สามล้อประจันบาน (2495)
สามเกลอถ่ายหนัง (2495)
สามเกลอถ่ายหนัง (2495/1952) เรื่องราวของคณะถ่ายหนังที่ต้องมาสู้กับผู้ร้ายนอกจอ กรุงเทพ พ.ศ. 2493 เสือฉาย กำลังอาละวาดออกปล้นสะดมสร้างความหวาดกลัวให้ชาวบ้านร้อนถึงตำรวจต้องเร่งปราบปรามขนานนัก เสือฉาย จึงไปหลบซ่อนตัวที่จังหวัดเพชรบุรี ขณะนั้น สมพงษ์ ล้อต๊อก และ ดอกดิน สามเกลอหนุ่มเพิ่งเรียนการสร้างหนังจากประเทศอเมริกาจบ เกิดร้อนวิชาอยากทดลองฝีมือ อนิจจา สามเกลอสิ้นเนื้อประดาตัวแต่ก็ยังไม่ละความพยายาม ดิ้นรนเอาข้าวไปจำนำจนสามารถตั้งบริษัท "จิ้งจกภาพยนตร์" สำเร็จ บริษัทจิ้งจกภาพยนตร์เริ่มถ่ายหนัง โดยมีดอกดินเป็นผู้กำกับ สมพงษ์เป็นช่างถ่ายภาพยนตร์ ล้อต๊อกเป็นผู้ร้ายและได้ ณรงค์ มาเป็นพระเอก ชูศรี เป็นนางเอก แต่การทำงานเป็นไปอย่างทุลักทุเล สามเกลอหารือกันว่าจะเปลี่ยนไปถ่ายหนังที่จังหวัดเพชรบุรี แต่สามีนางเอกเกิดไม่ยอมให้นางเอกแสดงต่อ สามเกลอเข้าตาจนจึงต้องหาผู้มาแสดงแทน โชคดีได้พบสาวชาวไร่ชื่อ น้อย จึงชวนมาเป็นนางเอกโดยไม่รู้ว่าน้อยเป็นที่หมายปองของเสือฉาย รุ่งขึ้นถึงคิวการถ่ายฉากพลอดรักระหว่างพระเอกนางเอก เสือฉายผ่านมาเห็นเข้านึกว่าเป็นเรื่องจริงก็เกิดโทสะ วิ่งพรวดเข้าไปชกณรงค์ สมพงษ์สวมวิญญาณตากล้องถ่ายภาพยนตร์ต่อไป น้อยวิ่งไปขอความช่วยเหลือจากตำรวจที่ขับรถผ่านมาแถวนั้น ตำรวจเห็นหน้าเสือฉายก็จำได้ว่าเป็นมหาโจรที่ทางการกำลังต้องการตัวแต่ไม่เคยมีใครมีภาพถ่ายเสือฉาย เสือฉายฉวยโอกาสหลบหนีไป สามเกลอกลับมาล้างฟิล์มที่กรุงเทพ เจอข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ประกาศให้รางวัลแก่ผู้ที่มีภาพเสือฉาย จึงไม่รอช้ารีบเอาฟิล์มไปให้ตำรวจ แต่ เสือปาน ลูกสมุนของเสือฉายมาดักรอกลางทาง สามเกลอพากันวิ่งหนีจนกระทั่งถึงสถานีตำรวจ อารามรีบวิ่งตามสามเกลอเสือปานจึงไม่รู้ตัวว่ากำลังวิ่งเข้าสถานีตำรวจจึงถูกจับเข้าตาราง สามเกลอกลับมาถ่ายหนังต่อที่จังหวัดเพชรบุรีและมาสู่ขอน้อยให้พระเอกเสือฉายสบโอกาสตามมาล้างแค้น แต่พลาดท่าเสียทีถูกตำรวจจับเสียเอง รางวัลนำจับเสือฉายจึงตกเป็นของสามเกลอคณะถ่ายหนัง เอวังด้วยประการฉะนี้
Placeholder
น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง (2485)
น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง (2485/1942) เพียบพร้อมไปด้วยวัธนธัม ให้คติ สมัยสร้างชาติ รัก ตลก ขบขัน เพลงไพเราะห์ สนองนโยบายผู้นำ ปลอบใจน้ำท่วมดีกว่า พระเอกเป็นกรรมกรเรือจ้าง (ที่มา: หนังสือพิมพ์รายวัน ศรีกรุง พ.ศ. 2485)
Placeholder
