วังหลวง-วังหลัง (2493)
วังหลวงวังหลัง (2493/1950) พระราชาเมืองภูตคามนครปลอมพระองค์เป็นสามัญชนไปล่าสัตว์ บังเอิญได้พบกับวันทนีย์ ลูกสาวของพรานชาวเขาสัตบันคีรี ซึ่งไม่ประสีประสาต่อชีวิต วันทนีย์จึงเข้าไปสนิทสนมด้วย แต่บิดาเข้าใจผิดคิดว่าลูกสาวทำผิดประเพณี จึงนำตัววันทนีย์เร่ตระเวนขาย บังเอิญเจ้าฟ้าอนุราชวังหลังผ่านมาพบเข้าเห็นเป็นเรื่องขบขันจึงซื้อเธอไว้ แต่พระราชาเข้ามาขัดขวางและมอบอิสรภาพแก่วันทนีย์ พร้อมมอบพระธำมรงค์วงโปรดแก่วันทนีย์และรับมาเป็นนางสนมในวัง ต่อมา เจ้าฟ้าอนุราชวังหลังกับราชินีคิดกบฏ วางแผนปลงพระชนม์พระราชา วันทนีย์ได้รู้แผนการโดยบังเอิญ จึงไปรวบรวมหญิงสาวชาวเขามาช่วยกันต่อสู้ปกป้องราชบัลลังก์ พระราชาจึงแต่งตั้งให้วันทนีย์เป็นเอกอัครมเหสีนับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
สองเสือ (2492)
สองเสือ (2492/1949) ภาพยนตร์ไทย ชะนิดชก ตื่นเต้น ดุเดือด (ที่มา: นิตยสารภาพยนตร์สาร ธันวาคม พ.ศ. 2492)
สุภาพบุรุษเสือไทย (2492)

สุภาพบุรุษเสือไทย (2492/1949) เมื่อคนดีต้องกลายเป็นเสือ ชีวิตของกำนันไทยที่ดูจะราบรื่นต้องมาพังทลาย เมื่อรับ แฉล้ม มาเป็นเมียน้อยเพื่อชดใช้หนี้ แต่เมื่อ คง ชู้รักเก่าของแฉล้มกลับมาปรากฏตัว แฉล้มจึงหลอกกำนันไทยว่าคงเป็นญาติ กำนันไทยผู้มีน้ำใจเชื้อเชิญให้คงมาอาศัยด้วยกัน หารู้ไม่ว่านั่นเป็นการต้อนรับโจรให้เขามาอยู่ในบ้าน ไม่นานนัก คงก็เริ่มเผยธาตุแท้เมื่อ กระถิน เมียรักของกำนันไทยล่วงรู้ความสัมพันธ์ของคงกับแฉล้ม คงจึงล่อให้กระถินตกเป็นของตนซ้ำยังข่มขู่และรีดไถทรัพย์กระถินตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สร้างความทุกข์ระทมแก่กระถินจนคิดฆ่าตัวตาย กำนันไทยรู้ความจริงเข้าก็ตรงดิ่งมาจัดการคง แต่ระหว่างที่กำลังชุลมุน อ้ายคงยิงพลาดไปโดนกระถินเสียชีวิต แถม กับ จ่าหอม เผอิญเดินผ่านแถวนั้นได้ยินเสียงปืนจึงรีบมายังที่เกิดเหตุ คงรีบหนีเอาตัวรอดทิ้งให้กำนันไทยซึ่งกำลังตะลึงงันตกเป็นผู้ต้องหาฆ่าเมียตัวเองเคราะห์ดีที่ได้สติรีบไหวตัวหนีกระเซอะกระเซิงมาถึงภูเขาลูกหนึ่ง ที่นั่น กำนันไทยได้พบพระธุดงค์ซึ่งได้เตือนสติว่าเวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร ไฟแค้นที่สุมอกกำนันไทยจึงสงบลง และอาศัยอยู่กับพระธุดงค์ตั้งแต่นั้นมา แต่แล้ววันหนึ่ง ก็มีเสียงของชาวบ้านร่ำลือว่าเสือไทยกำลังออกอาละวาดที่ตำบลเกาะพลับพลาอย่างหนักได้ยินดังนั้น กำนันไทยก็สุดที่จะระงับโทสะ มุ่งหน้าหมายจะชำระแค้นอ้ายคงให้ตายคามือ ที่ริอาจสวมรอยใช้ชื่อของกำนันไทยออกปล้น ระหว่างทางกำนันไทยได้ช่วย กรอง หญิงกำพร้าซึ่งกำลังถูกเจ้าบิ๋นรังแก