น้ำตาชาย (2497)
น้ำตาชาย (2497/1954) ในระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา ทุกท้องที่ถูกปกคลุมไปด้วยสภาพอันแร้นแค้น พร เด็กขายหนังสือพิมพ์ อายุ 12 ปี ได้ช่วยเหลือ นิ่ม กับ น่วม สองแม่ลูกให้รอดพ้นจากความอดอยาก พรเก็บหอมรอมริบมานะอุตสาหะจนได้ทำงานเป็นช่างเรียงประจำโรงพิมพ์ด้วยความใฝ่ฝันจะเป็นนักประพันธ์ นิ่มเติบโตเป็นสาวงามวิไลและใฝ่ฝันอยากเป็นนางเอกคณะละคร จึงชอบชวนพรไปโรงละครอยู่เสมอแม้จะยากจนข้นแค้น ไม่มีเงินซื้อตั๋ว ขอได้เพียงแค่ฟังเสียงที่เล็ดลอดออกมาจากโรงละครก็เป็นพอ คืนหนึ่ง หลังจากละครเลิก นิ่มนึกสนุกขึ้นไปแสดงท่าทางเลียนแบบนางเอกละคร เจ้าของโรงละครเห็นเข้า สัญญาว่าจะสนับสนุนให้ทั้งสองได้ทำตามสิ่งที่ใฝ่ฝัน นิ่มจับพลัดจับผลูขึ้นไปแสดงละครแทนตัวนางเอกที่เบี้ยวงาน ในนามของ "นิ่มนวล" และแจ้งเกิดในชั่วข้ามคืน ทุกคนต่างพะเน้าพะนอนางเอกคนใหม่จนลืมตัว คว้า ภราดร อาเสี่ยกระเป๋าหนักเป็นคู่ควง ภราดรเสนอตัวเป็นนายทุนโรงละครนับแต่บัดนั้นแล้วเข้ามาเจ้ากี้เจ้าการจนพรทนไม่ได้ เผลอตอบโต้ภราดรด้วยคำผรุสวาท นิ่มนวลจึงตบหน้าพร ความเจ็บใจหรือจะสู้ความชอกช้ำที่ถูกหญิงคนรักตบหน้า พรหันเข้าหาสุราแล้วไปมีเรื่องกับเพื่อนซึ่งมาว่าร้ายนิ่มนวล โชคร้ายที่เพื่อนของเขาเซไปถูกตู้กระจกแตกบาดคอขาด พรถูกจับเข้าคุกทันที นิ่มนวลย้ายไปอยู่ในบ้านของภราดร ทิ้งให้น่วมอยู่ที่กระท่อมซอมซ่อของพรโดยไม่มาเหลียวแล จนกระทั่งพรได้รับการปล่อยตัว จึงบากหน้าไปที่โรงละครเพื่อบอกนิ่มว่าน่วมป่วยหนัก แต่เธอก็ไม่สะทกสะท้านเจ้าของโรงละครตามพรให้กลับมาประพันธ์ละครอีกครั้งหลังจากที่นิ่มนวลลาออกจากคณะละครไม่นานก็ประสบอุบัติเหตุรถคว่ำพร้อมภราดร นิ่มนวลตาบอดสนิททั้งสองข้าง ภราดรบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย เมื่อหายเป็นปรกติก็หนีออกจากโรงพยาบาลไปมีเมียใหม่ ทิ้งให้นิ่มนวลรอคอยอย่างสิ้นหวัง และเริ่มสำนึกความผิดที่ตนก่อไว้ ในที่สุด ภราดรก็กลับมา แต่กลับมาเพื่อเอาชีวิตของนิ่มนวล
ล่องแพ (2497)
ล่องแพ (2497/1954) "คุณแม่ครับ! ต่อไปนี้ผมคงไม่ได้เรียนหนังสือแน่แล้ว" "มึงจำได้ไหม? ครั้งหนึ่งเมื่อกูเด็ก ๆ มึงจะฆ่ากู มึงกดน้ำกูอย่างงี้ ๆ ๆ" (ที่มา: นิตยสารข่าวภาพยนตร์ กรกฎาคม พ.ศ. 2497)
อัศวินสาว (2497)
