สาวน้ำเค็ม (2494)

สาวน้ำเค็ม (2494/1951) เปนนิทานชีวิตรักของลูกสาวแดนน้ำเค็ม บู๊ ตื่นเต้น ผจญภัย (ที่มา: หนังสือพิมพ์รายวัน พิมพ์ไทย 26 มีนาคม พ.ศ. 2494)

อ้ายมหาวายร้าย (2494)
อ้ายมหาวายร้าย (2494/1951) เพียงแต่ชื่อ "อ้ายมหาวายร้าย" บางทีจะไม่ต้องเสนอดอกกะมังว่า เนื้อเรื่องดำเนินไปในลักษณะใด หากท่านนิยมชมชอบภาพยนตร์ประเภท แสดงเหลี่ยมนักเลงทั้งชนิดยียวนและไม่ยียวน การต่อสู้กันอย่างดุเดือดทารุณ และแทรกด้วยความรักอย่างหยาดเยิ้มอ่อนหวานแล้ว "อ้ายมหาวายร้าย" ก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ท่านไม่ควรปล่อยให้ผ่านไปเสีย (ที่มา: นิตยสารภาพยนตร์สาร มิถุนายน พ.ศ. 2494)
สิงห์สังหาร (2494/1951) ชื่อเรื่องบอกท่านอยู่แล้วว่าจะไปในทำนองใดและเป็นอย่างไร? คอยดู! "สิงห์สังหาร" - "สิงห์สังหาร" หนักไปในทางบู๊ และขบขัน (ที่มา: นิตยสารภาพยนตร์สาร พฤศจิกายน พ.ศ. 2494)
ชายสะไบ (2493)

ชายสะไบ (2493/1950) เรื่องของลูกทุ่งและการล้างทุ่งเพื่อแก้แค้นกัน ด้วยหมัดต่อหมัด ดาบต่อดาบ สุรสิทธิ์เป็นเจ้าหนุ่มเลือดไพร่ ผู้เผยอพิศมัยในลูกสาวของนายทุน จนกระทั่งพบกับความทารุณกลั่นแกล้งอย่างเจ็บแสบจากทัต เอกทัต หัวแก้วหัวแหวนของนายทุน ผู้ซึ่งปองสาวงามนั้นอยู่เหมือนกัน พรรณี สำเร็จประสงค์ แม่สาวผู้นี้ เปนตัวการที่ความงามของหล่อนสร้างความเกลียดให้เกิดแก่ชีวิตของคนหลายคนเชื่อมโยงกันไป ดีที่สุดที่สุรสิทธิ์แสดงได้ ก็คือบทบาทเมื่อเขารู้ตัวว่าเมียของเขากำลังจะมีลูกถึงกับตื่นเต้นโลดถลาจะไปตามหมอตำแยทั้งที่เมียเพิ่งตั้งไข่ได้ 1 เดือน ดีที่สุดของทัต เอกทัต ก็คือบททารุณทั้งอย่างเลือดร้อนและเลือดเย็นของเขา ดีที่สุดในบรรดาตัวประกอบ ก็คือ ม.ล. เตาะ โกมารชุน ซึ่งแสดงบทบาทเป็นแม่เฒ่า ของสุรสิทธิ์ได้อย่างมีชีวิตชีวา และดีที่สุดในกะบวนจี้เส้นด้วยหน้าตายและหนวดจิ๋มคือจำรูญ หนวดจิ๋ม (ที่มา: หนังสือพิมพ์รายวัน สยามนิกร 11 กันยายน พ.ศ. 2493)

