บางกอกจอยไรด์ บทที่ ๓ : เพลงแห่ศพ (2561/2018) ‘เพลงแห่ศพ’ ภาค 3 ของมหากาพย์ภาพยนตร์บันทึกประท้วงปิดกรุงเทพ ‘บางกอกจอยไรด์’ ครอบคลุม 2 สัปดาห์แรกของการยึดกรุงเทพ, 15 - 26 มค. 2557 จากละครล้อเลียนนายกยิ่งลักษณ์ของครู ‘ลิลลี่’ และ ดร.เสรี สองซูเปอร์สตาร์นักวิชาการ ถึงระเบิดคร่าชีวิตที่บรรทัดทอง ; จากขบวนแห่เคารพศพตามถนนพระราม 4 ผ่านหัวลำโพง ถึงการประกาศภาวะฉุกเฉินโดยศูนย์อำนวยความสงบเรียบร้อยของรัฐบาล ซึ่งกลับกลายเป็นการเชื้อเชิญประชาชนให้ออกมาร่วมเสี่ยงตาย อารยะขัดขืนมากกว่าเดิม ขณะที่มาลัยร้อยด้วยเงินสดยาวเป็นวา หลั่งไหลพรั่งพรูสู่กองทุนประท้วงอย่างไม่ขาดสายจากมวลประชาทีเมามายในเสรีภาพ ขณะที่มหานครกลายเป็นค่ายเต็นท์แค้มปิ้งพร้อมราวตากผ้า รัฐบาลหาความชอบธรรมจากพี่ใหญ่อเมริกา พาให้ผู้ประท้วงไปเยี่ยมสถานทูตและทหารเริ่มแสดงความไม่สบายใจ เราน้ำลายไหลไปกับฉากลวกก๋วยเตี๋ยวที่ค่ายอโศก และไข่เจียวที่ฟูอยู่ในกระทะที่อาร์ตเลน จากครัวอาสาที่มาเลี้ยงท้องกองทัพประชาชน
THE THIRD EYE (2561/2018) สารคดีไทย The third eye พาเราไปสำรวจการต่อสู้ของ ลุงบรรจบ ชายชราตาบอดชาวบางละมุง จ. ชลบุรี ผู้ออกเรือหากินกับท้องทะเลมาตลอดชีวิต กระทั่งโครงการท่าเรือนานาชาติมาถึง และสร้างความเปลี่ยนแปลงพลิกผันแก่ทุกคนในชุมชน การต่อสู้ของชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจะสามารถทัดทานพลังอำนาจของ "นโยบายการพัฒนา" จากภาครัฐได้หรือไม่
เนื้อกับหนัง (2561/2018) เนื้อกับหนัง ภาพยนตร์สารคดีของ สันติ แต้พานิช ที่พาเราไปพบกับเบื้องลึก ถึงเนื้อถึงตัว(ตน) ของเป็นเอก รัตนเรือง ผ่านหนังแท้เรื่องหนึ่งของเขา (ไม่มีสมุยสำหรับเธอ) หนังเรื่องนี้อาจพาเราไปถึงไขกระดูกดำเลยก็ได้
Die Tomorrow พรุ่งนี้ตาย (2560/2017) เป็นการนำเรื่องราวที่สร้างจาก 6 เหตุการณ์การเสียชีวิตอันแปลกประหลาดบนหน้าหนังสือพิมพ์มาสร้างเป็นหนังสั้นที่ไม่มีจุดเชื่อมโยงกัน และฉายสลับกับสารคดีว่าด้วยเรื่องมุมมองการตายของคนต่างวัย
THE JOURNEY บันทึกทางไกล...ถึงพ่อ (2560/2017) “เราเล่าเรื่องผู้ชายคนหนึ่งกับการเดินทางของเขา” โดนัท – มนัสนันท์ พันเลิศวงศ์สกุล กล่าวถึงแนวคิดในการถ่ายทอดเรื่องราวภาพยนตร์สารคดี บันทึกทางไกล…ถึงพ่อ (The Journey) ซึ่งเธอเป็นทั้งผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ และผู้เขียนบทภาพยนตร์ เนื่องจากเป็นการเล่าเรื่องเส้นทางชีวิตพระมหากษัตริย์ที่คนไทยเคารพรัก แต่หากต้องถ่ายทอดเป็นภาษาหนังซึ่งเป็นภาษาสากล การกลับสู่วิถีการเล่าที่สุดเรียบง่ายจริงใจก็เพียงพอ เพื่อทำให้ผู้ชมได้สัมผัส ‘ความรู้สึก’ ที่มีปลายทางเป็นความเข้าใจอันลึกซึ้ง ว่าทำไมกษัตริย์พระองค์นี้จึงเป็นที่รักของปวงชนชาวไทย
