THE MISSING PIECE ฉันอยู่นี่… เธออยู่ไหน (2554/2011) สารคดีแบบหนังซ้อนหนังเรื่องนี้จะเล่าเรื่องเกี่ยวกับคนพิการกลุ่มหนึ่งที่พิการต่างรูปแบบกัน พวกเขามารวมตัวกันเพื่อสร้างภาพยนตร์ แน้ม ชายหนุ่มอายุ 20 ปี พิการแขนขามาแต่กำเนิด แน้มรับหน้าที่เป็นผู้กำกับ เขาชวนเพื่อนๆอีกสี่คนอันประกอบด้วย เสือ ชายวัย 20 ปีและพิการแขนขาบิดเบี้ยวแต่กำเนิด เสือมีความสามารถในการร้องลิเก แน้มชวนเสือมาเป็นพระเอกของเรื่อง จรัล ชายหนุ่มอายุ 21 ปี แต่มีรูปร่างเท่าเด็กสิบขวบ จรัลตาบอดสนิท เขาเป็นคนคอยดูแลอาบน้ำแต่งตัว ป้อนข้าวและเข็นรถให้เสือทุกวัน แม้ตาจะมองไม่เห็นแต่หูของเขาใช้งานได้ดี เขาจะมาทำหน้าที่บันทึกเสียง บุญธรรม ชายวัย 20 ปี ผู้ถูกตัดขาดจากโลกแห่งการได้ยิน เขาไม่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆเป็นคำพูดได้ แต่บุญธรรมหลงใหลการวาดรูปและถ่ายรูปเป็นอย่างมาก เขาจึงจะมาถ่ายภาพยนตร์ให้กับแน้ม และคนสุดท้ายคือ ต่อ เขาเป็นเด็กหนุ่มวัยรุ่นผู้มีความบกพร่องทางสติปัญญาหรือที่เรียกว่าเด็กออทิสติก ต่อชอบจับกบเป็นชีวิตจิตใจ ร่างกายอันแข็งแรงของเขาเหมาะกับการมาเป็นผู้ช่วยผู้กำกับอย่างยิ่ง ทั้งสี่คนนี้จะช่วยกันสร้างภาพยนตร์สั้นโดยผ่านการเล่าเรื่องของพวกเขาเอง ผ่านมิตรภาพ การช่วยเหลือเติมเต็มในสิ่งที่แต่ละคนขาดหายไป เพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่แตกต่างจากมนุษย์ปกติ
ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๔ ศึกนันทบุเรง

