สามเกลอถ่ายหนัง (2495)
สามเกลอถ่ายหนัง (2495/1952) เรื่องราวของคณะถ่ายหนังที่ต้องมาสู้กับผู้ร้ายนอกจอ กรุงเทพ พ.ศ. 2493 เสือฉาย กำลังอาละวาดออกปล้นสะดมสร้างความหวาดกลัวให้ชาวบ้านร้อนถึงตำรวจต้องเร่งปราบปรามขนานนัก เสือฉาย จึงไปหลบซ่อนตัวที่จังหวัดเพชรบุรี ขณะนั้น สมพงษ์ ล้อต๊อก และ ดอกดิน สามเกลอหนุ่มเพิ่งเรียนการสร้างหนังจากประเทศอเมริกาจบ เกิดร้อนวิชาอยากทดลองฝีมือ อนิจจา สามเกลอสิ้นเนื้อประดาตัวแต่ก็ยังไม่ละความพยายาม ดิ้นรนเอาข้าวไปจำนำจนสามารถตั้งบริษัท "จิ้งจกภาพยนตร์" สำเร็จ บริษัทจิ้งจกภาพยนตร์เริ่มถ่ายหนัง โดยมีดอกดินเป็นผู้กำกับ สมพงษ์เป็นช่างถ่ายภาพยนตร์ ล้อต๊อกเป็นผู้ร้ายและได้ ณรงค์ มาเป็นพระเอก ชูศรี เป็นนางเอก แต่การทำงานเป็นไปอย่างทุลักทุเล สามเกลอหารือกันว่าจะเปลี่ยนไปถ่ายหนังที่จังหวัดเพชรบุรี แต่สามีนางเอกเกิดไม่ยอมให้นางเอกแสดงต่อ สามเกลอเข้าตาจนจึงต้องหาผู้มาแสดงแทน โชคดีได้พบสาวชาวไร่ชื่อ น้อย จึงชวนมาเป็นนางเอกโดยไม่รู้ว่าน้อยเป็นที่หมายปองของเสือฉาย รุ่งขึ้นถึงคิวการถ่ายฉากพลอดรักระหว่างพระเอกนางเอก เสือฉายผ่านมาเห็นเข้านึกว่าเป็นเรื่องจริงก็เกิดโทสะ วิ่งพรวดเข้าไปชกณรงค์ สมพงษ์สวมวิญญาณตากล้องถ่ายภาพยนตร์ต่อไป น้อยวิ่งไปขอความช่วยเหลือจากตำรวจที่ขับรถผ่านมาแถวนั้น ตำรวจเห็นหน้าเสือฉายก็จำได้ว่าเป็นมหาโจรที่ทางการกำลังต้องการตัวแต่ไม่เคยมีใครมีภาพถ่ายเสือฉาย เสือฉายฉวยโอกาสหลบหนีไป สามเกลอกลับมาล้างฟิล์มที่กรุงเทพ เจอข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์ประกาศให้รางวัลแก่ผู้ที่มีภาพเสือฉาย จึงไม่รอช้ารีบเอาฟิล์มไปให้ตำรวจ แต่ เสือปาน ลูกสมุนของเสือฉายมาดักรอกลางทาง สามเกลอพากันวิ่งหนีจนกระทั่งถึงสถานีตำรวจ อารามรีบวิ่งตามสามเกลอเสือปานจึงไม่รู้ตัวว่ากำลังวิ่งเข้าสถานีตำรวจจึงถูกจับเข้าตาราง สามเกลอกลับมาถ่ายหนังต่อที่จังหวัดเพชรบุรีและมาสู่ขอน้อยให้พระเอกเสือฉายสบโอกาสตามมาล้างแค้น แต่พลาดท่าเสียทีถูกตำรวจจับเสียเอง รางวัลนำจับเสือฉายจึงตกเป็นของสามเกลอคณะถ่ายหนัง เอวังด้วยประการฉะนี้
ตุ๊กตาจ๋า (2494)