กรองขอติดตามกำนันไทยไปด้วย เมื่อได้ฟังเรื่องราวของกำนันไทย กรองก็อาสาจะพาจ่าหอมมาพบเพื่อเล่าความจริง ที่ตำบลเกาะพลับพลา แถมได้ขึ้นเป็นกำนัน กรองพาจ่าหอมมาพบกำนันไทยได้สำเร็จ แต่วันรุ่งขึ้นจ่าหอมกลับกลายเป็นศพ มิหนำซ้ำกำนันไทยยังถูกใส่ร้ายว่าเป็นคนฆ่าจ่าหอม คงเริ่มย่ามใจออกปล้นโดยใช้ชื่อเสือไทยหนักข้อขึ้น กำนันไทยทนเห็นชาวบ้านเดือดร้อนไม่ได้ จึงยอมเป็นเสือไปปล้นเสือ เพื่อชิงทรัพย์มาคืนชาวบ้านดังเดิม โดยได้รับความช่วยเหลือจาก เดช และ แม่น คงไหวตัวทันจับกรองและแม่นเป็นตัวประกัน ถึงเวลาที่กำนันไทยจะชำระแค้น นำพรรคพวกบุกเข้าไปปลิดชีพคง

บางขวาง (2491)
บางขวาง (2491/1948) เผชิญ มหาโยธิน ถูกจำคุกในเรือนจำบางขวางกว่าสองปีเต็ม ระหว่างที่อยู่ในคุก เผชิญหมกมุ่นอยู่กับการคิดหาทางแก้แค้น เสี่ยเภา เพื่อนทรยศซึ่งทำให้ เผชิญต้องโทษ เมื่อได้รับการปล่อยตัวเผชิญจึงมุ่งหน้าไป ชำระแค้นเสี่ยเภาที่บ่อนการพนัน และยิงเสี่ยเภาตายคา ที่ก่อนรวบเงินหลบหนีไป ระหว่างหลบหนีเผชิญโดดขึ้น รถของหญิงสาวคนหนึ่ง ก่อนจะจูบหญิงสาวแทนคำขอบคุณ เมื่อแก้แค้นสำเร็จ เผชิญจึงเดินทางกลับไปหา แม่ แม่ของเผชิญขอร้องให้เผชิญกลับตัวเป็นคนดีและขอ ให้เผชิญบวช เผชิญได้แต่ตอบตกลงอย่างขอไปที แต่ในใจของเขาต้องการหาเงินเพื่อความสุขสบาย เผชิญร่วมมือกับเจิดเพื่อขายฝิ่น วันหนึ่งเขานัดลูกค้าไปรับฝิ่นที่โรงแรม ห้องหมายเลข 19 และได้พบกับ วลัยพร สาวที่เผชิญเคยขโมยจูบ ความสัมพันธ์ของทั้งสองพัฒนาไป อย่างรวดเร็ว วันหนึ่งเผชิญวางแผนพาวลัยพรไปเที่ยวที่ปีนัง แต่ ร.ต.ท.วสันต์ ซึ่งจับตาดูพฤติกรรมของเผชิญ มาโดยตลอดได้บุกจับกุมเผชิญ เผชิญพยายามยิงปืนตอบโต้ แต่ถูกตำรวจยิงเสียชีวิตต่อหน้าแม่ของเผชิญ
พระเจ้าช้างเผือก (2484/1941) เรื่องเริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2083 ในอโยธยา อันเป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักรไทย อโยธยาเป็นคำในภาษาบาลีโบราณ แปลว่าปราศจากสงคราม หรือ สันติภาพ นั่นเอง ยุวกษัตริย์พระนามว่า "จักรา" ทรงขึ้นครองราชบัลลังก์สืบเนื่องจากการเสด็จสวรรคตอย่างกระทันหันของพระราชบิดา พระเจ้าจักราถูกเลี้ยงดูมาโดยภิกษุรูปหนึ่ง จึงไม่ทรงโปรดความโอ่อ่าในราชนำนัก ในการเถลิงถวัลย์ราชสมบัตินี้ทรงมีพระบัญชาให้งดเว้นการเฉลิมฉลองทั้งปวง ในวันฉัตรมงคล ปีที่สามหลังจากขึ้นครองราชย์ สมุหราชมณเฑียรได้เตือนพระเจ้าจักราให้ปฏิบัติตามโบราณราชประเพณีที่กษัตริย์ต้องมีมเหสี 365 องค์ ตามจำนวนวันในหนึ่งปี สมุหราชมณเฑียรได้จัดให้กุลธิดา หญิงงามผู้เป็นบุตรีของขุนนางชั้นสูงมาฟ้อนรำถวายพระพร โดยหนึ่งในหญิงสาวเหล่านี้ก็มี