เอคโค่ จิ๋วก้องโลก Echo Planet 3D (2555/2012) ณ ใจกลางป่าลึกของเมืองไทย สองพี่น้องชาวกะเหรี่ยง หน่อวา (พากย์เสียงโดย หนึ่งธิดา โสภณ) และ จ่อเป (พากย์เสียงโดย อธิพิชญ์ ชุติวัฒน์ขจรชัย) ได้ช่วยชีวิต แซม (พากย์เสียงโดย นพพันธ์ จันทรศร) ลูกชายประธานาธิบดีแห่งแคปิตัลสเตทไว้จากอุบัติเหตุในป่าหมอก ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง ภาวะโลกร้อนได้เพิ่มขึ้นจนเกินขีดจำกัด ก่อกำเนิดเป็นปีศาจคลื่นความร้อน B.U.C.T. ที่ขยายตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว และอาละวาดบุกกินพลังงานเป็นอาหาร สร้างความเสียหายให้กับเมืองใหญ่ ๆ ทั่วโลก ในที่สุดผู้นำโลกจึงประชุมกัน และมีมติให้ดำเนินโครงการ Cool Bomb เพื่อขจัด B.U.C.T. ให้สิ้นซากไป แต่จะมีใครบอกได้ว่า นี่จะเป็นวิธีช่วยโลกได้อย่างแท้จริง? คงมีเพียง จ่อเป เท่านั้นที่รับรู้ได้ถึงเสียงเรียกของธรรมชาติ ซึ่งบอกกับเขาว่า เทคโนโลยีไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้อง วิธีเดียวที่จะช่วยให้โลกรอดพ้นจากมหันตภัยครั้งนี้ได้ก็คือ การหยุดใช้พลังงานทุกอย่าง เวลาเหลือไม่มากแล้ว จ่อเป หน่อวา และ แซม จะหยุด B.U.C.T. และ Cool Bomb ได้ทันการณ์หรือไม่
ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๔ ศึกนันทบุเรง

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๔ ศึกนันทบุเรง (2554/2011) เรื่องราวอันเป็นผลจากการปราชัยของหงสาวดีในคราวศึก พระยาพะสิม และ พระเจ้าเชียงใหม่ ซึ่งทำให้ พระเจ้านันทบุเรง ทรงตระหนักในพระปรีชาสามารถของ สมเด็จพระนเรศวร และในความเข้มแข็งของกองทัพอยุธยา จึงทรงยกทัพใหญ่เป็นทัพกษัตริย์มาย่ำยีราชธานีสยามหวังให้ราบเป็นหน้ากลองเพื่อเป็นการแก้มือ และเพื่อรักษาซึ่งพระเกียรติยศ มิให้เป็นที่ดูแคลนแก่เหล่าเจ้าประเทศราชในการปกครองของฝ่ายพม่า กองทัพกษัตริย์ของ พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง มีความสมบูรณ์ยิ่งใหญ่น่าเกรงขามกว่าทุกศึก ประกอบด้วยช้าง 3,200 ทัพม้า 12,000 และไพร่ราบซึ่งมีจำนวนถึง 252,000 โดยมีนายทัพผู้ปรีชาสามารถมาร่วมรบ ทั้ง พระมหาอุปราชา มังจาปะโร และลักไวทำมูทหารกล้า กิตติศัพท์ความยิ่งใหญ่น่าเกรงขามของทัพหงสาวดีที่ยกเข้ามานี้ ส่งผลให้เจ้าเมืองในขอบขัณฑสีมาของราชอาณาจักรอยุธยาข้างฝ่ายเหนือประหวั่นพรั่นพรึงถึงกับสมคบคิดกัน แปรพักตร์เข้าสมานสมัคร พระเจ้านันทบุเรง รบ สมเด็จพระนเรศวร เป็นเหตุให้ สมเด็จพระนเรศวร ต้องเผชิญทั้งศึกนอกและศึกใน สถานการณ์กลับยิ่งบีบคั้นให้คับขันยิ่งขึ้น เมื่อ พระศรีสุพรรณธรรมาธิราช พระอนุชาเจ้ากรุงละแวกซึ่งขัดพระทัย สมเด็จพระนเรศวร แต่กาลก่อน ได้ยุยงให้พระเชษฐาตัดสัมพันธไมตรีกับอยุธยา ละแวกจึงกลายเป็นหอกข้างแคร่ที่พร้อมจะกระหน่ำซ้ำเติมสยามให้ย่อยยับหากมีอันพลาดท่าเสียทีในศึกนันทบุเรงนี้ ภัยรอบด้านบีบรัดให้ สมเด็จพระนเรศวร ทรงต้องเผชิญศึกอย่างโดดเดี่ยว ซ้ำเคราะห์กลับทับทวีคูณเมื่อสหายศึก เช่น เลอขิ่น และกองกำลังเมืองคัง ซึ่งร่วมกรำศึก กันมาแต่เบื้องต้นคิดถอนตัวตีจากเนื่องจากพิษรักระหว่างรบที่จบลงด้วยความร้าวฉานระหว่าง เลอขิ่น กับ พระราชมนู ขุนศึกคู่พระทัย ความขัดแย้งด้วยเหตุส่วนตัวได้บานปลายกลายเป็นภัยของแผ่นดินในคราวคับขันเมื่ออยุธยาต้องเผชิญศึก ซึ่งประมาณได้ว่าเป็นมหาสงครามภายใต้โทสจริตของ พระเจ้านันทบุเรง ด้วยข้อจำกัดที่รุมเร้าหลายประการ ผสานกับจำนวนไพร่พลที่เป็นรองหงสาวดีอยู่หลายขุม ทำให้ สมเด็จพระนเรศวร ทรงจำต้องปรับยุทธศาสตร์การตั้งรับทัพหงสาวดี โดยทรงใช้พระนครศรีอยุธยาซึ่งมีทำเลที่ตั้งที่ได้เปรียบเป็นฐานบัญชาการรบแต่เพียงแห่งเดียว ทรงส่งกำลังออกไปปักปราการ วางแนวป้องกันมิให้พม่าเข้ามาปลูกค่ายใกล้ขอบคูพระนครและกำแพงเมือง ทั้งยังแต่งกำลังเป็นกองโจรเข้าปล้นค่ายข้าศึกอย่างอาจหาญ เมื่อศึกเหนือเสือใต้รุมกระหน่ำ ขุนนางผู้ใหญ่ขาดสามัคคีคิดคดคำนึงแต่ประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง จอมทัพผู้รั้งราชบัลลังก์และความอยู่รอดของแผ่นดินก็มาพลาดท่า ต้องศาสตรากลางสมรภูมิศึก ยอดทหารเอกกรุงศรีถูกขุนศึกผู้ชาญณรงค์กว่าจับเป็นเชลย ชะตากรรมกรุงศรีอยุธยา และ สมเด็จพระนเรศวร จะลงเอยอย่างไร