ตุ๊กตาจ๋า (2494/1951) เฉลิม ชลกุล ญาติสนิทปฏิเสธการช่วยเหลือเรื่องเงินทอง อุดม ชายโฉดจึงลักพาตัวตุ๊กตา ลูกสาวของเฉลิมไป แต่อุดมไม่อยากมีภาระ จึงเอาตุ๊กตาไปฝากไว้กับ ละม้าย ญาติซึ่งไม่ชอบขี้หน้าเฉลิม โดยเสนอว่าจะส่งเงินให้ ละม้ายปฏิเสธการช่วยเหลือจึงถูกอุดมฆ่าปิดปาก โจ้ กับ ธร ซึ่งนั่งเลื่อยไม้อยู่แถวนั้น ได้ยินเสียงปืนดังลั่นก็รีบวิ่งไปดูที่มาของเสียง พบศพของละม้ายนอนตายอยู่กลางทาง และมีตุ๊กตานั่งอยู่ข้างๆ ศพโจ้กับธรจึงเก็บตุ๊กตามาเลี้ยงเพราะความสงสาร ด้วยความยากมีเงินทอง โจ้กับธรจึงต้องอาศัยการลักเล็กขโมยน้อยประทังชีวิต 10 ปีผ่านไป ตุ๊กตาเริ่มโตพอจะอ่านออกเขียนได้ ธรก็ใช้ความรู้เท่าที่มีสอนหนังสือให้ตุ๊กตา แล้วโชคชะตาก็พาให้ตุ๊กตาได้พบกับแม่ที่แท้จริง เมื่อธรเกิดไปถูกใจสาวสวยคนหนึ่ง แต่ถูกสาวเจ้าสาดน้ำใส่ อารามเสียหน้าจึงตั้งใจจะไปขโมยของในบ้านของสาวเจ้าเป็นการแก้เผ็ด แต่เมื่อเข้าไปในบ้าน ธรกลับได้เห็นรูปภาพของเด็กหญิงตุ๊กตาใส่กรอบรูปไว้เป็นอย่างดี จึงได้รู้ว่าตุ๊กตาเป็นลูกสาวของบ้านนั้นที่หายตัวไปพร้อม ๆ กับที่รู้ว่าสาวที่ตนแอบชอบนั้นตาบอด เป็นพี่สาวของตุ๊กตา ชื่อว่า ไพริน เมื่อธรแน่ใจจึงเล่าความจริงให้โจ้ฟัง และชวนกันไปทำความรู้จักกับครอบครัวของไพรินในวันต่อมามณี แม่ของไพรินได้เห็นตุ๊กตาก็ถึงกับตะลึงงัน จึงต้อนรับขับสู้แขกแปลกหน้าทั้งสามอย่างไม่มีทีท่ารังเกียจ แต่แล้ววันหนึ่ง อุดมก็มาปรากฏตัวที่บ้านของธรเพื่อข่มขู่จะเอาตัวตุ๊กตา แล้วไปเรียกค่าไถ่จากมณี ธรกับโจ้ปรึกษากันเห็นว่าไม่มีทางออกอื่นนอกจากต้องคืนตุ๊กตาให้ครอบครัวที่แท้จริงเพื่อความปลอดภัยของเด็กน้อย แม้ทั้งสองจะรักตุ๊กตาประดุจลูกในไส้ก็ตาม เมื่อถึงเวลาที่อุดมนัดหมายจะมารับตุ๊กตา ธรเอาตัวเข้าสู้และยิงอุดมเสียชีวิต แม้ตัวเองจะต้องตายไปด้วยก็ตาม
Placeholder
สามเกลอตามนาง (2494)
สามเกลอตามนาง (2494/1951) เปนเรื่องรักระคนตลกแบบใหม่ที่สุด อันเพิ่งจะปรากฏเปนครั้งแรกในวงการภาพยนตร์ไทย ชาวกรรมกรสามล้อนับจำนวนร้อยเข้าร่วมแสดงด้วย ครึกครื้นครื้นเครง แต่เบาสมองดีนัก! (ที่มา: นิตยสารภาพยนตร์สาร มีนาคม พ.ศ. 2494)
Placeholder
น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง (2485)
น้ำท่วมดีกว่าฝนแล้ง (2485/1942) เพียบพร้อมไปด้วยวัธนธัม ให้คติ สมัยสร้างชาติ รัก ตลก ขบขัน เพลงไพเราะห์ สนองนโยบายผู้นำ ปลอบใจน้ำท่วมดีกว่า พระเอกเป็นกรรมกรเรือจ้าง (ที่มา: หนังสือพิมพ์รายวัน ศรีกรุง พ.ศ. 2485)
Placeholder
