ทาษกบฏ (2493)
ทาสกบฏ (2493/1950) เปนเรื่องของการต่อสู้ดิ้นรนของชนชั้นทาษเพื่อสู่อิสสระภาพ ซึ่งได้บังเกิดขึ้นในยุคหนึ่งของพลเมืองไทย และโดยพระปรีชาญาณของสมเด็จพระปิยะมหาราชโดยแท้ที่ได้ทรงแก้ไขสถานการณ์อันนั้นลงสู่ความสงบเรียบร้อยได้โดยมิได้มีเหตุการณ์ถึงขนาดเลือดตกยางออกเกิดขึ้น ดังเช่นที่ได้ปรากฏแก่ประเทศอเมริกา ซึ่งประเทศนั้นเหตุการณ์ได้ลุกลามใหญ่โตจนถึงขนาดกลายเปนศึกกลางเมืองไป (ที่มา: หนังสือพิมพ์รายวัน พิมพ์ไทย 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2493)
ดาบทหารเสือ (2493)
ดาบทหารเสือ (2493/1950) ครอบครัวของ รุ่ง และ จัน ชาวบ้านด่าน จังหวัดสุโขทัย เคยอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขตามประสาพ่อแม่ลูก จนกระทั่งวันหนึ่ง สอน เพื่อนบ้านชักชวนให้รุ่งไปประดาบกับนักเลงบ้านหนองดินแดง แต่รุ่งไม่อยากมีเรื่องตีรันฟันแทงกับใครจึงไม่ขอร่วมด้วยปรากฏว่าสอนเสียชีวิตในการประดาบ ชาวบ้านพากันรุมประณามรุ่ง ซ้ำร้ายยังพาลรังเกียจครอบครัวของรุ่งไปด้วย จนเป็นเหตุให้ เรือง ลูกสาวเพียงคนเดียวของรุ่งต้องตายเพราะไม่มีหมอคนไหนยอมรักษาเรืองซึ่งกำลังป่วยการสูญเสียเรืองทำให้รุ่งบันดาลโทสะฆ่าหมอตายและหนีหายไปตั้งแต่วันนั้น 5 ปีผ่านไป สุโขทัยถูกรุกรานจากศัตรู สาเหตุมาจาก โต พ่อของจัน เป็นไส้ศึกให้ฝ่ายเขมร และยังคิดจะยกลูกสาวให้แม่ทัพเขมรเพื่อแลกกับตำแหน่งผู้ครองอาณาจักรสุโขทัย รุ่ง ซึ่งบัดนี้กลายเป็นเสือออกปล้นชาวบ้าน ได้พบอาจารย์เฒ่าผู้หนึ่งเตือนสติว่า ควรจะเอากำลังไปต่อสู้ศัตรูที่กำลังทำร้ายสุโขทัย เสือรุ่งจึงจับดาบทหารเสือขึ้นปกป้องบ้านเกิดจากน้ำมือศัตรู
แสนแสบ (2493)
แสนแสบ (2493/1950) เมื่อ ผิว พ่อของ แผลง หนุ่มลูกทุ่งแสนแสบเสียชีวิตลง แผลงได้มาอาศัยอยู่กับ ลุงเชื่อม ซึ่งช่วยดูแลที่นา 30 ไร่ อันเป็นมรดกของแผลงตามคำสั่งเสียของผิว แต่ลุงเชื่อมเกิดละโมบอยากจะได้ที่นาเป็นของตนเอง จึงหาทางกำจัดแผลงสารพัดวิธี ทั้งใส่ร้ายว่าแผลงข่มขืน ช้อย ลูกสาวของตน หลอกให้แผลงไปซื้อควายที่หนองจอกแล้วจ้างคนไปดักฆ่า แม้กระทั่งใส่ร้ายว่าแผลงขโมยเงินของตนไป แล้วไปฟ้องให้ กำนันแปลก จับตัวแผลง แต่กำนันแปลกเห็นท่าไม่ดีจึงพยายามไกล่เกลี่ยแต่ไม่เป็นผล แผลงประกาศความแค้นก่อนจะออกจากทุ่งแสนแสบไป เทียม คู่หมั้นของช้อยสบโอกาสที่แผลงไม่อยู่หาเรื่องถอนหมั้นช้อยเพราะหมายปอง โปรย คนรักของแผลงมานานแล้ว เมื่อแผลงรู้เรื่องเข้าจึงกลับมาแก้แค้นเทียมและพรรคพวก แผลงหนีมาที่ศาลเจ้าพ่อขวัญเจ้าแม่เรียมและบังเอิญได้พบกับโปรย จึงมีโอกาสปรับความเข้าใจกัน กำนันแปลกซึ่งตามมาจับแผลงแอบได้ยินหนุ่มสาวสองคนคุยกัน จึงได้รู้ว่าที่ผ่านมาแผลงถูกลุงเชื่อมใส่ร้าย แผลงจึงได้ทั้งที่ดินและคนรักกลับคืนมา
พันท้ายนรสิงห์ (2493)

พันท้ายนรสิงห์ (2493/1950) ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ฟิล์มต้นฉบับใหม่เอี่ยม ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ยุคพระเจ้าเสือขุนนางคิดคดทรยศต่อพระเจ้าเสือ นำชื่อของพระองค์ไปแอบอ้างในทางเสียหายทำให้ราษฎรรู้จักพระองค์ในทางเลวร้าย ไม่ว่าในด้านราชการหรือส่วนพระองค์ จนราษฎรเกลียดกลัวไม่กล้าพบพระพักตร์ พระองค์จึงต้องปลอมตัวไปสืบหาความชั่วของพวกขุนนางที่ทำให้พระองค์ถูกมองไปในทางที่ผิด ทั้งตรวจดูทุกข์สุขของราษฎรด้วยพระองค์ กระทั่งได้พบกับ นายสิน พันท้ายเรือของ พระยาพิชัย ขุนนางในราชสำนักและรู้สึกพอพระทัยในความสามารถและความเป็นมิตรของนายสิน ทั้งสองจึงเป็นสหายกัน กระทั่งพระเจ้าเสือทรงเปิดเผยพระองค์และทรงแต่งตั้งให้นายสินเป็น พันท้ายนรสิงห์ คุมเรือพระที่นั่ง วันหนึ่ง พันท้ายนรสิงห์ทราบว่าพระยาพิชัยเจ้านายเก่าคิดจะลอบปลงพระชนม์พระเจ้าเสือขณะเสด็จประพาสต้นทางเรือพระที่นั่ง ครั้นจะทรงความแก่พระเจ้าเสือก็กลัวอันตรายถึงเจ้านายเก่า พันท้ายจึงให้ นวล ภรรยาไปวิงวอนให้พระยาพิชัยเลิกคิดการเสีย เพราะฝ่ายหนึ่งคือเจ้านายเก่า ส่วนอีกฝ่ายก็เป็นเจ้านายใหม่ที่ตนให้ความเคารพทั้งคู่ ฝ่ายนวลเมื่อเดินทางไปถึงก็สามารถวิงวอนพระยาพิชัยสำเร็จ แต่มาเกิดเหตุกลางทางจนไม่สามารถนำความไปบอกสามีได้ทัน ทำให้พันท้ายจำต้องแสร้งบังคับให้หัวเรือชนเข้ากับกิ่งไม้ จนหัวเรือหักเพื่อหยุดการประพาส และทูลขอให้พระเจ้าเสือประหารตนเพื่อรักษาจารีตตามกฎมณเฑียรบาลและเพื่อคงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย พระเจ้าเสือแม้จะอภัยโทษให้ แต่พันท้ายกลับไม่รับ พระองค์จึงจำพระทัยสั่งตัดศีรษะพันท้ายนรสิงห์ด้วยความขมขื่น

รอยไถ (2493)
