โอเคสังข์ทอง (2497)
โอเคสังข์ทอง (2497/1954) ท้าวสามล เป็นกษัตริย์ ณ สามลพระนคร มีเอกอัครชายาชื่อ มณฑาเทวี มีพระราชธิดา 7 พระองค์ องค์สุดท้องชื่อ รจนา วันหนึ่งท้าวสามลและนางมณฑาเทวีใช้ให้ ขุนหมื่น ไปเชิญหน่อกษัตริย์ร้อยเอ็ดหัวเมืองมาชุมนุมให้ธิดาทั้งเจ็ดพระองค์เลือกเป็นคู่ครอง ธิดาทั้ง 6 เลือกหน่อกษัตริย์ที่ตนพึงใจ เว้นเสียแต่รจนาที่เลือกเอาเจ้าเงาะหน้าตาอัปลักษณ์เป็นคู่ แม้เสด็จพ่อเสด็จแม่จะห้ามปรามยังไงก็ไม่ฟัง รจนาและเจ้าเงาะครองสุขได้ไม่นานก็ถูกกลั่นแกล้งให้ไปหาปลา นายเงาะหรือพระสังข์ก็ไปหามาได้ซ้ำยังแกล้งตัดจมูกหกเขยเสียด้วย ต่อมานายเงาะก็ถูกเกณฑ์ให้ไปหาเนื้ออีกนายเงาะจึงแกล้งตัดหูหกเขย เวลาผ่านไปเจ้าเงาะไม่ยอมถอดรูปออกจึงร้อนไปถึงสวรรค์พระอินทร์ออกอุบายแปลงตนมาชิงเมืองท้าวสามล ท้าวสามลส่งใครไปรบก็แพ้ ส่ง 6 เขยไปต่อสู้ก็แพ้ มองไม่เห็นทางออกใดจึงจำยอมเชิญเจ้าเงาะมาช่วยรบ เจ้าเงาะยอมไปรบโดยถอดรูปเงาะและรบได้ชัยชนะกลับมา ขับไล่พระอินทร์เหาะขึ้นฟ้าไป เมื่อท้าวสามลและนางมณฑาเห็นเจ้าเงาะถอดรูปก็หลงใหล ยิ่งรู้ว่าเจ้าเงาะคือ พระสังข์ราชบุตรท้าวยศวิมลกับนางจันทร์เทวี ก็ยิ่งปลาบปลื้มยกสมบัติพัสถานให้สังข์ทอง
พิมพิลาไลย (2498)
พิมพิลาไลย (2498/1955) นิยายจาก ขุนช้างขุนแผน วรรณคดีชั้นเยี่ยมของไทย ทองประศรี ต้องเลี้ยงดู พลายแก้วแต่เพียงผู้เดียวหลังจากที่ ขุนไกร ต้องโทษประหารชีวิต 15 ปีผ่านไป พลายแก้วบวชเรียนสั่งสมวิชาจนเก่งกล้าวันหนึ่งเณรแก้วออกเทศน์ทำให้ พิมพิลาไลยหลงใหลในสำเนียง เณรแก้วไม่สามารถระงับกิเลสจึงลาสิกขาบทมาหานางพิมและแต่งงานกันในเวลาต่อมา เป็นผลให้ ขุนช้างแค้นพลายแก้วเพราะหมายปองนางพิมอยู่ ขุนช้างฉวยโอกาสกราบทูลพระพันวษาให้แต่งตั้งพลายแก้วไปคุมทัพปราบเชียงทอง ในระหว่างที่พลายแก้วไม่อยู่ก็ออกอุบายต่างๆ เพื่อให้นางพิมแต่งงานด้วยแต่ก็ไม่สำเร็จ ต่อมานางพิมล้มป่วย ขรัวตาจึงเปลี่ยนชื่อเป็น วันทอง เพื่อสะเดาะเคราะห์ ขุนช้างกุเรื่องหลอกนางวันทองจนสำเร็จและได้แต่งงานกับนางวันทอง พลายแก้วนำทัพชนะได้รับพระราชทานยศเป็นขุนแผน พร้อมได้ลาวทอง ชาวเชียงทองเป็นภรรยาอีกคน วันทองดีใจที่พลายแก้วไม่ตายแต่ก็เสียใจที่ตกเป็นของขุนช้างแล้ว ขุนแผนกับขุนช้างได้รับราชโองการให้ไปรับราชการ ขุนช้างฟ้องพระพันวษาว่าขุนแผนทิ้งหน้าที่หนีไปหาลาวทองที่สุพรรณบุรี ขุนแผนจึงถูกเนรเทศไปเป็นนายด่านเมืองกาญจนบุรี ขุนแผนแค้นขุนช้างมากจึงสร้างดาบฟ้าฟื้น ปลุกเศกกุมารทองและค้นหาม้าสีหมอกตามตำราพิชัยสงคราม แล้วบุกไปชิงนางวันทองที่เรือนขุนช้าง
วารุณี (2498)
วารุณี (2498/1955) เมื่อร้อยกว่าปีมาแล้วมีคนตายที่บ้านของ จิต นักโบราณคดี ในตัวผู้ตายมีลายแทงกับกำไลข้างหนึ่งซึ่งเหมือนกับกำไลโบราณที่จิตมีอยู่ กำไลนี้มีลายสวัสดิกะสลักอยู่ ซึ่งเมื่อพันให้ตรงกันจะเกิดเป็นประกายไฟลุกขึ้น ตามลายแทงนั้นว่ากำไลนี้จะสามารถชุบชีวิตพระนางวารุณี ซึ่งถูกสาปเป็นหินอยู่ในถ้ำใต้ปราสาทหินพิมายให้คืนชีพขึ้นมาได้ จิตจึงชวนบุษบา น้องสาวและเชิด คนรักของบุษบาเดินทางไปปราสาทหินพิมายด้วยกัน โดยมีเมฆเป็นผู้นำทางผ่านดงพญาไฟ ระหว่างทางพวกเขาต้องเผชิญหน้ากับสิงสาราสัตว์ต่างๆ จิตและคณะถูกคนป่าพวกช่าย่าเหินซึ่งบูชาพระนางวารุณีจับตัว ปรากฏว่าแท้จริงแล้วเมฆเป็นหัวหน้าคนป่านั่นเอง เมฆสั่งประหารจิตแต่เชิดมาช่วยไว้ได้ เมื่อทั้งหมดเดินทางต่อจนถึงปราสาทหินพิมายก็เกิดแผ่นดินไหว แต่ในที่สุดก็สามารถหาทางเข้าถ้ำได้ และได้พบกับพระนางวารุณีซึ่งนอนเป็นหินอยู่บนแท่น จิตใช้กำไลวิเศษชุบชีวิตพระนางทำให้พระนางฟื้น และเล่าอดีตเมื่อหนึ่งพันปีก่อน ผู้ที่ไปตายบ้านจิตก็คือ ขุนพลกัมพุช ซึ่งกลับชาติมาเกิดและพยายามชุบชีวิตพระนางแต่ไม่สำเร็จ ทันใดนั้น ก็เกิดแผ่นดินไหวขึ้นทำให้หินถล่มมาปิดทางเข้าถ้ำ พระนางวารุณีวิ่งกลับไปหาร่างของขุนพลฯ ที่เป็นหิน แต่เพดานถล่มลงมาทับพระนางเสียก่อนพระนางบอกทางออกให้จิต เชิด และบุษบาก่อนจะสิ้นลมหายใจ
อัศวินเหล็ก (2498)
อัศวินเหล็ก (2498/1955) บุษบง และ บุษบา สองศรีพี่น้องซึ่งกำลังเป็นสาวสะพรั่ง สร้างความกลุ้มอกกลุ้มใจแก่ นายพลตรีบรรลือฤทธิ์ ผู้เป็นบิดา เพราะเริ่มมีหนุ่มๆ มาจีบลูกสาวของตนโดยเฉพาะบุษบงผู้พี่ ซึ่งมี ธำรง มาติดพัน แม้บรรลือฤทธิ์จะปรามด้วยว่าบุษบงมีคู่หมั้นอยู่แล้ว แต่ก็ถูกบุษบงตอกกลับทุกครั้ง เพราะไม่เคยเห็นหน้าตาคู่หมั้นที่พ่อกล่าวอ้าง รู้เพียงว่าชื่อ เปีย วันหนึ่ง ด่วม