เสือไทยอาละวาด (2493)
เสือไทยอาละวาด (สุภาพบุรุษเสือไทยภาคสมบูรณ์) (2493/1950) เริ่มตั้งแต่สุภาพบุรุษเสือไทยของเรา พร้อมด้วยอ้ายแม่น และ อีกรอง หนีตำรวจกองปราบซึ่ง อ้ายเดชเพื่อนเกลอร่วมตายเป็นผู้นำมาล่า อ้ายคง ตรงไปยังวัดร้างท้ายเมือง และได้แต่งงานอ้ายแม่นกับอีกรองต่อหน้าองค์พระประธาน และวิ่งเตลิดเข้าป่าเยี่ยงเสือลำบากนั้น การก็ปรากฏว่า อีกรองหาได้ทำตามคำสั่งของ เสือไทยแต่ประการใด อีกรองยึดสัจจะตนเองมั่นอยู่ว่า "รักแท้ของมันอยู่ที่เสือไทย" หาใช่อ้ายแม่น ถึงเสือไทย จะปล้นเขากิน ชิงเขากิน มันก็ต้องปล้นเขากินชิงเขากินไปด้วย ดังนั้น ด้วยระยะเวลาไล่ๆ กัน อีกรอง โจนหนี จากอ้ายแม่นตามเสือไทยไปติดๆ และไปทันกันที่กระท่อมร้างแห่งหนึ่ง ซึ่งภายในกระท่อมมี เสือไทย ซึ่งถูกจองจำครบ ผู้ใหญ่ยิ่ง และผู้ใหญ่แคล้ว ผู้ใหญ่บ้านทั้งสองตกลงเป็นเอกฉันท์ว่า จะตัดหัวเสือไทยไป เพราะว่าตายหรือเป็น สินบนมันก็ ๕๐๐๐ เท่ากัน อีกรอง กลับเป็นแม่เสืออีกครั้งหนึ่ง ด้วยการเดินลูกไม้แบบรุกเงียบ ลูกไม้ของอีกรอง ทำให้เสือไทยรอดชีวิตได้แทบไม่น่าเชื่อ (ลูกไม้อีกรองเด็ดขาดอย่างไร? เชิญไปชมเอาเอง) และในขณะที่ อีกรองจะนำเสือไทยหนีต่อไปนั้น คนทั้งสองก็ได้ประจันหน้ากับเสือนรกแห่งเมืองสวรรค์ ซึ่งหนีหลวงกล้ากลางสมรมาจากเพ็ชรบุรี เสือนรกแห่งเมืองสวรรค์ จะทำความเข้าใจกับ เสือไทยได้อย่างไร? นี่เป็นปัญหาหนึ่งละ แต่อย่างไรก็ตามใน "แกงค์" ของเสือนรกอีกรองได้เผชิญกับคู่ปรับตัวสำคัญนั่นคือ "อีโฉม" ซึ่งมีความเก่งกล้าปานเสือ และไม่เคยกลัวมนุษย์ตนใดมิหนำซ้ำยังฉมังพกมีดคู่เสียด้วย อีกรองเป็นคนที่ไม่ยอมมนุษย์อยู่แล้ว และเมื่อ ได้พบกับอีโฉม ซึ่งไม่ยอมมนุษย์เช่นเดียวกัน ลำหักลำโค่น ก็เกิดขึ้นแต่จะถึงพริกถึงขิงเพียงไรนั้น เชิญไปชมเอาเอง ขอกระซิบเสียหน่อยว่า สนุกกว่าที่เล่ามานี้ตั้งร้อยเท่า.... (ที่มา: ใบปิดภาพยนตร์เรื่อง เสือไทยอาละวาด)
โจรล้างโจร (2493)
สุภาพบุรุษเสือไทย (2492)

