ยอดรักยูงทอง (2512)
ยอดรักยูงทอง (2512/1969) ข้อความบนใบปิด พิจิตรภาพยนตร์ ภาพยนตร์รักแนวประหลาด ผีก็มีหัวใจ..ชีวิต..เฮฮา..ระทึกใจ และมหัศจรรย์! ยอดรักยูงทอง ของ วิจิตร สุวรรณสันต์ นำโดย สมบัติ เมทะนี ภาวนา ชนะจิต ประจวบ ฤกษ์ยามดี, เยาวเรศ นิศากร, พร ไพโรจน์, สุวิน สว่างรัตน์, กฤษณา, มาลี เวชประเสริฐ, ชูศรี มีสมมนต์, พูนสวัสดิ์ ธีมากร, สมพงษ์ พงษ์มิตร, ดาวน้อย ดวงใหญ่, ปราณีต คุ้มเดช, บู๊ วิบูลย์นันท์ ดารารับเชิญ สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ ฟัง เพลงเอก 35 ม.ม. สมบัติ-ภาวนา ขับร้อง เฉลียว เทียนทอง อำนวยการสร้าง สมชาย จันทวังโส ถ่ายภาพ ประทีป โกมลภิส กำกับการแสดง ศิวาพรฟิล์ม จัดจำหน่าย
ระฆังผี (2511)
ระฆังผี (2511/1968) หมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีผู้ใหญ่คล้าย (อบ บุญติด) เป็นผู้ปกครองหมู่บ้าน ส่วนเมียผู้ใหญ่คล้ายนั้นเสียชีวิตไปแล้ว ผู้ใหญ่คล้ายจึงมีเมียใหม่เป็นสาวรุ่นๆ ชื่อว่า ลำดวน (แก่นใจ มีนะกนิษฐ์) แต่ลำดวนกลับคิดไม่ซื่อกับผู้ใหญ่คล้าย หวังจะครอบครองทรัพย์สมบัติของผู้ใหญ่จึงลอบเป็นชู้กับนายอั๋น (ชนะ ศรีอุบล) หลานแท้ๆ ของผู้ใหญ่คล้ายเพื่อหวังจะให้นายอั๋นช่วยหาทางกำจัดผู้ใหญ่คล้ายไปโดยเร็ว ต่อมาผู้ใหญ่คล้ายเป็นประธานหล่อระฆังวัดประจำหมู่บ้าน จึงเรียกตัวลูกสาว 2 คน คนโตชื่อ เพ็ญ (พิศมัย วิไลศักดิ์) คนเล็กชื่อ พร (ด.ญ.ปนัดดา กัลย์จาฤก) กลับจากกรุงเทพฯ เพื่อมาทำบุญร่วมกันซึ่งลำดวนก็ไม่ค่อยสบายใจนักเกรงว่าสองพี่น้องจะมาแย่งทรัพย์สมบัติจากตนไป นายอั๋นกับลำดวนจึงสบโอกาสที่จะฆ่าผู้ใหญ่คล้ายโดยวางแผนอย่างแยบยลให้ดูเหมือนว่าผู้ใหญ่คล้ายเดินพลาดตกไปตายในเต้าหลอมระฆังเอง ซึ่งเมื่อเกิดเหตุการณ์นั้นจริง ก็ไม่มีใครคิดว่าจะเป็นเรื่องของการฆาตกรรมแต่อย่างไรเพราะคิดว่าเป็นอุบัติเหตุ หลังการตายของผู้ใหญ่คล้าย ทางการก็แต่งตั้งนายอั๋นขึ้นเป็นผู้ใหญ่บ้านแทน นายอั๋นหวังจะเคลมเพ็ญเป็นเมียอีกคน ทั้งๆ ที่นายอั๋นมีเมียลับๆ อยู่อีกคนคือ ดอกไม้ (ปรียา รุ่งเรือง) ซึ่งกำลังตั้งท้องใกล้จะคลอด ต่อมาทางการก็ส่ง โชค ชนะชล (สมบัติ เมทะนี) นายตำรวจปลอมตัวมาสืบจับคนร้าย