บุษบา THE SECRET WEAPON (2564/2021) จอย (มุก-พิชานา) อดีตทหารหญิง ลูกสาวของนาวิกโยธิน แผ่นดิน (พันเอกพิเศษ วันชนะ สวัสดี) ที่ถูกลอบสังหารขณะปฏิบัติภารกิจ เธอได้รับการทาบทามจาก นักรบ (ตั๊ก-นภัสรัญชน์) เพื่อนสนิทของแผ่นดิน ให้เข้าร่วม "โปรเจกต์บุษบา" โครงการฝึกสาวแกร่งให้เป็นมือสังหารรับใช้ชาติ เธอตัดสินใจเข้าร่วมโครงการและผ่านบททดสอบ กลายเป็นมือสังหารภายใต้รหัส "บุษบา 029" และในขณะทำภารกิจ เธอได้พบสิ่งที่น่าสงสัยเกี่ยวกับพ่อและโปรเจกต์บุษบา
มหาอุตม์ (2546/2003) มีหลายเหตุผลที่ทำให้ “มหาอุตม์” เป็นภาพยนตร์ไทยหวังสร้างปรากฏการณ์ใหม่ประจำปี 2546 ที่ไม่ควรพลาด ตั้งแต่การกลับมาร่วมงานกันเป็นครั้งที่ 3 ระหว่าง “สหมงคลฟิล์ม” กับ “อ๊อกไซด์ แปง” หลังจากความสำเร็จมหาศาลของ “คนเห็นผี” (The Eye) เมื่อปีกลาย ภายใต้มุมมองและการนำเสนอในรูปแบบภาพยนตร์แอคชั่นรูปแบบใหม่ โดยผสมผสานระหว่างพิธีกรรม ความเชื่อในเรื่องราวเหนือธรรมชาติ ความเป็นอมตะอยู่ยงคงกระพัน หนังเหนียวฟันแทงไม่เข้า จากการการสักยันตุ์มหาอุตม์ของคนไทยกับจินตนาการในส่วนวิชวลเอฟเฟกต์ทางด้านภาพที่น่าจับตามองมากที่สุดเพื่อเนรมิตฤทธานุภาพ อิทธิฤทธิ์ พลังอำนาจที่เกิดจากยันต์มหาอุตม์ โดยเฉพาะการอุด หยุดลูกกระสุนปืน ยิงไม่เข้า รวมไปถึงฉากแอคชั่นซีนที่โชว์โปรดักชั่นอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะฉากการเผชิญหน้าและการต่อสู้ระหว่างผู้มีพลังมหาอุตม์ และฉากไคลแมกซ์ของภาพยนตร์ ประเด็นที่ภาพยนตร์เรื่อง “มหาอุตม์” ต้องการนำเสนอคือใช่ว่าคนทุกคนที่ผ่านการสักยันต์มหาอุตม์จะได้สัมผัสและรู้ซึ้งถึงพลานุภาพของสิ่งที่เป็นคุณอนันต์หรือโทษมหันต์เหมือนกันทุกคน พลังทุกอย่างในโลกล้วนอุบัติและมีวันดับสูญ หากไม่รู้จักรักษาคุณความดีที่เป็นบ่อเกิดแห่งขุมพลังนั้น ในช่วงปลายทศวรรษที่ 70 “จ่าทองคำ” และ “จ่าขจร” สองเพื่อนรักที่ต่างเคยร่วมสักยันต์มหาอุตม์มาด้วยกันออกปฏิบัติภารกิจลับในชายแดนกับข้าศึกในฐานะทหารรับจ้าง กลับต้องพบกับความสูญเสียครั้งสำคัญเมื่อหน่วยรบของตนถูกข้าศึกทำลายล้างจนสูญสิ้น ในขณะที่กำลังรอความตายโดยไร้ซึ่งกองหนุนจากกองทัพ ทั้งคู่กลับพบว่าพลังมหาอุตม์อยู่ยงคงกระพันชาตรีได้ช่วยพลิกสถานการณ์ให้กลายเป็นโอกาส