คำสั่งคำสาป (2497)
คำสั่งคำสาป (2497/1954) ดร.ทองคำ เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ยึดมั่นในลัทธิประชาธิปไตย มีสานุศิษย์เคารพเป็นจำนวนมาก เมื่อ ดร.ทองคำ เสียชีวิต นายพูน พี่ชายของดร.ทองคำ ซึ่งเป็นผู้ร่วมอุตสาหกรรมน้ำพูนจิตต์ รับ เครือมาศ ลูกสาวคนเดียวของ ดร.ทองคำ มาดูแล นายพูนได้สร้างอนุสาวรีย์ ดร.ทองคำ ขึ้น และพยามยามชักจูงผู้ที่เคยเลื่อมใส ดร.ทองคำ ให้มาเลื่อมใสตน แต่เบื้องหลังกลับวางแผนการกำจัดเครือมาศโดยการวางยาทำลายเส้นประสาท เครือมาศรู้ตัวทันจึงลอบหนีไปหา ขุนลีลาศาสตร์สุนทร เพื่อนรักของ ดร.ทองคำ ขุนลีลาศาสตร์สุนทรอาศัยอยู่กับ ชัยศิริ บุตรชายซึ่งมีอาชีพเป็นนักสืบชัยศิริจึงรับปากจะช่วยเครือมาศ ชัยศิริลอบเข้าบ้านพูนโพคาเพื่อสืบหาหลักฐานสาเหตุการเสียชีวิตของ ดร.ทองคำ นายพูนมาพบเข้าจึงเกิดการต่อสู้กัน นายพูนและแม่ผันแยกกันหนี แม่ผันออกไปทางลับเพื่อเรียกคนมาช่วย ส่วนนายพูนหนีไปทางตึกที่มีรูปปั้น ดร.ทองคำ ชัยศิริซ้อนกลนายพูนต่อหน้าคนที่แม่ผันเรียกมา โดยทำให้รูปปั้นเปิดโปงว่านายพูนทรยศต่อ ดร.ทองคำ และออกคำสั่งให้จัดการนายพูนเสีย แต่นายพูนพยายามแย่งระเบิดจากคนใกล้ๆ พ.ต.ต. ว่อง โดดออกมาจากด้านหลังรูปปั้นเข้าแย่งระเบิดไว้ทัน และใส่กุญแจมือนายพูนติดไว้กับรูปปั้น แต่ไม่ทันไรรูปปั้นนั้นก็ล้มทับนายพูนตายคาที่
ชายสะไบ (2493)

ชายสะไบ (2493/1950) เรื่องของลูกทุ่งและการล้างทุ่งเพื่อแก้แค้นกัน ด้วยหมัดต่อหมัด ดาบต่อดาบ สุรสิทธิ์เป็นเจ้าหนุ่มเลือดไพร่ ผู้เผยอพิศมัยในลูกสาวของนายทุน จนกระทั่งพบกับความทารุณกลั่นแกล้งอย่างเจ็บแสบจากทัต เอกทัต หัวแก้วหัวแหวนของนายทุน ผู้ซึ่งปองสาวงามนั้นอยู่เหมือนกัน พรรณี สำเร็จประสงค์ แม่สาวผู้นี้ เปนตัวการที่ความงามของหล่อนสร้างความเกลียดให้เกิดแก่ชีวิตของคนหลายคนเชื่อมโยงกันไป ดีที่สุดที่สุรสิทธิ์แสดงได้ ก็คือบทบาทเมื่อเขารู้ตัวว่าเมียของเขากำลังจะมีลูกถึงกับตื่นเต้นโลดถลาจะไปตามหมอตำแยทั้งที่เมียเพิ่งตั้งไข่ได้ 1 เดือน ดีที่สุดของทัต เอกทัต ก็คือบททารุณทั้งอย่างเลือดร้อนและเลือดเย็นของเขา ดีที่สุดในบรรดาตัวประกอบ ก็คือ ม.ล. เตาะ โกมารชุน ซึ่งแสดงบทบาทเป็นแม่เฒ่า ของสุรสิทธิ์ได้อย่างมีชีวิตชีวา และดีที่สุดในกะบวนจี้เส้นด้วยหน้าตายและหนวดจิ๋มคือจำรูญ หนวดจิ๋ม (ที่มา: หนังสือพิมพ์รายวัน สยามนิกร 11 กันยายน พ.ศ. 2493)

แสนแสบ (2493)