โชคเข้าไปตีสนิทจนได้เป็นมือปืนของผู้ใหญ่อั๋น ช่วงนี้ ผีผู้ใหญ่คล้ายเริ่มออกอาละวาดชาวบ้านที่หากินไม่สุจริตจนผู้ใหญ่อั๋นต้องหาพระดีๆ มาห้อยคอ ฝ่ายผีผู้ใหญ่คล้ายรู้ว่านายอั๋นกำลังคิดร้ายกับเพ็ญจึงมาบอกเพ็ญให้รู้ตัว ขณะที่โชคเองก็เริ่มได้เบาะแสความชั่วของผู้ใหญ่อั๋นบ้างแล้วและโชคยังได้ช่วยปกป้องเพ็ญกับน้องสาวให้พ้นมือผู้ใหญ่อั๋นด้วย ฝ่ายดอกไม้เมื่อท้องแก่มากๆ ก็ตื้อให้ผู้ใหญ่อั๋นรับผิดชอบแต่งงาน ผู้ใหญ่รำคาญจึงสั่งลูกน้องไปฆ่าดอกไม้และเผากระท่อมทิ้ง ส่วนลำดวนก็หาทางกำจัดเพ็ญกับน้องสาวเพื่อหวังได้ทรัพย์สมบัติ แต่โชคก็มาช่วยเหลือได้ทัน ขณะที่ผีผู้ใหญ่คล้ายกับผีนางดอกไม้ก็ออกอาละวาดหนักขึ้นแต่ทำอะไรผู้ใหญ่อั๋นไม่ได้เพราะมีพระดีห้อยคอ ชาวบ้านหาหมอผีมาปราบผี แต่ก็สู้ผีสองผีนี้ไม่ได้ ต่อมาเมื่อได้ความแน่ชัดว่า ผู้ใหญ่อั๋นทำผิดกฎหมายบ้านเมือง ตำรวจจึงลงมือปราบปราม เกิดการยิงต่อสู้กันและในระหว่างที่ผู้ใหญ่อั๋นหลบหนีนั้น พระที่ห้อยคอก็หลุดหายไป ผีผู้ใหญ่คล้ายซึ่งรอเวลาอยู่แล้ว ก็ปรากฏตัวขึ้นมาฆ่าผู้ใหญ่อั๋นตาย ส่วนลำดวนก็โดนผีนางดอกไม้ฆ่าตายเช่นกัน
แก้วกาหลง (2510)
แก้วกาหลง (2510/1967) เสน่ห์ โกมารชุน สร้าง แม่นาคพระโขนง เจ้าแม่ตะเคียนทอง ลบสถิติและลือลั่นมาแล้ว ครั้งนี้ขอเสนอ... แก้วกาหลง ดูหนังผี ต้อง "เสน่ห์ โกมารชุน" สร้าง ดูหนังผี ต้อง "รังสี ทัศนพยัคฆ์" กำกับ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ไอ้แก้ว (มิตร ชัยบัญชา) ทาสในเรือนเบี้ย แต่เพราะไอ้แก้วมีความขยันมากกว่าทาสคนอื่นๆ จึงได้สิทธิพิเศษให้เรียนหนังสือ ไอ้แก้วมีความสามารถในการเล่นดนตรีสีซออู้ได้อย่างไพเราะ จึงได้รับความไว้วางใจท่านเจ้าคุณมหิทธ์ศักดิ์ ให้เป็นผู้สอนสีซออู้แก่กาหลง (ปรียา รุ่งเรือง) ผู้เป็นลูกสาวท่านเจ้าคุณฯ ก็เรียกว่า สอนไป สอนมา เกิดใกล้สนิทสนมและลักลอบได้เสียกัน ซึ่งเป็นความผิดมีโทษมหันต์ ยังความโกรธแค้นแก่ท่านเจ้าคุณฯ เป็นอย่างยิ่งเพราะทั้งอายที่ลูกสาวลดตัวไปเป็นเมียทาสหนุ่ม ท่านเจ้าคุณฯ จึงสั่งลงโทษโบยเฆี่ยนหลังไอ้แก้วและจับขังคุกทาสไว้ กะว่าจะให้ตาย ส่วนกาหลงผู้เป็นลูกสาวนั้น ท่านเจ้าคุณส่งตัวไปกักขังอยู่ที่กระท่อมกลางสวน