อัศวินสาว (2497/1954) เชิงชาย กับ อัศนี สองเพื่อนรักต้องมาผิดใจกันเพราะต่างก็หลงรัก อารมณ์ หลายปีผ่านไปอัศนีได้เป็นนายตำรวจและได้รับมอบหมายให้ตามล่าสมุนของเชิงชายที่ค้าของเถื่อน เชิงชายทราบข่าวจึงสั่งฆ่าอัศนี ทำให้อารมณ์กลายเป็นภรรยาหม้าย ต้องเลี้ยงมาริน ลูกสาวเพียงผู้เดียว เวลาผ่านไป มารินโตเป็นสาวสะพรั่งเข้าศึกษานักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงเพื่อสืบทอดเจตนารมณ์จากพ่อ แต่ก่อนมารินสำเร็จการศึกษาเพียงไม่กี่วันอารมณ์ก็ถูกฆ่าตาย ขณะนั้นเอง ทางราชการสั่งให้มารินปลอมตัวสมัครไปเป็นเลขานุการิณีของเชิงชาย ทำให้ตำรวจสามารถบุกทลายที่ซ่องโจรของเชิงชายได้สำเร็จ เชิงชายจับตัวมารินหนีไปกบดานที่หัวหินโดยมี บรรชา ลูกชายของเชิงชายไปด้วย มารินหาโอกาสที่เชิงชายเผลอ ฆ่าเชิงชายเพื่อล้างแค้นแทนพ่อ แม้ตนเองจะรักบรรชาอยู่ก็ตาม
เจ้าสาวชาวไร่ (2497)
เจ้าสาวชาวไร่ (2497/1954) ภาพยนตร์ประเภทตลกขบขัน แนวใหม่อีกเรื่องหนึ่งที่จะทำให้ท่านท้องคัดท้องแข็งตลอดเวลาที่นั่งชม (ที่มา: นิตยสารผดุงศิลป์ กรกฎาคม พ.ศ. 2497)
กุลปราโมทย์ (2497)

กุลปราโมทย์ (2497/1954) เพราะความลึกลับของตึกโบราณข้างบ้านที่ชาวบ้านต่างลือว่ามีผีสิง ทำให้ กุลปราโมทย์ลูกสาวของ พระยาราชมณเฑียร เกิดความอยากรู้อยากเห็นและได้เข้าไปพัวพันกับโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นเพราะความโลภของมนุษย์ กุลปราโมย์ได้ทราบจาก หลวงเวช ซึ่งเป็นหมอประจำตระกูลว่าตึกหลังนั้นเป็นตึกของ ท่านสรกิจพิศาล เสนาบดีเก่า ซึ่งมีลูกชายชื่อ พระวิเศษ กับลูกสาวชื่อ จำรัส แต่เพราะจำรัสเกิดไปได้เสียกับทนายประจำตระกูลจนตั้งครรภ์ ท่านสรกิจจึงพลั้งมือลงโทษจำรัสจนเสียโฉม หลังจากที่ท่านสรกิจถึงแก่กรรม พินัยกรรมระบุว่า ท่านสรกิจฯ ยกมรดกทั้งหมดให้จำรัส แต่หลังจากจำรัสคลอดบุตรชายก็หายตัวไป ด้วยเหตุนี้ พระวิเศษจึงกลายเป็นผู้ดูแลทรัพย์สมบัติของตระกูล ยศ ลูกชายของจำรัสก็ถูกเลี้ยงเยี่ยงลูกคนใช้ เมื่อกุลปราโมทย์ทราบดังนั้นก็เกิดสงสารในชะตากรรมของยศ จึงคอยมาให้กำลังใจยศที่บ้านพระวิเศษอยู่เสมอ พร้อมกับวางแผนสืบหาความจริงเรื่องการหายตัวไปของจำรัส กระทั่งกุลปราโมทย์ได้รู้ว่าพระวิเศษสั่งให้ลูกน้องย้ายบางอย่างที่อยู่ในบ้าน กุลปราโมทย์พร้อมด้วยคนใช้จึงบุกเข้าไปเปิดโปงความจริงจนรู้ว่า พระวิเศษแอบขังจำรัสไว้ในตึกเพราะหวังจะฮุบมรดกเป็นของตน จำรัสถูกฆ่าตาย แต่ก่อนตายเธอได้เขียนพินัยกรรมมอบมรดกให้ยศ ส่วนพระวิเศษก็สติวิปลาสจนถึงแก่ความตาย ยศจึงกลายเป็นเจ้าของตระกูลและได้ครองรักกับกุลปราโมทย์อย่างมีความสุข