ลูกชายผู้ว่าเชียงใหม่เกลอเก่าของบรรลือฤทธิ์ มาศึกษาต่อที่กรุงเทพและขออาศัยที่บ้านของบรรลือฤทธิ์ บุษบงมองด่วมด้วยสายตาดูถูก แถมยังบังคับไม่ให้บุษบาไปสุงสิงกับด่วม บรรลือฤทธิ์ได้แต่ระอาใจ จึงขอร้องให้ด่วมช่วยดูแลบุตรีในระหว่างที่ตนเองไปทำธุระที่ปากน้ำโพ ทำให้ด่วมมีเรื่องชกต่อยกับธำรงที่ดึงดันจะพาบุษบงไปเที่ยว บุษบงไม่เข็ดหลาบขอพ่อไปเที่ยวบางแสนกับ ธำรงบรรลือฤทธิ์อนุญาตโดยมีข้อแม้ว่าต้องมีด่วมไปด้วย ธำรงเกลียดด่วมเป็นทุนเดิมจึงไปจ้างวานนักเลงท้องถิ่นให้ฆ่าด่วม แต่กลับตาลปัตรเพราะนักเลงคนนั้นนับถือด่วมมาก จึงตลบหลังขูดรีดเงินจากธำรง ซ้ำยังขู่ให้ธำรงรีบไสหัวกลับกรุงเทพ ที่บางแสนนี่เองที่บุษบงได้รู้ว่าด่วมมีอีกชื่อ คือ โสภณ จู่ๆ บุษบาก็โทรเลขมาแจ้งว่าบรรลือฤทธิ์หายตัวไป โสภณสังหรณ์ใจว่าจะเกิดเหตุร้ายจึงรีบไปแจ้งตำรวจทำให้คลาดสายตาจากบุษบง ธำรงส่ง สกล มาหลอกบุษบงว่าธำรงถูกรถชนอาการปางตาย บุษบงหลงเชื่ออย่างง่ายดาย กว่าจะรู้ตัวว่าถูกหลอกก็ต่อเมื่อพบว่าธำรงเป็นคนจับตัวบรรลือฤทธิ์ไปทรมาน เพื่อเค้นถามที่ซ่อนอาวุธของรัฐบาล ร.ต.อ. เผชิญ กับ ร.ต.อ. โสภณ นำกำลังตำรวจมาล้อมที่บ้านธำรง เกลี้ยกล่อมให้ยอมมอบตัวแต่ไม่เป็นผลโสภณร้อนใจแอบปีนหน้าต่างเข้าไปภายในตึกและเกิดการต่อสู้กับธำรงขึ้น โสภณฟันธำรงเสียชีวิตและช่วยบุษบงออกมาได้สำเร็จ หลังเกิดเหตุ สิทธิศักดิ์ พ่อของโสภณเดินทางจากภาคเหนือมาเยี่ยมลูกชาย บุษบงจึงได้รู้ความจริงว่าแท้จริงแล้ว ด่วม หรือ โสภณ ก็คือ เปีย คู่หมั้นปริศนาที่บุษบงไม่เคยเห็นหน้านั่นเอง
นางแก้ว (2498)
นางแก้ว (2498/1955) เหตุฆาตกรรมที่บาร์ "ซิลเวอร์มูน" เป็นที่ประหลาดใจแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจ เนื่องจากผู้ต้องหาเป็นหญิงสาวรูปร่างบอบบาง จึงนำตัวเธอไปสอบสวนที่สถานีตำรวจได้ความว่า เธอชื่อ ชบา เป็นคนจังหวัดอยุธยา หลังจากที่บิดาถูกจับเข้าคุก วิชิต ซึ่งเป็นโจรได้รับอุปการะชบาและส่งเสียให้ได้เรียนหนังสือ ชบาพบรักกับ เรือเอกสุรพล แต่ต้องยอมตีตัวออกห่าง เพราะรู้ว่าวิชิตมีใจให้ตนเอง คืนหนึ่ง วิชิตถูกทหารญี่ปุ่นจับโทษฐานที่ไปปล้นโกดัง ชบาจึงต้องไปอาศัยอยู่กับ ไปล่ สมุนของวิชิต ที่คิดจะขืนใจชบา สุรพลเป็นห่วงชบาพยายามจะช่วยเหลือหญิงสาว