วีรชน คนถูกลืม ขุนรองปลัดชู (2554/2011) นปี พ.ศ. 2302 หลังการสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ดาวหางฮัลเลย์ได้โคจรผ่านโลกเสมือนหนึ่งลางร้าย ขุนรองปลัดชู (สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ) ครูดาบอาตมาทและนายหมู่บ้านแขวงเมืองวิเศษไชยชาญ ได้ไปยังกรุงศรีอยุธยาพร้อมกับกรมการเมืองผู้ใหญ่ เพื่อเฝ้าสถานการณ์การผลัดแผ่นดิน ขุนรองปลัดชูเฝ้ามองดูสถานการณ์ของบ้านเมืองด้วยความเป็นห่วง เนื่องจากการผลัดแผ่นดิน เจ้านายในพระราชวังแย่งชิงพระราชบัลลังก์ ขุนนางก็แตกแยกสนับสนุนแต่ละฝ่ายกัน เจ้าสามกรม ถูกกุมตัวไปประหารชีวิตยังวัดโคกพระยาแล้ว พระเจ้าอุทุมพร ขึ้นเสวยราชสมบัติยังมิทันได้ 2 เดือน เจ้าฟ้าเอกทัศ พระบรมเชษฐาแสดงเจตนาชัดเจนว่า ต้องการขึ้นเสวยราชย์เอง ด้วยการประทับอยู่ในพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ ซ้ำยังการเข้าเฝ้าบางครั้งยังพกเอาพระแสงขรรค์ขึ้นวางพาดตัก พระเจ้าอุมทุมพรยอมหลีกให้พระบรมเชษฐาขึ้นเสวยราชย์แต่โดยดี โดยพระองค์เสด็จออกผนวช แม้น กรมหมื่นเทพพิพิธจะเสด็จหนีราชภัยออกผนวชเช่นกัน แต่ก็ไม่พ้นถูกกำจัดด้วยน้ำมือของตัวขุนรองฯเอง แม้นตัวขุนรองฯจะไม่เข้าข้างผู้ใดและสลดใจกับเหตุการณ์ที่คนในชาติเดียวกันต้องมาเข่นฆ่ากันเองก็ตาม ในเวลาเดียวกัน ทางอังวะ พระเจ้าอลองพญาสถาปนาตนเองขึ้นครองราชย์ หลังจากปราบปรามมอญได้สิ้น โดยมีพระราชบุตรมังระ (จักรกฤษณ์ พณิชย์ผาติกรรม) และมังฆ้องนรธา เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ ที่ตะนาวศรีทางฝ่ายอยุธยาได้ริบเรือสินค้าของอังวะไป พระเจ้าอลองพญาเห็นเป็นจังหวะเหมาะ ประกอบกับได้สดับรู้ความของพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ของอยุธยาว่า โฉดเขลา ไม่เป็นที่ยอมรับของราษฎร โดยที่พระองค์ต้องการจะทำสงครามเพื่อให้อาณาประชาราษฎร์และสมณชีพราหมณ์ได้เป็นอยู่อย่างเป็นสุข เมื่อขุนรองฯได้กลับวิเศษไชยชาญ ได้เล่าเรื่องราวที่ตนเองประสบพบเจอมาที่อยุธยา พร้อมย้ำอยู่เสมอว่า บ้านเมืองอ่อนแอ เหมือนบ้านไม้ที่ถูกปลวกมอดกัดแทะ แม้ต้องลมเพียงนิดก็จะพังทลายทั้งหมด ต้องเตรียมทำสงคราม สู้เพื่อวิเศษไชยชาญ โดยรวบรวมอาสาสมัครได้ 400 คน ฝึกดาบอาตมาท และอาบน้ำว่านเพื่อปลุกขวัญกำลังใจและอยู่ยงคงกระพัน เดินทางไปยังด่านสิงขรเพื่อสกัดกั้นทัพพม่า โดยที่กรมการเมืองวิเศษไชยชาญได้แจ้งไปยัง พระยารัตนาธิเบศร์ ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ในอยุธยาได้ทราบแล้ว และจะยกทัพไปสมทบ แต่เมื่อได้ปะทะกับทางพม่าแล้ว ขุนรองฯได้ใช้ป่าชายเลนริมหาดซุ่มโจมตี แม้ตัดกำลังพม่าได้ส่วนหนึ่ง แต่เมื่อทางพม่าโต้กลับก็มิอาจทานได้ ทั้งหมดจึงหนีไปอยู่ริมหาด และถูกฆ่าตายทั้งหมดด้วยการจับกดน้ำและใช้ช้างกระทืบ ด้วยทั้งตัวขุนรองปลัดชูด้วย ก่อนตาย ขุนรองฯเหลือบเห็นทัพของพระยารัตนาธิเบศร์ที่สัญญาว่าจะยกมาช่วยยืนมองอยู่ห่าง ๆ โดยไม่มาช่วยจริงดังคำที่ว่าไว้ ขุนรองฯรู้สึกสลดกับเหตุการณ์และระลึกถึงเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ต้น
ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๓ ยุทธนาวี

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๓ ยุทธนาวี (2554/2011) การประกาศเอกราชที่เมืองแครง และสังหารสุระกำมาเหนือยุทธภูมิฝั่งแม่น้ำสะโตงของ “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” (สมเด็จพระนเรศ) ในปีพุทธศักราช 2127 ได้สร้างความตระหนกแก่ “พระเจ้านันทบุเรง” องค์ราชันหงสาวดีพระองค์ใหม่ ด้วยเกรงว่าการแข็งข้อของอยุธยาในครั้งนี้จะเป็นเยี่ยงอย่างให้เหล่าเจ้าประเทศราชที่ขึ้นกับหงสาวดีอาศัยลอกเลียนตั้งตัวกระด้างกระเดื่องตาม แต่จนพระทัยด้วยติดพันศึกอังวะ จึงจำต้องส่งเพียงทัพ “พระยาพะสิม” และ “พระเจ้าเชียงใหม่” เข้าประชิดกรุงศรีอยุธยา ทางหนึ่งนั้นพระเจ้านันทบุเรงทรงประมาทสมเด็จพระนเรศ ด้วยเห็นว่ายังอ่อนพระชันษาคงมิอาจรับมือจอมทัพผู้ชาญณรงค์ทั้งสองได้ ทางหนึ่งก็สำคัญว่ากรุงศรีอยุธยายังบอบช้ำแต่คราวสงครามเสียกรุง ไพร่พลเสบียงกรังยังมิบริบูรณ์คงยากจะรักษาพระนคร ครั้งนั้นพม่ารามัญยกเข้ามาเป็นศึกกระหนาบถึง 2 ทาง ทัพพระยาพะสิมยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์เลยล่วงเข้ามาถึงแดนสุพรรณบุรี ส่วนพระเจ้าเชียงใหม่-นรธาเมงสอมาจากทางเหนือ นำทัพบุกลงมาตั้งค่ายถึงบ้านสระเกศ แขวงเมืองอ่างทอง กิตติศัพท์การชนะศึกของสมเด็จพระนเรศหลายครั้งหลายคราระบือไกลถึงแผ่นดินละแวก “เจ้ากรุงละแวก” มิได้ทอดธุระ ได้ลอบส่งจารชนชาวจีนฝีมือกล้านามว่า “พระยาจีนจันตุ” มาลอบสืบความที่กรุงศรีอยุธยาแต่ถูกจับพิรุธได้จนต้องลอบตีสำเภาหนีกลับกรุงละแวก สมเด็จพระนเรศทรงนำทัพเรือออกตามจนเกิดยุทธนาวี แต่พระยาจีนจันตุหนีรอดได้ เมื่อเจ้ากรุงละแวกได้ทราบกิตติศัพท์การณรงค์ของพระนเรศจึงเปลี่ยนพระทัยหันมาสานไมตรีกับอยุธยา และส่ง “พระศรีสุพรรณราชาธิราช” ผู้อนุชามาช่วยอยุธยาทำศึกหงสา หากแต่พระศรีสุพรรณผู้นี้ต่างจากเจ้ากรุงละแวกเพราะหาใคร่พอใจผูกมิตรด้วยอยุธยา การได้พระศรีสุพรรณฯ มาเป็นสหายศึกจึงประหนึ่งอยุธยาได้มาซึ่งหอกข้างแคร่