ฉันเยาว์? ฉันเขลา? ฉันทึ่ง! (2560/2017) เมื่อนักศึกษาภาพยนตร์ 2 คน มาคุยให้ฟังเกี่ยวกับกระบวนการศึกษาระดับชาติ
นิรันดร์ราตรี Phantom of Illumination (2560/2017) ภาพยนตร์เรื่องนี้เล่าเรื่องของสัมฤทธิ์ ชายผู้ใช้เวลา 25 ปีทำหน้าที่เป็นผู้ฉายภาพยนตร์ประจำโรงภาพยนตร์ธนบุรีรามา ซึ่งเป็นโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนแห่งสุดท้ายของกรุงเทพมหานครฯ เมื่อโรงภาพยนตร์แห่งนี้ปิดตัวลง เขาได้ผันตัวไปเป็นผู้ดูแลอาคารของโรงภาพยนตร์ร้างและใช้เวลาว่างไปกับหนังสือธรรมะ ก่อนที่เขาจะตัดสินใจเดินทางกลับบ้านเพื่อไปช่วยทำสวนยางร่วมกับครอบครัว และพบว่าความเชี่ยวชาญด้านการฉายภาพยนตร์ที่สั่งสมมา แทบไม่มีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตรูปแบบอื่นเลย
#BKKY บีเคเควาย (2560/2017) เป็นภาพยนตร์ที่สร้างจากเรื่องจริง โดยหยิบเอาบทสัมภาษณ์ของวัยรุ่น 100 คนที่กำลังอยู่ในช่วงวัยเปลี่ยนผ่านที่พูดถึงเรื่องความรัก ความสัมพันธ์ ครอบครัว เซ็กส์มาร้อยต่อกันเป็นเรื่อง โดยมีเรื่องราวชีวิตจริงของโจโจ้ ซึ่งเป็นนักแสดงในภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นแกนหลัก นำเสนอด้วยวิธีการตัดสลับระหว่างบทสัมภาษณ์จริงกับการถ่าย fiction เพิ่ม ทำให้เกิดความสนุกและน่าติดตามยิ่งขึ้น แถมภาพยนตร์เรื่องนี้ยังถูกนำไปฉายตามงานเทศกาลหนังมาแล้วมากมายหลายประเทศ รวมทั้งได้รับรางวัล ภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจูรี่ไพร์ซ จากเทศกาลหนังที่เมืองฮัมบูร์ก ประเทศเยอรมัน และประสบความสำเร็จอย่างมากในการฉายที่งานเทศกาลหนังปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ ถึงขนาดมีวัยรุ่นชาวเกาหลีมาต่อแถวรอชมจนเต็มโรง ถือเป็นอีกหนึ่งความภูมิใจที่ทาเลนต์วันอยากนำเสนอให้คนดูได้ชมกัน
DHARAMSALA ดารัมซาล่า ความหวังแห่งศรัทธา (2560/2017) อินท์ (ธันน์ ธนากร) ช่างภาพนิ่งมือดี แต่นิสัย เต็มไปด้วยความหลงตัวตน คิดว่าตนเก่งเหนือใคร เลยค่อนข้างจะเห็นแก่ตัว ไม่เอาใคร แม้แต่ หญิง (อภิสรา รักชาติ) และ ชิน (ชิตวัน อัครนพธนา) พี่สาวและน้องชายแท้ๆ ยังเอือมระอา อินท์ยอมอ่อนข้อ แค่ เมธาวี (อาภา ภาวิไล) และ ศรุต (ไตรรงค์ ชัยนรานนท์) เพื่อนสนิทเท่านั้น และด้วยความเห็นแก่ตัวเอาใจตัวเองเป็นที่ตั้ง ทำให้ อินท์ ทะเลาะกับ เม ขั้นรุนแรงถึงกับเลิกรากัน อินท์ จึงบินตามไปหา ศรุต ที่อินเดีย เพื่อถ่ายภาพพระเดินธุดงค์ แต่ด้วยความที่เขาเป็นคนเห็นแก่ตัว จึงทำให้ ทัต (ทีฆทัต เจริญสถิตย์พงศ์) และ โน่ (ภูวเนตร สีชมพู) สองหนุ่มที่หวังไปดูแลคณะสงฆ์แกล้งปล่อยให้ อินท์ หลงทางจนสลบไป ครูมิ้งค์ (เพ็ญจันทร์ วงศ์สมเพ็ชร) และ ศรุต รีบไปรับพาตัวมารักษา อินท์เริ่มคิดได้ว่าเขาไม่มีใครชอบ ยิ่งได้ฟังคำสอนของ เณรชนก (ณชนก เจริญสถิตพงศ์) ที่เป็นเหมือนแสงสว่างแห่งธรรมให้ อินท์เริ่มเข้าใจ หันมามองคนรอบๆ ข้าง อินท์ได้มองเห็นปัญหาของคนอื่นๆ อย่าง เณรกร (สามเณรฐิติกร งามยิ่ง) ที่ตอนเป็นเด็กก่อนบวช กร (ด.