อีปึก อัศจรรย์วันแห่งศรัทธา

อีปึก อัศจรรย์วันแห่งศรัทธา (2560/2017) จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ของนักร้องลูกทุ่งสาวชื่อดัง "สาวมาด เมกะแด๊นซ์" ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นของวัยเรียน จุดเปลี่ยนของชีวิตในก้าวแรกที่เดินบนเส้นทางสายดนตรี จวบจนนาทีที่ป่วยหนักจนเกือบเอาชีวิตไม่รอด ด้วยอาการครรภ์เป็นพิษอย่างรุนแรง ทำให้ความดันโลหิตสูงจนเลือดออกไปทับก้านสมอง ได้สามีสุดที่รัก กรุง สุขสันต์ มานอนเฝ้าดูอาการโดยไม่เคยทิ้งไปไหน และยอมทำทุกวิถีทางเพื่อให้ภรรยากลับมามีชีวิตที่แข็งแรงอีกครั้ง และเชื่อว่าเป็นการเกิดปาฏิหาริย์จากพญานาคที่มาช่วยให้ปาฏิหาริย์เกิดขึ้น

ทองดีฟันขาว (2560)

ทองดี ฟันขาว (2560/2017) เรื่องราวความกล้าหาญและความจงรักภักดีในช่วงชีวิตสำคัญของ “นายทองดี ฟันขาว” นักสู้หัวใจแกร่งที่มากความสามารถและฝีไม้ลายมวย โชคชะตานำพาให้เขาได้เป็นทหารเอกคู่ใจแห่งพระเจ้าตากสินมหาราช และพลีชีพต่อสู้ปกป้องบ้านเมืองจนกลายเป็นวีรบุรุษของชาวไทยที่รู้จักกันในนาม “พระยาพิชัยดาบหัก” ทองดี นักสู้หัวใจแกร่ง ผู้มีความมุ่งมั่นไม่ย่อท้อรักษาคำมั่นสัญญา กล้าหาญจงรักภักดี มีความสามารถและฝีไม้ลายมือทางหมัดมวยและดาบอย่างหาตัวจับยาก เขาไม่ชอบกินหมาก จึงเป็นที่มาของฉายา ทองดีฟันขาว ชีวิตของเขาต้องระหกระเหินจากครอบครัวตั้งแต่ครั้งเยาว์วัย และต้องออกเดินทางหาเงินเลี้ยงตัวจากการชกมวย และร่ำเรียนวิชามวยเพิ่มเติมจากบรรดาครูมวยตามเมืองต่างๆ จนสุดท้ายโชคชะตาและวีรกรรมอันเลื่องชื่อของเขาก็นำพาให้เขาได้เป็นทหารเอกคู่ใจแห่ง พระเจ้าตากสินมหาราช และพลีชีพต่อสู้ปกป้องบ้านเมืองจนกลายเป็นวีรบุรุษของชาวไทย ที่รู้จักกันในนาม พระยาพิชัยดาบหัก

คีตราชนิพนธ์ บทเพลงในดวงใจราษฎร์ (2558/2015) ไม่เฉพาะเพียงความสมบูรณ์พูนสุขทางกายเท่านั้นที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใส่พระทัยพสกนิกร โดยริเริ่มโครงการต่าง ๆ มากมายเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีและยั่งยืนของพี่น้องชาวไทย หากในแง่การเติมเต็มพลังใจ พระองค์ท่านยังพระราชทานขวัญ กำลังใจ แด่ประชาชนผ่านบทเพลงพระราชนิพนธ์อันแฝงไปด้วยปรัชญาการดำเนินชีวิตมากมายหลายต่อหลายเพลง และ 4 บทเพลงพระราชนิพนธ์ใน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้รังสรรค์แรงบันดาลใจให้ 4 ผู้กำกับชั้นแนวหน้าของเมืองไทย ถ่ายทอดเรื่องราวสู่ 4 ภาพยนตร์ "The Singers" เพลงพระราชนิพนธ์ที่เป็นแรงบันดาลใจ "ชะตาชีวิต" เรื่องราวของ หญิงชราสองคน จากสองครอบครัวที่มีความแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงทั้งในด้านฐานะและสถานภาพในสังคม แต่ทั้งคู่มีความเหมือนกันในแง่ของสภาพจิตใจเมื่อทั้งสองได้โคจรมาพบกันและรับรู้เรื่องราวของกันและกันการผจญภัยของสองย่ายายจึงเริ่มต้นขึ้น ย่าเป้า อยู่ในครอบครัวที่เป็นเจ้าของกิจการมีลูกหลานมากมายแต่ล้วนแล้วแต่แก่งแย่งชิงดีกันบ้างก็เสแสร้งเอาใจเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองจน ย่าเป้า รู้สึกเบื่อและเหนื่อยหน่ายกับลูกหลานเหล่านี้ ด้าน ยายเงิน มีชีวิตที่ลำบากอยู่ในชุมชนเล็กๆ กลางเมืองใหญ่ที่วุ่นวายอยู่กับหลานสาววัยหกขวบที่สุขภาพไม่ใคร่ดีนักเพียงลำพัง จนวันหนึ่ง ยายเงิน โดนจับเพราะขายแผ่นหนังและเพลงเก่า ๆ โดยไม่มีใบอนุญาต ต้องประกันตัวและเสียค่าปรับในอัตราสูงเธอและหลานจะมีชีวิตอยู่ต่อไปอย่างไร แต่เมื่อฟ้าส่งให้ทั้ง ย่าเป้า กับ ยายเงิน มาพบเจอกันความเห็นอกเห็นใจก็เริ่มต้นขึ้นและเมื่อถึงจุดวิกฤตจุดหนึ่งของชีวิตเธอก็ได้ตัดสินใจที่จะใช้เสียงเพลงของเธอทั้งสองเพื่อที่จะฝ่าฟันกับอุปสรรคนั้นไปให้ได้ "อมยิ้ม" เพลงพระราชนิพนธ์ที่เป็นแรงบันดาลใจ "ยิ้มสู้" เรื่องราวของ เด็กชายคนหนึ่ง ที่กลายเป็นตัวประหลาดในสายตาคนในโรงเรียน เพราะไม่เคยมีใครเห็นเขาโกรธร้องไห้ หัวเราะ หรือแม้แต่ยิ้ม เขาคือคำถามของทุกคน คือของเล่นแสนสนุกน่าแกล้ง แต่ไม่มีใครอยากอยู่ใกล้หรือคิดทำความรู้จักเขาจริง ๆ และทุกคนก็ต้องประหลาดใจเมื่อได้ข่าวว่าคนที่หน้าตายนิ่งเฉยไม่เคยขยับอย่างเขากำลังจะเล่นละคร แถมเล่นกับนักเรียนหญิงสุดสวยแสนป๊อบของโรงเรียนที่เขาแอบชอบ แต่เธอก็มีแฟนเป็นนักกีฬาสุดเท่เนตไอดอล ความเป็นไปไม่ได้ที่สุดกำลังจะเกิดในโรงเรียน เขาจะเล่นละครได้ไหมนักเรียนหญิงสุดสวยกำลังจะเจอกับอะไร ความจริงที่ถูกเปิดเผยอาจเปลี่ยนความรู้สึกใครบางคนไปตลอดกาล "ฝนตกที่ห้วยขาแข้ง" เพลงพระราชนิพนธ์ที่เป็นแรงบันดาลใจ "สายฝน" เรื่องจริงของ สืบ นาคะเสถียร หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์ป่าห้วยขาแข้ง นักสู้ผู้อุทิศชีวิตเพื่อผืนป่าเมืองไทย ในช่วงสี่ปีสุดท้ายที่เขามุ่งมั่นและต่อสู้เพื่อยุติการตัดไม้ทำลายป่าและล่าสัตว์ป่าอย่างไม่เกรงกลัวต่อกฏหมาย สืบ ยืนหยัดต่อกรกับอิทธิพลมืด นักการเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริตด้วยมือเปล่าและหัวใจที่จะไม่ยอมให้ผืนป่าของเมืองไทยต้องหมดสิ้นไปเพราะความโลภและเห็นแก่ตัว "ดาว" เพลงพระราชนิพนธ์ที่เป็นแรงบันดาลใจ "ความฝันอันสูงสุด" ใคร ๆ ก็รู้ว่า การได้เป็นคนเชิญธงชาติของโรงเรียนเป็นความฝันอันสูงสุดของนักเรียนทุกคน ดังนั้น ทันทีที่ครูประกาศหาคนเชิญธงคนใหม่แทนพี่ ป.6 ที่กำลังจะจบไป การแข่งขันของหนุ่มน้อยสองคนจึงเกิดขึ้นสำหรับ โก้ (อภิธาร รุ่งเจริญรอด) การได้เชิญธงชาติจะทำให้เขาได้ใกล้ชิดกับสาวที่เขาตั้งเป้าว่าต้องจีบเป็นแฟนให้ได้ก่อนสอบปลายปี แต่สำหรับ หนึ่ง (กฤตเมธ เมืองดี) การได้เป็นคนเชิญธงชาติมีความสำคัญมากกว่าที่ใครจะคาดถึง การแข่งขันที่มีจำนวนดาวเป็นตัวตัดสิน จะทำให้ความฝันอันสูงสุดของหนึ่งเป็นจริงได้หรือไม่!?
ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๖ อวสานหงสา