เพื่อให้คลอดลูกก่อน โดยจัดเวรยามเฝ้าดูแลไว้ แต่เมื่อคนเฝ้ากินเหล้าเมายา แล้วก็เกิดอารมณ์เข้าปลุกปล้ำหมายข่มขืนกาหลง กาหลงไม่ยอม ก็ต่อสู้ดิ้นรนสุดชีวิตกระทั่งตัวเองถูกบีบคอตายคากระท่อม.. ท่านเจ้าคุณฯ รู้ข่าว ก็เสียใจและรีบจัดการฝังศพกาหลงไว้และตัวเองก็ป่วยจนตรอมใจตายในเวลาต่อมา ซึ่งก็เป็นเวลาเดียวกันกับในหลวงรัชกาลที่ 5 โปรดให้เลิกทาส ไอ้แก้วจึงได้รับการปลดปล่อยเป็นอิสระ แต่ไม่มีใครบอกว่า กาหลงเสียชีวิตไปแล้ว ต่อมาหมอผีก็ไปขุดศพนางกาหลงขึ้นมา หมายจะเอาน้ำมันพรายไปทำเสน่ห์ยาแฝด แต่เพราะกาหลงเป็นผีตายโหงที่ถูกสะกดวิญญาณไว้ เมื่อยันต์สะกดหลุดออก ผีนางกาหลงก็เลยเฮี้ยนและจัดการฆ่าหมอผีตายเป็นศพแรก จากนั้นผีนางกาหลงก็ออกอาละวาดทุกค่ำคืน ชาวบ้านชาวช่องก็ไม่กล้าออกจากบ้านไปไหน ผีนางกาหลงออกตามหาไอ้แก้วผัวรัก เมื่อหาไม่เจอ ก็มานั่งสีซอคร่ำครวญทุกคืนจนชาวบ้านกลัว ย้ายหนีกันไปหลายคน ส่วนไอ้แก้ว เมื่อพ้นจากทาสมาเป็นไท ก็กลับไปอาศัยญาติๆ ทำนา แล้วก็ได้พบกับซ่อนกลิ่น (เพชรา เชาวราษฎร์) เกิดรักใคร่ชอบพอกัน กระทั่งเกลอเก่าที่เคยเป็นทาสหนีจากบ้านท่านเจ้าคุณฯ มาหาไอ้แก้วและขออาศัยอยู่ด้วย ซึ่งก็เป็นเวลาเดียวกับที่ผีนางกาหลงติดตามเกลอไอ้แก้วมาด้วยเช่นกัน ตกกลางคืน ผีนางกาหลงก็ปรากฏตัวและไปขออยู่กับไอ้แก้วที่บ้าน โดยที่ไม่มีใครรู้ว่า กาหลงตายไปแล้ว กระทั่งเกลอเก่าไอ้แก้วมาเห็นเข้า จึงบอกซ่อนกลิ่นว่า กาหลงตายไปแล้ว ซ่อนกลิ่นก็ไปบอกไอ้แก้ว แต่ไอ้แก้วกลับไม่เชื่อ หาว่า ซ่อนกลิ่นหึงหวงกาหลง เหตุการณ์เริ่มไม่ค่อยจะสู้ดีเพราะไอ้แก้วกับผีนางกาหลงยังคงอยู่ร่วมบ้านกัน ซ่อนกลิ่นจึงไปหาอาจารย์ หาผ้ายันต์มาให้ไอ้แก้วพิสูจน์ความจริงว่า กาหลงตายไปแล้ว แก้วจึงยอมเอาผ้ายันต์ใส่ไว้ใต้หมอนที่กาหลงนอน พอตกกลางคืนร่างของกาหลงก็กลายเป็นซากศพเน่าเฟะนอนอยู่แทน แก้วจึงรู้ว่า กาหลงตายแล้ว ก็หนีไป สร้างความโกรธแค้นให้ผีนางกาหลงเป็นอย่างมาก จึงออกอาละวาดฆ่าคนเป็นว่าเล่น หมอผีหลายคนที่หาปราบ ก็สู้ผีนางกาหลงไม่ได้ กระทั่งหมอผีคนล่าสุดก็กำลังจะถูกผีกาหลงหักคอ ไอ้แก้วทนไม่ได้ที่ผีนางกาหลงฆ่าคนเป็นว่าเล่น จึงออกมาพบและบอกให้กาหลงฆ่าไอ้แก้วแทนเพราะจะได้ตายและไปอยู่ด้วยกัน