แผลเก่า (2483)
แผลเก่า (2483/1940) เป็นเรื่องเก่าของชาวบางกะปิ ที่บรรยายความรักของหนุ่มลูกบ้านนั้น ซึ่งมีความรักที่คุระอุอยู่ในอกเหลืออดกลั้น มันว่า... "ยิ่งมืดก็จะยิ่งฝ่า ยิ่งหนาก็จะยิ่งบุก... เรียมเอ๋ย พี่จะตายให้อ้ายหนุ่มลูกบ้านนี้ มันรู้ทั่วกันว่า อ้ายขวัญ มันรักของมันยังไง.." ว่าด้วยเรื่องราวความรักที่ไม่ราบรื่นนักของหนุ่มสาวชาวบางกะปิ ขวัญกับเรียม เพราะญาติฝ่ายหญิงไม่เห็นด้วยจึงพยายามกีดกันทุกประการ ถึงกับจับเรียมล่ามโซ่เอาไว้แต่ขวัญก็แอบมาหาจนได้ ในที่สุดญาติฝ่ายหญิงเลยขายเรียมให้กับคนชาวกรุง ภายในระยะหนึ่งปีที่ผ่านไป เรียมเปลี่ยนสภาพจากสาวบ้านนอกเป็นสาวชาวกรุงอย่างทันสมัย ถึงกับมีหนุ่มๆมาติดพันอยู่หลายคน ต่อมาเรียมได้ข่าวว่าแม่ป่วยหนักเลยกลับไปยังบ้านเดิมเพื่อพยาบาลแม่ เป็นโอกาสให้ขวัญได้พบปะกับเรียมอีกครั้ง ความรักซึ่งมีอยู่แต่เดิมก็คุระอุยิ่งขึ้น เมื่อแม่ของเรียมถึงแก่กรรมลง ขวัญได้บุกเข้ามาทำการเคารพศพโดยไม่เกรงต่อญาติฝ่ายหญิงจึงถูกลอบทำร้าย ขวัญได้สังหารเสียหลายคนแต่ขวัญถูกยิงจึงตะเกียกตะกายไปที่ศาลเจ้าต้นไทร ณ ที่ที่เคยสาบานรักกัน เรียมวิ่งตามมาถึงพลางกระโดดลงน้ำว่ายเข้าไปหา เมื่อขวัญเห็นว่าชีวิตความรักของเขาและเธอหมดหวังเพียงแต่นี้เอง ขวัญเลยเอามีดจ้วงแทงเรียมจนจมหายตายไปด้วยกัน
สามเกลอผจญภัย (2483/1940) ภาพยนตร์ตลกที่จะทำให้ท่านต้อง หัวเราะท้องคัดท้องแข็งยิ่งกว่าตลกของฝรั่ง คือเรื่อง "สามเกลอผจญภัย" ภาพยนตร์ไทยตลกชั้นพิเศษ ประกอบการตื่นเต้นหวาดเสียว เพียบพร้อมไปด้วยการชกต่อย ภูติผีปีศาจ และเพลงไพเราะ ท่านที่ชอบภาพยนตร์ตลกของฝรั่ง โปรดมาตัดสินภาพยนตร์ตลกของไทยเราบ้าง (ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพฯ วารศัพท์ กรกฎาคม พ.ศ. 2483)
ไม่เคยรัก (2483)
ไม่เคยรัก (2483/1940) โรจน์ สืบทอดกิจการร้านนิยมไทยจำหน่ายสินค้าไทยต่อจากบิดา เขาคร่ำเคร่งกับการทำงานจนไม่สนใจเรื่องอื่นรวมทั้งเรื่องความรัก จนกระทั่งเช้าวันหนึ่ง ขณะที่โรจน์ขับรถไปทำงาน บังเอิญขับรถชนรถสามล้อ ซึ่งมีสาวงามชื่อ วนิดา โดยสารอยู่ โรจน์หลงรักวนิดาตั้งแต่แรกเห็นและตามไปส่งที่บ้าน จึงได้รู้ว่าวนิดาเป็นหลานสาวของ พระพฤกษาพิทักษ์ ซึ่งหลงใหลในกล้วยไม้ ขากลับโรจน์พบ สนิท ซึ่งมาติดพันวนิดา