ทองดีฟันขาว (2560)

ทองดี ฟันขาว (2560/2017) เรื่องราวความกล้าหาญและความจงรักภักดีในช่วงชีวิตสำคัญของ “นายทองดี ฟันขาว” นักสู้หัวใจแกร่งที่มากความสามารถและฝีไม้ลายมวย โชคชะตานำพาให้เขาได้เป็นทหารเอกคู่ใจแห่งพระเจ้าตากสินมหาราช และพลีชีพต่อสู้ปกป้องบ้านเมืองจนกลายเป็นวีรบุรุษของชาวไทยที่รู้จักกันในนาม “พระยาพิชัยดาบหัก” ทองดี นักสู้หัวใจแกร่ง ผู้มีความมุ่งมั่นไม่ย่อท้อรักษาคำมั่นสัญญา กล้าหาญจงรักภักดี มีความสามารถและฝีไม้ลายมือทางหมัดมวยและดาบอย่างหาตัวจับยาก เขาไม่ชอบกินหมาก จึงเป็นที่มาของฉายา ทองดีฟันขาว ชีวิตของเขาต้องระหกระเหินจากครอบครัวตั้งแต่ครั้งเยาว์วัย และต้องออกเดินทางหาเงินเลี้ยงตัวจากการชกมวย และร่ำเรียนวิชามวยเพิ่มเติมจากบรรดาครูมวยตามเมืองต่างๆ จนสุดท้ายโชคชะตาและวีรกรรมอันเลื่องชื่อของเขาก็นำพาให้เขาได้เป็นทหารเอกคู่ใจแห่ง พระเจ้าตากสินมหาราช และพลีชีพต่อสู้ปกป้องบ้านเมืองจนกลายเป็นวีรบุรุษของชาวไทย ที่รู้จักกันในนาม พระยาพิชัยดาบหัก

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๖ อวสานหงสา

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๖ อวสานหงสา (2558/2015) ในปี พ.ศ. 2135 หลังพ่ายศึกยุทธหัตถี ฝ่ายหงสาวดีพระเจ้านันทบุเรง ทรงโทมนัสที่ต้องสูญเสียพระราชโอรส จึงมีรับสั่งให้คลอกไฟเหล่าแม่ทัพนายกอง ที่ตามเสด็จพระมหาอุปราช ให้ตายตกตามกัน ทั้งยังระบายพระโทสะไปที่ พระสุพรรณกัลยา องค์ประกัน และพระราชโอรสธิดาถึงสิ้นประชนม์ชีพ ข้าง สมเด็จพระนเรศวร นั้น มีพระราชประสงค์จะนำทัพปราบหงสาวดี ให้ราบคาบ มิให้ตกค้างเป็นเสี้ยนหนาม ครั้นมาได้ทราบข่าวการสิ้นพระชนม์ ของพระพี่นาง และพระราชนัดดาก็ยิ่งโทมนัส จึงตัดสินพระทัยยกทัพใหญ่ หมายเหยียบหงสาวดีให้ราบเป็นหน้ากลอง ในระหว่างที่เดินทางมาถึงเมืองเมาะตะมะได้จับตัว พระยาลอ ผู้สำเร็จราชการแทน ที่พระเจ้านันทบุเรง ส่งให้มาปกครองเมือง ถูก เม้ยมะนิก ราชธิดาของ ศิริสุธรรมราชา เจ้าเมืองเมาะตะมะลอบสังหาร เพื่อแก้แค้นแทนบิดา พร้อมรวบรวมชาวรามัญเพื่ออาสาขอเข้าร่วมรบพม่ากับชาวอโยยา แต่ครั้นเมื่อทัพของพระองค์เสด็จถึงหงสาวดีก็พบแต่เพียงเศษซากของมหานครอันเคยยิ่งใหญ่ ด้วยนัดจินหน่อง ราชบุตรพระเจ้าตองอูได้วางอุบาย เชิญพระเจ้านันทบุเรงพร้อมกวาดต้อนผู้คนแลทรัพย์ศฤงคารของหงสาไปไว้ยังตองอูจนหมดสิ้น ครั้งนั้น สมเด็จพระนเรศวร จึงทรงยกทัพตามขึ้นไปถึงเมืองตองอู มีพระราชบัญชาให้ เมงเยสีหตู เจ้าเมืองส่งตัว พระเจ้านันทบุเรงออกมาถวาย ด้านนัดจินหน่องเห็นว่าพระเจ้านันทบุเรง ที่เชิญมานั้น เป็นภัยชักศึกเข้าบ้าน จึงหมายยืมมือ สมเด็จพระนเรศวร สังหาร พระเจ้านันทบุเรง เสีย แต่เมื่อ สมเด็จพระนเรศวร ได้ทอดพระเนตรเห็น พระเจ้านันทบุเรง ที่ทรงทุพพลภาพเป็นที่น่าสมเพช ก็ให้สลดพระราชหฤทัย ระหว่างนั้น เมงราชาญี เจ้าเมืองยะไข่ได้แต่งทัพเป็นกองโจร ตีลัดตัดเสบียงอยุธยามิให้ส่งข้าวน้ำขึ้นไปเลี้ยงทัพที่ล้อมพระนครตองอูอยู่ สมเด็จพระเอกาทศรถ จึงแบ่งทัพลงมาหมายจะเผด็จศึกยะไข่มิให้เป็นหอกข้างเเคร่ แต่ทรงพลาดท่าถูกเมงราชาญีจับตัวได้ พระราชมนู จำต้องขันอาสานำกำลังลงมา แก้เอา สมเด็จพระเอกาทศรถ กลับคืน และยกทัพกลับยังอยุธยา ข้างฝ่ายพุกามประเทศนั้นได้บังเกิดกษัตริย์ชาตินักรบขึ้นมา แทนพระเจ้าชนะสิบทิศ มีพระนามว่า พระเจ้ายองยาน ตามชื่อพระนครที่ปกครอง พระเจ้ายองยาน ทรงขยายแสนยานุภาพครอบคลุมดินแดนพม่าตอนบน เข้ายึดครองหัวเมืองในรัฐไทยใหญ่ทั้งหลาย และทรงกรีฑาทัพเข้าตีเมืองยองห้วยและเมืองแสนหวีซึ่งขณะนั้นล้วนเป็นเมืองประเทศราชของอยุธยา เมื่อ สมเด็จพระนเรศวร ทรงล่วงรู้ก็ทรงมีพระราชดำริที่จะตัดไฟเสียแต่ต้นลม ไม่ให้อธิราชศัตรูพลิกฟื้นขึ้นมา เป็นเสี้ยนหนามแผ่นดินอยุธยาได้อีก สมเด็จพระนเรศวร จึงได้เสด็จยกกองทัพไปตีอังวะ ครั้งนั้น พระมหาเถรคันฉ่อง และ พระอัครมเหสีมณีจันทร์ ซึ่งกำลังทรงพระครรภ์ก็ทูลขอให้งด ซึ่งราชการสงคราม สมเด็จพระนเรศวร จึงทรงให้สัญญาว่า จะเสด็จไปทำศึกครานี้เป็นครั้งสุดท้าย เมื่อเสด็จถึงเมืองเชียงใหม่ก็ยั้งทัพจัดกระบวนอยู่หนึ่งเดือน แล้วให้ทัพ สมเด็จพระเอกาทศรถ ยกขึ้นไปทางเมืองฝาง ส่วนกองทัพหลวงยกไปทางเมืองหาง ตั้งค่ายหลวงประทับอยู่ที่ทุ่งแก้ว อยู่มา สมเด็จพระนเรศวร ทรงพระประชวรจึงโปรดให้ข้าหลวงรีบเชิญเสด็จ พระเอกาทศรถ มาเฝ้า ครั้นมาถึงได้ 3 วัน สมเด็จพระนเรศวร ก็เสด็จสวรรคตเมื่อวันจันทร์ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2148 สมเด็จพระเอกาทศรถ จึงได้อัญเชิญพระบรมศพ สมเด็จพระนเรศวร กลับกรุงศรีอยุธยาราชธานี