ทันใดนั้นเอง วิชิตก็โผล่เข้ามาในสภาพยับเยิน มือพิการเพราะถูกทหารญี่ปุ่นทารุณ เมื่อรู้ว่าไปล่ทรยศก็ฆ่าไปล่ทิ้ง ชบาปฏิเสธความช่วยเหลือจากสุรพลเนื่องจากต้องการปรนนิบัติวิชิต เมื่อเริ่มฝืดเคืองเงินทอง ชบาจึงต้องหันไปเป็นพาร์ตเนอร์ที่บาร์ซิลเวอร์มูน เป็นเหตุให้วิชิตหนีหายสาปสูญเพราะความเสียใจ สุรพลยังคงห่วงใยชบาจึงพาไปอยู่ที่บ้าน แต่ไม่นานชบาก็ต้องกลับไปประกอบอาชีพเดิม เพราะแม่ของสุรพลไม่ยอมรับชบาเป็นลูกสะใภ้ วิชิตยังคงวนเวียนอยู่กับชบา คอยดูแลชบาอยู่ห่างๆ โดยที่เธอไม่รู้ตัว วันหนึ่ง วิชิตเห็นสุรพลยื้อยุดฉุดมือชบาก็เกิดเข้าใจผิดเข้าไปชกสุรพลและเกิดการต่อสู้กันแต่ความจริงแล้วสุรพลเพียงแค่มาตามชบากลับไปอยู่ด้วยวินาทีที่วิชิตกำลังจะลงมือฆ่าสุรพล ชบาจึงตัดสินใจลั่นไกไปที่วิชิตอย่างไม่ลังเล เมื่อตำรวจได้ฟังเรื่องราวทั้งหมดจึงปล่อยตัวชบาให้เป็นอิสระอย่างแท้จริง
สามเกลอแผลงฤทธิ์ (2497)
สามเกลอแผลงฤทธิ์ (2497/1954) หลังจากเกษียณราชการ ขุนรักษาพยายามคิดค้นยาชุบชีวิตคนตายให้กลายเป็นคนเป็นเพราะหวังจะร่ำรวยมีเงินทอง แต่ยังขาดตัวยาอยู่สองขนาน บังเอิญ เสน่ห์ แป๊ะ และ ฮะ มาติดพัน นารี ลูกสาวสุดที่รักของขุนรักษา แกจึงออกอุบายให้สามเกลอไปหาตัวยาวิเศษกับเจ้าทองคำที่เชียงใหม่ โดยสัญญาว่าจะยกลูกสาวให้ถ้าทำสำเร็จ สามเกลอไม่รอช้า มุ่งหน้าสู่เชียงใหม่ แม้เจ้าทองคำจะขายตัวยาให้ธนาคารที่ลำปางไปแล้วก็ตามไปซื้อจนสำเร็จ และเดินทางต่อไปยังปราสาทหินพิมายซึ่งเป็นจุดหมายของตัวยาขนานสุดท้าย เมื่อหาตัวยาได้ครบก็รีบเดินทางกลับมารับรางวัลที่กรุงเทพ โดยไม่รู้ตัวว่ากำลังถูก สมพล วายร้ายสะกดรอยตามหวังชิงยาวิเศษ ขุนรักษาลงมือปรุงยาทันควัน แล้วสั่งให้สามเกลอไปขุดศพ เสือโพล้ง ที่ป่าช้ามาทำการทดลองชุบชีวิตเสือโพล้งฟื้นคืนชีพมาอาละวาดบีบคอเสน่ห์แล้วจับตัวนารีไป สามเกลอรีบตามไปชิงตัวนารีคืน แล้วฉีดยาพิษใส่เสือโพล้งให้ตายดังเดิม ส่วนขุนรักษาที่รออยู่ที่บ้าน ถูกสมพลจับตัวไปขู่จะเอายาวิเศษ โชคดีที่ เฉย คนใช้ช่วยขุนรักษาไว้ได้ ขุนรักษากลับมาปรุงยาอีกครั้งและประสบผลสำเร็จ ทั้งนี้เป็นเพราะสามเกลอแผลงฤทธิ์นำพาความปรกติสุขกลับมา
ล่องแพ (2497)
