สามเสือสมุทร (2497)
สามเสือสมุทร (2497/1954) เนื้อเรื่อง หนักไปในเรื่องชาติเหมาะสมกับเหตุการณ์อนาคต ซึ่งไทยประเทศอาจจะต้องประสบก็อาจเปนได้ แสดงให้เห็นถึงความรักชาติไทยของเหล่าลูกนาวี เน้นให้เห็นถึงความรักระหว่างอากับหลานระหว่างชาติไทยอันเปนสุดที่รักของเขา แสดงให้ซึ้งถึงชีวิตของลูกดอกประดู่ซึ่งจะไม่รู้วันโรย การยกพลขึ้นบุก ยุทธวิธีการโจมตี ฯลฯ (ที่มา: นิตยสารข่าวภาพยนตร์ พฤษภาคม พ.ศ. 2497)
ฟ้าคำรณ (2496)
ฟ้าคำรณ (2496/1953) ดู! สงครามชิงรัก ดู! ชาวป่าบุกขึ้นเป็นกษัตริย์ (ที่มา: หนังสือพิมพ์รายวัน สยามรัฐ 10 มีนาคม พ.ศ. 2496)
ทหารเอกพระบัณฑูร (2496)
ทหารเอกพระบัณฑูร (2496/1953) ในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยา เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ พระมหาอุปราช ถูก จมื่นศรีสรลักษณ์ กับ เจ้าสามกรม ใส่ความว่าลอบคบชู้กับ เจ้าฟ้านิ่ม พระสนมเอกของพระราชบิดา จนต้องโทษประหารชีวิต มิหนำซ้ำยังสั่งให้ ขุนจิตร์สุนทร กับขุนฤทธิ์ภักดี ควบคุมตัว องค์หญิง พระขนิษฐาของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ไปคุมขัง แต่ หลวงกลาโหม ราชองครักษ์เอกผู้คุมหมู่ทหารพระบัณฑูรของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์มาขัดขวางและฆ่าขุนฤทธิ์ฯ เสียชีวิต หลวงกลาโหมพาเจ้าหญิงไปประทับที่ตำหนักของเจ้าฟ้าอุทุมพร เสด็จฯอาขององค์หญิง ก่อนจะหนีไปหลบซ่อนตัว หลังจากนั้นไม่นาน สมเด็จพระบรมราชาธิราชเสด็จสวรรคต เจ้าฟ้าอุทุมพรซึ่งตามประเพณีต้องขึ้นครองราชย์ ได้ถวายให้เจ้าฟ้าเอกทัศน์ขึ้นครองราชย์แทนพระองค์ที่ประสงค์จะทรงผนวช แต่สมเด็จพระเอกทัศน์ทรงลุ่มหลงในความมัวเมา ขุนนางที่มักใหญ่ใฝ่สูงจึงคิดคดถึงขนาดเหิมเกริมจะโค่นราชบัลลังก์ ร้อนถึงกรมหมื่นเทพพิพิธและขุนนางที่จงรักภักดีต้องร่วมมือกันวางแผนให้เจ้าฟ้าอุทุมพรกลับมาขึ้นครองราชย์ตามเดิม แต่แผนการรั่วไหลทำให้กรมหมื่นฯ และพรรคพวกรวมทั้งหลวงกลาโหมถูกจับกุม ระยะนั้นเอง ฝ่ายพม่าได้ยกกองทัพเข้ามาล้อมกรุงศรีอยุธยา เหล่านักโทษถูกเกณฑ์ออกมาสู้ศึกกับพม่ารวมทั้งหลวงกลาโหมได้เข้าร่วมในศึกครั้งนี้ด้วย ฝ่ายพม่าตีร่นมาถึงพระนคร หลวงกลาโหมจึงรีบไปช่วยองค์หญิงอย่างไม่ห่วงชีวิต องค์หญิงทรงซาบซึ้งพระทัยที่หลวงกลาโหมช่วยชีวิตพระองค์ไว้ถึงสองครา จึงทรงสละฐานันดรศักดิ์เพื่อครองรักกับหลวงกลาโหม
พรานนาวี (2496)