แสนแสบ (2493/1950) เมื่อ ผิว พ่อของ แผลง หนุ่มลูกทุ่งแสนแสบเสียชีวิตลง แผลงได้มาอาศัยอยู่กับ ลุงเชื่อม ซึ่งช่วยดูแลที่นา 30 ไร่ อันเป็นมรดกของแผลงตามคำสั่งเสียของผิว แต่ลุงเชื่อมเกิดละโมบอยากจะได้ที่นาเป็นของตนเอง จึงหาทางกำจัดแผลงสารพัดวิธี ทั้งใส่ร้ายว่าแผลงข่มขืน ช้อย ลูกสาวของตน หลอกให้แผลงไปซื้อควายที่หนองจอกแล้วจ้างคนไปดักฆ่า แม้กระทั่งใส่ร้ายว่าแผลงขโมยเงินของตนไป แล้วไปฟ้องให้ กำนันแปลก จับตัวแผลง แต่กำนันแปลกเห็นท่าไม่ดีจึงพยายามไกล่เกลี่ยแต่ไม่เป็นผล แผลงประกาศความแค้นก่อนจะออกจากทุ่งแสนแสบไป เทียม คู่หมั้นของช้อยสบโอกาสที่แผลงไม่อยู่หาเรื่องถอนหมั้นช้อยเพราะหมายปอง โปรย คนรักของแผลงมานานแล้ว เมื่อแผลงรู้เรื่องเข้าจึงกลับมาแก้แค้นเทียมและพรรคพวก แผลงหนีมาที่ศาลเจ้าพ่อขวัญเจ้าแม่เรียมและบังเอิญได้พบกับโปรย จึงมีโอกาสปรับความเข้าใจกัน กำนันแปลกซึ่งตามมาจับแผลงแอบได้ยินหนุ่มสาวสองคนคุยกัน จึงได้รู้ว่าที่ผ่านมาแผลงถูกลุงเชื่อมใส่ร้าย แผลงจึงได้ทั้งที่ดินและคนรักกลับคืนมา
รอยไถ (2493)
รอยไถ (2493/1950) เป็นเรื่องชีวิตของชาวทุ่งบางเขนที่คลุกเคล้าอยู่กับควาย โคลนและคล่ำด้วยแดดลมตามธรรมชาติ ห่างไกลจากการแต่งลวงเยี่ยงคนในกรุง แต่ชีวิตนั้นต้องผจญกับความแค้นอย่างแสนสาหัส ด้วยเรื่องรักและเหลี่ยมนักเลง เพราะลูกน้อยและเมียรัก จนต้องจับ ดาบขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เพื่อเรียกเลือดมาล้างรอยน้ำตาของ เขา ... ในด้านรัก เราจะได้เห็นความรักของเจ้าลือที่ซื่อ ต่อเมียรักและทนุถนอมลูกน้อยเพียงดวงใจ ความรักในฐานชู้ และความรักของสาวเพิ่งรุ่นกับชายอารมณ์เริงอย่างสุขสด ต่างกันถึงสามรส ในด้านแค้น ก็เกินที่จะเปรียบกับเรื่องใด นอกจากจะรู้แก่ใจของผู้ที่ถูกพรากเมียรักและทิ้งลูกแดงที่ยังอ้อนนมไว้ให้เลี้ยง ซ้ำถูกพวกนักเลงเหยียบเกียรติของเขาอีก (ที่มา: นิตยสารภาพยนตร์สาร กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2493)
ลานท่าฟ้า (2491)

ลานท่าฟ้า (2491/1948) ภาพยนต์ไทยเรื่องแรกหลังสงคราม ของบริษัทดาราภาพยนต์ (ที่มา: นิตยสาร จอเงิน พฤษภาคม พ.ศ. 2491)

ชอนกาเหว่า (2489)

ชอนกาเหว่า (2489/1946) เพราะความเหลวแหลกของ ประเวศทำให้เขาถูก นายประวัติ ผู้เป็นบิดา เฉดหัวออกไปจากบ้าน ประเวศจึงต้องออกรอนแรมไปยังหมู่บ้านชอนกาเหว่า สถานที่ที่เขาได้พบกับ ผู้ใหญ่ฟื้น เพื่อนของบิดา ทว่าผู้ใหญ่ฟื้นกลับไม่รู้จักประเวศ ประเวศจึงเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น นายเริกษ์ และขอทำงานในไร่ฝ้ายของผู้ใหญ่ฟื้น ฝ่ายนายประวัติ หลังจากไล่ประเวศลูกชายออกจากบ้าน ก็ชักชวน จามรี หลานสาวมาช่วยงาน รวมถึงไปช่วยดูแลไร่ฝ้ายของผู้ใหญ่ฟื้น ทำให้เธอได้พบกับประเวศ แต่เพราะท่าทียียวนของประเวศทำให้เธอไม่อยากจะผูกสมัครรักใคร่ทั้งที่ในใจก็แอบชอบ กระทั่งประเวศรู้ข่าวว่า นายยศ ลูกเขยของผู้ใหญ่ฟื้นกำลังคิดจะโกงฝ้าย และจับจามรีเป็นตัวประกัน ด้วยความรักประเวศจึงเร่งรุดไปช่วยจนเกิดการต่อสู้ขึ้น ในจังหวะเดียวกับที่ประวัติและผู้ใหญ่ฟื้นเดินทางมาพบเข้า จึงช่วยประเวศล้างบางพวกคิดคดทรยศ แต่น่าเสียดายที่ผู้ใหญ่ฟื้นพลาดท่าเสียชีวิต ประเวศและจามรีจึงดูแลไร่ฝ้าสืบไป