แต่โดยที่ไม่มีใครคาดคิด พลังที่ไร้ขอบเขตกลับทำให้ทั้งคู่ต้องพบกับความเป็นจริงที่เศร้าสลด อดีตวีรบุรุษของชาติอย่าง “ขจร” (นิรุตติ์ ศิริจรรยา) หายสาบสูญไปในระหว่างสงครามจากความผิดพลาดบางอย่างที่เกิดขึ้น ส่วน “ทองคำ” (ธีรยุทธ ปรัชญาบำรุง – ขุนแผน, บางระจัน) หรือจ่าทองคำในอดีตเผชิญกับบาดแผลที่ติดค้างอยู่ในหัวใจจนต้องหันไปพึ่งใบบุญของพระธรรม ตัดสินใจบวชตลอดชีวิตเป็นหลวงพ่อทองคำเพื่อเป็นการไถ่บาป พร้อมชุบเลี้ยงเด็กน้อยที่รอดชีวิตจากการเข่นฆ่าในสมรภูมิโดยตั้งชื่อให้ว่า “เจตน์” (ชาติชาย งามสรรพ์) จนเติบใหญ่โดยมี “ชัย” (ชิน ตั้งสกุลสถาพร) เด็กขี้กลัวซึ่งเป็นลูกไล่ของเด็กเกเรอย่าง “ไอ้ดำ” และ “ไอ้เคน” (กัมปนาท แย้มวิมล) เป็นเพื่อนสนิทและน้องชายเพียงคนเดียว เจตน์เรียนรู้และสัมผัสกับแง่มุมของความตายมาตั้งแต่เยาว์วัย แท้จริงแล้วด้วยเด็กน้อยถึงต้องชะตาฆาต แต่ยังคงยืนหยัดมีชีวิตอยู่ได้เพราะได้หลวงพ่อที่คอยต่ออายุขัย เปิดโลกทางธรรม และถ่ายทอดพลังมหาอุตม์เพื่อปกปักรักษาคุ้มกันภัยให้โดยการสักยันต์ แต่เด็กน้อยก็ต้องเรียนรู้ศึกษาเคล็ดวิชาความดี ประพฤติตัวภายใต้เงื่อนไขและกฎข้อห้ามของการฝึกฝนพลังมหาอุตม์ โดยไม่เคยได้รู้ถึงพลังอำนาจแห่งมหาอุตม์อย่างแท้จริง จนกระทั่งเมื่อเริ่มเติบโตขึ้นเป็นหนุ่ม ในระหว่างตรวจดูความเรียบร้อยในสนามยิงปืนที่ตนเองทำงานอยู่ เขาได้พบกับ “มล” (อัญชสา ตั้งมงคลกุล) โปรแกรมเมอร์สาวปากดีที่ไม่กลัวเกรงใครทำปืนลั่นเข้าใส่เจตน์อย่างจัง ดีที่พลังมหาอุตม์คุ้มกันไว้ แต่เมื่อชะตาถูกลิขิตไว้แล้ว ย่อมเป็นการยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ ชัยถูกไอ้เคนและไอ้ดำลากเข้าไปในวังวนของยาเสพติดโดยมี “เมธา” (สุเมธ องอาจ) เพลย์บอยนักธุรกิจหนุ่มที่หน้าฉากเป็นเจ้าของกิจการที่ถูกกฎหมาย แต่แท้จริงแล้วเบื้องหลังเป็นผู้ก่อการร้ายสำคัญที่ทางการซึ่งนำโดย “ผู้กองมณฑล” (พิเศก อินทรครรชิต) กำลังหมายหัวและเป็นที่ต้องการตัว และนี่เองที่ทำให้เจตน์เรียนรู้สัจธรรมข้อหนึ่งที่ว่าทุกสรรพสิ่งในโลกล้วนมีวันดับสูญ เมื่อมหาอุตม์ไม่สามารถป้องกันภัยได้อย่างที่เคย