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๔ ศึกนันทบุเรง (2554/2011) เรื่องราวอันเป็นผลจากการปราชัยของหงสาวดีในคราวศึก พระยาพะสิม และ พระเจ้าเชียงใหม่ ซึ่งทำให้ พระเจ้านันทบุเรง ทรงตระหนักในพระปรีชาสามารถของ สมเด็จพระนเรศวร และในความเข้มแข็งของกองทัพอยุธยา จึงทรงยกทัพใหญ่เป็นทัพกษัตริย์มาย่ำยีราชธานีสยามหวังให้ราบเป็นหน้ากลองเพื่อเป็นการแก้มือ และเพื่อรักษาซึ่งพระเกียรติยศ มิให้เป็นที่ดูแคลนแก่เหล่าเจ้าประเทศราชในการปกครองของฝ่ายพม่า กองทัพกษัตริย์ของ พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง มีความสมบูรณ์ยิ่งใหญ่น่าเกรงขามกว่าทุกศึก ประกอบด้วยช้าง 3,200 ทัพม้า 12,000 และไพร่ราบซึ่งมีจำนวนถึง 252,000 โดยมีนายทัพผู้ปรีชาสามารถมาร่วมรบ ทั้ง พระมหาอุปราชา มังจาปะโร และลักไวทำมูทหารกล้า กิตติศัพท์ความยิ่งใหญ่น่าเกรงขามของทัพหงสาวดีที่ยกเข้ามานี้ ส่งผลให้เจ้าเมืองในขอบขัณฑสีมาของราชอาณาจักรอยุธยาข้างฝ่ายเหนือประหวั่นพรั่นพรึงถึงกับสมคบคิดกัน แปรพักตร์เข้าสมานสมัคร พระเจ้านันทบุเรง รบ สมเด็จพระนเรศวร เป็นเหตุให้ สมเด็จพระนเรศวร ต้องเผชิญทั้งศึกนอกและศึกใน สถานการณ์กลับยิ่งบีบคั้นให้คับขันยิ่งขึ้น เมื่อ พระศรีสุพรรณธรรมาธิราช พระอนุชาเจ้ากรุงละแวกซึ่งขัดพระทัย สมเด็จพระนเรศวร แต่กาลก่อน ได้ยุยงให้พระเชษฐาตัดสัมพันธไมตรีกับอยุธยา ละแวกจึงกลายเป็นหอกข้างแคร่ที่พร้อมจะกระหน่ำซ้ำเติมสยามให้ย่อยยับหากมีอันพลาดท่าเสียทีในศึกนันทบุเรงนี้ ภัยรอบด้านบีบรัดให้ สมเด็จพระนเรศวร ทรงต้องเผชิญศึกอย่างโดดเดี่ยว ซ้ำเคราะห์กลับทับทวีคูณเมื่อสหายศึก เช่น เลอขิ่น และกองกำลังเมืองคัง ซึ่งร่วมกรำศึก กันมาแต่เบื้องต้นคิดถอนตัวตีจากเนื่องจากพิษรักระหว่างรบที่จบลงด้วยความร้าวฉานระหว่าง เลอขิ่น กับ พระราชมนู ขุนศึกคู่พระทัย ความขัดแย้งด้วยเหตุส่วนตัวได้บานปลายกลายเป็นภัยของแผ่นดินในคราวคับขันเมื่ออยุธยาต้องเผชิญศึก ซึ่งประมาณได้ว่าเป็นมหาสงครามภายใต้โทสจริตของ พระเจ้านันทบุเรง ด้วยข้อจำกัดที่รุมเร้าหลายประการ ผสานกับจำนวนไพร่พลที่เป็นรองหงสาวดีอยู่หลายขุม ทำให้ สมเด็จพระนเรศวร ทรงจำต้องปรับยุทธศาสตร์การตั้งรับทัพหงสาวดี โดยทรงใช้พระนครศรีอยุธยาซึ่งมีทำเลที่ตั้งที่ได้เปรียบเป็นฐานบัญชาการรบแต่เพียงแห่งเดียว ทรงส่งกำลังออกไปปักปราการ วางแนวป้องกันมิให้พม่าเข้ามาปลูกค่ายใกล้ขอบคูพระนครและกำแพงเมือง ทั้งยังแต่งกำลังเป็นกองโจรเข้าปล้นค่ายข้าศึกอย่างอาจหาญ เมื่อศึกเหนือเสือใต้รุมกระหน่ำ ขุนนางผู้ใหญ่ขาดสามัคคีคิดคดคำนึงแต่ประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง จอมทัพผู้รั้งราชบัลลังก์และความอยู่รอดของแผ่นดินก็มาพลาดท่า ต้องศาสตรากลางสมรภูมิศึก ยอดทหารเอกกรุงศรีถูกขุนศึกผู้ชาญณรงค์กว่าจับเป็นเชลย ชะตากรรมกรุงศรีอยุธยา และ สมเด็จพระนเรศวร จะลงเอยอย่างไร