ชายชาตรี (2489)
ชายชาตรี (2489/1946) ณ เมืองกาญจนบุรี คงจะไม่มีนักเลงหน้าไหนใหญ่เกินกว่า กำนันหาญ แต่เพราะวัยอันใกล้จะร่วงโรยรา กำนันจึงตามตัว นาฏยา ลูกสาวที่อยู่เมืองกรุงกลับมาช่วยสานต่ออำนาจ ครั้นนาฏยากลับมาถึงบ้านเธอก็ได้พบกับ แผน นักเลงหนุ่มพเนจร ซึ่งดูท่าว่าจะช่วยเหลืองานของพ่อตนได้ จึงให้แผนมาอยู่ด้วย ทว่านานวัน ด้วยความหล่อเหลาของแผนก็ทำเอานาฏยาตกหลุมรักซึ่งเขาเองก็คิดไม่ต่างจากเธอ ทั้งสองจึงสานสัมพันธ์ฉันท์คนรัก ท่ามกลางความไม่พอใจของ ไอ้สุข มือขวาของกำนันหาญ ที่คิดจะทรยศกำนันหาญมาก่อนหน้านั้นเนื่องจากกำนันหาญคิดจะเลิกปล้น ในขณะที่มันต้องการจะเป็นโจรต่อไป เมื่อเห็นว่านาฏยากำลังรักกับแผน ไอ้สุขจึงจัดการปล้นวัวกำนันหาญรวมทั้งจับนาฏยาเป็นตัวประกัน แผนซึ่งแท้ที่จริงคือนายร้อยตำรวจปลอมตัวมาจับขบวนการของกำนันหาญ จึงเปิดเผยตัวออกตามล่าไอ้สุข แต่ก็สายไปเสียแล้วเมื่อไอ้สุขกระทำการพรากพรหมจรรย์ไปจากนาฏยา และด้วยความโกรธแค้นนาฏยาจึงฆ่าไอ้สุขตายคาที่ แล้วจึงหนีไปบวช ละทิ้งซึ่งชะตากรรมอันแสนเศร้า ที่ทำให้แผนสุดแสนช้ำใจ
บ้านไร่นาเรา (2485)
บ้านไร่นาเรา (2485/1942) ในสมัยที่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ณ จังหวัดสุโขทัย เฉิด และ เฉิดฉาย บำเพ็ญดีสองสามีภรรยาซึ่งดำรงชีพด้วยการเป็นกสิกร ใช้ชีวิตเป็นพลเมืองที่ดีต้องตามรัฐนิยม ครอบครัวบำเพ็ญดีมีบุตรสองคน ชื่อ ชาญ และ อาจ และมีบุตรี ชื่อ เจริญศรี โดยมีเพื่อนบ้าน คือ ขำ บำรุงชาติ ซึ่งมีลูกสาวสองคน ชื่อ ขำคม และ ลำเพา และลูกชาย เมื่อยามบ้านเมืองเกิดศึกสงคราม เฉิดและขำก็พร้อมพลีกายต่อสู้ปกป้องประเทศ แม้เฉิดจะบาดเจ็บจากการสู้รบในสงคราม ระหว่างที่เฉิดไปรับใช้ชาติ เฉิดฉายก็คอยดูแลครอบครัว และส่งเสียให้ชาญ ลูกชายคนโตได้ศึกษาเล่าเรียน 8 ปีผ่านไป บ้านเมืองเข้าสู่สภาวะปรกติสุข ชาญมุ่งมั่นตั้งใจเรียนและหวังจะสืบทอดอาชีพกสิกรรมแทนพ่อจนสำเร็จการศึกษาที่เกษตรศาสตร์แม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่และกลับมาสุโขทัย ชาญได้พบกับ ลุงอยู่ ซึ่งเขานับถือเสมือนลุง ลุงอยู่พาชาญไปเลี้ยงฉลองที่ร้านเย็นทรวง ที่นั่น ชาญได้แอบเห็นพ่อค้าขูดรีดราคาสินค้าจากกสิกร