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๖ อวสานหงสา (2558/2015) ในปี พ.ศ. 2135 หลังพ่ายศึกยุทธหัตถี ฝ่ายหงสาวดีพระเจ้านันทบุเรง ทรงโทมนัสที่ต้องสูญเสียพระราชโอรส จึงมีรับสั่งให้คลอกไฟเหล่าแม่ทัพนายกอง ที่ตามเสด็จพระมหาอุปราช ให้ตายตกตามกัน ทั้งยังระบายพระโทสะไปที่ พระสุพรรณกัลยา องค์ประกัน และพระราชโอรสธิดาถึงสิ้นประชนม์ชีพ ข้าง สมเด็จพระนเรศวร นั้น มีพระราชประสงค์จะนำทัพปราบหงสาวดี ให้ราบคาบ มิให้ตกค้างเป็นเสี้ยนหนาม ครั้นมาได้ทราบข่าวการสิ้นพระชนม์ ของพระพี่นาง และพระราชนัดดาก็ยิ่งโทมนัส จึงตัดสินพระทัยยกทัพใหญ่ หมายเหยียบหงสาวดีให้ราบเป็นหน้ากลอง ในระหว่างที่เดินทางมาถึงเมืองเมาะตะมะได้จับตัว พระยาลอ ผู้สำเร็จราชการแทน ที่พระเจ้านันทบุเรง ส่งให้มาปกครองเมือง ถูก เม้ยมะนิก ราชธิดาของ ศิริสุธรรมราชา เจ้าเมืองเมาะตะมะลอบสังหาร เพื่อแก้แค้นแทนบิดา พร้อมรวบรวมชาวรามัญเพื่ออาสาขอเข้าร่วมรบพม่ากับชาวอโยยา แต่ครั้นเมื่อทัพของพระองค์เสด็จถึงหงสาวดีก็พบแต่เพียงเศษซากของมหานครอันเคยยิ่งใหญ่ ด้วยนัดจินหน่อง ราชบุตรพระเจ้าตองอูได้วางอุบาย เชิญพระเจ้านันทบุเรงพร้อมกวาดต้อนผู้คนแลทรัพย์ศฤงคารของหงสาไปไว้ยังตองอูจนหมดสิ้น ครั้งนั้น สมเด็จพระนเรศวร จึงทรงยกทัพตามขึ้นไปถึงเมืองตองอู มีพระราชบัญชาให้ เมงเยสีหตู เจ้าเมืองส่งตัว พระเจ้านันทบุเรงออกมาถวาย ด้านนัดจินหน่องเห็นว่าพระเจ้านันทบุเรง ที่เชิญมานั้น เป็นภัยชักศึกเข้าบ้าน จึงหมายยืมมือ สมเด็จพระนเรศวร สังหาร พระเจ้านันทบุเรง เสีย แต่เมื่อ สมเด็จพระนเรศวร ได้ทอดพระเนตรเห็น พระเจ้านันทบุเรง ที่ทรงทุพพลภาพเป็นที่น่าสมเพช ก็ให้สลดพระราชหฤทัย ระหว่างนั้น เมงราชาญี เจ้าเมืองยะไข่ได้แต่งทัพเป็นกองโจร ตีลัดตัดเสบียงอยุธยามิให้ส่งข้าวน้ำขึ้นไปเลี้ยงทัพที่ล้อมพระนครตองอูอยู่ สมเด็จพระเอกาทศรถ จึงแบ่งทัพลงมาหมายจะเผด็จศึกยะไข่มิให้เป็นหอกข้างเเคร่ แต่ทรงพลาดท่าถูกเมงราชาญีจับตัวได้ พระราชมนู จำต้องขันอาสานำกำลังลงมา แก้เอา สมเด็จพระเอกาทศรถ กลับคืน และยกทัพกลับยังอยุธยา ข้างฝ่ายพุกามประเทศนั้นได้บังเกิดกษัตริย์ชาตินักรบขึ้นมา แทนพระเจ้าชนะสิบทิศ มีพระนามว่า พระเจ้ายองยาน ตามชื่อพระนครที่ปกครอง พระเจ้ายองยาน ทรงขยายแสนยานุภาพครอบคลุมดินแดนพม่าตอนบน เข้ายึดครองหัวเมืองในรัฐไทยใหญ่ทั้งหลาย และทรงกรีฑาทัพเข้าตีเมืองยองห้วยและเมืองแสนหวีซึ่งขณะนั้นล้วนเป็นเมืองประเทศราชของอยุธยา เมื่อ สมเด็จพระนเรศวร ทรงล่วงรู้ก็ทรงมีพระราชดำริที่จะตัดไฟเสียแต่ต้นลม ไม่ให้อธิราชศัตรูพลิกฟื้นขึ้นมา เป็นเสี้ยนหนามแผ่นดินอยุธยาได้อีก สมเด็จพระนเรศวร จึงได้เสด็จยกกองทัพไปตีอังวะ ครั้งนั้น พระมหาเถรคันฉ่อง และ พระอัครมเหสีมณีจันทร์ ซึ่งกำลังทรงพระครรภ์ก็ทูลขอให้งด ซึ่งราชการสงคราม สมเด็จพระนเรศวร จึงทรงให้สัญญาว่า จะเสด็จไปทำศึกครานี้เป็นครั้งสุดท้าย เมื่อเสด็จถึงเมืองเชียงใหม่ก็ยั้งทัพจัดกระบวนอยู่หนึ่งเดือน แล้วให้ทัพ สมเด็จพระเอกาทศรถ ยกขึ้นไปทางเมืองฝาง ส่วนกองทัพหลวงยกไปทางเมืองหาง ตั้งค่ายหลวงประทับอยู่ที่ทุ่งแก้ว อยู่มา สมเด็จพระนเรศวร ทรงพระประชวรจึงโปรดให้ข้าหลวงรีบเชิญเสด็จ พระเอกาทศรถ มาเฝ้า ครั้นมาถึงได้ 3 วัน สมเด็จพระนเรศวร ก็เสด็จสวรรคตเมื่อวันจันทร์ขึ้น 8 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2148 สมเด็จพระเอกาทศรถ จึงได้อัญเชิญพระบรมศพ สมเด็จพระนเรศวร กลับกรุงศรีอยุธยาราชธานี