เรณู บุตรีของสมุหราชมณเฑียรรวมอยู่ด้วย แต่ในขณะนั้นเองมีสาส์นจากต่างประเทศมา พระเจ้าจักราทรงมีพระทัยจดจ่อกับสาส์นนั้นอ่านถึงสองรอบตกอยู่ในภวังค์จนบรรดาสาวงามต่างถวายพระพรลากลับไปหมดแล้วพระเจ้าจักราก็ไม่ทรงรู้พระองค์ พระเจ้าจักราทรงมีพระราชวินิจฉัยว่าคงไม่อาจปฏิบัติตามโบราณราชประเพณีได้ในกาลดังกล่าว เพราะมีเหตุการคับขันขึ้น กล่าวคือ กษัตริย์โมกุลได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับกษัตริย์หงสา และกษัตริย์หงสาก็กำลังเตรียมไพร่พลสำหรับการสงครามอยู่ พระเจ้าจักราจึงจัดให้มีการคล้องช้างเพื่อเป็นกำลังให้อโยธยา ทั้งนี้สมุหราชมณเฑียรไม่เห็นด้วยเพราะคิดว่าถ้าทรงมีพระมเหสีเสียก่อน 365 องค์ แล้วพาพระมเหสีไปคล้องช้างด้วยจะได้ช้างมามากกว่าไปพระองค์เดียวเป็นสิบเท่า แต่พระเจ้าจักราปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าวเพราะเสนาบดีส่วนใหญ่ล้วนเห็นชอบให้จับช้างก่อน ได้มีพ่อค้าชาวโปรตุเกสมาเฝ้าทูลอองพระบาท จึงมีพระกระแสสอบถามถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ในโลก รวมถึงจำนวนพระมเหสีที่กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ในแต่ในดินแดนทรงมี กัปตันทูลตอบว่ากษัตริย์ตะวันตกมีได้พระองค์เดียวเพราะศาสนากำหนดไว้ เว้นแต่สุลต่านแห่งรัฐอิสลามที่มีมเหสีได้สี่องค์ ส่วนเรื่องดินแดนต่างๆ นั้นกัปตันทูลเกี่ยวกับการยึดครองดินแดนที่ค้นพบใหม่ทางตะวันตก (ทวีปอเมริกา) พระเจ้าจักราทรงสนพระทัยและตรัสถามต่อไปว่าดินแดนเหล่านี้ย่อมมีผู้ปกครองเป็นเจ้าของอยู่แล้ว ไปยึดแย่งเขามาได้อย่างไร กัปตันตอบว่าเพื่อนำพวกชนพื้นเมืองสู่อารยธรรมและเผยแผ่คริสต์ศาสนา และด้วยเหตุนี้เองทำให้ประชาชน (ของโปรตุเกสและชาติมหาอำนาจตะวันตก) ต้องทำสงครามกับอาหรับและทำสงครามอื่นๆ นับครั้งไม่ถ้วน พระเจ้าจักราทรงมีพระราชจริยาวัตรตื่นแต่เช้าตรู่ และเสด็จไปในอุทยานแห่งวิหารเทพีธรรมเพื่อทรงรับอากาศบริสุทธิ์ วันหนึ่งพระองค์ทรงไม่พอพระทัยอย่างยิ่งเมื่อเด็กๆ ที่รอเรียนหนังสือในวัดนั้นเล่นส่งเสียงดังน่ารำคาญ พระเจ้าจักราเกือบจะทรงตักเตือนเด็กเหล่านี้ด้วยพระองค์เอง แต่ก็มีสตรีนางหนึ่งเข้ามาตักเตือนเสียก่อน พระเจ้าจักราจึงแฝงพระองค์แอบฟัง สตรีนางนั้นได้ยกชาดกเรื่องเต่าช่างพูดมาตักเตือน เป็นที่พอพระทัยของพระเจ้าจักราเป็นอันมาก และทรงระลึกได้ว่าสตรีนางนั้นก็คือ เรณู บุตรีของสมุหราชมณเฑียร การคล้องช้างสำเร็จลุล่วงด้วยดี ได้ช้างเผือกมาด้วยเชือกหนึ่ง ซึ่งเป็นมหามงคลยิ่งในรัชสมัยของพระเจ้าจักรา จึงจัดให้ทำธงแดงมีช้างเผือกอยู่บนธงใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งพระราชอาณาจักรสืบไป