คนไท ทิ้งแผ่นดิน มหาสงครามเพื่อแผ่นดินสุดท้าย (2553/2010) ภาพยนตร์ไทยอิงแนวประวัติศาสตร์กล่าวถึงกลุ่มบรรพบุรุษไทย ที่รวมตัวกันกอบกู้และต่อสู้จากการรุกรานของกลุ่มชนฮาน เพื่ออิสรภาพและเพื่อความเป็นไท แม้นจะแลกมาด้วยการเสียสละทุกอย่างก็ตาม เมื่อกว่าหนึ่งพันปีก่อน ตอนใต้ประเทศมองโกเลียมีชนกลุ่มน้อยที่เรียกตนเองว่า ไท ที่ตกอยู่ภายใต้กฏระเบียบและการปกครองของเมืองฮานมหาอำนาจ ชาวไท เป็นผู้ซึ่งรักความสงบ ความสุข ไม่คิดร้ายกับผู้อื่นมีความเมตตาและเอื้อเฟื้อต่อเพื่อนร่วมโลกสิ่งเหล่านี้คือวิถีชีวิตที่ชาว ไท ยึดถือเป็นแบบอย่างมาช้านาน แต่ก็ยังไม่วายที่จะถูกกดขี่ข่มเหงต่างๆนาๆ จากผู้ปกครองและทหารฮานเมืองมหาอำนาจในยุคนั้น กลุ่มคนไทถูกกดขี่ข่มเหงมาช้านานถึงเวลาแล้วที่พวกเหล่าไทต้องผนึกรวมตัวกันขับไล่ปราบปรามเหล่าทหารและผู้นำฮานเพื่ออิสรภาพสู่มวลชนชาวไท สมัครสมานสามัคคี รักชาติ รักแผ่นดิน รวมพลังให้เป็นปึกแผ่นขับไล่อธรรม เพื่อได้มาซึ่งความเป็นไท อิสรภาพและความยุติธรรม
บางระจัน ๒ (2553/2010) ภายหลังวีรกรรมของกลุ่มนักรบบ้านระจัน ที่ร่วมกันต่อสู้กับกองทัพพม่าจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต แม้จะจบลงด้วยความพ่ายแพ้ แต่เรื่องราวของพวกเขากลับกลายเป็นตำนานแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็วเหมือนไฟลามทุ่ง ปลุกให้ชาวบ้านผู้กล้าอีกหลายคนทิ้งจอบ เสียม มาจับดาบสู้กับพม่า หลายหมู่บ้านลุกขึ้นต่อต้านการรุกรานจากพม่าด้วยกำลังอันน้อยนิด แม้ว่าอยุธยาเมืองหลวงจะอ่อนแอจากความแตกแยก แต่ชาวบ้านตัวเล็กๆกลับพยายามยืนหยัดต่อสู้เพื่อผืนแผ่นดินบ้านเกิด ทำให้การเคลื่อนทัพของพม่าเต็มไปด้วยอุปสรรค โดยการนำของพระอาจารย์ธรรมโชติกลุ่มผู้กล้าชุมเขานางบวชรวมตัวกันขึ้นมาเป็นนักรบผ้าประเจียด คอยซุ่มโจมตี และปล้นสะดมกองทัพพม่าเพื่อปลดปล่อยเชลยคนไทยหลายร้อยคน จากที่เคยเป็นเสี้ยนหนามเล็กๆ นอกสายตา สุกี้แม่ทัพพม่าประกาศล่าหัวกลุ่มนักรบผ้าประเจียด แม้ว่าต้องฆ่าคนไทยจนหมดทุกหมู่บ้านก็ตาม ทหารพม่าเริ่มไล่ฆ่าชาวบ้านทุกคนเพื่อบีบให้นักรบผ้าประเจียดยอมมอบตัว แม้ว่าชาวบ้านบางคนจะยอมสละแม้กระทั่งชีวิตก็ไม่ยอมเผยความลับ แต่ก็มีบางคนเพียงแค่เงินทอง และลาภยศก็เปิดปากมันได้ สุกี้นำทัพเข้าปิดล้อมที่ซ่อนของกองทัพนักรบผ้าประเจียดได้ในที่สุด หากไม่มีความช่วยเหลือจากอยุธยา และไม่มีปาฏิหาริย์จากฟ้า เลือดของคนไทยจะไหลนองพื้นแผ่นดินเกิดอีกครั้ง กลุ่มกำลังนักรบผ้าประเจียดเพียงไม่กี่ร้อย ยกดาบขึ้นโห่ร้องก่อนเข้าประจันบานกองทัพนับพันของพม่า วันนี้ตำนานบ้านระจันกำลังจะถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้ง ด้วยวิญญาณและเลือดเนื้อของคนไทย เสียงประดาบและเสียงโห่ร้องดังกึกก้อง นี้คืออีกตำนานการต่อสู้เพื่อจะบอกคนไทยทุกคนว่า “ดินทุกก้อน ต้นไม้ทุกต้น สายน้ำทุกสาย หล่อหลอมขึ้นมาจากเลือดและเนื้อของคนไทย จงรักษามันไว้ให้ดี”
ก้านกล้วย ๒ (2552/2009) ชัยชนะจากสงครามยุทธหัตถี ก้านกล้วยได้รับการแต่งตั้งเป็น เจ้าพระยาปราบหงสาวดี เป็นช้างทรงที่พระนเรศวรทรงใช้ในการศึกสงครามทุกครั้ง รวมถึงสงครามครั้งใหม่ของกรุงหงสาวดี ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า... แต่...ก่อนที่การเริ่มทัพจะเริ่มขึ้น เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ทหารหงสาบุกมาจับชาวบ้านอยุธยาไปเป็นเชลย และได้นำชบาแก้วและลูกแฝดของก้านกล้วยไปด้วย ก้านกล้วย ไม่มีหนทางอื่น นอกจากต้องแอบหลบหนีจากกรุงศรีอยุธยา เพื่อช่วยลูกเมียกลับมาให้เร็วที่สุด ครั้งนี้เขาต้องต่อสู้เพียงลำพังบนดินแดนของศัตรู ต้องเผชิญหน้ากับช้างศึกที่แข็งแกร่งที่สุดอย่าง งานิล พร้อมด้วย อองสา มหาอำมาตย์จอมเวทย์มนตร์ นี่คือ ภารกิจที่ใหญ่หลวงยิ่งกว่าครั้งใด