เพชฌฆาต The Last Executioner (2557/2014) เชาวเรศน์ จารุบุณย์ (วิทยา ปานศรีงาม) เป็นมือประหารคนสุดท้ายของประเทศไทย ที่ปลิดชีวิตนักโทษด้วยวิธีการยิงเป้าจากนักดนตรีหนุ่มผู้หลงใหลในเพลงร็อคแอนด์โรล และเล่นดนตรีให้กับเหล่าทหารไอจีในช่วงสงครามเวียดนาม เขาต้องเลือกทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ผู้คุมในเรือนจำเพื่อความมั่นคงของครอบครัวที่เขารักเขาใช้ชีวิตทั้งชีวิตยอมรับกรรมดีกรรมชั่วที่เกิดจากหน้าที่ของเขา ในการทำหน้าที่เป็นเพชฌฆาตผู้ปลิดชีพนักโทษมาแล้วถึง 55 คน ตลอดกว่า 19 ปี ในเรือนจำกลางบางขวางหรือที่รู้จักกันดีในนาม คุกเสือใหญ่ หรือ The Bangkok Hilton
อยากอยู่อย่างใหญ่ BORN TO BE YAI (2557/2014) ชัย ชัยปรีชา (สรวิชญ์ สุบุญ) เป็นคนเมืองชาละวัน จากเด็กชายบ้านนอก การศึกษาแค่ ป.6 ทั้งๆ ที่ชัยอยากเรียนต่อใจจะขาด แต่ขาดแค่ความพร้อมของครอบครัว คำสอนของคุณปู่ที่พูดถืงแต่อนาคตที่ดี ขัดกับคำพูดของคุณพ่อที่ไม่ให้ชัยเรียนต่อมัธยม คุณแม่สงสารชัยแต่ก็ขัดคุณพ่อไม่ได้ คุณพ่อเพียงคิดแค่จะให้ชัยออกมาช่วยกันทำนาทำสวน เก็บดอกเก็บผลไปขาย หรือรับจ้างตามอย่างพวกพี่ๆ ที่มาช่วยกันทำมาหากิน แม้จะต้องออกจากระบบการศึกษาตามความต้องการของคุณพ่อ แต่ชัยก็ไม่ยอมปล่อยโอกาสที่ผ่านเข้ามาในชีวิตให้ผ่านเลยไปเฉยๆ เขาคว้าโอกาสไว้ และไขว่คว้าหาอนาคตที่ตัวเองต้องการด้วยตนเอง จนในที่สุดโชคชะตาของเขาก็ค่อยๆ เปลี่ยนไป
ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๕ ยุทธหัตถี

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๕ ยุทธหัตถี (2557/2014) ในปี พ.ศ. 2129 พระเจ้านันทบุเรง ทรงแค้นเคืองที่ต้องปราชั­ยต่อ สมเด็จพระนเรศฯ อย่างย่อยยับ ทั้งต้องเสียไพร่พลและพระสิริโฉม จึงระบายความแค้นนั้นไปที่องค์พระสุพรรณกั­ลยา เมื่อ สมเด็จพระมหาธรรมราชา พระราชบิดาทราบค­วามก็ให้โทมนัสด้วยสำนึกว่าชะตากรรมของพระ­ราชธิดาและแผ่นดินอยุธยาที่ถูกกระทำการย่ำ­ยีก็ด้วยเพราะพระองค์ทรงแปรพักตร์ไปเข้าข้­างศัตรู จนตรอมพระทัยเสด็จสวรรคต สมเด็จพระนเรศฯ ทรงมีพระชนมายุ 31 พรรษา จึงเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติค­รองกรุงศรีอยุธยาสืบต่อจากพระราชบิดา สมเด็จพระมหาธรรมราชา หรือ (สมเด็จพระสรรเพ็ชญ์ที่ 1) ข่าวการผลัดแผ่นดินของกรุงศรีอยุธยารู้ไปถึง พระเจ้านันทบุเรง แห่งกรุงหงสาวดี พระเจ้านันทบุเรง พระราชโอรสในพระเจ้าบุเรงนอง สำคัญว่าราชอาณาจักรสยาม หรืออาณาจักรอยุธยาจะไม่เป็นป­กติสุขเป็นช่องชวนชิงเชิง จึงโปรดให้พระราชบุตร พระมังสาม­เกียด หรือ(พระมังกะยอขวาที่ 1) พระมหาอุปราชเจ้าวังหน้ากรีฑาทัพไปตีกรุงศรีอยุธยาอีกคำรบ นำกองทัพทหาร 240,000 นาย (สองแสนสี่หมื่นนาย) มาตีกรุงศรีอยุธยาหมายจะชนะศึกในครั้งนี้ สมเด็จพระนเรศวร ทรงทราบว่า พม่ายกทัพใหญ่มาตี จึงทรงเตรียมไพร่พล มีกำลัง 100,000 นาย (หนึ่งแสนนาย) เดินทางออกจากบ้านป่าโมก อ่างทองไปสุพรรณบุรี ข้ามน้ำตรงท่าท้าวอู่ทอง ลพบุรี และตั้งค่ายหลวงบริเวณหนองสาหร่าย โดย สมเด็จพระนเรศวร โปรดให้ พระราชมนู แต่­งพลเป็นทัพหน้าขึ้นไปลองกำลังข้าศึกถึงหนอง­สาหร่าย ทัพหน้า พระราชมนู ปะทะเข้ากับทัพพม่าถึงขั้­นตะลุมบอน แต่กำลังข้าง พระราชมนู น้อยกว่าจึงแตกพ่ายถ­อยลงมาเป็นอลหม่าน สมเด็จพระนเรศฯ ทราบความจึงออกอุบายให้ทัพข้าศึกไล่เตลิดลงมาจนเสียกระบวนแล้วจึงทรงนำกำลังออกยอทัพข้าศึก ครั้งนั้นพระคชสารทรงของสมเด็จพระนเรศฯ นามเจ้าพระยาไชยานุภาพ และพระคชสารทรงของสมเด็จพระเอกาทศรถคือเจ้าพระ­ยาปราบไตรจักรต่างตกมัน วิ่งเตลิดแบกพลฝ่าเข้าไปในทัพพม่ารามัญกลางว­งล้อมข้าศึก และหยุดอยู่หน้าช้าง พระมังสามเกียดพระมหาอุปร­าชา พระองค์ทรงทอดพระเนตรเห็นพระมหาอุปราชาทรงพระคชสารอยู่ในร่มไม้กับเหล่าพระยาขุนศึก จึงทราบได้ว่าพระคชสารทรงของสองพระองค์หลงถลำเข้ามาถึงกลางกองทัพข้าศึก และตกอยู่ในวงล้อมข้าศึกแล้ว แต่ด้วยพระปฏิภาณไหวพริบของสมเด็จพระนเรศวร ทรงเห็นว่าเป็นการเสียเปรียบข้าศึกจึงไสช้างเข้าไปใกล้ แล้วตรัสถามด้วยคุ้นเคยมาก่อนแต่วัยเยาว์ว่า "พระเจ้าพี่เราจะยืนอยู่ใยในร่มไม้เล่า เชิญออกมาทำยุทธหัตถีด้วยกัน ให้สมพระเกียรติยศไว้ในแผ่นดินเถิด ภายหน้าไปไม่มีพระเจ้าแผ่นดินที่จะได้ยุทธหัตถีแล้ว" พระมังสามเกียดพระมหาอุปราชาได้ยินดังนั้น จึงไสพระคชสารนามว่า พลายพัทธกอเข้าชนเจ้าพระยาไชยานุภาพเสียหลัก พระมังสามเกียดพระมหาอุปราชาทรงฟันสมเด็จพระนเรศวรด้วยพระแสงของ้าว แต่ สมเด็จพระนเรศวร ทรงเบี่ยงหลบทัน จึงฟันถูกพระมาลาหนังขาด จากนั้น เจ้าพระยาไชยานุภาพชนพลายพัทธกอเสียหลัก สมเด็จพระนเรศวร ทรงฟันด้วยพระแสงของ้าวถูก พระมังสามเกียด พระมหาอุปราชา เข้าที่อังสะขวา สิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง ส่วน สมเด็จพระเอกาทศรถ ทรงฟันเจ้าเมืองจาปะโรเสียชีวิตเช่นกัน พม่าจึงยกทัพกลับกรุงหงสาวดีไป นับแต่นั้นมาก็ไม่มีกองทัพใดกล้ายกมากล้ำกรายกรุงศรีอยุธยาอีกเป็นระยะเวลาอีกยาวนาน