สุภาพบุรุษเสือไทย (2492/1949) เมื่อคนดีต้องกลายเป็นเสือ ชีวิตของกำนันไทยที่ดูจะราบรื่นต้องมาพังทลาย เมื่อรับ แฉล้ม มาเป็นเมียน้อยเพื่อชดใช้หนี้ แต่เมื่อ คง ชู้รักเก่าของแฉล้มกลับมาปรากฏตัว แฉล้มจึงหลอกกำนันไทยว่าคงเป็นญาติ กำนันไทยผู้มีน้ำใจเชื้อเชิญให้คงมาอาศัยด้วยกัน หารู้ไม่ว่านั่นเป็นการต้อนรับโจรให้เขามาอยู่ในบ้าน ไม่นานนัก คงก็เริ่มเผยธาตุแท้เมื่อ กระถิน เมียรักของกำนันไทยล่วงรู้ความสัมพันธ์ของคงกับแฉล้ม คงจึงล่อให้กระถินตกเป็นของตนซ้ำยังข่มขู่และรีดไถทรัพย์กระถินตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สร้างความทุกข์ระทมแก่กระถินจนคิดฆ่าตัวตาย กำนันไทยรู้ความจริงเข้าก็ตรงดิ่งมาจัดการคง แต่ระหว่างที่กำลังชุลมุน อ้ายคงยิงพลาดไปโดนกระถินเสียชีวิต แถม กับ จ่าหอม เผอิญเดินผ่านแถวนั้นได้ยินเสียงปืนจึงรีบมายังที่เกิดเหตุ คงรีบหนีเอาตัวรอดทิ้งให้กำนันไทยซึ่งกำลังตะลึงงันตกเป็นผู้ต้องหาฆ่าเมียตัวเองเคราะห์ดีที่ได้สติรีบไหวตัวหนีกระเซอะกระเซิงมาถึงภูเขาลูกหนึ่ง ที่นั่น กำนันไทยได้พบพระธุดงค์ซึ่งได้เตือนสติว่าเวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร ไฟแค้นที่สุมอกกำนันไทยจึงสงบลง และอาศัยอยู่กับพระธุดงค์ตั้งแต่นั้นมา แต่แล้ววันหนึ่ง ก็มีเสียงของชาวบ้านร่ำลือว่าเสือไทยกำลังออกอาละวาดที่ตำบลเกาะพลับพลาอย่างหนักได้ยินดังนั้น กำนันไทยก็สุดที่จะระงับโทสะ มุ่งหน้าหมายจะชำระแค้นอ้ายคงให้ตายคามือ ที่ริอาจสวมรอยใช้ชื่อของกำนันไทยออกปล้น ระหว่างทางกำนันไทยได้ช่วย กรอง หญิงกำพร้าซึ่งกำลังถูกเจ้าบิ๋นรังแก กรองขอติดตามกำนันไทยไปด้วย เมื่อได้ฟังเรื่องราวของกำนันไทย กรองก็อาสาจะพาจ่าหอมมาพบเพื่อเล่าความจริง ที่ตำบลเกาะพลับพลา แถมได้ขึ้นเป็นกำนัน กรองพาจ่าหอมมาพบกำนันไทยได้สำเร็จ แต่วันรุ่งขึ้นจ่าหอมกลับกลายเป็นศพ มิหนำซ้ำกำนันไทยยังถูกใส่ร้ายว่าเป็นคนฆ่าจ่าหอม คงเริ่มย่ามใจออกปล้นโดยใช้ชื่อเสือไทยหนักข้อขึ้น กำนันไทยทนเห็นชาวบ้านเดือดร้อนไม่ได้ จึงยอมเป็นเสือไปปล้นเสือ เพื่อชิงทรัพย์มาคืนชาวบ้านดังเดิม โดยได้รับความช่วยเหลือจาก เดช และ แม่น คงไหวตัวทันจับกรองและแม่นเป็นตัวประกัน ถึงเวลาที่กำนันไทยจะชำระแค้น นำพรรคพวกบุกเข้าไปปลิดชีพคง

บางขวาง (2491)
