พระเจ้าช้างเผือก (2484/1941) เรื่องเริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2083 ในอโยธยา อันเป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักรไทย อโยธยาเป็นคำในภาษาบาลีโบราณ แปลว่าปราศจากสงคราม หรือ สันติภาพ นั่นเอง ยุวกษัตริย์พระนามว่า "จักรา" ทรงขึ้นครองราชบัลลังก์สืบเนื่องจากการเสด็จสวรรคตอย่างกระทันหันของพระราชบิดา พระเจ้าจักราถูกเลี้ยงดูมาโดยภิกษุรูปหนึ่ง จึงไม่ทรงโปรดความโอ่อ่าในราชนำนัก ในการเถลิงถวัลย์ราชสมบัตินี้ทรงมีพระบัญชาให้งดเว้นการเฉลิมฉลองทั้งปวง ในวันฉัตรมงคล ปีที่สามหลังจากขึ้นครองราชย์ สมุหราชมณเฑียรได้เตือนพระเจ้าจักราให้ปฏิบัติตามโบราณราชประเพณีที่กษัตริย์ต้องมีมเหสี 365 องค์ ตามจำนวนวันในหนึ่งปี สมุหราชมณเฑียรได้จัดให้กุลธิดา หญิงงามผู้เป็นบุตรีของขุนนางชั้นสูงมาฟ้อนรำถวายพระพร โดยหนึ่งในหญิงสาวเหล่านี้ก็มี เรณู บุตรีของสมุหราชมณเฑียรรวมอยู่ด้วย แต่ในขณะนั้นเองมีสาส์นจากต่างประเทศมา พระเจ้าจักราทรงมีพระทัยจดจ่อกับสาส์นนั้นอ่านถึงสองรอบตกอยู่ในภวังค์จนบรรดาสาวงามต่างถวายพระพรลากลับไปหมดแล้วพระเจ้าจักราก็ไม่ทรงรู้พระองค์ พระเจ้าจักราทรงมีพระราชวินิจฉัยว่าคงไม่อาจปฏิบัติตามโบราณราชประเพณีได้ในกาลดังกล่าว เพราะมีเหตุการคับขันขึ้น กล่าวคือ กษัตริย์โมกุลได้เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับกษัตริย์หงสา และกษัตริย์หงสาก็กำลังเตรียมไพร่พลสำหรับการสงครามอยู่ พระเจ้าจักราจึงจัดให้มีการคล้องช้างเพื่อเป็นกำลังให้อโยธยา ทั้งนี้สมุหราชมณเฑียรไม่เห็นด้วยเพราะคิดว่าถ้าทรงมีพระมเหสีเสียก่อน 365 องค์ แล้วพาพระมเหสีไปคล้องช้างด้วยจะได้ช้างมามากกว่าไปพระองค์เดียวเป็นสิบเท่า แต่พระเจ้าจักราปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าวเพราะเสนาบดีส่วนใหญ่ล้วนเห็นชอบให้จับช้างก่อน ได้มีพ่อค้าชาวโปรตุเกสมาเฝ้าทูลอองพระบาท จึงมีพระกระแสสอบถามถึงเหตุการณ์ต่าง ๆ ในโลก รวมถึงจำนวนพระมเหสีที่กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ในแต่ในดินแดนทรงมี กัปตันทูลตอบว่ากษัตริย์ตะวันตกมีได้พระองค์เดียวเพราะศาสนากำหนดไว้ เว้นแต่สุลต่านแห่งรัฐอิสลามที่มีมเหสีได้สี่องค์ ส่วนเรื่องดินแดนต่างๆ นั้นกัปตันทูลเกี่ยวกับการยึดครองดินแดนที่ค้นพบใหม่ทางตะวันตก (ทวีปอเมริกา) พระเจ้าจักราทรงสนพระทัยและตรัสถามต่อไปว่าดินแดนเหล่านี้ย่อมมีผู้ปกครองเป็นเจ้าของอยู่แล้ว