รอยไถ (2493/1950) เป็นเรื่องชีวิตของชาวทุ่งบางเขนที่คลุกเคล้าอยู่กับควาย โคลนและคล่ำด้วยแดดลมตามธรรมชาติ ห่างไกลจากการแต่งลวงเยี่ยงคนในกรุง แต่ชีวิตนั้นต้องผจญกับความแค้นอย่างแสนสาหัส ด้วยเรื่องรักและเหลี่ยมนักเลง เพราะลูกน้อยและเมียรัก จนต้องจับ ดาบขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเรียกเลือดมาล้างรอยน้ำตาของ เขา ... ในด้านรัก เราจะได้เห็นความรักของเจ้าลือที่ซื่อ ต่อเมียรักและทนุถนอมลูกน้อยเพียงดวงใจ ความรักในฐานชู้ และความรักของสาวเพิ่งรุ่นกับชายอารมณ์เริงอย่างสุขสด ต่างกันถึงสามรส ในด้านแค้น ก็เกินที่จะเปรียบกับเรื่องใด นอกจากจะรู้แก่ใจของผู้ที่ถูกพรากเมียรักและทิ้งลูกแดงที่ยังอ้อนนมไว้ให้เลี้ยง ซ้ำถูกพวกนักเลงเหยียบเกียรติของเขาอีก (ที่มา: นิตยสารภาพยนตร์สาร กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2493)
ลานท่าฟ้า (2491)

ลานท่าฟ้า (2491/1948) ภาพยนต์ไทยเรื่องแรกหลังสงคราม ของบริษัทดาราภาพยนต์ (ที่มา: นิตยสาร จอเงิน พฤษภาคม พ.ศ. 2491)

ชอนกาเหว่า (2489)

ชอนกาเหว่า (2489/1946) เพราะความเหลวแหลกของ ประเวศทำให้เขาถูก นายประวัติ ผู้เป็นบิดา เฉดหัวออกไปจากบ้าน ประเวศจึงต้องออกรอนแรมไปยังหมู่บ้านชอนกาเหว่า สถานที่ที่เขาได้พบกับ ผู้ใหญ่ฟื้น เพื่อนของบิดา ทว่าผู้ใหญ่ฟื้นกลับไม่รู้จักประเวศ ประเวศจึงเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น นายเริกษ์ และขอทำงานในไร่ฝ้ายของผู้ใหญ่ฟื้น ฝ่ายนายประวัติ หลังจากไล่ประเวศลูกชายออกจากบ้าน ก็ชักชวน จามรี หลานสาวมาช่วยงาน รวมถึงไปช่วยดูแลไร่ฝ้ายของผู้ใหญ่ฟื้น ทำให้เธอได้พบกับประเวศ แต่เพราะท่าทียียวนของประเวศทำให้เธอไม่อยากจะผูกสมัครรักใคร่ทั้งที่ในใจก็แอบชอบ กระทั่งประเวศรู้ข่าวว่า นายยศ ลูกเขยของผู้ใหญ่ฟื้นกำลังคิดจะโกงฝ้าย และจับจามรีเป็นตัวประกัน ด้วยความรักประเวศจึงเร่งรุดไปช่วยจนเกิดการต่อสู้ขึ้น ในจังหวะเดียวกับที่ประวัติและผู้ใหญ่ฟื้นเดินทางมาพบเข้า จึงช่วยประเวศล้างบางพวกคิดคดทรยศ แต่น่าเสียดายที่ผู้ใหญ่ฟื้นพลาดท่าเสียชีวิต ประเวศและจามรีจึงดูแลไร่ฝ้าสืบไป

ชายชาตรี (2489)
ชายชาตรี (2489/1946) ณ เมืองกาญจนบุรี คงจะไม่มีนักเลงหน้าไหนใหญ่เกินกว่า กำนันหาญ แต่เพราะวัยอันใกล้จะร่วงโรยรา กำนันจึงตามตัว นาฏยา ลูกสาวที่อยู่เมืองกรุงกลับมาช่วยสานต่ออำนาจ ครั้นนาฏยากลับมาถึงบ้านเธอก็ได้พบกับ แผน นักเลงหนุ่มพเนจร ซึ่งดูท่าว่าจะช่วยเหลืองานของพ่อตนได้ จึงให้แผนมาอยู่ด้วย ทว่านานวัน ด้วยความหล่อเหลาของแผนก็ทำเอานาฏยาตกหลุมรักซึ่งเขาเองก็คิดไม่ต่างจากเธอ ทั้งสองจึงสานสัมพันธ์ฉันท์คนรัก ท่ามกลางความไม่พอใจของ ไอ้สุข มือขวาของกำนันหาญ ที่คิดจะทรยศกำนันหาญมาก่อนหน้านั้นเนื่องจากกำนันหาญคิดจะเลิกปล้น ในขณะที่มันต้องการจะเป็นโจรต่อไป เมื่อเห็นว่านาฏยากำลังรักกับแผน ไอ้สุขจึงจัดการปล้นวัวกำนันหาญรวมทั้งจับนาฏยาเป็นตัวประกัน แผนซึ่งแท้ที่จริงคือนายร้อยตำรวจปลอมตัวมาจับขบวนการของกำนันหาญ จึงเปิดเผยตัวออกตามล่าไอ้สุข แต่ก็สายไปเสียแล้วเมื่อไอ้สุขกระทำการพรากพรหมจรรย์ไปจากนาฏยา และด้วยความโกรธแค้นนาฏยาจึงฆ่าไอ้สุขตายคาที่ แล้วจึงหนีไปบวช ละทิ้งซึ่งชะตากรรมอันแสนเศร้า ที่ทำให้แผนสุดแสนช้ำใจ
Placeholder
หาดแสนสุข (2487/1944) ส้างไหม่ไนเมืองไทย หาดแสนสุขโดยฝีมือผู้ชำนาญการภาพยนต์มาแล้ว ม.ร.ว. อนุสักดิ์ หัสดิน เปนที่ปรึกสา ชนินท์ วังอินทร์ อารี ดุลยพันธุ์ สแดงนำ เสี่ยล้อต๊อก + สุคน คิ้วเหลี่ยม แสดงหัสนาตกัมเรื่อง "ธิดาเจ้ากรุงจีน" สลับ (ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยใหม่ 28 กันยายน พ.ศ. 2487)
Placeholder
บ้านไร่นาเรา (2485)
บ้านไร่นาเรา (2485/1942) ในสมัยที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ณ จังหวัดสุโขทัย เฉิด และ เฉิดฉาย บำเพ็ญดีสองสามีภรรยาซึ่งดำรงชีพด้วยการเป็นกสิกร ใช้ชีวิตเป็นพลเมืองที่ดีต้องตามรัฐนิยม ครอบครัวบำเพ็ญดีมีบุตรสองคน ชื่อ ชาญ และ อาจ และมีบุตรี ชื่อ เจริญศรี โดยมีเพื่อนบ้าน คือ ขำ บำรุงชาติ ซึ่งมีลูกสาวสองคน ชื่อ ขำคม และ ลำเพา และลูกชาย เมื่อยามบ้านเมืองเกิดศึกสงคราม เฉิดและขำก็พร้อมพลีกายต่อสู้ปกป้องประเทศ แม้เฉิดจะบาดเจ็บจากการสู้รบในสงคราม ระหว่างที่เฉิดไปรับใช้ชาติ เฉิดฉายก็คอยดูแลครอบครัว และส่งเสียให้ชาญ ลูกชายคนโตได้ศึกษาเล่าเรียน 8 ปีผ่านไป บ้านเมืองเข้าสู่สภาวะปรกติสุข ชาญมุ่งมั่นตั้งใจเรียนและหวังจะสืบทอดอาชีพกสิกรรมแทนพ่อจนสำเร็จการศึกษาที่เกษตรศาสตร์แม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่และกลับมาสุโขทัย ชาญได้พบกับ ลุงอยู่ ซึ่งเขานับถือเสมือนลุง ลุงอยู่พาชาญไปเลี้ยงฉลองที่ร้านเย็นทรวง ที่นั่น ชาญได้แอบเห็นพ่อค้าขูดรีดราคาสินค้าจากกสิกร ชาญจึงเข้าไปขัดขวางและแนะนำให้กสิกรไปซื้อสินค้าที่สหกรณ์หรือรถไฟทำให้ ฟู แสวงสิน นักเลงเจ้าถิ่นไม่พอใจจนมีเรื่องชกต่อยกัน แต่ลุงอยู่มาห้ามไว้ได้ทัน ชาญพยายามให้ความรู้กสิกรในเรื่องการเกษตรตามที่ตนได้ร่ำเรียนมา เป็นที่ชื่นชอบแก่ชาวบ้านและกสิกรมาก รวมทั้งขำคม เพื่อนวัยเด็ก แต่อย่างไรก็ตาม ฟูก็ยังไม่เลิกไปหลอกลวงกสิกร ชาญซึ่งซุ่มดูพฤติกรรมเมื่อเห็นดังนั้นจึงเข้าไปปราบปรามจนฟูและพรรคพวกพ่ายแพ้ไปในที่สุด ชาญได้แต่งงานกับขำคมและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง (2485)