บางขวาง (2491/1948) เผชิญ มหาโยธิน ถูกจำคุกในเรือนจำบางขวางกว่าสองปีเต็ม ระหว่างที่อยู่ในคุก เผชิญหมกมุ่นอยู่กับการคิดหาทางแก้แค้น เสี่ยเภา เพื่อนทรยศซึ่งทำให้ เผชิญต้องโทษ เมื่อได้รับการปล่อยตัวเผชิญจึงมุ่งหน้าไป ชำระแค้นเสี่ยเภาที่บ่อนการพนัน และยิงเสี่ยเภาตายคา ที่ก่อนรวบเงินหลบหนีไป ระหว่างหลบหนีเผชิญโดดขึ้น รถของหญิงสาวคนหนึ่ง ก่อนจะจูบหญิงสาวแทนคำขอบคุณ เมื่อแก้แค้นสำเร็จ เผชิญจึงเดินทางกลับไปหา แม่ แม่ของเผชิญขอร้องให้เผชิญกลับตัวเป็นคนดีและขอ ให้เผชิญบวช เผชิญได้แต่ตอบตกลงอย่างขอไปที แต่ในใจของเขาต้องการหาเงินเพื่อความสุขสบาย เผชิญร่วมมือกับเจิดเพื่อขายฝิ่น วันหนึ่งเขานัดลูกค้าไปรับฝิ่นที่โรงแรม ห้องหมายเลข 19 และได้พบกับ วลัยพร สาวที่เผชิญเคยขโมยจูบ ความสัมพันธ์ของทั้งสองพัฒนาไป อย่างรวดเร็ว วันหนึ่งเผชิญวางแผนพาวลัยพรไปเที่ยวที่ปีนัง แต่ ร.ต.ท.วสันต์ ซึ่งจับตาดูพฤติกรรมของเผชิญ มาโดยตลอดได้บุกจับกุมเผชิญ เผชิญพยายามยิงปืนตอบโต้ แต่ถูกตำรวจยิงเสียชีวิตต่อหน้าแม่ของเผชิญ
Placeholder
น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง (2485)
น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง (2485/1942) เพียบพร้อมไปด้วยวัธนธัม ให้คติ สมัยสร้างชาติ รัก ตลก ขบขัน เพลงไพเราะห์ สนองนโยบายผู้นำ ปลอบใจน้ำท่วมดีกว่า พระเอกเป็นกรรมกรเรือจ้าง (ที่มา: หนังสือพิมพ์รายวัน ศรีกรุง พ.ศ. 2485)
Placeholder
สามเกลอผจญภัย (2483/1940) ภาพยนตร์ตลกที่จะทำให้ท่านต้อง หัวเราะท้องคัดท้องแข็งยิ่งกว่าตลกของฝรั่ง คือเรื่อง "สามเกลอผจญภัย" ภาพยนตร์ไทยตลกชั้นพิเศษ ประกอบการตื่นเต้นหวาดเสียว เพียบพร้อมไปด้วยการชกต่อย ภูติผีปีศาจ และเพลงไพเราะ ท่านที่ชอบภาพยนตร์ตลกของฝรั่ง โปรดมาตัดสินภาพยนตร์ตลกของไทยเราบ้าง (ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพฯ วารศัพท์ กรกฎาคม พ.ศ. 2483)
ไม่เคยรัก (2483)
ไม่เคยรัก (2483/1940) โรจน์ สืบทอดกิจการร้านนิยมไทยจำหน่ายสินค้าไทยต่อจากบิดา เขาคร่ำเคร่งกับการทำงานจนไม่สนใจเรื่องอื่นรวมทั้งเรื่องความรัก จนกระทั่งเช้าวันหนึ่ง ขณะที่โรจน์ขับรถไปทำงาน บังเอิญขับรถชนรถสามล้อ ซึ่งมีสาวงามชื่อ วนิดา โดยสารอยู่ โรจน์หลงรักวนิดาตั้งแต่แรกเห็นและตามไปส่งที่บ้าน จึงได้รู้ว่าวนิดาเป็นหลานสาวของ พระพฤกษาพิทักษ์ ซึ่งหลงใหลในกล้วยไม้ ขากลับโรจน์พบ สนิท ซึ่งมาติดพันวนิดา และเป็นผู้ที่ มาลี แม่ของวนิดาหมายมั่นจะให้แต่งงานกับลูกสาว สนิทมีนิสัยเจ้าชู้ ทำให้วนิดาใจโอนเอียงไปทางโรจน์ แต่แล้ววันหนึ่ง โรจน์ขึ้นไปรับ ผ่องพรรณ น้องสาวซึ่งป่วยหนักมารักษาที่กรุงเทพ กาจ นักหนังสือพิมพ์ซึ่งมีความแค้นโรจน์ในเรื่องส่วนตัว บังเอิญเห็นจึงนำไปเขียนข่าวกล่าวหาว่าโรจน์ล่อลวงสาวบ้านนอกมากรุงเทพ ทำให้วนิดาเข้าใจผิด โรจน์โกรธมากจึงฟ้องร้องหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น ศาลพิจารณาตัดสินให้หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นแก้ข่าว วนิดากับโรจน์จึงเข้าใจกันในที่สุด
จ๊ะเอ๋ (หนังสั้น)
จ๊ะเอ๋ (2481/1938) เรื่องจ๊ะเอ๋เป็นหนังสั้น ที่ฉายก่อนการฉายภาพยนตร์เรื่อง ตื่นเขย ซึ่งสมัยนั้นจะเรียกว่า “หนังประกอบ” (Supporter) และเป็นหนังไทยเรื่องแรก ที่ใช้ สุนัขไทย เข้ามาแสดงด้วย
หลอกเมีย 2480
หลอกเมีย (2480/1937) จำรัส กับ ลาวรรณ สองสามีภรรยาย้ายมาอยู่ที่บ้านใหม่ และได้ คุณอึ หรือชื่อเดิมว่า หนอม มาเป็นคนรับใช้ แต่เมื่อย่างเข้ามาสู่ในบ้านมิวายโรคเดิมของจำรัส คือ โรคกลัวเมีย ก็พลันกำเริบ เพียงแค่ลาวรรณตำหนิเรื่องการติดรูปบนผนังว่าต้องเอารูปของตนไว้ข้างบน บ่ายวันหนึ่ง หนอมคนรับใช้คู่ใจเอาหนังสือพิมพ์มาให้จำรัสดูรูปสาวน้อยนั่งตกปลา แถมยังยุยงเจ้านายให้หาทางไปดูตัวจริง จำรัสนึกสนุกคิดอุบายหลอกลาวรรณว่าการงานวุ่นวายจนเป็นโรคเส้นประสาท และอ้างว่าหมอแนะนำให้ไปตกปลาเพื่อเป็นการผ่อนคลายลาวรรณไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมของจำรัสจึงเห็นดีด้วย ที่สระน้ำตามประกาศในหน้าหนังสือพิมพ์จำรัสได้พบกับสาวน้อยตามใจหวัง และพยายามหาโอกาสเข้าไปทำความรู้จักจนได้นามบัตรและทราบว่าชื่อกมล วันต่อๆ มา จำรัสก็กุเรื่องโกหกลาวรรณเพื่อไปที่บ้านกมล ตามที่อยู่บนนามบัตร ทำให้ได้พบ เถ้าแก่กิมหมง บิดาของกมล ซึ่งเคยมาขอทำประกันโรงสีของตนและวางแผนจะเผาโรงสีเพื่อเอาเงินประกัน ลาวรรณระอาความเจ้าชู้ของสามี ขนาดขู่จำรัสว่าจะพาไปให้หมอเพื่อผ่าเส้นประสาททิ้ง จำรัสก็ไม่มีทีท่าว่าจะเกรงกลัว ยังวางแผนหลอกลาวรรณว่าต้องไปทำงานที่เชียงใหม่ แต่ความจริงแล้วไปพักอยู่กับ ทองอ่อน เพื่อนสนิท ฝ่ายลาวรรณ เมื่อสามีไม่อยู่จึงเดินทางไปที่บ้านเถ้าแก่หมงประกาศตนว่าเป็นภรรยาของจำรัส และสั่งห้ามกมลไม่ให้มายุ่งเกี่ยวกับจำรัสอีก พอจำรัสไปขอพบกมลจึงโดนเถ้าแก่กิมหมงไล่ตะเพิดข้อที่ว่ามีภรรยาแล้วยังมาหลอกลูกสาวตน จำรัสเดินคอตกกลับบ้าน มิวายโดนลาวรรณซักไซ้จับได้ว่าจำรัสไม่ได้ไปเชียงใหม่จริงจำรัสจึงโดนภรรยาฟาดจนต้องนอนซม การหลอกเมียของจำรัสจึงจบลงแต่เพียงเท่านี้
กลัวเมีย 2479

กลัวเมีย (2479/1936) จำรัส เป็นผู้จัดการบริษัทสากลประกันภัย มีภรรยาชื่อ ลาวรรณ ชีวิตการแต่งงานของเขาไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิด เหตุเพราะเป็นโรคกลัวเมียขึ้นสมอง ผัน เพื่อนของจำรัสแนะนำ หมอแนม ซึ่งมีความสามารถสับเปลี่ยนวิญญาณมนุษย์กับผีได้ รุ่งขึ้นจำรัสจึงไปหาหมอแนมให้ช่วยรักษาโรคกลัวเมีย หมอแนมจัดการเปลี่ยนวิญญาณให้จำรัสและกำชับว่าห้ามยุ่งเกี่ยวกับผู้หญิงที่อายุอ่อนกว่า วิธีรักษาของหมอแนมประสบผลดีเกินคาด ไม่ว่าจำรัสจะทำอะไรลาวรรณก็ไม่ดุด่าเหมือนแต่ก่อน จนจำรัสย่ามใจเผลอไปยุ่งกับ ทองฟู นางบำเรอที่มาขอทำประกันความงามที่บริษัทของจำรัส โรคกลัวเมียจึงกลับมาเยือนจำรัสเหมือนอย่างเคย

ดงตาล 2479
ดงตาล (2479/1936) เปนหนังไทยเรื่องแรกของ "พรานบูรพ์" "ดงตาล" เปนเรื่องรักที่ดุดันน่าหวาดเสียว แต่ "ดงตาล" แสดงโดยคนตลก ๔ คน คือ สุคนธ์, ทองถม, แส และชื้น "ดงตาล" ถ่ายทำในท่ามกลางวิวงามตามธรรมชาติแห่งเกาะยอ ทะเลสาบสงขลา (ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ เมษายน พ.ศ. 2479)
แก่นกะลาสี 2479
แก่นกะลาสี (2479/1936) จ่าโทว่อง นักเรียนใหม่โรงเรียนชุมพลทหารเรือถูก จ่าโทเอื้อม เขม่น ทันทีที่เห็นหน้า ทั้งสองมีเรื่องชกต่อยเป็นประจำ โดยที่ต่างคนต่างไม่ทราบว่ากำลังคบผู้หญิงคนเดียวกันคือ ศรีสวาท ต่อมาทั้งสองได้รับเลือกให้ไปปฏิบัติราชการรับเรือตอร์ปิโดที่ประเทศอิตาลี ระหว่างการเดินทางจ่าโทเอื้อมประสบอุบัติเหตุแต่จ่าโทว่องช่วยเหลือไว้ทัน ทั้งสองจึงยุติการทะเลาะกันนับแต่นั้นเป็นต้นมา จ่าโทว่องเปิดใจเรื่องคนรักทำให้จ่าโทเอื้อมรู้ความจริง