เสือไทยอาละวาด (2493)
เสือไทยอาละวาด (สุภาพบุรุษเสือไทยภาคสมบูรณ์) (2493/1950) เริ่มตั้งแต่สุภาพบุรุษเสือไทยของเรา พร้อมด้วยอ้ายแม่น และ อีกรอง หนีตำรวจกองปราบซึ่ง อ้ายเดชเพื่อนเกลอร่วมตายเป็นผู้นำมาล่า อ้ายคง ตรงไปยังวัดร้างท้ายเมือง และได้แต่งงานอ้ายแม่นกับอีกรองต่อหน้าองค์พระประธาน และวิ่งเตลิดเข้าป่าเยี่ยงเสือลำบากนั้น การก็ปรากฏว่า อีกรองหาได้ทำตามคำสั่งของ เสือไทยแต่ประการใด อีกรองยึดสัจจะตนเองมั่นอยู่ว่า "รักแท้ของมันอยู่ที่เสือไทย" หาใช่อ้ายแม่น ถึงเสือไทย จะปล้นเขากิน ชิงเขากิน มันก็ต้องปล้นเขากินชิงเขากินไปด้วย ดังนั้น ด้วยระยะเวลาไล่ๆ กัน อีกรอง โจนหนี จากอ้ายแม่นตามเสือไทยไปติดๆ และไปทันกันที่กระท่อมร้างแห่งหนึ่ง ซึ่งภายในกระท่อมมี เสือไทย ซึ่งถูกจองจำครบ ผู้ใหญ่ยิ่ง และผู้ใหญ่แคล้ว ผู้ใหญ่บ้านทั้งสองตกลงเป็นเอกฉันท์ว่า จะตัดหัวเสือไทยไป เพราะว่าตายหรือเป็น สินบนมันก็ ๕๐๐๐ เท่ากัน อีกรอง กลับเป็นแม่เสืออีกครั้งหนึ่ง ด้วยการเดินลูกไม้แบบรุกเงียบ ลูกไม้ของอีกรอง ทำให้เสือไทยรอดชีวิตได้แทบไม่น่าเชื่อ (ลูกไม้อีกรองเด็ดขาดอย่างไร? เชิญไปชมเอาเอง) และในขณะที่ อีกรองจะนำเสือไทยหนีต่อไปนั้น คนทั้งสองก็ได้ประจันหน้ากับเสือนรกแห่งเมืองสวรรค์ ซึ่งหนีหลวงกล้ากลางสมรมาจากเพ็ชรบุรี เสือนรกแห่งเมืองสวรรค์ จะทำความเข้าใจกับ เสือไทยได้อย่างไร? นี่เป็นปัญหาหนึ่งละ แต่อย่างไรก็ตามใน "แกงค์" ของเสือนรกอีกรองได้เผชิญกับคู่ปรับตัวสำคัญนั่นคือ "อีโฉม" ซึ่งมีความเก่งกล้าปานเสือ และไม่เคยกลัวมนุษย์ตนใดมิหนำซ้ำยังฉมังพกมีดคู่เสียด้วย อีกรองเป็นคนที่ไม่ยอมมนุษย์อยู่แล้ว และเมื่อ ได้พบกับอีโฉม ซึ่งไม่ยอมมนุษย์เช่นเดียวกัน ลำหักลำโค่น ก็เกิดขึ้นแต่จะถึงพริกถึงขิงเพียงไรนั้น เชิญไปชมเอาเอง ขอกระซิบเสียหน่อยว่า สนุกกว่าที่เล่ามานี้ตั้งร้อยเท่า.... (ที่มา: ใบปิดภาพยนตร์เรื่อง เสือไทยอาละวาด)
แดนดาวโจร (2493)
แดนดาวโจร (2493/1950) โลดโผน ตื่นเต้น รักอย่างยั่วยวน! (ที่มา: หนังสือพิมพ์รายวัน สยามนิกร 8 สิงหาคม พ.ศ. 2493)
ดาบทหารเสือ (2493)
ดาบทหารเสือ (2493/1950) ครอบครัวของ รุ่ง และ จัน ชาวบ้านด่าน จังหวัดสุโขทัย เคยอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขตามประสาพ่อแม่ลูก จนกระทั่งวันหนึ่ง สอน เพื่อนบ้านชักชวนให้รุ่งไปประดาบกับนักเลงบ้านหนองดินแดง แต่รุ่งไม่อยากมีเรื่องตีรันฟันแทงกับใครจึงไม่ขอร่วมด้วยปรากฏว่าสอนเสียชีวิตในการประดาบ ชาวบ้านพากันรุมประณามรุ่ง ซ้ำร้ายยังพาลรังเกียจครอบครัวของรุ่งไปด้วย จนเป็นเหตุให้ เรือง ลูกสาวเพียงคนเดียวของรุ่งต้องตายเพราะไม่มีหมอคนไหนยอมรักษาเรืองซึ่งกำลังป่วยการสูญเสียเรืองทำให้รุ่งบันดาลโทสะฆ่าหมอตายและหนีหายไปตั้งแต่วันนั้น 5 ปีผ่านไป สุโขทัยถูกรุกรานจากศัตรู สาเหตุมาจาก โต พ่อของจัน เป็นไส้ศึกให้ฝ่ายเขมร และยังคิดจะยกลูกสาวให้แม่ทัพเขมรเพื่อแลกกับตำแหน่งผู้ครองอาณาจักรสุโขทัย รุ่ง ซึ่งบัดนี้กลายเป็นเสือออกปล้นชาวบ้าน ได้พบอาจารย์เฒ่าผู้หนึ่งเตือนสติว่า ควรจะเอากำลังไปต่อสู้ศัตรูที่กำลังทำร้ายสุโขทัย เสือรุ่งจึงจับดาบทหารเสือขึ้นปกป้องบ้านเกิดจากน้ำมือศัตรู
สองเสือ (2492)
สองเสือ (2492/1949) ภาพยนตร์ไทย ชะนิดชก ตื่นเต้น ดุเดือด (ที่มา: นิตยสารภาพยนตร์สาร ธันวาคม พ.ศ. 2492)
สุภาพบุรุษเสือไทย (2492)