ช.ดบัสวิน ศิริกิตติรัตน์ ) และ กุ๊กไก่ (ด.ญ.ดลณพรรณ ศิริกิตติรัตน์) ถูก ดา (แอนนี่ บรู๊ค) ทำร้ายอย่างรุนแรง ทำให้ พ่อยศ (ปิติศักดิ์ เยาวนานนท์) เสียใจจนเมามาย แต่ก็คิดได้เพราะลูกชายขอร้องอยากบวชอย่างสงบ ธรรมะเปลี่ยนแปลงชีวิตคุณได้จริงๆ หากมีศรัทธา อย่างเช่น ลีลา (วรรณษา ทองวิเศษ) พี่สาวของศรุต หลงในความรักเป็นชู้กับ คิม (จิรกิตติ์ สุวรรณภาพ) จน ตวง (สาวิกา กาญจนมาศ) ภรรยาคิมมาเปิดโปงให้อับอายอยู่เมืองไทยไม่ได้ต้องหนีมาพึ่งพิงร่มเงาแห่งแสงพระธรรมเพื่อสงบจิตใจ แม้แต่เพื่อนสนิทอย่าง พี่อ้วน (อนันต์ เสมาทอง) ฟ้า (ปภัสรา ดิสกุล) และ อั้ม แอบแซ่บ (รัฐ ริมธีรกุล) ก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้ ส่วน คุณจิตรา (เกศริน เอกธวัชกุล) ที่ชอบทำบุญ แต่เพราะหลงว่าทำเยอะกว่าคนอื่นต้องดีกว่าวิเศษกว่า และต้องได้สิทธิ์พิเศษ คุณจิตรา รังเกียจแม้แต่ แม่ชีมี่ (เอ็มมี่ อมลวรรณ) อดีตนางแบบวาบหวิว ที่ไปถือศีลที่อินเดีย แต่เพราะเธอเป็นนางแบบเซ็กซี่มาก่อนแม้บวชแล้ว คุณจิตราก็ยังรังเกียจ แต่เมื่อทุกๆคน ได้ฟังคำเทศนา จาก พระอาจารย์ต้น (พระทรงศักดิ์ แพทย์เพียร) และ หลวงพ่อ พระเทพปริยัติสุธี เทศนาให้เห็นถึงแก่นธรรม ในการละวางตัวตน ทำให้ทุกคนคิดได้ อินท์เองก็เช่นกัน การที่เขาได้ร่วมเดินทางกับคณะสงฆ์ ได้รับฟังเทศนา และ ได้เห็นชีวิตผู้อื่นที่เปลี่ยนไปด้วยธรรมะ ทำให้เขาได้คิดกลับตัว ทำทุกๆอย่างที่เมชอบเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา ด้วยแรงศรัทธา เมธาวี จึงยอมมาพบเขาอีกครั้ง อินท์พึ่งได้รู้ว่า ตลอดระยะทาง เม คอยติดตาม ดูเขาอยู่ห่างๆ ไม่เคยทิ้งหายจากไปไหน อินท์ ได้เริ่มต้นใหม่อีกครั้ง เขาเพิ่งเข้าใจว่า ความรักนั้นเกิดง่าย แต่รักษาไว้ช่างอย่างยิ่ง เขาโชคร้ายที่เคยหลงตัวเอง แต่ในความโชคร้ายเขากลับเป็นคนโชคดี ที่มีกัลยามิตร ที่ดีอย่าง เมและ ศรุต ที่คอยชี้นำทางให้เขาได้พบกับธรรมะ และ ที่เป็นเช่นนี้ได้ เพราะ ความหวัง แห่งศรัทธา ของผู้หญิงที่ชื่อว่า เมธาวี
Railway Sleepers หมอนรถไฟ (2560/2017) หมอนรถไฟถ่ายทำบนรถไฟไทยตลอดทั้งเรื่องหนังบันทึกภาพชีวิตประจำวันของผู้โดยสารพนักงานและวิวทิวทัศน์ตามเส้นทางรถไฟทั่วประเทศโดยพาผู้ชมเดินทางคล้อยผ่านเวลา 2 วัน 2 คืนพร้อมกับทบทวนประวัติศาสตร์รถไฟไทยอันสัมพันธ์เชื่อมโยงกับการพัฒนาของประเทศมาช้านาน
