๔๐๐ นักรบ ขุนรองปลัดชู THE400BRAVERS (2561/2018) เรื่องราวของ ๔๐๐ นักรบ ขุนรองปลัดชู เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ก่อนการเสียกรุงครั้งที่สองราวห้าปี พระเจ้าอลองพญา (กษัตริย์แห่งอาณาจักรอังวะของพม่า) ได้ส่งกองทัพรี้พลสองหมื่นนาย ยกมายึดเมืองตะนาวศรีและเมืองมะริด อันเป็นเมืองท่าที่สำศัญของอโยธยาในแถบทะเลอันดามัน หลังจากที่ทราบข่าวศึกทางอโยธยาได้ส่งกองทัพสองกองเพื่อปกป้องรักษาแผ่นดิน โดยกองทัพพระยายมราชและกองทัพพระยารัตนาธิเบศร์ ในขณะเดียวกัน ขุนรองปลัดชู กรมการเมืองวิเศษไชยชาญได้รวบรวมเหล่าอาสาอาทมาฏ จำนวน 400 นายมาร่วมทัพด้วย หลังจากนั้นเมื่อพระยารัตนาธิเบศน์ทราบข่าวว่า ทัพของพระยายมราชได้แตกพ่าย โดยกองทัพอังวะที่กำลังเดินทัพเข้ามา จึงมอบหมายให้ขุนรองปลัดชูนำกองอาทมาฏ 400 นาย ไปยันทัพที่เมืองกุยบุรี อีกไม่นานทางกองทัพมังระราชบุตรและมังฆ้องนรธาเคลื่อนผ่านช่องด่านสิงขร เข้ามาก็ได้พบทัพไทยขวางอยู่ที่เมืองกุยบุรี จึงยกพลเข้าโจมตี ถึงแม้จะมีทหารน้อยกว่าข้าศึกหลายสิบเท่าก็ตาม และรู้ว่าจุดจบจะเป็นเช่นไร แต่ขุนรองปลัดชูกับพวกนักรบผู้กล้าทั้ง 400 นายก็ต่อสู้ไม่หวั่น ต่อต้าน และต้านทานกันอย่างเข้มแข็ง ต่อสู้จนตัวตายในสนามรบจนหมดสิ้น..
ทองดีฟันขาว (2560)

ทองดี ฟันขาว (2560/2017) เรื่องราวความกล้าหาญและความจงรักภักดีในช่วงชีวิตสำคัญของ “นายทองดี ฟันขาว” นักสู้หัวใจแกร่งที่มากความสามารถและฝีไม้ลายมวย โชคชะตานำพาให้เขาได้เป็นทหารเอกคู่ใจแห่งพระเจ้าตากสินมหาราช และพลีชีพต่อสู้ปกป้องบ้านเมืองจนกลายเป็นวีรบุรุษของชาวไทยที่รู้จักกันในนาม “พระยาพิชัยดาบหัก” ทองดี นักสู้หัวใจแกร่ง ผู้มีความมุ่งมั่นไม่ย่อท้อรักษาคำมั่นสัญญา กล้าหาญจงรักภักดี มีความสามารถและฝีไม้ลายมือทางหมัดมวยและดาบอย่างหาตัวจับยาก เขาไม่ชอบกินหมาก จึงเป็นที่มาของฉายา ทองดีฟันขาว ชีวิตของเขาต้องระหกระเหินจากครอบครัวตั้งแต่ครั้งเยาว์วัย และต้องออกเดินทางหาเงินเลี้ยงตัวจากการชกมวย และร่ำเรียนวิชามวยเพิ่มเติมจากบรรดาครูมวยตามเมืองต่างๆ จนสุดท้ายโชคชะตาและวีรกรรมอันเลื่องชื่อของเขาก็นำพาให้เขาได้เป็นทหารเอกคู่ใจแห่ง พระเจ้าตากสินมหาราช และพลีชีพต่อสู้ปกป้องบ้านเมืองจนกลายเป็นวีรบุรุษของชาวไทย ที่รู้จักกันในนาม พระยาพิชัยดาบหัก

พันท้ายนรสิงห์ (2558/2015) ในปี พ.ศ. 2231 รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชตอนปลาย ขณะที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชประทับอยู่ที่เมืองลพบุรีและประชวรหนัก หลวงสรศักดิ์ได้จับตัวเจ้าพระยาวิชเยนทร์ไปสำเร็จโทษ และพระเพทราชาได้กำจัดพระปีย์ พระโอรสบุญธรรมในสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เมื่อสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เสด็จสวรรคต บรรดาข้าราชการได้อัญเชิญพระเพทราชาขึ้นครองราชย์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหาบุรุษวิสุทธิเดชอุดม หรือ สมเด็จพระเพทราชา ในรัชสมัยสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ 8 (พระเจ้าเสือ) แห่งกรุงศรีอยุธยา ราว พ.ศ. 2246 – 2252 บ้านเมืองวุ่นวายเพราะพระยาราชสงครามรีดไถประชาชนด้วยการอ้างพระบรมราชโองการในการเกณฑ์ช้างม้าวัวควายไปเพื่อเป็นภาษี ส่วนสาววัยรุ่นจะนำไปถวายพระเจ้าเสือ เพื่อเป็นนางสนมในพระราชวัง ส่งผลให้ชาวบ้านทุกทั่วหัวระแหงได้รับความเดือดร้อน ขณะเดียวกันพระพิชัย เจ้าเมืองวิเศษชัยชาญ ก็ได้ตั้งกลุ่มเพื่อต่อต้านการกระทำของขุนนางที่ฉ้อราษฎร์บังหลวง ด้วยการตั้งตัวเป็นกองโจรเพื่อปล้นเสบียงและผู้หญิงที่ถูกเกณฑ์ไปในวังหลวง ซึ่งหนึ่งในกองโจรนั้นมี สิน ซึ่งชอบช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน สินมีเมียรักชื่อ นวล ที่คอยช่วยเหลือทั้งงานบ้านและการต่อสู้กับทหารที่ฉ้อราษฎร์บังหลวง เธอเคยรบเร้าให้สินเลิกเป็นโจรหลายครั้งแต่ไม่เป็นผลเนื่องจากสินต้องการสร้างความยุติธรรมให้กับชาวบ้าน ต่อมาพระเจ้าเสือได้ทรงพระราชดำเนินไปตกปลากับขุนนางคนสนิทเป็นการส่วนพระองค์ โดยปลอมตัวเป็นสามัญชนชื่อว่า ทิดเดื่อ ซึ่งนัยหนึ่งพระองค์ต้องการทราบถึงความเป็นอยู่ของชาวบ้าน การเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนั้นได้ปะฝีมือเชิงมวยกับสินผู้เป็นชาวบ้านธรรมดา โดยไม่รู้ว่าคนที่ตนกำลังชกอยู่ด้วยเป็นพระเจ้าแผ่นดิน แต่ไม่ทันได้รู้ผลแพ้ชนะก็มีขุนนางที่ฉ้อราษฎร์บังหลวงมาอ่านพระบรมราชองค์การในการเกณฑ์ราษฎรชายไปเป็นทหาร ทำให้พระเจ้าเสือได้รับทราบการทุจริตของข้าราชการและได้พูดคุยกับสินอย่างถูกคอ หลังจากพระเจ้าเสือเสด็จกลับพระราชวังได้มีรับสั่งให้สินเข้ารับราชการในตำแหน่งนายทหารคัดท้ายเรือประจำพระที่นั่งเอกไชยและช่วยเหลืองานราชการในการปราบขุนนางที่ฉ้อราษฎร์บังหลวง โดยต่อมาคือ พันท้ายนรสิงห์ จนได้รับคำยกย่องว่าเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริต จงรักภักดีและรักษาระเบียบวินัย ครั้นพระเจ้าเสือเสด็จประพาสปากน้ำสาครบุรี ซึ่งจะต้องผ่านตำบลโคกขามซึ่งคลองบริเวณดังกล่าวมีความคดเคี้ยวและแคบ ทำให้พระพิชัย และพระพินิจ ทหารเก่าในสมัยพระนารายณ์ที่เกลียดชังพระเจ้าเสือวางอุบายลอบปลงพระชนม์ได้ ขณะเดียวกันนั้นสินที่ได้ล่วงรู้แผนการนี้จึงให้นวลไปขอร้องกับพระพิชัยแต่ไม่ประสบความสำเร็จ ตนจึงวางแผนบังคับเรือพระที่นั่งให้ชนกับริมตลิ่งเพื่อไม่ให้พระเจ้าเสือเสด็จพระราชดำเนินไปถึงจุดที่กลุ่มชาวบ้านซุ่มอยู่ เมื่อเรือพระที่นั่งเอกไชยมาถึงตำบลโคกขาม สินพยายามคัดท้ายเรือพระที่นั่งจนชนตลิ่ง ทำให้หัวเรือพระที่นั่งเอกไชยหักตกลงไปในน้ำ สินรู้โทษดีว่าความผิดครั้งนี้ถึงประหารชีวิตตามโบราณราชประเพณีซึ่งกำหนดว่าถ้าผู้ใดถือท้ายเรือพระที่นั่งให้หัวเรือพระที่นั่งหักผู้นั้นถึงมรณะโทษให้ตัดศีรษะเสีย สินจึงกราบทูลขอน้อมรับโทษตามพระราชประเพณี พระเจ้าเสือทรงพิจารณาเห็นว่าอุบัติเหตุครั้งนี้เป็นเหตุสุดวิสัยมิใช่ความประมาทจึงพระราชทานอภัยโทษให้ แต่สินก็กราบบังคมยืนยันให้ตัดศีรษะตนเพื่อรักษาขนบธรรมเนียมในพระราชกำหนดกฎหมายและเป็นการป้องกันมิให้เกิดข้อติเตียนต่อพระเจ้าอยู่หัวว่าทรงละเลยพระราชกำหนดของแผ่นดิน พระเจ้าเสือไม่ต้องการประหารสินจึงทรงโปรดให้ฝีพายทั้งปวงปั้นมูลดินเป็นรูปสินแล้วให้ตัดศีรษะรูปดินนั้นเพื่อเป็นการทดแทน แต่สินยังคงยืนยันขอให้ตัดศีรษะตน โดยขอให้พระเจ้าเสืออภัยโทษให้แก่กลุ่มผู้ที่ลอบปลงพระชนม์ แม้พระเจ้าเสือจะทรงอาลัยรักน้ำใจพันท้ายนรสิงห์เพียงใดก็ทรงจำพระทัยปฏิบัติตามพระราชกำหนด จึงตรัสสั่งให้เพชฌฆาตประหารพันท้ายนรสิงห์แล้วโปรดให้ตั้งศาลสูงประมาณเพียงตาและนำศีรษะพันท้ายนรสิงห์กับหัวเรือพระที่นั่งเอกไชยซึ่งหักนั้นขึ้นพลีกรรมไว้ด้วยกันบนศาล ทำให้พระพิชัยที่แอบดูอยู่รู้ความจริงว่าพระเจ้าเสือมิได้เลวร้ายอย่างที่คิด จึงถวายตัว รับใช้พระเจ้าเสือด้วยความซื่อสัตย์ตลอดมา
สยามยุทธ Siam Yuth (2558/2015) ทัพ (ธันน์ ธนากร) นักดนตรีพเนจร ได้พบกับการสังหารเข่นฆ่าชาวบ้านโดยฝีมือของ ขุนราม (ธนายงค์ ว่องตระกูล) ผู้ทะเยอทะยานหมายยึดครองแผ่นดิน โดยป้ายความผิดให้แก่ขุนศึกที่แตกทัพมาอย่าง สิน (กฤษฏ์ศิรวัชร แก้วมณีกานนท์) ทัพเห็นความไม่เป็นธรรม และต้องการทวงคืนความยุติธรรมให้แก่ชาวบ้าน จึงเดินทางไปเมืองจันทบูร ซึ่งเป็นที่พำนักของขุนราม เขาได้พบกับอดีตคนรักอย่าง อังกาบ (ไปรยาพิณ เจริญวิชิตไชยเดช) ผู้ซึ่งเป็นอนุของเจ้าเมืองจันทบูรและยังเป็นมือสังหารของขุนรามด้วย ระหว่างการเดินทางไปพบเจ้าเมืองจันทบูร ทัพผู้เลือดร้อนตกอยู่ในวงล้อมของศัตรู แต่ได้ บุญมา (ธนาวุฒิ เกสโร) ขุนศึกของสินที่มาสอดแนมช่วยเหลือเอาไว้ ทัพตัดสินใจเข้าร่วมกับสินเพื่อลงโทษขุนรามผู้โฉดชั่วและร้ายกาจ และทัพก็ได้พบรักกับ ทิม นักรบหญิงภายใต้สังกัด แม่หญิงบัว (แคนดี้ รากแก่น) ซึ่งเข้ามาร่วมด้วยกับกองกำลังของสิน ระหว่างนั้นขุนรามซึ่งมองสินเป็นหอกข้างแคร่ ได้ออกปล้นสะดมไปทั่วและป้ายความผิดให้สิน ต่อมาได้วางแผนเพื่อที่จะล่อสินมากำจัดไปพร้อมๆ กับ เจ้าเมืองจันทบูร (โชคชัย เจริญสุข) เพื่อยึดเมืองจันทบูรเป็นของตนเองเป็นที่มั่นในการยึดครองแผ่นดิน ศึกสุดตัดสินระหว่างสินกับขุนรามจึงเริ่มขึ้นโดยมีเมืองจันทบูรเป็นเดิมพัน
ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๖ อวสานหงสา