ชาญจึงเข้าไปขัดขวางและแนะนำให้กสิกรไปซื้อสินค้าที่สหกรณ์หรือรถไฟทำให้ ฟู แสวงสิน นักเลงเจ้าถิ่นไม่พอใจจนมีเรื่องชกต่อยกัน แต่ลุงอยู่มาห้ามไว้ได้ทัน ชาญพยายามให้ความรู้กสิกรในเรื่องการเกษตรตามที่ตนได้ร่ำเรียนมา เป็นที่ชื่นชอบแก่ชาวบ้านและกสิกรมาก รวมทั้งขำคม เพื่อนวัยเด็ก แต่อย่างไรก็ตาม ฟูก็ยังไม่เลิกไปหลอกลวงกสิกร ชาญซึ่งซุ่มดูพฤติกรรมเมื่อเห็นดังนั้นจึงเข้าไปปราบปรามจนฟูและพรรคพวกพ่ายแพ้ไปในที่สุด ชาญได้แต่งงานกับขำคมและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
แม่ศรีเมือง (2484)
แม่ศรีเมือง (2484/1941) หลังจากสามีเสียชีวิต ศรีเมือง จึงแต่งงานกับ หลวงภรตชำนาญ ศรีเมืองมีลูกติดชื่อประดิษฐ์ เช่นเดียวกับชำนาญก็มีลูกสาวชื่อ วารินทร์ ชีวิตคู่ของทั้งสองราบรื่นได้ไม่นานก็เกิดปัญหา เนื่องจากชำนาญเริ่มติดเหล้าและการพนันอย่างหนักจนเป็นหนี้สินจึงต้องย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี หลังจากนั้นไม่นาน ศรีเมืองก็ฆ่าตัวตาย ประดิษฐ์และวารินทร์ต้องออกไปทำงานเพื่อหาเลี้ยงตัวเอง แต่ต่อมาบ้านเมืองก็เข้าสู่ภาวะสงคราม ประดิษฐ์ถูกเกณฑ์เป็นทหารไปรับใช้ชาติ แต่ประดิษฐ์กลับขายชาติจึงถูกจับและถูกตัดสินประหารชีวิตในภายหลัง
เลือดไทย (2484)

เลือดไทย (2484/1941) สร้างจากชีวิตแท้ของไทยใกล้แม่โขงที่ยอมสละชีวิตและเลือดเนื้อ เพื่อป้องกันอิสรภาพและทรัพย์สิน เพราะโจรหมู่หนึ่งคอยรังควาน ปล้นสะดมอยู่ไม่หยุด แม้ว่าเลือดจะสาดราดแผ่นดิน ไทยในยามนี้ก็คิดแต่เพียงว่า เขาสูญสิ้นแต่ร่างกาย ส่วนชื่อเสียงของผู้ทำดีย่อมไม่หายไปจากโลกนี้เท่านั้น แม้ว่าจะเป็นท่ามกลางความเวิ้งว้างว่างเปล่าเช่นนี้ ... แต่ก็ใช่ว่าจะไร้เสียซึ่งความรักความหวานหยาด เยิ้มเสียทีเดียวไม่ .. เลือดไทยต้องสู้ - สู้จนกว่าชีวิตจะหาไม่ ถ้าสู้ไม่ได้ก็จงเอาร่างของเราถมไว้บนแผ่นดินไทยนี้ ดีกว่าจะต้องตกไปเปนทาษของผู้อื่น ... เมื่อเกิดมีคน ขายชาติ, หมู่คณะ ขายชาติเกิดขึ้นเพียงคนเดียว ผลที่ได้ รับก็คือ ... ภายในค่ายน้อย ๆ ที่ชาวไทย - เลือดไทยเรา ต้องร่วมใจกันสู้ฝ่ายอธรรม - สู้ - สู้ จนกระทั่งโลหิตหยด สุดท้าย เพื่อเกียรติศักดิ์ของไทย ... อย่างนี้ใครจะทนได้ แต่ถ้าใครไม่ปรารถนาที่จะอยู่ในสภาวะเช่นนี้ ก็ต้องสู้ - สู้เพื่อไว้ลายของชายชาติเสือ ผู้มีเลือดเนื้อเป็นไทย ... นี่คือคนขายชาติ แนวที่ 5 ฉะนั้น จงร่วมใจร่วมกายกันปราบ ปรามแนวที่ 5 เสียแต่บัดนี้ (ที่มา: นิตยสารประมวลภาพยนตร์ พฤษภาคม พ.ศ. 2484)

แม่จ้าวฟ้า (2484)