นาค (2551/2008) เรื่องราวของแม่นาคพระโขนงถูกเล่าขานอีกครั้ง เมื่อนาคกับบรรดาเหล่าผีโบราณต่าง ๆ หนีความเจริญของกรุงเทพฯ ย้ายมาอยู่กันที่ชนบทห่างไกลแสงสีและความเจริญแห่งหนึ่ง แต่ก็ยังไม่วายโดนพวกผีเมืองกรุงตามมารังควานไม่เว้นแต่ละวัน จนวันหนึ่งเกิดเรื่องใหญ่ในหมู่บ้านของมนุษย์ละแวกเดียวกับที่นาคอาศัยอยู่ ขณะที่ทางหมู่บ้านกำลังจัดงานวัดกัน ผู้คนกำลังดูหนังกลางแปลงอย่างสนุกสนาน ผีในหนังที่ดูก็มีชีวิตขึ้นมาจริง ๆ โผล่ออกมาจากจอหนังแล้วจับธี เด็กชายวัย 7 ขวบไปต่อหน้าต่อตาพี่สาวและชาวบ้านที่กำลังแตกตื่น เมื่อนาคเห็นแก้มพี่สาวของธี สูญเสียน้องชาย ความสงสารเห็นอกเห็นใจบวกกับความหลังฝังใจบางอย่าง นาคและพ้องเพื่อนอย่าง เขียวผีหัวขาด, อืดผีเปรตจอมอ้วน และทองผีหมาปากสุนัข จึงตัดสินใจพาแก้มเข้าไปในโลกแห่งวิญญาณที่แสนจะทันสมัย เพื่อช่วยเหลือธีและสะสางสิ่งที่ติดค้างในอดีตของตนเอง นาค, แก้ม และแก๊งค์เพื่อน จึงเดินทางสู่เมืองกรุงแห่งโลกวิญญาณ เพื่อเผชิญหน้ากับจอมราชันย์แห่งภูติผีทั้งหลายที่เป็นตัวการวางแผนให้พวกผีร้ายสามารถขึ้นมาทำลายโลกของมนุษย์ในเวลากลางวันได้โดยไม่ต้องซ่อนเร้นอีกต่อไป
สียามา (2551/2008) พ.ศ. 2307 ในสมัยกรมขุนอนุรักษ์มนตรี แห่งบ้านพูลหลวง ในช่วงปลายสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นข่วงภาวะสงครามไทยและพม่า ผู้รุกรานยกทัพ มุ่งตัดกำลังกรุงศรีอยุธยาจากทุกด้าน ด้านหนึ่ง มังมหานรธา เป็นแม่ทัพ ตีหัวเมืองทางทวาย กาญจนบุรี สุพรรณบุรี เข้าล้อมกรุงศรีอยุธยา อีกด้านหนึ่ง เนเมียวสีหบดี เป็นแม่ทัพ ตีหัวเมืองทางเหนือ เรื่อยมาทางใต้เพื่อเข้าตีโอบล้อมกรุงศรีอยุธยา บ้าน สียามา ที่เคยสงบสุข จึงอยู่ในภาวะสงครามเช่นกัน ผู้กล้าแห่งบ้านสียามา ต่อสู้กับผู้รุกรานที่เดินทัพหลงออกนอกเส้นทาง แต่ในระหว่างการต่อสู้ จู่ ๆ รถยนต์ของ อาณา, โบ๊ต และ กิ๊ฟ นั่งอยู่ในรถยนต์ หลงเข้ามาในระหว่างการต่อสู้ ทั้งหมดตกใจกับสิ่งที่เกิด จึงขับรถยนต์หนีเข้าไปหมู่บ้านสียามา พวกเขานำความสามารถเข้าช่วยเหลือหมู่บ้านสียามา
THE BUDDHA พระพุทธเจ้า (2550/2007) ย้อนหลังไปกว่า 2,500 ปี เจ้าชายสิทธัตถะ ประสูติ ณ สวนลุมพินี โหรได้ทำนายว่าถ้าเจ้าชายไม่ได้เป็นกษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ ก็จะได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า พระเจ้าสุทโธทนะผู้เป็นบิดาจึงทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้พระราชกุมารผันความสนพระทัยไปออกผนวช แต่แล้ววันหนึ่งเจ้าชายก็ได้พบความจริงว่ามนุษย์นั้นจะอย่างไรก็ไม่พ้นความทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย จึงตัดสินใจช่วยมนุษย์ให้พ้นทุกขเวทนานี้ โดยหนีออกจากพระราชวังไปออกผนวช เจ้าชายสิทธัตถะต้องพบกับอุปสรรค ต้องทดลองทรมานตนหลายรูปแบบ ต้องพบกับมารที่มาผจญกว่าจะได้ตรัสรู้เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อพบกับภารกิจอันยิ่งใหญ่ ในการช่วยเหลือมนุษย์โลกให้พ้นทุกข์
ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๒ ประกาศอิสรภาพ

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๒ ประกาศอิสรภาพ (2550/2007) พ.ศ. 2114 “สมเด็จพระมหาธรรมราชา” ซึ่งพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยาสืบต่อจากพระมหินทราธิราชได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเป็นอุปราชครองเมืองพิษณุโลก เมื่อพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองสวรรคตในปี พ.ศ. 2124 “พระเจ้านันทบุเรง” ขึ้นเสวยราชย์สืบแทน และสถาปนาพระโอรส “มังสามเกียด” ขึ้นเป็น “พระมหาอุปราชา” รัชทายาท ในการนี้เจ้าเมืองประเทศราชทั้งหลายต้องมาร่วมแสดงความสวามิภักดิ์ รวมถึงพระมหาธรรมราชาและสมเด็จพระนเรศวรด้วย ในขณะที่เจ้าฟ้าเมืองคังไม่ได้เสด็จมาร่วมพระราชพิธีสำคัญครั้งนี้ เป็นเหตุให้พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงทรงมอบหมายให้พระมหาอุปราชา, พระราชนัดดา “นัดจินหน่อง” พระโอรสเจ้าเมืองตองอู, และสมเด็จพระนเรศวรช่วยกันเข้าตีเมืองคัง แต่พระมหาอุปราชากลับสั่งให้สมเด็จพระนเรศวรเข้าตีเป็นทัพสุดท้าย ด้วยความมั่นใจว่าทัพของพระองค์และนัดจินหน่องจะประสบความสำเร็จ แต่ปรากฏว่าสมเด็จพระนเรศวรทรงมีชัยชนะในศึกเมืองคังนี้ สามารถจับตัวเจ้าฟ้าเมืองคังและพระธิดา “เลอขิ่น” กลับมาได้ รัชทายาทหงสาวดีและราชนิกูลฝ่ายพม่าซึ่งเป็นคู่ปรับกันมาตั้งแต่เยาว์วัยจึงขุ่นเคืองอาฆาตสมเด็จพระนเรศวรเป็นทวีคูณ ต่อมาเมื่อเกิดศึกอังวะ พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงให้สมเด็จพระนเรศวรนำทัพมาช่วยรบ แต่พระมหาอุปราชากลับใช้โอกาสนี้วางแผนลอบปลงพระชนม์ ในขณะที่สมเด็จพระนเรศวรทรงยั้งทัพอยู่ ณ เมืองแครง แต่ข่าวการลอบปลงพระชนม์ได้ล่วงรู้ถึงสมเด็จพระนเรศวรผ่านทางพระมหาเถรคันฉ่อง สมเด็จพระนเรศวรจึงถือเหตุการลอบปลงพระชนม์ในการประกาศอิสรภาพตัดสัมพันธไมตรีกับหงสาวดี และกวาดต้อนชาวไทยชาวมอญกลับคืนพระนคร ฝ่ายหงสาวดีเมื่อทราบว่าการลอบปลงพระชนม์ไม่สำเร็จจึงให้นายทัพสุระกำมาเร่งนำทัพออกติดตามทัพของสมเด็จพระนเรศวร ในที่สุดก็ทัพหงสาวดีก็ตามมาถึงในขณะที่สมเด็จพระนเรศวรและไพร่พลกำลังข้ามแม่น้ำ และศึกครั้งนี้สมเด็จพระนเศวรทรงใช้พระแสงปืนต้นยิงข้ามแม่น้ำสะโตงถูกแม่ทัพสุระกำมาตายบนคอช้าง ทัพพม่าจึงล่าถอยกลับไป