TOP SECRET วัยรุ่นพันล้าน (2554/2011) เรื่องราวจากชีวิตเบื้องลึกของ ต๊อบ อิทธิพัฒน์ (พชร จิราธิวัฒน์) เจ้าของธุรกิจสาหร่ายเถ้าแก่น้อย วัยรุ่นไทยที่พลิกชีวิตจากเด็กติดเกมส์ออนไลน์ เด็กมัธยมปลายที่เคยถูกครูฝ่ายปกครองค่อนขอดว่าเรียนจบแล้วจะไปทำอะไรกิน จนกลายมาเป็นวัยรุ่นพันล้านในวันนี้ ต๊อบ ก้าวกระโดดมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร แน่นอนว่าใคร ๆ ก็อยากรวย แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะกล้าลงมือรวยแบบ ต๊อบ อะไรคือสิ่งที่ ต๊อบ ต้องฝ่าฝัน อะไรคือสิ่งที่ ต๊อบ ต้องแลกให้กับคำว่า รวย อะไรคือมูลค่าที่แท้จริงของความรวย อายุ 16 ต๊อบ มีเงินจากการเล่นเกมส์เดือนละ 400,000 บาท อายุ 17 ยอมติด F แลกกับเงินค่าขายเกาลัดแค่ 2,000 บาท อายุ 18 บ้านล้มละลายเป็นหนี้ 40 ล้าน อายุ 19 นำสาหร่ายเถ้าแก่น้อยเข้าเซเว่น 3,000 สาขา ทุกวันนี้ ต๊อบ อายุ 26 ปีเป็นเจ้าของแบรนด์สาหร่ายอันดับหนึ่งของเมืองไทย เจ้าของมาร์เก็ตแชร์ 85% ของทั้งตลาด หรือเท่ากับยอดขายเหยียบ 1,000 ล้านบาทต่อปี มีลูกน้องในบริษัททั้งสิ้น 1,200 คน คุณทำอะไรอยู่ตอนคุณอายุเท่า ต๊อบ?
ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๔ ศึกนันทบุเรง

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๔ ศึกนันทบุเรง (2554/2011) เรื่องราวอันเป็นผลจากการปราชัยของหงสาวดีในคราวศึก พระยาพะสิม และ พระเจ้าเชียงใหม่ ซึ่งทำให้ พระเจ้านันทบุเรง ทรงตระหนักในพระปรีชาสามารถของ สมเด็จพระนเรศวร และในความเข้มแข็งของกองทัพอยุธยา จึงทรงยกทัพใหญ่เป็นทัพกษัตริย์มาย่ำยีราชธานีสยามหวังให้ราบเป็นหน้ากลองเพื่อเป็นการแก้มือ และเพื่อรักษาซึ่งพระเกียรติยศ มิให้เป็นที่ดูแคลนแก่เหล่าเจ้าประเทศราชในการปกครองของฝ่ายพม่า กองทัพกษัตริย์ของ พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง มีความสมบูรณ์ยิ่งใหญ่น่าเกรงขามกว่าทุกศึก ประกอบด้วยช้าง 3,200 ทัพม้า 12,000 และไพร่ราบซึ่งมีจำนวนถึง 252,000 โดยมีนายทัพผู้ปรีชาสามารถมาร่วมรบ ทั้ง พระมหาอุปราชา มังจาปะโร และลักไวทำมูทหารกล้า กิตติศัพท์ความยิ่งใหญ่น่าเกรงขามของทัพหงสาวดีที่ยกเข้ามานี้ ส่งผลให้เจ้าเมืองในขอบขัณฑสีมาของราชอาณาจักรอยุธยาข้างฝ่ายเหนือประหวั่นพรั่นพรึงถึงกับสมคบคิดกัน แปรพักตร์เข้าสมานสมัคร พระเจ้านันทบุเรง รบ สมเด็จพระนเรศวร เป็นเหตุให้ สมเด็จพระนเรศวร ต้องเผชิญทั้งศึกนอกและศึกใน สถานการณ์กลับยิ่งบีบคั้นให้คับขันยิ่งขึ้น เมื่อ พระศรีสุพรรณธรรมาธิราช พระอนุชาเจ้ากรุงละแวกซึ่งขัดพระทัย สมเด็จพระนเรศวร แต่กาลก่อน ได้ยุยงให้พระเชษฐาตัดสัมพันธไมตรีกับอยุธยา ละแวกจึงกลายเป็นหอกข้างแคร่ที่พร้อมจะกระหน่ำซ้ำเติมสยามให้ย่อยยับหากมีอันพลาดท่าเสียทีในศึกนันทบุเรงนี้ ภัยรอบด้านบีบรัดให้ สมเด็จพระนเรศวร ทรงต้องเผชิญศึกอย่างโดดเดี่ยว ซ้ำเคราะห์กลับทับทวีคูณเมื่อสหายศึก เช่น เลอขิ่น และกองกำลังเมืองคัง ซึ่งร่วมกรำศึก กันมาแต่เบื้องต้นคิดถอนตัวตีจากเนื่องจากพิษรักระหว่างรบที่จบลงด้วยความร้าวฉานระหว่าง เลอขิ่น กับ พระราชมนู ขุนศึกคู่พระทัย ความขัดแย้งด้วยเหตุส่วนตัวได้บานปลายกลายเป็นภัยของแผ่นดินในคราวคับขันเมื่ออยุธยาต้องเผชิญศึก ซึ่งประมาณได้ว่าเป็นมหาสงครามภายใต้โทสจริตของ พระเจ้านันทบุเรง ด้วยข้อจำกัดที่รุมเร้าหลายประการ ผสานกับจำนวนไพร่พลที่เป็นรองหงสาวดีอยู่หลายขุม ทำให้ สมเด็จพระนเรศวร ทรงจำต้องปรับยุทธศาสตร์การตั้งรับทัพหงสาวดี โดยทรงใช้พระนครศรีอยุธยาซึ่งมีทำเลที่ตั้งที่ได้เปรียบเป็นฐานบัญชาการรบแต่เพียงแห่งเดียว ทรงส่งกำลังออกไปปักปราการ วางแนวป้องกันมิให้พม่าเข้ามาปลูกค่ายใกล้ขอบคูพระนครและกำแพงเมือง ทั้งยังแต่งกำลังเป็นกองโจรเข้าปล้นค่ายข้าศึกอย่างอาจหาญ เมื่อศึกเหนือเสือใต้รุมกระหน่ำ ขุนนางผู้ใหญ่ขาดสามัคคีคิดคดคำนึงแต่ประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง จอมทัพผู้รั้งราชบัลลังก์และความอยู่รอดของแผ่นดินก็มาพลาดท่า ต้องศาสตรากลางสมรภูมิศึก ยอดทหารเอกกรุงศรีถูกขุนศึกผู้ชาญณรงค์กว่าจับเป็นเชลย ชะตากรรมกรุงศรีอยุธยา และ สมเด็จพระนเรศวร จะลงเอยอย่างไร

