กลัวเมีย 2479

กลัวเมีย (2479/1936) จำรัส เป็นผู้จัดการบริษัทสากลประกันภัย มีภรรยาชื่อ ลาวรรณ ชีวิตการแต่งงานของเขาไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คิด เหตุเพราะเป็นโรคกลัวเมียขึ้นสมอง ผัน เพื่อนของจำรัสแนะนำ หมอแนม ซึ่งมีความสามารถสับเปลี่ยนวิญญาณมนุษย์กับผีได้ รุ่งขึ้นจำรัสจึงไปหาหมอแนมให้ช่วยรักษาโรคกลัวเมีย หมอแนมจัดการเปลี่ยนวิญญาณให้จำรัสและกำชับว่าห้ามยุ่งเกี่ยวกับผู้หญิงที่อายุอ่อนกว่า วิธีรักษาของหมอแนมประสบผลดีเกินคาด ไม่ว่าจำรัสจะทำอะไรลาวรรณก็ไม่ดุด่าเหมือนแต่ก่อน จนจำรัสย่ามใจเผลอไปยุ่งกับ ทองฟู นางบำเรอที่มาขอทำประกันความงามที่บริษัทของจำรัส โรคกลัวเมียจึงกลับมาเยือนจำรัสเหมือนอย่างเคย

ดงตาล 2479
ดงตาล (2479/1936) เปนหนังไทยเรื่องแรกของ "พรานบูรพ์" "ดงตาล" เปนเรื่องรักที่ดุดันน่าหวาดเสียว แต่ "ดงตาล" แสดงโดยคนตลก ๔ คน คือ สุคนธ์, ทองถม, แส และชื้น "ดงตาล" ถ่ายทำในท่ามกลางวิวงามตามธรรมชาติแห่งเกาะยอ ทะเลสาบสงขลา (ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามราษฎร์ เมษายน พ.ศ. 2479)
แก่นกะลาสี 2479
แก่นกะลาสี (2479/1936) จ่าโทว่อง นักเรียนใหม่โรงเรียนชุมพลทหารเรือถูก จ่าโทเอื้อม เขม่น ทันทีที่เห็นหน้า ทั้งสองมีเรื่องชกต่อยเป็นประจำ โดยที่ต่างคนต่างไม่ทราบว่ากำลังคบผู้หญิงคนเดียวกันคือ ศรีสวาท ต่อมาทั้งสองได้รับเลือกให้ไปปฏิบัติราชการรับเรือตอร์ปิโดที่ประเทศอิตาลี ระหว่างการเดินทางจ่าโทเอื้อมประสบอุบัติเหตุแต่จ่าโทว่องช่วยเหลือไว้ทัน ทั้งสองจึงยุติการทะเลาะกันนับแต่นั้นเป็นต้นมา จ่าโทว่องเปิดใจเรื่องคนรักทำให้จ่าโทเอื้อมรู้ความจริง จ่าโทว่องจึงเสียสละศรีสวาทให้แก่จ่าโทเอื้อม แต่ขณะที่อยู่ต่างเมืองจ่าโทเอื้อมนึกสนุกไปจีบสาวอิตาลี จ่าโทว่องแอบถ่ายรูปไว้และส่งไปให้ศรีสวาท เมื่อศรีสวาทได้รับจดหมายเห็นรูปบาดตาจึงหันไปหาเสี่ยเซ้งซึ่งพี่ชายแนะนำให้รู้จัก ถึงเวลาที่เรือหลวงเจ้าพระยากลับสู่น่านน้ำไทย จ่าโทว่องกับจ่าโทเอื้อมต่างตรงดิ่งไปหาศรีสวาทยอดรัก เมื่อรู้ว่าศรีสวาทเปลี่ยนใจจึงหันกลับไปตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ราชการทหาร
ระเด่นลันได 2478