ลูกกระสุนปืนแล่นเข้าสู่ร่างของเจตน์อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในขณะที่หลวงพ่อทองคำต้องพบกับฝันร้ายในอดีตอย่างขจรที่ตามมาหลอกหลอนอีกครั้งด้วยอวิชชาแห่งพลังอำนาจที่ประหลาดพิสดารไปมากกว่ายันต์มหาอุตม์ที่คุ้นเคย ดูเหมือนว่าทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มเลวร้ายลงทุกที ความหวาดหวั่นที่หลวงพ่อทองคำเคยคาดการณ์กำลังจะเกิดขึ้น ท่ามกลางวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นกลับเกิดเหตุการณ์ที่ร้ายแรงที่สุดเมื่อหลวงพ่อเสียชีวิตจากน้ำมือของขจรเพราะต้องการพิสูจน์ว่า มหาอุตม์ยังคงแกร่งกล้าอย่างที่เคยเป็นหรือไม่ ระหว่างอวิชชากับมหาอุตม์สิ่งใดที่แข็งแกร่งที่สุด และนี่คือจุดเริ่มต้นของ “มหาอุตม์” ศาสตร์วิชาที่มาพร้อมกับความแกร่งกล้าแห่งจิตใต้สำนึกของความดีงามที่พร้อมพลิกทุกชีวิต ตอกย้ำทุกชะตากรรม สิ่งที่เจตน์จะต้องเผชิญไม่ได้เป็นเพียงเคล็ดวิชาที่ทวีคูณพละกำลังเหนืออนันต์อย่างการอาบน้ำว่าน 108 หรือเพิ่มห้วงจิตแห่งพลังศรัทธาเท่านั้น แต่ยังเป็นบททดสอบจิตวิญญาณของสามัญสำนึกแห่งความเป็นคน
สะแด่วแห้ว (2535/1992) ที่โรงเรียนราษฎร์แห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นโรงเรียนประเภทสหศึกษา เด็กนักเรียนชายชั้น ม. 6 ที่อาจารย์พากันปวดหัวและเบือนหน้าหนีในพฤติกรรมอันพิลึกพิเรน ก็คือ กลุ่มของแห้ว สมาชิกในกลุ่มของแห้ว (มอส ปฏิภาณ) เป็นชายหนุ่มล้วน ๆ ที่มีบุคลิกลักษณะแตกต่างกันออกไป อย่างไม่น่าเชื่อว่าจะร่วมหัวจมท้ายกันได้ ถ้ามิใช่พรหมลิขิต
ค้างคาวทอง (2527/1984) ข้อความบนใบปิด ซุปเปอร์สตาร์โปรดักชั่น เสนอ ความแปลกที่แหวกตลาดปี 27 เทคนิคล้ำยุคไม่แพ้ “สตาร์วอร์ส” ค้างคาวทอง ของ เครือวัลย์ นำโดย ธนิต พงษ์มนูญ โอมาร์ ลาวัลย์ (นางเอกลูกครึ่ง) วัลลภ นพสมบูรณ์, สมศักดิ์ ชัยสงคราม, น้อย โพธิ์งาม, ขวัญใจ สรัญญา, ยง, ชีวิต, บรรพต, สงัด และสาวใจถึง ’27 รพีพรรณ จันทรา โชคชัย มลิวัลย์ อำนวยการสร้าง สราวุฒิ วุฒิชัย ถ่ายภาพ ยศ รังสี กำกับบท พันธุ์ 75-วิชัยโฟร์อาร์ต กำกับศิลป์ วิวัฒน์ เติมอุดมชัย อุปการะ “น้ำมนต์” กำกับการแสดง โชคชัยฟิล์ม จัดจำหน่าย (ที่มา :Thai Movie Posters)
ลมกรด (2509)