มารหัวใจ (2497/1954) ด้วยความเป็นคนเกเรเที่ยวเตร่ติดอบายมุข ทำให้ อารมณ์ ลูกชายของ นายเอม เศรษฐีเมืองกรุง โดนบิดาไล่ออกจากบ้าน อารมณ์จึงต้องร่อนเร่ไปตามที่ต่างๆ จนได้พบกับ รวงทอง สาวงามเมืองชะอำและได้มารดาของรวงทองอุปการะไว้ อารมณ์จึงแคล้วคลาดปลอดภัย นานวันรวงทองเริ่มหวั่นไหวต่อหนุ่มเมืองกรุงอย่างอารมณ์ จนทั้งสองสมรักกันและได้แต่งงานกันในเวลาต่อมา แต่แล้วนายเอมก็ออกข่าวประกาศให้อภัยลูกชายตนผ่านหน้าหนังสือพิมพ์ อารมณ์จึงคิดจะกลับกรุงเทพฯ แต่ก็ไม่ลืมที่จะพารวงทองกลับไปด้วย โดยมีข้อแม้ว่ารวงทองจะต้องไม่บอกครอบครัวของอารมณ์ว่าเขาและเธอแต่งงานกันแล้ว เพราะครอบครัวของอารมณ์ได้เตรียมการให้อารมณ์ได้แต่งงานกับ อมรา อดีตคู่หมั้น ด้วยความรักของรวงทอง จึงต้องจำใจทนเห็นอารมณ์และอมราไปไหนมาไหนด้วยกัน กระทั่งอารมณ์จะเข้าพิธีแต่งงานกับอมรา รวงทองจึงตัดสินใจหนีออกจากบ้านด้วยความช้ำชอก ทุกคนจึงรู้ว่าแท้ที่จริงรวงทองเป็นภรรยาของอารมณ์ นายเอมสั่งให้ลูกชายตามไปเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อรวงทอง แต่สายไปเสียแล้วเพราะรวงทองร้องไห้จนเธอต้องเสียดวงตาทั้งสองข้างอารมณ์จึงได้รู้สึกผิดและพารวงทองกลับมาอยู่ด้วยกันในขณะที่อมราคู่หมั้นก็รู้สึกเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น จึงตัดสินใจออกบวช เพื่อให้อารมณ์และรวงทองได้ครองคู่กันสืบไป
คำสาบาล (2497)
คำสาบาล (2497/1954) เรื่องของความรัก ความแค้น ความเสียสละ ความรันทด และน้ำตาที่ไหลริน! 8 ชีวิตแห่งความหมุนเวียน (ที่มา: นิตยสารตุ๊กตาทอง มิถุนายน พ.ศ. 2497)
สามเสือสมุทร (2497)
สามเสือสมุทร (2497/1954) เนื้อเรื่อง หนักไปในเรื่องชาติเหมาะสมกับเหตุการณ์อนาคต ซึ่งไทยประเทศอาจจะต้องประสบก็อาจเปนได้ แสดงให้เห็นถึงความรักชาติไทยของเหล่าลูกนาวี เน้นให้เห็นถึงความรักระหว่างอากับหลานระหว่างชาติไทยอันเปนสุดที่รักของเขา แสดงให้ซึ้งถึงชีวิตของลูกดอกประดู่ซึ่งจะไม่รู้วันโรย การยกพลขึ้นบุก ยุทธวิธีการโจมตี ฯลฯ (ที่มา: นิตยสารข่าวภาพยนตร์ พฤษภาคม พ.ศ. 2497)
แม่จ๋า (2497)
แม่จ๋า (2497/1954) หลังจากนายจ้างถูก สุชาติ ลอบยิงเสียชีวิต เอื้อน จึงไปสมัครเป็นแม่บ้านของ ดวงใจ จนกระทั่งได้พบ หลวงบรรณกรรม จึงได้รู้ว่าดวงใจคือลูกสาวของตนที่ 15 ปีก่อนเธอได้มอบให้หลวงบรรณกรรมเลี้ยงดู เอื้อนตัดสินใจจะลาออกทันทีเพราะไม่อยากให้ดวงใจรู้ความจริง แต่บังเอิญได้เห็นสุชาติมาติดพันดวงใจอยู่ จึงเปลี่ยนใจไม่ลาออกเพื่อคอยขัดขวางสุชาติ ดวงใจไม่พอใจที่เอื้อนกีดขวางความรักของตนเอง จึงหาทางกลั่นแกล้งเอื้อนต่างๆ นานา ฝ่ายสุชาติกลัวเอื้อนจะเปิดเผยความลับ ก็ออกอุบายหลอกดวงใจว่าหลวงบรรณกรรมกำลังจะบังคับให้ดวงใจแต่งงานกับชายอื่น แล้วชวนดวงใจหนี เอื้อนรีบไปบอก พิศมัยภรรยาสุชาติ ความหึงหวงผลักดันให้พิศมัยคว้าปืนหมายจะเอาชีวิตสุชาติ แต่สุชาติแย่งปืนไปได้และยิงพิศมัยเสียชีวิต เมื่อไม่เห็นทางออกอื่นที่จะช่วยลูกสาวให้พ้นจากคนชั่ว เอื้อนจึงตัดสินใจลงมือฆ่าสุชาติจนตกเป็นผู้ต้องหาฆ่าคนตาย หลวงบรรณกรรมสุดจะสงสารเอื้อน จึงยอมผิดสัญญาบอกดวงใจว่าเอื้อนคือแม่ที่แท้จริงของเธอ
