เพลงของข้าว THE SONGS OF RICE (2558/2015) “เพลงของข้าว” เป็นการนำเสนอมุมมองวิถีของข้าวที่มีต่อวิถีของชาวนาในพื้นที่ทั่วประเทศไทย ด้วยการถ่ายทำที่ตื่นตาตื่นใจ สร้างความประทับใจผ่านชีวิตเปี่ยมสีสันของผู้คนที่ร่วมกันเฉลิมฉลองวาระต่างๆ ของวิถีแห่งข้าว ที่เกิดขึ้นตลอดทั้งปี และด้วยความพิเศษของเทคนิคการถ่ายทำที่งดงามในแบบที่ไม่เคยเห็นในภาพยนตร์ไทยเรื่องใดมาก่อน จนทำให้ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติระดับโลก ต่างพร้อมใจกันเชิญภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าร่วมฉาย โดย The Songs Of Rice เพลงของข้าว ได้คว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากสายนักวิจารณ์รางวัล FIPRESCO ในเทศกาลภาพยนตรร์ร็อตเตอร์ดามครั้งที่ 43 มาครองได้สำเร็จ หนังเรื่องนี้ เปรียบประดุจท่วงทำนองของบทเพลงแห่งข้าว ที่ผู้คนแต่ละพื้นที่ช่วยกันประสานท่วงทำนองแม้สำเนียงจะแตกต่างกัน แต่หัวใจของเสียงนั้นเป็นหนึ่งเดียวกันเหมือนกับที่ว่าในบางครั้ง ความสำเร็จของคนเราจะมีประโยชน์อะไร ถ้าหากเราไม่เรียนรู้ว่า คุณค่าของเรานั้นเริ่มต้นมาจากไหน
ปู่สมบูรณ์ Somboon (2557/2014) ภาพยนตร์สารคดีเล่าถึงความรักของปู่สมบูรณ์ที่มีต่อเมียดผู้เป็นภรรยาในช่วงอายุสุดท้ายของชีวิต เป็นเวลากว่า 45 ปีแล้วที่สองสามีภรรยาดูแลซึ่งกันและกัน จนถึงตอนที่ย่าเมียดได้ล้มป่วยด้วยโรคไต และไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้อีกต่อไป ปู่สมบูรณ์ก็คอยอยู่เคียงข้างย่าเมียดเสมอ แม้การร่วมชีวิตคู่จะมาจากขณบประเพณีคลุมถุงชน แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหาในการใช้ชีวิตคู่ของทั้งสอง เพราะต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่สามีภรรยาที่ดีต่อกัน รวมทั้งเป็นพ่อแม่ของลูก และปู่ย่าของหลาน ตลอดเส้นทางชีวิตพวกเขาได้สร้างความรักขึ้นมาและรักษามันไว้ชั่วนิรันดร์ แม้นไม่มีคำหวานใดๆเอ่ยจากปากของทั้งสอง แต่สิ่งที่เป็นอยู่มันสามารถสัมผัสรับรู้ได้ด้วยหัวใจ
เดอะมาสเตอร์ THE MASTER (2557/2014) ภาพยนตร์สารคดีที่จะพาผู้ชมไปรู้จักกับ “ร้านพี่แว่น” ร้านขายวิดีโอนอกลิขสิทธิ์ชื่อดังที่ขายหนังนอกกระแสและหนังหาดูยากเมื่อ 20 ปีก่อน ที่เป็นขวัญใจของคอหนังยุค 90's ในยุคที่ไม่มีแผ่นผี ภาพยนตร์ออนไลน์ นี่คือบิททอร์เรนท์ของเมืองไทยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว แม้จะเป็นกิจการที่ผิดกฎหมาย แต่ร้านพี่แว่นวิดีโอก็มีคุณูปการต่อวงการภาพยนตร์ไทยและนักดูชาวไทย เล่าเรื่องราวของร้าน "แว่นวิดีโอ" ร้านจำหน่ายวิดีโอภาพยนตร์นอกกระแสหลักจากต่างประเทศแบบละเมิดลิขสิทธิ์ ที่มีส่วนทำให้วงการภาพยนตร์อิสระในประเทศไทยเจริญเติบโตในเวลาต่อมา โดยดำเนินเรื่องผ่านการสัมภาษณ์บุคคลทั้งในและนอกวงการภาพยนตร์ไทยที่เคยมีส่วนเกี่ยวข้องกับร้านดังกล่าว