สุภาพบุรุษเสือไทย (2492/1949) เมื่อคนดีต้องกลายเป็นเสือ ชีวิตของกำนันไทยที่ดูจะราบรื่นต้องมาพังทลาย เมื่อรับ แฉล้ม มาเป็นเมียน้อยเพื่อชดใช้หนี้ แต่เมื่อ คง ชู้รักเก่าของแฉล้มกลับมาปรากฏตัว แฉล้มจึงหลอกกำนันไทยว่าคงเป็นญาติ กำนันไทยผู้มีน้ำใจเชื้อเชิญให้คงมาอาศัยด้วยกัน หารู้ไม่ว่านั่นเป็นการต้อนรับโจรให้เขามาอยู่ในบ้าน ไม่นานนัก คงก็เริ่มเผยธาตุแท้เมื่อ กระถิน เมียรักของกำนันไทยล่วงรู้ความสัมพันธ์ของคงกับแฉล้ม คงจึงล่อให้กระถินตกเป็นของตนซ้ำยังข่มขู่และรีดไถทรัพย์กระถินตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สร้างความทุกข์ระทมแก่กระถินจนคิดฆ่าตัวตาย กำนันไทยรู้ความจริงเข้าก็ตรงดิ่งมาจัดการคง แต่ระหว่างที่กำลังชุลมุน อ้ายคงยิงพลาดไปโดนกระถินเสียชีวิต แถม กับ จ่าหอม เผอิญเดินผ่านแถวนั้นได้ยินเสียงปืนจึงรีบมายังที่เกิดเหตุ คงรีบหนีเอาตัวรอดทิ้งให้กำนันไทยซึ่งกำลังตะลึงงันตกเป็นผู้ต้องหาฆ่าเมียตัวเองเคราะห์ดีที่ได้สติรีบไหวตัวหนีกระเซอะกระเซิงมาถึงภูเขาลูกหนึ่ง ที่นั่น กำนันไทยได้พบพระธุดงค์ซึ่งได้เตือนสติว่าเวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร ไฟแค้นที่สุมอกกำนันไทยจึงสงบลง และอาศัยอยู่กับพระธุดงค์ตั้งแต่นั้นมา แต่แล้ววันหนึ่ง ก็มีเสียงของชาวบ้านร่ำลือว่าเสือไทยกำลังออกอาละวาดที่ตำบลเกาะพลับพลาอย่างหนักได้ยินดังนั้น กำนันไทยก็สุดที่จะระงับโทสะ มุ่งหน้าหมายจะชำระแค้นอ้ายคงให้ตายคามือ ที่ริอาจสวมรอยใช้ชื่อของกำนันไทยออกปล้น ระหว่างทางกำนันไทยได้ช่วย กรอง หญิงกำพร้าซึ่งกำลังถูกเจ้าบิ๋นรังแก กรองขอติดตามกำนันไทยไปด้วย เมื่อได้ฟังเรื่องราวของกำนันไทย กรองก็อาสาจะพาจ่าหอมมาพบเพื่อเล่าความจริง ที่ตำบลเกาะพลับพลา แถมได้ขึ้นเป็นกำนัน กรองพาจ่าหอมมาพบกำนันไทยได้สำเร็จ แต่วันรุ่งขึ้นจ่าหอมกลับกลายเป็นศพ มิหนำซ้ำกำนันไทยยังถูกใส่ร้ายว่าเป็นคนฆ่าจ่าหอม คงเริ่มย่ามใจออกปล้นโดยใช้ชื่อเสือไทยหนักข้อขึ้น กำนันไทยทนเห็นชาวบ้านเดือดร้อนไม่ได้ จึงยอมเป็นเสือไปปล้นเสือ เพื่อชิงทรัพย์มาคืนชาวบ้านดังเดิม โดยได้รับความช่วยเหลือจาก เดช และ แม่น คงไหวตัวทันจับกรองและแม่นเป็นตัวประกัน ถึงเวลาที่กำนันไทยจะชำระแค้น นำพรรคพวกบุกเข้าไปปลิดชีพคง