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๕ ยุทธหัตถี

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๕ ยุทธหัตถี (2557/2014) ในปี พ.ศ. 2129 พระเจ้านันทบุเรง ทรงแค้นเคืองที่ต้องปราชั­ยต่อ สมเด็จพระนเรศฯ อย่างย่อยยับ ทั้งต้องเสียไพร่พลและพระสิริโฉม จึงระบายความแค้นนั้นไปที่องค์พระสุพรรณกั­ลยา เมื่อ สมเด็จพระมหาธรรมราชา พระราชบิดาทราบค­วามก็ให้โทมนัสด้วยสำนึกว่าชะตากรรมของพระ­ราชธิดาและแผ่นดินอยุธยาที่ถูกกระทำการย่ำ­ยีก็ด้วยเพราะพระองค์ทรงแปรพักตร์ไปเข้าข้­างศัตรู จนตรอมพระทัยเสด็จสวรรคต สมเด็จพระนเรศฯ ทรงมีพระชนมายุ 31 พรรษา จึงเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติค­รองกรุงศรีอยุธยาสืบต่อจากพระราชบิดา สมเด็จพระมหาธรรมราชา หรือ (สมเด็จพระสรรเพ็ชญ์ที่ 1) ข่าวการผลัดแผ่นดินของกรุงศรีอยุธยารู้ไปถึง พระเจ้านันทบุเรง แห่งกรุงหงสาวดี พระเจ้านันทบุเรง พระราชโอรสในพระเจ้าบุเรงนอง สำคัญว่าราชอาณาจักรสยาม หรืออาณาจักรอยุธยาจะไม่เป็นป­กติสุขเป็นช่องชวนชิงเชิง จึงโปรดให้พระราชบุตร พระมังสาม­เกียด หรือ(พระมังกะยอขวาที่ 1) พระมหาอุปราชเจ้าวังหน้ากรีฑาทัพไปตีกรุงศรีอยุธยาอีกคำรบ นำกองทัพทหาร 240,000 นาย (สองแสนสี่หมื่นนาย) มาตีกรุงศรีอยุธยาหมายจะชนะศึกในครั้งนี้ สมเด็จพระนเรศวร ทรงทราบว่า พม่ายกทัพใหญ่มาตี จึงทรงเตรียมไพร่พล มีกำลัง 100,000 นาย (หนึ่งแสนนาย) เดินทางออกจากบ้านป่าโมก อ่างทองไปสุพรรณบุรี ข้ามน้ำตรงท่าท้าวอู่ทอง ลพบุรี และตั้งค่ายหลวงบริเวณหนองสาหร่าย โดย สมเด็จพระนเรศวร โปรดให้ พระราชมนู แต่­งพลเป็นทัพหน้าขึ้นไปลองกำลังข้าศึกถึงหนอง­สาหร่าย ทัพหน้า พระราชมนู ปะทะเข้ากับทัพพม่าถึงขั้­นตะลุมบอน แต่กำลังข้าง พระราชมนู น้อยกว่าจึงแตกพ่ายถ­อยลงมาเป็นอลหม่าน สมเด็จพระนเรศฯ ทราบความจึงออกอุบายให้ทัพข้าศึกไล่เตลิดลงมาจนเสียกระบวนแล้วจึงทรงนำกำลังออกยอทัพข้าศึก ครั้งนั้นพระคชสารทรงของสมเด็จพระนเรศฯ นามเจ้าพระยาไชยานุภาพ และพระคชสารทรงของสมเด็จพระเอกาทศรถคือเจ้าพระ­ยาปราบไตรจักรต่างตกมัน วิ่งเตลิดแบกพลฝ่าเข้าไปในทัพพม่ารามัญกลางว­งล้อมข้าศึก และหยุดอยู่หน้าช้าง พระมังสามเกียดพระมหาอุปร­าชา พระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นพระมหาอุปราชาทรงพระคชสารอยู่ในร่มไม้กับเหล่าพระยาขุนศึก จึงทราบได้ว่าพระคชสารทรงของสองพระองค์หลงถลำเข้ามาถึงกลางกองทัพข้าศึก และตกอยู่ในวงล้อมข้าศึกแล้ว แต่ด้วยพระปฏิภาณไหวพริบของสมเด็จพระนเรศวร ทรงเห็นว่าเป็นการเสียเปรียบข้าศึกจึงไสช้างเข้าไปใกล้ แล้วตรัสถามด้วยคุ้นเคยมาก่อนแต่วัยเยาว์ว่า "พระเจ้าพี่เราจะยืนอยู่ใยในร่มไม้เล่า เชิญออกมาทำยุทธหัตถีด้วยกัน ให้สมพระเกียรติยศไว้ในแผ่นดินเถิด ภายหน้าไปไม่มีพระเจ้าแผ่นดินที่จะได้ยุทธหัตถีแล้ว" พระมังสามเกียดพระมหาอุปราชาได้ยินดังนั้น จึงไสพระคชสารนามว่า พลายพัทธกอเข้าชนเจ้าพระยาไชยานุภาพเสียหลัก พระมังสามเกียดพระมหาอุปราชาทรงฟันสมเด็จพระนเรศวรด้วยพระแสงของ้าว แต่ สมเด็จพระนเรศวร ทรงเบี่ยงหลบทัน จึงฟันถูกพระมาลาหนังขาด จากนั้น เจ้าพระยาไชยานุภาพชนพลายพัทธกอเสียหลัก สมเด็จพระนเรศวร ทรงฟันด้วยพระแสงของ้าวถูก พระมังสามเกียด พระมหาอุปราชา เข้าที่อังสะขวา สิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง ส่วน สมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงฟันเจ้าเมืองจาปะโรเสียชีวิตเช่นกัน พม่าจึงยกทัพกลับกรุงหงสาวดีไป นับแต่นั้นมาก็ไม่มีกองทัพใดกล้ายกมากล้ำกรายกรุงศรีอยุธยาอีกเป็นระยะเวลาอีกยาวนาน

ต้มยำกุ้ง 2 (2556)

ต้มยำกุ้ง 2 3D (2556/2013) เมื่อสาเหตุการฆาตกรรม เสี่ยสุชาติ เจ้าของปางช้างผู้กว้างขวาง คือการถูกกระแทกเข้าอย่างจังในจุดตาย 3 แห่งโดยผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อสู้ หลักฐานทั้งหมดบ่งชี้มัดตัว ไอ้ขาม เนื่องจากเขาเป็นคนสุดท้ายที่ถูกพบอยู่ในที่เกิดเหตุกับผู้ตาย ขามจึงต้องหลบหนีจากการจับกุมและการตามล่าเพื่อทวงแค้นจาก ปิงปิง-ซือซือ หลานสาวฝาแฝดของเสี่ยสุชาติ แต่โชคยังเข้าข้างเมื่อระหว่างการหลบหนี ขามได้รับการช่วยเหลือจาก จ่ามาร์ค ตำรวจสากลที่ถูกส่งมาจากซิดนีย์เพื่อจัดการภารกิจบางอย่าง ขามหนีการตามล่าพร้อมกับการตามหา ขอน ช้างตัวเดียวที่เป็นเสมือนทั้งเพื่อนและพี่น้องที่ถูกขโมยไปเมื่อหลายวันก่อน ยิ่งหนีขามก็ยิ่งต้องเข้าไปพัวพันกับองค์กรลึกลับที่ถูกควบคุมโดย แอล ซี นายใหญ่ผู้คลั่งไคล้การสะสมนักสู้จากทั่วโลกอย่างลับๆ ทำให้เหล่านักสู้ที่ถูกตีตราด้วยตัวเลข ไม่ว่าจะเป็น ทเวนตี้ หรือ Number 2 ล้วนแต่มีเป้าหมายอยู่ที่การจัดการไอ้ขามเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่างของนายใหญ่

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๔ ศึกนันทบุเรง

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๔ ศึกนันทบุเรง (2554/2011) เรื่องราวอันเป็นผลจากการปราชัยของหงสาวดีในคราวศึก พระยาพะสิม และ พระเจ้าเชียงใหม่ ซึ่งทำให้ พระเจ้านันทบุเรง ทรงตระหนักในพระปรีชาสามารถของ สมเด็จพระนเรศวร และในความเข้มแข็งของกองทัพอยุธยา จึงทรงยกทัพใหญ่เป็นทัพกษัตริย์มาย่ำยีราชธานีสยามหวังให้ราบเป็นหน้ากลองเพื่อเป็นการแก้มือ และเพื่อรักษาซึ่งพระเกียรติยศ มิให้เป็นที่ดูแคลนแก่เหล่าเจ้าประเทศราชในการปกครองของฝ่ายพม่า กองทัพกษัตริย์ของ พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง มีความสมบูรณ์ยิ่งใหญ่น่าเกรงขามกว่าทุกศึก ประกอบด้วยช้าง 3,200 ทัพม้า 12,000 และไพร่ราบซึ่งมีจำนวนถึง 252,000 โดยมีนายทัพผู้ปรีชาสามารถมาร่วมรบ ทั้ง พระมหาอุปราชา มังจาปะโร และลักไวทำมูทหารกล้า กิตติศัพท์ความยิ่งใหญ่น่าเกรงขามของทัพหงสาวดีที่ยกเข้ามานี้ ส่งผลให้เจ้าเมืองในขอบขัณฑสีมาของราชอาณาจักรอยุธยาข้างฝ่ายเหนือประหวั่นพรั่นพรึงถึงกับสมคบคิดกัน แปรพักตร์เข้าสมานสมัคร พระเจ้านันทบุเรง รบ สมเด็จพระนเรศวร เป็นเหตุให้ สมเด็จพระนเรศวร ต้องเผชิญทั้งศึกนอกและศึกใน สถานการณ์กลับยิ่งบีบคั้นให้คับขันยิ่งขึ้น เมื่อ พระศรีสุพรรณธรรมาธิราช พระอนุชาเจ้ากรุงละแวกซึ่งขัดพระทัย สมเด็จพระนเรศวร แต่กาลก่อน ได้ยุยงให้พระเชษฐาตัดสัมพันธไมตรีกับอยุธยา ละแวกจึงกลายเป็นหอกข้างแคร่ที่พร้อมจะกระหน่ำซ้ำเติมสยามให้ย่อยยับหากมีอันพลาดท่าเสียทีในศึกนันทบุเรงนี้ ภัยรอบด้านบีบรัดให้ สมเด็จพระนเรศวร ทรงต้องเผชิญศึกอย่างโดดเดี่ยว ซ้ำเคราะห์กลับทับทวีคูณเมื่อสหายศึก เช่น เลอขิ่น และกองกำลังเมืองคัง ซึ่งร่วมกรำศึก กันมาแต่เบื้องต้นคิดถอนตัวตีจากเนื่องจากพิษรักระหว่างรบที่จบลงด้วยความร้าวฉานระหว่าง เลอขิ่น กับ พระราชมนู ขุนศึกคู่พระทัย ความขัดแย้งด้วยเหตุส่วนตัวได้บานปลายกลายเป็นภัยของแผ่นดินในคราวคับขันเมื่ออยุธยาต้องเผชิญศึก ซึ่งประมาณได้ว่าเป็นมหาสงครามภายใต้โทสจริตของ พระเจ้านันทบุเรง ด้วยข้อจำกัดที่รุมเร้าหลายประการ ผสานกับจำนวนไพร่พลที่เป็นรองหงสาวดีอยู่หลายขุม ทำให้ สมเด็จพระนเรศวร ทรงจำต้องปรับยุทธศาสตร์การตั้งรับทัพหงสาวดี โดยทรงใช้พระนครศรีอยุธยาซึ่งมีทำเลที่ตั้งที่ได้เปรียบเป็นฐานบัญชาการรบแต่เพียงแห่งเดียว ทรงส่งกำลังออกไปปักปราการ วางแนวป้องกันมิให้พม่าเข้ามาปลูกค่ายใกล้ขอบคูพระนครและกำแพงเมือง ทั้งยังแต่งกำลังเป็นกองโจรเข้าปล้นค่ายข้าศึกอย่างอาจหาญ เมื่อศึกเหนือเสือใต้รุมกระหน่ำ ขุนนางผู้ใหญ่ขาดสามัคคีคิดคดคำนึงแต่ประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง จอมทัพผู้รั้งราชบัลลังก์และความอยู่รอดของแผ่นดินก็มาพลาดท่า ต้องศาสตรากลางสมรภูมิศึก ยอดทหารเอกกรุงศรีถูกขุนศึกผู้ชาญณรงค์กว่าจับเป็นเชลย ชะตากรรมกรุงศรีอยุธยา และ สมเด็จพระนเรศวร จะลงเอยอย่างไร