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๖ อวสานหงสา (2558/2015) ในปี พ.ศ. 2135 หลังพ่ายศึกยุทธหัตถี ฝ่ายหงสาวดีพระเจ้านันทบุเรง ทรงโทมนัสที่ต้องสูญเสียพระราชโอรส จึงมีรับสั่งให้คลอกไฟเหล่าแม่ทัพนายกอง ที่ตามเสด็จพระมหาอุปราช ให้ตายตกตามกัน ทั้งยังระบายพระโทสะไปที่ พระสุพรรณกัลยา องค์ประกัน และพระราชโอรสธิดาถึงสิ้นประชนม์ชีพ ข้าง สมเด็จพระนเรศวร นั้น มีพระราชประสงค์จะนำทัพปราบหงสาวดี ให้ราบคาบ มิให้ตกค้างเป็นเสี้ยนหนาม ครั้นมาได้ทราบข่าวการสิ้นพระชนม์ ของพระพี่นาง และพระราชนัดดาก็ยิ่งโทมนัส จึงตัดสินพระทัยยกทัพใหญ่ หมายเหยียบหงสาวดีให้ราบเป็นหน้ากลอง ในระหว่างที่เดินทางมาถึงเมืองเมาะตะมะได้จับตัว พระยาลอ ผู้สำเร็จราชการแทน ที่พระเจ้านันทบุเรง ส่งให้มาปกครองเมือง ถูก เม้ยมะนิก ราชธิดาของ ศิริสุธรรมราชา เจ้าเมืองเมาะตะมะลอบสังหาร เพื่อแก้แค้นแทนบิดา พร้อมรวบรวมชาวรามัญเพื่ออาสาขอเข้าร่วมรบพม่ากับชาวอโยยา แต่ครั้นเมื่อทัพของพระองค์เสด็จถึงหงสาวดีก็พบแต่เพียงเศษซากของมหานครอันเคยยิ่งใหญ่ ด้วยนัดจินหน่อง ราชบุตรพระเจ้าตองอูได้วางอุบาย เชิญพระเจ้านันทบุเรงพร้อมกวาดต้อนผู้คนแลทรัพย์ศฤงคารของหงสาไปไว้ยังตองอูจนหมดสิ้น ครั้งนั้น สมเด็จพระนเรศวร จึงทรงยกทัพตามขึ้นไปถึงเมืองตองอู มีพระราชบัญชาให้ เมงเยสีหตู เจ้าเมืองส่งตัว พระเจ้านันทบุเรงออกมาถวาย ด้านนัดจินหน่องเห็นว่าพระเจ้านันทบุเรง ที่เชิญมานั้น เป็นภัยชักศึกเข้าบ้าน จึงหมายยืมมือ สมเด็จพระนเรศวร สังหาร พระเจ้านันทบุเรง เสีย แต่เมื่อ สมเด็จพระนเรศวร ได้ทอดพระเนตรเห็น พระเจ้านันทบุเรง ที่ทรงทุพพลภาพเป็นที่น่าสมเพช ก็ให้สลดพระราชหฤทัย ระหว่างนั้น เมงราชาญี เจ้าเมืองยะไข่ได้แต่งทัพเป็นกองโจร ตีลัดตัดเสบียงอยุธยามิให้ส่งข้าวน้ำขึ้นไปเลี้ยงทัพที่ล้อมพระนครตองอูอยู่ สมเด็จพระเอกาทศรถ จึงแบ่งทัพลงมาหมายจะเผด็จศึกยะไข่มิให้เป็นหอกข้างเเคร่ แต่ทรงพลาดท่าถูกเมงราชาญีจับตัวได้ พระราชมนู จำต้องขันอาสานำกำลังลงมา แก้เอา สมเด็จพระเอกาทศรถ กลับคืน และยกทัพกลับยังอยุธยา ข้างฝ่ายพุกามประเทศนั้นได้บังเกิดกษัตริย์ชาตินักรบขึ้นมา แทนพระเจ้าชนะสิบทิศ มีพระนามว่า พระเจ้ายองยาน ตามชื่อพระนครที่ปกครอง พระเจ้ายองยาน ทรงขยายแสนยานุภาพครอบคลุมดินแดนพม่าตอนบน เข้ายึดครองหัวเมืองในรัฐไทยใหญ่ทั้งหลาย และทรงกรีฑาทัพเข้าตีเมืองยองห้วยและเมืองแสนหวีซึ่งขณะนั้นล้วนเป็นเมืองประเทศราชของอยุธยา เมื่อ สมเด็จพระนเรศวร ทรงล่วงรู้ก็ทรงมีพระราชดำริที่จะตัดไฟเสียแต่ต้นลม ไม่ให้อธิราชศัตรูพลิกฟื้นขึ้นมา เป็นเสี้ยนหนามแผ่นดินอยุธยาได้อีก สมเด็จพระนเรศวร จึงได้เสด็จยกกองทัพไปตีอังวะ ครั้งนั้น พระมหาเถรคันฉ่อง และ พระอัครมเหสีมณีจันทร์ ซึ่งกำลังทรงพระครรภ์ก็ทูลขอให้งด ซึ่งราชการสงคราม สมเด็จพระนเรศวร จึงทรงให้สัญญาว่า จะเสด็จไปทำศึกครานี้เป็นครั้งสุดท้าย เมื่อเสด็จถึงเมืองเชียงใหม่ก็ยั้งทัพจัดกระบวนอยู่หนึ่งเดือน แล้วให้ทัพ สมเด็จพระเอกาทศรถ ยกขึ้นไปทางเมืองฝาง ส่วนกองทัพหลวงยกไปทางเมืองหาง ตั้งค่ายหลวงประทับอยู่ที่ทุ่งแก้ว อยู่มา สมเด็จพระนเรศวร ทรงพระประชวรจึงโปรดให้ข้าหลวงรีบเชิญเสด็จ พระเอกาทศรถ มาเฝ้า ครั้นมาถึงได้ 3 วัน สมเด็จพระนเรศวร ก็เสด็จสวรรคตเมื่อวันจันทร์ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2148 สมเด็จพระเอกาทศรถ จึงได้อัญเชิญพระบรมศพ สมเด็จพระนเรศวร กลับกรุงศรีอยุธยาราชธานี