บางขวาง (2491)
บางขวาง (2491/1948) เผชิญ มหาโยธิน ถูกจำคุกในเรือนจำบางขวางกว่าสองปีเต็ม ระหว่างที่อยู่ในคุก เผชิญหมกมุ่นอยู่กับการคิดหาทางแก้แค้น เสี่ยเภา เพื่อนทรยศซึ่งทำให้ เผชิญต้องโทษ เมื่อได้รับการปล่อยตัวเผชิญจึงมุ่งหน้าไป ชำระแค้นเสี่ยเภาที่บ่อนการพนัน และยิงเสี่ยเภาตายคา ที่ก่อนรวบเงินหลบหนีไป ระหว่างหลบหนีเผชิญโดดขึ้น รถของหญิงสาวคนหนึ่ง ก่อนจะจูบหญิงสาวแทนคำขอบคุณ เมื่อแก้แค้นสำเร็จ เผชิญจึงเดินทางกลับไปหา แม่ แม่ของเผชิญขอร้องให้เผชิญกลับตัวเป็นคนดีและขอ ให้เผชิญบวช เผชิญได้แต่ตอบตกลงอย่างขอไปที แต่ในใจของเขาต้องการหาเงินเพื่อความสุขสบาย เผชิญร่วมมือกับเจิดเพื่อขายฝิ่น วันหนึ่งเขานัดลูกค้าไปรับฝิ่นที่โรงแรม ห้องหมายเลข 19 และได้พบกับ วลัยพร สาวที่เผชิญเคยขโมยจูบ ความสัมพันธ์ของทั้งสองพัฒนาไป อย่างรวดเร็ว วันหนึ่งเผชิญวางแผนพาวลัยพรไปเที่ยวที่ปีนัง แต่ ร.ต.ท.วสันต์ ซึ่งจับตาดูพฤติกรรมของเผชิญ มาโดยตลอดได้บุกจับกุมเผชิญ เผชิญพยายามยิงปืนตอบโต้ แต่ถูกตำรวจยิงเสียชีวิตต่อหน้าแม่ของเผชิญ
เลือดทหารไทย 2478

เลือดทหารไทย (2478/1935) นาวาตรี หลวงสหะนาวิน ผู้บังคับหมวดหน่วยรบประจำเรือรบหลวงสุโขทัย นำทัพประลองยุทธใหญ่ทางทะเลจึงได้รับคำสั่งเลื่อนยศพร้อมกับคนอื่นๆ คืนวันรุ่งขึ้น ได้มีงานเลี้ยงบนเรือรบหลวงสุโขทัย หลวงสหะนาวินได้พบ พาณี นรกุล น้องสาวของ เรือเอกปรีชา นรกุล ก็รู้สึกหลงรัก เช่นเดียวกับ พันตรีหลวงกฤษณะสงคราม เพื่อนสนิท หลวงสหะนาวินจึงหลีกทางให้ จนกระทั่งประเทศไทยเข้าสู่ภาวะสงครามรัฐบาลได้อนุมัติให้กระทรวงกลาโหมดำเนินการตามยุทธศาสตร์ตามแผนป้องกันพระราชอาณาจักร ที่ พลโทพระยานรกุล ร่างขึ้น แต่ขณะนั้นเองมีกลุ่มคนคิดขายชาตินำโดย วิญญู เป็นหัวหน้า ต้องการขโมยร่างแผนป้องกันพระราชอาณาจักร จึงให้อุดมกับเฉลิมลอบไปขโมยในงานวันเกิดพระยานรกุลที่จะจัดขึ้นในอีกไม่กี่วันต่อมา เมื่อถึงวันงาน อุดมลอบเข้าไปขโมยร่างแผนป้องกันพระราชอาณาจักรในบ้านพระยานรกุลสำเร็จ แต่ขณะที่กำลังปีนลงมาจากตึก หลวงกฤษณะมาเห็นเข้าจึงยิงอุดมเสียชีวิต เฉลิมซึ่งคอยดูต้นทางอยู่รีบวิ่งไปฉวยแผนป้องกันพระราชอาณาจักรและหลบหนีไปได้ หลวงกฤษณะถูกเรียกเข้าประจำกรมด่วน เนื่องจากรัฐบาลประกาศสงครามแล้ว นายเรือเอกปรีชาจึงเสียสละออกรับแทนว่าตนเป็นผู้ยิงอุดมเสียชีวิต หลวงกฤษณะจึงได้ไปปฏิบัติหน้าที่รับใช้ชาติ หลังจากนั้นตำรวจก็ได้รับแจ้งว่าร่างแผนป้องกันพระราชอาณาจักรหายไป เมื่อสอบปากคำ นงลักษณ์ ซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุ ตำรวจจึงรีบไปดักรอผู้ต้องสงสัยที่สถานเบียร์ฮอลล์ "โอดี" และจับวิญญูและเฉลิมพร้อมของกลางได้ นายเรือเอกปรีชาจึงได้รับการปล่อยตัวไปเป็นผู้บังคับหมู่เรือยามฝั่ง กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศไทยเคลื่อนทัพสู่สนามรบ และได้ชัยชนะกลับมา