และเป็นผู้ที่ มาลี แม่ของวนิดาหมายมั่นจะให้แต่งงานกับลูกสาว สนิทมีนิสัยเจ้าชู้ ทำให้วนิดาใจโอนเอียงไปทางโรจน์ แต่แล้ววันหนึ่ง โรจน์ขึ้นไปรับ ผ่องพรรณ น้องสาวซึ่งป่วยหนักมารักษาที่กรุงเทพ กาจ นักหนังสือพิมพ์ซึ่งมีความแค้นโรจน์ในเรื่องส่วนตัว บังเอิญเห็นจึงนำไปเขียนข่าวกล่าวหาว่าโรจน์ล่อลวงสาวบ้านนอกมากรุงเทพ ทำให้วนิดาเข้าใจผิด โรจน์โกรธมากจึงฟ้องร้องหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น ศาลพิจารณาตัดสินให้หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นแก้ข่าว วนิดากับโรจน์จึงเข้าใจกันในที่สุด
Placeholder
ใครผิดใครถูก (2482)
ใครผิดใครถูก (2482/1939) ที่ตำบลตรอกสะพานยาว บางรักเป็นแหล่งอาศัยของ นายมั่ง มั่งกุล และ สิบตำรวจเอกจุ่น เชาว์โปร่ง สองเพื่อนบ้านคู่อริที่มีเรื่องไม่ลงรอยกันนัก กล่าวคือ สิบตำรวจเอกจุ่น เชาว์โปร่ง นิยมการร้องรำทำเพลงเป็นที่น่ารำคาญใจแก่นายมั่ง ซึ่งกำลังกลัดกลุ้มเรื่องหนี้สิน จึงเป็นเหตุให้ทะเลาะวิวาทกันอยู่บ่อยครั้งแต่เหมือนโชคชะตาจะกลั่นแกล้ง ให้ลูกของทั้งสองต้องมารักกัน ขณะที่นายมั่งกำลังครุ่นคิดหาวิธีนำเงินมาจ่ายเถ้าแก่เงี๊ยบ เจ้าหนี้ ก็เผอิญ นายคล่อง หมอความมาขอพบและแจ้งว่านายมั่งได้รับมรดกเป็นเงินสองหมื่นบาทจาก นางสมบูรณ์ โภคาทรัพย์ หรือ นางแม้น มั่งกุล ยายของนายมั่ง เป็นเวลาเดียวกับที่เถ้าแก่เงี๊ยบก็มาทวงหนี้ทั้งต้นและดอกที่บ้านนายมั่ง และเมื่อทราบจากนายคล่องว่านายมั่งเพิ่งเป็นเศรษฐีมรดกก็เกิดความละโมบ ว่าจ้าง นายแหลม ไปปล้นบ้านนายมั่งคืนวันนั้น เจียด ลูกชายสิบตำรวจเอกจุ่นซึ่งรักอยู่กับบุญมี ลูกสาวของนายมั่ง บังเอิญได้ยินเถ้าแก่เงี๊ยบวางแผนปล้นทรัพย์นายมั่ง จึงไปเตือนนายมั่งแต่ถูกไล่ตะเพิดออกมาเสียก่อน เจียดจึงไปขอร้องพ่อให้ช่วยจับกุมนายแหลม สิบตำรวจเอกจุ่นทนนายเจียดรบเร้าไม่ไหวจึงตกปากรับคำ ตกดึก นายแหลมบุกไปบ้านนายมั่งตามกำหนด สิบตำรวจเอกจุ่นและนายเจียดซ่อนตัวอยู่ เมื่อเห็นนายแหลมเข้าบ้านนายมั่งจึงรวบตัวไว้ได้ ขณะนั้นเองนายคล่องวิ่งกระหืดกระหอบมาบอกนายมั่งว่า เรื่องมรดกเป็นการเข้าใจผิด ที่จริงมรดกนี้ตกเป็นของสิบตำรวจเอกจุ่น สิบตำรวจเอกจุ่นซึ่งไม่เคยนึกโกรธเกลียดนายมั่ง จึงแบ่งมรดกให้นายมั่งครึ่งหนึ่ง นายมั่งซาบซึ้งในน้ำใจสำนึกผิดที่เคยโกรธเกลียดสิบตำรวจเอกจุ่น ทั้งสองครอบครัวจึงปรองดองกันนับแต่นั้นเป็นต้นมา