พรานนาวี (2496/1953) หลังเสร็จสิ้นการรบ นาวิน และเชิดชัย สองนักเรียนนายเรือเพื่อนรัก ก็ขึ้นฝั่ง ณ หาดหัวหินเพื่อพักผ่อนกันตามประสา ทว่าทั้งสองกลับต้องมามีเรื่องกินแหนงแคลงใจกัน เมื่อทั้งนาวินและเชิดชัยเกิดไปตกหลุมรักผู้หญิงคนเดียวกัน เธอคนนั้นคือ วันเพ็ญลูกสาว นายบุญลือ พ่อค้าของเถื่อน แต่แล้วนาวินก็เป็นฝ่ายพิชิตใจของวันเพ็ญไปพร้อมกับการได้รับกระบี่เป็นนายเรือ สวนทางกับเชิดชัยที่ช้ำรักจนสอบตกและต้องสอบใหม่จนได้ยศที่ต่ำกว่านาวิน แต่ก็ใช่ว่านาวินจะสมหวังไปทุกอย่าง เมื่อนายบุญลือหมายจะยกวันเพ็ญให้ เสี่ยเส็ง คู่ค้าของตน ด้วยกลัวว่านาวินจะมารู้เห็นการค้าผิดกฎหมายของตน จึงพาวันเพ็ญหนีมาอยู่หมู่บ้านชายทะเลแห่งหนึ่ง เมื่อนาวินกับเชิดชัยเวียนมาพบกันอีกครั้ง แม้ทั้งสองจะเคยบาดหมางใจกัน ก็ยอมร่วมมือเพื่อช่วยวันเพ็ญให้พ้นจากเงื้อมมือของนายบุญลือและเสี่ยเส็ง จนนาวินต้องถูกเหล่าร้ายจับเป็นตัวประกัน การต่อสู้จึงเกิดขึ้น
พระเจ้ากรุงธนบุรี (2495)
ขุนศึก (2495)
ขุนศึก (2495/1952) เรื่องราวของ เสมา ช่างตีดาบที่อยากเป็นทหารรับใช้ชาติ ในสมัยพระนเรศวรมหาราช เสมามีฝีดาบในการต่อสู้เป็นเลิศ พันอินทราช พบเข้าก็ถูกชะตา และฝากให้เป็นทหารกับ ขุนราม แต่กลับต้องเป็นไม้เบื่อไม้เมากับ หมู่ขัน ทั้งเรื่องงานและเรื่องความรัก ทั้งสองหลงรัก เรไร ลูกสาวของขุนราม แต่เรไรนั้นมีใจเอนเอียงให้เสมา หมู่ขันจึงหาเรื่องใส่ร้ายจนเสมาถูกขุนรามลงโทษหลายครั้งหลายครา แม้ว่าเสมาจะเป็นกำลังสำคัญในการสู้รบกับหงสาวดี แต่ก็ไม่สามารถช่วยให้ขุนรามนั้นเห็นใจเสมาได้เลย ครั้งหนึ่งในการสู้รบกับฝ่ายหงสา เสมาได้ปราบหงสาจนแตกทัพและล่าถอยไป จึงได้ความดีความชอบเป็นหมื่นศึก และตั้งใจกลับมาหาเรไร แต่ก็โดนหมู่ขันกล่าวหาให้ร้ายทั้งคู่ จนขุนรามเกิดความอับอายอย่างมากจึงจับตัวเรไรไปขัง เมื่อเสมาทราบเรื่องก็ตามไปช่วยเรไรออกมาแม้ต้องต่อสู้กับทัพของขุนรามก็ตาม
เจดีย์หัก (2495)
เจดีย์หัก (2495/1952) สมัยกษัตริย์อุทุมพรแห่งอยุธยา พม่าเริ่มนำกำลังรุกรานประเทศ จนในที่สุดก็มาถึงบ้านแป้งและหัวคู พระยาโกษาธิบดี ขุนคลัง กับ เจ้าหญิงสุชาวดี ได้รับคำสั่งให้ตามหา หลวงตาธรรมคง เพื่อหารือเรื่องการซ่อนสมบัติไว้ใต้เจดีย์สี่ทิศ วัดทุ่ง ซึ่งเป็นเจดีย์ประจำหมู่บ้าน หลวงตาธรรมคงเคยมีศิษย์เอกสองคน คือ เพลิง กับ กลอง กลองริษยาเพลิงที่ได้ สไบ เป็นเมีย จึงร่วมมือกับ กำนันเทิ้ม พ่อของตนหาเรื่องใส่ร้ายเพลิง เป็นเหตุให้เพลิงต้องหลบไปกบดานในป่า พระยาโกษาฯ ที่กำลังออกตามหาหลวงตาธรรมคง ถูกพวกพม่าดักปล้นแย่งชิงสมบัติ เคราะห์ดีที่เพลิงผ่านมาช่วยเหลือไว้ เมื่อรู้จุดประสงค์ของพระยาโกษาฯเพลิงก็อาสานำทางไป ระหว่างที่พระยาโกษาฯ หารือกับหลวงตาธรรมคงจู่ๆ ทหารยามก็มาแจ้งว่าเจ้าหญิงสุชาดาถูกลักพาตัวไปทุกคนจึงรีบเดินทางไปช่วย ในขณะที่เพลิงกำลังประดาบกับศัตรูคนหนึ่ง เจ้าหญิงตะโกนให้เพลิงหยุด เพราะจำได้ว่าเขาผู้นั้นคือ หลวงแสนยาณรงค์ ลูกชายของพระยาโกษา ก่อนจะได้รู้ในเวลาต่อมาว่าเป็นไส้ศึกให้ฝ่ายพม่า และแล้วพม่าก็เริ่มย่างกรายเข้ามาใกล้หมู่บ้านเพลิงให้ เตี้ย สมุนเอก