างอยุธยาและข้างพม่ารามัญหาผู้เสมอเหมือนมิได้ ข้อได้เปรียบตามกล่าวเป็นเสมือนทุนทางปัญญาอันส่งผลให้สมเด็จพระนเรศวรสามารถกอบกู้เอกราช แก้ทางศึกจนมีชัยเหนือพม่ารามัญในภายภาคหน้า พุทธศักราช 2112 ปรากฏข่าวระบือไปถึงหงสาวดีว่าหัวเมืองพิษณุโลกฝ่ายเหนือแลกรุงศรีอยุธยาราชธานีฝ่ายใต้ของราชอาณาจักรสยามครั้งนั้นเกิดขัดแย้งปีนเกลียวกัน เหตุเนื่องมาจาก “สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ” (ศรัณยู วงศ์กระจ่าง) เจ้าแผ่นดินอยุธยาเสด็จออกผนวช แลสถาปนา “สมเด็จพระมหินทร์” (สันติสุข พรหมศิริ) ราชโอรสองค์รองขึ้นเสวยราชสมบัติสืบแทน สมเด็จพระมหินทร์ทรงคลางแคลงพระทัยในความจงรักภักดีของสมเด็จพระมหาธรรมราชาแต่ครั้งสงครามชิงช้างเผือกในปีพุทธศักราช 2106 ขณะที่เจ้าแผ่นดินพิษณุโลกก็หาได้ยำเกรงสมเด็จพระมหินทร์เช่นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เมื่อเห็นการใดมิควรก็บังคับบัญชาให้สมเด็จพระมหินทร์ปฏิบัติตามพระประสงค์จนเป็นที่ขุ่นเคืองพระราชหฤทัยกษัตริย์อยุธยาพระองค์ใหม่ถึงกับหันไปสมคบกับ “สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช” (รอน บรรจงสร้าง) พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาวร่วมกันแต่งกลเข้าตีเมืองพิษณุโลก แต่กระทำการมิสำเร็จพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองเห็นเชิงสบโอกาสก็ยกทัพใหญ่เข้าตีกรุงศรีอยุธยาอีกคำรบ ครั้งนั้นสมเด็จพระนเรศวรร่วมโดยเสด็จมากับทัพหงสาแต่หาได้ตามพระเจ้าบุเรงนองลงมาล้อมกรุงศรีอยุธยา ทรงประทับอยู่เพียงเมืองพิษณุโลก มีเพียงสมเด็จพระมหาธรรมราชาโดยเสด็จกษัตริย์หงสาลงมาล้อมกรุงด้วยตั้งพระทัยจะเกลี้ยกล่อมให้สมเด็จพระมหินทร์ยอมสวามิภักดิ์พระเจ้าบุเรงนอง เพราะเล็งเห็นว่าอยุธยายากจะต่อรบเอาชัยทัพพม่ารามัญซึ่งมีกำลังไพร่พลเหนือกว่าได้ หากขัดขืนต่อรบจะได้ยากแก่สมณชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎร์ ศึกครั้งนั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงลาผนวชมาบัญชาการรบด้วยพระองค์เอง แต่อยู่ได้มิช้านานก็เสด็จสวรรคตเสียระหว่างศึกพุทธศักราช 2112 มะเส็งศก วันอาทิตย์ เดือน 9 แรม 11 ค่ำ กรุงศรีอยุธยาก็เสียแก่พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ข้างสมเด็จพระนเรศวรซึ่งประทับอยู่ยั้งยังนครพิษณุโลกแต่ต้นศึก หาได้ทรงเห็นงามหรือคิดครั่นคร้ามอ่อนน้อมต่อหงสา ถึงจะทรงรู้ซึ้งว่าสมเด็จพระมหาธรรมราชาพระราชบิดามิได้คิดคดเป็นกบฏต่อแผ่นดิน แต่ก็หาได้เห็นด้วยกับการอ่อนข้อสวามิภักดิ์พม่ารามัญ น้ำพระทัยอันมั่นคงเด็ดเดี่ยวนั้น ถึงแม้จะมิได้แพร่งพรายถึงพระกรรณพระเจ้าบุเรงนอง แต่ก็ประจักษ์อยู่ในหมู่ข้าราชบริพารใกล้ชิดผู้รักและหวงแหนในเอกราชของแผ่นดินจึงพากันนิยมในน้ำพระทัย แลพร้อมใจถวายความจงรักภักดีแต่นั้นมา ครั้นเสร็จศึกอยุธยาพุทธศักราช 2112 สมเด็จพระมหาธรรมราชาทรงถวาย “พระสุพรรณกัลยา” (เกรซ มหาดำรงค์กุล) พระพี่นางสมเด็จพระนเรศวรแก่พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง แลขอตัวสมเด็จพระนเรศวรไว้ช่วยราชการข้างอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรจึงประทับยั้งอยู่ยังเมืองพิษณุโลก สืบต่อมาครั้นลุปีพุทธศักราช 2114 สมเด็จพระมหาธรรมราชา ซึ่งพระเจ้าบุเรงนองสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยาสืบต่อจากสมเด็จพระมหินทร์ก็โปรดให้สมเด็จพระนเรศวรเสวยราชย์ครองเมืองพิษณุโลกเป็นใหญ่เหนือหัวเมืองเหนือทั้งปวง