Placeholder

หมัดพ่อค้า (2474/1931) เป็นเรื่องเกี่ยวแก่การชิงรักระหว่างพ่อค้าชาวกองเกวียน มีการยกพวกปล้นกองเกวียน การต่อสู้กันด้วยอาวุธปืนและหมัดมวยอย่างโลดโผน (ที่มา: หนังสือพิมพ์ศรีกรุง ธันวาคม พ.ศ. 2474)

เลือดแค้น 2471

เรื่องย่อ : เลือดแค้น (2471/1928) เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรก ที่มีความลึกลับ เกี่ยวกับการผจญภัยและการต่อสู้ในเชิงหมัดมวยอย่างน่าตื่นเต้น ถ้าว่าถึงตลกคะนอง ก็เป็นตลกที่ไม่ได้แกล้งให้ตลก เป็นตลกที่อาศัยเกิดจากลักษณะเดิมของตัวผู้แสดงเอง มีตาเชยเตี้ยเป็นต้น ลักษณะของตาเชย ผู้ดูโดยมากที่ไปเที่ยวตำบลบางลำพู คงจะได้เคยเห็น แกเดินชมอากาศอยู่ตามแถวนั้นบ่อยๆ หรือมิฉะนั้นก็แถวหน้าโรงปีนัง ผู้ทำเรื่อง เลือดแค้น ได้ใช้ความระวังหลายประการที่จะไม่ให้เลือดแค้นกลายเป็นเลือดไม่แค้นหรือเลือดจืด มีเหตุผลกินกลืนกันสมเรื่อง ตลอดจนภูมิฐานฐานะของบุคคลและการแต่งตัว ที่จัดให้เหมาะแก่ลักษณะ เหมาะแก่เวลาที่ควรไม่ควร ถ้าจะกล่าวแล้วเรื่อง เลือดแค้น ถึงจะมีข้อที่น่าติอยู่บ้าง แต่ก็เชื่อว่าน้อยที่สุด ท้องเรื่อง เลือดแค้น แสดงถึงน้ำใจของน้องเมียนายทองใบ ที่พยายามแก้แค้นแทนพี่สาวอันเนื่องจากนายทองใบทิ้งพี่สาวและทำทารุณโหดร้ายเมื่อ 20 ปีก่อน จึงตามมาแก้แค้นโดยปลอมตัวเป็นคนลึกลับ ท่านจะได้เห็นการต่อสู้กันบนเรือใบกลางทะเล การต่อสู้ในบ้าน และการต่อสู้ชิงนางกลางทุ่ง การต่อสู้นี้ล้วนไปด้วยหมัดมวยและอาวุธปืน ทุกตอนจะทำให้ท่านรู้สึกพอใจ ในที่สุดท่านจะต้องออกปากว่า "หนังไทยเรื่องนี้ของเขาควรผูกโบว์แดงให้ได้" พูดถึงผู้แสดง มีโดยมากนับว่าใช้บทบาทได้สนิท ผู้ที่ควรได้รับความชมเชยชั้นเยี่ยมของการแสดงในเรื่องก็คือ จรวย วีละเวีย ลีละชาติ นางเอกผู้เป็นตัว "สุลักษณ์" บุตรี เลี้ยงของนายทองใบ จรวยได้วางบทบาทสมแก่เป็นตัวภาพยนตร์ได้ดีจริงๆ ดีจนควรนับได้ว่าอยู่เหนือนางเอกภาพยนตร์ไทยที่ท่านเคยเห็นมา เช่น ยามโกรธ ยามตกใจ ดีใจ ยามออเซาะ เหล่านี้ ชวนให้รู้สึกว่าจรวยไม่มีการเก้อเขินแต่อย่างใดเลย ถัดจากนี้ก็ตัวพระเอกพระรองและตัวประกอบอีก ซึ่งมีบทดีไม่แพ้แม่จรวย นอกจากนั้นยังแสดงการชกต่อยและการขี่ม้าขี่ฬาคล่องแคล่วอย่างน่าชม บางคนสังเกตว่าพยายามเลียนจากบท ฮูด กิ๊บสัน หรือ เคน เมย์นาดไม่ผิดเลย ยังมีผู้แสดงที่ควรได้รับความชมเชยเป็นพิเศษอีกคนหนึ่ง คือ นายไกวัลย์ ซึ่งแสดงเป็นตัวบ้าหรือใบ้ นายคนนี้ เมื่อแสดง "ไม่คิดเลย" ยังมีอาการขวางๆ รีๆ อยู่มาก ครั้น มาแสดงเรื่องนี้กลับมีสภาพเป็นคนละคน การแสดงของนาย ไกวัลย์ในเรื่อง "เลือดแค้น" สกปรกโสมมเหลือกำลัง เสื้อผ้า ขาดกะรุ่งกะริ่งผมเผ้ายาวเหมือนบ้าหอบฟาง เพราะถูกเกณฑ์ให้เป็นคนใบ้เนื่องจากในเรื่องถูกน้องชายโกงสมบัติ ตามสังเกตดูเหมือนนายไกวัลย์จะเลียนแบบ "ลอน ชานีย์" เอา เสียจริงๆ ถึงหากบทจะด้อยกว่าลอน ชานีย์ ก็ยังนับว่าเป็น ลอน ชานีย์ ไทยได้ ไม่อายคนดูทีเดียว ตัวนี้คู่หูกับตาเชยเตี้ย นับว่าเป็นผู้ทำให้เรื่องครึกครื้นมากอยู่ (ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวภาพยนตร์ กรกฎาคม พ.ศ. 2471)