ร้านพี่แว่นวิดีโอคือร้านจำหน่ายวิดีโอภาพยนตร์เถื่อน โดยภาพยนตร์ที่นํามาจำหน่ายเป็นเรื่องที่ไม่เข้าโรงภาพยนตร์ทั่วไปและไม่มีผู้จัดจำหน่ายอย่างถูกต้องตามกฎหมายในประเทศไทย ดังนั้นวิดีโอทุกม้วนของร้านแว่นวิดีโอคือวิดีโอผิดฎหมาย โดยสินค้าในร้านล้วนแล้วแต่ก็อบปี้ต้นฉบับมาทั้งสิ้น แต่ร้านนี้ก็ทำให้คอหนังชาวไทยได้เปิดหูเปิดตาและสร้างโลกทัศน์ใหม่ๆ จากการชมภาพยนตร์อิสระมากมาย สารคดีรวมคำให้การว่าด้วยตำนานของ "ร้านพี่แว่น" ร้านวิดีโอเถื่อนผู้ปลดแอกการดูหนังอินดี้ของชาวไทยเมื่อ 20 ปีก่อน ช่วงเวลาที่ไม่มีใครเอาหนังอินดี้มาฉายที่ลิโด้ และเฮาส์อาร์ซีเอยังไม่ถูกสร้าง ร้านพี่แว่นนี่แหละที่แอบลักลอบเอาหนังหว่องกาไว, ชุนจิ อิวาอิ, คิตาโน่, โนแลน, โกดาร์ด, อับบาส, สตูดิโอจิบลิ ฯลฯ เข้ามาในประเทศไทยให้พวกเราได้ รู้จักเป็นครั้งแรก! ภาพยนตร์สารคดีที่บอกเล่าที่มาของร้านแว่นวิดีโอ ไทม์ไลน์ร้านพี่แว่นตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม รุ่งเรือง ซบเซา จนปิดกิจการ ประสบการณ์ที่ลูกค้าจะได้รับเมื่อไปซื้อสินค้าที่ร้านนี้ รวมทั้งยังนำเสนอแนวคิดและมุมมองของลูกค้าในแง่มุมต่างๆ ทั้งต่อร้านพี่แว่นและเจ้าของร้าน ผ่านผู้ให้สัมภาษณ์ทั้ง 18 คน
เอวังฯ so be it (2557/2014) เรื่องราวของ 2 เด็กชาย ที่มีพื้นฐานชีวิตแตกต่างกัน หนึ่งคือ "วิลเลียม" ลูกครึ่งไทย-อเมริกัน และอีกหนึ่งคือ "บัณฑิต" เด็กชาวม้ง กับเส้นทางชีวิตที่ได้สัมพันธ์ใกล้ชิดกับศาสนาพุทธของทั้งคู่ที่ไม่เหมือนกัน
Mother (2557/2014) ลูกชายคนโตของครอบครัวเล็ก ๆ ครอบครัวหนึ่ง ได้เพียงเฝ้ามองครอบครัวกำลังล่มสลาย หลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนักและผู้เป็นแม่ตัดสินใจฆ่าตัวตาย แม้จะไม่สำเร็จ หลังจากเหตุการณ์นั้น แม่ได้กลายเป็นผู้พิการที่เต็มไปด้วยบาดแผลในใจ ส่งผลกระทบไปถึงสมาชิกคนอื่น ๆ ในครอบครัวที่ต่างปวดร้าวจากการตัดสินใจครั้งนั้นไปด้วย
By the River สายน้ำติดเชื้อ (2557/2014) ท่ามกลางความสงบของป่าลึก ชาวบ้านหมู่บ้านคลิตี้ในจังหวัดกาญจนบุรี ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายมาโดยตลอด ปลาในลำธารคือแหล่งอาหารหลักของชาวบ้านคลิตี้ แต่สายน้ำที่เป็นแหล่งทำมาหากินนั้นปนเปื้อนด้วยแร่ตะกั่วจากการทำเหมืองแร่มาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ชายหนุ่มคนหนึ่งในหมู่บ้านลงดำน้ำจับปลามาให้คนรักทุกวัน แต่วันนี้เขาหายไป ไม่อาจกลับมาหาเธอที่ยังคงรอคอยเขาอยู่