เหตุการณ์ข้างพม่า หลังจากพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองสิ้นพระชนม์ในปีพุทธศักราช 2124 พระเจ้านันทบุเรงได้ขึ้นเสวยราชสืบต่อและได้สถาปนามังสามเกียดขึ้นเป็นรัชทายาทครองตำแหน่งมหาอุปราชาแห่งราชอาณาจักรหงสาวดี เมื่อแผ่นดินหงสามีอันต้องผลัดมือมาอยู่ในปกครองของพระเจ้านันทบุเรง สัมพันธไมตรีระหว่างอยุธยาและหงสาวดีก็เริ่มสั่นคลอน ด้วยพระเจ้าหงสาวดีพระองค์ใหม่มิได้วางพระทัยในสมเด็จพระนเรศวร และสมเด็จพระนเรศวรเองก็หาได้เคารพยำเกรงในบุญบารมีของพระเจ้าแผ่นดินพม่ารามัญเช่นกาลก่อน มิเพียงเท่านั้นสมเด็จพระนเรศวรยังได้ทรงแสดงพระปรีชาสามารถให้เป็นที่ปรากฏครั่นคร้าม ดังคราวนำกำลังทำยุทธนาวีกับพระยาจีนจันตุและศึกเมืองคังเป็นอาทิ พระเจ้านันทบุเรงทรงเกรงว่าสืบไปเบื้องหน้าสมเด็จพระนเรศวรจะเป็นภัยต่อพระราชวงศ์แลแผ่นดินหงสา จึงหาเหตุวางกลศึกหมายจะปลงพระชนม์สมเด็จพระนเรศวรเสียที่เมืองแครง แต่พระมหาเถรคันฉ่องพระราชครูลอบนำแผนประทุษร้ายนั้นมาแจ้งให้ศิษย์รักได้รู้ความ สมเด็จพระนเรศวรจึงถือเป็นเหตุประกาศเอกราช ตัดสัมพันธไมตรีกับหงสาวดี แลกวาดต้อนครัวมอญไทยข้ามแม่น้ำสะโตงกลับคืนพระนคร ซึ่งเป็นชนวนให้พระเจ้านันทบุเรงเปิดมหายุทธสงครามสั่งทัพเข้ารุกรานราชอาณาจักรอยุธยาสืบแต่นั้นมา

The King Maker กบฏ ท้าวศรีสุดาจัน (2548/2005) “เฟอร์นานโด เดอ กัมมา” (แกรี สเตร็ช) ทหารรับจ้างหนุ่มจากประเทศโปรตุเกส ออกเดินทางมายังดินแดนในซีกโลกตะวันออกใน ค.ศ 1547 เพื่อแสวงหาความร่ำรวยเฉกเช่นเดียวกับเพื่อนร่วมชาติอีกหลายคนไปพร้อมกับการติดตามร่องรอยของบุคคลในอดีตที่เคยสังหารพ่อของเขาต่อหน้าต่อตาในขณะที่เขามีอายุเพียง 8 ขวบ ภาพความทรงจำดังกล่าวเป็นที่ติดตาและฝังใจแก่เขาเสมอมา แต่ในระหว่างการเดินเรือเขาพร้อมกับพวกพ้องกลับต้องเผชิญกับเคราะห์ร้ายเมื่อพายุทะเลคลั่งโหมซัดจนทำให้เรือจมลงใต้พื้นมหาสมุทรอินเดียอันกว้างใหญ่ เหลือเพียงเขาคนเดียวที่รอดชีวิตมาได้จากเหตุการณ์ครั้งนั้น แต่กลับกลายเป็นว่าเขาถูกพ่อค้าทาสชาวอาหรับจับตัวไปยังดินแดนอยุธยาเพื่อขายเป็นทาส กรุงศรีอยุธยาเมื่อราว 458 ปีที่แล้วกล่าวได้ว่าเป็นดินแดนแห่งการค้าขายที่เหล่าอาณาประเทศและผู้คนหลากหลายเชื้อชาติต่างหลั่งไหล่เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นชาวตะวันตกไปจนถึงตะวันออกที่ใกล้เคียง แต่ใช่ว่าโชคชะตาของเฟอร์นานโดจะอับโชตเสียทีเดียว เมื่อเขาได้รับการไถ่ตัวให้มีอิสรภาพจาก “มาเรีย” (สิรินยา เบอร์บริดจ์) หญิงสาวชาวโปรตุเกสผู้มีจิตใจงดงามที่เดินทางติดตาม “ฟิลลิปป์” (จอห์น รีส-เดวีส์) บิดาผู้ที่ทำหน้าที่ควบคุมการก่อสร้างกำแพงเมืองให้กับ “พระชัยราชา” (นิรุตติ์ ศิริจรรยา) กษัตริยแห่งอยุธยา ต่อมาเมื่อกษัตริย์แห่งลานนาคิดแข็งข้อต่ออยุธยาโดยการส่งศีรษะของผู้ส่งสารมาให้ พระชัยราชาทรงกริ้วเป็นอย่างยิ่งจึงตัดสินใจยกทัพเข้าสู่ศึกสงครามพร้อมกับ “พระมหาจักรพรรดิ” (โอลิเวอร์ พูพาร์ท) พระเชษฐาของพระชัยราชา ส่งผลให้เหล่าพันธมิตรของอยุธยา ไม่ว่าจะเป็นชุมชนโปรตุเกส, ญี่ปุ่นต่างเข้าร่วมทำศึกในครั้งนี้ เฟอร์นานโดเองก็เข้าร่วมรบในฐานะทหารที่มีประสบการณ์ จึงไม่น่าแปลกใจที่ความห้าวหาญในฐานะนักรบของเขาจะสร้างความพึงพอพระทัยแก่องค์กษัตริย์จนพระองค์แต่งตั้งเขาให้เป็นหนึ่งในราชองครักษ์พร้อมกันกับเพื่อนใหม่ชาวไทยผู้อาจหาญนาม “ทอง” (ดอม เหตระกูล) ที่เขาได้มีโอกาสช่วยชีวิตไว้ในสมรภูมิรบ ขณะเดียวกัน “มเหสีสุดาจัน” (ยศวดี