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๑ องค์ประกันหงสา

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๑ องค์ประกันหงสา (2550/2007) พุทธศักราช 2106 “พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง” ทรงกรีฑาทัพเข้าตีราชอาณาจักรอยุธยาทางด่านระแหงแขวงเมืองตาก ทัพพม่ารามัญซึ่งมีรี้พลเหลือคณานับได้เข้ายึดครองหัวเมืองฝ่ายเหนือของราชอาณาจักรอยุธยาอันมีเมืองพิษณุโลกเป็นประหนึ่งเมืองราชธานีได้เป็นผลสำเร็จ ครั้งนั้น “สมเด็จพระมหาธรรมราชา” (ฉัตรชัย เปล่งพานิช) พระราชบิดาของ “สมเด็จพระนเรศวร” หรือ “พระองค์ดำ” (ปรัชฌา สนั่นวัฒนานนท์) ซึ่งเป็นเจ้าแผ่นดินครองเมืองพิษณุโลกจำต้องยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าบุเรงนองเพื่อรักษาไว้ซึ่งชีวิตอาณาประชาราษฎร์มิให้ต้องมีภยันตรายและจำต้องยอมร่วมกระบวนทัพพม่าเข้าตีกรุงศรีอยุธยา ศึกครั้งนั้นสมเด็จพระมหา จักรพรรดิเจ้าแผ่นดินอยุธยาทรงยอมเจรจาหย่าศึกกับพม่ารามัญ และยอมถวายช้างเผือก 4 เชือก ทั้งให้สมเด็จพระราเมศวรราชโอรสโดยเสด็จพระเจ้าบุเรงนองไปประทับยังนครหงสาวดีตามพระประสงค์ของกษัตริย์พม่า ข้างสมเด็จพระมหาธรรมราชาซึ่งได้ยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าบุเรงนองก็ได้ถวายสมเด็จพระนเรศวรราชโอรสองค์โตให้ไปเป็นองค์ประกันประทับยังหงสาประเทศเฉกเช่นกัน ครั้งนั้นพระองค์ทรงมีพระชนมายุได้เพียง 9 ชันษา สมเด็จพระนเรศวรทรงเป็นที่รักใคร่ของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองประดุจพระราชบุตรร่วมสายสันตติวงศ์ ด้วยองค์ยุพราชอยุธยาทรงมีพระปรีชาสามารถด้านพิชัยยุทธ ทั้งยังองอาจกล้าหาญสบพระทัยกษัตริย์พม่าซึ่งก็ทรงเป็นนักการทหาร นิยมผู้มีคุณสมบัติเป็นนักรบเยี่ยงพระองค์ พระเจ้าบุเรงนองทรงมีสายพระเนตรยาวไกล แลเห็นว่าสืบไปเบื้องหน้าสมเด็จพระนเรศวรจะได้ขึ้นเป็นใหญ่ในอุษาคเนย์ประเทศ จึงทรงคิดใคร่ปลูกฝังให้สมเด็จพระนเรศวรผูกพระทัยรักแผ่นดินหงสา เพื่อจะได้อาศัยพระองค์เป็นผู้สืบอำนาจอุปถัมภ์ค้ำชูราชอาณาจักรซึ่งพระองค์ทรงสถาปนาขึ้นด้วยความยากลำบาก เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าพระเจ้าบุเรงนองนั้นหาได้วางพระทัยในพระราชโอรสคือ “มังเอิน – พระเจ้านันทบุเรง” (จักรกฤษณ์ อำมะรัตน์) และพระราชนัดดา “มังสามเกียด” (โชติ บัวสุวรรณ) นัก ถึงแม้ทั้งสองพระองค์จะทรงเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขโดยตรง ด้วยทรงเล็งเห็นว่าราชนิกุลทั้งสองพระองค์นั้นหาได้เป็นผู้ทรงคุณธรรมอันจะน้อมนำเป็นพื้นฐานให้เติบใหญ่เป็นบูรพกษัตริย์ ปกป้องครองแผ่นดินที่พระองค์ทรงสร้างและทำนุบำรุงมาด้วยกำลังสติปัญญาและความรักใคร่หวงแหน เหตุทั้งนี้เป็นชนวนให้พระเจ้านันทบุเรงและราชโอรสมังสามเกียดขัดพระทัย ทั้งผูกจิตริษยาสมเด็จพระนเรศวรซึ่งเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองกว่าราชนิกุลข้างพม่าทั้งหลายทั้งสิ้น พระเจ้าบุเรงนองทรงโปรดให้ “พระมหาเถรคันฉ่อง” (สรพงษ์ ชาตรี) พระรามัญผู้มากด้วยวิทยาคุณและเจนจบในตำราพิชัยสงครามเป็นพระอาจารย์ถ่ายทอดศิลปะวิทยาการแก่สมเด็จพระนเรศวร นับแต่เริ่มเข้าประทับในหงสานครยังผลให้ยุพราชอยุธยาเชี่ยวชาญการยุทธ กลช้าง กลม้า กลศึก ทั้งข้างอยุธยาและข้างพม่ารามัญหาผู้เสมอเหมือนมิได้ ข้อได้เปรียบตามกล่าวเป็นเสมือนทุนทางปัญญาอันส่งผลให้สมเด็จพระนเรศวรสามารถกอบกู้เอกราช แก้ทางศึกจนมีชัยเหนือพม่ารามัญในภายภาคหน้า พุทธศักราช 2112 ปรากฏข่าวระบือไปถึงหงสาวดีว่าหัวเมืองพิษณุโลกฝ่ายเหนือแลกรุงศรีอยุธยาราชธานีฝ่ายใต้ของราชอาณาจักรสยามครั้งนั้นเกิดขัดแย้งปีนเกลียวกัน เหตุเนื่องมาจาก “สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ” (ศรัณยู วงศ์กระจ่าง) เจ้าแผ่นดินอยุธยาเสด็จออกผนวช แลสถาปนา “สมเด็จพระมหินทร์” (สันติสุข พรหมศิริ) ราชโอรสองค์รองขึ้นเสวยราชสมบัติสืบแทน สมเด็จพระมหินทร์ทรงคลางแคลงพระทัยในความจงรักภักดีของสมเด็จพระมหาธรรมราชาแต่ครั้งสงครามชิงช้างเผือกในปีพุทธศักราช 2106 ขณะที่เจ้าแผ่นดินพิษณุโลกก็หาได้ยำเกรงสมเด็จพระมหินทร์เช่นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เมื่อเห็นการใดมิควรก็บังคับบัญชาให้สมเด็จพระมหินทร์ปฏิบัติตามพระประสงค์จนเป็นที่ขุ่นเคืองพระราชหฤทัยกษัตริย์อยุธยาพระองค์ใหม่ถึงกับหันไปสมคบกับ “สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช” (รอน บรรจงสร้าง) พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาวร่วมกันแต่งกลเข้าตีเมืองพิษณุโลก แต่กระทำการมิสำเร็จพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองเห็นเชิงสบโอกาสก็ยกทัพใหญ่เข้าตีกรุงศรีอยุธยาอีกคำรบ ครั้งนั้นสมเด็จพระนเรศวรร่วมโดยเสด็จมากับทัพหงสาแต่หาได้ตามพระเจ้าบุเรงนองลงมาล้อมกรุงศรีอยุธยา ทรงประทับอยู่เพียงเมืองพิษณุโลก มีเพียงสมเด็จพระมหาธรรมราชาโดยเสด็จกษัตริย์หงสาลงมาล้อมกรุงด้วยตั้งพระทัยจะเกลี้ยกล่อมให้สมเด็จพระมหินทร์ยอมสวามิภักดิ์พระเจ้าบุเรงนอง เพราะเล็งเห็นว่าอยุธยายากจะต่อรบเอาชัยทัพพม่ารามัญซึ่งมีกำลังไพร่พลเหนือกว่าได้ หากขัดขืนต่อรบจะได้ยากแก่สมณชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎร์ ศึกครั้งนั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงลาผนวชมาบัญชาการรบด้วยพระองค์เอง แต่อยู่ได้มิช้านานก็เสด็จสวรรคตเสียระหว่างศึกพุทธศักราช 2112 มะเส็งศก วันอาทิตย์ เดือน 9 แรม 11 ค่ำ กรุงศรีอยุธยาก็เสียแก่พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ข้างสมเด็จพระนเรศวรซึ่งประทับอยู่ยั้งยังนครพิษณุโลกแต่ต้นศึก หาได้ทรงเห็นงามหรือคิดครั่นคร้ามอ่อนน้อมต่อหงสา ถึงจะทรงรู้ซึ้งว่าสมเด็จพระมหาธรรมราชาพระราชบิดามิได้คิดคดเป็นกบฏต่อแผ่นดิน แต่ก็หาได้เห็นด้วยกับการอ่อนข้อสวามิภักดิ์พม่ารามัญ น้ำพระทัยอันมั่นคงเด็ดเดี่ยวนั้น ถึงแม้จะมิได้แพร่งพรายถึงพระกรรณพระเจ้าบุเรงนอง แต่ก็ประจักษ์อยู่ในหมู่ข้าราชบริพารใกล้ชิดผู้รักและหวงแหนในเอกราชของแผ่นดินจึงพากันนิยมในน้ำพระทัย แลพร้อมใจถวายความจงรักภักดีแต่นั้นมา ครั้นเสร็จศึกอยุธยาพุทธศักราช 2112 สมเด็จพระมหาธรรมราชาทรงถวาย “พระสุพรรณกัลยา” (เกรซ มหาดำรงค์กุล) พระพี่นางสมเด็จพระนเรศวรแก่พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง แลขอตัวสมเด็จพระนเรศวรไว้ช่วยราชการข้างอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรจึงประทับยั้งอยู่ยังเมืองพิษณุโลก สืบต่อมาครั้นลุปีพุทธศักราช 2114 สมเด็จพระมหาธรรมราชา ซึ่งพระเจ้าบุเรงนองสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยาสืบต่อจากสมเด็จพระมหินทร์ก็โปรดให้สมเด็จพระนเรศวรเสวยราชย์ครองเมืองพิษณุโลกเป็นใหญ่เหนือหัวเมืองเหนือทั้งปวง เหตุการณ์ข้างพม่า หลังจากพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองสิ้นพระชนม์ในปีพุทธศักราช 2124 พระเจ้านันทบุเรงได้ขึ้นเสวยราชสืบต่อและได้สถาปนามังสามเกียดขึ้นเป็นรัชทายาทครองตำแหน่งมหาอุปราชาแห่งราชอาณาจักรหงสาวดี เมื่อแผ่นดินหงสามีอันต้องผลัดมือมาอยู่ในปกครองของพระเจ้านันทบุเรง สัมพันธไมตรีระหว่างอยุธยาและหงสาวดีก็เริ่มสั่นคลอน ด้วยพระเจ้าหงสาวดีพระองค์ใหม่มิได้วางพระทัยในสมเด็จพระนเรศวร และสมเด็จพระนเรศวรเองก็หาได้เคารพยำเกรงในบุญบารมีของพระเจ้าแผ่นดินพม่ารามัญเช่นกาลก่อน มิเพียงเท่านั้นสมเด็จพระนเรศวรยังได้ทรงแสดงพระปรีชาสามารถให้เป็นที่ปรากฏครั่นคร้าม ดังคราวนำกำลังทำยุทธนาวีกับพระยาจีนจันตุและศึกเมืองคังเป็นอาทิ พระเจ้านันทบุเรงทรงเกรงว่าสืบไปเบื้องหน้าสมเด็จพระนเรศวรจะเป็นภัยต่อพระราชวงศ์แลแผ่นดินหงสา จึงหาเหตุวางกลศึกหมายจะปลงพระชนม์สมเด็จพระนเรศวรเสียที่เมืองแครง แต่พระมหาเถรคันฉ่องพระราชครูลอบนำแผนประทุษร้ายนั้นมาแจ้งให้ศิษย์รักได้รู้ความ สมเด็จพระนเรศวรจึงถือเป็นเหตุประกาศเอกราช ตัดสัมพันธไมตรีกับหงสาวดี แลกวาดต้อนครัวมอญไทยข้ามแม่น้ำสะโตงกลับคืนพระนคร ซึ่งเป็นชนวนให้พระเจ้านันทบุเรงเปิดมหายุทธสงครามสั่งทัพเข้ารุกรานราชอาณาจักรอยุธยาสืบแต่นั้นมา

ก้านกล้วย (2549/2006) วีรบุรุษผู้มี 4 ขา 2 งา และ 1 งวง ช้างศึกผู้สร้างเกียรติประวัติสูงสุดให้แก่ช้างไทย ในฐานะช้างคู่พระบารมีแห่งสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมื่อครั้งสงครามยุทธหัตถี ชื่อของเขาคือ “เจ้าพระยาปราบหงสาวดี” หรืออีกนามหนึ่งว่า “ก้านกล้วย” นี่คือเรื่องราวการเติบโตของช้างเชือกหนึ่ง จากลูกช้างซุกซนใช้ชีวิตอิสระอยู่ท่ามกลางป่าลึก แต่แล้วด้วยความอยากรู้เรื่องของพ่อที่หายไปได้นำเขาออกเดินทางสู่การผจญภัยครั้งยิ่งใหญ่ผ่านหลากหลายเหตุการณ์ซึ่งให้บทเรียนใหม่ๆ เปลี่ยนให้เขากลายเป็นช้างที่กล้าแกร่งเต็มไปด้วยพละกำลัง ในขณะที่จิตใจกลับอ่อนโยน บรรดาตัวละครต่างๆ ที่เขาได้พบระหว่างการเดินทาง