ไปยึดแย่งเขามาได้อย่างไร กัปตันตอบว่าเพื่อนำพวกชนพื้นเมืองสู่อารยธรรมและเผยแผ่คริสต์ศาสนา และด้วยเหตุนี้เองทำให้ประชาชน (ของโปรตุเกสและชาติมหาอำนาจตะวันตก) ต้องทำสงครามกับอาหรับและทำสงครามอื่นๆ นับครั้งไม่ถ้วน พระเจ้าจักราทรงมีพระราชจริยาวัตรตื่นแต่เช้าตรู่ และเสด็จไปในอุทยานแห่งวิหารเทพีธรรมเพื่อทรงรับอากาศบริสุทธิ์ วันหนึ่งพระองค์ทรงไม่พอพระทัยอย่างยิ่งเมื่อเด็กๆ ที่รอเรียนหนังสือในวัดนั้นเล่นส่งเสียงดังน่ารำคาญ พระเจ้าจักราเกือบจะทรงตักเตือนเด็กเหล่านี้ด้วยพระองค์เอง แต่ก็มีสตรีนางหนึ่งเข้ามาตักเตือนเสียก่อน พระเจ้าจักราจึงแฝงพระองค์แอบฟัง สตรีนางนั้นได้ยกชาดกเรื่องเต่าช่างพูดมาตักเตือน เป็นที่พอพระทัยของพระเจ้าจักราเป็นอันมาก และทรงระลึกได้ว่าสตรีนางนั้นก็คือ เรณู บุตรีของสมุหราชมณเฑียร การคล้องช้างสำเร็จลุล่วงด้วยดี ได้ช้างเผือกมาด้วยเชือกหนึ่ง ซึ่งเป็นมหามงคลยิ่งในรัชสมัยของพระเจ้าจักรา จึงจัดให้ทำธงแดงมีช้างเผือกอยู่บนธงใช้เป็นสัญลักษณ์แห่งพระราชอาณาจักรสืบไป ข่าวลุไปถึงพระกรรณพระเจ้าหงสา พระเจ้าหงสาจึงได้ฉีก "สนธิสัญญาว่าด้วยการยุติความขัดแย้งโดยมีผู้ไกล่เกลี่ยอย่างสันติระหว่างหงสากับอโยธยา" ทิ้ง และเรียกร้องอโยธยาให้มอบช้างเผือกให้ แต่อโยธยาไม่ยอม จึงใช้เป็นข้ออ้างในการทำสงคราม กองทัพหงสาบุกตีเมืองกานบุรีแตกโดยไม่ประกาศสงครามอย่างเป็นทางการตามธรรมเนียมระหว่างประเทศ ทัพหงสาจับแต่ผู้หญิงไว้เป็นเชลย ฆ่าชาวเมืองที่เหลือและเผาเมืองจนสิ้น กองทัพหงสากำลังมุ่งหน้าสู่อโยธยา เมื่อพระเจ้าจักราทรงทราบข่าวก็ทรงจัดตั้งทัพไปต่อต้าน โดยให้สมุหราชมณเฑียรรักษาพระนครไว้ เมื่อทั้งสองฝ่ายต่อสู้กัน หงสากำลังเพลี่ยงพล้ำ พระเจ้าจักราจึงบอกให้ทหารอโยธยาอย่าทำร้ายทหารศัตรูอีก ให้เพียงจับเป็นเชลยถ้าทำได้ ส่วนพระองค์จะกระทำยุทธหัตถีกับกษัตริย์หงสา ทรงย้ำว่า "เราไม่ได้มาเพื่อสู้กับชาวหงสา เรามาสู้กับประมุขของพวกเขาเท่านั้น" ผลการยุทธหัตถีปรากฏว่าพระเจ้าหงสาทรงเป็นผู้พ่ายแพ้ ตกจากหลังช้างทรง สิ้นพระชนม์ ณ ที่รบ เมื่อสิ้นพระเจ้าหงสาผู้เป็นเหตุแห่งสงครามแล้ว พระเจ้าจักราจึงประกาศสงบศึก ปล่อยตัวเชลยให้กลับไป และขอให้สันติสุขจงมีแก่ทุกฝ่าย กลับมาที่อโยธยา สมุหราชมณเฑียรดึงดันจะให้พระเจ้าจักราปฏิบัติตามโบราณราชประเพณีอีก โดยจะให้มีพระเจ้าจักราเลือกมเหสี 365 องค์ และเลือกอีก 1 องค์เป็นพระราชินีกิตติมศักดิ์ มิให้ด้อยไปกว่ากรุงหงสา พระเจ้าจักราจึงเลือกเรณูอย่างเสียมิได้ ตั้งเป็นพระราชินีกิตติมศักดิ์ ไม่มีเบี้ยหวัดและพระตำหนัก แล้วส่วนมเหสีอีก 365 ทรงตรัสว่าจะเลือกภายหลังแล้วเสด็จพระราชดำเนินจากไป เรณูจึงรีบเข้าไปกราบทูลว่าการเลี้ยงดูมเหสีอีก 365 องค์นั้นไม่จำเป็น ควรนำพระราชทรัพย์นี้ไปบำบัดทุกข์ บำรุงสุขแก่ราษฎรดีกว่า พระเจ้าจักราทรงพอพระทัยเป็นอย่างมาก จึงให้เรณูเป็นพระราชินี "ตัวจริง" แทนที่จะเป็นพระราชินี "กิตติมศักดิ์" เรณูกระซิบบอกวิธีที่ไม่ต้องมีมเหสีมากมายแก่พระเจ้าจักรา พระเจ้าจักราจึงทรงมีพระบรมราชโองการมอบพระราชอำนาจการมีมเหสี 365 องค์แก่สมุหราชมณเฑียรแทน แล้วทรงกำชับว่า "เราต้องไม่แพ้พระเจ้าหงสานะ"
รวมไทย (2484)
รวมไทย (2484/1941) บันทึกเหตุการณ์กรณีพิพาทไทย-อินโดจีนของฝรั่งเศส เกียรติประวัติของ ร.พัน 3 หลังจากที่ฝรั่งเศสตอบปฏิเสธรัฐบาลไทยกรณีเรียกร้องดินแดนคืนฝ่ายไทยจึงเริ่มมีการลำเรียงทหารและจัดตั้งองค์การอาสากาชาดเพื่อบำบัดทุกข์บำรุงสุขพลเมืองไทยตามแนวรบชายฝั่งแม่น้ำโขง แล้วจึงมีการสู่รบทางอากาศที่เมืองนครพนม เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2483 เป็นชนวนให้เกิดการรบใหญ่ในเวลาต่อมาที่สมรภูมิบ้านพร้าวซึ่งกองทัพบูรพายึดธงชัยเฉลิมพลของข้าศึกได้ กองหน้าฝ่ายไทยได้ยึดดินแดนไปจนถึงบริเวณก่อนประตูศรีโสภณประมาณ 6 กม. ก่อนจะมีการพักรบในวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2483 แล้วจึงมีการจัดการเดินสวนสนามฉลองชัย ที่กรุงเทพ ระหว่างพักรบ นายพลตรีหลวงพิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมทหารในแนวรบ กองทัพบูรพาและประดับเหรียญชัยสมรภูมิแก่แม่ทัพ นายกอง และนายทหาร หลังจากนั้นเหล่าทหารที่ร่วมรบได้เดินทางกลับกรุงเทพ ท่ามกลางการต้อนรับของมหาชน และสวนสนามฉลองชัยรวมทั้งแสดงอาวุธอันทันสมัยที่ใช้ในการรบคราวนี้ ในวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2484
ค่ายบางระจัน (2482)

ค่ายบางระจัน (2482/1939) พ.ศ. 2308 พม่ายกทัพเข้ามารุกรานไทยหลายหมู่บ้าน พล และ แสน สองหนุ่มบ้านวิเศษไชยชาญจึงขี่ม้ามาส่งข่าวกำนันบ้านศรีบัวทอง ถึงแผนการของ ทิดดอก บ้านกลับ และ ทองแก้ว บ้านโพธิ์ทะเล ซึ่งเข้าไปคลุกคลีกับพวกพม่าเพื่อจะปล้นทรัพย์ แผนการสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี หากแต่กำนันบ้านศรีบัวทองเสียชีวิตในเหตุการณ์ สร้างความเศร้าสลดต่อชาวบ้านยิ่งนัก