นเรศวรมหาราช (2500)
นเรศวรมหาราช (2500/1957) นเรศวรมหาราช เป็นภาพยนตร์สี 16 มม.ที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2500 สร้างโดย อัศวินภาพยนตร์ โดยพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคล ทรงกำกับการแสดง ภาพยนตร์เรื่องนี้ดัดแปลงจากตำนานกู้เอกราชของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เป็นภาพยนตร์สงครามอิงประวัติศาสตร์เรื่องยิ่งใหญ่อีกเรื่องที่อัศวินภาพยนตร์ตั้งใจสร้างฉลอง 25 ศตวรรษในปี 2500
สุรนารี (2500)
สุรนารี (2500/1957) มโหฬารที่สุดในรอบปี 2501 คือภาพยนตร์เสียง 35 มม. ที่ลงทุนสร้างอย่างมหาศาล เพื่อเกียรติประวัติของวีรสตรีที่คนไทยทั้งชาติจะลืมเสียมิได้
ศึกถลาง (2499)

ศึกถลาง (2499/1956) ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ไทย สีธรรมชาติ เรื่องของ พรานบูรพ์ พ.ศ. 2328 เจ้าปดุง กษัตริย์เมืองพม่าส่งญี่หวุ่นมาเป็นแม่กองยกทัพตีเมืองตะกั่วป่าตะกั่วทุ่ง จนกระทั่งถึงเมืองถลาง ขณะนั้นพระยาถลางเจ้าเมืองกำลังป่วยหนักใกล้ถึงอนิจกรรม คุณหญิงจันทร์ ภรรยาจึงชักชวน มุกด์ น้องสาวช่วยกันปกป้องเมืองถลางแต่ในเวลานั้นขุนยศ ทหารไทยคิดคดนำพวกไปสมคบพม่า เพราะทะเยอทะยานอยากครองเมืองถลาง และเสนอว่าจะปล้นเสบียงเพื่อขอแลกกับตำแหน่งเจ้าเมืองขุนยศใช้ให้เดี่ยวไปปล้นเสบียง เดี่ยว ใจซื่อ นำความไปบอกใย ใยกับแวว สาวเมืองถลางจึงสกัดแผนการของขุนยศ ขุนยศลงโทษเดี่ยวด้วยการให้ฉุดแววคนรักมาสังเวย ทำให้ทั้งสองโดนขัง ขุนยศซึ่งทำงานพลาดไปจึงขอโอกาสแก้ตัวกับแม่กองพม่าแต่ไม่ทันเสียแล้ว คุณหญิงจันทร์กับน้องสาวรวมกำลังชาวบ้านบุกฐานที่ตั้งทัพของพม่า ขุนยศถูกเดี่ยวฆ่าตายในกองเพลิง พระไชยเผาฐานทัพจนทหารพม่าถอยร่นหนีลงทะเล คุณหญิงจันทร์กับน้องสาวสามารถนำทัพสำเร็จจึงได้รับพระราชทานยศเป็น ท้าวเทพสตรีกับท้าวศรีสุนทร

เกียรติศักดิ์ทหารไทย (2498)
เกียรติศักดิ์ทหารไทย (2498/1955) ดู! ความรักระหว่าง เล่ห์ ริษยา พยาบาท การต่อสู้ เพื่อศักดิ์ลูกผู้ชาย เพื่อเกียรติทหาร เมื่อราชสมบัติของ องเชียงสือ ผู้ปกครองแผ่นดินญวนถูก ไกเซิน ก่อกบฏ องเชียงสือจึงต้องหนีมาพึ่งความช่วยเหลือจากทางแผ่นดินไทย กระนั้นองเชียงสือก็ได้ซ่องสุมกำลังของตนไว้ที่เกาะกูดหวังจะชิงบัลลังก์ของตนกลับคืนมา แต่ครั้นจะหนีไปเกาะกูดก็เกรงว่าฝั่งไทยจะหาว่าตนทรยศ องเชียงสือจึงลอบมอมสุราเพื่อลักพา หมู่จันทร์ นายทหารไทยกับสหายอีกสองคนไปยังเกาะกูด เพื่อเป็นพยานยืนยันว่าตนมิได้คิดคดทรยศ ครั้นหมู่จันทร์ฟื้นคืนสติก็ได้พูดคุยกับองเชียงสือ จนได้เข้าใจเหตุผล จึงตกลงจะอยู่ช่วยองเชียงสือกู้บัลลังก์ แต่ในระหว่างนั้นหมู่จันทร์ก็ได้พบรักกับ หยาเคืองหลานสาวขององเชียงสือ ในขณะที่ไกเซินซึ่งครองบัลลังก์ญวนอยู่ ก็สืบรู้ว่าองเชียงสือกำลังจัดทัพมาทวงราชสมบัติไกเซินจึงส่งสมุนไปฆ่าองเชียงสือ โดยวิธีแรกที่พวกมันทำคือลอบเข้าไปเป็นพวกเดียวกับองเชียงสือบนเกาะกูดและหาทางใส่ร้ายป้ายสีให้หมู่จันทร์กลายเป็นคนทรยศเพื่อหลีกทางให้พวกมันสังหารองเชียงสือได้โดยง่าย แต่ดีที่หยาเคืองมาช่วยให้หมู่จันทร์รอดจากการจับกุม หมู่จันทร์จึงกลับมาหมายจะฆ่าทั้งองเชียงสือที่หักหลังตนและเหล่าสมุนไกเซิน แต่ในระหว่างที่หมู่จันทร์จะลงมือสังหาร สมุนไกเซินก็กำลังจะปลุกปล้ำ หยาเคือง คนรักของหมู่จันทร์ หมู่จันทร์จึงต้องรามือไปช่วย ในจังหวะเดียวกับที่องเชียงสือก็กำลังจะถูกสมุนของไกเซินฆ่า แต่โชคดีที่พวกมันเกิดพลาดฆ่ากันเอง องเชียงสือจึงได้รู้ความจริงว่าหมู่จันทร์มิใช่คนทรยศ เรื่องจึงจบลงด้วยดี
Placeholder
เจ้าแม่อยู่หัวศรีสุดาจันทร์ (2497/1954) หลัง สมเด็จพระไชยราชาธิราช ยึดราชบัลลังก์ และให้สำเร็จโทษ พระรัษฎาธิราช ตามราช-ประเพณี รวมถึงสั่งประหารขุนนางทุจริตทุกคน และขึ้นครองราชสมบัติ แต่เพราะทรงออกรบปราบหัวเมืองอยู่เนืองๆ จึงได้แต่งตั้ง พระเฑียรราชา ขึ้นเป็นอุปราชว่าราชการอยู่ที่กรุงอโยธยาแทน กระนั้นพระมเหสีของพระไชยราชา คือ ท้าวศรีสุดาจันทร์ หญิงงามผู้สืบเชื้อสายราชวงศ์อู่ทองเห็นทีว่าพระสวามีไม่อยู่จึงลักลอบมีความสัมพันธ์กับ ขุนชินราช และสมคบคิดลอบวางยาพิษปลงพระชนม์พระไชยราชา นำบัลลังก์คืนสู่ราชวงศ์อู่ทอง และสถาปนาขุนชินราชขึ้นเป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่า ขุนวรวงศาธิราช นับตั้งแต่สิ้นรัชกาลพระไชยราชา พระเฑียรราชาจึงทรงผนวชเพื่อเลี่ยงภัยจากชู้รักทั้งสอง กระทั่งขุนพิเรนทรเทพ ขุนอินทรเทพ หมื่นราชเสน่หานอกราชการ และ หลวงศรียศ คิดกอบกู้ราชบัลลังก์จึงร่วมมือกันปลงพระชนม์ขุนวรวงศาฯ และท้าวศรีสุดาจันทร์ เสียบหัวประจานไว้ที่วัดแร้ง และทูลขอให้พระเฑียรราชาขึ้นครองบัลลังก์
ทาษวังหลัง (2496)
ทาษวังหลัง (2496/1953) ยอดเยี่ยมนิยายอิงประวัติศาสตร์ ท้าสู้ "พญากง พญาพาน" และ "ยอดนักเบ่ง" (ที่มา: หนังสือพิมพ์รายวัน สยามรัฐ 2 เมษายน พ.ศ. 2496)
ทหารเอกพระบัณฑูร (2496)