ไปแจ้งข่าวให้ชาวบ้านเตรียมตัวบุกค่ายพม่าในเวลาฟ้าสาง ส่วนตนเองจะลอบเข้าไปในค่ายพม่าก่อนเพื่อช่วยหลวงตาธรรมคง พระยาโกษาฯ และสไบที่ถูกจับตัวไป โดยไม่รู้ว่าทั้งสามถูกทรมานจนเสียชีวิตไปแล้ว เมื่อเข้าไปในค่ายพม่าเพลิงจึงตกเป็นเชลยทันที คืนนั้น ขุนพยัคฆ์ภูมิ ทหารเอกแห่งกรุงศรีอยุธยาเข้ามาช่วยเพลิง เมื่อฟ้าสาง เตี้ยนำทัพชาวบ้านโจมตีค่ายพม่าจนแตกร่นไปถึงเจดีย์สี่ทิศ วัดทุ่ง เป็นเวลาเดียวกับที่ อุยตอง กับ มะมังจะ สองหัวหน้าทหารของพม่า กำลังลงไปในอุโมงค์ใต้ดินเพื่อขโมยสมบัติ ทันใดนั้น ก็เกิดแผ่นดินไหว ทำให้เจดีย์หักลงมาทับร่างอุยตองกับมะมังจะจนเสียชีวิต ความสงบสุขจึงกลับมาสู่บ้านแป้งและหัวคูอีกครั้งหนึ่ง
เมื่อนเรศวรกู้ชาติ (2494)
เมื่อนเรศวรกู้ชาติ (2494/1951) เกร็ดพงศาวดารไทย ตอนอพยพครัวไทยและมอญสวามิภักดิ์จากหงษาวดี สู่เมืองแครง (ที่มา: หนังสือพิมพ์รายวัน พิมพ์ไทย 1 มกราคม พ.ศ. 2495)
ลุ่มน้ำเจ้าพระยา (2494)
ลุ่มน้ำเจ้าพระยา (2494/1951) พ.ศ. 2484 เพราะพิษสงครามโลกในยุโรปทำให้ประเทศไทยประสบปัญหาข้าวยากหมากแพง แจ่ม ชาวเมืองกำแพงเพชร พา เดือน ลูกสาวกับนวล เพื่อนสนิท เดินทางมาแสวงโชคที่กรุงเทพ แจ่มเสียชีวิตระหว่างการเดินทางจากระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตรเรวัติ กับ ประพาส นายช่างทางหลวงได้ช่วยเหลือเดือนกับนวลไว้ และเกิดเป็นความรักต่อกัน นวลชวนเดือนไปพักบ้าน น้าทิพย์ ญาติสนิทแต่น้าทิพย์เป็นคนเห็นแก่ได้ เดือนจึงต้องยอมสละยารักษาโรคที่พ่อให้มาขายที่กรุงเทพให้น้าทิพย์แลกกับที่พักแล้วจึงไปสมัครงานที่บริษัทน้ำมันพาณิชของ สุขุมตามคำแนะนำของเรวัติ แต่แล้ววันหนึ่ง เดือนได้อ่านหนังสือพิมพ์ซึ่งลงข่าวการเสียชีวิตของเรวัติ สร้างความกระทบกระเทือนใจแก่เดือนจนล้มป่วย ส่วนนวลต้องดิ้นรนหาเงินมารักษาเดือนแม้จะต้องขายตัวก็ตาม เมื่อเดือนหายเป็นปรกติจึงกลับไปทำงานกับสุขุม แต่ถูกสุขุมมอมเหล้าและขืนใจ เดือนหันไปหาเงินทางลัดด้วยการประกอบอาชีพโสเภณีเช่นเดียวกับนวล อยู่มาวันหนึ่ง เรวัติก็มาปรากฏตัวเพื่อขอเดือนแต่งงานตามสัญญา เดือนหนีจากงานแต่งงานกลางคันเพราะคิดว่าตัวเองไม่คู่ควรกับเรวัติ และเปลี่ยนชื่อเป็นประภา สมัครเป็นอาสากาชาดประจำโรงพยาบาลสนาม ที่นั่นเดือนได้พบเรวัติอีกครั้ง เพราะเรวัติโดนสะเก็ดระเบิดจนตาบอด เดือนปรนนิบัติเรวัติในนามของประภาเมื่อถึงวันที่หมอเตรียมเปิดตาเรวัติ เดือนก็หนีไปจากเขาอีกครั้ง
ตะรุเตา (2493)