จั๊กกะแหล๋น (2554)

จั๊กกะแหล๋น (2554/2011) เรื่องราวของ จั๊กกะแหล๋น สาวน้อยผู้หลงใหลการขี่จักรยานฟิกเกียร์ และพรรคพวกซึ่งได้รับจ้างส่งของเถื่อนให้แก่พวกมาเฟียจนเกิดเป็นเรื่องราวบานปลายอย่างไม่คาดคิด ร้อนไปถึง ลุงแสวง ที่แสนจะปากร้ายแต่ใจดีของเธอ ที่ต้องมารับภารกิจบู๊ล้างผลาญ อีกทั้ง จั๊กกะแหล๋น ยังต้องพบกับปัญหารักสามเส้าที่คอยรุมเร้าหัวใจอีกด้วย "ลุงแสวง" (เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา) อาสาร่วมปฏิบัติการภารกิจต่อสู้ ภายหลังจากที่หลานสาวของตนที่มีชื่อว่า "จั๊กกะแหล๋น" (ญาณิน วิสมิตะนันทน์) ได้ขี่จักรยานฟิกซ์เกียร์ออกไปสู่โลกภายนอกพร้อมกับเพื่อนของเธออยู่เสมอ แล้วพวกเขาก็ได้รับจ้างส่งของเถื่อนให้แก่พวกมาเฟียจนเกิดเป็นเรื่องราวใหญ่โตอย่างไม่คาดคิด ทั้งยังมีปัญหารักสามเส้ามารุมเร้าหัวใจ เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ทั้งลุงแสวงและจั๊กกะแหล๋นต้องลำบากใจ

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๓ ยุทธนาวี

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๓ ยุทธนาวี (2554/2011) การประกาศเอกราชที่เมืองแครง และสังหารสุระกำมาเหนือยุทธภูมิฝั่งแม่น้ำสะโตงของ “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” (สมเด็จพระนเรศ) ในปีพุทธศักราช 2127 ได้สร้างความตระหนกแก่ “พระเจ้านันทบุเรง” องค์ราชันหงสาวดีพระองค์ใหม่ ด้วยเกรงว่าการแข็งข้อของอยุธยาในครั้งนี้จะเป็นเยี่ยงอย่างให้เหล่าเจ้าประเทศราชที่ขึ้นกับหงสาวดีอาศัยลอกเลียนตั้งตัวกระด้างกระเดื่องตาม แต่จนพระทัยด้วยติดพันศึกอังวะ จึงจำต้องส่งเพียงทัพ “พระยาพะสิม” และ “พระเจ้าเชียงใหม่” เข้าประชิดกรุงศรีอยุธยา ทางหนึ่งนั้นพระเจ้านันทบุเรงทรงประมาทสมเด็จพระนเรศ ด้วยเห็นว่ายังอ่อนพระชันษาคงมิอาจรับมือจอมทัพผู้ชาญณรงค์ทั้งสองได้ ทางหนึ่งก็สำคัญว่ากรุงศรีอยุธยายังบอบช้ำแต่คราวสงครามเสียกรุง ไพร่พลเสบียงกรังยังมิบริบูรณ์คงยากจะรักษาพระนคร ครั้งนั้นพม่ารามัญยกเข้ามาเป็นศึกกระหนาบถึง 2 ทาง ทัพพระยาพะสิมยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์เลยล่วงเข้ามาถึงแดนสุพรรณบุรี ส่วนพระเจ้าเชียงใหม่-นรธาเมงสอมาจากทางเหนือ นำทัพบุกลงมาตั้งค่ายถึงบ้านสระเกศ แขวงเมืองอ่างทอง กิตติศัพท์การชนะศึกของสมเด็จพระนเรศหลายครั้งหลายคราระบือไกลถึงแผ่นดินละแวก “เจ้ากรุงละแวก” มิได้ทอดธุระ ได้ลอบส่งจารชนชาวจีนฝีมือกล้านามว่า “พระยาจีนจันตุ” มาลอบสืบความที่กรุงศรีอยุธยาแต่ถูกจับพิรุธได้จนต้องลอบตีสำเภาหนีกลับกรุงละแวก สมเด็จพระนเรศทรงนำทัพเรือออกตามจนเกิดยุทธนาวี แต่พระยาจีนจันตุหนีรอดได้ เมื่อเจ้ากรุงละแวกได้ทราบกิตติศัพท์การณรงค์ของพระนเรศจึงเปลี่ยนพระทัยหันมาสานไมตรีกับอยุธยา และส่ง “พระศรีสุพรรณราชาธิราช” ผู้อนุชามาช่วยอยุธยาทำศึกหงสา หากแต่พระศรีสุพรรณผู้นี้ต่างจากเจ้ากรุงละแวกเพราะหาใคร่พอใจผูกมิตรด้วยอยุธยา การได้พระศรีสุพรรณฯ มาเป็นสหายศึกจึงประหนึ่งอยุธยาได้มาซึ่งหอกข้างแคร่

องค์บาก 3 (2553)