ทหารเอกพระบัณฑูร (2496/1953) ในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยา เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ พระมหาอุปราช ถูก จมื่นศรีสรลักษณ์ กับ เจ้าสามกรม ใส่ความว่าลอบคบชู้กับ เจ้าฟ้านิ่ม พระสนมเอกของพระราชบิดา จนต้องโทษประหารชีวิต มิหนำซ้ำยังสั่งให้ ขุนจิตร์สุนทร กับขุนฤทธิ์ภักดี ควบคุมตัว องค์หญิง พระขนิษฐาของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ไปคุมขัง แต่ หลวงกลาโหม ราชองครักษ์เอกผู้คุมหมู่ทหารพระบัณฑูรของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์มาขัดขวางและฆ่าขุนฤทธิ์ฯ เสียชีวิต หลวงกลาโหมพาเจ้าหญิงไปประทับที่ตำหนักของเจ้าฟ้าอุทุมพร เสด็จฯอาขององค์หญิง ก่อนจะหนีไปหลบซ่อนตัว หลังจากนั้นไม่นาน สมเด็จพระบรมราชาธิราชเสด็จสวรรคต เจ้าฟ้าอุทุมพรซึ่งตามประเพณีต้องขึ้นครองราชย์ ได้ถวายให้เจ้าฟ้าเอกทัศน์ขึ้นครองราชย์แทนพระองค์ที่ประสงค์จะทรงผนวช แต่สมเด็จพระเอกทัศน์ทรงลุ่มหลงในความมัวเมา ขุนนางที่มักใหญ่ใฝ่สูงจึงคิดคดถึงขนาดเหิมเกริมจะโค่นราชบัลลังก์ ร้อนถึงกรมหมื่นเทพพิพิธและขุนนางที่จงรักภักดีต้องร่วมมือกันวางแผนให้เจ้าฟ้าอุทุมพรกลับมาขึ้นครองราชย์ตามเดิม แต่แผนการรั่วไหลทำให้กรมหมื่นฯ และพรรคพวกรวมทั้งหลวงกลาโหมถูกจับกุม ระยะนั้นเอง ฝ่ายพม่าได้ยกกองทัพเข้ามาล้อมกรุงศรีอยุธยา เหล่านักโทษถูกเกณฑ์ออกมาสู้ศึกกับพม่ารวมทั้งหลวงกลาโหมได้เข้าร่วมในศึกครั้งนี้ด้วย ฝ่ายพม่าตีร่นมาถึงพระนคร หลวงกลาโหมจึงรีบไปช่วยองค์หญิงอย่างไม่ห่วงชีวิต องค์หญิงทรงซาบซึ้งพระทัยที่หลวงกลาโหมช่วยชีวิตพระองค์ไว้ถึงสองครา จึงทรงสละฐานันดรศักดิ์เพื่อครองรักกับหลวงกลาโหม
พญากง-พญาพาน (2496/1953) ดัดแปลงจากตำนานพื้นบ้านว่าด้วยเรื่องของ พญากง ซึ่งมีพระมเหสีพระนามว่า พระนางสุมาลี คืนหนึ่งพระนางสุมาลีทรงฝันร้าย โหรทำนายความฝันของพระนางสุมาลีว่าจะได้พระโอรส แต่ในภายภาคหน้าพระโอรสจะกระทำปิตุฆาต วันเวลาผ่านไปพระนางสุมาลีทรงประสูติพระโอรสตามคำทำนายของโหร พญากงนึกหวั่นจึงรับสั่งให้นำพระโอรสใส่หม้อแล้วไปลอยในแม่น้ำ พระนางสุมาลีทูลวิงวอนขอเห็นหน้าพระโอรสเป็นครั้งสุดท้าย แต่เมื่ออุ้มพระโอรสขึ้นมา พระโอรสเกิดดิ้นไปถูกขอบพานทำให้เลือดไหล ด้วยความรักและอาลัยของผู้เป็นแม่ พระนางสุมาลีจึงผูกธำมรงค์ติดข้อมือพระโอรสไว้ แล้วปล่อยหม้อที่บรรจุพระโอรสล่องลอยจากนครปาวายไปตามกระแสธารา เคราะห์ดีที่หม้อลอยไปถึงหมู่บ้านท่าเกวียน ยายหอม ผู้มั่งคั่งมาพบหม้อที่ใส่พระโอรสไว้จึงเก็บพระโอรสมาเลี้ยงดู เมื่อพินิจใบหน้าเด็กน้อยมีรอยแผลเป็นรูปร่างคล้ายพาน จึงตั้งชื่อให้ว่า "พาน" ยายหอมทะนุถนอมพานจนเติบใหญ่จึงส่งให้ไปร่ำเรียนวิชากับ อาจารย์เถียร ด้วยความที่มีสายเลือดของกษัตริย์ พานจึงเชี่ยวชาญในทางอาวุธ และแอบรวบรวมกองกำลัง คิดการใหญ่หมายจะโจมตีนครปาวาย ฝ่ายพญากง เมื่อทหารรายงานว่าบัดนี้มีกองโจรกำลังซ่องสุมตามแนวชายแดน จึงจัดทหารไปปราบปรามแต่ได้รับความพ่ายแพ้กลับมา พานเหิมเกริมตั้งตนเป็น "พญาพาน" และให้ หาญ คนสนิทนำสาสน์ท้าชนช้างไปส่งให้พญากง ผลปรากฏว่าพญากงถูกฟันด้วยของ้าวขาดสะพายแล่งสิ้นพระชนม์ในสนามรบ พญาพานยึดนครปาวายทันที มิหนำซ้ำยังคิดจะเอาพระนางสุมาลีเป็นพระมเหสี วิญญาณของพญากงจึงจำแลงเป็นแมวและบอกความจริงกับพญาพาน พญาพานสำนึกผิดจึงได้สร้างเจดีย์เพื่อล้างบาปที่ตนได้กระทำปิตุฆาต
พระเจ้ากรุงธนบุรี (2495)
เจดีย์หัก (2495)
เจดีย์หัก (2495/1952) สมัยกษัตริย์อุทุมพรแห่งอยุธยา พม่าเริ่มนำกำลังรุกรานประเทศ จนในที่สุดก็มาถึงบ้านแป้งและหัวคู พระยาโกษาธิบดี ขุนคลัง กับ เจ้าหญิงสุชาวดี ได้รับคำสั่งให้ตามหา หลวงตาธรรมคง เพื่อหารือเรื่องการซ่อนสมบัติไว้ใต้เจดีย์สี่ทิศ วัดทุ่ง ซึ่งเป็นเจดีย์ประจำหมู่บ้าน หลวงตาธรรมคงเคยมีศิษย์เอกสองคน คือ เพลิง กับ กลอง กลองริษยาเพลิงที่ได้ สไบ เป็นเมีย จึงร่วมมือกับ กำนันเทิ้ม พ่อของตนหาเรื่องใส่ร้ายเพลิง เป็นเหตุให้เพลิงต้องหลบไปกบดานในป่า พระยาโกษาฯ ที่กำลังออกตามหาหลวงตาธรรมคง ถูกพวกพม่าดักปล้นแย่งชิงสมบัติ เคราะห์ดีที่เพลิงผ่านมาช่วยเหลือไว้ เมื่อรู้จุดประสงค์ของพระยาโกษาฯเพลิงก็อาสานำทางไป ระหว่างที่พระยาโกษาฯ หารือกับหลวงตาธรรมคงจู่ๆ ทหารยามก็มาแจ้งว่าเจ้าหญิงสุชาดาถูกลักพาตัวไปทุกคนจึงรีบเดินทางไปช่วย ในขณะที่เพลิงกำลังประดาบกับศัตรูคนหนึ่ง เจ้าหญิงตะโกนให้เพลิงหยุด เพราะจำได้ว่าเขาผู้นั้นคือ หลวงแสนยาณรงค์ ลูกชายของพระยาโกษา ก่อนจะได้รู้ในเวลาต่อมาว่าเป็นไส้ศึกให้ฝ่ายพม่า และแล้วพม่าก็เริ่มย่างกรายเข้ามาใกล้หมู่บ้านเพลิงให้ เตี้ย สมุนเอก ไปแจ้งข่าวให้ชาวบ้านเตรียมตัวบุกค่ายพม่าในเวลาฟ้าสาง ส่วนตนเองจะลอบเข้าไปในค่ายพม่าก่อนเพื่อช่วยหลวงตาธรรมคง พระยาโกษาฯ และสไบที่ถูกจับตัวไป โดยไม่รู้ว่าทั้งสามถูกทรมานจนเสียชีวิตไปแล้ว เมื่อเข้าไปในค่ายพม่าเพลิงจึงตกเป็นเชลยทันที คืนนั้น ขุนพยัคฆ์ภูมิ ทหารเอกแห่งกรุงศรีอยุธยาเข้ามาช่วยเพลิง เมื่อฟ้าสาง เตี้ยนำทัพชาวบ้านโจมตีค่ายพม่าจนแตกร่นไปถึงเจดีย์สี่ทิศ วัดทุ่ง เป็นเวลาเดียวกับที่ อุยตอง กับ มะมังจะ สองหัวหน้าทหารของพม่า กำลังลงไปในอุโมงค์ใต้ดินเพื่อขโมยสมบัติ ทันใดนั้น ก็เกิดแผ่นดินไหว ทำให้เจดีย์หักลงมาทับร่างอุยตองกับมะมังจะจนเสียชีวิต ความสงบสุขจึงกลับมาสู่บ้านแป้งและหัวคูอีกครั้งหนึ่ง