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๕ ยุทธหัตถี

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๕ ยุทธหัตถี (2557/2014) ในปี พ.ศ. 2129 พระเจ้านันทบุเรง ทรงแค้นเคืองที่ต้องปราชั­ยต่อ สมเด็จพระนเรศฯ อย่างย่อยยับ ทั้งต้องเสียไพร่พลและพระสิริโฉม จึงระบายความแค้นนั้นไปที่องค์พระสุพรรณกั­ลยา เมื่อ สมเด็จพระมหาธรรมราชา พระราชบิดาทราบค­วามก็ให้โทมนัสด้วยสำนึกว่าชะตากรรมของพระ­ราชธิดาและแผ่นดินอยุธยาที่ถูกกระทำการย่ำ­ยีก็ด้วยเพราะพระองค์ทรงแปรพักตร์ไปเข้าข้­างศัตรู จนตรอมพระทัยเสด็จสวรรคต สมเด็จพระนเรศฯ ทรงมีพระชนมายุ 31 พรรษา จึงเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติค­รองกรุงศรีอยุธยาสืบต่อจากพระราชบิดา สมเด็จพระมหาธรรมราชา หรือ (สมเด็จพระสรรเพ็ชญ์ที่ 1) ข่าวการผลัดแผ่นดินของกรุงศรีอยุธยารู้ไปถึง พระเจ้านันทบุเรง แห่งกรุงหงสาวดี พระเจ้านันทบุเรง พระราชโอรสในพระเจ้าบุเรงนอง สำคัญว่าราชอาณาจักรสยาม หรืออาณาจักรอยุธยาจะไม่เป็นป­กติสุขเป็นช่องชวนชิงเชิง จึงโปรดให้พระราชบุตร พระมังสาม­เกียด หรือ(พระมังกะยอขวาที่ 1) พระมหาอุปราชเจ้าวังหน้ากรีฑาทัพไปตีกรุงศรีอยุธยาอีกคำรบ นำกองทัพทหาร 240,000 นาย (สองแสนสี่หมื่นนาย) มาตีกรุงศรีอยุธยาหมายจะชนะศึกในครั้งนี้ สมเด็จพระนเรศวร ทรงทราบว่า พม่ายกทัพใหญ่มาตี จึงทรงเตรียมไพร่พล มีกำลัง 100,000 นาย (หนึ่งแสนนาย) เดินทางออกจากบ้านป่าโมก อ่างทองไปสุพรรณบุรี ข้ามน้ำตรงท่าท้าวอู่ทอง ลพบุรี และตั้งค่ายหลวงบริเวณหนองสาหร่าย โดย สมเด็จพระนเรศวร โปรดให้ พระราชมนู แต่­งพลเป็นทัพหน้าขึ้นไปลองกำลังข้าศึกถึงหนอง­สาหร่าย ทัพหน้า พระราชมนู ปะทะเข้ากับทัพพม่าถึงขั้­นตะลุมบอน แต่กำลังข้าง พระราชมนู น้อยกว่าจึงแตกพ่ายถ­อยลงมาเป็นอลหม่าน สมเด็จพระนเรศฯ ทราบความจึงออกอุบายให้ทัพข้าศึกไล่เตลิดลงมาจนเสียกระบวนแล้วจึงทรงนำกำลังออกยอทัพข้าศึก ครั้งนั้นพระคชสารทรงของสมเด็จพระนเรศฯ นามเจ้าพระยาไชยานุภาพ และพระคชสารทรงของสมเด็จพระเอกาทศรถคือเจ้าพระ­ยาปราบไตรจักรต่างตกมัน วิ่งเตลิดแบกพลฝ่าเข้าไปในทัพพม่ารามัญกลางว­งล้อมข้าศึก และหยุดอยู่หน้าช้าง พระมังสามเกียดพระมหาอุปร­าชา พระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นพระมหาอุปราชาทรงพระคชสารอยู่ในร่มไม้กับเหล่าพระยาขุนศึก จึงทราบได้ว่าพระคชสารทรงของสองพระองค์หลงถลำเข้ามาถึงกลางกองทัพข้าศึก และตกอยู่ในวงล้อมข้าศึกแล้ว แต่ด้วยพระปฏิภาณไหวพริบของสมเด็จพระนเรศวร ทรงเห็นว่าเป็นการเสียเปรียบข้าศึกจึงไสช้างเข้าไปใกล้ แล้วตรัสถามด้วยคุ้นเคยมาก่อนแต่วัยเยาว์ว่า "พระเจ้าพี่เราจะยืนอยู่ใยในร่มไม้เล่า เชิญออกมาทำยุทธหัตถีด้วยกัน ให้สมพระเกียรติยศไว้ในแผ่นดินเถิด ภายหน้าไปไม่มีพระเจ้าแผ่นดินที่จะได้ยุทธหัตถีแล้ว" พระมังสามเกียดพระมหาอุปราชาได้ยินดังนั้น จึงไสพระคชสารนามว่า พลายพัทธกอเข้าชนเจ้าพระยาไชยานุภาพเสียหลัก พระมังสามเกียดพระมหาอุปราชาทรงฟันสมเด็จพระนเรศวรด้วยพระแสงของ้าว แต่ สมเด็จพระนเรศวร ทรงเบี่ยงหลบทัน จึงฟันถูกพระมาลาหนังขาด จากนั้น เจ้าพระยาไชยานุภาพชนพลายพัทธกอเสียหลัก สมเด็จพระนเรศวร ทรงฟันด้วยพระแสงของ้าวถูก พระมังสามเกียด พระมหาอุปราชา เข้าที่อังสะขวา สิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง ส่วน สมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงฟันเจ้าเมืองจาปะโรเสียชีวิตเช่นกัน พม่าจึงยกทัพกลับกรุงหงสาวดีไป นับแต่นั้นมาก็ไม่มีกองทัพใดกล้ายกมากล้ำกรายกรุงศรีอยุธยาอีกเป็นระยะเวลาอีกยาวนาน