พุ่มพวง (2554/2011) เมื่อเด็กผู้หญิงคนหนึ่งฝันอยากเป็นนักร้อง วินาทีแห่งการไข่วคว้าเพื่อความฝันอันยิ่งใหญ่ และการเดินทางของชีวิตจึงเริ่มต้นขึ้น ผึ้ง (พรพิมล เฟื่องฟุ้ง) เกิดและโตที่จังหวัดสุพรรณบุรี ด้วยฐานะทางบ้านยากจน เรียนจบเพียงแค่ชั้นป.2 แต่มีความฝันอยากเป็นนักร้องที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เธอจึงตัดสินใจเดินทางออกตามหาความฝัน ด้วยการมุ่งหน้าเข้ามาเผชิญโชคในเมืองกรุง ผึ้ง เริ่มต้นจากตำแหน่งหางเครื่องในวงดนตรีของ ครูไวพจน์ เพชรสุพรรณ (สมชาย สุขสวัสดิ์ชล) จนได้พบรักกับ ธีระพล แสนสุข (ณัฐวุฒิ สกิดใจ) นักดนตรีเป่าแซกโซโฟนในวง และทำให้ความฝันอยากเป็นนักร้องกลับฝันสลาย เพราะความรักของทั้งคู่เป็นตัวก่อเหตุให้โดนไล่ออกจากวงไวพจน์ ทั้งคู่ยอมอดทน ฝ่าฟันอุปสรรคต่อสู้กับชีวิตที่ต้องดิ้นรนเอาตัวรอดอย่างยากลำบาก จนเมื่อได้พบกับ ครูมนต์ เมืองเหนือ (วิทยา เจตะภัย) ผึ้ง ขอฝากตัวเป็นศิษย์ ครูมนต์ จึงตั้งชื่อใหม่ให้เป็น พุ่มพวง ดวงจันทร์ และปั้นเธอให้เป็นนักร้อง ถึงแม้จะอ่านหนังสือไม่ออก เขียนไม่ได้ เผชิญกับความผิดหวังเสียใจ การพรากจากของคนรัก หรือการเจ็บป่วย สิ่งเหล่านี้ใช่ว่าจะเป็นอุปสรรคทำให้เธอท้อถอยและถอดใจจากความฝัน แต่กลับกลายเป็นความน่าอัศจรรย์ในความเป็นอัจฉริยะของ พุ่มพวง ดวงจันทร์ ที่จดจำเนื้อเพลงได้มากกว่า 500 เพลง และเป็นนักร้องลูกทุ่งอันเป็นที่รักของคนไทยทุกระดับชั้น จนถูกยกย่องให้เป็น "ราชินีลูกทุ่ง" เพียงหนึ่งเดียวตลอดกาล
ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๓ ยุทธนาวี

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๓ ยุทธนาวี (2554/2011) การประกาศเอกราชที่เมืองแครง และสังหารสุระกำมาเหนือยุทธภูมิฝั่งแม่น้ำสะโตงของ “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” (สมเด็จพระนเรศ) ในปีพุทธศักราช 2127 ได้สร้างความตระหนกแก่ “พระเจ้านันทบุเรง” องค์ราชันหงสาวดีพระองค์ใหม่ ด้วยเกรงว่าการแข็งข้อของอยุธยาในครั้งนี้จะเป็นเยี่ยงอย่างให้เหล่าเจ้าประเทศราชที่ขึ้นกับหงสาวดีอาศัยลอกเลียนตั้งตัวกระด้างกระเดื่องตาม แต่จนพระทัยด้วยติดพันศึกอังวะ จึงจำต้องส่งเพียงทัพ “พระยาพะสิม” และ “พระเจ้าเชียงใหม่” เข้าประชิดกรุงศรีอยุธยา ทางหนึ่งนั้นพระเจ้านันทบุเรงทรงประมาทสมเด็จพระนเรศ ด้วยเห็นว่ายังอ่อนพระชันษาคงมิอาจรับมือจอมทัพผู้ชาญณรงค์ทั้งสองได้ ทางหนึ่งก็สำคัญว่ากรุงศรีอยุธยายังบอบช้ำแต่คราวสงครามเสียกรุง ไพร่พลเสบียงกรังยังมิบริบูรณ์คงยากจะรักษาพระนคร ครั้งนั้นพม่ารามัญยกเข้ามาเป็นศึกกระหนาบถึง 2 ทาง ทัพพระยาพะสิมยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์เลยล่วงเข้ามาถึงแดนสุพรรณบุรี ส่วนพระเจ้าเชียงใหม่-นรธาเมงสอมาจากทางเหนือ นำทัพบุกลงมาตั้งค่ายถึงบ้านสระเกศ แขวงเมืองอ่างทอง กิตติศัพท์การชนะศึกของสมเด็จพระนเรศหลายครั้งหลายคราระบือไกลถึงแผ่นดินละแวก “เจ้ากรุงละแวก” มิได้ทอดธุระ ได้ลอบส่งจารชนชาวจีนฝีมือกล้านามว่า “พระยาจีนจันตุ” มาลอบสืบความที่กรุงศรีอยุธยาแต่ถูกจับพิรุธได้จนต้องลอบตีสำเภาหนีกลับกรุงละแวก สมเด็จพระนเรศทรงนำทัพเรือออกตามจนเกิดยุทธนาวี แต่พระยาจีนจันตุหนีรอดได้ เมื่อเจ้ากรุงละแวกได้ทราบกิตติศัพท์การณรงค์ของพระนเรศจึงเปลี่ยนพระทัยหันมาสานไมตรีกับอยุธยา และส่ง “พระศรีสุพรรณราชาธิราช” ผู้อนุชามาช่วยอยุธยาทำศึกหงสา หากแต่พระศรีสุพรรณผู้นี้ต่างจากเจ้ากรุงละแวกเพราะหาใคร่พอใจผูกมิตรด้วยอยุธยา การได้พระศรีสุพรรณฯ มาเป็นสหายศึกจึงประหนึ่งอยุธยาได้มาซึ่งหอกข้างแคร่

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๒ ประกาศอิสรภาพ

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๒ ประกาศอิสรภาพ (2550/2007) พ.ศ. 2114 “สมเด็จพระมหาธรรมราชา” ซึ่งพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยาสืบต่อจากพระมหินทราธิราชได้โปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเป็นอุปราชครองเมืองพิษณุโลก เมื่อพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองสวรรคตในปี พ.ศ. 2124 “พระเจ้านันทบุเรง” ขึ้นเสวยราชย์สืบแทน และสถาปนาพระโอรส “มังสามเกียด” ขึ้นเป็น “พระมหาอุปราชา” รัชทายาท ในการนี้เจ้าเมืองประเทศราชทั้งหลายต้องมาร่วมแสดงความสวามิภักดิ์ รวมถึงพระมหาธรรมราชาและสมเด็จพระนเรศวรด้วย ในขณะที่เจ้าฟ้าเมืองคังไม่ได้เสด็จมาร่วมพระราชพิธีสำคัญครั้งนี้ เป็นเหตุให้พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงทรงมอบหมายให้พระมหาอุปราชา, พระราชนัดดา “นัดจินหน่อง” พระโอรสเจ้าเมืองตองอู, และสมเด็จพระนเรศวรช่วยกันเข้าตีเมืองคัง แต่พระมหาอุปราชากลับสั่งให้สมเด็จพระนเรศวรเข้าตีเป็นทัพสุดท้าย ด้วยความมั่นใจว่าทัพของพระองค์และนัดจินหน่องจะประสบความสำเร็จ แต่ปรากฏว่าสมเด็จพระนเรศวรทรงมีชัยชนะในศึกเมืองคังนี้ สามารถจับตัวเจ้าฟ้าเมืองคังและพระธิดา “เลอขิ่น” กลับมาได้ รัชทายาทหงสาวดีและราชนิกูลฝ่ายพม่าซึ่งเป็นคู่ปรับกันมาตั้งแต่เยาว์วัยจึงขุ่นเคืองอาฆาตสมเด็จพระนเรศวรเป็นทวีคูณ ต่อมาเมื่อเกิดศึกอังวะ พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงให้สมเด็จพระนเรศวรนำทัพมาช่วยรบ แต่พระมหาอุปราชากลับใช้โอกาสนี้วางแผนลอบปลงพระชนม์ ในขณะที่สมเด็จพระนเรศวรทรงยั้งทัพอยู่ ณ เมืองแครง แต่ข่าวการลอบปลงพระชนม์ได้ล่วงรู้ถึงสมเด็จพระนเรศวรผ่านทางพระมหาเถรคันฉ่อง สมเด็จพระนเรศวรจึงถือเหตุการลอบปลงพระชนม์ในการประกาศอิสรภาพตัดสัมพันธไมตรีกับหงสาวดี และกวาดต้อนชาวไทยชาวมอญกลับคืนพระนคร ฝ่ายหงสาวดีเมื่อทราบว่าการลอบปลงพระชนม์ไม่สำเร็จจึงให้นายทัพสุระกำมาเร่งนำทัพออกติดตามทัพของสมเด็จพระนเรศวร ในที่สุดก็ทัพหงสาวดีก็ตามมาถึงในขณะที่สมเด็จพระนเรศวรและไพร่พลกำลังข้ามแม่น้ำ และศึกครั้งนี้สมเด็จพระนเศวรทรงใช้พระแสงปืนต้นยิงข้ามแม่น้ำสะโตงถูกแม่ทัพสุระกำมาตายบนคอช้าง ทัพพม่าจึงล่าถอยกลับไป

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๑ องค์ประกันหงสา

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๑ องค์ประกันหงสา (2550/2007) พุทธศักราช 2106 “พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง” ทรงกรีฑาทัพเข้าตีราชอาณาจักรอยุธยาทางด่านระแหงแขวงเมืองตาก ทัพพม่ารามัญซึ่งมีรี้พลเหลือคณานับได้เข้ายึดครองหัวเมืองฝ่ายเหนือของราชอาณาจักรอยุธยาอันมีเมืองพิษณุโลกเป็นประหนึ่งเมืองราชธานีได้เป็นผลสำเร็จ ครั้งนั้น “สมเด็จพระมหาธรรมราชา” (ฉัตรชัย เปล่งพานิช) พระราชบิดาของ “สมเด็จพระนเรศวร” หรือ “พระองค์ดำ” (ปรัชฌา สนั่นวัฒนานนท์) ซึ่งเป็นเจ้าแผ่นดินครองเมืองพิษณุโลกจำต้องยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าบุเรงนองเพื่อรักษาไว้ซึ่งชีวิตอาณาประชาราษฎร์มิให้ต้องมีภยันตรายและจำต้องยอมร่วมกระบวนทัพพม่าเข้าตีกรุงศรีอยุธยา ศึกครั้งนั้นสมเด็จพระมหา จักรพรรดิเจ้าแผ่นดินอยุธยาทรงยอมเจรจาหย่าศึกกับพม่ารามัญ และยอมถวายช้างเผือก 4 เชือก ทั้งให้สมเด็จพระราเมศวรราชโอรสโดยเสด็จพระเจ้าบุเรงนองไปประทับยังนครหงสาวดีตามพระประสงค์ของกษัตริย์พม่า ข้างสมเด็จพระมหาธรรมราชาซึ่งได้ยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าบุเรงนองก็ได้ถวายสมเด็จพระนเรศวรราชโอรสองค์โตให้ไปเป็นองค์ประกันประทับยังหงสาประเทศเฉกเช่นกัน ครั้งนั้นพระองค์ทรงมีพระชนมายุได้เพียง 9 ชันษา สมเด็จพระนเรศวรทรงเป็นที่รักใคร่ของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองประดุจพระราชบุตรร่วมสายสันตติวงศ์ ด้วยองค์ยุพราชอยุธยาทรงมีพระปรีชาสามารถด้านพิชัยยุทธ ทั้งยังองอาจกล้าหาญสบพระทัยกษัตริย์พม่าซึ่งก็ทรงเป็นนักการทหาร นิยมผู้มีคุณสมบัติเป็นนักรบเยี่ยงพระองค์ พระเจ้าบุเรงนองทรงมีสายพระเนตรยาวไกล แลเห็นว่าสืบไปเบื้องหน้าสมเด็จพระนเรศวรจะได้ขึ้นเป็นใหญ่ในอุษาคเนย์ประเทศ จึงทรงคิดใคร่ปลูกฝังให้สมเด็จพระนเรศวรผูกพระทัยรักแผ่นดินหงสา เพื่อจะได้อาศัยพระองค์เป็นผู้สืบอำนาจอุปถัมภ์ค้ำชูราชอาณาจักรซึ่งพระองค์ทรงสถาปนาขึ้นด้วยความยากลำบาก เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าพระเจ้าบุเรงนองนั้นหาได้วางพระทัยในพระราชโอรสคือ “มังเอิน – พระเจ้านันทบุเรง” (จักรกฤษณ์ อำมะรัตน์) และพระราชนัดดา “มังสามเกียด” (โชติ บัวสุวรรณ) นัก ถึงแม้ทั้งสองพระองค์จะทรงเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขโดยตรง ด้วยทรงเล็งเห็นว่าราชนิกุลทั้งสองพระองค์นั้นหาได้เป็นผู้ทรงคุณธรรมอันจะน้อมนำเป็นพื้นฐานให้เติบใหญ่เป็นบูรพกษัตริย์ ปกป้องครองแผ่นดินที่พระองค์ทรงสร้างและทำนุบำรุงมาด้วยกำลังสติปัญญาและความรักใคร่หวงแหน เหตุทั้งนี้เป็นชนวนให้พระเจ้านันทบุเรงและราชโอรสมังสามเกียดขัดพระทัย ทั้งผูกจิตริษยาสมเด็จพระนเรศวรซึ่งเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองกว่าราชนิกุลข้างพม่าทั้งหลายทั้งสิ้น พระเจ้าบุเรงนองทรงโปรดให้ “พระมหาเถรคันฉ่อง” (สรพงษ์ ชาตรี) พระรามัญผู้มากด้วยวิทยาคุณและเจนจบในตำราพิชัยสงครามเป็นพระอาจารย์ถ่ายทอดศิลปะวิทยาการแก่สมเด็จพระนเรศวร นับแต่เริ่มเข้าประทับในหงสานครยังผลให้ยุพราชอยุธยาเชี่ยวชาญการยุทธ กลช้าง กลม้า กลศึก ทั้งข้างอยุธยาและข้างพม่ารามัญหาผู้เสมอเหมือนมิได้ ข้อได้เปรียบตามกล่าวเป็นเสมือนทุนทางปัญญาอันส่งผลให้สมเด็จพระนเรศวรสามารถกอบกู้เอกราช แก้ทางศึกจนมีชัยเหนือพม่ารามัญในภายภาคหน้า พุทธศักราช 2112 ปรากฏข่าวระบือไปถึงหงสาวดีว่าหัวเมืองพิษณุโลกฝ่ายเหนือแลกรุงศรีอยุธยาราชธานีฝ่ายใต้ของราชอาณาจักรสยามครั้งนั้นเกิดขัดแย้งปีนเกลียวกัน เหตุเนื่องมาจาก “สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ” (ศรัณยู วงศ์กระจ่าง) เจ้าแผ่นดินอยุธยาเสด็จออกผนวช แลสถาปนา “สมเด็จพระมหินทร์” (สันติสุข พรหมศิริ) ราชโอรสองค์รองขึ้นเสวยราชสมบัติสืบแทน สมเด็จพระมหินทร์ทรงคลางแคลงพระทัยในความจงรักภักดีของสมเด็จพระมหาธรรมราชาแต่ครั้งสงครามชิงช้างเผือกในปีพุทธศักราช 