เจ้าแม่ลานเท (2494/1951) ตำนานของความรัก การรอคอยของหญิงสาวแห่งลานเท อันเป็นตำนานอิงประวัติศาสตร์ทางโบราณคดีที่ตั้งอยู่ที่จังหวัดอยุธยา (ที่มา: นิตยสารภาพยนตร์สาร มกราคม พ.ศ. 2495)
เมื่อนเรศวรกู้ชาติ (2494)
เมื่อนเรศวรกู้ชาติ (2494/1951) เกร็ดพงศาวดารไทย ตอนอพยพครัวไทยและมอญสวามิภักดิ์จากหงษาวดี สู่เมืองแครง (ที่มา: หนังสือพิมพ์รายวัน พิมพ์ไทย 1 มกราคม พ.ศ. 2495)
ทาษกบฏ (2493)
ทาสกบฏ (2493/1950) เปนเรื่องของการต่อสู้ดิ้นรนของชนชั้นทาษเพื่อสู่อิสสระภาพ ซึ่งได้บังเกิดขึ้นในยุคหนึ่งของพลเมืองไทย และโดยพระปรีชาญาณของสมเด็จพระปิยะมหาราชโดยแท้ที่ได้ทรงแก้ไขสถานการณ์อันนั้นลงสู่ความสงบเรียบร้อยได้โดยมิได้มีเหตุการณ์ถึงขนาดเลือดตกยางออกเกิดขึ้น ดังเช่นที่ได้ปรากฏแก่ประเทศอเมริกา ซึ่งประเทศนั้นเหตุการณ์ได้ลุกลามใหญ่โตจนถึงขนาดกลายเปนศึกกลางเมืองไป (ที่มา: หนังสือพิมพ์รายวัน พิมพ์ไทย 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2493)
พันท้ายนรสิงห์ (2493)

พันท้ายนรสิงห์ (2493/1950) ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์ ฟิล์มต้นฉบับใหม่เอี่ยม ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ยุคพระเจ้าเสือขุนนางคิดคดทรยศต่อพระเจ้าเสือ นำชื่อของพระองค์ไปแอบอ้างในทางเสียหายทำให้ราษฎรรู้จักพระองค์ในทางเลวร้าย ไม่ว่าในด้านราชการหรือส่วนพระองค์ จนราษฎรเกลียดกลัวไม่กล้าพบพระพักตร์ พระองค์จึงต้องปลอมตัวไปสืบหาความชั่วของพวกขุนนางที่ทำให้พระองค์ถูกมองไปในทางที่ผิด ทั้งตรวจดูทุกข์สุขของราษฎรด้วยพระองค์ กระทั่งได้พบกับ นายสิน พันท้ายเรือของ พระยาพิชัย ขุนนางในราชสำนักและรู้สึกพอพระทัยในความสามารถและความเป็นมิตรของนายสิน ทั้งสองจึงเป็นสหายกัน กระทั่งพระเจ้าเสือทรงเปิดเผยพระองค์และทรงแต่งตั้งให้นายสินเป็น พันท้ายนรสิงห์ คุมเรือพระที่นั่ง วันหนึ่ง พันท้ายนรสิงห์ทราบว่าพระยาพิชัยเจ้านายเก่าคิดจะลอบปลงพระชนม์พระเจ้าเสือขณะเสด็จประพาสต้นทางเรือพระที่นั่ง ครั้นจะทรงความแก่พระเจ้าเสือก็กลัวอันตรายถึงเจ้านายเก่า พันท้ายจึงให้ นวล ภรรยาไปวิงวอนให้พระยาพิชัยเลิกคิดการเสีย เพราะฝ่ายหนึ่งคือเจ้านายเก่า ส่วนอีกฝ่ายก็เป็นเจ้านายใหม่ที่ตนให้ความเคารพทั้งคู่ ฝ่ายนวลเมื่อเดินทางไปถึงก็สามารถวิงวอนพระยาพิชัยสำเร็จ แต่มาเกิดเหตุกลางทางจนไม่สามารถนำความไปบอกสามีได้ทัน