สามเกลอผจญภัย (2483/1940) ภาพยนตร์ตลกที่จะทำให้ท่านต้อง หัวเราะท้องคัดท้องแข็งยิ่งกว่าตลกของฝรั่ง คือเรื่อง "สามเกลอผจญภัย" ภาพยนตร์ไทยตลกชั้นพิเศษ ประกอบการตื่นเต้นหวาดเสียว เพียบพร้อมไปด้วยการชกต่อย ภูติผีปีศาจ และเพลงไพเราะ ท่านที่ชอบภาพยนตร์ตลกของฝรั่ง โปรดมาตัดสินภาพยนตร์ตลกของไทยเราบ้าง (ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพฯ วารศัพท์ กรกฎาคม พ.ศ. 2483)
ไม่เคยรัก (2483)
ไม่เคยรัก (2483/1940) โรจน์ สืบทอดกิจการร้านนิยมไทยจำหน่ายสินค้าไทยต่อจากบิดา เขาคร่ำเคร่งกับการทำงานจนไม่สนใจเรื่องอื่นรวมทั้งเรื่องความรัก จนกระทั่งเช้าวันหนึ่ง ขณะที่โรจน์ขับรถไปทำงาน บังเอิญขับรถชนรถสามล้อ ซึ่งมีสาวงามชื่อ วนิดา โดยสารอยู่ โรจน์หลงรักวนิดาตั้งแต่แรกเห็นและตามไปส่งที่บ้าน จึงได้รู้ว่าวนิดาเป็นหลานสาวของ พระพฤกษาพิทักษ์ ซึ่งหลงใหลในกล้วยไม้ ขากลับโรจน์พบ สนิท ซึ่งมาติดพันวนิดา และเป็นผู้ที่ มาลี แม่ของวนิดาหมายมั่นจะให้แต่งงานกับลูกสาว สนิทมีนิสัยเจ้าชู้ ทำให้วนิดาใจโอนเอียงไปทางโรจน์ แต่แล้ววันหนึ่ง โรจน์ขึ้นไปรับ ผ่องพรรณ น้องสาวซึ่งป่วยหนักมารักษาที่กรุงเทพ กาจ นักหนังสือพิมพ์ซึ่งมีความแค้นโรจน์ในเรื่องส่วนตัว บังเอิญเห็นจึงนำไปเขียนข่าวกล่าวหาว่าโรจน์ล่อลวงสาวบ้านนอกมากรุงเทพ ทำให้วนิดาเข้าใจผิด โรจน์โกรธมากจึงฟ้องร้องหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น ศาลพิจารณาตัดสินให้หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นแก้ข่าว วนิดากับโรจน์จึงเข้าใจกันในที่สุด
จ๊ะเอ๋ (หนังสั้น)
จ๊ะเอ๋ (2481/1938) เรื่องจ๊ะเอ๋เป็นหนังสั้น ที่ฉายก่อนการฉายภาพยนตร์เรื่อง ตื่นเขย ซึ่งสมัยนั้นจะเรียกว่า “หนังประกอบ” (Supporter) และเป็นหนังไทยเรื่องแรก ที่ใช้ สุนัขไทย เข้ามาแสดงด้วย
ระเด่นลันได 2478

ระเด่นลันได (2478/1935) ถอดจากหนังสือลือชื่อในบทประพันธ์ไทยเรื่องหนึ่ง ผู้แสดงได้แก่ บังฟัก พูมศรี เป็นตัวระเด่นลันได ขุนสำราญ (อ๊อด) เป็นท้าวประดู่ จรัสยนตร์ คำแย้ม เป็นนางประแดะ และ จำเริญ สวัสดิสันติ์ เป็นนางกระแอ เป็นหนังไทยเรื่องแรกที่สำคัญในเชิงตลกขบขัน การฉายคงมีพากย์ประกอบในแบบใหม่ คือ ชายพากย์บทชาย หญิงพากย์บทหญิง (ที่มา: หนังสือพิมพ์รายวัน ศรีกรุง กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2478) เรื่องตลกจริงๆ ตลก แท้ๆ ถ้าท่านยังไม่มี เรื่องที่จะหัวเราะหรือยังหาโอกาสหัวเราะไม่ได้ ก็เชิญเตรียมตัวคอยชม ระเด่นลันได ภาพยนตร์ตลกประกอบ เสียงของหัสดินทรภาพยนตร์ "ระเด่นลันได" ที่บริษัทหัสดินทร์สร้างขึ้นใหม่ นี้ ได้ใช้วิธีสร้างประกอบเสียงโดยวิธีใหม่ที่สุดซึ่งท่านจะได้เห็นและได้ฟังเปนครั้งแรกในพระนคร ท้องเรื่องของภาพยนตร์ถอดจากบทประพันธ์ของจินตกวีในรัชชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชชกาลที่ ๒ และเปนเรื่องตลกล้วนๆ อย่างที่ฝรั่งเรียกว่า Comedy แท้ๆ (ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพฯ วารศัพท์ มีนาคม พ.ศ. 2478)