จ่าโทว่องจึงเสียสละศรีสวาทให้แก่จ่าโทเอื้อม แต่ขณะที่อยู่ต่างเมืองจ่าโทเอื้อมนึกสนุกไปจีบสาวอิตาลี จ่าโทว่องแอบถ่ายรูปไว้และส่งไปให้ศรีสวาท เมื่อศรีสวาทได้รับจดหมายเห็นรูปบาดตาจึงหันไปหาเสี่ยเซ้งซึ่งพี่ชายแนะนำให้รู้จัก ถึงเวลาที่เรือหลวงเจ้าพระยากลับสู่น่านน้ำไทย จ่าโทว่องกับจ่าโทเอื้อมต่างตรงดิ่งไปหาศรีสวาทยอดรัก เมื่อรู้ว่าศรีสวาทเปลี่ยนใจจึงหันกลับไปตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ราชการทหาร
ระเด่นลันได 2478

ระเด่นลันได (2478/1935) ถอดจากหนังสือลือชื่อในบทประพันธ์ไทยเรื่องหนึ่ง ผู้แสดงได้แก่ บังฟัก พูมศรี เป็นตัวระเด่นลันได ขุนสำราญ (อ๊อด) เป็นท้าวประดู่ จรัสยนตร์ คำแย้ม เป็นนางประแดะ และ จำเริญ สวัสดิสันติ์ เป็นนางกระแอ เป็นหนังไทยเรื่องแรกที่สำคัญในเชิงตลกขบขัน การฉายคงมีพากย์ประกอบในแบบใหม่ คือ ชายพากย์บทชาย หญิงพากย์บทหญิง (ที่มา: หนังสือพิมพ์รายวัน ศรีกรุง กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2478) เรื่องตลกจริงๆ ตลก แท้ๆ ถ้าท่านยังไม่มี เรื่องที่จะหัวเราะหรือยังหาโอกาสหัวเราะไม่ได้ ก็เชิญเตรียมตัวคอยชม ระเด่นลันได ภาพยนตร์ตลกประกอบ เสียงของหัสดินทรภาพยนตร์ "ระเด่นลันได" ที่บริษัทหัสดินทร์สร้างขึ้นใหม่ นี้ ได้ใช้วิธีสร้างประกอบเสียงโดยวิธีใหม่ที่สุดซึ่งท่านจะได้เห็นและได้ฟังเปนครั้งแรกในพระนคร ท้องเรื่องของภาพยนตร์ถอดจากบทประพันธ์ของจินตกวีในรัชชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชชกาลที่ ๒ และเปนเรื่องตลกล้วนๆ อย่างที่ฝรั่งเรียกว่า Comedy แท้ๆ (ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพฯ วารศัพท์ มีนาคม พ.ศ. 2478)

เสน่หาตามืด 2471

เรื่องย่อ : เสน่หาตามืด (2471/1928) เชิญท่านไปหัวเราะ!!! นายเทิ้มนาฏะคะยี จอมจำอวดสวดคฤหัสถ์ ลิเก เสภา ละครรำ ละครร้อง ฯลฯ ในภาพยนตร์ตลกไทยเรื่องแรกชิ้นเอกแห่งบูรพาทิศ "เสน่หาตามืด" แสดงร่วมกับนางงามอาบน้ำชาวสยามหมู่ใหญ่ มีการตลกแปลกปลาด เช่น ดำทราย ตกจากเขาสูงศีรษะปักดินไม่ตาย ถูกแทงน่าใจหาย ภาพฝันและหยอกนางเงือกสมัยใหม่ ฯลฯ (ที่มา: หนังสือพิมพ์รายวันศรีกรุง ธันวาคม พ.ศ. 2471)