ล่องแพ (2497/1954) "คุณแม่ครับ! ต่อไปนี้ผมคงไม่ได้เรียนหนังสือแน่แล้ว" "มึงจำได้ไหม? ครั้งหนึ่งเมื่อกูเด็ก ๆ มึงจะฆ่ากู มึงกดน้ำกูอย่างงี้ ๆ ๆ" (ที่มา: นิตยสารข่าวภาพยนตร์ กรกฎาคม พ.ศ. 2497)
อัศวินสาว (2497)
อัศวินสาว (2497/1954) เชิงชาย กับ อัศนี สองเพื่อนรักต้องมาผิดใจกันเพราะต่างก็หลงรัก อารมณ์ หลายปีผ่านไปอัศนีได้เป็นนายตำรวจและได้รับมอบหมายให้ตามล่าสมุนของเชิงชายที่ค้าของเถื่อน เชิงชายทราบข่าวจึงสั่งฆ่าอัศนี ทำให้อารมณ์กลายเป็นภรรยาหม้าย ต้องเลี้ยงมาริน ลูกสาวเพียงผู้เดียว เวลาผ่านไป มารินโตเป็นสาวสะพรั่งเข้าศึกษานักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงเพื่อสืบทอดเจตนารมณ์จากพ่อ แต่ก่อนมารินสำเร็จการศึกษาเพียงไม่กี่วันอารมณ์ก็ถูกฆ่าตาย ขณะนั้นเอง ทางราชการสั่งให้มารินปลอมตัวสมัครไปเป็นเลขานุการิณีของเชิงชาย ทำให้ตำรวจสามารถบุกทลายที่ซ่องโจรของเชิงชายได้สำเร็จ เชิงชายจับตัวมารินหนีไปกบดานที่หัวหินโดยมี บรรชา ลูกชายของเชิงชายไปด้วย มารินหาโอกาสที่เชิงชายเผลอ ฆ่าเชิงชายเพื่อล้างแค้นแทนพ่อ แม้ตนเองจะรักบรรชาอยู่ก็ตาม
คำสั่งคำสาป (2497)
คำสั่งคำสาป (2497/1954) ดร.ทองคำ เป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ยึดมั่นในลัทธิประชาธิปไตย มีสานุศิษย์เคารพเป็นจำนวนมาก เมื่อ ดร.ทองคำ เสียชีวิต นายพูน พี่ชายของดร.ทองคำ ซึ่งเป็นผู้ร่วมอุตสาหกรรมน้ำพูนจิตต์ รับ เครือมาศ ลูกสาวคนเดียวของ ดร.ทองคำ มาดูแล นายพูนได้สร้างอนุสาวรีย์ ดร.ทองคำ ขึ้น และพยามยามชักจูงผู้ที่เคยเลื่อมใส ดร.ทองคำ ให้มาเลื่อมใสตน แต่เบื้องหลังกลับวางแผนการกำจัดเครือมาศโดยการวางยาทำลายเส้นประสาท เครือมาศรู้ตัวทันจึงลอบหนีไปหา ขุนลีลาศาสตร์สุนทร เพื่อนรักของ ดร.ทองคำ ขุนลีลาศาสตร์สุนทรอาศัยอยู่กับ ชัยศิริ บุตรชายซึ่งมีอาชีพเป็นนักสืบชัยศิริจึงรับปากจะช่วยเครือมาศ ชัยศิริลอบเข้าบ้านพูนโพคาเพื่อสืบหาหลักฐานสาเหตุการเสียชีวิตของ ดร.ทองคำ นายพูนมาพบเข้าจึงเกิดการต่อสู้กัน นายพูนและแม่ผันแยกกันหนี แม่ผันออกไปทางลับเพื่อเรียกคนมาช่วย ส่วนนายพูนหนีไปทางตึกที่มีรูปปั้น ดร.ทองคำ ชัยศิริซ้อนกลนายพูนต่อหน้าคนที่แม่ผันเรียกมา โดยทำให้รูปปั้นเปิดโปงว่านายพูนทรยศต่อ ดร.ทองคำ และออกคำสั่งให้จัดการนายพูนเสีย แต่นายพูนพยายามแย่งระเบิดจากคนใกล้ๆ พ.ต.ต. ว่อง โดดออกมาจากด้านหลังรูปปั้นเข้าแย่งระเบิดไว้ทัน และใส่กุญแจมือนายพูนติดไว้กับรูปปั้น แต่ไม่ทันไรรูปปั้นนั้นก็ล้มทับนายพูนตายคาที่