ค่ายบางระจัน (2482)

ค่ายบางระจัน (2482/1939) พ.ศ. 2308 พม่ายกทัพเข้ามารุกรานไทยหลายหมู่บ้าน พล และ แสน สองหนุ่มบ้านวิเศษไชยชาญจึงขี่ม้ามาส่งข่าวกำนันบ้านศรีบัวทอง ถึงแผนการของ ทิดดอก บ้านกลับ และ ทองแก้ว บ้านโพธิ์ทะเล ซึ่งเข้าไปคลุกคลีกับพวกพม่าเพื่อจะปล้นทรัพย์ แผนการสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี หากแต่กำนันบ้านศรีบัวทองเสียชีวิตในเหตุการณ์ สร้างความเศร้าสลดต่อชาวบ้านยิ่งนัก เมื่อขาดผู้นำ แท่น ซึ่งมีฝีมือในการรบดี จึงเสนอให้เดินทางไปสมทบที่ค่ายบางระจัน ชาวบ้านศรีบัวทองจึงแต่งตั้งแท่นเป็นแม่ทัพ ขณะนั้น เนเมียวสีหบดี แม่ทัพฝีมือเก่งกล้าฝ่ายพม่า มาตีค่ายบางระจันหลายต่อหลายครั้งก็ไม่สามารถเอาชนะได้ จึงเริ่มร้อนใจกลัวชาวบ้านค่ายบางระจันจะรวมกำลังคนได้มากขึ้น สุกี้ นายกองของพม่า ซึ่งเคยอาศัยอยู่เมืองไทยมานานอาสาเป็นผู้คุมทัพมาตีค่ายบางระจัน แท่นยังบาดเจ็บสาหัสจากการรบครั้งก่อน นายจัน หนวดเขี้ยว ขุนสรรค์ พันเรือง และคนอื่นๆ หารือตกลงกันว่าจะให้พลขี่ม้าไปขอปืนใหญ่จากกรุงศรีอยุธยาแต่ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ไม่เห็นด้วย มีเพียงพระยารัตนาฯ ที่เห็นใจชาวบ้านบางระจัน จึงตามพลมาช่วยสอนวิธีการหล่อปืนใหญ่แต่ไม่สำเร็จ สุกี้ยกทัพโจมตีค่ายบางระจันและสามารถทำลายประตูค่ายได้ ชาวบ้านทั้งชายและหญิงพร้อมใจกันเข้าต่อสู้ แต่หมดกำลังจะต้านทานจึงพ่ายแพ้พม่าไปในที่สุด

ลูกกำพร้า ภาค 2 (2482)
ลูกกำพร้า ภาค 2 (2482/1939) "ลูกกำพร้า" ของ ป. อินทรปาลิต ภาค 2 สร้างเสร็จแล้ว ฉายพร้อมกับ "นางนาคพระโขนง ตอนใหม่" ที่เฉลิมบุรี ท่านดูภาค ๑ แล้วต้องดูภาค ๒ ให้ได้
สามหัวใจ (2482)
ขุนช้างขุนแผน ภาคพิเศษ ตอน เปรตวันทองห้ามทัพ (2482)
ขุนช้างขุนแผน (2482/1939) ท่านที่สนใจในทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ หาความรู้ประดับประดาจากภาพยนตร์เรื่องนี้ ดูวิธีไสยศาสตร์ การใช้เวทย์มนต์อาถรรย์ของสมัยยุคนั้นอย่างแปลกประหลาดมหัศจรรย์ใจ ดูการรบของสามพ่อลูกที่ต่างคนต่างมีฤทธิมีเดช ใช้ของวิเศษเข้าประหัศประหารกัน ดูความรักของแม่ที่มีต่อลูก