องค์บาก 3 (2553/2010) หลังจากพ่ายแพ้แก่ ภูติสางกา (ชูพงษ์ ช่างปรุง) สูญเสียทั้ง 2 บิดา ออกญาสีหเดโช (สันติสุข พรหมศิริ) และ เชอนัง (สรพงษ์ ชาตรี) รวมทั้งบรรดาพี่น้องแห่งชุมโจรผาปีกครุฑ ทุกศาสตร์ยุทธ์ที่ถูกบ่มเพาะฝึกฝนมาทั้งชีวิตของเทียน (ทัชชกร ยีรัมย์) ล้วนถูกทำลายย่อยยับจนหมดสิ้น ต้องโทษฑัณฑ์ถูกทรมานพิการเจียนตาย เหลือเพียงแค่ลมหายใจอันรวยริน ฤาชีวิตทั้งมวลล้วนจบสิ้นลง ดั่งคำทำนาย เมื่อครั้งถือกำเนิด ยามใดจับต้องศาสตรา ชีวิตจักมืดมนต้องโทษทุกข์แสนสาหัส ท่ามกลางบ่วงกรรมที่ยังคงดำเนินเกี่ยวพันสืบเนื่องต่อไป บัดนี้ร่างที่ไร้ชีวิตของบุรุษนักสู้ผู้เป็นตำนานได้รับความช่วยเหลือถูกลำเลียงขนย้ายส่งต่อไปยังหมู่บ้านอโรคยา ที่ในอดีต เทียน และ พิม (พริมรตา เดชอุดม) เคยใช้ชีวิตเติบโตเรียนรู้เรื่องสมุนไพรใบยาบ่มเพาะสมาธิ ซึมซับวิชาโขนนาฏศิลป์ โดยมีเหล่าผู้คนในหมู่บ้านทั้งหมดไม่เว้นแม้แต่เด็กเล็กผู้เฒ่าผู้แก่ หรือกระทั่งคนบ้าที่ไร้สติแต่ไม่เคยมีพิษภัยกับใครอย่าง ไอ้เหม็น (เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา) ก็ต่างมาร่วมกันหลอมจิต ศรัทธารวมเป็นหนึ่งช่วยกันหล่อพระพุทธรูปอันศักดิ์สิทธิ์ขึ้นเพื่อส่งจิตระลึกให้เทียนฟื้นคืนสติกลับมามีชีวิตอีกครั้ง ขณะที่พิมเองได้นำเอาท่วงท่าการร่ายรำดัดตัวตามรูปแบบของนาฏศิลป์โขนโบราณ มาช่วยในการรักษาบำบัดร่างกายที่เสื่อมสลายโดยมี ครูบัว (นิรุตติ์ ศิริจรรยา) ที่ปัจจุบันกลายเป็นพระบัวเปิดทางให้เทียนได้เริ่มต้นเข้าสู่สมาธิเพื่อฝึกควบคุมร่างกาย กล่อมเกลาสภาวะจิตให้นิ่ง เรียนรู้และต่อสู้กับด้านมืดในใจ เพื่อบรรลุถึงจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ที่หลับใหล หลอมหลวมเข้ากับ พลังศรัทธาอันแรงกล้า จากธาตุธรรมชาติทั้ง 4 ดิน น้ำ ลม ไฟ ผสมผสาน จนก่อเกิดการค้นพบ นาฏยุทธ์ ศาสตร์และศิลปะการต่อสู้อันทรงอานุภาพอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ในขณะที่แผนการณ์ต่าง ๆ ของ พระยาราชเสนา (ศรัณยู วงษ์กระจ่าง) ล้วนแต่บรรลุตามความประสงค์แทบทั้งสิ้น โดยมีเป้าหมายหลักคือ การก้าวขึ้นสู่ความเป็น จอมราชันย์ที่พร้อมสยบทุกสิ่ง และแน่นอนว่าเมื่อรวมเหล่านักฆ่ามากฝีมือ และบรรดาไพร่พลที่มีอยู่รายล้อมรอบตัวอันมากมายมหาศาลด้วยแล้ว ภายใต้ผืนนภา และเหนือพื้นพสุธาอันกว้างใหญ่ไพศาลย่อมไร้ซึ่งผู้กล้ารายใดที่คิดจะต่อกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้ ภูติสางกา ฑูตสังหารที่มาพร้อมกับ ภูติยุทธ์ ศาสตร์การต่อสู้ที่ไร้รูปแบบและร่องรอย อยู่เคียงข้างและรวมเป็นหนึ่งเดียวด้วยแล้ว ดูเหมือนว่าทุกสรรพสิ่งล้วนสยบนิ่งอยู่แทบเท้าเลยทีเดียว และทันทีที่พระยาราชเสนารู้ว่าบัดนี้เทียนได้รับการชุบชีวิตจากชาวหมู่บ้านคณะโขนด้วยแล้ว คำสั่งเลือดและการระดมเหล่าทหารและขุมกำลังทั้งหมดถูกส่งไปเพื่อทำลายร้างและเข่นฆ่าผู้คนในหมู่บ้านที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเกิดขึ้นอย่างทันท่วงที โดยที่ตัวพิมเองถูกทหารจับตัวกลับไปยังพระราชวังเพื่อสำเร็จโทษอาญาคชฑัณฑ์ (ใส่ตะกร้อให้ช้างเตะ) ต่อหน้าหมู่ทาสและกลุ่มประชาชนทั้งหมด ทำให้เทียนที่บัดนี้กำลังเรียนรู้และก้าวเข้าสู่วิถีสมาธิอันสงบนิ่ง ต้องยอมละตัวเองออกจากดวงจิตอันบริสุทธ์เพื่อเผชิญกับวิบากกรรมและขวากหนามที่เป็นอุปสรรคซึ่งถูกลิขิตไว้อย่างไม่จบสิ้น จากเหล่าอริราชแลศัตรูอันชั่วร้ายที่ยังคงหมายที่จะคร่าเอาชีวิตเทียน ไม่ว่าจะเป็น ภูติสางกา หรือ พระยาราชเสนา เอง ในขณะเดียวกันดูเหมือนว่า ความแค้นและพลังจากด้านมืดในจิตของเทียนเอง ก็พร้อมที่จะถาโถมเข้าครอบงำ ทำลายและทำร้ายเทียนตลอดเวลา ทางเดียวที่จะเอาชนะกรรมที่เริ่มก่อตัวขึ้น นั่นคือต้องเผชิญหน้าและเรียนรู้ที่จะควบคุมและเอาชนะจิตใจตนเองให้ได้ เตรียมพบกับการเผชิญหน้าและศึกการต่อสู้ครั้งสุดท้ายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต กับอภิมหาภาพยนตร์แอ็คชั่นที่คนทั้งโลกรอคอยกับบทสรุปของ องค์บาก 3 จุดกำเนิดขององค์บาก ตำนานการต่อสู้แห่งจิตวิญญาณ หลอมรวมพลังศรัทธาอันมุ่งมั่นที่ไม่เคยดับสูญของบุรุษผู้เกิดมาเพื่อเป็นตำนาน

องค์บาก 2 (2551)

องค์บาก 2 (2551/2008) เมื่อรอยบากแห่งความแค้นฝังลึกถึงก้นบึ้งแห่งจิตใจ ทุกศาสตร์ยุทธ์แห่งศิลปะการต่อสู้จะถูกหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว ดวงชะตากำหนดทุกสรรพสิ่ง ลิขิตชีวิตขึ้นสู่จุดสูงสุด และพร้อมดับทุกชีวิตดำดิ่งลงลึกถึงปลายเหวสู่จุดต่ำสุด บัดนี้มันได้กำหนดชีวิตของ “เทียน” เด็กหนุ่มที่หวังเติบใหญ่เป็นนักรบผู้แกร่งกล้าเฉกเช่นบิดา “ออกญาสีหเดโช” (สันติสุข พรหมศิริ) นายทหารผู้ซื่อสัตย์ซึ่งจงรักภักดีต่อเหนือหัวผู้ซึ่งยอมได้แม้กระทั่งสละชีวิตตนเองเพื่อปกป้องผืนแผ่นดินจากเหล่าผู้ฉ้อฉลและคนทรยศ แต่จากคำทำนายที่ว่าเมื่อใดที่เทียนซึ่งถือกำเนิดในฤกษ์พระกาฬเติบใหญ่ภายใต้วังวนแห่งคมดาบและกลิ่นคาวเลือด เมื่อนั้นผู้คนจำนวนมากจักต้องล้มตายกันอย่างพร้อมเพรียง ทำให้ออกญาสีหเดโชตัดสินใจส่งเทียนไปให้ “ครูบัว” (นิรุตติ์ ศิริจรรยา) เพื่อนสนิทซึ่งต่างเป็นลูกศิษย์ของพระครูปั้นมาด้วยกันช่วยบ่มเพาะสมาธิ เรียนรู้การฝึกจิตให้นิ่ง และศึกษาในด้านวิชาโขนนาฏศิลป์ เพื่อหวังว่าสิ่งเหล่านี้จะช่วยจรรโลงจิตใจให้เกิดแต่สิ่งที่ดีงามขึ้น โดยมี “พิม” เด็กสาวที่ครูบัวเก็บมาเลี้ยงคอยให้ความช่วยเหลือ และมี “ไอ้เหม็น” (หม่ำ จ๊กม๊ก) ชายบ้าเสียสติแต่หลงใหลในนาฏศิลป์เป็นเพื่อนเล่น แต่แล้วชีวิตเทียนต้องพบกับความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิต เมื่อ “พระยาราชเสนา” (ศรัณยู วงษ์กระจ่าง) ซึ่งวางแผนขึ้นครองความเป็นใหญ่ในแผ่นดินลงมือส่งเหล่านักฆ่ามือดีมาลอบสังหารออกญาสีหเดโชทั้งครอบครัว และเหล่าทหารหาญให้สิ้นซากด้วยตนเอง โดยมีเทียนเพียงคนเดียวที่เล็ดรอดชีวิตมาได้ท่ามกลางความคลั่งแค้นที่อัดแน่นฝังลึกในจิตใจ โชคชะตาพลิกผันอีกครั้งเมื่อเทียนได้พบกับ “เชอนัง” (สรพงษ์ ชาตรี) หัวหน้ากองโจรผาปีกครุฑผู้ยิ่งใหญ่ซึ่งช่วยชีวิตจากเงื้อมมือของเหล่าพ่อค้าทาสและยักษ์ขมุจอมโหด เพราะเล็งเห็นถึงจิตวิญญาณความเป็นนักสู้และสัญชาตญาณความเป็นนักฆ่าที่แฝงเร้นอยู่ในแววตาซึ่งพร้อมจะสังหารผู้คนได้ทุกเมื่อ จึงตัดสินใจรับเป็นลูกบุญธรรมเข้าร่วมเป็นหนึ่งในกองโจร ให้การชุบเลี้ยงฝึกฝนเหล่าสรรพวิชาอาวุธในศิลปะการต่อสู้ทุกรูปแบบจากเหล่าปรมาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาวิชา ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้ด้วยมือเปล่า หมัดมวย การใช้เวทมนตร์คาถา ไปจนถึงการใช้สรรพวุธทุกชนิด ดาบ กระบี่ กระบอง 3 ท่อน วิชากล การใช้ระเบิด ฯลฯ เมื่อทุกศาสตร์ยุทธ์แห่งศิลปะการต่อสู้ถูกบ่มเพาะหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว “เทียน” (จาพนม ยีรัมย์) เติบใหญ่พร้อมพิษสงความสามารถรอบตัวที่ยากจักหาใครทัดเทียม หนำซ้ำยังเป็นเรี่ยวแรงสำคัญในการปฏิบัติภารกิจทุกครั้งของกองโจรผาปีกครุฑ จนได้รับการยอมรับจากทุกคนโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสามารถสยบช้างงาดำ ช้างศักดิ์สิทธิ์ที่เหล่าชุมโจรให้ความเคารพและสักการะ ในขณะที่เชอนังเองตั้งใจมอบตำแหน่งหัวหน้ากองโจรให้เทียนรับหน้าที่ผู้สืบทอดต่อไป เพียงทว่า ณ เวลานี้มีเพียงภารกิจเดียวในชีวิตที่เทียนจักต้องกระทำคือการขจัดความคลั่งแค้นที่มันสุมอกอยู่ในจิตใจตลอดมา นั่นคือการมุ่งหน้าเพื่อสังหารเจ้าพระยาราชเสนาด้วยน้ำมือตนเอง โดยมีเป้าหมายในคืนวันสถาปนาเทวเสาวนีย์ครุฑที่เจ้าพระยาราชเสนาจะขึ้นครองอำนาจในฐานะจอมราชันย์อย่างสมบูรณ์ ภายใต้เปลวเพลิงแห่งความอาฆาต เทียนผสมผสานทุกความสามารถในการต่อสู้ที่บ่มเพาะมาทั้งชีวิต แปรเปลี่ยนเป็นพลังแห่งความอำมหิต โหดเหี้ยม เกรี้ยวกราด ดุดัน เพื่อที่จะสังหารทุกผู้คนที่เกี่ยวข้องอย่างไม่กลัวเกรง โดยหารู้ว่าไม่ว่ายังมีเหล่านักฆ่าระดับยอดฝีมือของจอมราชันย์ที่เขาจะต้องเผชิญหน้าและรับมือที่ล้วนแล้วแต่ยากในการต่อกรไม่ว่าจะเป็น “องค์รักษ์เกราะทอง” (ศุภกรณ์ กิจสุวรรณ), “กลุ่มนักฆ่าลึกลับในชุดดำ” ไปจนถึง “ภูติสางกา” (ชูพงษ์ ช่างปรุง) ที่ถูกส่งมาเพื่อนำเทียนไปสัมผัสกับดินแดนแห่งความตายโดยเฉพาะ หรือนี่คือจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ที่มีต้นกำเนิดจากรอยบากแห่งความคลั่งแค้นที่ต้องแลกมาด้วยชีวิต เลือดเนื้อ และจิตวิญญาณ มีเพียงพลังแห่งศรัทธาอันแรงกล้าเท่านั้นที่จะทำให้ชีวิตของเทียนอยู่รอดได้