สามเกลอปราบวายร้าย (2497)
สามเกลอปราบวายร้าย (2497/1954) สามเกลอปราบวายร้าย เป็นภาพยนตร์ไทย ฟิล์ม 16 มม.ที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2497
หนูจ๋า (2497)
หนูจ๋า (2497/1954) นิยายชีวิตที่ท่านจะหัวเราะและร้องไห้... เราพากภูมิใจที่เสนอท่านด้วย.. เรื่องที่ซาบซึ้งตรึงใจที่สุด พร้อมทั้งบทบาทที่ดีที่สุด.. ดู... บทบาทของ อรสา เด็กสาวสวยคนเดียวในเมืองไทย ที่ได้รับรางวัลถ้วยเกียรติยศจาก อัศวินภาพยนตร์ และสนั่นศิลป์ภาพยนตร์ ว่าแสดงบทบาทเย้ยดาราฝรั่งใน "ตุ๊กตาจ๋า" คอยดู..หนูจ๋า-หนูจ๋า (ที่มา: นิตยสารข่าวภาพยนตร์ เมษายน พ.ศ. 2497)
Placeholder
นางไพร (2497/1954) นางไพร เป็นภาพยนตร์ไทย ฟิล์ม 16 มม.ที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2497 สร้างโดย ศรีบูรพาภาพยนตร์ และให้เสียงพากย์โดย ม.ล. รุจิรา อิศรางกูร - มารศรี อิศรางกูร ณ อยุธยา
แผลเก่า (2497)

แผลเก่า (2497/1954) ในปี พ.ศ. 2496 ณ คฤหาสน์โลจนะรัตน์กำลังจะมีพิธีวิวาห์ในวันรุ่งขึ้น ระหว่าง รังรอง โลจนะรัตน์ (พรทิพย์ โกศลมัชกิช) ลูกสาวสุดที่รักของเจ้าของคฤหาสน์ กับชายที่เธอไม่เคยรู้จักมาก่อน รังรองได้แต่มองการ์ดแต่งงานด้วยความเจ็บช้ำ ก่อนจะฉีกมันทิ้งเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แล้วตัดสินใจเก็บเสื้อผ้าใส่กระเป๋าเดินทางไปหลบที่ทุ่งวังทองหลางซึ่งเมื่อสมัยเด็กรังรองเคยมาเก็บค่าเช่าที่นากับแม่อยู่บ่อยๆ ค่ำแล้ว รังรองยังไม่อาจข่มตาให้หลับลงได้จึงลงมาเดินเล่น และได้พบกับหนุ่มนั่งเป่าขลุ่ยอยู่ใต้ต้นไทรหญิงสาวเกิดความสนใจจึงเข้าไปคุยด้วย ก่อนจะตกใจจนสลบไปเมื่อรู้ว่าเขาเป็นวิญญาณ ผัวเมียเจ้าของบ้านจึงเล่าเรื่องราวในอดีตที่ทำให้วิญญาณของชายหนุ่มยังคงสถิตอยู่ที่ต้นไทร เขาชื่อว่า ขวัญ (ชีพ ชูพงษ์) ในอดีตเคยรักอยู่กับหญิงสาวชื่อ เรียม (พรทิพย์ โกศลมัชกิช) ทั้งสองให้สัตย์สาบานต่อศาลไทรว่าจะรักและซื่อตรงต่อกัน แม้นใครผิดคำสาบานขอให้มาตายอยู่ใต้ต้นไทรต้นนี้ แต่เพราะตระกูลของชายหนุ่มหญิงสาวเป็นศัตรูคู่อาฆาตกัน ขวัญจึงถูก เรือง พ่อของเรียมกีดขวางความรักโดยการจับเรียมไปกักขัง ก่อนจะขายเรียมให้คุณนายทองคำ และส่งตัวไปอยู่บางกอกด้วยความเห็นแก่เงิน ขวัญได้แต่นับวันรอคอยการกลับมาของเรียม