โชคสองชั้น 2470

เรื่องย่อ : โชคสองชั้น (2470/1927) นายกมล มาโนช (มานพ ประภารักษ์) พระเอกของเรื่อง เป็นนายอำเภอหัวเมืองฝ่ายเหนือ ได้รับมอบหมายให้ลงมาสืบจับผู้ร้ายคนหนึ่งซึ่งซ่อนตัวอยู่ในกรุงเทพ นายกมลเข้ามาพักอยู่ที่บ้านพระยาพิชัย (อุทัย อินทร์วงศ์) และมีหลานชื่อว่า นางสาววลี ลาวัณยลักษณ์ (หม่อมหลวงสุดจิตตร์ อิศรางกูร) ซึ่งทั้งสองได้พบรักกันโดยเร็ว แต่นายวิง ธงสี (มงคล สุมนนัฏ) ซึ่งหมายปองนางสาววลีอยู่แล้วและชอบไปมาหาสู่พระยาพิชัยเป็นเนือง ๆ และนายวิงคนนี้ก็คือคนร้ายที่นายกมลกำลังสืบจับอยู่นั่นเอง นายวิงไหวตัวทันเรื่องที่นายกมลตามคนร้าย จากนั้นนายวิงก็วางแผนร้ายโดยส่งพรรคพวกลูกสมุนเข้ามาทำร้ายนายกมล แต่นายกมลมีความชำนาญในการระวังภัยจากโจรจึงต่อกรขัดขวางกำลังได้ จนนายวิงและพรรคพวกต้องหลบหนีไป นายกมลไล่ตามจับแต่เกิดหลงทาง นายวิงได้วกกลับมาที่บ้านพระยาพิชัยและจับนางสาววลีไป แต่นายกมลมีเชาวน์ที่ดี เข้าใจว่าเป็นแผนลวง จึงวกกลับบ้านพระยาพิชัยและได้พบนายวิง นายกมลจึงตามล่านายวิงไปจนสุดทางและเกิดการต่อสู้ขึ้น จนกระทั่งตำรวจที่พระยาพิชัยโทรไปแจ้งมาสมทบร่วมจับนายวิงและสมุนได้ทันเวลา นายวิงจึงถูกตำรวจจับเข้าตะราง ส่วนนายกมลมีโชคสองชั้น นอกจากจะจับผู้ร้ายได้แล้วยังได้นางสาววลีมาเป็นภรรยาอีกด้วย

หน้าที่