ชายสะไบ (2493)

ชายสะไบ (2493/1950) เรื่องของลูกทุ่งและการล้างทุ่งเพื่อแก้แค้นกัน ด้วยหมัดต่อหมัด ดาบต่อดาบ สุรสิทธิ์เป็นเจ้าหนุ่มเลือดไพร่ ผู้เผยอพิศมัยในลูกสาวของนายทุน จนกระทั่งพบกับความทารุณกลั่นแกล้งอย่างเจ็บแสบจากทัต เอกทัต หัวแก้วหัวแหวนของนายทุน ผู้ซึ่งปองสาวงามนั้นอยู่เหมือนกัน พรรณี สำเร็จประสงค์ แม่สาวผู้นี้ เปนตัวการที่ความงามของหล่อนสร้างความเกลียดให้เกิดแก่ชีวิตของคนหลายคนเชื่อมโยงกันไป ดีที่สุดที่สุรสิทธิ์แสดงได้ ก็คือบทบาทเมื่อเขารู้ตัวว่าเมียของเขากำลังจะมีลูกถึงกับตื่นเต้นโลดถลาจะไปตามหมอตำแยทั้งที่เมียเพิ่งตั้งไข่ได้ 1 เดือน ดีที่สุดของทัต เอกทัต ก็คือบททารุณทั้งอย่างเลือดร้อนและเลือดเย็นของเขา ดีที่สุดในบรรดาตัวประกอบ ก็คือ ม.ล. เตาะ โกมารชุน ซึ่งแสดงบทบาทเป็นแม่เฒ่า ของสุรสิทธิ์ได้อย่างมีชีวิตชีวา และดีที่สุดในกะบวนจี้เส้นด้วยหน้าตายและหนวดจิ๋มคือจำรูญ หนวดจิ๋ม (ที่มา: หนังสือพิมพ์รายวัน สยามนิกร 11 กันยายน พ.ศ. 2493)

ดาบทหารเสือ (2493)
ดาบทหารเสือ (2493/1950) ครอบครัวของ รุ่ง และ จัน ชาวบ้านด่าน จังหวัดสุโขทัย เคยอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขตามประสาพ่อแม่ลูก จนกระทั่งวันหนึ่ง สอน เพื่อนบ้านชักชวนให้รุ่งไปประดาบกับนักเลงบ้านหนองดินแดง แต่รุ่งไม่อยากมีเรื่องตีรันฟันแทงกับใครจึงไม่ขอร่วมด้วยปรากฏว่าสอนเสียชีวิตในการประดาบ ชาวบ้านพากันรุมประณามรุ่ง ซ้ำร้ายยังพาลรังเกียจครอบครัวของรุ่งไปด้วย จนเป็นเหตุให้ เรือง ลูกสาวเพียงคนเดียวของรุ่งต้องตายเพราะไม่มีหมอคนไหนยอมรักษาเรืองซึ่งกำลังป่วยการสูญเสียเรืองทำให้รุ่งบันดาลโทสะฆ่าหมอตายและหนีหายไปตั้งแต่วันนั้น 5 ปีผ่านไป สุโขทัยถูกรุกรานจากศัตรู สาเหตุมาจาก โต พ่อของจัน เป็นไส้ศึกให้ฝ่ายเขมร และยังคิดจะยกลูกสาวให้แม่ทัพเขมรเพื่อแลกกับตำแหน่งผู้ครองอาณาจักรสุโขทัย รุ่ง ซึ่งบัดนี้กลายเป็นเสือออกปล้นชาวบ้าน ได้พบอาจารย์เฒ่าผู้หนึ่งเตือนสติว่า ควรจะเอากำลังไปต่อสู้ศัตรูที่กำลังทำร้ายสุโขทัย เสือรุ่งจึงจับดาบทหารเสือขึ้นปกป้องบ้านเกิดจากน้ำมือศัตรู
Placeholder

