มูอัลลัฟ (2551/2008) ชีวิตของ จูน (ธัญวดี เหมรา) หญิงสาววัย 29 ปี ที่ใช้ชีวิตอย่างอิสระเสรีในกรุงเทพฯ ต้องเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง หลังจากเธอตัดสินใจแต่งงานกับ เอก (เอกสิทธิ์ เหมรา) ชายหนุ่มมุสลิมผู้เคร่งศาสนาจากจังหวัดสตูล จูนต้องเปลี่ยนศาสนา จากศาสนาพุทธซึ่งเธอนับถือมาตั้งแต่เด็ก ไปเป็นศาสนาอิสลามซึ่งเธอไม่เคยมีความรู้แม้แต่น้อย หลังจากแต่งงาน จูนลาออกจากการเป็นพนักงานฝ่ายศิลป์ของนิตยสารฉบับหนึ่ง และเดินทางตามสามีไปยังจังหวัดสตูล ที่นั่นเธอได้สัมผัสกับประสบการณ์ใหม่มากมาย ในฐานะของ มูอัลลัฟ หรือบุคคลที่เข้ารับอิสลาม ไม่เพียงแค่ห้ามรับประทานเนื้อหมูและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เท่านั้น ที่จังหวัดสตูล จูนได้ถือศีลอดเป็นครั้งแรก ได้เข้าร่วมพิธีทางศาสนาอิสลาม และฝึกอ่านภาษาอาหรับ ไปจนถึงได้ก้าวข้ามจากหญิงสาววัย 30 ปีที่ไม่มั่นใจในชีวิต ไปสู่บทบาทของแม่ที่สมบูรณ์แบบ
แอบถ่าย เดี่ยว 7 (2551/2008) แอบถ่าย เดี่ยว 7 เป็นภาพยนตร์สารคดี/ตลก ออกฉายในวันที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2551 แบบจำกัดโรงที่โรงภาพยนตร์ลิโด้ เป็นภาพยนตร์ที่ถ่ายทำเบื้องหน้า และเบื้องหลังการแสดงโชว์ เดี่ยวไมโครโฟน 7 ของอุดม แต้พานิช ผู้เป็นพี่ชายของสันติ แต้พานิช โดยใช้กล้องวิดีโอ และกล้องดิจิตอล โดยที่ตัวอุดม แต้พานิช เอง ก็ไม่ทราบว่าน้องชายตั้งใจจะถ่ายเพื่อนำมาตัดต่อเป็นภาพยนตร์เรื่องนี้
ปักษ์ใต้บ้านเรา (2551/2008) ปักษ์ใต้บ้านเรา จัดจำหน่ายโดย Documentary Film กำหนดฉายหนัง 26 มิถุนายน 2551 เรื่องย่อหนัง ปักษ์ใต้บ้านเรา ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ถ่ายทอดชีวิตจริงๆ ของชาวใต้โดยไม่มีการปรุงแต่งใดๆผ่านวิถีของ4ครอบครัวที่อยู่ต่างพื้นที่กันหากแต่มีความดีงามที่เกี่ยวเนื่องและมีน้ำใจ ส่งต่อให้แก่กันภาพจากความเป็นจริงเหล่านี้ ถูกนำมาเรียงร้อยเป็นเรื่องราวเพื่อบอกเล่าว่าภาคใต้ของไทยยังคงสวยงามและ ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่ใครหลายๆคนเข้าใจ บังหมาด มีภรรยาและลูก5 คนใช้ชีวิตอยู่อย่างเรียบง่ายในหมู่บ้านทะเลนอก จ.ระนอง หาเลี้ยงครอบครัวด้วยการออกทะเลหาปลาในทุกๆวันบังจะทำละหมาด5 ครั้ง เพื่อขอพรจากพระอัลเลาะห์ให้เกิดสันติสุข ในครอบครัวและเพื่อนมนุษย์ แต่แล้ววันหนึ่งหมู่บ้านทะเลนอกต้องเจอกับคลื่นยักษ์สึนามิ ยังโชคดีที่ครอบครัวของบังรอดชีวิตจากเหตุการณ์ร้าย และได้กลับมาอยู่พร้อมหน้ากันอีกครั้ง สามีของพี่อ้อยพยาบาลผู้เคราะห์ร้ายเป็นตำรวจที่ย้ายไปประจำการที่ปัตตานีและถูกผู้ร้ายยิงเสียชีวิตพี่อ้อยมีลูก 