เรื่องเล่าจากเมืองเหนือ Stories from the North (2559/2016) เรื่องเล่าจากเมืองเหนือ เป็นหนึ่งในผลงานต่อเนื่องจากชุดสารคดีสั้นที่ อุรุพงศ์ รักษาสัตย์ ทุ่มเทเวลาทำงานนานหลายปี โดยเป็นการนำภาพยนตร์สั้นเหล่านั้น มาตัดต่อใหม่เป็นภาพยนตร์ขนาดยาว ซึ่งบอกเล่าชีวิตของคนในหมู่บ้านทางภาคเหนือที่เขาเติบโตมา เรื่องนี้ได้บอกเล่าสถานการณ์ในชีวิตของชาวชนบท การเก็บเกี่ยว ตลอดจนการขาดสำนึกรักบ้านเกิดของคนรุ่นหลัง ที่ละทิ้งคนชราและเด็กไว้เบื้องหลัง ด้วยความที่เป็นหมู่บ้านบ้านเกิดของเขา ทำให้ อุรุพงศ์ สามารถจับภาพบรรยากาศตามปกติของเพื่อนบ้าน และสามารถถ่ายทอดเป็นเรื่องเล่าจากเมืองเหนือได้อย่างใกล้ชิดที่สุด
ฮักในกระติ๊บข้าว (2559/2016) รุ่ง บุญสิงห์ เด็กหนุ่มวัยคะนองชอบขี่มอเตอร์ไซค์แว้นไปวันๆ โดนไล่ออกจากโรงเรียนประจำอำเภอ มาอยู่โรงเรียนประจำตำบล แต่ครูเบญทราบว่าสมัยเรียนประถม รุ่งคือเด็กหมอลำหุ่น “เด็กเทวดา” ที่ล้มเลิกไปแล้ว ครูเบญ จึงชวนรุ่งก่อตั้งหมอลำหุ่นคณะเด็กเทวดาอีกครั้ง พร้อมทั้งขอแรงนักเรียนคนอื่นๆ มาเป็นสมาชิกชมรมหมอลำหุ่น รุ่งยังไปขอให้ ครูเซียง ปรีชา อดีตนักละครเวที ละครหุ่น จากกลุ่มเด็กรักป่า ที่เคยฝึกสอนละครหุ่นให้กับเขา มาช่วยอีกแรง ครูเซียงจึงได้ไปตามอดีตลูกศิษย์ที่โรงเรียนเดิมของรุ่งมาช่วย พวกเขาอาศัยเวลาเลิกเรียน วันหยุดเสาร์อาทิตย์สร้างหุ่นกันเอง จากกระดาษ จากผ้าเก่าผ้าขาด และกระติ๊บข้าวก็กลายมาเป็นหมอลำหุ่น ฟ้อนลำ ไปตามทำนองเสียงกลองเสียงแคน
คิวชู แล้วพรุ่งนี้..เราคงจะรู้กัน!! (2558/2015) 999 เยน กับ 30 วัน ในญี่ปุ่น คุณคิดว่าคุณอยู่ได้มั้ย? เรื่องเล่า 12 ตอน บนเกาะคิวชู ที่ไม่ใช่แค่เดินเที่ยวเตร่ หรือวิธีเดินเล่นแบบผิวเผิน แต่นี่คือวิถีชีวิตแบบ Hipster 7 จังหวัด 30 วัน เพื่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันแบบสุด Deep สถานการณ์อันน่าตื่นเต้น กับภารกิจที่น่าติดตามในเส้นทาง 7 จังหวัด บนเกาะคิวชู กำลังจะเริ่มต้นขึ้นพร้อมกับ Mission Inspiration ของ แดน (วรเวช ดานุวงศ์) และ เอ๊ะ (พงศ์จักร พิษฐานพร) ที่จะพาเราไปรู้จักและร่วมแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไทย-ญี่ปุ่น ที่ไม่ใช่ดินแดน แต่จะแน่นแฟ้นกันอย่างฉันมิตร ผ่านการดำเนินชีวิตของทั้งสองคนนี้ เพื่อบอกเล่าเรื่องราววิถีการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ ทัศนคติ สถานที่วัฒนธรรม และเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ โดยมิได้นัดหมาย!
THE GUITAR KING (2558/2015) ภาพยนตร์สารคดีที่บอกเล่าเรื่องราวกว่า 40 ปีที่แล้วบนแผ่นดินยุโรปของสุดยอดนักกีร์ต้าระดับตำนาน แหลม มอริสัน (วิชัย นวลแจ่ม) เจ้าของฉายา The Guitar King หากแต่นั่นไม่ใช่การกลับไปรื้อฟื้นเพื่อรำลึกถึงอดีตแต่เพียงอย่างเดียว ตรงกันข้าม การขับเคลื่อนทางภาพยนตร์ในการเดินทางครั้งนี้ คือการย้อนกลับไป ตั้งคำถามโดยใช้ดนตรีเป็นสะพานพาดเชื่อมเรื่องราวทั้งหมดไว้ด้วยกัน ความสุขในชีวิตของคนเราอยู่แห่งหนใด?