หัสดีวิจิตร) ผู้เลอโฉมแต่ร้ายกาจได้วางแผนลอบปลงพระชนม์พระชัยราชาและ “พระยอดฟ้า” (ชาลี ไตรรัตน์) พระโอรสที่เกิดกับตนขึ้น เพื่อที่จะจะปูทางให้ “พันบุตรศรีเทพ” (อัครา อมาตยกุล) ชู้รักของนางขึ้นครองราชย์ โดยมีมือสังหารจากต่างชาติร่วมมือในแผนการร้าย นายทองและเฟอร์นานโดราชองครักษ์ปกป้องกษัตริย์ชนิดถวายหัว และพยายามสืบหาผู้อยู่เบื้องหลังแผนการร้ายในครั้งนี้ ก่อนที่จะพบว่ามีเงื่อนงำบางอย่างเชื่อมโยงมายังฟิลลิปป์พ่อของมาเรีย แต่แล้วโดยที่ไม่มีใครคาดคิด ทั้งสองพบว่าพระมเหสีมีส่วนสำคัญในแผนการครั้งนี้ แต่ก็สายเกินกว่าจะช่วยพระมหากษัตริย์ให้รอดพ้นจากการถูกพระมเหสีวางยาได้ เช่นเดียวกันกับที่พระโอรสซึ่งถูกเหล่าองครักษ์ผู้ของมเหสีปลงพระชนม์ เมื่อกษัตริย์ทรงสวรรคต เฟอร์นานโดกับทองกลายเป็นผู้ถูกกล่าวโทษว่าเป็นผู้เกี่ยวข้อง โดยมาเรียและครอบครัวของทองเองก็ถูกทหารจับตัวไป เหตุการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป เตรียมพบกับอีกหนึ่งมุมมองของเรื่องราวจากประวัติศาสตร์ที่ถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องยิ่งใหญ่ระดับฮอลลีวูด “กบฏท้าวศรีสุดาจัน” 20 ต.ค.นี้ ในโรงภาพยนตร์
Crying Tiger เสือร้องไห้ (2548/2005) ความหมายของ “เสือร้องไห้” คืออะไร 1) การหลั่งของเหลวคล้ายน้ำออกมาทางดวงตา เพื่อแสดงความดีใจและเสียใจของสัตว์บกชนิดหนึ่งที่มนุษย์เรียกมันว่า “เจ้าแห่งป่า” 2) “เนื้อย่างไฟ” จากเตาถ่านร้อนๆ หั่นเป็นชิ้นพอคำ แล้วคลุกคล้าในหม้อกับเครื่องปรุงรสจัดจ้าน มะนาวสวนเปรี้ยว พริกขี้หนูเผ็ดป่น ข้าวคั่วหอมหอม ต้นหอมสดๆ น้ำปลาแท้ น้ำตาลทรายแดง โรยเติมด้วยงาขาวกับยอดใบยี่หรา เสิร์ฟกับข้าวเหนียวร้อนๆ มีขายตามปั๊มน้ำมันทั่วไป 3) เรื่องราวชีวิตจริงของ “คนไทยใจสู้” กรรมวิธีในการทำ “เสือร้องไห้” ทีมงานออกค้นหา “ชาวอีสาน” ที่เข้ามาทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ ตามสถานที่ต่างๆ กว่าร้อยอาชีพ คัดเลือกอาชีพที่ทีมงานคิดว่าน่าสนใจ เพื่อสอบถาม พูดคุย หาข้อมูลที่ลึกลงไปในแต่ละคน ถึงเรื่องราวในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เฝ้าติดตามเพื่อถ่ายทำการดำเนินชีวิตของเขาเหล่านั้นในเมืองหลวง การทำงาน ความรัก ความฝัน ความเจ็บปวดของเขาที่เราไม่เคยรู้เรื่องเหล่านั้นมาก่อน และไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของเขา หรือชีวิตของทีมงาน คัดย่อเรื่องราวที่ใช้เวลานานกว่า 1 ปี ม้วนเทปทั้งหมดกว่า 300 ม้วนให้เหลือเพียงสิ่งที่น่าสนใจแค่เพียง 2 ชั่วโมง รู้จักมั้ยสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “คนอีสาน” “คนอีสาน” ผู้ซึ่งอยู่บนแผ่นดินไม่ติดทะเล แต่ก็ออกเรือตังเกหาปลาได้ ผู้กินแจ่วปลาร้า แต่ทำซูชิให้แขกในร้านญี่ปุ่นกินได้ ผู้ที่คุ้นเคยกับลำเพลิน ลำซิ่ง แต่ก็สามารถเป็นพระเอกงิ้ว ยังคงมีอะไรอีกมากมายที่ชาวอีสานทำไว้ที่เรายังไม่ได้พูดถึง เพราะนอกจากจะเป็นกลุ่มคนกลุ่มใหญ่ที่สุดในประเทศแล้ว พวกเขายังมีความสามารถในการปรับตัวที่เป็นเลิศที่สุด ภาพยนตร์แนว “Reality Film” เรื่องแรกของเมืองไทยที่จะถูกฉายตามโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศจากผลงานการกำกับของ “สันติ แต้พานิช” ผู้กำกับที่มีผลงานมามากมายจากการทำหนังสั้น อาทิ “กท.2541”, “One Way Ticket”, “ร ฟ ท บ ข ส” และสารคดีเบื้องหลังหนัง “มนต์รักทรานซิสเตอร์” ฉบับไม่เป็นทางการ และล่าสุดเรื่อง “เสือร้องไห้” ภายใต้การโปรดิวซ์ของ “ปรัชญา