คู่กรรม (2556/2013) โศกนาฏกรรมความรักในช่วงเวลาสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างทหารญี่ปุ่นที่ถูกส่งมาร่วมสงครามที่ประเทศไทย กับนักศึกษาสาวไทยที่เกลียดชังทหารญี่ปุ่น พรหมลิขิตบันดาลให้ทั้งคู่ครองคู่กัน ก่อนจะพรากพวกเขาออกจากกันภายใต้ไฟสงคราม เรื่องราวของโกโบริ นายทหารหนุ่มประจำกองทัพญี่ปุ่นที่เข้ามาตั้งฐานทัพบนแผ่นดินไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง กับ อังศุมาลิน หญิงสาวชาวไทย แม้อังศุมาลินจะเกลียดชังโกโบริตั้งแต่แรกพบ ด้วยอคติเพราะเห็นว่าเป็นคนญี่ปุ่นซึ่งเปรียบเสมือนศัตรูของชาติ แต่ยิ่งเวลาผ่านไป ความรักของทั้งสองกลับก่อค่อย ๆ ตัวขึ้นท่ามกลางความรุนแรงของสงคราม ในปี พ.ศ. 2485 สงครามโลกครั้งที่ 2 ได้เริ่มต้นขึ้น กองทัพญี่ปุ่นได้เดินทางมาประเทศไทยเพื่อใช้เป็นฐานทัพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในเขตพระนครของกรุงเทพฯ เนื่องจากประเทศไทยได้เซ็นสัญญาร่วมรบกับกองทัพญี่ปุ่นในฐานะพันธมิตร และประชาชนทุกคนต้องให้ความร่วมมือกับกองทัพญี่ปุ่นอย่างเต็มที่ หากผู้ใดฝ่าฝืนจำต้องได้รับโทษ ซึ่งแน่นอนว่าคนไทยส่วนใหญ่ไม่ได้เห็นด้วยกับกฎหมายข้อบังคับของรัฐบาล เมื่อเกิด ‘ความรัก’ ขึ้นท่ามกลางสงคราม ระหว่างหญิงสาวชาวไทยนามว่า อังศุมาลิน และทหารญี่ปุ่นนามว่า โกโบริ ความแตกต่างระหว่างเชื้อชาติและเหตุผลทางการเมือง ก็อาจผันเปลี่ยนเป็น ‘รักต้องห้าม’ ไปได้
ม้ง สงครามวีรบุรุษ (2555/2012) ม้ง สงครามวีรบุรุษ ภาพยนตร์อิงประวัติศาสตร์อันยาวนาน สงครามระหว่างความคิดที่ยาวนานถึง 15 ปี จากชนเผ่าเล็ก ๆ กลายเป็นตำนานวีรบุรุษ ที่สร้างเรื่องจริงจากสมรภูมิรบเขาค้อในอดีต ผู้พันเกรียงไกร เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ปราบปรามคอมมิวนิสต์ ในหมู่บ้านของ เด็กชายเก๊ง เด็กชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง เมื่อกองทหารเข้าถล่มทำให้ ผู้พันเกรียงไกร รับรู้ว่าเกิดการผิดพลาดครั้งยิ่งใหญ่เพราะหมู่บ้านนี้มีแต่ชาวบ้านทั้งนั้น แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งอะไรได้แล้ว ผู้พันเกรียงไกร พบว่าเด็กชายเก๊งตกอยู่ในอันตรายท่ามกลางกองเพลิง ผู้พันจึงฝ่ากองเพลิงเข้าไปช่วยเด็กออกมาได้โดยไม่คำนึงถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับตัวเอง ในที่สุดใบหน้าของผู้พันต้องเสียโฉมเพราะถูกไฟลวกไปข้างหนึ่ง บาดแผลที่ใบหน้าของผู้พันแสดงถึงความกล้าหาญของนักรบที่เต็มไปด้วยคุณธรรมและศีลธรรม แต่การไปรบครั้งนี้ทำให้ผู้พันต้องสูญเสีย ร้อยเอกสุพจน์ เพื่อนรุ่นน้อง ด้วยน้ำมือของเจ้อดัว พ่อเด็กชายเก๊ง ผู้พันเกรียงไกรจึงนำเด็กชายเก๊งที่กลายเป็นเด็กกำพร้ามาเลี้ยงเป็นลูกบุญธรรมพร้อมกับ ชาติ ลูกชายของตัวเองที่คอยปกป้องน้องใหม่มาตั้งแต่เล็กจนโต และ อารียา ลูกสาวของร้อยเอกสุพจน์ เด็กทั้งสามจึงเติบโตมาด้วยกัน ผู้พันได้ปลูกฝังให้เด็กชายเก๊ง รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ เก๊งได้ซึมซับพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ทรงรัก และ ห่วงใยชาวเขาทุกชนเผ่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จไปเยี่ยมเยือนชาวไทยภูเขาทุกหมู่เหล่าในถิ่นทุรกันดาร โดยมิทราบว่าพระองค์เป็นใคร รู้แต่เพียงว่าพระองค์เป็นที่เคารพรักของพสกนิกรทุกหมู่เหล่าซึ่งเปรียบเสมือนเทพเจ้าที่ทรงมีคุณธรรมและปรีชาสามารถที่จะนำเขากลับไปยังบ้านเกิดได้ เขาจึงเกิดความศรัทธาและซาบซึ้งในคุณงามความดีและความมีน้ำพระทัยขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาโดยตลอด ด้วยเหตุนี้ทำให้เก๊งเติบโตขึ้นกลายเป็นนายทหารหนุ่มที่พร้อมจะทำงานเสียสละเลือดเพื่อชาติไทยอย่างเต็มภาคภูมิ 15 ปีต่อมา เก๊ง หรือ ร้อยเอกทรงเกียรติ ได้ถูกส่งตัวไปรบที่เขาค้อ เพื่อทำสงครามจิตวิทยาเกลี้ยกล่อมให้ชาวม้งกลับมาเป็นคนไทยโดยสมบูรณ์ ส่วนอารียา เรียนจบหมอจากต่างประเทศ เธอจึงเข้าป่าไปพร้อมกับเหล่านักศึกษา เพื่อตามหาศพของพ่อที่ตกไปพร้อมเฮลิคอปเตอร์ในอดีต แต่ด้วยความเป็นหมอเมื่อเห็นคนเจ็บจำนวนมากทำให้ อารียา ไม่อาจละทิ้งสมรภูมิเขาค้อไปได้ แต่ด้วยที่ เก๊งมีสายเลือดม้ง ทำให้เกิดความแคลงใจกลัวว่าเขาจะเกิดเปลี่ยนใจ ทางกองทัพจึงจำต้องส่ง ชาติ พี่ชายต่างสายเลือดไปประกบเพื่อตามดูพฤติกรรม หากแม้ เก๊ง คิดทรยศต่อประเทศชาติให้สังหารได้ทันทีโดยไม่ต้องคำนึกถึงความเป็นพี่น้อง...
ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๔ ศึกนันทบุเรง

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๔ ศึกนันทบุเรง (2554/2011) เรื่องราวอันเป็นผลจากการปราชัยของหงสาวดีในคราวศึก พระยาพะสิม และ พระเจ้าเชียงใหม่ ซึ่งทำให้ พระเจ้านันทบุเรง ทรงตระหนักในพระปรีชาสามารถของ สมเด็จพระนเรศวร และในความเข้มแข็งของกองทัพอยุธยา จึงทรงยกทัพใหญ่เป็นทัพกษัตริย์มาย่ำยีราชธานีสยามหวังให้ราบเป็นหน้ากลองเพื่อเป็นการแก้มือ และเพื่อรักษาซึ่งพระเกียรติยศ มิให้เป็นที่ดูแคลนแก่เหล่าเจ้าประเทศราชในการปกครองของฝ่ายพม่า กองทัพกษัตริย์ของ พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง มีความสมบูรณ์ยิ่งใหญ่น่าเกรงขามกว่าทุกศึก ประกอบด้วยช้าง 3,200 ทัพม้า 12,000 และไพร่ราบซึ่งมีจำนวนถึง 252,000 โดยมีนายทัพผู้ปรีชาสามารถมาร่วมรบ ทั้ง พระมหาอุปราชา มังจาปะโร และลักไวทำมูทหารกล้า กิตติศัพท์ความยิ่งใหญ่น่าเกรงขามของทัพหงสาวดีที่ยกเข้ามานี้ ส่งผลให้เจ้าเมืองในขอบขัณฑสีมาของราชอาณาจักรอยุธยาข้างฝ่ายเหนือประหวั่นพรั่นพรึงถึงกับสมคบคิดกัน แปรพักตร์เข้าสมานสมัคร พระเจ้านันทบุเรง รบ สมเด็จพระนเรศวร เป็นเหตุให้ สมเด็จพระนเรศวร ต้องเผชิญทั้งศึกนอกและศึกใน สถานการณ์กลับยิ่งบีบคั้นให้คับขันยิ่งขึ้น เมื่อ พระศรีสุพรรณธรรมาธิราช พระอนุชาเจ้ากรุงละแวกซึ่งขัดพระทัย สมเด็จพระนเรศวร แต่กาลก่อน ได้ยุยงให้พระเชษฐาตัดสัมพันธไมตรีกับอยุธยา ละแวกจึงกลายเป็นหอกข้างแคร่ที่พร้อมจะกระหน่ำซ้ำเติมสยามให้ย่อยยับหากมีอันพลาดท่าเสียทีในศึกนันทบุเรงนี้ ภัยรอบด้านบีบรัดให้ สมเด็จพระนเรศวร ทรงต้องเผชิญศึกอย่างโดดเดี่ยว ซ้ำเคราะห์กลับทับทวีคูณเมื่อสหายศึก เช่น เลอขิ่น และกองกำลังเมืองคัง ซึ่งร่วมกรำศึก กันมาแต่เบื้องต้นคิดถอนตัวตีจากเนื่องจากพิษรักระหว่างรบที่จบลงด้วยความร้าวฉานระหว่าง เลอขิ่น กับ พระราชมนู ขุนศึกคู่พระทัย ความขัดแย้งด้วยเหตุส่วนตัวได้บานปลายกลายเป็นภัยของแผ่นดินในคราวคับขันเมื่ออยุธยาต้องเผชิญศึก ซึ่งประมาณได้ว่าเป็นมหาสงครามภายใต้โทสจริตของ พระเจ้านันทบุเรง ด้วยข้อจำกัดที่รุมเร้าหลายประการ ผสานกับจำนวนไพร่พลที่เป็นรองหงสาวดีอยู่หลายขุม ทำให้ สมเด็จพระนเรศวร ทรงจำต้องปรับยุทธศาสตร์การตั้งรับทัพหงสาวดี โดยทรงใช้พระนครศรีอยุธยาซึ่งมีทำเลที่ตั้งที่ได้เปรียบเป็นฐานบัญชาการรบแต่เพียงแห่งเดียว ทรงส่งกำลังออกไปปักปราการ วางแนวป้องกันมิให้พม่าเข้ามาปลูกค่ายใกล้ขอบคูพระนครและกำแพงเมือง ทั้งยังแต่งกำลังเป็นกองโจรเข้าปล้นค่ายข้าศึกอย่างอาจหาญ เมื่อศึกเหนือเสือใต้รุมกระหน่ำ ขุนนางผู้ใหญ่ขาดสามัคคีคิดคดคำนึงแต่ประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง จอมทัพผู้รั้งราชบัลลังก์และความอยู่รอดของแผ่นดินก็มาพลาดท่า ต้องศาสตรากลางสมรภูมิศึก ยอดทหารเอกกรุงศรีถูกขุนศึกผู้ชาญณรงค์กว่าจับเป็นเชลย ชะตากรรมกรุงศรีอยุธยา และ สมเด็จพระนเรศวร จะลงเอยอย่างไร