คู่แรด (2550)

คู่แรด (2550/2007) เซกิ นายตำรวจญี่ปุ่นเดินทางสืบหาฆาตกรโหด ซึ่งสังหารเหยื่อเป็นจำนวนมากในประเทศไทย ฆาตกรรายนี้จะตามล่าเฉพาะกะเทยเท่านั้น โดยมีพยานที่สามารถชี้ตัวฆาตกรผู้นี้ได้คือ ลิลลี่ (แสดงโดยหม่ำ จ๊กมก) และหนึ่งในผู้ที่ถูกฆาตกรรายนี้ฆ่าก็คือ แองจี้ (สมเกียรติ จันทร์พราหมณ์) ซึ่งเป็นเพื่อนรักของลิลลี่ ลิลลี่สามารถใช้เส้นสายจากที่บ้าน ไปเข้าทำงานในคลับคาบาเร่ต์แห่งหนึ่งได้ โดยเซกิทำหน้าที่ปกป้องเธอ แต่เมื่อเกิดการไล่ล่าขึ้นในแหล่งซ่อนตัวของเธอ เซกิเริ่มตระหนักได้ว่าลิลลี่ไม่ได้อ่อนแออย่างกะเทยทั่วไป ลิลลี่สามารถเตะ ต่อย และหลบเลี่ยงจากการถูกรุมได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว ต่อมาลิลลี่ตัดสินใจกลับไปหากลุ่มเพื่อนฝูงเหมือนเดิม แล้วเซกิกับลิลลี่ก็มีเหตุให้ไปรู้ว่า มีการแอบลอบวางระเบิดอยู่ใต้เวทีการแสดงในงานประกวดกะเทยประจำปี ในที่ทำงานของเธอ และเป็นวันที่ฆาตกรโหดกำลังจะกระทำการล่าเหยื่อรายต่อไป

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๒ ประกาศอิสรภาพ

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๒ ประกาศอิสรภาพ (2550/2007) พ.ศ. 2114 “สมเด็จพระมหาธรรมราชา” ซึ่งพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยาสืบต่อจากพระมหินทราธิราชได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเป็นอุปราชครองเมืองพิษณุโลก เมื่อพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองสวรรคตในปี พ.ศ. 2124 “พระเจ้านันทบุเรง” ขึ้นเสวยราชย์สืบแทน และสถาปนาพระโอรส “มังสามเกียด” ขึ้นเป็น “พระมหาอุปราชา” รัชทายาท ในการนี้เจ้าเมืองประเทศราชทั้งหลายต้องมาร่วมแสดงความสวามิภักดิ์ รวมถึงพระมหาธรรมราชาและสมเด็จพระนเรศวรด้วย ในขณะที่เจ้าฟ้าเมืองคังไม่ได้เสด็จมาร่วมพระราชพิธีสำคัญครั้งนี้ เป็นเหตุให้พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงทรงมอบหมายให้พระมหาอุปราชา, พระราชนัดดา “นัดจินหน่อง” พระโอรสเจ้าเมืองตองอู, และสมเด็จพระนเรศวรช่วยกันเข้าตีเมืองคัง แต่พระมหาอุปราชากลับสั่งให้สมเด็จพระนเรศวรเข้าตีเป็นทัพสุดท้าย ด้วยความมั่นใจว่าทัพของพระองค์และนัดจินหน่องจะประสบความสำเร็จ แต่ปรากฏว่าสมเด็จพระนเรศวรทรงมีชัยชนะในศึกเมืองคังนี้ สามารถจับตัวเจ้าฟ้าเมืองคังและพระธิดา “เลอขิ่น” กลับมาได้ รัชทายาทหงสาวดีและราชนิกูลฝ่ายพม่าซึ่งเป็นคู่ปรับกันมาตั้งแต่เยาว์วัยจึงขุ่นเคืองอาฆาตสมเด็จพระนเรศวรเป็นทวีคูณ ต่อมาเมื่อเกิดศึกอังวะ พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงให้สมเด็จพระนเรศวรนำทัพมาช่วยรบ แต่พระมหาอุปราชากลับใช้โอกาสนี้วางแผนลอบปลงพระชนม์ ในขณะที่สมเด็จพระนเรศวรทรงยั้งทัพอยู่ ณ เมืองแครง แต่ข่าวการลอบปลงพระชนม์ได้ล่วงรู้ถึงสมเด็จพระนเรศวรผ่านทางพระมหาเถรคันฉ่อง สมเด็จพระนเรศวรจึงถือเหตุการลอบปลงพระชนม์ในการประกาศอิสรภาพตัดสัมพันธไมตรีกับหงสาวดี และกวาดต้อนชาวไทยชาวมอญกลับคืนพระนคร ฝ่ายหงสาวดีเมื่อทราบว่าการลอบปลงพระชนม์ไม่สำเร็จจึงให้นายทัพสุระกำมาเร่งนำทัพออกติดตามทัพของสมเด็จพระนเรศวร ในที่สุดก็ทัพหงสาวดีก็ตามมาถึงในขณะที่สมเด็จพระนเรศวรและไพร่พลกำลังข้ามแม่น้ำ และศึกครั้งนี้สมเด็จพระนเศวรทรงใช้พระแสงปืนต้นยิงข้ามแม่น้ำสะโตงถูกแม่ทัพสุระกำมาตายบนคอช้าง ทัพพม่าจึงล่าถอยกลับไป