ปิ่นแก้ว” ร่วมด้วย “ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม” และ “พงศ์นรินทร์ อุลิศ” “เสือร้องไห้” เรื่องราวของการติดตามบันทึกเหตุการณ์ชีวิตของ “คนอีสาน” กลุ่มหนึ่งที่ต้องเข้ามาอาศัยและมีอาชีพต่างๆ อยู่ในกรุงเทพฯ ที่ต่างทั้งความฝันและจุดมุ่งหมาย ทีมงานใช้เวลาในการถ่ายทำร่วม 1 ปีเต็มใช้เทปบันทึกภาพไปกว่า 300 ม้วน แต่ต้องตัดออกมาให้ได้เท่ากับภาพยนตร์ที่จะฉายเพียง 1 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น ซึ่งทุกภาพบนแผ่นฟิล์มคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แม้แต่คนที่ปรากฏอยู่ในหนังหรือแม้แต่ทีมงานก็ตาม ไม่มีบท ไม่มีการคัตหรือเทกใหม่ แต่เป็นการปลดปล่อยให้ทุกชีวิตโลดแล่นไปโดยไร้การกำกับการแสดง เสียงหัวเราะ หรือน้ำตาคือสิ่งหนึ่งที่ทีมงานพลาดไม่ได้แม้แต่วินาทีเดียว โดยเรื่องนี้ได้ทำการติดตามบุคคลที่น่าสนใจจากภาคอีสานทั้งหมด 5 คน… “พรศักดิ์ ส่องแสง” นักร้องหมอลำชื่อดังคนแรกของเมืองไทยที่เล่นคอนเสิร์ตมาแล้วทั่วโลก บุคคลที่เคยอยู่บนที่สูงสุดของอาชีพและต่ำสุดแต่ไม่มีใครได้ล่วงรู้ “เหลือเฟือ มกจ๊ก” ดาราและนักแสดงตลกที่มากฝีไม้ลายมือ แรงงานอีสานที่อยู่ในกรุงเทพฯ คือกระจกสะท้อนตัวเอง อาชีพตลกที่ไม่ได้มีแต่เสียงหัวเราะเสมอไป “แมน หัวปลา” อดีตพนักงานโบกรถทีใส่ชุดสัตว์น้ำเชิญชวนลูกค้าหน้าร้านอาหาร ป.กุ้งเผา กับอาชีพใหม่ที่อยากมุ่งไป “ตลกคาเฟ่” “เนตร อินทรีเหล็ก” สตันต์แมนที่ใช้ชีวิตอยู่บนความเสี่ยงทุกวินาทีเพื่อเป็นหนทางนำไปสู่ “จา พนม หมายเลข 2” “พี่อ้อย สิงห์นักขับ” สาวขับแท็กซี่รุ่นใหญ่อารมณ์ดีที่เพื่อนร่วมทางมักแปลกหน้าอยู่เสมอ เส้นทางกลับบ้านคือถนนที่ไกลที่สุด
มหา’ลัยเหมืองแร่ (2548/2005) ปี พ.ศ. 2492 โชคชะตาของเด็กหนุ่มคนหนึ่ง ได้นำพาให้เขาต้องเดินทางข้ามฟาก จากโลกศิวิไลซ์ในเมืองหลวง ไปสู่อีกโลกหนึ่งอันไกลแสนไกล อาจินต์ ปัญจพรรค์ ในวัย 22 ปี คือเด็กหนุ่มคนนั้น เขาถูกรีไทร์จากคณะวิศวะฯ ปี 2 ...นั่นเองเป็นจุดสิ้นสุด ของความเป็นนิสิตมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย แต่ในขณะเดียวกัน มันคือจุดเริ่มต้นของการเดินทางไปสู่การเรียนรู้ชีวิตจริง ที่ไม่สามารถเรียนรู้จากตำราเล่มไหน มันไม่ได้มีวางขายทั่วไปและหาซื้อได้ด้วยเงิน มันต้องแลกด้วยเวลาและหัวใจ ...สู้ - ท้อแท้, สนุก - เศร้า, พบ - จาก... อาจินต์ในเวลานั้น ขณะที่เขานั่งอยู่บนรถขนหมูที่วิ่งจากภูเก็ตไปพังงา ยังไม่รู้เลยว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร ไม่รู้จักกระทั่งสถานที่ที่เขากำลังจะไป สำหรับเขา จ.พังงา อ.ตะกั่วทุ่ง ต.กระโสม เคยเป็นเพียงสถานที่อันไม่มีความสำคัญใดใด แม้เพียงจะจุดลงบนแผนที่ แต่ในวันนี้ มันกำลังจะกลายเป็นสถานดัดสันดาน ที่ถูกพ่อส่งให้ไปอยู่ อาจินต์มาถึงเหมืองกระโสม ที่นี่เขาได้พบและสัมภาษณ์งานกับ นายฝรั่ง (แอนโทนี โฮวาร์ด กูลด์) และนายฝรั่งก็รับเขาเข้าทำงาน ในตำแหน่งที่นายฝรั่งเรียกว่าเป็น 'สมุดพก' ให้กับแก นั่นหมายถึงการฝึกงาน การติดตามนายฝรั่ง และทำงานแทนคนงานที่ขาดงาน อาจินต์ภูมิใจกับงานที่ได้รับ และที่นี่ - วันนี้ - ชีวิตปี 1 ใน มหา'ลัย เหมืองแร่ ได้เริ่มขึ้นแล้ว... เขาจะทำอย่างไรจึงจะเป็นน้องใหม่ที่ดีของที่นี่ได้ เขาจะทำอย่างไรจึงผ่านชีวิตในสถาบันแห่งนี้ได้ เหมืองกระโสม ทิน เดรดยิง อาจจะเป็นเพียงมหา'ลัยที่เขาได้ความภูมิใจแทนปริญญา หาได้มีไว้เพื่อความโก้หรือโอ้อวดกับใครไม่ ผิดไหมที่เขาจะภูมิใจกับเกียรติยศ ..ที่เขาขุดมันขึ้นมาด้วยตนเอง