ตะรุเตา (2493/1950) พร กับ ทัน สองหนุ่มลูกประมงชาวตะรุเตาเป็นเพื่อนรักกัน ทั้งสองหลงรัก บุหงา สาวชาวเกาะ จึงแข่งกันงมไข่มุก โดยมีเงื่อนไขว่าใครชนะจะได้บุหงาไปครอง พรเป็นฝ่ายลงไปงมก่อนและหยิบได้หอยมุกตัวเขื่อง แต่ระหว่างที่จะขึ้นสู่ผิวน้ำ เท้าของพรถูกหอยยักษ์งับ กว่าทันกับบุหงาจะรู้ก็เกือบสายเกินไป ทันเห็นท่าทีที่บุหงาแสดงความเป็นห่วงพร ก็พอจะรู้จิตใจของบุหงา จึงเป็นฝ่ายเสียสละตัดใจจากบุหงาและหนีไปจากเกาะตะรุเตา สงครามโลกครั้งที่ 2 ปะทุขึ้น เข้าสู่ภาวะข้าวยากหมากแพง พรกับบุหงาประทังชีวิตด้วยการนำน้ำจืดไปแลกข้าวสารที่เรือลำหนึ่ง แต่ปรากฏว่าทั้งสองขึ้นเรือผิดกลายเป็นเรือของประสิทธิ์ซึ่งซื้อข้าวสารจากภูเก็ตไปขายปีนัง พรถูกพวกของประสิทธิ์ทำร้ายจนสลบ ส่วนบุหงาถูกฉุดไปเป็นนางนกต่อ จนกระทั่งเรือมาถึงภูเก็ต บุหงาได้พบทันอีกครั้ง ซึ่งบัดนี้ทันได้กลายเป็นตำรวจ บุหงาจึงอาสาส่งข่าวความเคลื่อนไหวของประสิทธิ์ ส่วนพรไปรวมกับ สลัดเชี่ยว ปล้นเรือของประสิทธิ์ พรขอร้องเชี่ยวให้นำข้าวที่ขโมยมาได้ไปแจกจ่ายแก่ชาวเกาะตะรุเตา แต่เชี่ยวไม่ยอม พรจึงแทงเชี่ยวตายเพื่อเอาข้าวไปแจกชาวเกาะตะรุเตา ทันพยายามเกลี้ยกล่อมให้พรมอบตัวโดยสัญญาว่าจะช่วยพรให้พ้นผิดแต่บุหงาไม่เชื่อ ยอมสละชีวิตเพื่อให้พรได้หนีไป
วังหลวง-วังหลัง (2493)
วังหลวงวังหลัง (2493/1950) พระราชาเมืองภูตคามนครปลอมพระองค์เป็นสามัญชนไปล่าสัตว์ บังเอิญได้พบกับวันทนีย์ ลูกสาวของพรานชาวเขาสัตบันคีรี ซึ่งไม่ประสีประสาต่อชีวิต วันทนีย์จึงเข้าไปสนิทสนมด้วย แต่บิดาเข้าใจผิดคิดว่าลูกสาวทำผิดประเพณี จึงนำตัววันทนีย์เร่ตระเวนขาย บังเอิญเจ้าฟ้าอนุราชวังหลังผ่านมาพบเข้าเห็นเป็นเรื่องขบขันจึงซื้อเธอไว้ แต่พระราชาเข้ามาขัดขวางและมอบอิสรภาพแก่วันทนีย์ พร้อมมอบพระธำมรงค์วงโปรดแก่วันทนีย์และรับมาเป็นนางสนมในวัง ต่อมา เจ้าฟ้าอนุราชวังหลังกับราชินีคิดกบฏ วางแผนปลงพระชนม์พระราชา วันทนีย์ได้รู้แผนการโดยบังเอิญ จึงไปรวบรวมหญิงสาวชาวเขามาช่วยกันต่อสู้ปกป้องราชบัลลังก์ พระราชาจึงแต่งตั้งให้วันทนีย์เป็นเอกอัครมเหสีนับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา
พระเจ้าช้างเผือก (2484/1941) เรื่องเริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2083 ในอโยธยา อันเป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักรไทย อโยธยาเป็นคำในภาษาบาลีโบราณ แปลว่าปราศจากสงคราม หรือ สันติภาพ นั่นเอง ยุวกษัตริย์พระนามว่า "จักรา" ทรงขึ้นครองราชบัลลังก์สืบเนื่องจากการเสด็จสวรรคตอย่างกระทันหันของพระราชบิดา พระเจ้าจักราถูกเลี้ยงดูมาโดยภิกษุรูปหนึ่ง จึงไม่ทรงโปรดความโอ่อ่าในราชนำนัก ในการเถลิงถวัลย์ราชสมบัตินี้ทรงมีพระบัญชาให้งดเว้นการเฉลิมฉลองทั้งปวง ในวันฉัตรมงคล ปีที่สามหลังจากขึ้นครองราชย์ สมุหราชมณเฑียรได้เตือนพระเจ้าจักราให้ปฏิบัติตามโบราณราชประเพณีที่กษัตริย์ต้องมีมเหสี 365 องค์ ตามจำนวนวันในหนึ่งปี สมุหราชมณเฑียรได้จัดให้กุลธิดา หญิงงามผู้เป็นบุตรีของขุนนางชั้นสูงมาฟ้อนรำถวายพระพร โดยหนึ่งในหญิงสาวเหล่านี้ก็มี เรณู