ข่าวลุไปถึงพระกรรณพระเจ้าหงสา พระเจ้าหงสาจึงได้ฉีก "สนธิสัญญาว่าด้วยการยุติความขัดแย้งโดยมีผู้ไกล่เกลี่ยอย่างสันติระหว่างหงสากับอโยธยา" ทิ้ง และเรียกร้องอโยธยาให้มอบช้างเผือกให้ แต่อโยธยาไม่ยอม จึงใช้เป็นข้ออ้างในการทำสงคราม กองทัพหงสาบุกตีเมืองกานบุรีแตกโดยไม่ประกาศสงครามอย่างเป็นทางการตามธรรมเนียมระหว่างประเทศ ทัพหงสาจับแต่ผู้หญิงไว้เป็นเชลย ฆ่าชาวเมืองที่เหลือและเผาเมืองจนสิ้น กองทัพหงสากำลังมุ่งหน้าสู่อโยธยา เมื่อพระเจ้าจักราทรงทราบข่าวก็ทรงจัดตั้งทัพไปต่อต้าน โดยให้สมุหราชมณเฑียรรักษาพระนครไว้ เมื่อทั้งสองฝ่ายต่อสู้กัน หงสากำลังเพลี่ยงพล้ำ พระเจ้าจักราจึงบอกให้ทหารอโยธยาอย่าทำร้ายทหารศัตรูอีก ให้เพียงจับเป็นเชลยถ้าทำได้ ส่วนพระองค์จะกระทำยุทธหัตถีกับกษัตริย์หงสา ทรงย้ำว่า "เราไม่ได้มาเพื่อสู้กับชาวหงสา เรามาสู้กับประมุขของพวกเขาเท่านั้น" ผลการยุทธหัตถีปรากฏว่าพระเจ้าหงสาทรงเป็นผู้พ่ายแพ้ ตกจากหลังช้างทรง สิ้นพระชนม์ ณ ที่รบ เมื่อสิ้นพระเจ้าหงสาผู้เป็นเหตุแห่งสงครามแล้ว พระเจ้าจักราจึงประกาศสงบศึก ปล่อยตัวเชลยให้กลับไป และขอให้สันติสุขจงมีแก่ทุกฝ่าย กลับมาที่อโยธยา สมุหราชมณเฑียรดึงดันจะให้พระเจ้าจักราปฏิบัติตามโบราณราชประเพณีอีก โดยจะให้มีพระเจ้าจักราเลือกมเหสี 365 องค์ และเลือกอีก 1 องค์เป็นพระราชินีกิตติมศักดิ์ มิให้ด้อยไปกว่ากรุงหงสา พระเจ้าจักราจึงเลือกเรณูอย่างเสียมิได้ ตั้งเป็นพระราชินีกิตติมศักดิ์ ไม่มีเบี้ยหวัดและพระตำหนัก แล้วส่วนมเหสีอีก 365 ทรงตรัสว่าจะเลือกภายหลังแล้วเสด็จพระราชดำเนินจากไป เรณูจึงรีบเข้าไปกราบทูลว่าการเลี้ยงดูมเหสีอีก 365 องค์นั้นไม่จำเป็น ควรนำพระราชทรัพย์นี้ไปบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่ราษฎรดีกว่า พระเจ้าจักราทรงพอพระทัยเป็นอย่างมาก จึงให้เรณูเป็นพระราชินี "ตัวจริง" แทนที่จะเป็นพระราชินี "กิตติมศักดิ์" เรณูกระซิบบอกวิธีที่ไม่ต้องมีมเหสีมากมายแก่พระเจ้าจักรา พระเจ้าจักราจึงทรงมีพระบรมราชโองการมอบพระราชอำนาจการมีมเหสี 365 องค์แก่สมุหราชมณเฑียรแทน แล้วทรงกำชับว่า "เราต้องไม่แพ้พระเจ้าหงสานะ"
รวมไทย (2484)
รวมไทย (2484/1941) บันทึกเหตุการณ์กรณีพิพาทไทย-อินโดจีนของฝรั่งเศส เกียรติประวัติของ ร.