มวยไทย นายขนมต้ม (2546/2003) นายขนมต้ม (ภาณุทัต รัตนไตร) ลูกชายของนายเกิดและนางอี่ ชาวบ้านกุ่ม แขวงขุนเสนา มีพี่สาวชื่ออีเอื้อย ทั้งสามถูกพม่าฆ่าตายตั้งแต่ขนมต้มยังเด็ก จึงอาศัยอยู่กับหลวงตาคง (เล็ก เฉยสวัสดิ์)วัดปีกกาจนเติบใหญ่ นายขนมต้มถูกอ้ายดำรังแก แต่มี ชายนิรนาม (ดามพ์ ดัสกร) ช่วยไว้ ทำให้ขนมต้มเห็นคุณค่าของแม่ไม้มวยไทย จึงขอร้องให้ชายนิรนามสอนให้แต่ถูกปฏิเสธ นายสอน (ไกร ครรชิต) และ อ้ายดำ ขอท้ามวยกับชายนิรนาม ถึงสองครั้งสองคราแต่ถูกปฏิเสธ ขนมต้มขอสู้กับอ้ายดำและเป็นฝ่ายชนะ นายสอนผู้เป็นพ่อจึงขอแก้มือ และทำให้รู้ว่า ชายนิรนามคือคนที่เขาตามหา หวังให้ร่วมรับศึกกับพม่า ทำให้ทั้งหมดร่วมใจกันคิดสู้พม่า และหลังจากนั้น ขนมต้มกับอ้ายดำ ก็เป็นเพื่อนรักกันตั้งแต่นั้นมา จากนั้น ขนมต้มได้ลาหลวงตาคง เดินทางร่วมกับอ้ายดำไปป่าโมก เพื่อฝึกวิชามวยเพิ่ม โดยขนมต้มไปอาศัยอยู่กับ ทองอยู่ (นิวัติ พิบูลย์ศิริ) และนางยมซึ่งเป็นญาติ ขณะที่อ้ายดำไปหาครูเสา (มีศักดิ์ นาครัตน์) ข่าวข้าศึกพม่าประชิดกรุงศรีฯ และจะมีทัพพม่าผ่านทางป่าโมก พันเพชร (ยอดชาย เมฆสุวรรณ) กับ ครูสุก (สมชาติ ประชาไทย) ได้วางแผนดัน อ้ายเปลว (สุเมธ อ่อนนวล) เป็นนายทัพ โดยเรียกครูเสากับทองอยู่มาประชุม ครูเสาได้ต่อว่าครูสุก ที่ให้อ้ายเปลวออกไปรบกับพม่า โดยไม่ให้พวกตนไปด้วย ครูสุกบอกว่าพวกครูเสาเป็นเพียงทัพหลัง หาใช่ดั่งอ้ายเปลว ที่เป็นเหมือนนายทัพ และกล่าวว่าหากคิดว่ามีฝีมือดีก็ลองดู... วันต่อมา อ้ายดำและ อ้ายเทียบ (เฉลิมชัย สายทอง) นำพวกแอบซุ่มโจมตีฆ่าพม่าได้ยี่สิบคน แต่อ้ายดำได้รับบาดเจ็บ ครูสุกจึงมีความโกรธแค้น ที่อ้ายดำและอ้ายเทียบพร้อมพรรคพวก ทำได้เช่นเดียวกับอ้ายเปลว อีกทั้งทราบข่าวว่า ขนมต้มกับออนุ่น ซึ่งเป็นฝ่ายสอดแนม กำลังเดินทางไปกรุงศรีฯ จึงตามไปดักรอในป่าที่โพงเพง เมื่อประจันหน้ากันแล้ว ครูสุกได้ใช้แม่ไม้มวยไทยกับขนมต้มจนได้รับบาดเจ็บ และฆ่าออนุ่นตาย เหตุเพราะต้องการทราบว่า ขนมต้มเรียนแม่ไม้มวยไทยมาจากใคร เพราะคนๆ นั้นคือคนที่ครูสุกตามหาอยู่ อีกทั้งหมายจะฆ่าขนมต้มด้วย แต่ชายนิรนามมาช่วยไว้ทัน เมื่อทุกคนทราบว่า ครูสุกดักทำร้ายขนมต้มและฆ่าออนุ่นตาย จึงมีความโกรธแค้นและยกพวกมาจับครูสุก ครูสุกขัดขืนและหนีไป ส่วนอ้ายเปลวโดนจับและกักตัวไว้ แต่ จั๊กกะจั่น (บุญธิดา นาคเจริญ) แอบมาช่วยให้อ้ายเปลวหนีไป หลังจากทุกคนทราบว่า ครูสุกและอ้ายเปลวหักหลังคนไทยด้วยกัน โดยอ้ายเปลวนำทัพพม่าบุกป่าโมก จึงให้ขนมต้มกับอ้ายมิ่งขึ้นกรุงศรีฯ ขออาวุธและทหารมาช่วย แต่ระหว่างทาง เจอครูสุกดักรอขอประลองมวย ครูสุกแพ้จึงคิดใช้ดาบฆ่าขนมต้ม แต่ชายนิรนามมาช่วยไว้ทัน และฟันครูสุกคอขาดกระเด็น จากนั้นทั้งสองจึงเดินทางต่อ แต่ก็หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ฝ่ายป่าโมก โดนพม่าซึ่งมีอ้ายเปลวเป็นคนนำทัพโจมตี ทำให้นายสอน, ครูทองอยู่, ครูเสา, จั๊กกะจั่น, มะขาม, อ้ายดำ ตายสิ้น รวมทั้งพันเพชรด้วย ทำให้อ้ายเปลวเกิดความละอายใจ และด้วยความแค้น จึงวิ่งไล่ฆ่าพม่าและคนไทยด้วยกันโดยไม่ยั้งคิด กรรมตามสนองอ้ายเปลวคนขายชาติ มังทอคะยา (อาคะเน บุญเกิด) สั่งจับอ้ายเปลวเป็นเชลย รวมกับคนไทยคนอื่นด้วย ที่ค่ายกักกัน มีการเกณฑ์เชลยไทยมาสร้างเจดีย์หลวง ตามความประสงค์ของพระเจ้ามังระ (ครรชิต ขวัญประชา) ขนมต้มกลายเป็นเชลยศึก และเมื่อทราบเรื่องราวต่างๆ จากอ้ายโตจึงเกิดความเดือดดาล เมื่อเจอกับอ้ายเปลว