2 คนที่ต้องดูแลและกำลังอยู่ในวัยเรียน เมื่อเสาหลักของบ้านต้องหักลง พี่อ้อยจึงจำเป็นที่จะต้องลุกขึ้นมาเป็นหลักเสาใหม่ให้ลูกๆ เธอต้องยอมรับความเป็นจริง และพยายามเป็นให้ได้ทั้งพ่อและแม่ เพื่อให้ลูกๆ ได้มีขวัญและกำลังใจในการดำเนินชีวิตต่อไป พี่ก้อย หนุ่มใต้เชื้อสายจีนเกิดและเติบโตในนครศรีธรรมราช และมาก่อร่างสร้างตัวที่กระบี่พี่ก้อยเกิดมาในครอบครัวที่มักคุ้นกับการทำอาหารจึงเริ่มต้นเปิดร้านอาหารด้วยการคิดเองทำเอง และให้บริการลูกค้าด้วยตัวของตัวเอง กระทั่งร้านเล็กๆเติบโตขยายใหญ่ทว่า พี่ก้อยก็ยังคงเข้าครัวทำอาหารและออกไปดูแลให้บริการลูกค้าด้วยตัวเองเสมอเพราะพี่ก้อยเชื่อมั่นในการทำอะไรด้วยใจ หาดทิพย์บริษัทที่ได้รับลิขสิทธิ์ให้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มโค้กใน14 จังหวัดภาคใต้ มีบ้านหลังใหญ่ตั้งอยู่ที่อ.หาดใหญ่ จ.สงขลามี ร.ต.ไพโรจน์ รัตตกุล เป็นเหมือนพ่อที่คอยดูแลใส่ใจในทุกเรื่องของพนักงานและของเพื่อนบ้านที่เป็นคนใต้ในทุกพื้นที่ทุกครั้งที่ภาคใต้ ต้องเผชิญกับภัยธรรมชาติไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่พนักงานหาดทิพย์ทุกคนจะพร้อมใจกันหยุดงาน เพื่อลงไปช่วยเหลือเพื่อนชาวใต้ในทุกรูปแบบ
ความจริงพูดได้ (คดีสุภิญญา) (2551/2008) หากใครได้ติดตามข่าวสารบ้านเมืองในช่วง 2–3 ปีที่ผ่านมาคงจะเคยผ่านตาหรือได้ยินชื่อของ “เก๋ - สุภิญญา กลางณรงค์” มาบ้าง โดยเฉพาะในเรื่องการต่อสู้และท้าทายอย่างหาญกล้าของเธอกับบริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศ ที่ส่งผลให้บทบาทและภาพลักษณ์ของเธอในความรู้ของคนทั่วไป คือ ผู้หญิงแกร่งที่กำลังทวงคืนเสรีภาพแห่งการพูดความจริงจากอำนาจที่ครอบงำสังคมให้มืดมน จากการเคลื่อนไหวต่อสู้ดังกล่าว ได้นำไปสู่การนำเสนอชีวิตของเธอจากมุมมองแบบสารคดี โดยฝีมือของผู้กำกับหญิงอย่าง พิมพกา โตวิระ ภายใต้ชื่อผลงาน “ความจริงพูดได้ (คดีสุภิญญา)” (The Truth Be Told: The Cases against Supinya Klangnarong) แน่นอนว่าจากชื่อผลงานก็ทำให้คิดไปว่าภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ย่อมหนีไม่พ้นจากประเด็นคดีความที่บริษัทชินคอร์เปอเรชั่น ฟ้อง นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) เป็นจำเลยที่หนึ่งร่วมกับหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ในข้อหาหมิ่นประมาท จากการตีพิมพ์บทความของเธอเรื่อง "เอ็นจีโอประจาน 5 ปีรัฐบาลไทยชินคอร์ปรวย" ในหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ โดยถูกเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 400 ล้านบาทในคดีแพ่ง และติดคุกในคดีอาญา ซึ่งคดีความดังกล่าวศาลได้พิพากษาให้ยกฟ้องไปแล้วเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2549 แม้ว่าชื่อของผลงานจะทำให้คนพลอยคิดไปในประเด็นของ “คดีความ” แต่เอาเข้าจริงเมื่อได้ดูหนังเรื่องนี้แล้วก็ทำให้เข้าใจและเห็นภาพที่มากกว่า เรื่องราวได้นำเสนอภาพของหญิงสาวคนหนึ่งที่กำลังต่อสู้ทางคดีกับบริษัทยักษ์ใหญ่ แม้ว่าภายนอกของเธอจะดูเป็นผู้หญิงที่แกร่งกล้า แต่สารคดีทำให้เห็นภาพในมุมกลับ ที่ลึกๆ แล้วเธอก็เป็นเฉกเช่นมนุษย์ทั่วไป ที่มีความกลัว ความกดดัน และความหวัง ในฉากเปิดเรื่องที่ทุกสิ่งวนเวียนอยู่บนรถขณะที่เธอ พ่อและแม่ กำลังจะไปให้การกับศาล ได้สะท้อนให้เห็นภาพลักษณ์ธรรมดาของชีวิตมนุษย์มากกว่าที่จะเป็นภาพลักษณ์ของนักต่อสู้ที่หลายคนมองเธอ เช่นเดียวกับฉากบทสัมภาษณ์ที่เกิดขึ้นในห้องพักของเธอ ก็ได้เห็นภาพของผู้หญิงคนหนึ่งที่ย้ายจากต่างจังหวัดเข้ามาอาศัยในเมืองใหญ่ ต้องเผชิญกับภาระหน้าที่และความรับผิดชอบในด้านต่างๆ โดยเฉพาะการเงิน นอกจากนี้ชีวิตของเธอที่ผิดแผกไปจากผู้หญิงคนอื่นยังเป็นสิ่งที่ต้องเผชิญกับความกดดันจากบรรดาญาติและคนในสังคมต่างจังหวัด ที่แม้จะเห็นด้วยกับการกระทำของเธอ แต่ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมถึงต้องทำเช่นนั้น หรือทำไมเธอไม่ทำตัวเหมือนผู้หญิงคนอื่นๆ ภาพลักษณ์ของ “สุภิญญา” ที่นำเสนอ ชี้ให้เห็นถึงบทบาททางเพศที่ลื่นไหล เปลี่ยนไปมา และสลับบทบาท เป็นชีวิตของหญิงสาวที่มีทั้งแง่มุมอันกล้าหาญ ธรรมดา สิ้นหวัง หรือเต็มไปด้วยพลัง ปะปนกันไป ตัวตนของเธอจึงเป็นสิ่งที่มีความหลากหลายเช่นเดียวกับคนอื่นๆ แต่กระนั้นแม้ตัวตนของเธอจะมีความหลากหลายดังที่สะท้อนมาในสารคดีเรื่องนี้ แต่ในความเป็นจริงภาพลักษณ์ของเธอที่บรรดาสื่อหรือองค์กรพัฒนาเอกชนทั้งหลายพยายามนำเสนอกลับเลือกเพียงแง่มุมของหญิงสาวผู้กล้าหาญออกมาเท่านั้น กลายเป็นตราประทับ “สุภิญญา” เท่ากับความ “แข็งแกร่ง กล้าหาญ” และบดบังแง่มุมอื่นๆ ของชีวิตออกไป ที่ดูเหมือนจะไม่ต่างกับตราประทับของความเป็น “ชาย” ที่ต้องอดทด หรือ “หญิง” ที่ต้องอ่อนช้อยตามแบบที่คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจ แต่อย่างไรทั้งหมดนี้ สารคดี “ความจริงพูดได้ (คดีสุภิญญา)” ได้ทลายเส้นแบ่งของภาพลักษณ์ดังกล่าวลง พร้อมเผยให้เห็นความหลากหลายซับซ้อนในตัวตนของหญิงสาวคนหนึ่ง ที่อาจเป็นภาพแทนให้กับคนในสังคมหรือเพศหนึ่งๆ ที่มีความแตกต่างหลากหลายในตัวเองได้

กำลังแสดงผลลัพธ์ทั้งหมด 4 รายการ