ทำให้พันท้ายจำต้องแสร้งบังคับให้หัวเรือชนเข้ากับกิ่งไม้ จนหัวเรือหักเพื่อหยุดการประพาส และทูลขอให้พระเจ้าเสือประหารตนเพื่อรักษาจารีตตามกฎมณเฑียรบาลและเพื่อคงไว้ซึ่งความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย พระเจ้าเสือแม้จะอภัยโทษให้ แต่พันท้ายกลับไม่รับ พระองค์จึงจำพระทัยสั่งตัดศีรษะพันท้ายนรสิงห์ด้วยความขมขื่น

พระเจ้าช้างเผือก (2484/1941) เรื่องเริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2083 ในอโยธยา อันเป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักรไทย อโยธยาเป็นคำในภาษาบาลีโบราณ แปลว่าปราศจากสงคราม หรือ สันติภาพ นั่นเอง ยุวกษัตริย์พระนามว่า "จักรา" ทรงขึ้นครองราชบัลลังก์สืบเนื่องจากการเสด็จสวรรคตอย่างกระทันหันของพระราชบิดา พระเจ้าจักราถูกเลี้ยงดูมาโดยภิกษุรูปหนึ่ง จึงไม่ทรงโปรดความโอ่อ่าในราชนำนัก ในการเถลิงถวัลย์ราชสมบัตินี้ทรงมีพระบัญชาให้งดเว้นการเฉลิมฉลองทั้งปวง ในวันฉัตรมงคล ปีที่สามหลังจากขึ้นครองราชย์ สมุหราชมณเฑียรได้เตือนพระเจ้าจักราให้ปฏิบัติตามโบราณราชประเพณีที่กษัตริย์ต้องมีมเหสี 365 องค์ ตามจำนวนวันในหนึ่งปี สมุหราชมณเฑียรได้จัดให้กุลธิดา หญิงงามผู้เป็นบุตรีของขุนนางชั้นสูงมาฟ้อนรำถวายพระพร โดยหนึ่งในหญิงสาวเหล่านี้ก็มี เรณู บุตรีของสมุหราชมณเฑียรรวมอยู่ด้วย แต่ในขณะนั้นเองมีสาส์นจากต่างประเทศมา พระเจ้าจักราทรงมีพระทัยจดจ่อกับสาส์นนั้นอ่านถึงสองรอบตกอยู่ในภวังค์จนบรรดาสาวงามต่างถวายพระพรลากลับไปหมดแล้วพระเจ้าจักราก็ไม่ทรงรู้พระองค์ พระเจ้าจักราทรงมีพระราชวินิจฉัยว่าคงไม่อาจปฏิบัติตามโบราณราชประเพณีได้ในกาลดังกล่าว เพราะมีเหตุการคับขันขึ้น กล่าวคือ กษัตริย์โมกุลได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับกษัตริย์หงสา และกษัตริย์หงสาก็กำลังเตรียมไพร่พลสำหรับการสงครามอยู่ พระเจ้าจักราจึงจัดให้มีการคล้องช้างเพื่อเป็นกำลังให้อโยธยา ทั้งนี้สมุหราชมณเฑียรไม่เห็นด้วยเพราะคิดว่าถ้าทรงมีพระมเหสีเสียก่อน 365 องค์ แล้วพาพระมเหสีไปคล้องช้างด้วยจะได้ช้างมามากกว่าไปพระองค์เดียวเป็นสิบเท่า แต่พระเจ้าจักราปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าวเพราะเสนาบดีส่วนใหญ่ล้วนเห็นชอบให้จับช้างก่อน ได้มีพ่อค้าชาวโปรตุเกสมาเฝ้าทูลอองพระบาท จึงมีพระกระแสสอบถามถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ในโลก รวมถึงจำนวนพระมเหสีที่กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ในแต่ในดินแดนทรงมี