ความรักของแม่นั้นย่อมมีอยู่แก่ลูกเพียงไรแม้จนกระทั่งสิ้นชีวิตไปแล้ว ดูความรักของหนุ่มจ้าวมหาเสน่ห์ชั้นบรมครู ซึ่งพอถูกเสน่ห์ของหญิงเข้าบ้าง เล่นเอาลุ่มหลงงงงวยจนไม่รู้สึกผิดชอบ ถึงกับเกิดเรื่องร้ายใหญ่โตขึ้น เชิญมานั่งหัวเราะกันให้ท้องคัดท้องแข็ง ในตอนขบขันของคนที่ไม่ ชอบเล่นกับผี แต่ว่าผีชอบมาเล่นกับคน เชิญนั่งเบียดกัน จนตัวลีบ ดูเปรตวันทองแผลงเดชอย่างน่ากลัว เชิญท่าน ที่ไม่เคยเห็นเปรต ขอให้ท่านมาทำความรู้จักกับเปรตไว้เสีย เชิญมานั่งขำๆ ดูพระไวยเกี้ยวแม่ อย่างจวนๆหวิดๆ จะเข้าด้ายเข้าเข็มนั้นทีเดียว (ที่มา: นิตยสารประมวลภาพยนตร์ กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2482)
สนิมในใจ (2481)
สนิมในใจ (2481/1938) “พรานบูรพ์” ร่วมมือร่วมใจ “ทิดเขียว” สร้างภาพยนตร์ไทย เรื่อง สนิมในใจ พรานบูรพ์แต่งเรื่อง-เพลง ทิดเขียว พากย์ไทย จวงจันทร์ จันทคณา กํากับการแสดง ไม่อยากจะคุยถึงความวิเศษของ “สนิมในใจ” ว่า ดีเพียงไหน ! แต่อยากจะชี้ให้ท่านเห็นว่า “จวงจันทร์” ผู้ทําหน้าที่เป็นผู้กํากับการลือนามครั้ง “อ้ายค่อม มากํากับการเรื่องนี้ และสมรรถภาพของ “ทิดเขียว” ที่ท่านชอบมาแล้ว! ฉายที่ ศาลาเฉลิมกรุง วันที่ ๔-๕-๖ ธันวาคม
อ้ายค่อม (2481)
อ้ายค่อม (2481/1938) ค่อม อาศัยอยู่กับแม่สองคน ตอนเป็นเด็กด้วยความเมาของพ่อ ทำให้บ้านไฟไหม้เสียชีวิตในกองเพลิง คำ ซึ่งเป็นมารดาอุ้มค่อมแล้วโดดลงจากหน้าต่างได้ทัน เป็นสาเหตุทำให้ค่อมกลายเป็นคนพิการหลังค่อม แม่คำก็มาเจ็บออดๆ แอดๆ ค่อมจึงต้องออกหางานทำ วันหนึ่งค่อมเห็นคณะละครศรีเมืองตระเวนมาแสดง และได้รู้จักกับ เย็น ลูกสาวเจ้าของคณะละคร ซึ่งไม่มีทีท่ารังเกียจค่อมและมอบตุ๊กตาให้ ค่อมมุ่งมั่นที่จะหางานทำเพื่อเลี้ยงแม่ จึงไปขอทำงานกับ แนม ที่คณะละครศรีเมือง แนมเห็นความผิดปรกติของร่างกายของค่อมก็เกิดเวทนา จึงให้ค่อมเป็นผู้โปรยใบไม้ประกอบฉาก ในยามว่าง ค่อมมักจะแอบไปเล่นเปียโนเพลงที่แม่กล่อมตอนเป็นเด็ก วันหนึ่ง วิทย์ ผู้กำกับการละครเวทีได้ยินจึงนำไปแต่งเป็นเพลงในละครเรื่องใหม่ ขณะนั้นคณะละครบรรเทองไทยกำลังหาทางโค่นล้มละครศรีเมืองเนื่องจากดังกว่า โดยวางแผนฉุดเย็นซึ่งเป็นนางเอกละคร ค่อมกำลังนั่งรถขนฉาก ผ่านไปเห็นจึงรีบไปช่วยเย็นไว้ได้ เย็นจึงเชิญค่อมมาทานอาหารค่ำที่บ้านเป็นการตอบแทน