คุณนายทองคำปฏิบัติต่อเรียมประหนึ่งลูกสาวเพราะคุณนายนั้นเคยเสียลูกสาวไป เมื่อถูกปรนเปรอด้วยเสื้อผ้าอาภรณ์ราคาแพง เรียมก็เริ่มเปลี่ยนไปเป็นคนละคน รวมทั้งหัวใจของเธอก็เอนเอียงไปให้ สมชาย (ทวนทอง วิมลรัตน์) อดีตว่าที่ลูกเขยของคุณนายทองคำที่มาชอบเรียม ครั้นมีโอกาสได้กลับมาเยี่ยมแม่ที่กำลังป่วยหนัก ขวัญจึงหาโอกาสมาทวงถามความรักต่อเรียม หญิงสาวจึงได้ระลึกถึงความหลังครั้งเก่า และคำสัญญาที่เคยให้ไว้ต่อหน้าเจ้าพ่อไทร แต่ในไม่ช้าสมชายก็กำลังจะพาเรียมกลับกรุงเทพ ความสับสนและความกลัวว่าสาวคนรักจะเปลี่ยนใจทำให้ขวัญบุ่มบ่ามทำลายเรือของสมชายพังยับเยิน สมชายแค้นจัดเป็นตัวตั้งตัวตีนำชาวบ้านรุมประชาทัณฑ์ขวัญ ขวัญพยายามตะเกียกตะกายไปที่ศาลไทรโดยมีเรียมว่ายน้ำตามมา เมื่อเห็นว่าขวัญกำลังจะสิ้นใจเรียมจึงใช้มีดปลิดชีพตนตายตามคนรัก ณ ที่ที่เคยสาบานรักกัน

คำสั่งคำสาป (2497)
คำสั่งคำสาป (2497/1954) ดร.ทองคำ เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ยึดมั่นในลัทธิประชาธิปไตย มีสานุศิษย์เคารพเป็นจำนวนมาก เมื่อ ดร.ทองคำ เสียชีวิต นายพูน พี่ชายของดร.ทองคำ ซึ่งเป็นผู้ร่วมอุตสาหกรรมน้ำพูนจิตต์ รับ เครือมาศ ลูกสาวคนเดียวของ ดร.ทองคำ มาดูแล นายพูนได้สร้างอนุสาวรีย์ ดร.ทองคำ ขึ้น และพยามยามชักจูงผู้ที่เคยเลื่อมใส ดร.ทองคำ ให้มาเลื่อมใสตน แต่เบื้องหลังกลับวางแผนการกำจัดเครือมาศโดยการวางยาทำลายเส้นประสาท เครือมาศรู้ตัวทันจึงลอบหนีไปหา ขุนลีลาศาสตร์สุนทร เพื่อนรักของ ดร.ทองคำ ขุนลีลาศาสตร์สุนทรอาศัยอยู่กับ ชัยศิริ บุตรชายซึ่งมีอาชีพเป็นนักสืบชัยศิริจึงรับปากจะช่วยเครือมาศ ชัยศิริลอบเข้าบ้านพูนโพคาเพื่อสืบหาหลักฐานสาเหตุการเสียชีวิตของ ดร.ทองคำ นายพูนมาพบเข้าจึงเกิดการต่อสู้กัน นายพูนและแม่ผันแยกกันหนี แม่ผันออกไปทางลับเพื่อเรียกคนมาช่วย ส่วนนายพูนหนีไปทางตึกที่มีรูปปั้น ดร.ทองคำ ชัยศิริซ้อนกลนายพูนต่อหน้าคนที่แม่ผันเรียกมา โดยทำให้รูปปั้นเปิดโปงว่านายพูนทรยศต่อ ดร.ทองคำ และออกคำสั่งให้จัดการนายพูนเสีย แต่นายพูนพยายามแย่งระเบิดจากคนใกล้ๆ พ.ต.ต. ว่อง โดดออกมาจากด้านหลังรูปปั้นเข้าแย่งระเบิดไว้ทัน และใส่กุญแจมือนายพูนติดไว้กับรูปปั้น แต่ไม่ทันไรรูปปั้นนั้นก็ล้มทับนายพูนตายคาที่
Placeholder
เพลิงชีวิต (2497)
เพลิงชีวิต (2497/1954) เรื่องของชายใจเพ็ชร์ที่ชตากรรมบรรดาลให้เขาเป็น ผู้ร้ายฆ่าคน ดู! ชีวิตอันแสนเศร้าของ หญิงผู้อาภัพต้องยอมชั่วเสียคนเพราะความรักลูกและผัว ชม! "ติ๋ม" ดาราน้อยเจ้าน้ำตาในบทของหนูน้อยผู้มีกรรม (ที่มา: นิตยสารตุ๊กตาทอง พ.ศ. 2497)