อาทิเช่น “จิ๊ดริด” นกพิราบสื่อสารขี้โม้, “ชบาแก้ว” ช้างสาวผู้น่ารักและแสนงอน, “ติ่งรูและรถถัง” ช้างรุ่นพี่และรุ่นอาซึ่งเขาได้พบในหมู่บ้าน, “บุญเรือง” ช้างศึกแห่งเมืองหลวง และที่สำคัญ “แสงดา” แม่ซึ่งก้านกล้วยจากมา ล้วนเป็นส่วนที่เข้ามาเติมเต็มสร้างสีสันและความสนุกสนาน พร้อมกันนั้นก็ให้บทเรียนต่างๆ ซึ่งเป็นเสมือนการเตรียมความพร้อมให้เขาก้าวสู่การเป็นช้างศึกเชือกสำคัญในประวัติศาสตร์ นอกจากนี้การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับมนุษย์และการได้พบกับผู้คนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น “สมเด็จพระนเรศวรฯ” มหาราชผู้เกรียงไกรของชาติไทย, “ลุงมะหูด” หัวหน้าครูฝึกช้าง, “มังคุด” เด็กมนุษย์ตัวน้อยผู้บริสุทธิ์สดใส ฯลฯ ยังทำให้ก้านกล้วยได้เรียนรู้ถึงมิตรภาพระหว่างคนและช้างอันนำไปสู่การเสียสละตัวเอง โดยเดินหน้าเข้าสู่สงครามอย่างนักรบผู้กล้า เช่นเดียวกับที่พ่อของเขาเคยทำมาเมื่อครั้งอดีตสุดท้าย ขณะอยู่ท่ามกลางสมรภูมิรบ และต้องเผชิญหน้ากับศัตรูผู้น่าเกรงขามเขาก็ได้รับบทเรียนครั้งสำคัญที่สุด นั่นก็คือการเอาชนะความกลัวในจิตใจตัวเอง เมื่อมีชัยเหนือตัวเองก็ไม่มีสิ่งใดในโลกที่จะทำให้เขาพรั่นพรึงได้อีกต่อไป และจุดนี้เองที่ทำให้เขากลายเป็นช้างผู้ยิ่งใหญ่อย่างแท้จริง แม้จุดหมายแรกคือการตามหาพ่อ แต่ในที่สุดก้านกล้วยกลับได้พบสิ่งที่มีความหมายยิ่งกว่า นั่นก็คือมิตรภาพ ความกล้าหาญ และความเสียสละซึ่งอยู่ในตัวเขาเอง เป็นจิตวิญญาณของพ่อที่อยู่กับเขามายาวนาน และนี่คือบทสรุปที่ล้ำค่ายิ่งสำหรับการเดินทางของเขาในครั้งนี้…
The King Maker กบฏ ท้าวศรีสุดาจัน (2548/2005) “เฟอร์นานโด เดอ กัมมา” (แกรี สเตร็ช) ทหารรับจ้างหนุ่มจากประเทศโปรตุเกส ออกเดินทางมายังดินแดนในซีกโลกตะวันออกใน ค.ศ 1547 เพื่อแสวงหาความร่ำรวยเฉกเช่นเดียวกับเพื่อนร่วมชาติอีกหลายคนไปพร้อมกับการติดตามร่องรอยของบุคคลในอดีตที่เคยสังหารพ่อของเขาต่อหน้าต่อตาในขณะที่เขามีอายุเพียง 8 ขวบ ภาพความทรงจำดังกล่าวเป็นที่ติดตาและฝังใจแก่เขาเสมอมา แต่ในระหว่างการเดินเรือเขาพร้อมกับพวกพ้องกลับต้องเผชิญกับเคราะห์ร้ายเมื่อพายุทะเลคลั่งโหมซัดจนทำให้เรือจมลงใต้พื้นมหาสมุทรอินเดียอันกว้างใหญ่ เหลือเพียงเขาคนเดียวที่รอดชีวิตมาได้จากเหตุการณ์ครั้งนั้น แต่กลับกลายเป็นว่าเขาถูกพ่อค้าทาสชาวอาหรับจับตัวไปยังดินแดนอยุธยาเพื่อขายเป็นทาส กรุงศรีอยุธยาเมื่อราว 458 ปีที่แล้วกล่าวได้ว่าเป็นดินแดนแห่งการค้าขายที่เหล่าอาณาประเทศและผู้คนหลากหลายเชื้อชาติต่างหลั่งไหล่เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นชาวตะวันตกไปจนถึงตะวันออกที่ใกล้เคียง แต่ใช่ว่าโชคชะตาของเฟอร์นานโดจะอับโชตเสียทีเดียว เมื่อเขาได้รับการไถ่ตัวให้มีอิสรภาพจาก “มาเรีย” (สิรินยา เบอร์บริดจ์) หญิงสาวชาวโปรตุเกสผู้มีจิตใจงดงามที่เดินทางติดตาม “ฟิลลิปป์” (จอห์น รีส-เดวีส์) บิดาผู้ที่ทำหน้าที่ควบคุมการก่อสร้างกำแพงเมืองให้กับ “พระชัยราชา” (นิรุตติ์ ศิริจรรยา) กษัตริยแห่งอยุธยา ต่อมาเมื่อกษัตริย์แห่งลานนาคิดแข็งข้อต่ออยุธยาโดยการส่งศีรษะของผู้ส่งสารมาให้ พระชัยราชาทรงกริ้วเป็นอย่างยิ่งจึงตัดสินใจยกทัพเข้าสู่ศึกสงครามพร้อมกับ “พระมหาจักรพรรดิ” (โอลิเวอร์ พูพาร์ท) พระเชษฐาของพระชัยราชา ส่งผลให้เหล่าพันธมิตรของอยุธยา ไม่ว่าจะเป็นชุมชนโปรตุเกส, ญี่ปุ่นต่างเข้าร่วมทำศึกในครั้งนี้ เฟอร์นานโดเองก็เข้าร่วมรบในฐานะทหารที่มีประสบการณ์ จึงไม่น่าแปลกใจที่ความห้าวหาญในฐานะนักรบของเขาจะสร้างความพึงพอพระทัยแก่องค์กษัตริย์จนพระองค์แต่งตั้งเขาให้เป็นหนึ่งในราชองครักษ์พร้อมกันกับเพื่อนใหม่ชาวไทยผู้อาจหาญนาม “ทอง” (ดอม เหตระกูล) ที่เขาได้มีโอกาสช่วยชีวิตไว้ในสมรภูมิรบ ขณะเดียวกัน “มเหสีสุดาจัน” (ยศวดี หัสดีวิจิตร) ผู้เลอโฉมแต่ร้ายกาจได้วางแผนลอบปลงพระชนม์พระชัยราชาและ “พระยอดฟ้า” (ชาลี ไตรรัตน์) พระโอรสที่เกิดกับตนขึ้น เพื่อที่จะจะปูทางให้ “พันบุตรศรีเทพ” (อัครา อมาตยกุล) ชู้รักของนางขึ้นครองราชย์ โดยมีมือสังหารจากต่างชาติร่วมมือในแผนการร้าย นายทองและเฟอร์นานโดราชองครักษ์ปกป้องกษัตริย์ชนิดถวายหัว และพยายามสืบหาผู้อยู่เบื้องหลังแผนการร้ายในครั้งนี้ ก่อนที่จะพบว่ามีเงื่อนงำบางอย่างเชื่อมโยงมายังฟิลลิปป์พ่อของมาเรีย แต่แล้วโดยที่ไม่มีใครคาดคิด ทั้งสองพบว่าพระมเหสีมีส่วนสำคัญในแผนการครั้งนี้ แต่ก็สายเกินกว่าจะช่วยพระมหากษัตริย์ให้รอดพ้นจากการถูกพระมเหสีวางยาได้ เช่นเดียวกันกับที่พระโอรสซึ่งถูกเหล่าองครักษ์ผู้ของมเหสีปลงพระชนม์ เมื่อกษัตริย์ทรงสวรรคต เฟอร์นานโดกับทองกลายเป็นผู้ถูกกล่าวโทษว่าเป็นผู้เกี่ยวข้อง โดยมาเรียและครอบครัวของทองเองก็ถูกทหารจับตัวไป เหตุการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป เตรียมพบกับอีกหนึ่งมุมมองของเรื่องราวจากประวัติศาสตร์ที่ถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องยิ่งใหญ่ระดับฮอลลีวูด “กบฏท้าวศรีสุดาจัน” 20 ต.ค.นี้ ในโรงภาพยนตร์