หมัดพ่อค้า (2474/1931) เป็นเรื่องเกี่ยวแก่การชิงรักระหว่างพ่อค้าชาวกองเกวียน มีการยกพวกปล้นกองเกวียน การต่อสู้กันด้วยอาวุธปืนและหมัดมวยอย่างโลดโผน (ที่มา: หนังสือพิมพ์ศรีกรุง ธันวาคม พ.ศ. 2474)

เลือดแค้น 2471

เรื่องย่อ : เลือดแค้น (2471/1928) เป็นภาพยนตร์ไทยเรื่องแรก ที่มีความลึกลับ เกี่ยวกับการผจญภัยและการต่อสู้ในเชิงหมัดมวยอย่างน่าตื่นเต้น ถ้าว่าถึงตลกคะนอง ก็เป็นตลกที่ไม่ได้แกล้งให้ตลก เป็นตลกที่อาศัยเกิดจากลักษณะเดิมของตัวผู้แสดงเอง มีตาเชยเตี้ยเป็นต้น ลักษณะของตาเชย ผู้ดูโดยมากที่ไปเที่ยวตำบลบางลำพู คงจะได้เคยเห็น แกเดินชมอากาศอยู่ตามแถวนั้นบ่อยๆ หรือมิฉะนั้นก็แถวหน้าโรงปีนัง ผู้ทำเรื่อง เลือดแค้น ได้ใช้ความระวังหลายประการที่จะไม่ให้เลือดแค้นกลายเป็นเลือดไม่แค้นหรือเลือดจืด มีเหตุผลกินกลืนกันสมเรื่อง ตลอดจนภูมิฐานฐานะของบุคคลและการแต่งตัว ที่จัดให้เหมาะแก่ลักษณะ เหมาะแก่เวลาที่ควรไม่ควร ถ้าจะกล่าวแล้วเรื่อง เลือดแค้น ถึงจะมีข้อที่น่าติอยู่บ้าง แต่ก็เชื่อว่าน้อยที่สุด ท้องเรื่อง เลือดแค้น แสดงถึงน้ำใจของน้องเมียนายทองใบ ที่พยายามแก้แค้นแทนพี่สาวอันเนื่องจากนายทองใบทิ้งพี่สาวและทำทารุณโหดร้ายเมื่อ 20 ปีก่อน จึงตามมาแก้แค้นโดยปลอมตัวเป็นคนลึกลับ ท่านจะได้เห็นการต่อสู้กันบนเรือใบกลางทะเล การต่อสู้ในบ้าน และการต่อสู้ชิงนางกลางทุ่ง การต่อสู้นี้ล้วนไปด้วยหมัดมวยและอาวุธปืน ทุกตอนจะทำให้ท่านรู้สึกพอใจ ในที่สุดท่านจะต้องออกปากว่า "หนังไทยเรื่องนี้ของเขาควรผูกโบว์แดงให้ได้" พูดถึงผู้แสดง มีโดยมากนับว่าใช้บทบาทได้สนิท ผู้ที่ควรได้รับความชมเชยชั้นเยี่ยมของการแสดงในเรื่องก็คือ จรวย วีละเวีย ลีละชาติ นางเอกผู้เป็นตัว "สุลักษณ์" บุตรี เลี้ยงของนายทองใบ จรวยได้วางบทบาทสมแก่เป็นตัวภาพยนตร์ได้ดีจริงๆ ดีจนควรนับได้ว่าอยู่เหนือนางเอกภาพยนตร์ไทยที่ท่านเคยเห็นมา เช่น ยามโกรธ ยามตกใจ ดีใจ ยามออเซาะ เหล่านี้ ชวนให้รู้สึกว่าจรวยไม่มีการเก้อเขินแต่อย่างใดเลย ถัดจากนี้ก็ตัวพระเอกพระรองและตัวประกอบอีก ซึ่งมีบทดีไม่แพ้แม่จรวย นอกจากนั้นยังแสดงการชกต่อยและการขี่ม้าขี่ฬาคล่องแคล่วอย่างน่าชม บางคนสังเกตว่าพยายามเลียนจากบท ฮูด กิ๊บสัน หรือ เคน เมย์นาดไม่ผิดเลย ยังมีผู้แสดงที่ควรได้รับความชมเชยเป็นพิเศษอีกคนหนึ่ง คือ นายไกวัลย์ ซึ่งแสดงเป็นตัวบ้าหรือใบ้ นายคนนี้ เมื่อแสดง "ไม่คิดเลย" ยังมีอาการขวางๆ รีๆ อยู่มาก ครั้น มาแสดงเรื่องนี้กลับมีสภาพเป็นคนละคน การแสดงของนาย ไกวัลย์ในเรื่อง "เลือดแค้น" สกปรกโสมมเหลือกำลัง เสื้อผ้า ขาดกะรุ่งกะริ่งผมเผ้ายาวเหมือนบ้าหอบฟาง เพราะถูกเกณฑ์ให้เป็นคนใบ้เนื่องจากในเรื่องถูกน้องชายโกงสมบัติ ตามสังเกตดูเหมือนนายไกวัลย์จะเลียนแบบ "ลอน ชานีย์" เอา เสียจริงๆ ถึงหากบทจะด้อยกว่าลอน ชานีย์ ก็ยังนับว่าเป็น ลอน ชานีย์ ไทยได้ ไม่อายคนดูทีเดียว ตัวนี้คู่หูกับตาเชยเตี้ย นับว่าเป็นผู้ทำให้เรื่องครึกครื้นมากอยู่ (ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวภาพยนตร์ กรกฎาคม พ.ศ. 2471)