เหยื่ออาชญากรรม (2497)
เหยื่ออาชญากรรม (2497/1954) เหยื่ออาชญากรรม (อังกฤษ: Who is the Murderer) เป็นภาพยนตร์ไทย ฟิล์ม 16 มม.ที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2497 สร้างโดย โรงเรียนสืบสวน กรมตำรวจ โดยมี พ.ต.อ. เยื้อน ประภาวัต เป็นผู้อำนวยการสร้าง อำนวยการแสดงโดย จรี อมาตยกุล กำกับการแสดงโดยครูเนรมิต (อำนวย กลัสนิมิ) และถ่ายภาพโดย สุจินต์ สุทธิวรรณ
Placeholder
กากี (2496/1953) เป็นภาพยนตร์สีวิจิตรพิศดาร ไม่ซ้ำรอยใคร เหาะเหินเดินอากาศ แปลงกาย หายตัว วิเศษนัก มีเพลงบรรเลงไพเราะ ตามหลักภาพยนตร์เพลงและเทพนิยาย แต่ไม่ใช่แบบลิเกหรือละครรำ
จันทโครพ (2496)

จันทโครพ (2496/1953) นิทานพื้นบ้านว่าด้วยเรื่องของจันทโครพ เจ้าชายแห่งเมืองพาราณสี ซึ่งไปฝึกวิชากับพระฤาษีจนสำเร็จ พระฤาษี อาจารย์ ได้มอบผอบให้จันทโครพก่อนเดินทางกลับบ้าน และกำชับไม่ให้เปิดผอบแก้วจนกว่าจะถึงบ้าน ความอยากรู้อยากเห็นของจันทโครพมีมากเกินกว่าจะระงับใจให้ทำตามสั่งของพระฤาษี จึงเปิดผอบระหว่างทาง ปรากฏว่ามีนางโมราโผล่ออกมา อิสตรีที่เป็นเหตุให้จันทโครพต้องพบกับความยุ่งเหยิง

ทะเลทม (2496)
ทะเลทม (2496/1953) นิยายรักรันทดของชาวทะเล ซึ่งหนี้ของความแค้นต้องล้างด้วยเลือด! และ...ชีวิต! (ที่มา: นิตยสารผดุงศิลป์ สิงหาคม พ.ศ. 2496)
Placeholder
รามเกียรติ์ไทย ตอน สิ้นแสงไอยสูรย์ (2495)
รามเกียรติ์ไทย ตอน สิ้นแสงไอยสูรย์ (2495/1952) ดูหนุมานแผลงฤทธิ์ นางมณโฑถูกศรสลับสี กบกายสิทธิ์และของแปลกประหลาดมหัศจรรย์ ตื่นเต้นโลดโผน ฯลฯ (ที่มา: หนังสือพิมพ์รายวัน สยามรัฐ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2495)
ไข่มุกดำ (2495)
ไข่มุกดำ (2495/1952) ภาพยนตร์ชีวิตของพวกสิบแปดมงกุฎ ซึ่งเต็มไปด้วยการหักหลังและล้างชีวิตกันอย่างดุเดือด! (ที่มา: หนังสือพิมพ์รายวัน สยามรัฐ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2495)