แม่จ้าวฟ้า (2484/1941) ในคืนวันแต่งงานของพี่สาว โพ สาวชาวดอยไปเดินเล่นที่ห้วยสาวไห้ และได้พบกับ เจน หนุ่มชาวกรุงที่เข้ามาเดินป่าเพื่อหาว่านผาไปทำยาตามวิชาแพทย์ที่ศึกษามา เจนกำลังกลัดกลุ้มที่ยังหาว่านผาไม่พบโพสงสารจึงคอยช่วยเหลือเจนและหาของต่างๆ มาปรนนิบัติ เจนซาบซึ้งในน้ำใจโพ ทั้งสองเผลอใจทำผิดประเพณีในคืนวันหนึ่ง โดยไม่รู้ว่า พราย ซึ่งแอบชอบโพมานานแอบเห็นเหตุการณ์ทั้งหมด พรายรีบไปฟ้อง ตาเพิ่น พ่อของโพ ตาเพิ่นโกรธมาก ยื่นคำขาดให้เจนทำตามประเพณีของชาวดอย เจนไม่สามารถทำได้จึงพาโพหนีจากห้วยสาวไห้ไปอยู่กรุงเทพ ตั้งใจจะขัดเกลากิริยามารยาทของโพ แล้วค่อยพากลับมาหาตาเพิ่น แต่โพก็ต้องพบกับความชอกช้ำ เพราะความจริงเจนมีภรรยาอยู่แล้วชื่อ สายใจ โพทนทุกข์เพราะความหึงหวงของสายใจ และโดนดูถูกเหยียดหยามในความเป็นสาวชาวดอย ในที่สุดโพก็ตัดสินใจกลับมายังห้วยสาวไห้ด้วยความเสียใจ
แดนคนเดน (2484)
แดนคนเดน (2484/1941) ในตำบลทุ่งพญาลอ มีชาวนาสองครอบครัวทำนาอยู่ใกล้ๆ กัน พ่อของ ทับ และเทียบ มักจะมีปากเสียงเรื่องการล้ำเขตการทำนากับพ่อของ เครือ อยู่เสมอ จนกระทั่งวันหนึ่ง ทั้งสองมีปากเสียงกันอย่างหนักจนพ่อของเครือพลั้งมือฆ่าพ่อของทับเสียชีวิต ทับตรงดิ่งไปที่บ้านเครือด้วยความโกรธแค้น และกระหน่ำยิงพ่อของเครือเสียชีวิตคาที่ ส่วนตัวเองระหกระเหินหนีเข้าไปในป่า และพลัดเข้าไปในฝูงโจรซึ่งมี เสือฉาย เป็นหัวหน้า เสือฉายเห็นแววของทับจึงชักชวนให้มาเป็นสมุนออกปล้นเสบียงชาวบ้าน วันหนึ่งทับได้รู้ว่าเสือฉายโกงเงินส่วนของตนเอาไปให้ เปลื้อง นำไปสู่ขอเครือ ทับจึงฆ่าเสือฉายและบุกเข้าไปในงานแต่งงานของเปลื้องกับเครือ แม่ของทับเข้ามาห้าม ทำให้ทับสำนึกผิด เปลื้องฉวยโอกาสคว้าปืนยิงทับเสียชีวิต เทียบหยิบมีดแทงเปลื้องแก้แค้นแทนพี่ชาย
พระเจ้าช้างเผือก (2484/1941) เรื่องเริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2083 ในอโยธยา อันเป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักรไทย อโยธยาเป็นคำในภาษาบาลีโบราณ แปลว่าปราศจากสงคราม หรือ สันติภาพ นั่นเอง ยุวกษัตริย์พระนามว่า "จักรา" ทรงขึ้นครองราชบัลลังก์สืบเนื่องจากการเสด็จสวรรคตอย่างกระทันหันของพระราชบิดา พระเจ้าจักราถูกเลี้ยงดูมาโดยภิกษุรูปหนึ่ง จึงไม่ทรงโปรดความโอ่อ่าในราชนำนัก ในการเถลิงถวัลย์ราชสมบัตินี้ทรงมีพระบัญชาให้งดเว้นการเฉลิมฉลองทั้งปวง ในวันฉัตรมงคล ปีที่สามหลังจากขึ้นครองราชย์ สมุหราชมณเฑียรได้เตือนพระเจ้าจักราให้ปฏิบัติตามโบราณราชประเพณีที่กษัตริย์ต้องมีมเหสี 365 องค์ ตามจำนวนวันในหนึ่งปี สมุหราชมณเฑียรได้จัดให้กุลธิดา หญิงงามผู้เป็นบุตรีของขุนนางชั้นสูงมาฟ้อนรำถวายพระพร โดยหนึ่งในหญิงสาวเหล่านี้ก็มี เรณู บุตรีของสมุหราชมณเฑียรรวมอยู่ด้วย