ระเด่นลันได (2478/1935) ถอดจากหนังสือลือชื่อในบทประพันธ์ไทยเรื่องหนึ่ง ผู้แสดงได้แก่ บังฟัก พูมศรี เป็นตัวระเด่นลันได ขุนสำราญ (อ๊อด) เป็นท้าวประดู่ จรัสยนตร์ คำแย้ม เป็นนางประแดะ และ จำเริญ สวัสดิสันติ์ เป็นนางกระแอ เป็นหนังไทยเรื่องแรกที่สำคัญในเชิงตลกขบขัน การฉายคงมีพากย์ประกอบในแบบใหม่ คือ ชายพากย์บทชาย หญิงพากย์บทหญิง (ที่มา: หนังสือพิมพ์รายวัน ศรีกรุง กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2478) เรื่องตลกจริงๆ ตลก แท้ๆ ถ้าท่านยังไม่มี เรื่องที่จะหัวเราะหรือยังหาโอกาสหัวเราะไม่ได้ ก็เชิญเตรียมตัวคอยชม ระเด่นลันได ภาพยนตร์ตลกประกอบ เสียงของหัสดินทรภาพยนตร์ "ระเด่นลันได" ที่บริษัทหัสดินทร์สร้างขึ้นใหม่ นี้ ได้ใช้วิธีสร้างประกอบเสียงโดยวิธีใหม่ที่สุดซึ่งท่านจะได้เห็นและได้ฟังเปนครั้งแรกในพระนคร ท้องเรื่องของภาพยนตร์ถอดจากบทประพันธ์ของจินตกวีในรัชชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชชกาลที่ ๒ และเปนเรื่องตลกล้วนๆ อย่างที่ฝรั่งเรียกว่า Comedy แท้ๆ (ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพฯ วารศัพท์ มีนาคม พ.ศ. 2478)

เสน่หาตามืด 2471

เรื่องย่อ : เสน่หาตามืด (2471/1928) เชิญท่านไปหัวเราะ!!! นายเทิ้มนาฏะคะยี จอมจำอวดสวดคฤหัสถ์ ลิเก เสภา ละครรำ ละครร้อง ฯลฯ ในภาพยนตร์ตลกไทยเรื่องแรกชิ้นเอกแห่งบูรพาทิศ "เสน่หาตามืด" แสดงร่วมกับนางงามอาบน้ำชาวสยามหมู่ใหญ่ มีการตลกแปลกปลาด เช่น ดำทราย ตกจากเขาสูงศีรษะปักดินไม่ตาย ถูกแทงน่าใจหาย ภาพฝันและหยอกนางเงือกสมัยใหม่ ฯลฯ (ที่มา: หนังสือพิมพ์รายวันศรีกรุง ธันวาคม พ.ศ. 2471)

ใครเป็นบ้า 2471

เรื่องย่อ : ใครเป็นบ้า (2471/1928) มีเนื้อเรื่องยอกย้อนซับซ้อนกัน เพื่อให้ผู้ดูวินิจฉัยเอาเองว่า ฝ่ายใดเป็นบ้า...นัยว่าจะทำให้ผู้ดูหัวเราะขบขันได้ตลอดเวลา...เพียงแต่ดูบางตอนในเรื่องนี้ เชื่อกันว่าคงจะเป็นเรื่องสนุก เช่นตอนมีผู้แต่งตัวชอบกลมาลูบหัวสุนักข์แล้วสุนักข์กลายเป็นคน ๆ กลายเป็นสุนักข์ ฯลฯ ดำเนินเค้าเงื่อนคมขำ ผู้ดูนึกขบขันตลอดเวลา ทำให้อดนึกถึงปัญหาในเบื้องต้นไม่ได้ว่า ใครจะเป็นบ้ากันแน่ ครั้นมาในตอนท้าย ผู้ที่เป็นบ้ากลับกลายมาเป็นผู้ที่เราไม่เคยนึกเคยฝัน นับว่าเป็นเรื่องตลก ที่น่าฟังดีที่สุดเรื่องหนึ่ง ผู้แสดงทุกคนแสดงบทบาทได้อย่างสนิทสนม ไม่เก้อเขิน ทั้งการแต่งตัวก็เรียบร้อย ไม่ขะมุกขะมอมเช่นก่อนๆ ไฟสว่างดีเห็นภาพชัดเจน ถ้าจะกล่าวถึงผู้แสดง เป็นพิเศษโดยเฉพาะ ก็คือนางสาวแพน เรืองนนท์ คนทั้งสองนี้จะแสดงบทบาทให้ท่านเห็นความชำนิชำนาญในทางนาฏศาสตร์มาเป็นอย่างดี และทั้งจะได้เห็นรูปโฉมของ นางสาวแพน เรืองนนท์ ว่ามีความงดงามสมกับชื่อ เสียงอันโด่งดังของเจ้าหล่อนเพียงไร นอกจากนี้มีผู้ควรกล่าวด้วยอีกคนหนึ่งก็คือ นางจรวย ลีละชาติ ได้แสดงร่วมในเรื่องนี้ด้วย ท่านจะได้เห็นความชำนาญในการขับรถของเจ้าหล่อน และรูปร่างหน้าตาอย่างชัดเจน ซึ่งจะทำให้ท่านหายความประหลาดใจ ในความโลดโผน และ คุณสมบัติของเจ้าหล่อน (ที่มา: หนังสือพิมพ์รายวันศรีกรุง มิถุนายน พ.ศ. 2471)