เชื้อไม่ทิ้งแถว 2470
เรื่องย่อ : เชื้อไม่ทิ้งแถว (2470/1927) เป็นเรื่องสมเหตุสมผล พร้อมไปด้วยคติสอนใจ โลดโผน โศก รัก ตลก คะนอง กับยังมียวดยานเกือบทุกประเภทแสดงประกอบอยู่ในเรื่อง เช่น รถยนต์ รถไฟ เรือยนต์ เรือแข่ง เรือกระฐินหลวง เครื่องบิน ฉวี (พระเอก) ต้องผจญภัยไม่แต่เพียงในเรื่องเท่านั้น แม้แต่นอกเรื่องก็ถูกผจญภัยด้วย ดังข่าวตกเครื่องบินในขณะทำการแสดง ดังปรากฏในข่าวหนังสือพิมพ์ที่เคยลงซู่ซ่ากันมาแล้ว ผู้ที่ได้รับความชมเชยเป็นพิเศษยังมีอีก เช่น เล็ก ซึ่งแสดงเป็นตัวนางลม้าย ภรรยานายสมบุญ (เชงจู) ผู้นี้นับว่าทำหน้าที่แม่ได้สนิทมาก โรคปากมากก็เป็นที่ 1 บูชาพ่อหลานชาย (สนอง) เสียเป็นเทวดา เข้าใกล้ผัวทีใดเป็นมีเรื่องทะเลาะกับผัววันยังค่ำ ทุกสิ่งของแม่ลม้ายไม่มีสิ่งใดที่จะเหลือไว้ให้สงสัยเลยว่าพ่อหลานชายยอดยากของแก เป็นบรมจอมโจรที่จะคอยล้วงตับแกในวันแล้ววันอีก ถ้าผัวคัดค้านถึงเรื่องพ่อหลานชายคนนี้ แม่ลม้ายเป็นแหงคัดค้านเสียจนคอหอยแทบจะระเบิดทีเดียว ในที่สุดนายสมบุญก็ต้องยอมแพ้ตามเคย เพราะทนปากแม่ลม้ายไม่ไหว ยังอีกคนหนึ่งคือ ตุ๊ ซึ่งแสดงเป็นนางผ่อง คนใช้ผู้สัตย์ซื่อของนางเอก นางผ่องคนนี้ไม่แต่เป็นคนใช้ที่ซื่อสัตย์ ยังทำหน้าที่เป็นตัวโจ๊กของเรื่องได้อย่างขบขันมาก ความขบขันของนางผ่องผู้นี้จะเห็นได้คราวหนึ่ง เผอิญไปแอบเห็นนายสาวกำลังกอดกับพระเอก นางผ่องจะเกิดรู้สึกขันอย่างไรไม่ทราบ ถึงกับปล่อยถาดถ้วยกาแฟลงไปกับพื้นดังโครมใหญ่ ยังอีกตอนหนึ่ง อารามตกใจว่าคู่รัก ของนายสาวถูกเจ้าสนั่น ตัวโกงหลอกเอาไป วิ่งกระหืดกระหอบไปบอกนายเสียจน "หางหงษ์" หลุด ความจริง สังขารของนางผ่อง ประกอบกับท่าทางที่แสดง ก็ชวนให้ น่าขันอยู่แล้ว ยิ่งไปทำอาการจูบพระธรณีในขณะที่วิ่งจนนางหางหงษ์หลุด จึงดูอาการคล้ายๆ กับลูกฟักใบเขื่องๆ ตกตุบลงในกองดินอย่างหนักๆ ตอนนี้จะทำให้ท่านผู้ดูถึงกับกลั้นหัวเราะไว้ไม่ไหวทีเดียว เพื่อเป็นหลักฐานแสดงให้ท่านเห็นว่าเรื่อง "เชื้อไม่ทิ้งแถว" เป็นเรื่องควรแก่การทัศนาของท่านเพียงใด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินี ภายหลังเมื่อได้ทอดพระเนตรแล้ว มีพระราชดำรัสชมเชยว่า "เรื่องนี้ของเขาพอดูได้" (ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวภาพยนตร์ พ.ศ. 2470)

กำลังแสดงผลลัพธ์ทั้งหมด 10 รายการ