เด็กโต๋ อย่าเพิ่งรีบโต มาโต๋กันก่อน (2548/2005) ภาพยนตร์ดังกล่าวถ่ายด้วยกล้องวิดีโอดิจิตอล เล่าเรื่องราวของประยูร คำชัย ครูใหญ่โรงเรียนบ้านแม่โต๋ในแถบภูเขาชนบทของจังหวัดเชียงใหม่ ที่มีครอบครัวเป็นชาวเขาฐานะยากจน (ส่วนใหญ่เป็นกะเหรี่ยงและม้ง) ดำรงชีพด้วยการเป็นเกษตรกรในสภาพภูมิประเทศที่มีความทุรกันดารและห่างไกล เด็กนักเรียนมักจะต้องเดินทาง 80 - 90 กิโลเมตรโดยใช้ถนนบนภูเขาที่แคบและคดเคี้ยว ซึ่งในฤดูฝนจะทำให้ถนนดังกล่าวใช้สัญจรไปยังโรงเรียนไม่ได้ และบ่อยครั้งที่ผู้ปกครองของนักเรียนยากจนเกินกว่าจะจ่ายค่าเล่าเรียนได้ ประยูรจึงมองหาหนทางที่จะรับประกันว่าเด็กนักเรียนในโรงเรียนขนาดใหญ่แห่งนี้จะได้รับการศึกษาอย่างเหมาะสม ประยูร ผู้ซึ่งถูกขอร้องให้ไปทำหน้าที่ในโรงเรียนแห่งนี้เมื่อเขาเริ่มสอนในปี พ.ศ. 2526 ในตอนแรกเขาสังเกตว่าเด็กนักเรียนไม่มีอาหาร ดังนั้นเขาจึงริเริ่มโครงการอาหารกลางวันฟรี ด้วยการสร้างโรงเรียนกินนอนและหาหนทางที่เด็กนักเรียนยอมรับได้มากที่สุด โรงเรียนแห่งนี้ได้รับเงินสนับสนุนจำนวนเล็กน้อยจากรัฐบาลไทย วัสดุก่อสร้างหอพักโรงเรียนกินนอนได้มาจากเงินบริจาคที่ได้รับการสนับสนุนจากหลายๆ แห่ง ซึ่งงานก่อสร้างและการพัฒนาอื่นๆ ส่วนใหญ่ เด็กนักเรียนและครูเป็นผู้ลงมือทำเอง นอกเหนือไปจากค่าอาหารส่วนหนึ่งที่ได้รับจากรัฐบาลนั้น นักเรียนต้องปลูกผักและเลี้ยงปศุสัตว์เองด้วย เพื่อนำผลผลิตที่ได้บางส่วนมาปรุงอาหารเลี้ยงดูกันภายในโรงเรียน โรงเรียนบ้านแม่โต๋เปิดสอนตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ประยูรกำหนดให้นักเรียนที่สำเร็จการศึกษาได้รับรางวัลเป็นการเดินทางไปท่องเที่ยวยังจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งเป็นระยะทางมากกว่า 1,000 กิโลเมตรเป็นเวลาสามวัน โดยรถบรรทุกหกล้อและรถบัส ซึ่งค่าใช้จ่ายทั้งหมดเกิดจากการร่วมเก็บออมเงินกันเองภายในโรงเรียน สำหรับนักเรียนแล้ว นั่นคือการเห็นทะเลเป็นครั้งแรกในชีวิต ถือเป็นกุศโลบายอันแยบยลที่ส่งเสริมให้เด็กนักเรียนมุ่งมั่นในการออมและร่ำเรียนให้จบการศึกษา ตลอดจนมีวิชาติดตัวเพื่อประกอบอาชีพหรือศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้นไป
Crying Tiger เสือร้องไห้ (2548/2005) ความหมายของ “เสือร้องไห้” คืออะไร 1) การหลั่งของเหลวคล้ายน้ำออกมาทางดวงตา เพื่อแสดงความดีใจและเสียใจของสัตว์บกชนิดหนึ่งที่มนุษย์เรียกมันว่า “เจ้าแห่งป่า” 2) “เนื้อย่างไฟ” จากเตาถ่านร้อนๆ หั่นเป็นชิ้นพอคำ แล้วคลุกคล้าในหม้อกับเครื่องปรุงรสจัดจ้าน มะนาวสวนเปรี้ยว พริกขี้หนูเผ็ดป่น ข้าวคั่วหอมหอม ต้นหอมสดๆ น้ำปลาแท้ น้ำตาลทรายแดง โรยเติมด้วยงาขาวกับยอดใบยี่หรา เสิร์ฟกับข้าวเหนียวร้อนๆ มีขายตามปั๊มน้ำมันทั่วไป 3) เรื่องราวชีวิตจริงของ “คนไทยใจสู้” กรรมวิธีในการทำ “เสือร้องไห้” ทีมงานออกค้นหา “ชาวอีสาน” ที่เข้ามาทำงานอยู่ในกรุงเทพฯ ตามสถานที่ต่างๆ กว่าร้อยอาชีพ คัดเลือกอาชีพที่ทีมงานคิดว่าน่าสนใจ เพื่อสอบถาม พูดคุย หาข้อมูลที่ลึกลงไปในแต่ละคน