ทั้งคู่จึงต่อสู้กันด้วยลีลาแม่ไม้มวยไทย แต่ มังสุรนาถ (สมเกียรติ พัฒนทรัพย์) มาห้ามไว้และกล่าวว่า เหตุใดคนไทยจึงชอบมีเรื่องวิวาทกัน และสั่งให้ทั้งสองสู้กัน หากใครแพ้จะถูกบั่นหัวเสียบประจาน ผลออกมาขนมต้มเป็นฝ่ายชนะ เพื่อไม่ให้เป็นการขายหน้าแผ่นดินไทย ขนมต้มจึงต่อยอ้ายเปลวจนตาย ตายด้วยน้ำมือคนไทยด้วยกัน ดีกว่าถูกพม่าบั่นคอเสียบประจาน ตราบจนถึงวาระที่พระเจ้ามังระจัดฉลองพระเจดีย์ จึงได้มีพระราชโองการให้เบิกตัวนายขนมต้มจากที่คุมขัง มาแสดงฝีมือมวยไทยหน้าพระที่นั่ง โดยมีเดิมพันว่า หากขนมต้มแพ้จะถูกบั่นคอ แต่หากชนะขนมต้มประสงค์สิ่งใดก็ทูลขอได้ การต่อสู้มวยไทยของขนมต้ม เป็นไปตามลีลาแม่ไม้มวยไทยที่เป็นต้นตำรับขนานแท้ จนเอาชนะพม่าได้ถึงสิบคน ในเวลาเพียงกะลายังไม่จมน้ำ พระเจ้ามังระทรงให้รางวัลแก่ขนมต้ม เป็นนางสนมถึงสองคนเพื่อไปทำเมีย แต่ขนมต้มปฏิเสธและทูลขอให้พระเจ้ามังระ ทรงพระราชทานอภัยโทษแก่คนไทยได้เป็นอิสระ ไม่ตกเป็นเชลยของพม่าอีกต่อไป พระเจ้ามังระเป็นกษัตริย์ตรัสแล้วไม่คืนคำ ทรงปลดปล่อยคนไทยเป็นอิสระจากการตกเป็นเชลยศึกของพม่า และทรงตรัสชมขนมต้มว่า "คนไทยนี้มีพิษสงรอบตัว แม้มือเปล่ายังเอาชนะคนได้ถึงเก้าคนสิบคน นี่หากว่ามีเจ้านายดี มีความสามัคคีกัน ไม่ขัดขากันเอง และไม่เห็นแก่ความสุขส่วนตัว และโคตรตระกูลแล้ว ไฉนเลยกรุงศรีอยุธยาจะเสียทีแก่ข้าศึก ดั่งที่เห็นอยู่ทุกวันนี้"
14 ตุลา สงครามประชาชน (2544/2001) เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเกิดจากพลังแรงกล้า ของการใฝ่หาเสรีภาพ โดยการนำของนิสิตนักศึกษา ได้สร้างภาพยิ่งใหญ่ตราไว้ในประวัติศาสตร์ของชาติ ตั้งแต่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงตลอดแนวถนนราชดำเนิน จากผู้คนเรือนล้านที่ออกจากบ้านและสถานศึกษา มาด้วยวิญญาณประชาธิปไตย ถึงร่างเปื้อนเลือด ซึ่งนอนทอดนิ่งอยู่ภายใต้ธงไตรรงค์ ท่ามกลางควันปืน และเสียงร่ำไห้ของเพื่อนพ้องผู้ใกล้ชิด ขณะประชาธิปไตยเริ่มผลิบานอีกครั้งหนึ่ง เสกสรรค์ ประเสริฐกุล (ภาณุ สุวรรณโณ) หนึ่งในผู้นำนักศึกษา ซึ่งยืนหยัดเป็นศูนย์กลางของฝูงชน ตลอดวันคืนอันยาวนานของเดือนตุลาฯ กลับพบว่าสภาพรอบตัวของเขา เริ่มเปลี่ยนแปลงไปอย่างน่ากลัว อันตราย และเต็มไปด้วยความขัดแย้งคุกคาม หลังจากเพื่อนพ้องคนรู้จักโดนลอบสังหารต่อเนื่อง เขาตัดสินใจชวน จิระนันท์ พิตรปรีชา (พิมพ์พรรณ จันทะ) คนรักซึ่งเป็นดาวจุฬาฯ หันหลังให้กับกิจกรรมความงาม มาเข้าร่วมอยู่ในขบวนการเรียกร้องความเป็นธรรม พากันหนีเข้าป่าไปร่วมกับ พคท. ซึ่งก็เหมือนเพื่อนพ้องนักศึกษารุ่นพี่รุ่นน้องจำนวนมาก ทั้งเดินทางเข้าไปก่อนหน้า และติดตามไปภายหลัง ทั้งสองใช้ชีวิตอย่างอยากลำเค็ญ ท่ามกลางป่าเขาบนภูร่องกล้า เฝ้าฝันว่าสักวันจะได้กลับเมือง พร้อมชัยชนะตามอุดมการณ์ที่ตั้งหวัง แต่แล้วเขากับจีระนันท์ก็เริ่มพบว่า สภาพแบบที่ทำให้เข้าต้องหนีออกจากเมือง ได้ย้อนกลับมาเป็นปัญหาให้ต้องเผชิญอีกครั้งในป่า
ด๊อกเตอร์ครก (2535/1992) จากชีวิตบางส่วนของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่ต้องดิ้นรนต่อสู้ เพื่อให้ได้เรียนหนังสือ เดินทางจากต่างจังหวัดเข้ากรุงเทพฯ หาเงินเรียนและยืนด้วยลำแข้งของตนเองจนสามารถเดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศ จนได้เป็นดอกเตอร์ที่ ไม่ได้ต่อสู้เพื่อแค่ให้ตัวเองมีชีวิตอยู่ได้ แต่สู้ให้ได้มาที่ตัวเองต้องการ เป็นเรื่องจริงที่น่าประทับใจ น่าจดจำเป็นตัวอย่าง รวมทั้งเป็นกำลังใจให้กับหลายๆ คนในสังคมนี้ที่ท้อแท้กับการเป็นคนดีและการทำความดี โดยเฉพาะกับวัยรุ่นที่เพิ่งพานพบกับอุปสรรค หรือบางคนที่ขาดการชี้นำแนวทาง "ลำบากแหละดี เพื่อต่อไปจะได้ไม่ลำบาก"