Placeholder
ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๓ ยุทธนาวี

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๓ ยุทธนาวี (2554/2011) การประกาศเอกราชที่เมืองแครง และสังหารสุระกำมาเหนือยุทธภูมิฝั่งแม่น้ำสะโตงของ “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” (สมเด็จพระนเรศ) ในปีพุทธศักราช 2127 ได้สร้างความตระหนกแก่ “พระเจ้านันทบุเรง” องค์ราชันหงสาวดีพระองค์ใหม่ ด้วยเกรงว่าการแข็งข้อของอยุธยาในครั้งนี้จะเป็นเยี่ยงอย่างให้เหล่าเจ้าประเทศราชที่ขึ้นกับหงสาวดีอาศัยลอกเลียนตั้งตัวกระด้างกระเดื่องตาม แต่จนพระทัยด้วยติดพันศึกอังวะ จึงจำต้องส่งเพียงทัพ “พระยาพะสิม” และ “พระเจ้าเชียงใหม่” เข้าประชิดกรุงศรีอยุธยา ทางหนึ่งนั้นพระเจ้านันทบุเรงทรงประมาทสมเด็จพระนเรศ ด้วยเห็นว่ายังอ่อนพระชันษาคงมิอาจรับมือจอมทัพผู้ชาญณรงค์ทั้งสองได้ ทางหนึ่งก็สำคัญว่ากรุงศรีอยุธยายังบอบช้ำแต่คราวสงครามเสียกรุง ไพร่พลเสบียงกรังยังมิบริบูรณ์คงยากจะรักษาพระนคร ครั้งนั้นพม่ารามัญยกเข้ามาเป็นศึกกระหนาบถึง 2 ทาง ทัพพระยาพะสิมยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์เลยล่วงเข้ามาถึงแดนสุพรรณบุรี ส่วนพระเจ้าเชียงใหม่-นรธาเมงสอมาจากทางเหนือ นำทัพบุกลงมาตั้งค่ายถึงบ้านสระเกศ แขวงเมืองอ่างทอง กิตติศัพท์การชนะศึกของสมเด็จพระนเรศหลายครั้งหลายคราระบือไกลถึงแผ่นดินละแวก “เจ้ากรุงละแวก” มิได้ทอดธุระ ได้ลอบส่งจารชนชาวจีนฝีมือกล้านามว่า “พระยาจีนจันตุ” มาลอบสืบความที่กรุงศรีอยุธยาแต่ถูกจับพิรุธได้จนต้องลอบตีสำเภาหนีกลับกรุงละแวก สมเด็จพระนเรศทรงนำทัพเรือออกตามจนเกิดยุทธนาวี แต่พระยาจีนจันตุหนีรอดได้ เมื่อเจ้ากรุงละแวกได้ทราบกิตติศัพท์การณรงค์ของพระนเรศจึงเปลี่ยนพระทัยหันมาสานไมตรีกับอยุธยา และส่ง “พระศรีสุพรรณราชาธิราช” ผู้อนุชามาช่วยอยุธยาทำศึกหงสา หากแต่พระศรีสุพรรณผู้นี้ต่างจากเจ้ากรุงละแวกเพราะหาใคร่พอใจผูกมิตรด้วยอยุธยา การได้พระศรีสุพรรณฯ มาเป็นสหายศึกจึงประหนึ่งอยุธยาได้มาซึ่งหอกข้างแคร่

Baby Arabia เบบี้ อาราเบีย (2554/2011) วงดนตรีแนวอาหรับมาเลย์ที่ชื่อ เบบี้ อาราเบีย ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว พวกเขาหลายคนมีพื้นเพเป็นชาวอ่อนนุชที่รักและหลงใหลเสียงเพลงภาษาอาหรับและมลายู พวกเขาดัดแปลงทำนองเพลงของตัวเองให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยใส่ทำนองดนตรีแบบตะวันตกเข้าไปด้วย แล้วถ่ายทอดบทเพลงเหล่านั้นในคอนเสิร์ต ซึ่งจัดขึ้นตามงานเกี่ยวกับศาสนาอิสลามของชุมชนมุสลิมรอบนอกกรุงเทพฯ ชีวิตนอกเวทีของนักดนตรีและนักร้องทั้ง 4 คนนั้นมีพื้นเพแตกต่างกันไป ตั้งแต่แม่บ้านธรรมดา ครูสอนศาสนา คนเฝ้าบ่อปลา และคุณตาของหลานๆ สิ่งที่สะท้อนผ่านตัวตนของพวกเขา นอกเหนือจากวิถีชีวิตแบบไทยมุสลิมแล้ว ยังมีวัฒนธรรมย่อยมุสลิมภาคกลางที่นับวันจะสูญสลายไปตามกาลเวลา

กำลังแสดงผลลัพธ์ทั้งหมด 5 รายการ