The Cheer Ambassadors (2557/2014) Cheer Ambassadors เฉลิมฉลองความสำเร็จจากการฉายในเทศกาลภาพยนตร์ทั่วโลก ด้วยการฉายในกรุงเทพฯ หลังคว้ารางวัลมากมายจากการเข้าฉายใน 10 ประเทศ และเผยให้ทั่วโลกเห็นความสามารถของเด็กไทย ในที่สุด The Cheer Ambassadors ก็พร้อมเข้าฉายที่กรุงเทพฯ แล้ว 04 มีนาคม 2014 - A Single Production Company ยินดีที่จะประกาศให้ทราบว่า The Cheer Ambassadors ภาพยนตร์สารคดีที่คว้ารางวัลจากเทศกาลมากมาย จะเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ House Rama (RCA) ในวันที่ 13 มีนาคม เป็นต้นไป ผลตอบรับจากทั่วโลกที่มีต่อ The Cheer Ambassador น่าพอใจเป็นอย่างมาก ภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้เข้าฉายมากกว่า 10 ประเทศ ได้รับรางวัล Best Documentary จากเทศกาลภาพยนตร์ 60°N Os ประเทศนอร์เวย์ และรางวัล the Audience Award จากเทศกาล the ChopShots Documentary Film Festival Southeast Asia ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย และเข้าฉายเป็นครั้งแรกที่ทวีปอเมริกาเหนือที่ CAAMFEST เทศกาลภาพยนตร์อเมริกันเอเชียนที่ใหญ่ที่สุดในโลก นอกจากนี้ทีมผู้สร้างยังได้มีโอกาสทูลเกล้าถวายภาพยนตร์เรื่องนี้แด่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีอีกด้วย The Cheer Ambassadors เป็นภาพยนตร์สารคดีที่นำเสนอเรื่องราวของผู้ฝึกสอนของทีมเชียร์ลีดเดอร์ทีมชาติไทยที่เปี่ยมไปด้วยความฝันและความมุ่งมั่น เขาได้ผลักดันนักกีฬาที่ไม่มีใครรู้จักให้กลายเป็นทีมระดับโลกและทำให้ผู้คนทั่วโลกตะลึง เมื่อพวกเขาสามารถนำเหรียญรางวัลจากการแข่งขัน World Cheerleading Championships ที่จัดโดย ICU (International Cheer Union) ณ เมืองออร์ลันโด มลรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา กลับบ้านได้ในปี 2009 และ ปี 2011 ภาพยนตร์ได้เก็บบันทึกเรื่องราวของมิตรภาพอันพิเศษของนักกีฬาทีมไทยและทีมอเมริกัน ซึ่งต่างก็ให้เกียรติซึ่งกันและกัน และเป็นกำลังใจให้แก่กัน นี่คือภาพยนตร์สารคดีที่เปี่ยมด้วยแรงบันดาลใจที่จะทำให้คุณเอาใจช่วยทีมนักกีฬาไก่รองบ่อนอย่างหมดหัวใจ
ฟ้าต่ำ แผ่นดินสูง Boundary (2556/2013) ภาพยนตร์สารคดีท่องเที่ยวที่ว่าด้วยการเดินทางอันเริ่มจากความอยากรู้อยากเห็นของวัยรุ่นกรุงเทพฯ คนหนึ่ง ที่อยากรู้ว่าชีวิตความเป็นอยู่ของคนต่างจังหวัดและคนที่อาศัยอยู่บริเวณชายแดนนั้นดำเนินชีวิตและมีทัศนคติต่อเรื่องราวต่าง ๆ ในสังคมไทยอย่างไร ภาพยนตร์นำพาไปสู่พื้นที่ที่สวยงามและพื้นที่ที่คนในเมืองไม่มีโอกาสได้พบเห็นทั่วไปในจังหวัดศรีสะเกษ และ จังหวัดในประเทศกัมพูชาที่มีชายแดนติดกับประเทศไทย และเป็นพื้นที่พิพาทกันระหว่างสองประเทศพอดี ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง พยายามนำเสนอประเด็นความขัดแย้งด้วยความระมัดระวัง และมุ่งหวังประเด็นเพื่อสันติภาพเป็นหลัก โดยได้รับรางวัลทุนสนับสนุนในการสร้าง จากองค์กรศิลปะระหว่างประเทศ Art Network Asia และ เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติปูซาน Asian Network Documentary DMZ Fund