คืนนั้น ค่อมบรรจงแต่งตัวไปอย่างดี แต่เมื่อก้าวเข้าไปในบ้าน ได้ยินเสียงของวิทย์กับเย็นร้องเพลงคลอกันอย่างมีความสุข จึงนึกเจียมตัวขึ้นมา แล้วกลับไปบ้าน ปรากฏว่าแม่คำอาการทรุดหนัก ค่อมอยู่พยาบาลแม่ทั้งคืนอาการก็ไม่ดีขึ้น จึงไปยังคณะละครเพื่อขอลางาน แต่ไม่ทันที่จะพูดอะไร แนมก็ให้ค่อมรีบไปปฏิบัติหน้าที่ ค่อมพะวงเพราะเป็นห่วงแม่ แล้วให้น้อยใจโชคชะตา จึงเหม่อลอยจนพลัดตกจากนั่งร้าน ก่อนตายค่อมได้ขอร้องเย็นเป็นครั้งสุดท้าย ให้ช่วยขับกล่อมดวงวิญญาณเขาด้วยน้ำเสียงอันไพเราะของเย็น
วันเพ็ญ (2481)
วันเพ็ญ (2481/1938) เรื่องราวชีวิตของ พิศดาร ทนายความหนุ่มโสด ซึ่งจับได้ว่า สุดา หญิงที่จะแต่งงานด้วยในอีก 7 วันข้างหน้าไม่ได้รักเขาจริง พิศดารผิดหวังในความรัก เดินเหม่อลอยมาจนถึงถนนพญาไท จึงได้พบกับเด็กสาวอายุ 14 ปี นั่งร้องไห้อยู่เดียวดาย พิศดารเข้าไปพูดคุยกับเด็กสาวจนได้รู้ว่าเธอชื่อ วันเพ็ญ พ่อของวันเพ็ญฝากเธอไว้กับป้าที่ลพบุรีก่อนไปทำงานที่ประเทศจีน แต่ไม่เคยส่งข่าวกลับมา และสาเหตุที่เธอหนีออกจากบ้านก็เพราะป้ากำลังจะจับเธอแต่งงานกับหนุ่มชาวจีนที่เธอไม่ได้รักวันเพ็ญจึงหนีมาที่กรุงเทพ พิศดารสงสารจึงชวนเธอไปอยู่ด้วย และส่งเสียให้เรียนหนังสือจนโตเป็นสาว ท่ามกลางคำครหาว่าพิศดารเลี้ยงวันเพ็ญเอาไว้เป็นภรรยา อยู่มาวันหนึ่ง พ่อของวันเพ็ญกลับมารับเธอไปอยู่ด้วยกันที่ญี่ปุ่น พิศดารจึงต้องอยู่คนเดียวอย่างเงียบเหงาและทนทุกข์กับโรคนัยน์ตา ผ่านไปปีเศษวันเพ็ญกลับมายังกรุงเทพ จึงรีบตรงไปหาพิศดาร แต่บัดนี้พิศดารไม่สามารถมองเห็นวันเพ็ญได้อีกแล้ว
ตื่นเขย (2481)
ตื่นเขย (2481/1938) อำนวย คล่องเชิงค้า เป็นพนักงานอุตสาหกรรมน้ำตาลไทยมีภรรยาชื่อ ลัดดา วันหนึ่งเขาได้รับมอบหมายให้ไปเจรจาการค้ากับ พระทวีผลกสิกรรม ผู้เป็นเอเย่นต์ขายน้ำตาลที่โคราช แต่ดันไปตกหลุมรัก ลออ ลูกสาวของพระทวีผลฯ ถึงขั้นอยากจะแต่งงาน ระหว่างที่ยังเจรจางานอยู่ที่โคราช เจ้านายได้ส่งโทรเลขให้อำนวยไปเจรจาการค้ากับ พระยาพิชัยพานิชย์ที่อุบล อำนวยก็ไปตกหลุมรัก บุญเกื้อ บุตรีพระยาพิชัยฯ อีก ด้านพระทวีผลฯ กับภรรยายังไม่ค่อยเชื่อถือในตัวอำนวยนัก ด้วยข้อที่ว่าอำนวยนั้นโอ้อวดว่ามีบ้านช่องใหญ่โต จึงพากันมาพิสูจน์ที่กรุงเทพ อำนวยร้อนใจกลัวความแตก