เมื่อผีนางกาหลงได้ยินเช่นนั้น ก็รู้ว่าแท้จริงแล้ว ไอ้แก้วยังรักกาหลงอยู่ เพียงแต่เพราะอยู่กันคนละชาติคนละภพ ไอ้แก้วจึงแสดงออกแบบนั้น ผีนางกาหลงรู้สำนึกผิดชอบชั่วดีแล้ว จึงยอมปล่อยหมอผีไป และรู้ว่า ซ่อนกลิ่นก็รับไอ้แก้วเช่นกัน เมื่อชาตินี้ไม่สามารถอยู่กับพี่แก้วได้อย่างคนทั่วไป ก้เอ่ยปากฝากพี่แก้วกับซ่อนกลิ่นให้ครองคู่อยู่ร่วมกัน ส่วนตัวกาหลงเองก็จะกลับไปชดใช้กรรมในนรกภูมิ เพื่อชาติหน้าจะได้เกิดมาเป็นเมียพีแก้วอีกครั้ง
เจ้าแม่ตะเคียนทอง (2509)

เจ้าแม่ตะเคียนทอง (2509/1966) ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า ช่วงเวลาสุดท้ายก่อนการเลิกทาส ยอด (ไชยา สุริยัน) และพิกุล (ปรียา รุ่งเรือง) เป็นทาสในเรือนของท่านเจ้าคุณวิเศษสรไกร (สาหัส บุญ-หลง) ทั้งสองรักใคร่กัน ทำให้บัวเผื่อน (ชฎาพร วชิรปราณี) เมียน้อยท่านเจ้าคุณไม่พอใจเนื่องจากหลงรักยอดอยู่เช่นกัน ขณะเดียวกับที่ท่านเจ้าคุณก็ต้องการพิกุลเป็นเมีย วันหนึ่งบัวเผื่อนก็สร้างเรื่องใส่ความว่ายอดปลุกปล้ำ เจ้าคุณสั่งลงโทษโบยยอดอย่างหนัก แม้ว่าคุณกาหลง (โสภา สถาพร) ผู้เป็นธิดาพยายามขอร้องก็ไม่เป็นผล พิกุลยอมเป็นเมียท่านเจ้าคุณเพื่อเป็นการช่วยยอดไม่ให้ถูกเฆี่ยนจนถึงชีวิต แต่ยอดกลับเข้าใจว่าพิกุลเป็นหญิงหลายใจจึงดุด่าพิกุลอย่างรุนแรง พิกุลเสียใจมากจึงผูกคอตายที่ต้นตะเคียนในสวนหลังบ้านท่านเจ้าคุณ หลังจากพิกุลตายแล้วยอดจึงได้รู้ความจริงว่าที่พิกุลต้องยอมเป็นเมียท่านเจ้าคุณก็เพื่อช่วยชีวิตของตน ยอดจึงแอบโขมยศพของพิกุลจากวัดมาฝังไว้ใต้ต้นตะเคียน ยอดหลบหนีออกจากบ้านท่านเจ้าคุณและได้ช่วยหมอฝรั่งให้พ้นมือโ่จร หมอฝรั่งจึงพายอดไปอยู่ด้วยและสอนวิชาแพทย์ให้จนเชี่ยวชาญ ขณะที่บ้านท่านเจ้าคุณก็เกิดเหตุวุ่นวายเมื่อวิญญาณของพิกุลออกมาปรากฎตัวหลอกหลอน ท่านเจ้าคุณถูกพิกุลหลอกจนป่วยจึงให้คนไปตามหมอมารักษาซึ่งก็คือยอดนั่นเอง ทำให้ยอดได้มีโอกาสใกล้ชิดก้บคุณกาหลง หลังจากท่านเจ้าคุณเสียชีวิตทั้งสองตกลงใจจะอยู่ครองรักกันทำให้วิญญาณพิกุลโกรธมาก ปรากฎตัวออกมาทวงสัญญารักที่ยอดเคยให้กับตนเองไว้ ยอดเห็นใจในความรักและความเสียสละของพิกุลจึงจะยอมไปอยู่ด้วย ขณะที่พิกุลกำลังจะนำยอดไปหมอผีที่เดินทางมาปราบวิญญาณของพิกุลก็ได้ใช้ตะปูอาคมตอกที่ต้นตะเคียนทำให้วิญญาณของพิกุลสิ้นฤทธิ์เดช ก่อนที่วิญญาณจะสลายไปพิกุลได้ฝากให้คุณกาหลงดูแลยยอด ยอดและคุณกาหลงจึงได้ครองรักกัน