ประชาธิป’ไทย Paradoxocracy (2556/2013) ภาพยนตร์สารคดีที่พาทุกคนไปค้นหาความหมายของคำว่าประชาธิปไตย ผ่านนักคิดนักวิชาการชื่อ ดังมากมาย ทั้ง ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, สุลักษณ์ ศิวรักษ์, จิระนันท์ พิตรปรีชา, ศรัญญู เทพสงเคราะห์, ศาสตราจารย์ ดร. ธงชัย วินิจจะกูล, รองศาสตราจารย์ ดร. ไชยันต์ ไชยพร, ศาสตราจารย์ ดร. สมบัติ ธำรงธัญวงศ์, รองศาสตราจารย์ ดร. วรเจตน์ ภาคีรัตน์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์, ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล, ศาสตราจารย์ ดร. นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, สมบัติ บุญงามอนงค์, รองศาสตราจารย์ ดร. สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ และ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. อัมมาร สยามวาลา ที่ลากผ่านประวัติศาสตร์การเมืองไทยตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 จนถึงทุกวันนี้
Wish Us Luck ขอให้เราโชคดี (2556/2013) การเดินทางกลับบ้านของสองสาวฝาแฝด วรรณแวว และ แวววรรณ หงษ์วิวัฒน์ ที่คุณต้องเอาใจช่วย พวกเธอทุกย่างก้าวตั้งแต่ลอนดอนจนถึงกรุงเทพฯ อังกฤษ - ฝรั่งเศส - เยอรมัน - รัสเซีย - มองโกเลีย - จีน - เวียดนาม - ลาว - ไทย คือรายชื่อนานาประเทศที่พวกเธอจะต้องนั่งรถไฟผ่าน ซึ่งถ้าดูจากรายชื่อของแต่ละประเทศเหล่านี้แล้วทุกคนก็คงจะนึกออกแล้วว่า พวกเธอทั้งสองกำลังอยู่บนเส้นทางรถไฟสายที่ยาวที่สุดในโลก ทรานส์ไซบีเรียน ตลอดระยะเวลา 1 เดือนที่เดินทางด้วยรถไฟ พวกเธอต้องพบเจอกับอุปสรรคมากมายที่ต้องผ่านไปให้ได้ ทั้งผู้คนที่พูดต่างภาษา เส้นทางที่ไม่คุ้นเคย รวมถึงวัฒนธรรมที่ผิดแผกแตกต่างไปจากสิ่งที่พวกเธอเรียนรู้กันมา ทำให้เกิดเป็นห้องเรียนเล็ก ๆ ให้ทั้งสองได้เรียนรู้ผ่านบทเรียนชีวิตไปทีละหน้าทีละหน้า หรือจะพูดให้เข้ากับบรรยากาศก็ต้องพูดว่าเรียนรู้ไป ทีละขบวนทีละขบวน ในตู้รถไฟเสมอ ๆ เป็นประจำทุกวัน หนังเรื่องนี้จึงเป็นยิ่งกว่าหนังแต่เป็นเหมือนสัญลักษณ์ยืนยันสายสัมพันธ์ของทั้งคู่ที่เป็นทั้งเพื่อน และแน่นอนพี่น้องฝาแฝด แนบแน่นยิ่งขึ้นผ่านเหตุการณ์ที่ทั้งสองจะต้องลำบาก และฝ่าฟันกันมาตลอดการเดินทางในครั้งนี้
เดอะ สตันต์ (The STUNT) (2556/2013) ภาพยนตร์สารคดีเผยถึงเบื้องหลังชีวิตเสี่ยงตายของนักแสดงผาดโผน พร้อมด้วยการดำดิ่งสู่เบื้องลึกของอาชีพสตันต์แมนและวงการหนังแอคชั่นไทยในปัจจุบัน ถ่ายทอดโดยสตันต์แมนแถวหน้าของเมืองไทย ร่วมด้วยผู้กำกับและนักแสดงชื่อดัง นับเป็นครั้งแรกของการรวมตัวสตันต์แมนผู้อยู่เบื้องหลังวงการหนังแอคชั่นไทย ในภาพยนตร์สารคดี The STUNT ที่จะมาเปิดปากถึงชีวิตสตันต์และวงการหนังบู๊ไทยในปัจจุบันอย่างหมดเปลือก นำทีมโดย พันนา ฤทธิไกร ปรมาจารย์นักบู๊ ผู้ปลุกปั้น จา พนม ; เซ้ง กวี ผู้นำแบรนด์ Thai Stuntmen สู่ระดับสากลอย่าง Rambo4, The Expendables2 ; แผงฤทธิ์ แสงชา ผู้กำกับคิวบู๊มากฝีมืออย่าง บางระจัน, ฟ้าทะลายโจร ยังมีสตันต์รุ่นใหญ่ รุ่นเก๋า รุ่นใหม่กว่า 10 ชีวิต ร่วมด้วย ; ปรัชญา ปิ่นแก้ว ผู้กำกับองค์บากและต้มยำกุ้ง ; วิชช์ เกาไศยนันท์ ผู้กำกับไทยคนแรกในฮอลลี่วู้ด และแขกรับเชิญพิเศษ ; Gary Daniels นักแสดงชื่อดัง เจ้าของตำนานหมัดเทพเจ้าดาวเหนือ ถ่ายทอดโดยผู้กำกับรุ่นใหม่ ศฐาณพงศ์ ลิ้มวงษ์ทอง
สิ้นเมษาฝนตกมาปรอยปรอย (2555/2012) หนุ่ม (อุเทน ศรีริวิ) เป็นหัวหน้าคนงานก่อสร้างในกรุงเทพฯ ที่เต็มไปด้วยบรรยากาศของความขัดแย้งทางการเมือง เมื่อหนุ่มตกงาน เขาจึงถือโอกาสเดินทางกลับบ้านที่จังหวัดขอนแก่นในช่วงเทศกาลสงกรานต์เพื่อไปงานแต่งงานของเพื่อนสมัยเรียน ที่นั่น หนุ่มได้พบกับ จอย (จิณณพัต ลดารัตน์) หญิงสาวรุ่นพี่สมัยมัธยมที่หนุ่มเคยชอบ ทั้งคู่จึงแลกเบอร์โทรศัพท์เพื่อสานต่อความสัมพันธ์ ทำให้มีโอกาสได้พูดคุยกันเรื่องวิถีแห่งความสุขของ อัลแบร์ กามูส์ และหนุ่มก็เปิดใจว่าเขาอยากจะสร้างภาพยนตร์สักครั้ง ทันใดนั้น เรื่องราวก็เปลี่ยนทิศทางไปอย่างกระทันหัน เมื่อคุณพ่อและพี่ชายของผู้กำกับ วิชชานนท์ สมอุ่มจารย์ ปรากฏตัวขึ้น เปิดเผยเรื่องราวของครอบครัวและชีวิตการสร้างภาพยนตร์ ทำให้รับรู้ว่าหนุ่มเป็นเพียงตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นมาจากเศษเสี้ยวของความทรงจำ นำไปสู่การสำรวจเส้นทางชีวิตของชายหนุ่ม คนที่คดเคี้ยวราวกับเขาวงกตแห่งความเป็นจริงและจินตนาการ สารคดีและเรื่องแต่ง ภาพอดีตและปัจจุบัน ซึ่งไม่ได้เป็นภาพสะท้อนของตัวละครเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสังคมไทยในภาพรวมอีกด้วย
รงค์ วงษ์สวรรค์ (2555/2012) วันที่ 15 มีนาคม 2552 , รงค์ วงษ์สวรรค์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ.2538 เสียชีวิตจากอาการเส้นเลือดในสมองแตก 10 เดือนต่อมา, ญาติพี่น้อง จัดงาน “มกราคมอำลา” ที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นระยะเวลา 22 วัน เพื่อรำลึกถึงและแสดงความยินดี ... ส่งพญาอินทรีย์แห่งสวนอักษรสู่สรวงสวรรค์ ... พิธีพระราชทางเพลิงศพถูกจัดขึ้นในวันที่ 18 มกราคม 2553 ที่สุสานสันกู่เหล็ก จังหวัดเชียงใหม่ , ญาติน้ำหมึก และแฟนหนังสือจากทั่วสารทิศ หลั่งไหลมาร่วมพิธีพระราชทานเพลิงศพของนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ ในช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกัน ระหว่างเหตุการณ์ทั้งหมด มีความรู้สึกหนึ่งที่เรียกว่า “รัก” เป็นตัวขับเคลื่อนทุกสิ่ง จากวันนั้นที่เศร้าโศก จนถึงวันนี้ที่เยียวยา, 3 ปีผ่านไป ความรู้สึกนั้นถูกบันทึกไว้ด้วยกล้องวิดีโอเล็ก ๆ ตัวหนึ่ง และกล้องวิดีโอตัวนี้ จะนำพาทุกคนย้อนกลับไปสู่ช่วงเวลาเมื่อ 3 ปีที่แล้วอีกครั้ง ...