สามเกลอผจญภัย (2483/1940) ภาพยนตร์ตลกที่จะทำให้ท่านต้อง หัวเราะท้องคัดท้องแข็งยิ่งกว่าตลกของฝรั่ง คือเรื่อง "สามเกลอผจญภัย" ภาพยนตร์ไทยตลกชั้นพิเศษ ประกอบการตื่นเต้นหวาดเสียว เพียบพร้อมไปด้วยการชกต่อย ภูติผีปีศาจ และเพลงไพเราะ ท่านที่ชอบภาพยนตร์ตลกของฝรั่ง โปรดมาตัดสินภาพยนตร์ตลกของไทยเราบ้าง (ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพฯ วารศัพท์ กรกฎาคม พ.ศ. 2483)
ไม่เคยรัก (2483)
ไม่เคยรัก (2483/1940) โรจน์ สืบทอดกิจการร้านนิยมไทยจำหน่ายสินค้าไทยต่อจากบิดา เขาคร่ำเคร่งกับการทำงานจนไม่สนใจเรื่องอื่นรวมทั้งเรื่องความรัก จนกระทั่งเช้าวันหนึ่ง ขณะที่โรจน์ขับรถไปทำงาน บังเอิญขับรถชนรถสามล้อ ซึ่งมีสาวงามชื่อ วนิดา โดยสารอยู่ โรจน์หลงรักวนิดาตั้งแต่แรกเห็นและตามไปส่งที่บ้าน จึงได้รู้ว่าวนิดาเป็นหลานสาวของ พระพฤกษาพิทักษ์ ซึ่งหลงใหลในกล้วยไม้ ขากลับโรจน์พบ สนิท ซึ่งมาติดพันวนิดา และเป็นผู้ที่ มาลี แม่ของวนิดาหมายมั่นจะให้แต่งงานกับลูกสาว สนิทมีนิสัยเจ้าชู้ ทำให้วนิดาใจโอนเอียงไปทางโรจน์ แต่แล้ววันหนึ่ง โรจน์ขึ้นไปรับ ผ่องพรรณ น้องสาวซึ่งป่วยหนักมารักษาที่กรุงเทพ กาจ นักหนังสือพิมพ์ซึ่งมีความแค้นโรจน์ในเรื่องส่วนตัว บังเอิญเห็นจึงนำไปเขียนข่าวกล่าวหาว่าโรจน์ล่อลวงสาวบ้านนอกมากรุงเทพ ทำให้วนิดาเข้าใจผิด โรจน์โกรธมากจึงฟ้องร้องหนังสือพิมพ์ฉบับนั้น ศาลพิจารณาตัดสินให้หนังสือพิมพ์ฉบับนั้นแก้ข่าว วนิดากับโรจน์จึงเข้าใจกันในที่สุด
จ๊ะเอ๋ (หนังสั้น)
จ๊ะเอ๋ (2481/1938) เรื่องจ๊ะเอ๋เป็นหนังสั้น ที่ฉายก่อนการฉายภาพยนตร์เรื่อง ตื่นเขย ซึ่งสมัยนั้นจะเรียกว่า “หนังประกอบ” (Supporter) และเป็นหนังไทยเรื่องแรก ที่ใช้ สุนัขไทย เข้ามาแสดงด้วย
หลอกเมีย 2480
หลอกเมีย (2480/1937) จำรัส กับ ลาวรรณ สองสามีภรรยาย้ายมาอยู่ที่บ้านใหม่ และได้ คุณอึ หรือชื่อเดิมว่า หนอม มาเป็นคนรับใช้ แต่เมื่อย่างเข้ามาสู่ในบ้านมิวายโรคเดิมของจำรัส คือ โรคกลัวเมีย ก็พลันกำเริบ เพียงแค่ลาวรรณตำหนิเรื่องการติดรูปบนผนังว่าต้องเอารูปของตนไว้ข้างบน บ่ายวันหนึ่ง หนอมคนรับใช้คู่ใจเอาหนังสือพิมพ์มาให้จำรัสดูรูปสาวน้อยนั่งตกปลา แถมยังยุยงเจ้านายให้หาทางไปดูตัวจริง จำรัสนึกสนุกคิดอุบายหลอกลาวรรณว่าการงานวุ่นวายจนเป็นโรคเส้นประสาท และอ้างว่าหมอแนะนำให้ไปตกปลาเพื่อเป็นการผ่อนคลายลาวรรณไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมของจำรัสจึงเห็นดีด้วย ที่สระน้ำตามประกาศในหน้าหนังสือพิมพ์จำรัสได้พบกับสาวน้อยตามใจหวัง