กัปตันทูลตอบว่ากษัตริย์ตะวันตกมีได้พระองค์เดียวเพราะศาสนากำหนดไว้ เว้นแต่สุลต่านแห่งรัฐอิสลามที่มีมเหสีได้สี่องค์ ส่วนเรื่องดินแดนต่างๆ นั้นกัปตันทูลเกี่ยวกับการยึดครองดินแดนที่ค้นพบใหม่ทางตะวันตก (ทวีปอเมริกา) พระเจ้าจักราทรงสนพระทัยและตรัสถามต่อไปว่าดินแดนเหล่านี้ย่อมมีผู้ปกครองเป็นเจ้าของอยู่แล้ว ไปยึดแย่งเขามาได้อย่างไร กัปตันตอบว่าเพื่อนำพวกชนพื้นเมืองสู่อารยธรรมและเผยแผ่คริสต์ศาสนา และด้วยเหตุนี้เองทำให้ประชาชน (ของโปรตุเกสและชาติมหาอำนาจตะวันตก) ต้องทำสงครามกับอาหรับและทำสงครามอื่นๆ นับครั้งไม่ถ้วน พระเจ้าจักราทรงมีพระราชจริยาวัตรตื่นแต่เช้าตรู่ และเสด็จไปในอุทยานแห่งวิหารเทพีธรรมเพื่อทรงรับอากาศบริสุทธิ์ วันหนึ่งพระองค์ทรงไม่พอพระทัยอย่างยิ่งเมื่อเด็กๆ ที่รอเรียนหนังสือในวัดนั้นเล่นส่งเสียงดังน่ารำคาญ พระเจ้าจักราเกือบจะทรงตักเตือนเด็กเหล่านี้ด้วยพระองค์เอง แต่ก็มีสตรีนางหนึ่งเข้ามาตักเตือนเสียก่อน พระเจ้าจักราจึงแฝงพระองค์แอบฟัง สตรีนางนั้นได้ยกชาดกเรื่องเต่าช่างพูดมาตักเตือน เป็นที่พอพระทัยของพระเจ้าจักราเป็นอันมาก และทรงระลึกได้ว่าสตรีนางนั้นก็คือ เรณู บุตรีของสมุหราชมณเฑียร การคล้องช้างสำเร็จลุล่วงด้วยดี ได้ช้างเผือกมาด้วยเชือกหนึ่ง ซึ่งเป็นมหามงคลยิ่งในรัชสมัยของพระเจ้าจักรา จึงจัดให้ทำธงแดงมีช้างเผือกอยู่บนธงใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งพระราชอาณาจักรสืบไป ข่าวลุไปถึงพระกรรณพระเจ้าหงสา พระเจ้าหงสาจึงได้ฉีก "สนธิสัญญาว่าด้วยการยุติความขัดแย้งโดยมีผู้ไกล่เกลี่ยอย่างสันติระหว่างหงสากับอโยธยา" ทิ้ง และเรียกร้องอโยธยาให้มอบช้างเผือกให้ แต่อโยธยาไม่ยอม จึงใช้เป็นข้ออ้างในการทำสงคราม กองทัพหงสาบุกตีเมืองกานบุรีแตกโดยไม่ประกาศสงครามอย่างเป็นทางการตามธรรมเนียมระหว่างประเทศ ทัพหงสาจับแต่ผู้หญิงไว้เป็นเชลย ฆ่าชาวเมืองที่เหลือและเผาเมืองจนสิ้น กองทัพหงสากำลังมุ่งหน้าสู่อโยธยา เมื่อพระเจ้าจักราทรงทราบข่าวก็ทรงจัดตั้งทัพไปต่อต้าน โดยให้สมุหราชมณเฑียรรักษาพระนครไว้ เมื่อทั้งสองฝ่ายต่อสู้กัน หงสากำลังเพลี่ยงพล้ำ พระเจ้าจักราจึงบอกให้ทหารอโยธยาอย่าทำร้ายทหารศัตรูอีก ให้เพียงจับเป็นเชลยถ้าทำได้ ส่วนพระองค์จะกระทำยุทธหัตถีกับกษัตริย์หงสา ทรงย้ำว่า "เราไม่ได้มาเพื่อสู้กับชาวหงสา เรามาสู้กับประมุขของพวกเขาเท่านั้น" ผลการยุทธหัตถีปรากฏว่าพระเจ้าหงสาทรงเป็นผู้พ่ายแพ้ ตกจากหลังช้างทรง สิ้นพระชนม์ ณ ที่รบ เมื่อสิ้นพระเจ้าหงสาผู้เป็นเหตุแห่งสงครามแล้ว