โชคสองชั้น 2470

เรื่องย่อ : โชคสองชั้น (2470/1927) นายกมล มาโนช (มานพ ประภารักษ์) พระเอกของเรื่อง เป็นนายอำเภอหัวเมืองฝ่ายเหนือ ได้รับมอบหมายให้ลงมาสืบจับผู้ร้ายคนหนึ่งซึ่งซ่อนตัวอยู่ในกรุงเทพ นายกมลเข้ามาพักอยู่ที่บ้านพระยาพิชัย (อุทัย อินทร์วงศ์) และมีหลานชื่อว่า นางสาววลี ลาวัณยลักษณ์ (หม่อมหลวงสุดจิตตร์ อิศรางกูร) ซึ่งทั้งสองได้พบรักกันโดยเร็ว แต่นายวิง ธงสี (มงคล สุมนนัฏ) ซึ่งหมายปองนางสาววลีอยู่แล้วและชอบไปมาหาสู่พระยาพิชัยเป็นเนือง ๆ และนายวิงคนนี้ก็คือคนร้ายที่นายกมลกำลังสืบจับอยู่นั่นเอง นายวิงไหวตัวทันเรื่องที่นายกมลตามคนร้าย จากนั้นนายวิงก็วางแผนร้ายโดยส่งพรรคพวกลูกสมุนเข้ามาทำร้ายนายกมล แต่นายกมลมีความชำนาญในการระวังภัยจากโจรจึงต่อกรขัดขวางกำลังได้ จนนายวิงและพรรคพวกต้องหลบหนีไป นายกมลไล่ตามจับแต่เกิดหลงทาง นายวิงได้วกกลับมาที่บ้านพระยาพิชัยและจับนางสาววลีไป แต่นายกมลมีเชาวน์ที่ดี เข้าใจว่าเป็นแผนลวง จึงวกกลับบ้านพระยาพิชัยและได้พบนายวิง นายกมลจึงตามล่านายวิงไปจนสุดทางและเกิดการต่อสู้ขึ้น จนกระทั่งตำรวจที่พระยาพิชัยโทรไปแจ้งมาสมทบร่วมจับนายวิงและสมุนได้ทันเวลา นายวิงจึงถูกตำรวจจับเข้าตะราง ส่วนนายกมลมีโชคสองชั้น นอกจากจะจับผู้ร้ายได้แล้วยังได้นางสาววลีมาเป็นภรรยาอีกด้วย

กำลังแสดงผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