ลมกรด (2509/1966) ข้อความบนใบปิด โดมฤดีโปรดัคชั่น เสนอยอดดาราคู่ขวัญตุ๊กตาทองพระราชทาน 2508 ที่แสดงสุดฝีมือเป็นประเดิม สมบัติ เมทะนี เนาวรัตน์ วัชรา ในภาพยนตร์ประเภทอาชญนิยาย ลึกลับ ตื่นเต้น โลดโผน... ลมกรด ของ อรวรรณ ร่วมด้วย ประจวบ ฤกษ์ยามดี, เอื้อมเดือน อัษฎา, จุรีรัตน์, แก่นใจ มีนะกนิษฐ์, อาคม มกรานนท์, สุคนธ์ คิ้วเหลี่ยม, ปราณีต คุ้มเดช, สิงห์ มิลินทราศัย, สุเทพ เหมือนประสิทธิเวช, ถวัลย์ คีรีวัต, ชนินทร์, ทานทัต วิภาตะโยธิน, ทวนทอง ในเดือนร้าว “เนาวรัตน์ วัชรา” สวมบทบาทสาวสวยลูกกำพร้าทั้งแม่และความรัก... ในลมกรด เนาวรัตน์ วัชรา สวมบทบาทสาวแก่นแก้ว ผู้ว่องไวปานลมกรด โดม แดนไทย อำนวยการสร้าง วิน วันชัย กำกับการแสดง ส.อาสนจินดาภาพยนตร์ จัดจำหน่าย
ฟูแมนจู (2503)

ฟูแมนจู (2503/1960) อดุลย์-เกศริน-แมน ข้อความบนใบปิด ยูเนียนฟิล์ม ศุภอัฐ ชวะโนทัย ผู้สร้าง เหนือมนุษย์ ภูมิใจเสนอ ฟูแมนจู จากบทประพันธ์ และการกำกับ ของ ส.อาสนจินดา นำแสดงโดย ดาราที่ผ่านการคัดเลือก ให้เหมาะสมบทบาทที่สุด เกศริน ปัทมวรรณ อดุลย์ ดุลยรัตน์ แมน ธีระพล พงษ์ลดา พิมลพรรณ,อาคม มกรานนท์, ทัต เอกทัต, สุเทพ เหมือนประสิทธิเวช, ศรินทิพย์ ศิริวรรณ, ประสาสน์ คุณะดิลก, ประภาศรี สาธรกิจ, รจิต ภิญโญวนิช, ไศล พูนชัย, เทียนชัย สุนทรการันต์, วีระพล ชัยวรรณ, เปิ่น ปาฏิหาริย์, ชั้น พวงวัน, สุคนธ์ คิ้วเหลี่ยม ขอเสนอ มาริลิน มอนโรไต้หวัน คู่แข่งดาราแจกันทองของฮ่องกง มิสมู่หง ต้อนรับตรุษจีนที่เอ็มไพร์ และพัฒนากร เริ่มฉายวันที่ 26 มกราคม 2503 (ที่มา :Thai Movie Posters)

เลือดแค้น 2471

เรื่องย่อ : เลือดแค้น (2471/1928) เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรก ที่มีความลึกลับ เกี่ยวกับการผจญภัยและการต่อสู้ในเชิงหมัดมวยอย่างน่าตื่นเต้น ถ้าว่าถึงตลกคะนอง ก็เป็นตลกที่ไม่ได้แกล้งให้ตลก เป็นตลกที่อาศัยเกิดจากลักษณะเดิมของตัวผู้แสดงเอง มีตาเชยเตี้ยเป็นต้น ลักษณะของตาเชย ผู้ดูโดยมากที่ไปเที่ยวตำบลบางลำพู คงจะได้เคยเห็น แกเดินชมอากาศอยู่ตามแถวนั้นบ่อยๆ หรือมิฉะนั้นก็แถวหน้าโรงปีนัง ผู้ทำเรื่อง เลือดแค้น ได้ใช้ความระวังหลายประการที่จะไม่ให้เลือดแค้นกลายเป็นเลือดไม่แค้นหรือเลือดจืด มีเหตุผลกินกลืนกันสมเรื่อง ตลอดจนภูมิฐานฐานะของบุคคลและการแต่งตัว ที่จัดให้เหมาะแก่ลักษณะ เหมาะแก่เวลาที่ควรไม่ควร ถ้าจะกล่าวแล้วเรื่อง เลือดแค้น ถึงจะมีข้อที่น่าติอยู่บ้าง แต่ก็เชื่อว่าน้อยที่สุด ท้องเรื่อง เลือดแค้น แสดงถึงน้ำใจของน้องเมียนายทองใบ ที่พยายามแก้แค้นแทนพี่สาวอันเนื่องจากนายทองใบทิ้งพี่สาวและทำทารุณโหดร้ายเมื่อ 20 ปีก่อน จึงตามมาแก้แค้นโดยปลอมตัวเป็นคนลึกลับ ท่านจะได้เห็นการต่อสู้กันบนเรือใบกลางทะเล การต่อสู้ในบ้าน และการต่อสู้ชิงนางกลางทุ่ง การต่อสู้นี้ล้วนไปด้วยหมัดมวยและอาวุธปืน ทุกตอนจะทำให้ท่านรู้สึกพอใจ ในที่สุดท่านจะต้องออกปากว่า "หนังไทยเรื่องนี้ของเขาควรผูกโบว์แดงให้ได้" พูดถึงผู้แสดง มีโดยมากนับว่าใช้บทบาทได้สนิท ผู้ที่ควรได้รับความชมเชยชั้นเยี่ยมของการแสดงในเรื่องก็คือ จรวย วีละเวีย ลีละชาติ นางเอกผู้เป็นตัว "สุลักษณ์" บุตรี เลี้ยงของนายทองใบ จรวยได้วางบทบาทสมแก่เป็นตัวภาพยนตร์ได้ดีจริงๆ ดีจนควรนับได้ว่าอยู่เหนือนางเอกภาพยนตร์ไทยที่ท่านเคยเห็นมา เช่น ยามโกรธ ยามตกใจ ดีใจ ยามออเซาะ เหล่านี้ ชวนให้รู้สึกว่าจรวยไม่มีการเก้อเขินแต่อย่างใดเลย ถัดจากนี้ก็ตัวพระเอกพระรองและตัวประกอบอีก ซึ่งมีบทดีไม่แพ้แม่จรวย นอกจากนั้นยังแสดงการชกต่อยและการขี่ม้าขี่ฬาคล่องแคล่วอย่างน่าชม บางคนสังเกตว่าพยายามเลียนจากบท ฮูด กิ๊บสัน หรือ เคน เมย์นาดไม่ผิดเลย ยังมีผู้แสดงที่ควรได้รับความชมเชยเป็นพิเศษอีกคนหนึ่ง คือ นายไกวัลย์ ซึ่งแสดงเป็นตัวบ้าหรือใบ้ นายคนนี้ เมื่อแสดง "ไม่คิดเลย" ยังมีอาการขวางๆ รีๆ อยู่มาก ครั้น มาแสดงเรื่องนี้กลับมีสภาพเป็นคนละคน การแสดงของนาย ไกวัลย์ในเรื่อง "เลือดแค้น" สกปรกโสมมเหลือกำลัง เสื้อผ้า ขาดกะรุ่งกะริ่งผมเผ้ายาวเหมือนบ้าหอบฟาง เพราะถูกเกณฑ์ให้เป็นคนใบ้เนื่องจากในเรื่องถูกน้องชายโกงสมบัติ ตามสังเกตดูเหมือนนายไกวัลย์จะเลียนแบบ "ลอน ชานีย์" เอา เสียจริงๆ ถึงหากบทจะด้อยกว่าลอน ชานีย์ ก็ยังนับว่าเป็น ลอน ชานีย์ ไทยได้ ไม่อายคนดูทีเดียว ตัวนี้คู่หูกับตาเชยเตี้ย นับว่าเป็นผู้ทำให้เรื่องครึกครื้นมากอยู่ (ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวภาพยนตร์ กรกฎาคม พ.ศ. 2471)

กำลังแสดงผลลัพธ์ทั้งหมด 7 รายการ