วัลลี 2528
วัลลี (2528/1985) "เธอวิ่งไปทุกวันให้ทันเรียน เธอวิ่งมาทุกวันเพราะกตัญญู" เธอคือ "วัลลี" จากชีวิตจริงของด.ญ.ยอดกตัญญู ปี 24 "วัลลี ณรงค์เวทย์" จากชีวิตจริง ของ "เด็กหญิงยอดกตัญญู" อายุ...12 ขวบ วิ่งวันละ...8 ก.ม. เพื่อช่วยชีวิตแม่ และอาจจะทำให้โลกนี้น่าอยู่ (ขึ้นอีกนิดหนึ่ง) วัลลี เด็กนักเรียนชั้นประถมที่มีฐานะยากจน อาศัยกับแม่พ่อและยายที่ตาบอดใน จ.สมุทรสาคร ซึ่งแม่ของวัลลีมีอาชีพขายไอศกรีม ส่วนพ่อรับจ้างทำงานทั่วไปด้วยความยากลำบากของชีวิต ทำให้พ่อหนีออกจากบ้าน ส่วนแม่ไปขายเลือดตัวเองเพื่อหาเงินมาเลี้ยงครอบครัวจนร่างกายทรุดโทรมนอนป่วยเป็นอัมพาต เพื่อดูแลแม่และยาย ทำให้ในตอนพักกลางวันของทุกวัน วัลลีจะต้องวิ่งกลับบ้านระยะทางหลายกิโลเมตรเพื่อป้อนข้าวป้อนน้ำแม่ที่ป่วย และยายที่สายตาย่ำแย่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ จากนั้นเธอจะวิ่งกลับไปเรียนต่อตอนบ่าย เรื่องราวของเด็กหญิงยอดกตัญญูจะจบลงเช่นไร
ขาวผ่องจ้าวสังเวียน (2527/1984) หลังจากการตายของพ่อ "ทวี" (ทวี อัมพรมหา) ต้องลาออกจากโรงเรียนออกมาหาเลี้ยงครอบครัว เขาเข้าไปสมัครเป็นนักมวยอาชีพ แต่กลับต้องกลายเป็นเด็กสวัสดิการในค่ายมวยแทน จนในที่สุด "ครูชูชีพ" ครูมวยก็เห็นแววและยอมให้โอกาส นัดแรกเขาสามารถเอาชนะน็อคได้ทันที และนั่นทำให้ครูตั้งชื่อให้เขาว่า "ขาวผ่อง สิทธิชูชัย" และปลุกปั้นฝ่าฟันปัญหาต่างๆ จนสร้างสถิติชก 20 ไฟต์ไร้พ่าย และไปไกลถึงตำแหน่งแชมป์เวทีลุมพินีในเวลาเพียงไม่กี่ปี เมื่อถึงขีดสุดของมวยไทยแล้วทวีกลับตัดสินใจหันไปชกมวยสากลสมัครเล่นเพื่อเผชิญความท้าท้ายอันยิ่งใหญ่จนได้เป็นนักชกเหรียญเงินโอลิมปิกคนแรกของประเทศไทย
ภาพยนตร์ชีวิตครอบครัว ร่วมรับความรักและความสุข แบ่งเบาความทุกข์และน้ำตา เออชีวีนี่น้อยวาสนา เอื้อมแต่เงาลวงมาว่าแท้ น้ำพุเป็นเด็กที่เติบโตมาในครอบครัวที่มีปัญหา พ่อกับแม่แยกทางกัน และเขาก็ได้ค้นหาสิ่งใหม่ๆให้ชีวิตทั้งดีและไม่ดี แล้วน้ำพุ ก็เลือกทางผิด ยิ่งเมื่อแม่มีสามีคนใหม่ จึงเป็นตัวเร่งให้เขาเริ่มแตกแยกจากครอบครัว บวกกับการที่เขาเลือกคบเพื่อนที่เสพยา จนติดยาหนัก แก้วเพื่อนสนิทของน้ำพุรู้เข้า ก็เสียใจมาก จึงตัดสินใจบอกแม่และครอบครัว แม่พาน้ำพุไปเลิกยาที่วัดถ้ำกระบอกกับเพื่อน แต่เมื่อเขากลับมาบ้าน เขากลับไม่ได้รับการต้อนรับอย่างดีเท่าที่เขาคาดหวัง จึงเกิดความรู้สึกน้อยใจตามประสาวัยรุ่น หันกลับไปหายาเสพติดอีกครั้ง และครั้งนี้มันก็เอาชีวิตของน้ำพุไป
คาดเชือก (2527/1984) เรื่องราวของหมู่บ้านแห่งหนึ่งในอำเภอโพธิ์ทอง ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ถูกคุกคามด้วยอิทธิพลมืดของ นายทองคำ จนกระทั่งวันหนึ่ง บุญสม อดีตนักมวยคาดเชือกกลับมารับหน้าที่เป็นปลัดอำเภอคนใหม่ หลังติดคุกถึง 10 ปีจากคดีฆ่าคนตาย เมื่อเขามาเห็นความเลวร้ายที่เกิดขึ้นกับชาวบ้าน บุญสมจึงตั้งตนเป็นศัตรูเพื่อหมายกวาดล้างอิทธิพลของเจ้าพ่อผู้นี้ เมื่อบุญสม (สรพงษ์ ชาตรี) นักเลงเก่าและเป็นนักมวยคาดเชือก ที่เคยชกคนจนตายออกจากคุกก็กลับมา เป็นปลัดที่บ้านเกิดตัวเองแต่ไม่ได้รับการยอมรับจากชาวบ้านเพราะเขาเคยทำไม่ดีไว้เยอะ แต่การกลับมาครั้งนี้เขาพยายามทำทุกอย่าง เพื่อความสงบสุขของคนในหมู่บ้านพยายามปราบปรามยาเสพติด โดยมีปลัดธนู (นิรุตต์ ศิริจรรยา) คอยให้ความช่วยเหลือ จนได้รับการยอมรับจากชาวบ้านและตำรวจที่เคยดูถูกปลัดบุญสมไว้