น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง (2485/1942) เพียบพร้อมไปด้วยวัธนธัม ให้คติ สมัยสร้างชาติ รัก ตลก ขบขัน เพลงไพเราะห์ สนองนโยบายผู้นำ ปลอบใจน้ำท่วมดีกว่า พระเอกเป็นกรรมกรเรือจ้าง (ที่มา: หนังสือพิมพ์รายวัน ศรีกรุง พ.ศ. 2485)
Placeholder
แม่ศรีเมือง (2484)
แม่ศรีเมือง (2484/1941) หลังจากสามีเสียชีวิต ศรีเมือง จึงแต่งงานกับ หลวงภรตชำนาญ ศรีเมืองมีลูกติดชื่อประดิษฐ์ เช่นเดียวกับชำนาญก็มีลูกสาวชื่อ วารินทร์ ชีวิตคู่ของทั้งสองราบรื่นได้ไม่นานก็เกิดปัญหา เนื่องจากชำนาญเริ่มติดเหล้าและการพนันอย่างหนักจนเป็นหนี้สินจึงต้องย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี หลังจากนั้นไม่นาน ศรีเมืองก็ฆ่าตัวตาย ประดิษฐ์และวารินทร์ต้องออกไปทำงานเพื่อหาเลี้ยงตัวเอง แต่ต่อมาบ้านเมืองก็เข้าสู่ภาวะสงคราม ประดิษฐ์ถูกเกณฑ์เป็นทหารไปรับใช้ชาติ แต่ประดิษฐ์กลับขายชาติจึงถูกจับและถูกตัดสินประหารชีวิตในภายหลัง
เลือดไทย (2484)

เลือดไทย (2484/1941) สร้างจากชีวิตแท้ของไทยใกล้แม่โขงที่ยอมสละชีวิตและเลือดเนื้อ เพื่อป้องกันอิสรภาพและทรัพย์สิน เพราะโจรหมู่หนึ่งคอยรังควาน ปล้นสะดมอยู่ไม่หยุด แม้ว่าเลือดจะสาดราดแผ่นดิน ไทยในยามนี้ก็คิดแต่เพียงว่า เขาสูญสิ้นแต่ร่างกาย ส่วนชื่อเสียงของผู้ทำดีย่อมไม่หายไปจากโลกนี้เท่านั้น แม้ว่าจะเป็นท่ามกลางความเวิ้งว้างว่างเปล่าเช่นนี้ ... แต่ก็ใช่ว่าจะไร้เสียซึ่งความรักความหวานหยาด เยิ้มเสียทีเดียวไม่ .. เลือดไทยต้องสู้ - สู้จนกว่าชีวิตจะหาไม่ ถ้าสู้ไม่ได้ก็จงเอาร่างของเราถมไว้บนแผ่นดินไทยนี้ ดีกว่าจะต้องตกไปเปนทาษของผู้อื่น ... เมื่อเกิดมีคน ขายชาติ, หมู่คณะ ขายชาติเกิดขึ้นเพียงคนเดียว ผลที่ได้ รับก็คือ ... ภายในค่ายน้อย ๆ ที่ชาวไทย - เลือดไทยเรา ต้องร่วมใจกันสู้ฝ่ายอธรรม - สู้ - สู้ จนกระทั่งโลหิตหยด สุดท้าย เพื่อเกียรติศักดิ์ของไทย ... อย่างนี้ใครจะทนได้ แต่ถ้าใครไม่ปรารถนาที่จะอยู่ในสภาวะเช่นนี้ ก็ต้องสู้ - สู้เพื่อไว้ลายของชายชาติเสือ ผู้มีเลือดเนื้อเป็นไทย ... นี่คือคนขายชาติ แนวที่ 5 ฉะนั้น จงร่วมใจร่วมกายกันปราบ ปรามแนวที่ 5 เสียแต่บัดนี้ (ที่มา: นิตยสารประมวลภาพยนตร์ พฤษภาคม พ.ศ. 2484)