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๑ องค์ประกันหงสา

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๑ องค์ประกันหงสา (2550/2007) พุทธศักราช 2106 “พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง” ทรงกรีฑาทัพเข้าตีราชอาณาจักรอยุธยาทางด่านระแหงแขวงเมืองตาก ทัพพม่ารามัญซึ่งมีรี้พลเหลือคณานับได้เข้ายึดครองหัวเมืองฝ่ายเหนือของราชอาณาจักรอยุธยาอันมีเมืองพิษณุโลกเป็นประหนึ่งเมืองราชธานีได้เป็นผลสำเร็จ ครั้งนั้น “สมเด็จพระมหาธรรมราชา” (ฉัตรชัย เปล่งพานิช) พระราชบิดาของ “สมเด็จพระนเรศวร” หรือ “พระองค์ดำ” (ปรัชฌา สนั่นวัฒนานนท์) ซึ่งเป็นเจ้าแผ่นดินครองเมืองพิษณุโลกจำต้องยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าบุเรงนองเพื่อรักษาไว้ซึ่งชีวิตอาณาประชาราษฎร์มิให้ต้องมีภยันตรายและจำต้องยอมร่วมกระบวนทัพพม่าเข้าตีกรุงศรีอยุธยา ศึกครั้งนั้นสมเด็จพระมหา จักรพรรดิเจ้าแผ่นดินอยุธยาทรงยอมเจรจาหย่าศึกกับพม่ารามัญ และยอมถวายช้างเผือก 4 เชือก ทั้งให้สมเด็จพระราเมศวรราชโอรสโดยเสด็จพระเจ้าบุเรงนองไปประทับยังนครหงสาวดีตามพระประสงค์ของกษัตริย์พม่า ข้างสมเด็จพระมหาธรรมราชาซึ่งได้ยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าบุเรงนองก็ได้ถวายสมเด็จพระนเรศวรราชโอรสองค์โตให้ไปเป็นองค์ประกันประทับยังหงสาประเทศเฉกเช่นกัน ครั้งนั้นพระองค์ทรงมีพระชนมายุได้เพียง 9 ชันษา สมเด็จพระนเรศวรทรงเป็นที่รักใคร่ของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองประดุจพระราชบุตรร่วมสายสันตติวงศ์ ด้วยองค์ยุพราชอยุธยาทรงมีพระปรีชาสามารถด้านพิชัยยุทธ ทั้งยังองอาจกล้าหาญสบพระทัยกษัตริย์พม่าซึ่งก็ทรงเป็นนักการทหาร นิยมผู้มีคุณสมบัติเป็นนักรบเยี่ยงพระองค์ พระเจ้าบุเรงนองทรงมีสายพระเนตรยาวไกล แลเห็นว่าสืบไปเบื้องหน้าสมเด็จพระนเรศวรจะได้ขึ้นเป็นใหญ่ในอุษาคเนย์ประเทศ จึงทรงคิดใคร่ปลูกฝังให้สมเด็จพระนเรศวรผูกพระทัยรักแผ่นดินหงสา เพื่อจะได้อาศัยพระองค์เป็นผู้สืบอำนาจอุปถัมภ์ค้ำชูราชอาณาจักรซึ่งพระองค์ทรงสถาปนาขึ้นด้วยความยากลำบาก เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าพระเจ้าบุเรงนองนั้นหาได้วางพระทัยในพระราชโอรสคือ “มังเอิน – พระเจ้านันทบุเรง” (จักรกฤษณ์ อำมะรัตน์) และพระราชนัดดา “มังสามเกียด” (โชติ บัวสุวรรณ) นัก ถึงแม้ทั้งสองพระองค์จะทรงเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขโดยตรง ด้วยทรงเล็งเห็นว่าราชนิกุลทั้งสองพระองค์นั้นหาได้เป็นผู้ทรงคุณธรรมอันจะน้อมนำเป็นพื้นฐานให้เติบใหญ่เป็นบูรพกษัตริย์ ปกป้องครองแผ่นดินที่พระองค์ทรงสร้างและทำนุบำรุงมาด้วยกำลังสติปัญญาและความรักใคร่หวงแหน เหตุทั้งนี้เป็นชนวนให้พระเจ้านันทบุเรงและราชโอรสมังสามเกียดขัดพระทัย ทั้งผูกจิตริษยาสมเด็จพระนเรศวรซึ่งเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองกว่าราชนิกุลข้างพม่าทั้งหลายทั้งสิ้น พระเจ้าบุเรงนองทรงโปรดให้ “พระมหาเถรคันฉ่อง” (สรพงษ์ ชาตรี) พระรามัญผู้มากด้วยวิทยาคุณและเจนจบในตำราพิชัยสงครามเป็นพระอาจารย์ถ่ายทอดศิลปะวิทยาการแก่สมเด็จพระนเรศวร นับแต่เริ่มเข้าประทับในหงสานครยังผลให้ยุพราชอยุธยาเชี่ยวชาญการยุทธ กลช้าง กลม้า กลศึก ทั้งข้างอยุธยาและข้างพม่ารามัญหาผู้เสมอเหมือนมิได้ ข้อได้เปรียบตามกล่าวเป็นเสมือนทุนทางปัญญาอันส่งผลให้สมเด็จพระนเรศวรสามารถกอบกู้เอกราช แก้ทางศึกจนมีชัยเหนือพม่ารามัญในภายภาคหน้า พุทธศักราช 2112 ปรากฏข่าวระบือไปถึงหงสาวดีว่าหัวเมืองพิษณุโลกฝ่ายเหนือแลกรุงศรีอยุธยาราชธานีฝ่ายใต้ของราชอาณาจักรสยามครั้งนั้นเกิดขัดแย้งปีนเกลียวกัน เหตุเนื่องมาจาก “สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ” (ศรัณยู วงศ์กระจ่าง) เจ้าแผ่นดินอยุธยาเสด็จออกผนวช แลสถาปนา “สมเด็จพระมหินทร์” (สันติสุข พรหมศิริ) ราชโอรสองค์รองขึ้นเสวยราชสมบัติสืบแทน สมเด็จพระมหินทร์ทรงคลางแคลงพระทัยในความจงรักภักดีของสมเด็จพระมหาธรรมราชาแต่ครั้งสงครามชิงช้างเผือกในปีพุทธศักราช 2106 ขณะที่เจ้าแผ่นดินพิษณุโลกก็หาได้ยำเกรงสมเด็จพระมหินทร์เช่นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เมื่อเห็นการใดมิควรก็บังคับบัญชาให้สมเด็จพระมหินทร์ปฏิบัติตามพระประสงค์จนเป็นที่ขุ่นเคืองพระราชหฤทัยกษัตริย์อยุธยาพระองค์ใหม่ถึงกับหันไปสมคบกับ “สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช” (รอน บรรจงสร้าง) พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาวร่วมกันแต่งกลเข้าตีเมืองพิษณุโลก แต่กระทำการมิสำเร็จพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองเห็นเชิงสบโอกาสก็ยกทัพใหญ่เข้าตีกรุงศรีอยุธยาอีกคำรบ ครั้งนั้นสมเด็จพระนเรศวรร่วมโดยเสด็จมากับทัพหงสาแต่หาได้ตามพระเจ้าบุเรงนองลงมาล้อมกรุงศรีอยุธยา ทรงประทับอยู่เพียงเมืองพิษณุโลก มีเพียงสมเด็จพระมหาธรรมราชาโดยเสด็จกษัตริย์หงสาลงมาล้อมกรุงด้วยตั้งพระทัยจะเกลี้ยกล่อมให้สมเด็จพระมหินทร์ยอมสวามิภักดิ์พระเจ้าบุเรงนอง เพราะเล็งเห็นว่าอยุธยายากจะต่อรบเอาชัยทัพพม่ารามัญซึ่งมีกำลังไพร่พลเหนือกว่าได้ หากขัดขืนต่อรบจะได้ยากแก่สมณชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎร์ ศึกครั้งนั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงลาผนวชมาบัญชาการรบด้วยพระองค์เอง แต่อยู่ได้มิช้านานก็เสด็จสวรรคตเสียระหว่างศึกพุทธศักราช 2112 มะเส็งศก วันอาทิตย์ เดือน 9 แรม 11 ค่ำ กรุงศรีอยุธยาก็เสียแก่พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ข้างสมเด็จพระนเรศวรซึ่งประทับอยู่ยั้งยังนครพิษณุโลกแต่ต้นศึก หาได้ทรงเห็นงามหรือคิดครั่นคร้ามอ่อนน้อมต่อหงสา ถึงจะทรงรู้ซึ้งว่าสมเด็จพระมหาธรรมราชาพระราชบิดามิได้คิดคดเป็นกบฏต่อแผ่นดิน แต่ก็หาได้เห็นด้วยกับการอ่อนข้อสวามิภักดิ์พม่ารามัญ น้ำพระทัยอันมั่นคงเด็ดเดี่ยวนั้น ถึงแม้จะมิได้แพร่งพรายถึงพระกรรณพระเจ้าบุเรงนอง แต่ก็ประจักษ์อยู่ในหมู่ข้าราชบริพารใกล้ชิดผู้รักและหวงแหนในเอกราชของแผ่นดินจึงพากันนิยมในน้ำพระทัย แลพร้อมใจถวายความจงรักภักดีแต่นั้นมา ครั้นเสร็จศึกอยุธยาพุทธศักราช 2112 สมเด็จพระมหาธรรมราชาทรงถวาย “พระสุพรรณกัลยา” (เกรซ มหาดำรงค์กุล) พระพี่นางสมเด็จพระนเรศวรแก่พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง แลขอตัวสมเด็จพระนเรศวรไว้ช่วยราชการข้างอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรจึงประทับยั้งอยู่ยังเมืองพิษณุโลก สืบต่อมาครั้นลุปีพุทธศักราช 2114 สมเด็จพระมหาธรรมราชา ซึ่งพระเจ้าบุเรงนองสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยาสืบต่อจากสมเด็จพระมหินทร์ก็โปรดให้สมเด็จพระนเรศวรเสวยราชย์ครองเมืองพิษณุโลกเป็นใหญ่เหนือหัวเมืองเหนือทั้งปวง เหตุการณ์ข้างพม่า หลังจากพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองสิ้นพระชนม์ในปีพุทธศักราช 2124 พระเจ้านันทบุเรงได้ขึ้นเสวยราชสืบต่อและได้สถาปนามังสามเกียดขึ้นเป็นรัชทายาทครองตำแหน่งมหาอุปราชาแห่งราชอาณาจักรหงสาวดี เมื่อแผ่นดินหงสามีอันต้องผลัดมือมาอยู่ในปกครองของพระเจ้านันทบุเรง สัมพันธไมตรีระหว่างอยุธยาและหงสาวดีก็เริ่มสั่นคลอน ด้วยพระเจ้าหงสาวดีพระองค์ใหม่มิได้วางพระทัยในสมเด็จพระนเรศวร และสมเด็จพระนเรศวรเองก็หาได้เคารพยำเกรงในบุญบารมีของพระเจ้าแผ่นดินพม่ารามัญเช่นกาลก่อน มิเพียงเท่านั้นสมเด็จพระนเรศวรยังได้ทรงแสดงพระปรีชาสามารถให้เป็นที่ปรากฏครั่นคร้าม ดังคราวนำกำลังทำยุทธนาวีกับพระยาจีนจันตุและศึกเมืองคังเป็นอาทิ พระเจ้านันทบุเรงทรงเกรงว่าสืบไปเบื้องหน้าสมเด็จพระนเรศวรจะเป็นภัยต่อพระราชวงศ์แลแผ่นดินหงสา จึงหาเหตุวางกลศึกหมายจะปลงพระชนม์สมเด็จพระนเรศวรเสียที่เมืองแครง แต่พระมหาเถรคันฉ่องพระราชครูลอบนำแผนประทุษร้ายนั้นมาแจ้งให้ศิษย์รักได้รู้ความ สมเด็จพระนเรศวรจึงถือเป็นเหตุประกาศเอกราช ตัดสัมพันธไมตรีกับหงสาวดี แลกวาดต้อนครัวมอญไทยข้ามแม่น้ำสะโตงกลับคืนพระนคร ซึ่งเป็นชนวนให้พระเจ้านันทบุเรงเปิดมหายุทธสงครามสั่งทัพเข้ารุกรานราชอาณาจักรอยุธยาสืบแต่นั้นมา

ต้มยำกุ้ง (2548)

The Protector ต้มยำกุ้ง (2548/2005) การเดินทางข้ามโลกของ “ขาม” (จา พนม ยีรัมย์) เด็กหนุ่มบ้านป่าที่ชีวิตต้องพลิกผันโดยเงื้อมมือของผู้มีอิทธิพลระดับประเทศที่ลักพาช้างพลายสองพ่อลูก ซึ่งเด็กหนุ่มและ “พ่อของขาม” (โสรธร รุ่งเรือง) เขารักดั่งชีวิต และมีความมุ่งหมายอันสูงสุดที่จะมอบเป็นคชบาทแด่ในหลวง ไปขาย ณ ประเทศออสเตรเลีย ทางเดียวที่จะช่วยเหลือและรักษาชีวิตของช้างอันเป็นที่รักของเขาได้ นั่นก็คือ การบุกตะลุยถึงถิ่นเสือ โดยการเดินทางข้ามโลก เรื่องไม่ง่ายอย่างใจคิด แม้เขาจะได้รับความช่วยเหลือจาก “จ่ามาร์ค” (หม่ำ จ๊กมก) นายตำรวจไทยและ “ปลา” (บงกช คงมาลัย) สาวไทยที่ถูกหลอกมาขายตัวในซิดนีย์ก็ตาม แต่ที่นั่น เขากลับต้องไปพัวพันกับการไล่ล่าของแก๊งมาเฟียที่นำโดย “มาดามโรส” (จิน ซิง) ที่มีลูกสมุนต่างชาติที่เต็มไปด้วยฝีมือทางการต่อสู้อย่าง “จอห์นนี่” (จอห์นนี่ เหงียน) และ “ทีเค” (นาธาน โจนส์) พร้อมลูกสมุนย่อยที่มีฝีไม้ลายมือทางการต่อสู้เหลือรับอย่าง “คาโปเอร่า” (ลาธีฟ คราวเดอร์) และ “วูซู” (จอน ฟู) อย่างไม่ได้ตั้งใจ ณ วินาทีนี้ การต่อสู้ข้ามชาติเพื่อเอาชีวิตรอดของเด็กหนุ่มและเพื่อนพ้อง ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว เพื่อตามหาและช่วยเหลือ พ่อใหญ่ และ ขอน ช้างพ่อลูก ที่เปรียบได้กับญาติพี่น้องของเขา นำไปสู่บททดสอบและการต่อสู้ครั้งสำคัญที่สุดในชีวิตของเขาให้โลกได้ล่วงรู้ถึง อานุภาพของ "ไม้มวยไทยโบราณ" ที่หนักหน่วง รุนแรง และยังไม่เคยได้รับการเปิดเผยมาก่อน โดยเฉพาะ "ตำนานมวยคชสาร"

เกิดมาลุย (2547)

เกิดมาลุย (2547/2004) โดยเรื่องราวพูดถึงการเผชิญหน้า กับเหตุการณ์ร้ายแรงที่สุดในชีวิต ที่อยู่นอกเหนือจากความควบคุม อันนำมาซึ่งความเป็นความตายของผู้คนจำนวนมาก เมื่อตกอยู่ภายใต้การจับกลุ่มของผู้ก่อการร้าย ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อย ที่ตั้งใจสร้างความปั่นป่วนให้กับประเทศไทย พร้อมกับชาวบ้านในหมู่บ้านแห่งหนึ่งริมชายแดน ที่พวกเขาและเธอตั้งใจนำข้าวของมาบริจาค และช่วยพัฒนาหมู่บ้าน วิธีเดียวที่จะรักษาชีวิตของพวกพ้องและชาวบ้าน คือต้องนำเอาความสามารถเฉพาะตัวทางด้านกีฬาในแต่ละประเภท มาผสมผสานในการต่อสู้ด้วยมือเปล่า โดยมีเงื่อนไขของเวลา ในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นให้ได้

องค์บาก (2546)