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๓ ยุทธนาวี

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๓ ยุทธนาวี (2554/2011) การประกาศเอกราชที่เมืองแครง และสังหารสุระกำมาเหนือยุทธภูมิฝั่งแม่น้ำสะโตงของ “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” (สมเด็จพระนเรศ) ในปีพุทธศักราช 2127 ได้สร้างความตระหนกแก่ “พระเจ้านันทบุเรง” องค์ราชันหงสาวดีพระองค์ใหม่ ด้วยเกรงว่าการแข็งข้อของอยุธยาในครั้งนี้จะเป็นเยี่ยงอย่างให้เหล่าเจ้าประเทศราชที่ขึ้นกับหงสาวดีอาศัยลอกเลียนตั้งตัวกระด้างกระเดื่องตาม แต่จนพระทัยด้วยติดพันศึกอังวะ จึงจำต้องส่งเพียงทัพ “พระยาพะสิม” และ “พระเจ้าเชียงใหม่” เข้าประชิดกรุงศรีอยุธยา ทางหนึ่งนั้นพระเจ้านันทบุเรงทรงประมาทสมเด็จพระนเรศ ด้วยเห็นว่ายังอ่อนพระชันษาคงมิอาจรับมือจอมทัพผู้ชาญณรงค์ทั้งสองได้ ทางหนึ่งก็สำคัญว่ากรุงศรีอยุธยายังบอบช้ำแต่คราวสงครามเสียกรุง ไพร่พลเสบียงกรังยังมิบริบูรณ์คงยากจะรักษาพระนคร ครั้งนั้นพม่ารามัญยกเข้ามาเป็นศึกกระหนาบถึง 2 ทาง ทัพพระยาพะสิมยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์เลยล่วงเข้ามาถึงแดนสุพรรณบุรี ส่วนพระเจ้าเชียงใหม่-นรธาเมงสอมาจากทางเหนือ นำทัพบุกลงมาตั้งค่ายถึงบ้านสระเกศ แขวงเมืองอ่างทอง กิตติศัพท์การชนะศึกของสมเด็จพระนเรศหลายครั้งหลายคราระบือไกลถึงแผ่นดินละแวก “เจ้ากรุงละแวก” มิได้ทอดธุระ ได้ลอบส่งจารชนชาวจีนฝีมือกล้านามว่า “พระยาจีนจันตุ” มาลอบสืบความที่กรุงศรีอยุธยาแต่ถูกจับพิรุธได้จนต้องลอบตีสำเภาหนีกลับกรุงละแวก สมเด็จพระนเรศทรงนำทัพเรือออกตามจนเกิดยุทธนาวี แต่พระยาจีนจันตุหนีรอดได้ เมื่อเจ้ากรุงละแวกได้ทราบกิตติศัพท์การณรงค์ของพระนเรศจึงเปลี่ยนพระทัยหันมาสานไมตรีกับอยุธยา และส่ง “พระศรีสุพรรณราชาธิราช” ผู้อนุชามาช่วยอยุธยาทำศึกหงสา หากแต่พระศรีสุพรรณผู้นี้ต่างจากเจ้ากรุงละแวกเพราะหาใคร่พอใจผูกมิตรด้วยอยุธยา การได้พระศรีสุพรรณฯ มาเป็นสหายศึกจึงประหนึ่งอยุธยาได้มาซึ่งหอกข้างแคร่

คนไท ทิ้งแผ่นดิน มหาสงครามเพื่อแผ่นดินสุดท้าย (2553/2010) ภาพยนตร์ไทยอิงแนวประวัติศาสตร์กล่าวถึงกลุ่มบรรพบุรุษไทย ที่รวมตัวกันกอบกู้และต่อสู้จากการรุกรานของกลุ่มชนฮาน เพื่ออิสรภาพและเพื่อความเป็นไท แม้นจะแลกมาด้วยการเสียสละทุกอย่างก็ตาม เมื่อกว่าหนึ่งพันปีก่อน ตอนใต้ประเทศมองโกเลียมีชนกลุ่มน้อยที่เรียกตนเองว่า ไท ที่ตกอยู่ภายใต้กฏระเบียบและการปกครองของเมืองฮานมหาอำนาจ ชาวไท เป็นผู้ซึ่งรักความสงบ ความสุข ไม่คิดร้ายกับผู้อื่นมีความเมตตาและเอื้อเฟื้อต่อเพื่อนร่วมโลกสิ่งเหล่านี้คือวิถีชีวิตที่ชาว ไท ยึดถือเป็นแบบอย่างมาช้านาน แต่ก็ยังไม่วายที่จะถูกกดขี่ข่มเหงต่างๆนาๆ จากผู้ปกครองและทหารฮานเมืองมหาอำนาจในยุคนั้น กลุ่มคนไทถูกกดขี่ข่มเหงมาช้านานถึงเวลาแล้วที่พวกเหล่าไทต้องผนึกรวมตัวกันขับไล่ปราบปรามเหล่าทหารและผู้นำฮานเพื่ออิสรภาพสู่มวลชนชาวไท สมัครสมานสามัคคี รักชาติ รักแผ่นดิน รวมพลังให้เป็นปึกแผ่นขับไล่อธรรม เพื่อได้มาซึ่งความเป็นไท อิสรภาพและความยุติธรรม
ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๒ ประกาศอิสรภาพ

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๒ ประกาศอิสรภาพ (2550/2007) พ.ศ. 2114 “สมเด็จพระมหาธรรมราชา” ซึ่งพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยาสืบต่อจากพระมหินทราธิราชได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเป็นอุปราชครองเมืองพิษณุโลก เมื่อพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองสวรรคตในปี พ.ศ. 2124 “พระเจ้านันทบุเรง” ขึ้นเสวยราชย์สืบแทน และสถาปนาพระโอรส “มังสามเกียด” ขึ้นเป็น “พระมหาอุปราชา” รัชทายาท ในการนี้เจ้าเมืองประเทศราชทั้งหลายต้องมาร่วมแสดงความสวามิภักดิ์ รวมถึงพระมหาธรรมราชาและสมเด็จพระนเรศวรด้วย ในขณะที่เจ้าฟ้าเมืองคังไม่ได้เสด็จมาร่วมพระราชพิธีสำคัญครั้งนี้ เป็นเหตุให้พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงทรงมอบหมายให้พระมหาอุปราชา, พระราชนัดดา “นัดจินหน่อง” พระโอรสเจ้าเมืองตองอู, และสมเด็จพระนเรศวรช่วยกันเข้าตีเมืองคัง แต่พระมหาอุปราชากลับสั่งให้สมเด็จพระนเรศวรเข้าตีเป็นทัพสุดท้าย ด้วยความมั่นใจว่าทัพของพระองค์และนัดจินหน่องจะประสบความสำเร็จ แต่ปรากฏว่าสมเด็จพระนเรศวรทรงมีชัยชนะในศึกเมืองคังนี้ สามารถจับตัวเจ้าฟ้าเมืองคังและพระธิดา “เลอขิ่น” กลับมาได้ รัชทายาทหงสาวดีและราชนิกูลฝ่ายพม่าซึ่งเป็นคู่ปรับกันมาตั้งแต่เยาว์วัยจึงขุ่นเคืองอาฆาตสมเด็จพระนเรศวรเป็นทวีคูณ ต่อมาเมื่อเกิดศึกอังวะ พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงให้สมเด็จพระนเรศวรนำทัพมาช่วยรบ แต่พระมหาอุปราชากลับใช้โอกาสนี้วางแผนลอบปลงพระชนม์ ในขณะที่สมเด็จพระนเรศวรทรงยั้งทัพอยู่ ณ เมืองแครง แต่ข่าวการลอบปลงพระชนม์ได้ล่วงรู้ถึงสมเด็จพระนเรศวรผ่านทางพระมหาเถรคันฉ่อง สมเด็จพระนเรศวรจึงถือเหตุการลอบปลงพระชนม์ในการประกาศอิสรภาพตัดสัมพันธไมตรีกับหงสาวดี และกวาดต้อนชาวไทยชาวมอญกลับคืนพระนคร ฝ่ายหงสาวดีเมื่อทราบว่าการลอบปลงพระชนม์ไม่สำเร็จจึงให้นายทัพสุระกำมาเร่งนำทัพออกติดตามทัพของสมเด็จพระนเรศวร ในที่สุดก็ทัพหงสาวดีก็ตามมาถึงในขณะที่สมเด็จพระนเรศวรและไพร่พลกำลังข้ามแม่น้ำ และศึกครั้งนี้สมเด็จพระนเศวรทรงใช้พระแสงปืนต้นยิงข้ามแม่น้ำสะโตงถูกแม่ทัพสุระกำมาตายบนคอช้าง ทัพพม่าจึงล่าถอยกลับไป