แต่ในขณะนั้นเองมีสาส์นจากต่างประเทศมา พระเจ้าจักราทรงมีพระทัยจดจ่อกับสาส์นนั้นอ่านถึงสองรอบตกอยู่ในภวังค์จนบรรดาสาวงามต่างถวายพระพรลากลับไปหมดแล้วพระเจ้าจักราก็ไม่ทรงรู้พระองค์ พระเจ้าจักราทรงมีพระราชวินิจฉัยว่าคงไม่อาจปฏิบัติตามโบราณราชประเพณีได้ในกาลดังกล่าว เพราะมีเหตุการคับขันขึ้น กล่าวคือ กษัตริย์โมกุลได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับกษัตริย์หงสา และกษัตริย์หงสาก็กำลังเตรียมไพร่พลสำหรับการสงครามอยู่ พระเจ้าจักราจึงจัดให้มีการคล้องช้างเพื่อเป็นกำลังให้อโยธยา ทั้งนี้สมุหราชมณเฑียรไม่เห็นด้วยเพราะคิดว่าถ้าทรงมีพระมเหสีเสียก่อน 365 องค์ แล้วพาพระมเหสีไปคล้องช้างด้วยจะได้ช้างมามากกว่าไปพระองค์เดียวเป็นสิบเท่า แต่พระเจ้าจักราปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าวเพราะเสนาบดีส่วนใหญ่ล้วนเห็นชอบให้จับช้างก่อน ได้มีพ่อค้าชาวโปรตุเกสมาเฝ้าทูลอองพระบาท จึงมีพระกระแสสอบถามถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ในโลก รวมถึงจำนวนพระมเหสีที่กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ในแต่ในดินแดนทรงมี กัปตันทูลตอบว่ากษัตริย์ตะวันตกมีได้พระองค์เดียวเพราะศาสนากำหนดไว้ เว้นแต่สุลต่านแห่งรัฐอิสลามที่มีมเหสีได้สี่องค์ ส่วนเรื่องดินแดนต่างๆ นั้นกัปตันทูลเกี่ยวกับการยึดครองดินแดนที่ค้นพบใหม่ทางตะวันตก (ทวีปอเมริกา) พระเจ้าจักราทรงสนพระทัยและตรัสถามต่อไปว่าดินแดนเหล่านี้ย่อมมีผู้ปกครองเป็นเจ้าของอยู่แล้ว ไปยึดแย่งเขามาได้อย่างไร กัปตันตอบว่าเพื่อนำพวกชนพื้นเมืองสู่อารยธรรมและเผยแผ่คริสต์ศาสนา และด้วยเหตุนี้เองทำให้ประชาชน (ของโปรตุเกสและชาติมหาอำนาจตะวันตก) ต้องทำสงครามกับอาหรับและทำสงครามอื่นๆ นับครั้งไม่ถ้วน พระเจ้าจักราทรงมีพระราชจริยาวัตรตื่นแต่เช้าตรู่ และเสด็จไปในอุทยานแห่งวิหารเทพีธรรมเพื่อทรงรับอากาศบริสุทธิ์ วันหนึ่งพระองค์ทรงไม่พอพระทัยอย่างยิ่งเมื่อเด็กๆ ที่รอเรียนหนังสือในวัดนั้นเล่นส่งเสียงดังน่ารำคาญ พระเจ้าจักราเกือบจะทรงตักเตือนเด็กเหล่านี้ด้วยพระองค์เอง แต่ก็มีสตรีนางหนึ่งเข้ามาตักเตือนเสียก่อน พระเจ้าจักราจึงแฝงพระองค์แอบฟัง สตรีนางนั้นได้ยกชาดกเรื่องเต่าช่างพูดมาตักเตือน เป็นที่พอพระทัยของพระเจ้าจักราเป็นอันมาก และทรงระลึกได้ว่าสตรีนางนั้นก็คือ เรณู บุตรีของสมุหราชมณเฑียร การคล้องช้างสำเร็จลุล่วงด้วยดี ได้ช้างเผือกมาด้วยเชือกหนึ่ง ซึ่งเป็นมหามงคลยิ่งในรัชสมัยของพระเจ้าจักรา จึงจัดให้ทำธงแดงมีช้างเผือกอยู่บนธงใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งพระราชอาณาจักรสืบไป