THE MISSING PIECE ฉันอยู่นี่… เธออยู่ไหน (2554/2011) สารคดีแบบหนังซ้อนหนังเรื่องนี้จะเล่าเรื่องเกี่ยวกับคนพิการกลุ่มหนึ่งที่พิการต่างรูปแบบกัน พวกเขามารวมตัวกันเพื่อสร้างภาพยนตร์ แน้ม ชายหนุ่มอายุ 20 ปี พิการแขนขามาแต่กำเนิด แน้มรับหน้าที่เป็นผู้กำกับ เขาชวนเพื่อนๆอีกสี่คนอันประกอบด้วย เสือ ชายวัย 20 ปีและพิการแขนขาบิดเบี้ยวแต่กำเนิด เสือมีความสามารถในการร้องลิเก แน้มชวนเสือมาเป็นพระเอกของเรื่อง จรัล ชายหนุ่มอายุ 21 ปี แต่มีรูปร่างเท่าเด็กสิบขวบ จรัลตาบอดสนิท เขาเป็นคนคอยดูแลอาบน้ำแต่งตัว ป้อนข้าวและเข็นรถให้เสือทุกวัน แม้ตาจะมองไม่เห็นแต่หูของเขาใช้งานได้ดี เขาจะมาทำหน้าที่บันทึกเสียง บุญธรรม ชายวัย 20 ปี ผู้ถูกตัดขาดจากโลกแห่งการได้ยิน เขาไม่สามารถถ่ายทอดเรื่องราวต่างๆเป็นคำพูดได้ แต่บุญธรรมหลงใหลการวาดรูปและถ่ายรูปเป็นอย่างมาก เขาจึงจะมาถ่ายภาพยนตร์ให้กับแน้ม และคนสุดท้ายคือ ต่อ เขาเป็นเด็กหนุ่มวัยรุ่นผู้มีความบกพร่องทางสติปัญญาหรือที่เรียกว่าเด็กออทิสติก ต่อชอบจับกบเป็นชีวิตจิตใจ ร่างกายอันแข็งแรงของเขาเหมาะกับการมาเป็นผู้ช่วยผู้กำกับอย่างยิ่ง ทั้งสี่คนนี้จะช่วยกันสร้างภาพยนตร์สั้นโดยผ่านการเล่าเรื่องของพวกเขาเอง ผ่านมิตรภาพ การช่วยเหลือเติมเต็มในสิ่งที่แต่ละคนขาดหายไป เพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเขาไม่แตกต่างจากมนุษย์ปกติ
Placeholder
Baby Arabia เบบี้ อาราเบีย (2554/2011) วงดนตรีแนวอาหรับมาเลย์ที่ชื่อ เบบี้ อาราเบีย ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ 30 ปีที่แล้ว พวกเขาหลายคนมีพื้นเพเป็นชาวอ่อนนุชที่รักและหลงใหลเสียงเพลงภาษาอาหรับและมลายู พวกเขาดัดแปลงทำนองเพลงของตัวเองให้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยใส่ทำนองดนตรีแบบตะวันตกเข้าไปด้วย แล้วถ่ายทอดบทเพลงเหล่านั้นในคอนเสิร์ต ซึ่งจัดขึ้นตามงานเกี่ยวกับศาสนาอิสลามของชุมชนมุสลิมรอบนอกกรุงเทพฯ ชีวิตนอกเวทีของนักดนตรีและนักร้องทั้ง 4 คนนั้นมีพื้นเพแตกต่างกันไป ตั้งแต่แม่บ้านธรรมดา ครูสอนศาสนา คนเฝ้าบ่อปลา และคุณตาของหลานๆ สิ่งที่สะท้อนผ่านตัวตนของพวกเขา นอกเหนือจากวิถีชีวิตแบบไทยมุสลิมแล้ว ยังมีวัฒนธรรมย่อยมุสลิมภาคกลางที่นับวันจะสูญสลายไปตามกาลเวลา