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๑ องค์ประกันหงสา

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๑ องค์ประกันหงสา (2550/2007) พุทธศักราช 2106 “พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง” ทรงกรีฑาทัพเข้าตีราชอาณาจักรอยุธยาทางด่านระแหงแขวงเมืองตาก ทัพพม่ารามัญซึ่งมีรี้พลเหลือคณานับได้เข้ายึดครองหัวเมืองฝ่ายเหนือของราชอาณาจักรอยุธยาอันมีเมืองพิษณุโลกเป็นประหนึ่งเมืองราชธานีได้เป็นผลสำเร็จ ครั้งนั้น “สมเด็จพระมหาธรรมราชา” (ฉัตรชัย เปล่งพานิช) พระราชบิดาของ “สมเด็จพระนเรศวร” หรือ “พระองค์ดำ” (ปรัชฌา สนั่นวัฒนานนท์) ซึ่งเป็นเจ้าแผ่นดินครองเมืองพิษณุโลกจำต้องยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าบุเรงนองเพื่อรักษาไว้ซึ่งชีวิตอาณาประชาราษฎร์มิให้ต้องมีภยันตรายและจำต้องยอมร่วมกระบวนทัพพม่าเข้าตีกรุงศรีอยุธยา ศึกครั้งนั้นสมเด็จพระมหา จักรพรรดิเจ้าแผ่นดินอยุธยาทรงยอมเจรจาหย่าศึกกับพม่ารามัญ และยอมถวายช้างเผือก 4 เชือก ทั้งให้สมเด็จพระราเมศวรราชโอรสโดยเสด็จพระเจ้าบุเรงนองไปประทับยังนครหงสาวดีตามพระประสงค์ของกษัตริย์พม่า ข้างสมเด็จพระมหาธรรมราชาซึ่งได้ยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าบุเรงนองก็ได้ถวายสมเด็จพระนเรศวรราชโอรสองค์โตให้ไปเป็นองค์ประกันประทับยังหงสาประเทศเฉกเช่นกัน ครั้งนั้นพระองค์ทรงมีพระชนมายุได้เพียง 9 ชันษา สมเด็จพระนเรศวรทรงเป็นที่รักใคร่ของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองประดุจพระราชบุตรร่วมสายสันตติวงศ์ ด้วยองค์ยุพราชอยุธยาทรงมีพระปรีชาสามารถด้านพิชัยยุทธ ทั้งยังองอาจกล้าหาญสบพระทัยกษัตริย์พม่าซึ่งก็ทรงเป็นนักการทหาร นิยมผู้มีคุณสมบัติเป็นนักรบเยี่ยงพระองค์ พระเจ้าบุเรงนองทรงมีสายพระเนตรยาวไกล แลเห็นว่าสืบไปเบื้องหน้าสมเด็จพระนเรศวรจะได้ขึ้นเป็นใหญ่ในอุษาคเนย์ประเทศ จึงทรงคิดใคร่ปลูกฝังให้สมเด็จพระนเรศวรผูกพระทัยรักแผ่นดินหงสา เพื่อจะได้อาศัยพระองค์เป็นผู้สืบอำนาจอุปถัมภ์ค้ำชูราชอาณาจักรซึ่งพระองค์ทรงสถาปนาขึ้นด้วยความยากลำบาก เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าพระเจ้าบุเรงนองนั้นหาได้วางพระทัยในพระราชโอรสคือ “มังเอิน – พระเจ้านันทบุเรง” (จักรกฤษณ์ อำมะรัตน์) และพระราชนัดดา “มังสามเกียด” (โชติ บัวสุวรรณ) นัก ถึงแม้ทั้งสองพระองค์จะทรงเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขโดยตรง ด้วยทรงเล็งเห็นว่าราชนิกุลทั้งสองพระองค์นั้นหาได้เป็นผู้ทรงคุณธรรมอันจะน้อมนำเป็นพื้นฐานให้เติบใหญ่เป็นบูรพกษัตริย์ ปกป้องครองแผ่นดินที่พระองค์ทรงสร้างและทำนุบำรุงมาด้วยกำลังสติปัญญาและความรักใคร่หวงแหน เหตุทั้งนี้เป็นชนวนให้พระเจ้านันทบุเรงและราชโอรสมังสามเกียดขัดพระทัย ทั้งผูกจิตริษยาสมเด็จพระนเรศวรซึ่งเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองกว่าราชนิกุลข้างพม่าทั้งหลายทั้งสิ้น พระเจ้าบุเรงนองทรงโปรดให้ “พระมหาเถรคันฉ่อง” (สรพงษ์ ชาตรี) พระรามัญผู้มากด้วยวิทยาคุณและเจนจบในตำราพิชัยสงครามเป็นพระอาจารย์ถ่ายทอดศิลปะวิทยาการแก่สมเด็จพระนเรศวร นับแต่เริ่มเข้าประทับในหงสานครยังผลให้ยุพราชอยุธยาเชี่ยวชาญการยุทธ กลช้าง กลม้า กลศึก ทั้งข้างอยุธยาและข้างพม่ารามัญหาผู้เสมอเหมือนมิได้ ข้อได้เปรียบตามกล่าวเป็นเสมือนทุนทางปัญญาอันส่งผลให้สมเด็จพระนเรศวรสามารถกอบกู้เอกราช แก้ทางศึกจนมีชัยเหนือพม่ารามัญในภายภาคหน้า พุทธศักราช 2112 ปรากฏข่าวระบือไปถึงหงสาวดีว่าหัวเมืองพิษณุโลกฝ่ายเหนือแลกรุงศรีอยุธยาราชธานีฝ่ายใต้ของราชอาณาจักรสยามครั้งนั้นเกิดขัดแย้งปีนเกลียวกัน เหตุเนื่องมาจาก “สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ” (ศรัณยู วงศ์กระจ่าง) เจ้าแผ่นดินอยุธยาเสด็จออกผนวช แลสถาปนา “สมเด็จพระมหินทร์” (สันติสุข พรหมศิริ) ราชโอรสองค์รองขึ้นเสวยราชสมบัติสืบแทน สมเด็จพระมหินทร์ทรงคลางแคลงพระทัยในความจงรักภักดีของสมเด็จพระมหาธรรมราชาแต่ครั้งสงครามชิงช้างเผือกในปีพุทธศักราช 2106 ขณะที่เจ้าแผ่นดินพิษณุโลกก็หาได้ยำเกรงสมเด็จพระมหินทร์เช่นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เมื่อเห็นการใดมิควรก็บังคับบัญชาให้สมเด็จพระมหินทร์ปฏิบัติตามพระประสงค์จนเป็นที่ขุ่นเคืองพระราชหฤทัยกษัตริย์อยุธยาพระองค์ใหม่ถึงกับหันไปสมคบกับ “สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช” (รอน บรรจงสร้าง) พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาวร่วมกันแต่งกลเข้าตีเมืองพิษณุโลก แต่กระทำการมิสำเร็จพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองเห็นเชิงสบโอกาสก็ยกทัพใหญ่เข้าตีกรุงศรีอยุธยาอีกคำรบ ครั้งนั้นสมเด็จพระนเรศวรร่วมโดยเสด็จมากับทัพหงสาแต่หาได้ตามพระเจ้าบุเรงนองลงมาล้อมกรุงศรีอยุธยา ทรงประทับอยู่เพียงเมืองพิษณุโลก มีเพียงสมเด็จพระมหาธรรมราชาโดยเสด็จกษัตริย์หงสาลงมาล้อมกรุงด้วยตั้งพระทัยจะเกลี้ยกล่อมให้สมเด็จพระมหินทร์ยอมสวามิภักดิ์พระเจ้าบุเรงนอง เพราะเล็งเห็นว่าอยุธยายากจะต่อรบเอาชัยทัพพม่ารามัญซึ่งมีกำลังไพร่พลเหนือกว่าได้ หากขัดขืนต่อรบจะได้ยากแก่สมณชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎร์ ศึกครั้งนั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงลาผนวชมาบัญชาการรบด้วยพระองค์เอง แต่อยู่ได้มิช้านานก็เสด็จสวรรคตเสียระหว่างศึกพุทธศักราช 2112 มะเส็งศก วันอาทิตย์ เดือน 9 แรม 11 ค่ำ กรุงศรีอยุธยาก็เสียแก่พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ข้างสมเด็จพระนเรศวรซึ่งประทับอยู่ยั้งยังนครพิษณุโลกแต่ต้นศึก หาได้ทรงเห็นงามหรือคิดครั่นคร้ามอ่อนน้อมต่อหงสา ถึงจะทรงรู้ซึ้งว่าสมเด็จพระมหาธรรมราชาพระราชบิดามิได้คิดคดเป็นกบฏต่อแผ่นดิน แต่ก็หาได้เห็นด้วยกับการอ่อนข้อสวามิภักดิ์พม่ารามัญ น้ำพระทัยอันมั่นคงเด็ดเดี่ยวนั้น ถึงแม้จะมิได้แพร่งพรายถึงพระกรรณพระเจ้าบุเรงนอง แต่ก็ประจักษ์อยู่ในหมู่ข้าราชบริพารใกล้ชิดผู้รักและหวงแหนในเอกราชของแผ่นดินจึงพากันนิยมในน้ำพระทัย แลพร้อมใจถวายความจงรักภักดีแต่นั้นมา ครั้นเสร็จศึกอยุธยาพุทธศักราช 2112 สมเด็จพระมหาธรรมราชาทรงถวาย “พระสุพรรณกัลยา” (เกรซ มหาดำรงค์กุล) พระพี่นางสมเด็จพระนเรศวรแก่พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง แลขอตัวสมเด็จพระนเรศวรไว้ช่วยราชการข้างอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรจึงประทับยั้งอยู่ยังเมืองพิษณุโลก สืบต่อมาครั้นลุปีพุทธศักราช 2114 สมเด็จพระมหาธรรมราชา ซึ่งพระเจ้าบุเรงนองสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยาสืบต่อจากสมเด็จพระมหินทร์ก็โปรดให้สมเด็จพระนเรศวรเสวยราชย์ครองเมืองพิษณุโลกเป็นใหญ่เหนือหัวเมืองเหนือทั้งปวง เหตุการณ์ข้างพม่า หลังจากพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองสิ้นพระชนม์ในปีพุทธศักราช 2124 พระเจ้านันทบุเรงได้ขึ้นเสวยราชสืบต่อและได้สถาปนามังสามเกียดขึ้นเป็นรัชทายาทครองตำแหน่งมหาอุปราชาแห่งราชอาณาจักรหงสาวดี เมื่อแผ่นดินหงสามีอันต้องผลัดมือมาอยู่ในปกครองของพระเจ้านันทบุเรง สัมพันธไมตรีระหว่างอยุธยาและหงสาวดีก็เริ่มสั่นคลอน ด้วยพระเจ้าหงสาวดีพระองค์ใหม่มิได้วางพระทัยในสมเด็จพระนเรศวร และสมเด็จพระนเรศวรเองก็หาได้เคารพยำเกรงในบุญบารมีของพระเจ้าแผ่นดินพม่ารามัญเช่นกาลก่อน มิเพียงเท่านั้นสมเด็จพระนเรศวรยังได้ทรงแสดงพระปรีชาสามารถให้เป็นที่ปรากฏครั่นคร้าม ดังคราวนำกำลังทำยุทธนาวีกับพระยาจีนจันตุและศึกเมืองคังเป็นอาทิ พระเจ้านันทบุเรงทรงเกรงว่าสืบไปเบื้องหน้าสมเด็จพระนเรศวรจะเป็นภัยต่อพระราชวงศ์แลแผ่นดินหงสา จึงหาเหตุวางกลศึกหมายจะปลงพระชนม์สมเด็จพระนเรศวรเสียที่เมืองแครง แต่พระมหาเถรคันฉ่องพระราชครูลอบนำแผนประทุษร้ายนั้นมาแจ้งให้ศิษย์รักได้รู้ความ สมเด็จพระนเรศวรจึงถือเป็นเหตุประกาศเอกราช ตัดสัมพันธไมตรีกับหงสาวดี แลกวาดต้อนครัวมอญไทยข้ามแม่น้ำสะโตงกลับคืนพระนคร ซึ่งเป็นชนวนให้พระเจ้านันทบุเรงเปิดมหายุทธสงครามสั่งทัพเข้ารุกรานราชอาณาจักรอยุธยาสืบแต่นั้นมา