และพยายามหาโอกาสเข้าไปทำความรู้จักจนได้นามบัตรและทราบว่าชื่อกมล วันต่อๆ มา จำรัสก็กุเรื่องโกหกลาวรรณเพื่อไปที่บ้านกมล ตามที่อยู่บนนามบัตร ทำให้ได้พบ เถ้าแก่กิมหมง บิดาของกมล ซึ่งเคยมาขอทำประกันโรงสีของตนและวางแผนจะเผาโรงสีเพื่อเอาเงินประกัน ลาวรรณระอาความเจ้าชู้ของสามี ขนาดขู่จำรัสว่าจะพาไปให้หมอเพื่อผ่าเส้นประสาททิ้ง จำรัสก็ไม่มีทีท่าว่าจะเกรงกลัว ยังวางแผนหลอกลาวรรณว่าต้องไปทำงานที่เชียงใหม่ แต่ความจริงแล้วไปพักอยู่กับ ทองอ่อน เพื่อนสนิท ฝ่ายลาวรรณ เมื่อสามีไม่อยู่จึงเดินทางไปที่บ้านเถ้าแก่หมงประกาศตนว่าเป็นภรรยาของจำรัส และสั่งห้ามกมลไม่ให้มายุ่งเกี่ยวกับจำรัสอีก พอจำรัสไปขอพบกมลจึงโดนเถ้าแก่กิมหมงไล่ตะเพิดข้อที่ว่ามีภรรยาแล้วยังมาหลอกลูกสาวตน จำรัสเดินคอตกกลับบ้าน มิวายโดนลาวรรณซักไซ้จับได้ว่าจำรัสไม่ได้ไปเชียงใหม่จริงจำรัสจึงโดนภรรยาฟาดจนต้องนอนซม การหลอกเมียของจำรัสจึงจบลงแต่เพียงเท่านี้
กลัวเมีย 2479

กลัวเมีย (2479/1936) จำรัส เป็นผู้จัดการบริษัทสากลประกันภัย มีภรรยาชื่อ ลาวรรณ ชีวิตการแต่งงานของเขาไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิด เหตุเพราะเป็นโรคกลัวเมียขึ้นสมอง ผัน เพื่อนของจำรัสแนะนำ หมอแนม ซึ่งมีความสามารถสับเปลี่ยนวิญญาณมนุษย์กับผีได้ รุ่งขึ้นจำรัสจึงไปหาหมอแนมให้ช่วยรักษาโรคกลัวเมีย หมอแนมจัดการเปลี่ยนวิญญาณให้จำรัสและกำชับว่าห้ามยุ่งเกี่ยวกับผู้หญิงที่อายุอ่อนกว่า วิธีรักษาของหมอแนมประสบผลดีเกินคาด ไม่ว่าจำรัสจะทำอะไรลาวรรณก็ไม่ดุด่าเหมือนแต่ก่อน จนจำรัสย่ามใจเผลอไปยุ่งกับ ทองฟู นางบำเรอที่มาขอทำประกันความงามที่บริษัทของจำรัส โรคกลัวเมียจึงกลับมาเยือนจำรัสเหมือนอย่างเคย

ดงตาล 2479
ดงตาล (2479/1936) เปนหนังไทยเรื่องแรกของ "พรานบูรพ์" "ดงตาล" เปนเรื่องรักที่ดุดันน่าหวาดเสียว แต่ "ดงตาล" แสดงโดยคนตลก ๔ คน คือ สุคนธ์, ทองถม, แส และชื้น "ดงตาล" ถ่ายทำในท่ามกลางวิวงามตามธรรมชาติแห่งเกาะยอ ทะเลสาบสงขลา (ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ เมษายน พ.ศ. 2479)
แก่นกะลาสี 2479