2106 ขณะที่เจ้าแผ่นดินพิษณุโลกก็หาได้ยำเกรงสมเด็จพระมหินทร์เช่นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เมื่อเห็นการใดมิควรก็บังคับบัญชาให้สมเด็จพระมหินทร์ปฏิบัติตามพระประสงค์จนเป็นที่ขุ่นเคืองพระราชหฤทัยกษัตริย์อยุธยาพระองค์ใหม่ถึงกับหันไปสมคบกับ “สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช” (รอน บรรจงสร้าง) พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาวร่วมกันแต่งกลเข้าตีเมืองพิษณุโลก แต่กระทำการมิสำเร็จพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองเห็นเชิงสบโอกาสก็ยกทัพใหญ่เข้าตีกรุงศรีอยุธยาอีกคำรบ ครั้งนั้นสมเด็จพระนเรศวรร่วมโดยเสด็จมากับทัพหงสาแต่หาได้ตามพระเจ้าบุเรงนองลงมาล้อมกรุงศรีอยุธยา ทรงประทับอยู่เพียงเมืองพิษณุโลก มีเพียงสมเด็จพระมหาธรรมราชาโดยเสด็จกษัตริย์หงสาลงมาล้อมกรุงด้วยตั้งพระทัยจะเกลี้ยกล่อมให้สมเด็จพระมหินทร์ยอมสวามิภักดิ์พระเจ้าบุเรงนอง เพราะเล็งเห็นว่าอยุธยายากจะต่อรบเอาชัยทัพพม่ารามัญซึ่งมีกำลังไพร่พลเหนือกว่าได้ หากขัดขืนต่อรบจะได้ยากแก่สมณชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎร์ ศึกครั้งนั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงลาผนวชมาบัญชาการรบด้วยพระองค์เอง แต่อยู่ได้มิช้านานก็เสด็จสวรรคตเสียระหว่างศึกพุทธศักราช 2112 มะเส็งศก วันอาทิตย์ เดือน 9 แรม 11 ค่ำ กรุงศรีอยุธยาก็เสียแก่พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ข้างสมเด็จพระนเรศวรซึ่งประทับอยู่ยั้งยังนครพิษณุโลกแต่ต้นศึก หาได้ทรงเห็นงามหรือคิดครั่นคร้ามอ่อนน้อมต่อหงสา ถึงจะทรงรู้ซึ้งว่าสมเด็จพระมหาธรรมราชาพระราชบิดามิได้คิดคดเป็นกบฏต่อแผ่นดิน แต่ก็หาได้เห็นด้วยกับการอ่อนข้อสวามิภักดิ์พม่ารามัญ น้ำพระทัยอันมั่นคงเด็ดเดี่ยวนั้น ถึงแม้จะมิได้แพร่งพรายถึงพระกรรณพระเจ้าบุเรงนอง แต่ก็ประจักษ์อยู่ในหมู่ข้าราชบริพารใกล้ชิดผู้รักและหวงแหนในเอกราชของแผ่นดินจึงพากันนิยมในน้ำพระทัย แลพร้อมใจถวายความจงรักภักดีแต่นั้นมา ครั้นเสร็จศึกอยุธยาพุทธศักราช 2112 สมเด็จพระมหาธรรมราชาทรงถวาย “พระสุพรรณกัลยา” (เกรซ มหาดำรงค์กุล) พระพี่นางสมเด็จพระนเรศวรแก่พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง แลขอตัวสมเด็จพระนเรศวรไว้ช่วยราชการข้างอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรจึงประทับยั้งอยู่ยังเมืองพิษณุโลก สืบต่อมาครั้นลุปีพุทธศักราช 2114 สมเด็จพระมหาธรรมราชา ซึ่งพระเจ้าบุเรงนองสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยาสืบต่อจากสมเด็จพระมหินทร์ก็โปรดให้สมเด็จพระนเรศวรเสวยราชย์ครองเมืองพิษณุโลกเป็นใหญ่เหนือหัวเมืองเหนือทั้งปวง เหตุการณ์ข้างพม่า หลังจากพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองสิ้นพระชนม์ในปีพุทธศักราช 2124 พระเจ้านันทบุเรงได้ขึ้นเสวยราชสืบต่อและได้สถาปนามังสามเกียดขึ้นเป็นรัชทายาทครองตำแหน่งมหาอุปราชาแห่งราชอาณาจักรหงสาวดี เมื่อแผ่นดินหงสามีอันต้องผลัดมือมาอยู่ในปกครองของพระเจ้านันทบุเรง สัมพันธไมตรีระหว่างอยุธยาและหงสาวดีก็เริ่มสั่นคลอน ด้วยพระเจ้าหงสาวดีพระองค์ใหม่มิได้วางพระทัยในสมเด็จพระนเรศวร และสมเด็จพระนเรศวรเองก็หาได้เคารพยำเกรงในบุญบารมีของพระเจ้าแผ่นดินพม่ารามัญเช่นกาลก่อน มิเพียงเท่านั้นสมเด็จพระนเรศวรยังได้ทรงแสดงพระปรีชาสามารถให้เป็นที่ปรากฏครั่นคร้าม ดังคราวนำกำลังทำยุทธนาวีกับพระยาจีนจันตุและศึกเมืองคังเป็นอาทิ พระเจ้านันทบุเรงทรงเกรงว่าสืบไปเบื้องหน้าสมเด็จพระนเรศวรจะเป็นภัยต่อพระราชวงศ์แลแผ่นดินหงสา จึงหาเหตุวางกลศึกหมายจะปลงพระชนม์สมเด็จพระนเรศวรเสียที่เมืองแครง แต่พระมหาเถรคันฉ่องพระราชครูลอบนำแผนประทุษร้ายนั้นมาแจ้งให้ศิษย์รักได้รู้ความ สมเด็จพระนเรศวรจึงถือเป็นเหตุประกาศเอกราช ตัดสัมพันธไมตรีกับหงสาวดี แลกวาดต้อนครัวมอญไทยข้ามแม่น้ำสะโตงกลับคืนพระนคร ซึ่งเป็นชนวนให้พระเจ้านันทบุเรงเปิดมหายุทธสงครามสั่งทัพเข้ารุกรานราชอาณาจักรอยุธยาสืบแต่นั้นมา