บุตรีของสมุหราชมณเฑียรรวมอยู่ด้วย แต่ในขณะนั้นเองมีสาส์นจากต่างประเทศมา พระเจ้าจักราทรงมีพระทัยจดจ่อกับสาส์นนั้นอ่านถึงสองรอบตกอยู่ในภวังค์จนบรรดาสาวงามต่างถวายพระพรลากลับไปหมดแล้วพระเจ้าจักราก็ไม่ทรงรู้พระองค์ พระเจ้าจักราทรงมีพระราชวินิจฉัยว่าคงไม่อาจปฏิบัติตามโบราณราชประเพณีได้ในกาลดังกล่าว เพราะมีเหตุการคับขันขึ้น กล่าวคือ กษัตริย์โมกุลได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับกษัตริย์หงสา และกษัตริย์หงสาก็กำลังเตรียมไพร่พลสำหรับการสงครามอยู่ พระเจ้าจักราจึงจัดให้มีการคล้องช้างเพื่อเป็นกำลังให้อโยธยา ทั้งนี้สมุหราชมณเฑียรไม่เห็นด้วยเพราะคิดว่าถ้าทรงมีพระมเหสีเสียก่อน 365 องค์ แล้วพาพระมเหสีไปคล้องช้างด้วยจะได้ช้างมามากกว่าไปพระองค์เดียวเป็นสิบเท่า แต่พระเจ้าจักราปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าวเพราะเสนาบดีส่วนใหญ่ล้วนเห็นชอบให้จับช้างก่อน ได้มีพ่อค้าชาวโปรตุเกสมาเฝ้าทูลอองพระบาท จึงมีพระกระแสสอบถามถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ในโลก รวมถึงจำนวนพระมเหสีที่กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ในแต่ในดินแดนทรงมี กัปตันทูลตอบว่ากษัตริย์ตะวันตกมีได้พระองค์เดียวเพราะศาสนากำหนดไว้ เว้นแต่สุลต่านแห่งรัฐอิสลามที่มีมเหสีได้สี่องค์ ส่วนเรื่องดินแดนต่างๆ นั้นกัปตันทูลเกี่ยวกับการยึดครองดินแดนที่ค้นพบใหม่ทางตะวันตก (ทวีปอเมริกา) พระเจ้าจักราทรงสนพระทัยและตรัสถามต่อไปว่าดินแดนเหล่านี้ย่อมมีผู้ปกครองเป็นเจ้าของอยู่แล้ว ไปยึดแย่งเขามาได้อย่างไร กัปตันตอบว่าเพื่อนำพวกชนพื้นเมืองสู่อารยธรรมและเผยแผ่คริสต์ศาสนา และด้วยเหตุนี้เองทำให้ประชาชน (ของโปรตุเกสและชาติมหาอำนาจตะวันตก) ต้องทำสงครามกับอาหรับและทำสงครามอื่นๆ นับครั้งไม่ถ้วน พระเจ้าจักราทรงมีพระราชจริยาวัตรตื่นแต่เช้าตรู่ และเสด็จไปในอุทยานแห่งวิหารเทพีธรรมเพื่อทรงรับอากาศบริสุทธิ์ วันหนึ่งพระองค์ทรงไม่พอพระทัยอย่างยิ่งเมื่อเด็กๆ ที่รอเรียนหนังสือในวัดนั้นเล่นส่งเสียงดังน่ารำคาญ พระเจ้าจักราเกือบจะทรงตักเตือนเด็กเหล่านี้ด้วยพระองค์เอง แต่ก็มีสตรีนางหนึ่งเข้ามาตักเตือนเสียก่อน พระเจ้าจักราจึงแฝงพระองค์แอบฟัง สตรีนางนั้นได้ยกชาดกเรื่องเต่าช่างพูดมาตักเตือน เป็นที่พอพระทัยของพระเจ้าจักราเป็นอันมาก และทรงระลึกได้ว่าสตรีนางนั้นก็คือ เรณู บุตรีของสมุหราชมณเฑียร การคล้องช้างสำเร็จลุล่วงด้วยดี ได้ช้างเผือกมาด้วยเชือกหนึ่ง ซึ่งเป็นมหามงคลยิ่งในรัชสมัยของพระเจ้าจักรา จึงจัดให้ทำธงแดงมีช้างเผือกอยู่บนธงใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งพระราชอาณาจักรสืบไป ข่าวลุไปถึงพระกรรณพระเจ้าหงสา พระเจ้าหงสาจึงได้ฉีก "สนธิสัญญาว่าด้วยการยุติความขัดแย้งโดยมีผู้ไกล่เกลี่ยอย่างสันติระหว่างหงสากับอโยธยา" ทิ้ง และเรียกร้องอโยธยาให้มอบช้างเผือกให้ แต่อโยธยาไม่ยอม จึงใช้เป็นข้ออ้างในการทำสงคราม กองทัพหงสาบุกตีเมืองกานบุรีแตกโดยไม่ประกาศสงครามอย่างเป็นทางการตามธรรมเนียมระหว่างประเทศ ทัพหงสาจับแต่ผู้หญิงไว้เป็นเชลย ฆ่าชาวเมืองที่เหลือและเผาเมืองจนสิ้น กองทัพหงสากำลังมุ่งหน้าสู่อโยธยา เมื่อพระเจ้าจักราทรงทราบข่าวก็ทรงจัดตั้งทัพไปต่อต้าน โดยให้สมุหราชมณเฑียรรักษาพระนครไว้ เมื่อทั้งสองฝ่ายต่อสู้กัน หงสากำลังเพลี่ยงพล้ำ พระเจ้าจักราจึงบอกให้ทหารอโยธยาอย่าทำร้ายทหารศัตรูอีก ให้เพียงจับเป็นเชลยถ้าทำได้ ส่วนพระองค์จะกระทำยุทธหัตถีกับกษัตริย์หงสา ทรงย้ำว่า "เราไม่ได้มาเพื่อสู้กับชาวหงสา เรามาสู้กับประมุขของพวกเขาเท่านั้น" ผลการยุทธหัตถีปรากฏว่าพระเจ้าหงสาทรงเป็นผู้พ่ายแพ้ ตกจากหลังช้างทรง สิ้นพระชนม์ ณ ที่รบ เมื่อสิ้นพระเจ้าหงสาผู้เป็นเหตุแห่งสงครามแล้ว พระเจ้าจักราจึงประกาศสงบศึก ปล่อยตัวเชลยให้กลับไป และขอให้สันติสุขจงมีแก่ทุกฝ่าย กลับมาที่อโยธยา สมุหราชมณเฑียรดึงดันจะให้พระเจ้าจักราปฏิบัติตามโบราณราชประเพณีอีก โดยจะให้มีพระเจ้าจักราเลือกมเหสี 365 องค์ และเลือกอีก 1 องค์เป็นพระราชินีกิตติมศักดิ์ มิให้ด้อยไปกว่ากรุงหงสา พระเจ้าจักราจึงเลือกเรณูอย่างเสียมิได้ ตั้งเป็นพระราชินีกิตติมศักดิ์ ไม่มีเบี้ยหวัดและพระตำหนัก แล้วส่วนมเหสีอีก 365 ทรงตรัสว่าจะเลือกภายหลังแล้วเสด็จพระราชดำเนินจากไป เรณูจึงรีบเข้าไปกราบทูลว่าการเลี้ยงดูมเหสีอีก 365 องค์นั้นไม่จำเป็น ควรนำพระราชทรัพย์นี้ไปบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่ราษฎรดีกว่า พระเจ้าจักราทรงพอพระทัยเป็นอย่างมาก จึงให้เรณูเป็นพระราชินี "ตัวจริง" แทนที่จะเป็นพระราชินี "กิตติมศักดิ์" เรณูกระซิบบอกวิธีที่ไม่ต้องมีมเหสีมากมายแก่พระเจ้าจักรา พระเจ้าจักราจึงทรงมีพระบรมราชโองการมอบพระราชอำนาจการมีมเหสี 365 องค์แก่สมุหราชมณเฑียรแทน แล้วทรงกำชับว่า "เราต้องไม่แพ้พระเจ้าหงสานะ"
รวมไทย (2484)
รวมไทย (2484/1941) บันทึกเหตุการณ์กรณีพิพาทไทย-อินโดจีนของฝรั่งเศส เกียรติประวัติของ ร.พัน 3 หลังจากที่ฝรั่งเศสตอบปฏิเสธรัฐบาลไทยกรณีเรียกร้องดินแดนคืนฝ่ายไทยจึงเริ่มมีการลำเรียงทหารและจัดตั้งองค์การอาสากาชาดเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขพลเมืองไทยตามแนวรบชายฝั่งแม่น้ำโขง แล้วจึงมีการสู่รบทางอากาศที่เมืองนครพนม เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2483 เป็นชนวนให้เกิดการรบใหญ่ในเวลาต่อมาที่สมรภูมิบ้านพร้าวซึ่งกองทัพบูรพายึดธงชัยเฉลิมพลของข้าศึกได้ กองหน้าฝ่ายไทยได้ยึดดินแดนไปจนถึงบริเวณก่อนประตูศรีโสภณประมาณ 6 กม. ก่อนจะมีการพักรบในวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2483 แล้วจึงมีการจัดการเดินสวนสนามฉลองชัย ที่กรุงเทพ ระหว่างพักรบ นายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมทหารในแนวรบ กองทัพบูรพาและประดับเหรียญชัยสมรภูมิแก่แม่ทัพ นายกอง และนายทหาร หลังจากนั้นเหล่าทหารที่ร่วมรบได้เดินทางกลับกรุงเทพ ท่ามกลางการต้อนรับของมหาชน และสวนสนามฉลองชัยรวมทั้งแสดงอาวุธอันทันสมัยที่ใช้ในการรบคราวนี้ ในวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2484
ค่ายบางระจัน (2482)

ค่ายบางระจัน (2482/1939) พ.ศ. 2308 พม่ายกทัพเข้ามารุกรานไทยหลายหมู่บ้าน พล และ แสน สองหนุ่มบ้านวิเศษไชยชาญจึงขี่ม้ามาส่งข่าวกำนันบ้านศรีบัวทอง ถึงแผนการของ ทิดดอก บ้านกลับ และ ทองแก้ว บ้านโพธิ์ทะเล ซึ่งเข้าไปคลุกคลีกับพวกพม่าเพื่อจะปล้นทรัพย์ แผนการสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี หากแต่กำนันบ้านศรีบัวทองเสียชีวิตในเหตุการณ์ สร้างความเศร้าสลดต่อชาวบ้านยิ่งนัก เมื่อขาดผู้นำ แท่น ซึ่งมีฝีมือในการรบดี จึงเสนอให้เดินทางไปสมทบที่ค่ายบางระจัน ชาวบ้านศรีบัวทองจึงแต่งตั้งแท่นเป็นแม่ทัพ ขณะนั้น เนเมียวสีหบดี แม่ทัพฝีมือเก่งกล้าฝ่ายพม่า มาตีค่ายบางระจันหลายต่อหลายครั้งก็ไม่สามารถเอาชนะได้ จึงเริ่มร้อนใจกลัวชาวบ้านค่ายบางระจันจะรวมกำลังคนได้มากขึ้น สุกี้ นายกองของพม่า ซึ่งเคยอาศัยอยู่เมืองไทยมานานอาสาเป็นผู้คุมทัพมาตีค่ายบางระจัน แท่นยังบาดเจ็บสาหัสจากการรบครั้งก่อน นายจัน หนวดเขี้ยว ขุนสรรค์ พันเรือง และคนอื่นๆ หารือตกลงกันว่าจะให้พลขี่ม้าไปขอปืนใหญ่จากกรุงศรีอยุธยาแต่ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ไม่เห็นด้วย มีเพียงพระยารัตนาฯ ที่เห็นใจชาวบ้านบางระจัน จึงตามพลมาช่วยสอนวิธีการหล่อปืนใหญ่แต่ไม่สำเร็จ สุกี้ยกทัพโจมตีค่ายบางระจันและสามารถทำลายประตูค่ายได้ ชาวบ้านทั้งชายและหญิงพร้อมใจกันเข้าต่อสู้ แต่หมดกำลังจะต้านทานจึงพ่ายแพ้พม่าไปในที่สุด

เลือดสุพรรณ 2479
เลือดสุพรรณ (2479/1936) ในสมัยอยุธยา พม่ายกทัพเข้ามารุกรานไทย จนถึงจังหวัดสุพรรณบุรี โดยการนำทัพของมังระโธ กับ มังราย ชาวสุพรรณบุรีตกเป็นเชลยของพม่า รวมทั้งครอบครัวของดวงจันทร์ ผู้ชายถูกเกณฑ์ไปใช้แรงงาน ดวง พ่อของดวงจันทร์ และ มิ่ง เพื่อนบ้าน เริ่มทำงานไม่ไหวจึงคิดหนี แต่ถูกจับได้ มังรายเดินผ่านมาจึงช่วยทั้งสองไม่ให้ถูกทำโทษเป็นชนวนให้มังระโธกับมังรายไม่ลงรอยกัน จนกระทั่งวันหนึ่งมังระโธทนไม่ไหวที่ถูกมังรายขัดขวางหลายต่อหลายครั้ง จึงปราดเข้าไปใช้ดาบฟันมังราย แต่กลับเป็นฝ่ายถูกฟัน กลายเป็นความเคียดแค้นแก่มังระโธ มังรายสารภาพรักกับดวงจันทร์ เธอจึงขอร้องให้เขาปล่อยชาวบ้าน มังรายตอบตกลง มังระโธได้ทีนำความไปบอกแม่ทัพมังมหาสุรนาท