พระเจ้าจักราจึงประกาศสงบศึก ปล่อยตัวเชลยให้กลับไป และขอให้สันติสุขจงมีแก่ทุกฝ่าย กลับมาที่อโยธยา สมุหราชมณเฑียรดึงดันจะให้พระเจ้าจักราปฏิบัติตามโบราณราชประเพณีอีก โดยจะให้มีพระเจ้าจักราเลือกมเหสี 365 องค์ และเลือกอีก 1 องค์เป็นพระราชินีกิตติมศักดิ์ มิให้ด้อยไปกว่ากรุงหงสา พระเจ้าจักราจึงเลือกเรณูอย่างเสียมิได้ ตั้งเป็นพระราชินีกิตติมศักดิ์ ไม่มีเบี้ยหวัดและพระตำหนัก แล้วส่วนมเหสีอีก 365 ทรงตรัสว่าจะเลือกภายหลังแล้วเสด็จพระราชดำเนินจากไป เรณูจึงรีบเข้าไปกราบทูลว่าการเลี้ยงดูมเหสีอีก 365 องค์นั้นไม่จำเป็น ควรนำพระราชทรัพย์นี้ไปบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่ราษฎรดีกว่า พระเจ้าจักราทรงพอพระทัยเป็นอย่างมาก จึงให้เรณูเป็นพระราชินี "ตัวจริง" แทนที่จะเป็นพระราชินี "กิตติมศักดิ์" เรณูกระซิบบอกวิธีที่ไม่ต้องมีมเหสีมากมายแก่พระเจ้าจักรา พระเจ้าจักราจึงทรงมีพระบรมราชโองการมอบพระราชอำนาจการมีมเหสี 365 องค์แก่สมุหราชมณเฑียรแทน แล้วทรงกำชับว่า "เราต้องไม่แพ้พระเจ้าหงสานะ"
ค่ายบางระจัน (2482)

ค่ายบางระจัน (2482/1939) พ.ศ. 2308 พม่ายกทัพเข้ามารุกรานไทยหลายหมู่บ้าน พล และ แสน สองหนุ่มบ้านวิเศษไชยชาญจึงขี่ม้ามาส่งข่าวกำนันบ้านศรีบัวทอง ถึงแผนการของ ทิดดอก บ้านกลับ และ ทองแก้ว บ้านโพธิ์ทะเล ซึ่งเข้าไปคลุกคลีกับพวกพม่าเพื่อจะปล้นทรัพย์ แผนการสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี หากแต่กำนันบ้านศรีบัวทองเสียชีวิตในเหตุการณ์ สร้างความเศร้าสลดต่อชาวบ้านยิ่งนัก เมื่อขาดผู้นำ แท่น ซึ่งมีฝีมือในการรบดี จึงเสนอให้เดินทางไปสมทบที่ค่ายบางระจัน ชาวบ้านศรีบัวทองจึงแต่งตั้งแท่นเป็นแม่ทัพ ขณะนั้น เนเมียวสีหบดี แม่ทัพฝีมือเก่งกล้าฝ่ายพม่า มาตีค่ายบางระจันหลายต่อหลายครั้งก็ไม่สามารถเอาชนะได้ จึงเริ่มร้อนใจกลัวชาวบ้านค่ายบางระจันจะรวมกำลังคนได้มากขึ้น สุกี้ นายกองของพม่า ซึ่งเคยอาศัยอยู่เมืองไทยมานานอาสาเป็นผู้คุมทัพมาตีค่ายบางระจัน แท่นยังบาดเจ็บสาหัสจากการรบครั้งก่อน นายจัน หนวดเขี้ยว ขุนสรรค์ พันเรือง และคนอื่นๆ หารือตกลงกันว่าจะให้พลขี่ม้าไปขอปืนใหญ่จากกรุงศรีอยุธยาแต่ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ไม่เห็นด้วย มีเพียงพระยารัตนาฯ ที่เห็นใจชาวบ้านบางระจัน จึงตามพลมาช่วยสอนวิธีการหล่อปืนใหญ่แต่ไม่สำเร็จ สุกี้ยกทัพโจมตีค่ายบางระจันและสามารถทำลายประตูค่ายได้ ชาวบ้านทั้งชายและหญิงพร้อมใจกันเข้าต่อสู้ แต่หมดกำลังจะต้านทานจึงพ่ายแพ้พม่าไปในที่สุด