The King Maker กบฏ ท้าวศรีสุดาจัน (2548/2005) “เฟอร์นานโด เดอ กัมมา” (แกรี สเตร็ช) ทหารรับจ้างหนุ่มจากประเทศโปรตุเกส ออกเดินทางมายังดินแดนในซีกโลกตะวันออกใน ค.ศ 1547 เพื่อแสวงหาความร่ำรวยเฉกเช่นเดียวกับเพื่อนร่วมชาติอีกหลายคนไปพร้อมกับการติดตามร่องรอยของบุคคลในอดีตที่เคยสังหารพ่อของเขาต่อหน้าต่อตาในขณะที่เขามีอายุเพียง 8 ขวบ ภาพความทรงจำดังกล่าวเป็นที่ติดตาและฝังใจแก่เขาเสมอมา แต่ในระหว่างการเดินเรือเขาพร้อมกับพวกพ้องกลับต้องเผชิญกับเคราะห์ร้ายเมื่อพายุทะเลคลั่งโหมซัดจนทำให้เรือจมลงใต้พื้นมหาสมุทรอินเดียอันกว้างใหญ่ เหลือเพียงเขาคนเดียวที่รอดชีวิตมาได้จากเหตุการณ์ครั้งนั้น แต่กลับกลายเป็นว่าเขาถูกพ่อค้าทาสชาวอาหรับจับตัวไปยังดินแดนอยุธยาเพื่อขายเป็นทาส กรุงศรีอยุธยาเมื่อราว 458 ปีที่แล้วกล่าวได้ว่าเป็นดินแดนแห่งการค้าขายที่เหล่าอาณาประเทศและผู้คนหลากหลายเชื้อชาติต่างหลั่งไหล่เข้ามา ไม่ว่าจะเป็นชาวตะวันตกไปจนถึงตะวันออกที่ใกล้เคียง แต่ใช่ว่าโชคชะตาของเฟอร์นานโดจะอับโชตเสียทีเดียว เมื่อเขาได้รับการไถ่ตัวให้มีอิสรภาพจาก “มาเรีย” (สิรินยา เบอร์บริดจ์) หญิงสาวชาวโปรตุเกสผู้มีจิตใจงดงามที่เดินทางติดตาม “ฟิลลิปป์” (จอห์น รีส-เดวีส์) บิดาผู้ที่ทำหน้าที่ควบคุมการก่อสร้างกำแพงเมืองให้กับ “พระชัยราชา” (นิรุตติ์ ศิริจรรยา) กษัตริยแห่งอยุธยา ต่อมาเมื่อกษัตริย์แห่งลานนาคิดแข็งข้อต่ออยุธยาโดยการส่งศีรษะของผู้ส่งสารมาให้ พระชัยราชาทรงกริ้วเป็นอย่างยิ่งจึงตัดสินใจยกทัพเข้าสู่ศึกสงครามพร้อมกับ “พระมหาจักรพรรดิ” (โอลิเวอร์ พูพาร์ท) พระเชษฐาของพระชัยราชา ส่งผลให้เหล่าพันธมิตรของอยุธยา ไม่ว่าจะเป็นชุมชนโปรตุเกส, ญี่ปุ่นต่างเข้าร่วมทำศึกในครั้งนี้ เฟอร์นานโดเองก็เข้าร่วมรบในฐานะทหารที่มีประสบการณ์ จึงไม่น่าแปลกใจที่ความห้าวหาญในฐานะนักรบของเขาจะสร้างความพึงพอพระทัยแก่องค์กษัตริย์จนพระองค์แต่งตั้งเขาให้เป็นหนึ่งในราชองครักษ์พร้อมกันกับเพื่อนใหม่ชาวไทยผู้อาจหาญนาม “ทอง” (ดอม เหตระกูล) ที่เขาได้มีโอกาสช่วยชีวิตไว้ในสมรภูมิรบ ขณะเดียวกัน “มเหสีสุดาจัน” (ยศวดี หัสดีวิจิตร) ผู้เลอโฉมแต่ร้ายกาจได้วางแผนลอบปลงพระชนม์พระชัยราชาและ “พระยอดฟ้า” (ชาลี ไตรรัตน์) พระโอรสที่เกิดกับตนขึ้น เพื่อที่จะจะปูทางให้ “พันบุตรศรีเทพ” (อัครา อมาตยกุล) ชู้รักของนางขึ้นครองราชย์ โดยมีมือสังหารจากต่างชาติร่วมมือในแผนการร้าย นายทองและเฟอร์นานโดราชองครักษ์ปกป้องกษัตริย์ชนิดถวายหัว และพยายามสืบหาผู้อยู่เบื้องหลังแผนการร้ายในครั้งนี้ ก่อนที่จะพบว่ามีเงื่อนงำบางอย่างเชื่อมโยงมายังฟิลลิปป์พ่อของมาเรีย แต่แล้วโดยที่ไม่มีใครคาดคิด ทั้งสองพบว่าพระมเหสีมีส่วนสำคัญในแผนการครั้งนี้ แต่ก็สายเกินกว่าจะช่วยพระมหากษัตริย์ให้รอดพ้นจากการถูกพระมเหสีวางยาได้ เช่นเดียวกันกับที่พระโอรสซึ่งถูกเหล่าองครักษ์ผู้ของมเหสีปลงพระชนม์ เมื่อกษัตริย์ทรงสวรรคต เฟอร์นานโดกับทองกลายเป็นผู้ถูกกล่าวโทษว่าเป็นผู้เกี่ยวข้อง โดยมาเรียและครอบครัวของทองเองก็ถูกทหารจับตัวไป เหตุการณ์จะเป็นอย่างไรต่อไป เตรียมพบกับอีกหนึ่งมุมมองของเรื่องราวจากประวัติศาสตร์ที่ถูกนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องยิ่งใหญ่ระดับฮอลลีวูด “กบฏท้าวศรีสุดาจัน” 20 ต.ค.นี้ ในโรงภาพยนตร์
มหา’ลัยเหมืองแร่ (2548/2005) ปี พ.ศ. 2492 โชคชะตาของเด็กหนุ่มคนหนึ่ง ได้นำพาให้เขาต้องเดินทางข้ามฟาก จากโลกศิวิไลซ์ในเมืองหลวง ไปสู่อีกโลกหนึ่งอันไกลแสนไกล อาจินต์ ปัญจพรรค์ ในวัย 22 ปี คือเด็กหนุ่มคนนั้น เขาถูกรีไทร์จากคณะวิศวะฯ ปี 2 ...นั่นเองเป็นจุดสิ้นสุด ของความเป็นนิสิตมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย แต่ในขณะเดียวกัน มันคือจุดเริ่มต้นของการเดินทางไปสู่การเรียนรู้ชีวิตจริง ที่ไม่สามารถเรียนรู้จากตำราเล่มไหน มันไม่ได้มีวางขายทั่วไปและหาซื้อได้ด้วยเงิน มันต้องแลกด้วยเวลาและหัวใจ ...สู้ - ท้อแท้, สนุก - เศร้า, พบ - จาก... อาจินต์ในเวลานั้น ขณะที่เขานั่งอยู่บนรถขนหมูที่วิ่งจากภูเก็ตไปพังงา ยังไม่รู้เลยว่าอนาคตจะเป็นเช่นไร ไม่รู้จักกระทั่งสถานที่ที่เขากำลังจะไป สำหรับเขา จ.พังงา อ.ตะกั่วทุ่ง ต.กระโสม เคยเป็นเพียงสถานที่อันไม่มีความสำคัญใดใด แม้เพียงจะจุดลงบนแผนที่ แต่ในวันนี้ มันกำลังจะกลายเป็นสถานดัดสันดาน ที่ถูกพ่อส่งให้ไปอยู่ อาจินต์มาถึงเหมืองกระโสม ที่นี่เขาได้พบและสัมภาษณ์งานกับ นายฝรั่ง (แอนโทนี โฮวาร์ด กูลด์) และนายฝรั่งก็รับเขาเข้าทำงาน ในตำแหน่งที่นายฝรั่งเรียกว่าเป็น 'สมุดพก' ให้กับแก นั่นหมายถึงการฝึกงาน การติดตามนายฝรั่ง และทำงานแทนคนงานที่ขาดงาน อาจินต์ภูมิใจกับงานที่ได้รับ และที่นี่ - วันนี้ - ชีวิตปี 1 ใน มหา'ลัย เหมืองแร่ ได้เริ่มขึ้นแล้ว... เขาจะทำอย่างไรจึงจะเป็นน้องใหม่ที่ดีของที่นี่ได้ เขาจะทำอย่างไรจึงผ่านชีวิตในสถาบันแห่งนี้ได้ เหมืองกระโสม ทิน เดรดยิง อาจจะเป็นเพียงมหา'ลัยที่เขาได้ความภูมิใจแทนปริญญา หาได้มีไว้เพื่อความโก้หรือโอ้อวดกับใครไม่ ผิดไหมที่เขาจะภูมิใจกับเกียรติยศ ..ที่เขาขุดมันขึ้นมาด้วยตนเอง
14 ตุลา สงครามประชาชน (2544/2001) เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งเกิดจากพลังแรงกล้า ของการใฝ่หาเสรีภาพ โดยการนำของนิสิตนักศึกษา ได้สร้างภาพยิ่งใหญ่ตราไว้ในประวัติศาสตร์ของชาติ ตั้งแต่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงตลอดแนวถนนราชดำเนิน จากผู้คนเรือนล้านที่ออกจากบ้านและสถานศึกษา มาด้วยวิญญาณประชาธิปไตย ถึงร่างเปื้อนเลือด ซึ่งนอนทอดนิ่งอยู่ภายใต้ธงไตรรงค์ ท่ามกลางควันปืน และเสียงร่ำไห้ของเพื่อนพ้องผู้ใกล้ชิด ขณะประชาธิปไตยเริ่มผลิบานอีกครั้งหนึ่ง เสกสรรค์ ประเสริฐกุล (ภาณุ สุวรรณโณ) หนึ่งในผู้นำนักศึกษา ซึ่งยืนหยัดเป็นศูนย์กลางของฝูงชน ตลอดวันคืนอันยาวนานของเดือนตุลาฯ กลับพบว่าสภาพรอบตัวของเขา เริ่มเปลี่ยนแปลงไปอย่างน่ากลัว อันตราย และเต็มไปด้วยความขัดแย้งคุกคาม หลังจากเพื่อนพ้องคนรู้จักโดนลอบสังหารต่อเนื่อง เขาตัดสินใจชวน จิระนันท์ พิตรปรีชา (พิมพ์พรรณ จันทะ) คนรักซึ่งเป็นดาวจุฬาฯ หันหลังให้กับกิจกรรมความงาม มาเข้าร่วมอยู่ในขบวนการเรียกร้องความเป็นธรรม พากันหนีเข้าป่าไปร่วมกับ พคท. ซึ่งก็เหมือนเพื่อนพ้องนักศึกษารุ่นพี่รุ่นน้องจำนวนมาก ทั้งเดินทางเข้าไปก่อนหน้า และติดตามไปภายหลัง ทั้งสองใช้ชีวิตอย่างอยากลำเค็ญ ท่ามกลางป่าเขาบนภูร่องกล้า เฝ้าฝันว่าสักวันจะได้กลับเมือง พร้อมชัยชนะตามอุดมการณ์ที่ตั้งหวัง แต่แล้วเขากับจีระนันท์ก็เริ่มพบว่า สภาพแบบที่ทำให้เข้าต้องหนีออกจากเมือง ได้ย้อนกลับมาเป็นปัญหาให้ต้องเผชิญอีกครั้งในป่า

หน้าที่