The King Maker กบฏ ท้าวศรีสุดาจัน (2548/2005) “เฟอร์นานโด เดอ กัมมา” (แกรี สเตร็ช) ทหารรับจ้างหนุ่มจากประเทศโปรตุเกส ออกเดินทางมายังดินแดนในซีกโลกตะวันออกใน ค.ศ 1547 เพื่อแสวงหาความร่ำรวยเฉกเช่นเดียวกับเพื่อนร่วมชาติอีกหลายคนไปพร้อมกับการติดตามร่องรอยของบุคคลในอดีตที่เคยสังหารพ่อของเขาต่อหน้าต่อตาในขณะที่เขามีอายุเพียง 8 ขวบ ภาพความทรงจำดังกล่าวเป็นที่ติดตาและฝังใจแก่เขาเสมอมา แต่ในระหว่างการเดินเรือเขาพร้อมกับพวกพ้องกลับต้องเผชิญกับเคราะห์ร้ายเมื่อพายุทะเลคลั่งโหมซัดจนทำให้เรือจมลงใต้พื้นมหาสมุทรอินเดียอันกว้างใหญ่ เหลือเพียงเขาคนเดียวที่รอดชีวิตมาได้จากเหตุการณ์ครั้งนั้น แต่กลับกลายเป็นว่าเขาถูกพ่อค้าทาสชาวอาหรับจับตัวไปยังดินแดนอยุธยาเพื่อขายเป็นทาส กรุงศรีอยุธยาเมื่อราว 458 ปีที่แล้วกล่าวได้ว่าเป็นดินแดนแห่งการค้าขายที่เหล่าอาณาประเทศและผู้คนหลากหลายเชื้อชาติต่างหลั่งไหล่เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นชาวตะวันตกไปจนถึงตะวันออกที่ใกล้เคียง แต่ใช่ว่าโชคชะตาของเฟอร์นานโดจะอับโชตเสียทีเดียว เมื่อเขาได้รับการไถ่ตัวให้มีอิสรภาพจาก “มาเรีย” (สิรินยา เบอร์บริดจ์) หญิงสาวชาวโปรตุเกสผู้มีจิตใจงดงามที่เดินทางติดตาม “ฟิลลิปป์” (จอห์น รีส-เดวีส์) บิดาผู้ที่ทำหน้าที่ควบคุมการก่อสร้างกำแพงเมืองให้กับ “พระชัยราชา” (นิรุตติ์ ศิริจรรยา) กษัตริยแห่งอยุธยา ต่อมาเมื่อกษัตริย์แห่งลานนาคิดแข็งข้อต่ออยุธยาโดยการส่งศีรษะของผู้ส่งสารมาให้ พระชัยราชาทรงกริ้วเป็นอย่างยิ่งจึงตัดสินใจยกทัพเข้าสู่ศึกสงครามพร้อมกับ “พระมหาจักรพรรดิ” (โอลิเวอร์ พูพาร์ท) พระเชษฐาของพระชัยราชา ส่งผลให้เหล่าพันธมิตรของอยุธยา ไม่ว่าจะเป็นชุมชนโปรตุเกส, ญี่ปุ่นต่างเข้าร่วมทำศึกในครั้งนี้ เฟอร์นานโดเองก็เข้าร่วมรบในฐานะทหารที่มีประสบการณ์ จึงไม่น่าแปลกใจที่ความห้าวหาญในฐานะนักรบของเขาจะสร้างความพึงพอพระทัยแก่องค์กษัตริย์จนพระองค์แต่งตั้งเขาให้เป็นหนึ่งในราชองครักษ์พร้อมกันกับเพื่อนใหม่ชาวไทยผู้อาจหาญนาม “ทอง” (ดอม เหตระกูล) ที่เขาได้มีโอกาสช่วยชีวิตไว้ในสมรภูมิรบ ขณะเดียวกัน “มเหสีสุดาจัน” (ยศวดี หัสดีวิจิตร) ผู้เลอโฉมแต่ร้ายกาจได้วางแผนลอบปลงพระชนม์พระชัยราชาและ “พระยอดฟ้า” (ชาลี ไตรรัตน์) พระโอรสที่เกิดกับตนขึ้น เพื่อที่จะจะปูทางให้ “พันบุตรศรีเทพ” (อัครา อมาตยกุล) ชู้รักของนางขึ้นครองราชย์ โดยมีมือสังหารจากต่างชาติร่วมมือในแผนการร้าย นายทองและเฟอร์นานโดราชองครักษ์ปกป้องกษัตริย์ชนิดถวายหัว และพยายามสืบหาผู้อยู่เบื้องหลังแผนการร้ายในครั้งนี้ ก่อนที่จะพบว่ามีเงื่อนงำบางอย่างเชื่อมโยงมายังฟิลลิปป์พ่อของมาเรีย แต่แล้วโดยที่ไม่มีใครคาดคิด ทั้งสองพบว่าพระมเหสีมีส่วนสำคัญในแผนการครั้งนี้ แต่ก็สายเกินกว่าจะช่วยพระมหากษัตริย์ให้รอดพ้นจากการถูกพระมเหสีวางยาได้ เช่นเดียวกันกับที่พระโอรสซึ่งถูกเหล่าองครักษ์ผู้ของมเหสีปลงพระชนม์ เมื่อกษัตริย์ทรงสวรรคต เฟอร์นานโดกับทองกลายเป็นผู้ถูกกล่าวโทษว่าเป็นผู้เกี่ยวข้อง โดยมาเรียและครอบครัวของทองเองก็ถูกทหารจับตัวไป เหตุการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป เตรียมพบกับอีกหนึ่งมุมมองของเรื่องราวจากประวัติศาสตร์ที่ถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องยิ่งใหญ่ระดับฮอลลีวูด “กบฏท้าวศรีสุดาจัน” 20 ต.ค.นี้ ในโรงภาพยนตร์
ขุนศึก (2546/2003) ก่อนวันประกาศอิสรภาพของ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชนั้น พระเจ้าบุเรงนอง วางอุบายหมายลอบปลงพระชนม์ ซึ่งยังความโทมนัสให้แก่สมเด็จพระนเรศวรอย่างมาก เมื่อจาตุรงคบาทนักรบประกบฝีเท้าช้างคนหนึ่งต้องพลีชีพเพื่อพระองค์ในกาลนี้ เสมา ลูกชายช่างตีดาบ ซึ่งเดินทางกลับจากเรียนวิชาดาบกับ อาจารย์ขุน เข้าประลองแข่งขันในการหาจาตุรงคบาทคนใหม่ ด้วยความที่เขามีฝีมือดาบอันโดดเด่น จึงได้รับตำแหน่งครูฝึกทหารในเรือน ขุนราม แต่นั่นถือเป็นการหยามศักดิ์ศรีของ หมู่ขัน นายทหารเอกของกรุงศรี ที่ติดภาระต้องไปประจำการที่ด่านหน้า เขาไม่พอใจในตัวลูกช่างตีดาบคนนี้มาก และรอวันที่จะได้ตัดสินกันอย่างแท้จริง ความแค้นยิ่งทวีคูณมากขึ้น เมื่อเรไร คู่หมั้นของหมู่ขัน เกิดชอบพอกับเสมา หมู่ขันโกรธแค้นมาก จึงจับตัวจำเรียง น้องสาวของเสมาไปเป็นทาสขัดดอก คืนนั้น เสมา พร้อมเพื่อนอีกสองคน ตัดสินใจบุกเรือนหมู่ขัน เพื่อนำตัวจำเรียงกลับมา แต่ก็ต้องพ่ายแพ้ต่อกลอุบายของหมู่ขัน จนต้องหนีเข้าไปอยู่ในกองโจรของ ขุนรณฤทธิ์พิชัย หมู่ขันสบโอกาส จึงประกาศว่า เสมาเป็นกบฎ ขณะที่อยู่กับพวกกองโจร เสมา และกลุ่มกองโจรช่วยกันสกัดทัพหน้าของพม่าที่บุกเข้ามา ครั้งหนึ่ง เสมา ได้มีโอกาสได้เข้าช่วย พระเอกาทศรถ ในการศึก และได้ลดโทษไปเป็น ตะพุ่น เลี้ยงช้าง ที่นั่น เสมา ได้เรียนรู้ถึงหัวใจของนักรบ เมื่อเขาทราบข่าวการยกทัพครั้งใหญ่ของพม่า เสมาทนเห็นทหารไทยถูกเข่นฆ่าอีกไม่ได้ จึงเข้าไปช่วยในสนามรบ กระทั่งสามารถฆ่าแม่ทัพพม่าลงได้ จึงได้รับความดีความชอบกลับมา และวันแห่งการตัดสินฝีมืออย่างแท้จริงระหว่างเสมา กับหมู่ขันก็มาถึง เมื่อทั้งสองได้ประลองฝีมือต่อหน้าพระที่นั่ง เพื่อหาผู้ที่เหมาะกับตำแหน่งจาตุรงคบาท นักรบประกบฝีเท้าช้างของสมเด็จพระนเรศวร ในการศึกยุทธหัตถีครั้งประวัติศาสตร์ระหว่างกษัตริย์สองแผ่นดิน