จึงไปขอยืมบ้าน สันต์ เกลอเก่าตบตาพระทวีผลฯ ชั่วคราว หารู้ไม่ว่าสันต์เป็นหลานชายของพระทวีผลฯ ขณะเดียวกัน ครอบครัวของพระยาพิชัยฯ ก็กำลังเดินทางมาดูบ้านของว่าที่ลูกเขยด้วยความตื่นเต้นพระยาพิชัยฯ ได้พบกับพระทวีผลฯ ที่บ้านซึ่งอำนวยหลอกว่าเป็นของตน เมื่อได้พูดคุยกันจึงได้รู้ว่าพระทวีผลฯหมายมั่นให้ลออได้แต่งงานกับอำนวย พระยาพิชัยฯจึงเป็นฝ่ายลากลับ จีบ สาวใช้ของสันต์สุดจะทนกับพฤติกรรมเจ้าชู้ของอำนวยจึงไปฟ้องลัดดา ลัดดาจึงแกล้งมาสมัครงานเป็นคนใช้ของพระทวีผลฯ นับวันก็ยิ่งใกล้ถึงวันแต่งงานของลออกับอำนวย ลัดดาเจ็บใจสามีจึงจ้างวาน ปริก ให้มาประกาศความเป็นภรรยากลางงานอำนวยปฏิเสธพัลวัน แต่สุดท้ายก็จำนนด้วยหลักฐาน เมื่อลัดดาประกาศตัวว่าเป็นเมียของอำนวยตัวจริง พระทวีผลฯ จึงอดได้ลูกเขย
จ๊ะเอ๋ (หนังสั้น)
จ๊ะเอ๋ (2481/1938) เรื่องจ๊ะเอ๋เป็นหนังสั้น ที่ฉายก่อนการฉายภาพยนตร์เรื่อง ตื่นเขย ซึ่งสมัยนั้นจะเรียกว่า “หนังประกอบ” (Supporter) และเป็นหนังไทยเรื่องแรก ที่ใช้ สุนัขไทย เข้ามาแสดงด้วย
แม่สื่อสาว (2481)
แม่สื่อสาว (2481/1938) เพราะบริษัทสบู่ตราหอยของ นายวาณิชย์ คล่องการค้า กับ วิไล น้องสาว มีท่าทีจะเจ๊งบรรดาหุ้นส่วนเฮโลกันมาทวงเงิน วาณิชย์กับวิไลจึงใช้ความกะล่อนหาวิธีต้มตุ๋นหุ้นส่วน ให้ยังทำมาค้าขายกับตนแบบขอไปที กระทั่งวาณิชย์นึกขึ้นได้ว่าตนยังมีคนรู้จักที่ชื่อ นายหน่ำ ท่องเที่ยว เศรษฐีบ้านนอกที่เคยบอกว่าอยากให้ตนหาสาวชาวกรุงมาแลกกับเงินจำนวนมากโขวาณิชย์และวิไลจึงรุดหน้าไปหานายหน่ำเพื่อทำการตกลง วิไลทำหน้าที่แม่สื่อสาว เสนอชื่อ คุณนายจำปาภักดีกุล เศรษฐีนีม่ายบ้าผู้ชาย สาวใหญ่ที่วิไลรู้จัก ทว่าทุกอย่างกลับตาลปัตร เพราะนายหน่ำดันมาตกหลุมรักวิไล ส่วนคุณนายจำปาก็ดันมาคลั่งไคล้วาณิชย์ ครั้นทุกอย่างคลี่คลาย บทสรุปจึงกลายเป็นว่านายหน่ำก็ได้ครองรักกับวิไลสมใจ ส่วนคุณนายจำปาก็ยอมอุทิศทั้งเงินและหัวใจให้วาณิชย์ บริษัทสบู่ตราหอยจึงรอดพ้นจากการล่มจม
หวานใจนายเรือ (2481)