ถึงเรื่องราวในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เฝ้าติดตามเพื่อถ่ายทำการดำเนินชีวิตของเขาเหล่านั้นในเมืองหลวง การทำงาน ความรัก ความฝัน ความเจ็บปวดของเขาที่เราไม่เคยรู้เรื่องเหล่านั้นมาก่อน และไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตของเขา หรือชีวิตของทีมงาน คัดย่อเรื่องราวที่ใช้เวลานานกว่า 1 ปี ม้วนเทปทั้งหมดกว่า 300 ม้วนให้เหลือเพียงสิ่งที่น่าสนใจแค่เพียง 2 ชั่วโมง รู้จักมั้ยสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า “คนอีสาน” “คนอีสาน” ผู้ซึ่งอยู่บนแผ่นดินไม่ติดทะเล แต่ก็ออกเรือตังเกหาปลาได้ ผู้กินแจ่วปลาร้า แต่ทำซูชิให้แขกในร้านญี่ปุ่นกินได้ ผู้ที่คุ้นเคยกับลำเพลิน ลำซิ่ง แต่ก็สามารถเป็นพระเอกงิ้ว ยังคงมีอะไรอีกมากมายที่ชาวอีสานทำไว้ที่เรายังไม่ได้พูดถึง เพราะนอกจากจะเป็นกลุ่มคนกลุ่มใหญ่ที่สุดในประเทศแล้ว พวกเขายังมีความสามารถในการปรับตัวที่เป็นเลิศที่สุด ภาพยนตร์แนว “Reality Film” เรื่องแรกของเมืองไทยที่จะถูกฉายตามโรงภาพยนตร์ทั่วประเทศจากผลงานการกำกับของ “สันติ แต้พานิช” ผู้กำกับที่มีผลงานมามากมายจากการทำหนังสั้น อาทิ “กท.2541”, “One Way Ticket”, “ร ฟ ท บ ข ส” และสารคดีเบื้องหลังหนัง “มนต์รักทรานซิสเตอร์” ฉบับไม่เป็นทางการ และล่าสุดเรื่อง “เสือร้องไห้” ภายใต้การโปรดิวซ์ของ “ปรัชญา ปิ่นแก้ว” ร่วมด้วย “ป๋าเต็ด-ยุทธนา บุญอ้อม” และ “พงศ์นรินทร์ อุลิศ” “เสือร้องไห้” เรื่องราวของการติดตามบันทึกเหตุการณ์ชีวิตของ “คนอีสาน” กลุ่มหนึ่งที่ต้องเข้ามาอาศัยและมีอาชีพต่างๆ อยู่ในกรุงเทพฯ ที่ต่างทั้งความฝันและจุดมุ่งหมาย ทีมงานใช้เวลาในการถ่ายทำร่วม 1 ปีเต็มใช้เทปบันทึกภาพไปกว่า 300 ม้วน แต่ต้องตัดออกมาให้ได้เท่ากับภาพยนตร์ที่จะฉายเพียง 1 ชั่วโมงครึ่งเท่านั้น ซึ่งทุกภาพบนแผ่นฟิล์มคือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น แม้แต่คนที่ปรากฏอยู่ในหนังหรือแม้แต่ทีมงานก็ตาม ไม่มีบท ไม่มีการคัตหรือเทกใหม่ แต่เป็นการปลดปล่อยให้ทุกชีวิตโลดแล่นไปโดยไร้การกำกับการแสดง เสียงหัวเราะ หรือน้ำตาคือสิ่งหนึ่งที่ทีมงานพลาดไม่ได้แม้แต่วินาทีเดียว โดยเรื่องนี้ได้ทำการติดตามบุคคลที่น่าสนใจจากภาคอีสานทั้งหมด 5 คน… “พรศักดิ์ ส่องแสง” นักร้องหมอลำชื่อดังคนแรกของเมืองไทยที่เล่นคอนเสิร์ตมาแล้วทั่วโลก บุคคลที่เคยอยู่บนที่สูงสุดของอาชีพและต่ำสุดแต่ไม่มีใครได้ล่วงรู้ “เหลือเฟือ มกจ๊ก” ดาราและนักแสดงตลกที่มากฝีไม้ลายมือ แรงงานอีสานที่อยู่ในกรุงเทพฯ คือกระจกสะท้อนตัวเอง อาชีพตลกที่ไม่ได้มีแต่เสียงหัวเราะเสมอไป “แมน หัวปลา” อดีตพนักงานโบกรถทีใส่ชุดสัตว์น้ำเชิญชวนลูกค้าหน้าร้านอาหาร ป.กุ้งเผา กับอาชีพใหม่ที่อยากมุ่งไป “ตลกคาเฟ่” “เนตร อินทรีเหล็ก” สตันต์แมนที่ใช้ชีวิตอยู่บนความเสี่ยงทุกวินาทีเพื่อเป็นหนทางนำไปสู่ “จา พนม หมายเลข 2” “พี่อ้อย สิงห์นักขับ” สาวขับแท็กซี่รุ่นใหญ่อารมณ์ดีที่เพื่อนร่วมทางมักแปลกหน้าอยู่เสมอ เส้นทางกลับบ้านคือถนนที่ไกลที่สุด

กำลังแสดงผลลัพธ์ทั้งหมด 2 รายการ