ข่าวลุไปถึงพระกรรณพระเจ้าหงสา พระเจ้าหงสาจึงได้ฉีก "สนธิสัญญาว่าด้วยการยุติความขัดแย้งโดยมีผู้ไกล่เกลี่ยอย่างสันติระหว่างหงสากับอโยธยา" ทิ้ง และเรียกร้องอโยธยาให้มอบช้างเผือกให้ แต่อโยธยาไม่ยอม จึงใช้เป็นข้ออ้างในการทำสงคราม กองทัพหงสาบุกตีเมืองกานบุรีแตกโดยไม่ประกาศสงครามอย่างเป็นทางการตามธรรมเนียมระหว่างประเทศ ทัพหงสาจับแต่ผู้หญิงไว้เป็นเชลย ฆ่าชาวเมืองที่เหลือและเผาเมืองจนสิ้น กองทัพหงสากำลังมุ่งหน้าสู่อโยธยา เมื่อพระเจ้าจักราทรงทราบข่าวก็ทรงจัดตั้งทัพไปต่อต้าน โดยให้สมุหราชมณเฑียรรักษาพระนครไว้ เมื่อทั้งสองฝ่ายต่อสู้กัน หงสากำลังเพลี่ยงพล้ำ พระเจ้าจักราจึงบอกให้ทหารอโยธยาอย่าทำร้ายทหารศัตรูอีก ให้เพียงจับเป็นเชลยถ้าทำได้ ส่วนพระองค์จะกระทำยุทธหัตถีกับกษัตริย์หงสา ทรงย้ำว่า "เราไม่ได้มาเพื่อสู้กับชาวหงสา เรามาสู้กับประมุขของพวกเขาเท่านั้น" ผลการยุทธหัตถีปรากฏว่าพระเจ้าหงสาทรงเป็นผู้พ่ายแพ้ ตกจากหลังช้างทรง สิ้นพระชนม์ ณ ที่รบ เมื่อสิ้นพระเจ้าหงสาผู้เป็นเหตุแห่งสงครามแล้ว พระเจ้าจักราจึงประกาศสงบศึก ปล่อยตัวเชลยให้กลับไป และขอให้สันติสุขจงมีแก่ทุกฝ่าย กลับมาที่อโยธยา สมุหราชมณเฑียรดึงดันจะให้พระเจ้าจักราปฏิบัติตามโบราณราชประเพณีอีก โดยจะให้มีพระเจ้าจักราเลือกมเหสี 365 องค์ และเลือกอีก 1 องค์เป็นพระราชินีกิตติมศักดิ์ มิให้ด้อยไปกว่ากรุงหงสา พระเจ้าจักราจึงเลือกเรณูอย่างเสียมิได้ ตั้งเป็นพระราชินีกิตติมศักดิ์ ไม่มีเบี้ยหวัดและพระตำหนัก แล้วส่วนมเหสีอีก 365 ทรงตรัสว่าจะเลือกภายหลังแล้วเสด็จพระราชดำเนินจากไป เรณูจึงรีบเข้าไปกราบทูลว่าการเลี้ยงดูมเหสีอีก 365 องค์นั้นไม่จำเป็น ควรนำพระราชทรัพย์นี้ไปบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่ราษฎรดีกว่า พระเจ้าจักราทรงพอพระทัยเป็นอย่างมาก จึงให้เรณูเป็นพระราชินี "ตัวจริง" แทนที่จะเป็นพระราชินี "กิตติมศักดิ์" เรณูกระซิบบอกวิธีที่ไม่ต้องมีมเหสีมากมายแก่พระเจ้าจักรา พระเจ้าจักราจึงทรงมีพระบรมราชโองการมอบพระราชอำนาจการมีมเหสี 365 องค์แก่สมุหราชมณเฑียรแทน แล้วทรงกำชับว่า "เราต้องไม่แพ้พระเจ้าหงสานะ"
ลูกกำพร้า ภาค 3-4 (2483)
แผลเก่า (2483)
แผลเก่า (2483/1940) เป็นเรื่องเก่าของชาวบางกะปิ ที่บรรยายความรักของหนุ่มลูกบ้านนั้น ซึ่งมีความรักที่คุระอุอยู่ในอกเหลืออดกลั้น มันว่า... "ยิ่งมืดก็จะยิ่งฝ่า ยิ่งหนาก็จะยิ่งบุก... เรียมเอ๋ย พี่จะตายให้อ้ายหนุ่มลูกบ้านนี้ มันรู้ทั่วกันว่า อ้ายขวัญ มันรักของมันยังไง.." ว่าด้วยเรื่องราวความรักที่ไม่ราบรื่นนักของหนุ่มสาวชาวบางกะปิ ขวัญกับเรียม เพราะญาติฝ่ายหญิงไม่เห็นด้วยจึงพยายามกีดกันทุกประการ ถึงกับจับเรียมล่ามโซ่เอาไว้แต่ขวัญก็แอบมาหาจนได้ ในที่สุดญาติฝ่ายหญิงเลยขายเรียมให้กับคนชาวกรุง ภายในระยะหนึ่งปีที่ผ่านไป เรียมเปลี่ยนสภาพจากสาวบ้านนอกเป็นสาวชาวกรุงอย่างทันสมัย ถึงกับมีหนุ่มๆมาติดพันอยู่หลายคน ต่อมาเรียมได้ข่าวว่าแม่ป่วยหนักเลยกลับไปยังบ้านเดิมเพื่อพยาบาลแม่ เป็นโอกาสให้ขวัญได้พบปะกับเรียมอีกครั้ง ความรักซึ่งมีอยู่แต่เดิมก็คุระอุยิ่งขึ้น เมื่อแม่ของเรียมถึงแก่กรรมลง ขวัญได้บุกเข้ามาทำการเคารพศพโดยไม่เกรงต่อญาติฝ่ายหญิงจึงถูกลอบทำร้าย ขวัญได้สังหารเสียหลายคนแต่ขวัญถูกยิงจึงตะเกียกตะกายไปที่ศาลเจ้าต้นไทร ณ ที่ที่เคยสาบานรักกัน เรียมวิ่งตามมาถึงพลางกระโดดลงน้ำว่ายเข้าไปหา เมื่อขวัญเห็นว่าชีวิตความรักของเขาและเธอหมดหวังเพียงแต่นี้เอง ขวัญเลยเอามีดจ้วงแทงเรียมจนจมหายตายไปด้วยกัน
ใครผิดใครถูก (2482)
ใครผิดใครถูก (2482/1939) ที่ตำบลตรอกสะพานยาว บางรักเป็นแหล่งอาศัยของ นายมั่ง มั่งกุล และ สิบตำรวจเอกจุ่น เชาว์โปร่ง สองเพื่อนบ้านคู่อริที่มีเรื่องไม่ลงรอยกันนัก กล่าวคือ สิบตำรวจเอกจุ่น เชาว์โปร่ง นิยมการร้องรำทำเพลงเป็นที่น่ารำคาญใจแก่นายมั่ง ซึ่งกำลังกลัดกลุ้มเรื่องหนี้สิน จึงเป็นเหตุให้ทะเลาะวิวาทกันอยู่บ่อยครั้งแต่เหมือนโชคชะตาจะกลั่นแกล้ง ให้ลูกของทั้งสองต้องมารักกัน ขณะที่นายมั่งกำลังครุ่นคิดหาวิธีนำเงินมาจ่ายเถ้าแก่เงี๊ยบ เจ้าหนี้ ก็เผอิญ นายคล่อง หมอความมาขอพบและแจ้งว่านายมั่งได้รับมรดกเป็นเงินสองหมื่นบาทจาก นางสมบูรณ์ โภคาทรัพย์ หรือ นางแม้น มั่งกุล ยายของนายมั่ง เป็นเวลาเดียวกับที่เถ้าแก่เงี๊ยบก็มาทวงหนี้ทั้งต้นและดอกที่บ้านนายมั่ง และเมื่อทราบจากนายคล่องว่านายมั่งเพิ่งเป็นเศรษฐีมรดกก็เกิดความละโมบ ว่าจ้าง นายแหลม ไปปล้นบ้านนายมั่งคืนวันนั้น เจียด ลูกชายสิบตำรวจเอกจุ่นซึ่งรักอยู่กับบุญมี ลูกสาวของนายมั่ง บังเอิญได้ยินเถ้าแก่เงี๊ยบวางแผนปล้นทรัพย์นายมั่ง จึงไปเตือนนายมั่งแต่ถูกไล่ตะเพิดออกมาเสียก่อน เจียดจึงไปขอร้องพ่อให้ช่วยจับกุมนายแหลม สิบตำรวจเอกจุ่นทนนายเจียดรบเร้าไม่ไหวจึงตกปากรับคำ ตกดึก นายแหลมบุกไปบ้านนายมั่งตามกำหนด สิบตำรวจเอกจุ่นและนายเจียดซ่อนตัวอยู่ เมื่อเห็นนายแหลมเข้าบ้านนายมั่งจึงรวบตัวไว้ได้ ขณะนั้นเองนายคล่องวิ่งกระหืดกระหอบมาบอกนายมั่งว่า เรื่องมรดกเป็นการเข้าใจผิด ที่จริงมรดกนี้ตกเป็นของสิบตำรวจเอกจุ่น สิบตำรวจเอกจุ่นซึ่งไม่เคยนึกโกรธเกลียดนายมั่ง จึงแบ่งมรดกให้นายมั่งครึ่งหนึ่ง นายมั่งซาบซึ้งในน้ำใจสำนึกผิดที่เคยโกรธเกลียดสิบตำรวจเอกจุ่น ทั้งสองครอบครัวจึงปรองดองกันนับแต่นั้นเป็นต้นมา

หน้าที่