เชื้อไม่ทิ้งแถว 2470
เรื่องย่อ : เชื้อไม่ทิ้งแถว (2470/1927) เป็นเรื่องสมเหตุสมผล พร้อมไปด้วยคติสอนใจ โลดโผน โศก รัก ตลก คะนอง กับยังมียวดยานเกือบทุกประเภทแสดงประกอบอยู่ในเรื่อง เช่น รถยนต์ รถไฟ เรือยนต์ เรือแข่ง เรือกระฐินหลวง เครื่องบิน ฉวี (พระเอก) ต้องผจญภัยไม่แต่เพียงในเรื่องเท่านั้น แม้แต่นอกเรื่องก็ถูกผจญภัยด้วย ดังข่าวตกเครื่องบินในขณะทำการแสดง ดังปรากฏในข่าวหนังสือพิมพ์ที่เคยลงซู่ซ่ากันมาแล้ว ผู้ที่ได้รับความชมเชยเป็นพิเศษยังมีอีก เช่น เล็ก ซึ่งแสดงเป็นตัวนางลม้าย ภรรยานายสมบุญ (เชงจู) ผู้นี้นับว่าทำหน้าที่แม่ได้สนิทมาก โรคปากมากก็เป็นที่ 1 บูชาพ่อหลานชาย (สนอง) เสียเป็นเทวดา เข้าใกล้ผัวทีใดเป็นมีเรื่องทะเลาะกับผัววันยังค่ำ ทุกสิ่งของแม่ลม้ายไม่มีสิ่งใดที่จะเหลือไว้ให้สงสัยเลยว่าพ่อหลานชายยอดยากของแก เป็นบรมจอมโจรที่จะคอยล้วงตับแกในวันแล้ววันอีก ถ้าผัวคัดค้านถึงเรื่องพ่อหลานชายคนนี้ แม่ลม้ายเป็นแหงคัดค้านเสียจนคอหอยแทบจะระเบิดทีเดียว ในที่สุดนายสมบุญก็ต้องยอมแพ้ตามเคย เพราะทนปากแม่ลม้ายไม่ไหว ยังอีกคนหนึ่งคือ ตุ๊ ซึ่งแสดงเป็นนางผ่อง คนใช้ผู้สัตย์ซื่อของนางเอก นางผ่องคนนี้ไม่แต่เป็นคนใช้ที่ซื่อสัตย์ ยังทำหน้าที่เป็นตัวโจ๊กของเรื่องได้อย่างขบขันมาก ความขบขันของนางผ่องผู้นี้จะเห็นได้คราวหนึ่ง เผอิญไปแอบเห็นนายสาวกำลังกอดกับพระเอก นางผ่องจะเกิดรู้สึกขันอย่างไรไม่ทราบ ถึงกับปล่อยถาดถ้วยกาแฟลงไปกับพื้นดังโครมใหญ่ ยังอีกตอนหนึ่ง อารามตกใจว่าคู่รัก ของนายสาวถูกเจ้าสนั่น ตัวโกงหลอกเอาไป วิ่งกระหืดกระหอบไปบอกนายเสียจน "หางหงษ์" หลุด ความจริง สังขารของนางผ่อง ประกอบกับท่าทางที่แสดง ก็ชวนให้ น่าขันอยู่แล้ว ยิ่งไปทำอาการจูบพระธรณีในขณะที่วิ่งจนนางหางหงษ์หลุด จึงดูอาการคล้ายๆ กับลูกฟักใบเขื่องๆ ตกตุบลงในกองดินอย่างหนักๆ ตอนนี้จะทำให้ท่านผู้ดูถึงกับกลั้นหัวเราะไว้ไม่ไหวทีเดียว เพื่อเป็นหลักฐานแสดงให้ท่านเห็นว่าเรื่อง "เชื้อไม่ทิ้งแถว" เป็นเรื่องควรแก่การทัศนาของท่านเพียงใด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินี ภายหลังเมื่อได้ทอดพระเนตรแล้ว มีพระราชดำรัสชมเชยว่า "เรื่องนี้ของเขาพอดูได้" (ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวภาพยนตร์ พ.ศ. 2470)

หน้าที่