แต่มังรายเดินทางมาขอรับโทษเอง นายทหารคนอื่นๆ ที่อยู่ในเหตุการณ์พยายามช่วยเหลือมังราย เล่าต้นสายปลายเหตุว่าเป็นเพราะมังระโธบีบคอผู้หญิงเพื่อชิงทรัพย์ และแย่งน้ำที่คนจะดื่มเอามาล้างเท้า แต่กระนั้นก็ตาม มังมหาสุรนาทก็ยังสั่งประหารมังราย แม้มังรายจะเป็นลูกในไส้ของตนก็ตาม แล้วสั่งให้ประหารมังระโธข้อหากระทำทารุณต่อชาวบ้าน ขณะนั้นเอง ดวงจันทร์มาขอพบมังมหสุรนาทและร้องขอชีวิตมังรายโดยจะยอมรับโทษแทน แต่ทหารกำลังนำตัวมังรายไปป่าเพื่อจะประหาร ดวงจันทร์รุดหน้าเข้าไปในป่าหวังจะไปขัดขวางการประหารชีวิต กลับพบศพพ่อและแม่ถูกทหารพม่าฆ่าทิ้งเพราะโกรธแค้นที่ดวงจันทร์เป็นต้นเหตุให้มังรายต้องโดนประหารชีวิต ดวงจันทร์พยายามพูดโน้มน้าวปลุกใจชาวสุพรรณให้ลุกขึ้นมาจับดาบขึ้นสู้ และบุกค่ายพม่ายามดึก แม่ทัพพม่าพยายามเกลี้ยกล่อมให้ดวงจันทร์กลับไปและจะยอมไว้ชีวิตแต่ดวงจันทร์ยืนกรานที่จะสละชีพเพื่อชาติ จึงเสียชีวิตพร้อมชาวสุพรรณบุรี
เลือดทหารไทย 2478

เลือดทหารไทย (2478/1935) นาวาตรี หลวงสหะนาวิน ผู้บังคับหมวดหน่วยรบประจำเรือรบหลวงสุโขทัย นำทัพประลองยุทธใหญ่ทางทะเลจึงได้รับคำสั่งเลื่อนยศพร้อมกับคนอื่นๆ คืนวันรุ่งขึ้น ได้มีงานเลี้ยงบนเรือรบหลวงสุโขทัย หลวงสหะนาวินได้พบ พาณี นรกุล น้องสาวของ เรือเอกปรีชา นรกุล ก็รู้สึกหลงรัก เช่นเดียวกับ พันตรีหลวงกฤษณะสงคราม เพื่อนสนิท หลวงสหะนาวินจึงหลีกทางให้ จนกระทั่งประเทศไทยเข้าสู่ภาวะสงครามรัฐบาลได้อนุมัติให้กระทรวงกลาโหมดำเนินการตามยุทธศาสตร์ตามแผนป้องกันพระราชอาณาจักร ที่ พลโทพระยานรกุล ร่างขึ้น แต่ขณะนั้นเองมีกลุ่มคนคิดขายชาตินำโดย วิญญู เป็นหัวหน้า ต้องการขโมยร่างแผนป้องกันพระราชอาณาจักร จึงให้อุดมกับเฉลิมลอบไปขโมยในงานวันเกิดพระยานรกุลที่จะจัดขึ้นในอีกไม่กี่วันต่อมา เมื่อถึงวันงาน อุดมลอบเข้าไปขโมยร่างแผนป้องกันพระราชอาณาจักรในบ้านพระยานรกุลสำเร็จ แต่ขณะที่กำลังปีนลงมาจากตึก หลวงกฤษณะมาเห็นเข้าจึงยิงอุดมเสียชีวิต เฉลิมซึ่งคอยดูต้นทางอยู่รีบวิ่งไปฉวยแผนป้องกันพระราชอาณาจักรและหลบหนีไปได้ หลวงกฤษณะถูกเรียกเข้าประจำกรมด่วน เนื่องจากรัฐบาลประกาศสงครามแล้ว นายเรือเอกปรีชาจึงเสียสละออกรับแทนว่าตนเป็นผู้ยิงอุดมเสียชีวิต หลวงกฤษณะจึงได้ไปปฏิบัติหน้าที่รับใช้ชาติ หลังจากนั้นตำรวจก็ได้รับแจ้งว่าร่างแผนป้องกันพระราชอาณาจักรหายไป เมื่อสอบปากคำ นงลักษณ์ ซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุ ตำรวจจึงรีบไปดักรอผู้ต้องสงสัยที่สถานเบียร์ฮอลล์ "โอดี" และจับวิญญูและเฉลิมพร้อมของกลางได้ นายเรือเอกปรีชาจึงได้รับการปล่อยตัวไปเป็นผู้บังคับหมู่เรือยามฝั่ง กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศไทยเคลื่อนทัพสู่สนามรบ และได้ชัยชนะกลับมา