พัน 3 หลังจากที่ฝรั่งเศสตอบปฏิเสธรัฐบาลไทยกรณีเรียกร้องดินแดนคืนฝ่ายไทยจึงเริ่มมีการลำเรียงทหารและจัดตั้งองค์การอาสากาชาดเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขพลเมืองไทยตามแนวรบชายฝั่งแม่น้ำโขง แล้วจึงมีการสู่รบทางอากาศที่เมืองนครพนม เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2483 เป็นชนวนให้เกิดการรบใหญ่ในเวลาต่อมาที่สมรภูมิบ้านพร้าวซึ่งกองทัพบูรพายึดธงชัยเฉลิมพลของข้าศึกได้ กองหน้าฝ่ายไทยได้ยึดดินแดนไปจนถึงบริเวณก่อนประตูศรีโสภณประมาณ 6 กม. ก่อนจะมีการพักรบในวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2483 แล้วจึงมีการจัดการเดินสวนสนามฉลองชัย ที่กรุงเทพ ระหว่างพักรบ นายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมทหารในแนวรบ กองทัพบูรพาและประดับเหรียญชัยสมรภูมิแก่แม่ทัพ นายกอง และนายทหาร หลังจากนั้นเหล่าทหารที่ร่วมรบได้เดินทางกลับกรุงเทพ ท่ามกลางการต้อนรับของมหาชน และสวนสนามฉลองชัยรวมทั้งแสดงอาวุธอันทันสมัยที่ใช้ในการรบคราวนี้ ในวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2484
ค่ายบางระจัน (2482)

ค่ายบางระจัน (2482/1939) พ.ศ. 2308 พม่ายกทัพเข้ามารุกรานไทยหลายหมู่บ้าน พล และ แสน สองหนุ่มบ้านวิเศษไชยชาญจึงขี่ม้ามาส่งข่าวกำนันบ้านศรีบัวทอง ถึงแผนการของ ทิดดอก บ้านกลับ และ ทองแก้ว บ้านโพธิ์ทะเล ซึ่งเข้าไปคลุกคลีกับพวกพม่าเพื่อจะปล้นทรัพย์ แผนการสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี หากแต่กำนันบ้านศรีบัวทองเสียชีวิตในเหตุการณ์ สร้างความเศร้าสลดต่อชาวบ้านยิ่งนัก เมื่อขาดผู้นำ แท่น ซึ่งมีฝีมือในการรบดี จึงเสนอให้เดินทางไปสมทบที่ค่ายบางระจัน ชาวบ้านศรีบัวทองจึงแต่งตั้งแท่นเป็นแม่ทัพ ขณะนั้น เนเมียวสีหบดี แม่ทัพฝีมือเก่งกล้าฝ่ายพม่า มาตีค่ายบางระจันหลายต่อหลายครั้งก็ไม่สามารถเอาชนะได้ จึงเริ่มร้อนใจกลัวชาวบ้านค่ายบางระจันจะรวมกำลังคนได้มากขึ้น สุกี้ นายกองของพม่า ซึ่งเคยอาศัยอยู่เมืองไทยมานานอาสาเป็นผู้คุมทัพมาตีค่ายบางระจัน แท่นยังบาดเจ็บสาหัสจากการรบครั้งก่อน นายจัน หนวดเขี้ยว ขุนสรรค์ พันเรือง และคนอื่นๆ หารือตกลงกันว่าจะให้พลขี่ม้าไปขอปืนใหญ่จากกรุงศรีอยุธยาแต่ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ไม่เห็นด้วย มีเพียงพระยารัตนาฯ ที่เห็นใจชาวบ้านบางระจัน จึงตามพลมาช่วยสอนวิธีการหล่อปืนใหญ่แต่ไม่สำเร็จ สุกี้ยกทัพโจมตีค่ายบางระจันและสามารถทำลายประตูค่ายได้ ชาวบ้านทั้งชายและหญิงพร้อมใจกันเข้าต่อสู้ แต่หมดกำลังจะต้านทานจึงพ่ายแพ้พม่าไปในที่สุด

เลือดสุพรรณ 2479
เลือดสุพรรณ (2479/1936) ในสมัยอยุธยา พม่ายกทัพเข้ามารุกรานไทย จนถึงจังหวัดสุพรรณบุรี โดยการนำทัพของมังระโธ กับ มังราย ชาวสุพรรณบุรีตกเป็นเชลยของพม่า รวมทั้งครอบครัวของดวงจันทร์ ผู้ชายถูกเกณฑ์ไปใช้แรงงาน ดวง พ่อของดวงจันทร์ และ มิ่ง เพื่อนบ้าน เริ่มทำงานไม่ไหวจึงคิดหนี แต่ถูกจับได้ มังรายเดินผ่านมาจึงช่วยทั้งสองไม่ให้ถูกทำโทษเป็นชนวนให้มังระโธกับมังรายไม่ลงรอยกัน จนกระทั่งวันหนึ่งมังระโธทนไม่ไหวที่ถูกมังรายขัดขวางหลายต่อหลายครั้ง จึงปราดเข้าไปใช้ดาบฟันมังราย แต่กลับเป็นฝ่ายถูกฟัน กลายเป็นความเคียดแค้นแก่มังระโธ มังรายสารภาพรักกับดวงจันทร์ เธอจึงขอร้องให้เขาปล่อยชาวบ้าน มังรายตอบตกลง มังระโธได้ทีนำความไปบอกแม่ทัพมังมหาสุรนาท แต่มังรายเดินทางมาขอรับโทษเอง นายทหารคนอื่นๆ ที่อยู่ในเหตุการณ์พยายามช่วยเหลือมังราย เล่าต้นสายปลายเหตุว่าเป็นเพราะมังระโธบีบคอผู้หญิงเพื่อชิงทรัพย์ และแย่งน้ำที่คนจะดื่มเอามาล้างเท้า แต่กระนั้นก็ตาม มังมหาสุรนาทก็ยังสั่งประหารมังราย แม้มังรายจะเป็นลูกในไส้ของตนก็ตาม แล้วสั่งให้ประหารมังระโธข้อหากระทำทารุณต่อชาวบ้าน ขณะนั้นเอง ดวงจันทร์มาขอพบมังมหสุรนาทและร้องขอชีวิตมังรายโดยจะยอมรับโทษแทน แต่ทหารกำลังนำตัวมังรายไปป่าเพื่อจะประหาร ดวงจันทร์รุดหน้าเข้าไปในป่าหวังจะไปขัดขวางการประหารชีวิต กลับพบศพพ่อและแม่ถูกทหารพม่าฆ่าทิ้งเพราะโกรธแค้นที่ดวงจันทร์เป็นต้นเหตุให้มังรายต้องโดนประหารชีวิต ดวงจันทร์พยายามพูดโน้มน้าวปลุกใจชาวสุพรรณให้ลุกขึ้นมาจับดาบขึ้นสู้ และบุกค่ายพม่ายามดึก แม่ทัพพม่าพยายามเกลี้ยกล่อมให้ดวงจันทร์กลับไปและจะยอมไว้ชีวิตแต่ดวงจันทร์ยืนกรานที่จะสละชีพเพื่อชาติ จึงเสียชีวิตพร้อมชาวสุพรรณบุรี
เลือดทหารไทย 2478

เลือดทหารไทย (2478/1935) นาวาตรี หลวงสหะนาวิน ผู้บังคับหมวดหน่วยรบประจำเรือรบหลวงสุโขทัย นำทัพประลองยุทธใหญ่ทางทะเลจึงได้รับคำสั่งเลื่อนยศพร้อมกับคนอื่นๆ คืนวันรุ่งขึ้น ได้มีงานเลี้ยงบนเรือรบหลวงสุโขทัย หลวงสหะนาวินได้พบ พาณี นรกุล น้องสาวของ เรือเอกปรีชา นรกุล ก็รู้สึกหลงรัก เช่นเดียวกับ พันตรีหลวงกฤษณะสงคราม เพื่อนสนิท หลวงสหะนาวินจึงหลีกทางให้ จนกระทั่งประเทศไทยเข้าสู่ภาวะสงครามรัฐบาลได้อนุมัติให้กระทรวงกลาโหมดำเนินการตามยุทธศาสตร์ตามแผนป้องกันพระราชอาณาจักร ที่ พลโทพระยานรกุล ร่างขึ้น แต่ขณะนั้นเองมีกลุ่มคนคิดขายชาตินำโดย วิญญู เป็นหัวหน้า ต้องการขโมยร่างแผนป้องกันพระราชอาณาจักร จึงให้อุดมกับเฉลิมลอบไปขโมยในงานวันเกิดพระยานรกุลที่จะจัดขึ้นในอีกไม่กี่วันต่อมา เมื่อถึงวันงาน อุดมลอบเข้าไปขโมยร่างแผนป้องกันพระราชอาณาจักรในบ้านพระยานรกุลสำเร็จ แต่ขณะที่กำลังปีนลงมาจากตึก หลวงกฤษณะมาเห็นเข้าจึงยิงอุดมเสียชีวิต เฉลิมซึ่งคอยดูต้นทางอยู่รีบวิ่งไปฉวยแผนป้องกันพระราชอาณาจักรและหลบหนีไปได้ หลวงกฤษณะถูกเรียกเข้าประจำกรมด่วน เนื่องจากรัฐบาลประกาศสงครามแล้ว นายเรือเอกปรีชาจึงเสียสละออกรับแทนว่าตนเป็นผู้ยิงอุดมเสียชีวิต หลวงกฤษณะจึงได้ไปปฏิบัติหน้าที่รับใช้ชาติ หลังจากนั้นตำรวจก็ได้รับแจ้งว่าร่างแผนป้องกันพระราชอาณาจักรหายไป เมื่อสอบปากคำ นงลักษณ์ ซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุ ตำรวจจึงรีบไปดักรอผู้ต้องสงสัยที่สถานเบียร์ฮอลล์ "โอดี" และจับวิญญูและเฉลิมพร้อมของกลางได้ นายเรือเอกปรีชาจึงได้รับการปล่อยตัวไปเป็นผู้บังคับหมู่เรือยามฝั่ง กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศไทยเคลื่อนทัพสู่สนามรบ และได้ชัยชนะกลับมา

รบระหว่างรัก (2474)
รบระหว่างรัก (2474/1931) เรื่องราวรักสามเส้า และรักต่างชนชั้น พระเอกเป็นลูกชาวนาที่อาสาไปรบในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 มีแม่เป็นคนตาบอด เมื่ออาสาไปรบจึงไปขอร้องเพื่อนที่มีเสียงเหมือนกับตน ไปดูแลแม่ของตัวเอง พอกลับมาจากสงครามก็พบว่าถูกแย่งคนรักไป พระเอกจึงไปแย่งกลับคืนมา
Placeholder

หมัดพ่อค้า (2474/1931) เป็นเรื่องเกี่ยวแก่การชิงรักระหว่างพ่อค้าชาวกองเกวียน มีการยกพวกปล้นกองเกวียน การต่อสู้กันด้วยอาวุธปืนและหมัดมวยอย่างโลดโผน (ที่มา: หนังสือพิมพ์ศรีกรุง ธันวาคม พ.ศ. 2474)

เลือดแค้น 2471

เรื่องย่อ : เลือดแค้น (2471/1928) เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรก ที่มีความลึกลับ เกี่ยวกับการผจญภัยและการต่อสู้ในเชิงหมัดมวยอย่างน่าตื่นเต้น ถ้าว่าถึงตลกคะนอง ก็เป็นตลกที่ไม่ได้แกล้งให้ตลก เป็นตลกที่อาศัยเกิดจากลักษณะเดิมของตัวผู้แสดงเอง มีตาเชยเตี้ยเป็นต้น ลักษณะของตาเชย ผู้ดูโดยมากที่ไปเที่ยวตำบลบางลำพู คงจะได้เคยเห็น แกเดินชมอากาศอยู่ตามแถวนั้นบ่อยๆ หรือมิฉะนั้นก็แถวหน้าโรงปีนัง ผู้ทำเรื่อง เลือดแค้น ได้ใช้ความระวังหลายประการที่จะไม่ให้เลือดแค้นกลายเป็นเลือดไม่แค้นหรือเลือดจืด มีเหตุผลกินกลืนกันสมเรื่อง ตลอดจนภูมิฐานฐานะของบุคคลและการแต่งตัว ที่จัดให้เหมาะแก่ลักษณะ เหมาะแก่เวลาที่ควรไม่ควร ถ้าจะกล่าวแล้วเรื่อง เลือดแค้น ถึงจะมีข้อที่น่าติอยู่บ้าง แต่ก็เชื่อว่าน้อยที่สุด ท้องเรื่อง เลือดแค้น แสดงถึงน้ำใจของน้องเมียนายทองใบ ที่พยายามแก้แค้นแทนพี่สาวอันเนื่องจากนายทองใบทิ้งพี่สาวและทำทารุณโหดร้ายเมื่อ 20 ปีก่อน จึงตามมาแก้แค้นโดยปลอมตัวเป็นคนลึกลับ ท่านจะได้เห็นการต่อสู้กันบนเรือใบกลางทะเล การต่อสู้ในบ้าน และการต่อสู้ชิงนางกลางทุ่ง การต่อสู้นี้ล้วนไปด้วยหมัดมวยและอาวุธปืน ทุกตอนจะทำให้ท่านรู้สึกพอใจ ในที่สุดท่านจะต้องออกปากว่า "หนังไทยเรื่องนี้ของเขาควรผูกโบว์แดงให้ได้" พูดถึงผู้แสดง มีโดยมากนับว่าใช้บทบาทได้สนิท ผู้ที่ควรได้รับความชมเชยชั้นเยี่ยมของการแสดงในเรื่องก็คือ จรวย วีละเวีย ลีละชาติ นางเอกผู้เป็นตัว "สุลักษณ์" บุตรี เลี้ยงของนายทองใบ จรวยได้วางบทบาทสมแก่เป็นตัวภาพยนตร์ได้ดีจริงๆ ดีจนควรนับได้ว่าอยู่เหนือนางเอกภาพยนตร์ไทยที่ท่านเคยเห็นมา เช่น ยามโกรธ ยามตกใจ ดีใจ ยามออเซาะ เหล่านี้ ชวนให้รู้สึกว่าจรวยไม่มีการเก้อเขินแต่อย่างใดเลย ถัดจากนี้ก็ตัวพระเอกพระรองและตัวประกอบอีก ซึ่งมีบทดีไม่แพ้แม่จรวย นอกจากนั้นยังแสดงการชกต่อยและการขี่ม้าขี่ฬาคล่องแคล่วอย่างน่าชม บางคนสังเกตว่าพยายามเลียนจากบท ฮูด กิ๊บสัน หรือ เคน เมย์นาดไม่ผิดเลย ยังมีผู้แสดงที่ควรได้รับความชมเชยเป็นพิเศษอีกคนหนึ่ง คือ นายไกวัลย์ ซึ่งแสดงเป็นตัวบ้าหรือใบ้ นายคนนี้ เมื่อแสดง "ไม่คิดเลย" ยังมีอาการขวางๆ รีๆ อยู่มาก ครั้น มาแสดงเรื่องนี้กลับมีสภาพเป็นคนละคน การแสดงของนาย ไกวัลย์ในเรื่อง "เลือดแค้น" สกปรกโสมมเหลือกำลัง เสื้อผ้า ขาดกะรุ่งกะริ่งผมเผ้ายาวเหมือนบ้าหอบฟาง เพราะถูกเกณฑ์ให้เป็นคนใบ้เนื่องจากในเรื่องถูกน้องชายโกงสมบัติ ตามสังเกตดูเหมือนนายไกวัลย์จะเลียนแบบ "ลอน ชานีย์" เอา เสียจริงๆ ถึงหากบทจะด้อยกว่าลอน ชานีย์ ก็ยังนับว่าเป็น ลอน ชานีย์ ไทยได้ ไม่อายคนดูทีเดียว ตัวนี้คู่หูกับตาเชยเตี้ย นับว่าเป็นผู้ทำให้เรื่องครึกครื้นมากอยู่ (ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวภาพยนตร์ กรกฎาคม พ.ศ. 2471)

โชคสองชั้น 2470

เรื่องย่อ : โชคสองชั้น (2470/1927) นายกมล มาโนช (มานพ ประภารักษ์) พระเอกของเรื่อง เป็นนายอำเภอหัวเมืองฝ่ายเหนือ ได้รับมอบหมายให้ลงมาสืบจับผู้ร้ายคนหนึ่งซึ่งซ่อนตัวอยู่ในกรุงเทพ นายกมลเข้ามาพักอยู่ที่บ้านพระยาพิชัย (อุทัย อินทร์วงศ์) และมีหลานชื่อว่า นางสาววลี ลาวัณยลักษณ์ (หม่อมหลวงสุดจิตตร์ อิศรางกูร) ซึ่งทั้งสองได้พบรักกันโดยเร็ว แต่นายวิง ธงสี (มงคล สุมนนัฏ) ซึ่งหมายปองนางสาววลีอยู่แล้วและชอบไปมาหาสู่พระยาพิชัยเป็นเนือง ๆ และนายวิงคนนี้ก็คือคนร้ายที่นายกมลกำลังสืบจับอยู่นั่นเอง นายวิงไหวตัวทันเรื่องที่นายกมลตามคนร้าย จากนั้นนายวิงก็วางแผนร้ายโดยส่งพรรคพวกลูกสมุนเข้ามาทำร้ายนายกมล แต่นายกมลมีความชำนาญในการระวังภัยจากโจรจึงต่อกรขัดขวางกำลังได้ จนนายวิงและพรรคพวกต้องหลบหนีไป นายกมลไล่ตามจับแต่เกิดหลงทาง นายวิงได้วกกลับมาที่บ้านพระยาพิชัยและจับนางสาววลีไป แต่นายกมลมีเชาวน์ที่ดี เข้าใจว่าเป็นแผนลวง จึงวกกลับบ้านพระยาพิชัยและได้พบนายวิง นายกมลจึงตามล่านายวิงไปจนสุดทางและเกิดการต่อสู้ขึ้น จนกระทั่งตำรวจที่พระยาพิชัยโทรไปแจ้งมาสมทบร่วมจับนายวิงและสมุนได้ทันเวลา นายวิงจึงถูกตำรวจจับเข้าตะราง ส่วนนายกมลมีโชคสองชั้น นอกจากจะจับผู้ร้ายได้แล้วยังได้นางสาววลีมาเป็นภรรยาอีกด้วย

หน้าที่