องค์บาก (2546/2003) ในประวัติศาสตร์หมู่บ้านหนองประดู่ ที่ยาวนานตั้งแต่ครั้นสมัยสงครามไทยกับพม่า ตำนานของครูดำ ผู้แกร่งกล้าด้วยศิลปะการต่อสู้ คือชายไทยผู้กล้าที่เคยแหวกฝ่ากองทัพพม่า ไปแย่งชิงเอาองค์พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ที่ถูกทหารพม่าบุกมาปล้นสดมภ์ และแย่งชิงไปจากหมู่บ้าน เมื่อคราครั้งกระโน้นได้เป็นผลสำเร็จ จนเกิดปาฏิหาริย์แห่งรอยบาก อยู่บนพระพักตร์ขององค์พระ ว่ากันว่าร่องรอยดังกล่าว คือบาดแผลจากการต่อสู้ ที่เกิดจากอิทธิฤทธิ์ขององค์พระศักดิ์สิทธิ์ ที่รับแทนคมหอกคมดาบ ที่ทหารพม่าถาโถมฟาดฟัน เข้าใส่ร่างของครูดำนั่นเอง ว่ากันว่าความเชื่อดังกล่าวที่เกิดขึ้นกับครูดำ และผู้คนในหมู่บ้านได้ถูกเล่าขาน สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แต่แล้วองค์บากกลับถูก ดอน (วรรณกิตย์ ศิริพุฒ) อดีตลูกหลานบ้านหนองประดู่ ที่ปัจจุบันหันหน้าเข้าสู่โลกแห่งความชั่วช้าอย่างเต็มรูปแบบ ทั้งเรื่องของยาเสพติด การพนัน และที่ร้ายแรงที่สุด คือการแอบตัดเศียรองค์พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ไปให้กับนักสะสมวัตถุโบราณ ที่มีจิตใจชั่วช้าในกรุงเทพ ในคืนก่อนงานเฉลิมฉลองงานบุญ ที่ชาวหนองประดู่จัดขึ้น เพื่อเฉลิมฉลองศรัทธาต่อองค์บาก ที่ได้หมุนเวียนมาครบ 24 ปี ส่งผลให้เหตุการณ์ดังกล่าว สร้างความสะเทือนใจ ต่อทุกชีวิตในบ้านหนองประดู่ โดยเฉพาะบรรดาผู้เฒ่าผู้แก่ ที่รอวันนี้มาค่อนชีวิต ราวกับว่านี่คือกงล้อแห่งศรัทธา ที่หมุนเวียนบรรจบมา เพื่อทดสอบในศรัทธาแห่งความความผูกพัน และพลังแห่งความดีงาม ของผู้คนในบ้านหนองประดู่อีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะกับผู้ที่ได้รับการสืบทอดชะตากรรม จากองค์บากโดยตรงอย่าง ทิ้ง (จา พนม ยีรัมย์) เด็กหนุ่มลูกกำพร้า ที่ได้รับการชุบเลี้ยงเติบโต จนมีสายเลือดของบ้านหนองประดู่อย่างข้นคลั่ก รวมทั้งเคล็ดวิชานวอาวุธ (อาวุธที่ก่อเกิดจากอวัยวะสำคัญ ในร่างกายของมนุษย์ทั้ง 9 อันประกอบไปด้วย 1 ศรีษะ 2 หมัดกร้าวแกร่ง 2 แรงกระทุ้งของศอก ตอกย้ำความหนักหน่วงของ 2 เข่า และความคล่องแคล้วว่องไวของ 2 เท้า) ผสมผสานกับศิลปะมวยไทยโบราณ ที่ได้รับการถ่ายทอดจากพระครู หลวงพ่อผู้เป็นดั่งเสาหลัก ที่เคารพนับถือของผู้คนในหมู่บ้านหนองประดู่ ลูกศิษย์คนสำคัญของครูดำ ปูชนียบุคคลที่มีคุณอนันต์ของหมู่บ้าน การเดินทางมุ่งหน้าสู่หนทางแห่งการต่อสู้ การทบทวนจิตวิญญาณแห่งความใฝ่ดี และการเผชิญหน้ากับโลกใหม่ ที่เต็มไปด้วยผู้คนที่ลุ่มหลงนิยมในวัตถุเงินทอง ท่ามกลางแสงสีของเมืองหลวง ที่เต็มไปด้วยความคดโกง หลอกหลวง และแก่งแย่งชิงดี ทิ้งได้พบกับบททดสอบแห่งศรัทธา และภาระรับผิดชอบที่ยิ่งใหญ่มากขึ้น อันตรายมากขึ้น โดยมีคนๆ เดียวในเมืองหลวง ที่จะช่วยทิ้งตามหาดอนได้คือ หำแหล่ หรือ ยืนยง (หม่ำ จ๊กหมก) ลูกชายของผู้ใหญ่น้อย อีกหนึ่งลูกหลานบ้านหนองประดู่ ที่ถูกส่งมาเล่าเรียน เพื่อกอบโกยเอาความรู้ นำกลับไปพัฒนาถิ่นเกิด แต่กลับกลายเป็นว่า ทิ้งถูกหำแหล่ ที่บัดนี้เปลี่ยนรูปโฉมเป็น ไอ้ยอร์จ หนุ่มหัวทองไร้ซึ้งหัวจิตหัวใจ หลอกขโมยเอาถุงห่อของมีค่า ที่รวบรวมเอาแบ๊งค์ยี่สิบเก่าๆ เงินเหรียญ และบรรดาทรัพย์สมบัติของผู้เฒ่าผู้แก่ ลูกหลานของบ้านหนองประดู่ ที่รวบรวมให้ทิ้งเพื่อเป็นทุนรอน ในการตามหาองค์บากในเมืองใหญ่ ไปวางเดิมพันในมวยเถื่อนเสียแล้ว เส้นทางในการเสาะหาองค์บาก ดึงเอาทิ้งเข้าไปเกี่ยวข้อง กับชีวิตของผู้คนอันหลากหลายในเมืองใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น เง็ก (รุ่งระวี บริจินดากุล) หญิงสาวสู้ชีวิต ที่ถูกความเหลวแหลกของเมืองหลวง กัดกินทั้งร่างกายและจิตใจ, หมวยเล็ก (ภุมวารี ยอดกมล) เด็กสาวแก่นแก้ว ที่งดงามทั้งหน้าตาและจิตใจ, ไอ้เป๋ง (เชษฐวุฒิ วัชรคุณ) นักเลงหัวไม้ หัวโจกของบรรดาจิ๊กโก๋คุมซอย คู่ปรับคนสำคัญของยอร์จ ความเป็นจริงในความหวังที่ไม่เพียงดูริบหรี่ แต่กลับเริ่มไกลห่าง ออกไปจากตัวทิ้งมากขึ้นทุกที เมื่อจิตศรัทธาแห่งความดีงาม จากคนรอบข้างที่มีต่อองค์บาก ค่อยรางเลือนมากยิ่งขึ้น กลับกันกับชักนำให้ทิ้ง ถล้ำเข้าไปสู่วังวนแห่งการต่อสู้ ที่ดูเหมือนจะขัดกับถ้อยคำที่พร่ำสอนจากพระครู เมื่อทิ้งถูกดึงเข้าไปเกี่ยวข้อง กับเกมการต่อสู้และการไล่ล่า ที่อบอวลไปด้วยความชั่วร้าย จากทั้งคนไทยด้วยกันเองและชาวต่างชาติ และนี่คือจุดเริ่มต้น ของการเดินทางแห่งจิตศรัทธา ที่นำมาซึ่งการต่อสู้ เพื่อพิสูจน์ศักดิ์ศรีของศิลปะการต่อสู้ ที่เรียกขานว่า แม่ไม้มวยไทยโบราณ

สุริโยไท (2544/2001) เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 สวรรคตในปี พ.ศ. 2072 พระอาทิตยาจึงได้ขึ้นครองราชย์ ทรงพระนาม สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร ทุกพระองค์เสด็จย้ายจากพิษณุโลกไปประทับ ณ กรุงศรีอยุธยาเมืองหลวง พระเฑียรราชา และ พระสุริโยไท มีโอรสธิดาทั้งสิ้น 5 พระองค์ คือ พระราเมศวร , พระมหินทร, พระบรมดิลก, (พระวิสุทธิ์กษัตริย์) และ พระเทพกษัตรี ประทับอยู่ ณ วังชัย ดำรงอิสริยยศเป็นพระเยาวราช เมื่อสมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูรสวรรคตด้วยโรคไข้ทรพิษ พระไชยราชา ผู้ซึ่งดำรงพระยศเป็นพระอุปราช ควรจะได้สืบสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์ แต่สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูรทรงขอให้ สมเด็จพระรัษฎาธิราชกุมาร พระโอรสวัย 5 พรรษา อันเกิดแต่พระอัครชายา วัย 17 พรรษา เป็นผู้ขึ้นครองราชย์แทน ระหว่างนั้น บ้านเมืองถูกบริหารโดยขุนนางทุจริต ติดสินบนเถลิงอำนาจ โดยเฉพาะ เจ้าพระยายมราช บิดาของพระอัครชายา 5 เดือนให้หลังสมเด็จพระไชยราชาธิราชจึงเข้ายึดราชบัลลังก์ และให้สำเร็จโทษพระรัษฏาธิราช ตามราชประเพณีโบราณ รวมถึงสั่งประหารขุนนางทุจริตทุกคน และทรงขึ้นครองราชย์ แผ่บุญญาธิการ เป็นที่ประจักษ์โดยทั่วไป ทรงออกรบปราบหัวเมืองอยู่เนือง ๆ และได้แต่งตั้งพระเฑียรราชาขึ้นเป็นพระมหาอุปราชา ว่าราชการแทนพระองค์ อยู่ที่กรุงอโยธยา ส่วนพระมเหสีของพระไชยราชา คือ ท้าวศรีสุดาจันทร์ ได้ลักลอบมีความสัมพันธ์กับ ขุนชินราช ผู้ดูแลหอพระ เชื้อราชวงศ์อู่ทองด้วยกัน และได้สมคบคิดกัน ลอบวางยาพิษปลงพระชนม์พระไชยราชา พระยอดฟ้า พระโอรสของพระไชยราชา ที่ประสูติจาก ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ได้ขึ้นครองราชย์แทน ในขณะที่มีพระชนม์เพียง 10 พรรษา แต่ต่อมาไม่นาน ก็ถูกท้าวศรีสุดาจันทร์ปลงพระชนม์อีกองค์หนึ่ง แล้วสถาปนาขุนชินราชขึ้นเป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระวรวงศาธิราช นับตั้งแต่สิ้นรัชกาลพระไชยราชา พระเฑียรราชาก็ได้ผนวชเพื่อเลี่ยงภัย ส่วนพระสุริโยไททรงเตรียมฝึกทหาร โดยมีผู้จงรักภักดี คือ ขุนพิเรนทรเทพ, ขุนอินทรเทพ, หมื่นราชเสน่หานอกราชการ และหลวงศรียศลานตากฟั เฝ้าคุ้มกันภัยให้ ได้ร่วมกันปลงพระชนม์ขุนวรวงศา และท้าวศรีสุดาจันทร์ เสียบหัวประจานไว้ที่วัดแร้ง แล้วอัญเชิญพระเฑียรราชา ให้ลาสิกขาบทขึ้นครองราชย์แทน ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ระหว่างนั้นทางพม่าได้รวบรวมแผ่นดินเป็นปึกแผ่น และแผ่ขยายอำนาจรุกรานไทยภายใต้พระมหากษัตริย์ พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ และได้เดินทัพมายังกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. 2091 เกิดเป็นสงครามยุทธหัตถี ที่ทุ่งมะขามหย่อง ซึ่งเป็นเหตุให้ พระสุริโยไทสิ้นพระชนม์บนคอช้าง เรื่องจบลงด้วยสงครามยุทธหัตถี อันเป็นเรื่องราวความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญและความตายของวีรกษัตรีย์ "สุริโยไท" ที่พลีชีพเพื่อรักษาอาณาจักรอยุธยา

หน้าที่