สุริโยไท (2544/2001) เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 สวรรคตในปี พ.ศ. 2072 พระอาทิตยาจึงได้ขึ้นครองราชย์ ทรงพระนาม สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูร ทุกพระองค์เสด็จย้ายจากพิษณุโลกไปประทับ ณ กรุงศรีอยุธยาเมืองหลวง พระเฑียรราชา และ พระสุริโยไท มีโอรสธิดาทั้งสิ้น 5 พระองค์ คือ พระราเมศวร , พระมหินทร, พระบรมดิลก, (พระวิสุทธิ์กษัตริย์) และ พระเทพกษัตรี ประทับอยู่ ณ วังชัย ดำรงอิสริยยศเป็นพระเยาวราช เมื่อสมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูรสวรรคตด้วยโรคไข้ทรพิษ พระไชยราชา ผู้ซึ่งดำรงพระยศเป็นพระอุปราช ควรจะได้สืบสันตติวงศ์เป็นพระมหากษัตริย์ แต่สมเด็จพระบรมราชาหน่อพุทธางกูรทรงขอให้ สมเด็จพระรัษฎาธิราชกุมาร พระโอรสวัย 5 พรรษา อันเกิดแต่พระอัครชายา วัย 17 พรรษา เป็นผู้ขึ้นครองราชย์แทน ระหว่างนั้น บ้านเมืองถูกบริหารโดยขุนนางทุจริต ติดสินบนเถลิงอำนาจ โดยเฉพาะ เจ้าพระยายมราช บิดาของพระอัครชายา 5 เดือนให้หลังสมเด็จพระไชยราชาธิราชจึงเข้ายึดราชบัลลังก์ และให้สำเร็จโทษพระรัษฏาธิราช ตามราชประเพณีโบราณ รวมถึงสั่งประหารขุนนางทุจริตทุกคน และทรงขึ้นครองราชย์ แผ่บุญญาธิการ เป็นที่ประจักษ์โดยทั่วไป ทรงออกรบปราบหัวเมืองอยู่เนือง ๆ และได้แต่งตั้งพระเฑียรราชาขึ้นเป็นพระมหาอุปราชา ว่าราชการแทนพระองค์ อยู่ที่กรุงอโยธยา ส่วนพระมเหสีของพระไชยราชา คือ ท้าวศรีสุดาจันทร์ ได้ลักลอบมีความสัมพันธ์กับ ขุนชินราช ผู้ดูแลหอพระ เชื้อราชวงศ์อู่ทองด้วยกัน และได้สมคบคิดกัน ลอบวางยาพิษปลงพระชนม์พระไชยราชา พระยอดฟ้า พระโอรสของพระไชยราชา ที่ประสูติจาก ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ได้ขึ้นครองราชย์แทน ในขณะที่มีพระชนม์เพียง 10 พรรษา แต่ต่อมาไม่นาน ก็ถูกท้าวศรีสุดาจันทร์ปลงพระชนม์อีกองค์หนึ่ง แล้วสถาปนาขุนชินราชขึ้นเป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระวรวงศาธิราช นับตั้งแต่สิ้นรัชกาลพระไชยราชา พระเฑียรราชาก็ได้ผนวชเพื่อเลี่ยงภัย ส่วนพระสุริโยไททรงเตรียมฝึกทหาร โดยมีผู้จงรักภักดี คือ ขุนพิเรนทรเทพ, ขุนอินทรเทพ, หมื่นราชเสน่หานอกราชการ และหลวงศรียศลานตากฟั เฝ้าคุ้มกันภัยให้ ได้ร่วมกันปลงพระชนม์ขุนวรวงศา และท้าวศรีสุดาจันทร์ เสียบหัวประจานไว้ที่วัดแร้ง แล้วอัญเชิญพระเฑียรราชา ให้ลาสิกขาบทขึ้นครองราชย์แทน ทรงพระนามว่า สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ระหว่างนั้นทางพม่าได้รวบรวมแผ่นดินเป็นปึกแผ่น และแผ่ขยายอำนาจรุกรานไทยภายใต้พระมหากษัตริย์ พระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้ และได้เดินทัพมายังกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. 2091 เกิดเป็นสงครามยุทธหัตถี ที่ทุ่งมะขามหย่อง ซึ่งเป็นเหตุให้ พระสุริโยไทสิ้นพระชนม์บนคอช้าง เรื่องจบลงด้วยสงครามยุทธหัตถี อันเป็นเรื่องราวความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญและความตายของวีรกษัตรีย์ "สุริโยไท" ที่พลีชีพเพื่อรักษาอาณาจักรอยุธยา

หน้าที่