มหาราชดำ (2524)

เรื่องย่อ : มหาราชดำ (2524/1981) ภาพยนตร์ที่ดัดแปลงจากตำนานกู้เอกราชของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยเพิ่มตัวละครสมมุติเข้าไปเป็นกลุ่มทหาร 9 นาย นำโดยหลวงหาญและขุนพยัคฆ์ ซึ่งตีฝ่าวงล้อมทัพพม่าหนีมาอยู่อรัญญิก หลังเสียกรุงครั้งแรก ทั้งหมดต้องเผชิญหน้ากับการรังควานจากทัพพม่า รวมทั้ง ขุนเดือด คนไทยผู้แปรพักตร์ซึ่งสร้างรอยแค้นแก่หลวงหาญเป็นอย่างยิ่ง

เรื่องราวที่ดัดแปลงจากตำนานกู้เอกราชของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช โดยเพิ่มตัวละครสมมุติเข้าไปเป็นกลุ่มทหาร 9 นาย นำโดยหลวงหาญและขุนพยัคฆ์ ซึ่งตีฝ่าวงล้อมทัพพม่าหนีมาอยู่อรัญญิกหลังเสียกรุงครั้งแรกฯ ทั้งหมดยังต้องเผชิญการรังควานจากทัพพม่า และขุนเดือดคนไทยแปรพักต์ซึ่งสร้างรอยแค้นแก่หลวงหาญอย่างมาก จนในวันที่หลวงหาญชำระแค้นขุนเดือดสำเร็จ ทั้งหมดก็เดินทางไปร่วมทัพกับ ‘มหาราชดำ’ เพื่อร่วมรบในศึกกู้กรุงศรีฯ จากพม่า

บุญเพ็งหีบเหล็ก (2523)

เรื่องย่อ : บุญเพ็งหีบเหล็ก (2523/1980) เรื่องจริงที่ลือลั่นกว่าครึ่งศตวรรษล่วงแล้ว มาเป็นภาพยนตร์มายาศาสตร์ฆาตกรรมสยอง!

เรื่องราวของ "บุญเพ็ง" อดีตพระภิกษุที่จำพรรษาอยู่ที่วัดแห่งหนึ่งในเมืองนนทบุรี ด้วยเก่งกล้าในวิชาคาถาอาคมบุญเพ็งจึงมีลูกศิษย์มากมาย โดยเฉพาะลูกศิษย์ที่เป็นผู้หญิงร่ำรวย บุญเพ็งใช้วิชาคาถาอาคมทำพิธีเมตตามหานิยมให้กับหญิงสาวที่หลงเชื่อ และหลอกล่อเอาเงินและมีเพศสัมพันธ์กับหญิงสาวเหล่านั้น จนกระทั่งความโลภมากบังตาทำให้เขาฆาตกรรมเศรษฐินีถึงเจ็ดคน และนำศพยัดใส่หีบเหล็กแล้วถ่วงน้ำทุกครั้ง ผู้คนจึงเรียกเขาว่า "บุญเพ็งหีบเหล็ก"

เหนือนักเลง (2523)
เหนือนักเลง (2523/1980) เรื่องราวของกำนันเป๊าะสมัยเป็นผู้ใหญ่บ้านที่ได้ร่วมมือกับสารวัตรอวยพร (สมบัติ) ซึ่งมาสืบคดีการปล้น รถขนเงินเข้าขัดขวางการค้าอาวุธสงครามของ กอบกุล (ดามพ์) เศรษฐีเงินกู้และ เสี่ยพิพัฒน์ (บู๊) เศรษฐีจากกรุงเทพจนทำให้ เกิดการต่อสู้กันขึ้น
ผ้าขะม้าแดง (2523)
ผ้าขะม้าแดง (2523/1980) ข้อความบนใบปิด วีโปรดัคชั่น เสนอ ชีวประวัติอมตะของนายพลนักรัก ในยุคเผด็จการที่ท่านไม่เคยลืม ผ้าขะม้าแดง สมบัติ เมทะนี วิยะดา อุมารินทร์ มยุรฉัตร เหมือนประสิทธิเวช ศิริพงษ์ อิศรางกูร และนางเอกใหม่ สลิตตา กระแสนิธิ พิภพ ภู่ภิญโญ, ปรียา รุ่งเรือง, บังเละ, จันทรา นภาพร จตุจักร กำกับการแสดง กวีพันธ์ อุ๊ ผู้ช่วยผู้กำกับ วาสุเทพ โอศิริ บทประพันธ์ ตุ๋ย สันติ ถ่ายภาพ วัลลภ เผือกจิตต์ ที่ปรึกษา วิภาวดี ตรียะกุล อำนวยการสร้าง เจตน์ จริยา ธุรกิจ พี.78 จัดจำหน่าย
หมอเมืองพร้าว (2522)
หมอเมืองพร้าว (2522/1979) ข้อความบนใบปิด วรพินภาพยนตร์ โดย วรพิน รัตนาพรรณ เสนอ หมอเมืองพร้าว จากชีวิตจริงของ...น.พ.อภิเชษฐ์ นาคเลขา เรื่องของหมอ ผู้มีอุดมการณ์สูงส่ง ยอมละทิ้งชื่อเสียง ฐานะ ความร่ำรวย ก้าวตามเสียงเรียกของมนุษยธรรม สู่ดินแดนแร้นแค้นที่ความศิวิไลซ์หันหลังให้ ขอแนะนำพระเอกบัณฑิตนิติศาสตร์จากจุฬาฯ มานิตย์ มัสยวานิช นันทนา เงากระจ่าง วิยะดา อุมารินทร์ กาญจนา บุญประเสริฐ กฤษณ์ เนาวกานต์, วุฒิ คงคาเขตร, นภาพร หงสกุล, ม.ล.โกมล ปราโมช, ธรรมนูญ จันทโรจน์วงศ์ ลิขิต กฤษณมิตร ถ่ายภาพ วรพิน รัตนาพรรณ อำนวยการสร้าง ชรินทร์ ทองสิงห์ เขียนบท และ กำกับการแสดง นิวไฟว์สตาร์ จัดจำหน่าย