เมื่อขาดผู้นำ แท่น ซึ่งมีฝีมือในการรบดี จึงเสนอให้เดินทางไปสมทบที่ค่ายบางระจัน ชาวบ้านศรีบัวทองจึงแต่งตั้งแท่นเป็นแม่ทัพ ขณะนั้น เนเมียวสีหบดี แม่ทัพฝีมือเก่งกล้าฝ่ายพม่า มาตีค่ายบางระจันหลายต่อหลายครั้งก็ไม่สามารถเอาชนะได้ จึงเริ่มร้อนใจกลัวชาวบ้านค่ายบางระจันจะรวมกำลังคนได้มากขึ้น สุกี้ นายกองของพม่า ซึ่งเคยอาศัยอยู่เมืองไทยมานานอาสาเป็นผู้คุมทัพมาตีค่ายบางระจัน แท่นยังบาดเจ็บสาหัสจากการรบครั้งก่อน นายจัน หนวดเขี้ยว ขุนสรรค์ พันเรือง และคนอื่นๆ หารือตกลงกันว่าจะให้พลขี่ม้าไปขอปืนใหญ่จากกรุงศรีอยุธยาแต่ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ไม่เห็นด้วย มีเพียงพระยารัตนาฯ ที่เห็นใจชาวบ้านบางระจัน จึงตามพลมาช่วยสอนวิธีการหล่อปืนใหญ่แต่ไม่สำเร็จ สุกี้ยกทัพโจมตีค่ายบางระจันและสามารถทำลายประตูค่ายได้ ชาวบ้านทั้งชายและหญิงพร้อมใจกันเข้าต่อสู้ แต่หมดกำลังจะต้านทานจึงพ่ายแพ้พม่าไปในที่สุด

เลือดสุพรรณ 2479
เลือดสุพรรณ (2479/1936) ในสมัยอยุธยา พม่ายกทัพเข้ามารุกรานไทย จนถึงจังหวัดสุพรรณบุรี โดยการนำทัพของมังระโธ กับ มังราย ชาวสุพรรณบุรีตกเป็นเชลยของพม่า รวมทั้งครอบครัวของดวงจันทร์ ผู้ชายถูกเกณฑ์ไปใช้แรงงาน ดวง พ่อของดวงจันทร์ และ มิ่ง เพื่อนบ้าน เริ่มทำงานไม่ไหวจึงคิดหนี แต่ถูกจับได้ มังรายเดินผ่านมาจึงช่วยทั้งสองไม่ให้ถูกทำโทษเป็นชนวนให้มังระโธกับมังรายไม่ลงรอยกัน จนกระทั่งวันหนึ่งมังระโธทนไม่ไหวที่ถูกมังรายขัดขวางหลายต่อหลายครั้ง จึงปราดเข้าไปใช้ดาบฟันมังราย แต่กลับเป็นฝ่ายถูกฟัน กลายเป็นความเคียดแค้นแก่มังระโธ มังรายสารภาพรักกับดวงจันทร์ เธอจึงขอร้องให้เขาปล่อยชาวบ้าน มังรายตอบตกลง มังระโธได้ทีนำความไปบอกแม่ทัพมังมหาสุรนาท แต่มังรายเดินทางมาขอรับโทษเอง นายทหารคนอื่นๆ ที่อยู่ในเหตุการณ์พยายามช่วยเหลือมังราย เล่าต้นสายปลายเหตุว่าเป็นเพราะมังระโธบีบคอผู้หญิงเพื่อชิงทรัพย์ และแย่งน้ำที่คนจะดื่มเอามาล้างเท้า แต่กระนั้นก็ตาม มังมหาสุรนาทก็ยังสั่งประหารมังราย แม้มังรายจะเป็นลูกในไส้ของตนก็ตาม แล้วสั่งให้ประหารมังระโธข้อหากระทำทารุณต่อชาวบ้าน ขณะนั้นเอง ดวงจันทร์มาขอพบมังมหสุรนาทและร้องขอชีวิตมังรายโดยจะยอมรับโทษแทน แต่ทหารกำลังนำตัวมังรายไปป่าเพื่อจะประหาร ดวงจันทร์รุดหน้าเข้าไปในป่าหวังจะไปขัดขวางการประหารชีวิต กลับพบศพพ่อและแม่ถูกทหารพม่าฆ่าทิ้งเพราะโกรธแค้นที่ดวงจันทร์เป็นต้นเหตุให้มังรายต้องโดนประหารชีวิต ดวงจันทร์พยายามพูดโน้มน้าวปลุกใจชาวสุพรรณให้ลุกขึ้นมาจับดาบขึ้นสู้ และบุกค่ายพม่ายามดึก แม่ทัพพม่าพยายามเกลี้ยกล่อมให้ดวงจันทร์กลับไปและจะยอมไว้ชีวิตแต่ดวงจันทร์ยืนกรานที่จะสละชีพเพื่อชาติ จึงเสียชีวิตพร้อมชาวสุพรรณบุรี