ขุนศึก (2546/2003) ก่อนวันประกาศอิสรภาพของ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชนั้น พระเจ้าบุเรงนอง วางอุบายหมายลอบปลงพระชนม์ ซึ่งยังความโทมนัสให้แก่สมเด็จพระนเรศวรอย่างมาก เมื่อจาตุรงคบาทนักรบประกบฝีเท้าช้างคนหนึ่งต้องพลีชีพเพื่อพระองค์ในกาลนี้ เสมา ลูกชายช่างตีดาบ ซึ่งเดินทางกลับจากเรียนวิชาดาบกับ อาจารย์ขุน เข้าประลองแข่งขันในการหาจาตุรงคบาทคนใหม่ ด้วยความที่เขามีฝีมือดาบอันโดดเด่น จึงได้รับตำแหน่งครูฝึกทหารในเรือน ขุนราม แต่นั่นถือเป็นการหยามศักดิ์ศรีของ หมู่ขัน นายทหารเอกของกรุงศรี ที่ติดภาระต้องไปประจำการที่ด่านหน้า เขาไม่พอใจในตัวลูกช่างตีดาบคนนี้มาก และรอวันที่จะได้ตัดสินกันอย่างแท้จริง ความแค้นยิ่งทวีคูณมากขึ้น เมื่อเรไร คู่หมั้นของหมู่ขัน เกิดชอบพอกับเสมา หมู่ขันโกรธแค้นมาก จึงจับตัวจำเรียง น้องสาวของเสมาไปเป็นทาสขัดดอก คืนนั้น เสมา พร้อมเพื่อนอีกสองคน ตัดสินใจบุกเรือนหมู่ขัน เพื่อนำตัวจำเรียงกลับมา แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ต่อกลอุบายของหมู่ขัน จนต้องหนีเข้าไปอยู่ในกองโจรของ ขุนรณฤทธิ์พิชัย หมู่ขันสบโอกาส จึงประกาศว่า เสมาเป็นกบฎ ขณะที่อยู่กับพวกกองโจร เสมา และกลุ่มกองโจรช่วยกันสกัดทัพหน้าของพม่าที่บุกเข้ามา ครั้งหนึ่ง เสมา ได้มีโอกาสได้เข้าช่วย พระเอกาทศรถ ในการศึก และได้ลดโทษไปเป็น ตะพุ่น เลี้ยงช้าง ที่นั่น เสมา ได้เรียนรู้ถึงหัวใจของนักรบ เมื่อเขาทราบข่าวการยกทัพครั้งใหญ่ของพม่า เสมาทนเห็นทหารไทยถูกเข่นฆ่าอีกไม่ได้ จึงเข้าไปช่วยในสนามรบ กระทั่งสามารถฆ่าแม่ทัพพม่าลงได้ จึงได้รับความดีความชอบกลับมา และวันแห่งการตัดสินฝีมืออย่างแท้จริงระหว่างเสมา กับหมู่ขันก็มาถึง เมื่อทั้งสองได้ประลองฝีมือต่อหน้าพระที่นั่ง เพื่อหาผู้ที่เหมาะกับตำแหน่งจาตุรงคบาท นักรบประกบฝีเท้าช้างของสมเด็จพระนเรศวร ในการศึกยุทธหัตถีครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างกษัตริย์สองแผ่นดิน
ปังปอนด์ ดิ แอนิเมชัน ตอน ตะลุยโลกอนาคต (2545/2002) ปังปอนด์ เด็กน้อยจอมป่วนและเปี่ยมไปด้วยจินตนาการ ที่คอยสร้างเรื่องปวดหัวให้กับทุกคนมาแล้วในภาคหนังสือการ์ตูน ในคราวนี้ปังปอนด์กลับมาอีกครั้ง พร้อมกับเพื่อนใหม่แสนมหัศจรรย์มากมาย เรื่องราวในครั้งนี้เกิดขึ้นด้วยความซุกซนของปังปอนด์ที่ตามน้าผีไปเที่ยวป่าช้าในยามดึก โดยหารู้ไม่ว่าการไปเที่ยวครั้งนี้กลับนำไปสู่เหตุการณ์สำคัญอะไรบางอย่าง ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการผจญภัยครั้งยิ่งใหญ่ในดินแดนโลกอนาคตอีก 500 ปีข้างหน้าในโลกอนาคตนี้ปังปอนด์ได้พบเพื่อนใหม่ที่เก่งกาจ ฉลาดมีไหวพริบดี เป็นเพื่อนซี้นั่นคือ หนุมานจิ๋ว ที่เดินทางมาจากโลกอดีตเมื่อ2000ปีที่แล้วซึ่งทั้งสองคนตกลงจับคู่กันออกผจญภัยในโลกใหม่นี้ พร้อมกับเจ้าบิ๊กสุนัขคู่ใจของปังปอนด์ แต่พวกเขาไม่มีโอกาสรู้เลยว่าพวกเขาจะต้องเผชิญกับอะไรต่อไป การผจญภัยเริ่มเข้มข้นขึ้นเมื่อปังปอนด์เจ้าบิ๊กและหนุมานจิ๋วได้มีโอกาสสัมผัสกับชีวิตของกลุ่มเด็กนักเรียนในโลกอนาคต ที่มีทั้งมนุษย์โลก มนุษย์ต่างดาว ต่างเผ่าพันธุ์ ต่างนิสัยใจคอแม้กระทั่งหุ่นยนต์ที่คอยปกครองทุกอย่าง แต่ด้วยความเป็นเด็กช่างจินตนาการของปังปอนด์กลับสร้างรอยยิ้มและความสุขสนุกสนานให้กับทุกๆ คน แต่ยังมีความจริงบางอย่างที่ทั้งปังปอนด์และหนุมานจิ๋วต้องประหลาดใจเมื่อได้รู้ว่าหลังจากปี ค.ศ. 2002 เป็นต้นไป โลกได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิงและอำนาจของหุ่นยนต์ก็มามีอิทธิพลและควบคุมเหนือสิ่งมีชีวิตทั้งคนและมนุษย์ต่างดาว โดยหุ่นยนต์ควบคุมการดำรงค์อยู่ของมนุษย์เพียงเพื่อค้นคว้าวิจัยและรอการดับสูญเท่านั้น ความป่วนของปังปอนด์และอุปกรณ์วิเศษมากมายของหนุมานจิ๋วทำให้ทั้งสองฝ่าฟันสถานการณ์ต่างๆ มาได้ แต่แล้วปังปอนด์ต้องมาเสียทีถูกจับตัวโดยโรโบโพลิซเพื่อนำไปพบกับกองทัพหุ่นยนต์ที่มีแผนการร้ายยึดครองโลกมนุษย์ปังปอนด์และสหายที่ล่วงรู้ความลับของโลกอนาคตจะสามารถต่อสู้เพื่อพลิกชะตาให้โลกกลับมามีสันติสุขและความสวยงามดังเดิมได้หรือไม่