หวานใจนายเรือ (2481/1938) ร.ท. เกษม ยุทธนาวิน ร.น. กับ ร.ต.ชลัชชาญนาวี ร.น. ต้องเดินทางไปฝึกยิงปืนป้อม ณ สถานีฝึกสัตหีบชั่วคราว วันหนึ่ง ขณะที่เกษมกับชลัชเดินเล่นที่ชายหาด ได้ยินเสียงร้องเพลงของหญิงสาว จึงเดินตามหาเสียงนั้น บังเอิญเห็นคนร้ายกำลังฉุดคร่าหญิงเจ้าของเสียง ทั้งสองจึงเข้าไปช่วย และโดนแทงบาดเจ็บ ชายชราคนหนึ่งวิ่งเข้ามาช่วย และพาเกษมไปทำแผลที่บ้าน จึงได้ทราบว่าหญิงสาวนั้นชื่อเพลินใจ อาศัยอยู่กับพ่อคือ พร เพียงสองคน พวกที่เข้ามาทำร้ายตนนั้นคือสมุนของ ทองอ่อน ซึ่งต้องการลายแทงขุมทรัพย์โจรสลัดที่พรครอบครอง จึงมักส่งสมุนมากลั่นแกล้งสองพ่อลูกอยู่เสมอ เกษมติดใจในน้ำเสียงของเพลินใจจึงเสนอให้เพลินใจไปเรียนร้องเพลงที่กรุงเทพ เพื่อให้เพลินใจพ้นน้ำมือของทองอ่อน โดยให้อาศัยอยู่ที่บ้าน พระยาพัศดุนาวา-การ ผู้เป็นบิดาของตน พรมีสีหน้าตกใจเมื่อได้ยินชื่อพระยาพัศดุฯ แต่ก็กำชับบุตรสาวให้อยู่ในโอวาทของท่าน ส่วนตัวเกษมเองต้องฝึกงานอยู่ที่สัตหีบต่อ เพลินใจตั้งใจเรียนร้องเพลงเป็นอย่างดีจนได้สมญานามว่า นักร้องเสียงทอง และเป็นที่หมายปองของ ประกอบ บุตรบุญธรรมของพระยาพัศดุฯ ไม่นาน เกษมก็กลับมารับราชการที่กรุงเทพฯ และเริ่มสนิทสนมกับเพลินใจมากขึ้นทำให้ พิศมัย คู่หมั้นของเกษมเกิดความหึงหวง ทองอ่อนสมคบกับ เถ้าแก่เลี่ยงฮง แซ่อึ้ง เจ้าของเรือตังเก ตามหาขุมทรัพย์โจรสลัด พรเริ่มกังวลว่าทองอ่อนจะรู้ที่ซ่อน จึงปรึกษา ทองต่อ น้องภรรยา ให้ไปเยี่ยมเพลินใจที่บ้านพระยาพัศดุฯ แทน และเล่าความหลังว่าหลังจากภรรยาเสียชีวิตได้ฝาก ประกอบ ลูกชายให้พระยาพัศดุฯ เลี้ยงดู และได้แอบซ่อนสมุดข่อยลายแทงขุมทรัพย์ในห้องเครื่องลายครามที่บ้านพระยาพัศดุฯ เมื่อทองต่อเดินทางมาพักที่บ้านพระยาพัศดุฯ ก็พยายามหาโอกาสขโมยสมุดข่อยแต่โดนประกอบจับได้ จึงต้องบอกความจริงว่าประกอบกับเพลินใจมีความเกี่ยวดองกันและรีบลากลับสัตหีบ พิสมัยร้องขอให้ คุณนายแจ่ม มารดา เร่งรัดการแต่งงานของตนกับเกษม พระยาพัศดุฯ จำต้องแบ่งรับแบ่งสู้ยอมตกลง เพลินใจกลับมาจากเรียนร้องเพลงเผอิญได้ยินสองแม่ลูกกล่าวดูถูกเหยียดหยามตนเอง บังเกิดเป็นความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจจึงเก็บข้าวของกลับมาหาบิดาที่สัตหีบ จากนั้น พร เพลินใจ และทองต่อก็เริ่มออกตามหาขุมทรัพย์ จนในที่สุดก็พบหีบสมบัติบรรจุเพชรนิลจินดาและทองคำมากมายทองอ่อนซึ่งสะกดรอยตามมาจึงแย่งชิงสมบัติไป เกษม ชลัช และประกอบนำเจ้าหน้าที่ไล่ตามทองอ่อนจนทัน เกิดการปะทะกันแต่ก็จับกุมทองอ่อนกับพวกได้สำเร็จ