แก่นกะลาสี (2479/1936) จ่าโทว่อง นักเรียนใหม่โรงเรียนชุมพลทหารเรือถูก จ่าโทเอื้อม เขม่น ทันทีที่เห็นหน้า ทั้งสองมีเรื่องชกต่อยเป็นประจำ โดยที่ต่างคนต่างไม่ทราบว่ากำลังคบผู้หญิงคนเดียวกันคือ ศรีสวาท ต่อมาทั้งสองได้รับเลือกให้ไปปฏิบัติราชการรับเรือตอร์ปิโดที่ประเทศอิตาลี ระหว่างการเดินทางจ่าโทเอื้อมประสบอุบัติเหตุแต่จ่าโทว่องช่วยเหลือไว้ทัน ทั้งสองจึงยุติการทะเลาะกันนับแต่นั้นเป็นต้นมา จ่าโทว่องเปิดใจเรื่องคนรักทำให้จ่าโทเอื้อมรู้ความจริง จ่าโทว่องจึงเสียสละศรีสวาทให้แก่จ่าโทเอื้อม แต่ขณะที่อยู่ต่างเมืองจ่าโทเอื้อมนึกสนุกไปจีบสาวอิตาลี จ่าโทว่องแอบถ่ายรูปไว้และส่งไปให้ศรีสวาท เมื่อศรีสวาทได้รับจดหมายเห็นรูปบาดตาจึงหันไปหาเสี่ยเซ้งซึ่งพี่ชายแนะนำให้รู้จัก ถึงเวลาที่เรือหลวงเจ้าพระยากลับสู่น่านน้ำไทย จ่าโทว่องกับจ่าโทเอื้อมต่างตรงดิ่งไปหาศรีสวาทยอดรัก เมื่อรู้ว่าศรีสวาทเปลี่ยนใจจึงหันกลับไปตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ราชการทหาร
ระเด่นลันได 2478

ระเด่นลันได (2478/1935) ถอดจากหนังสือลือชื่อในบทประพันธ์ไทยเรื่องหนึ่ง ผู้แสดงได้แก่ บังฟัก พูมศรี เป็นตัวระเด่นลันได ขุนสำราญ (อ๊อด) เป็นท้าวประดู่ จรัสยนตร์ คำแย้ม เป็นนางประแดะ และ จำเริญ สวัสดิสันติ์ เป็นนางกระแอ เป็นหนังไทยเรื่องแรกที่สำคัญในเชิงตลกขบขัน การฉายคงมีพากย์ประกอบในแบบใหม่ คือ ชายพากย์บทชาย หญิงพากย์บทหญิง (ที่มา: หนังสือพิมพ์รายวัน ศรีกรุง กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2478) เรื่องตลกจริงๆ ตลก แท้ๆ ถ้าท่านยังไม่มี เรื่องที่จะหัวเราะหรือยังหาโอกาสหัวเราะไม่ได้ ก็เชิญเตรียมตัวคอยชม ระเด่นลันได ภาพยนตร์ตลกประกอบ เสียงของหัสดินทรภาพยนตร์ "ระเด่นลันได" ที่บริษัทหัสดินทร์สร้างขึ้นใหม่ นี้ ได้ใช้วิธีสร้างประกอบเสียงโดยวิธีใหม่ที่สุดซึ่งท่านจะได้เห็นและได้ฟังเปนครั้งแรกในพระนคร ท้องเรื่องของภาพยนตร์ถอดจากบทประพันธ์ของจินตกวีในรัชชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชชกาลที่ ๒ และเปนเรื่องตลกล้วนๆ อย่างที่ฝรั่งเรียกว่า Comedy แท้ๆ (ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพฯ วารศัพท์ มีนาคม พ.ศ. 2478)

เสน่หาตามืด 2471

เรื่องย่อ : เสน่หาตามืด (2471/1928) เชิญท่านไปหัวเราะ!!! นายเทิ้มนาฏะคะยี จอมจำอวดสวดคฤหัสถ์ ลิเก เสภา ละครรำ ละครร้อง ฯลฯ ในภาพยนตร์ตลกไทยเรื่องแรกชิ้นเอกแห่งบูรพาทิศ "เสน่หาตามืด" แสดงร่วมกับนางงามอาบน้ำชาวสยามหมู่ใหญ่ มีการตลกแปลกปลาด เช่น ดำทราย ตกจากเขาสูงศีรษะปักดินไม่ตาย ถูกแทงน่าใจหาย ภาพฝันและหยอกนางเงือกสมัยใหม่ ฯลฯ (ที่มา: หนังสือพิมพ์รายวันศรีกรุง ธันวาคม พ.ศ. 2471)