เลือดทหารไทย 2478

เลือดทหารไทย (2478/1935) นาวาตรี หลวงสหะนาวิน ผู้บังคับหมวดหน่วยรบประจำเรือรบหลวงสุโขทัย นำทัพประลองยุทธใหญ่ทางทะเลจึงได้รับคำสั่งเลื่อนยศพร้อมกับคนอื่นๆ คืนวันรุ่งขึ้น ได้มีงานเลี้ยงบนเรือรบหลวงสุโขทัย หลวงสหะนาวินได้พบ พาณี นรกุล น้องสาวของ เรือเอกปรีชา นรกุล ก็รู้สึกหลงรัก เช่นเดียวกับ พันตรีหลวงกฤษณะสงคราม เพื่อนสนิท หลวงสหะนาวินจึงหลีกทางให้ จนกระทั่งประเทศไทยเข้าสู่ภาวะสงครามรัฐบาลได้อนุมัติให้กระทรวงกลาโหมดำเนินการตามยุทธศาสตร์ตามแผนป้องกันพระราชอาณาจักร ที่ พลโทพระยานรกุล ร่างขึ้น แต่ขณะนั้นเองมีกลุ่มคนคิดขายชาตินำโดย วิญญู เป็นหัวหน้า ต้องการขโมยร่างแผนป้องกันพระราชอาณาจักร จึงให้อุดมกับเฉลิมลอบไปขโมยในงานวันเกิดพระยานรกุลที่จะจัดขึ้นในอีกไม่กี่วันต่อมา เมื่อถึงวันงาน อุดมลอบเข้าไปขโมยร่างแผนป้องกันพระราชอาณาจักรในบ้านพระยานรกุลสำเร็จ แต่ขณะที่กำลังปีนลงมาจากตึก หลวงกฤษณะมาเห็นเข้าจึงยิงอุดมเสียชีวิต เฉลิมซึ่งคอยดูต้นทางอยู่รีบวิ่งไปฉวยแผนป้องกันพระราชอาณาจักรและหลบหนีไปได้ หลวงกฤษณะถูกเรียกเข้าประจำกรมด่วน เนื่องจากรัฐบาลประกาศสงครามแล้ว นายเรือเอกปรีชาจึงเสียสละออกรับแทนว่าตนเป็นผู้ยิงอุดมเสียชีวิต หลวงกฤษณะจึงได้ไปปฏิบัติหน้าที่รับใช้ชาติ หลังจากนั้นตำรวจก็ได้รับแจ้งว่าร่างแผนป้องกันพระราชอาณาจักรหายไป เมื่อสอบปากคำ นงลักษณ์ ซึ่งอยู่ในที่เกิดเหตุ ตำรวจจึงรีบไปดักรอผู้ต้องสงสัยที่สถานเบียร์ฮอลล์ "โอดี" และจับวิญญูและเฉลิมพร้อมของกลางได้ นายเรือเอกปรีชาจึงได้รับการปล่อยตัวไปเป็นผู้บังคับหมู่เรือยามฝั่ง กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศไทยเคลื่อนทัพสู่สนามรบ และได้ชัยชนะกลับมา

รบระหว่างรัก (2474)
รบระหว่างรัก (2474/1931) เรื่องราวรักสามเส้า และรักต่างชนชั้น พระเอกเป็นลูกชาวนาที่อาสาไปรบในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 มีแม่เป็นคนตาบอด เมื่ออาสาไปรบจึงไปขอร้องเพื่อนที่มีเสียงเหมือนกับตน ไปดูแลแม่ของตัวเอง พอกลับมาจากสงครามก็พบว่าถูกแย่งคนรักไป พระเอกจึงไปแย่งกลับคืนมา

หน้าที่