นางพรายคะนอง (2508)
นางพรายคะนอง (2508/1965) ข้อความบนใบปิด พรสุรีย์ภาพยนตร์ เสนอ นางพรายคะนอง ของ ป.พิมล ภาพยนตร์ผีที่ประทับจิต ภาพยนตร์ชีวิตที่ประทับใจ นำแสดงโดย ไชยา สุริยัน ภาวนา ชนะจิต ร่วมด้วย ชฎาพร วชิรปราณี, พร ไพโรจน์, ศลักษณ์ ปรีชา, มาลี เวชประเสริฐ, โยธิน เทวราช, พูนสวัสดิ์ ธีมากร, ทนงศักดิ์ ภักดีเทวา, ไสล พูนชัย, ถวิล, จรูญ สินธุเศรษฐ์, ปราณีต คุ้มเดช, หม่อมชั้น พวงวัน และดาราอันดับ 1 อีกคับคั่ง สุลาลีวัลย์ สุวรรทัต อำนวยการสร้าง เฉลิม บุตรบุรุษ ถ่ายภาพ ประทีป โกมลภิส กำกับการแสดง เอวันฟิล์ม จัดจำหน่าย
เลือดรักนางพราย (2507)
เลือดรักนางพราย (2507/1964) ข้อความบนใบปิด จิตรวาณีภาพยนตร์ เสนอ ขนพองสยองเกล้า ร้อนเร่าด้วยอาถรรพ์ แทรกขบขัน คึกคัก บู๊กันหนัก ใน... เลือดรักนางพราย ของ อรวรรณ นำโดย มิตร ชัยบัญชา เอื้อมเดือน อัษฎา ทักษิณ แจ่มผล กิ่งดาว ดารณี สุดเฉลียว เกตุผล, สมพล กงสุวรรณ, สิงห์ มิลินทราศัย, อดินันท์ สิงห์หิรัญ, ศักดิ์สีห์, ล้อต๊อก, ทองแถม, สุลาลีวัลย์ สุวรรณทัต, แววตา อาษาสุข, ทศ วงศ์งาม, เทียว ธารา ขุนแผน ดำเนินงาน รังสี ทัศนพยัคฆ์ กำกับ กิตติพงษ์ เวศภูญาณ อำนวยการสร้าง ธีระ แอคะรัจน์ ถ่ายภาพ วัชรภาพยนตร์ จัดจำหน่าย
ภูตพิศวาส (2507)
ภูตพิศวาส (2507/1964) ความรักระหว่างคนกับวิญญาณสาวโดยผีสาวนั้นชื่อว่า ดาว (เพชรา เชาวราษฎร์) ซึ่งถูกผีดิบดูดเลือดบังคับให้ไปล่อลวงชายหนุ่มมาเป็นเหยื่อโดยเฉพาะพวกโลกและชีกอทั้งหลาย แต่ มารุต (ไชยา สุริยัน) แม้จะเสียเพื่อนรักเป็นเหยื่อผีดิบถึงสองคนแล้ว แต่ก็ยังคงอาศัยกุฏิพระหลับนอนตามเดิมเพราะรู้สึกจะถูกชะตากับผีสาวดาว ต่อมามารุตรู้เรื่องชีวิตของผีสาวดาวจากลุงอินทร์หมอผี ก็จะช่วยผีสาวดาวให้กลับมาเป็นคนอีกครั้ง มารุตจึงไปขุดศพผีสาวดาวและย้ายไปฝังที่ท้ายบ้านตัวเองเพื่อรอเวลาที่จะช่วยเหลือ การกระทำของมารุตยังความโกรธแค้นให้แก่เหล่าผีดิบเป็นยิ่งนัก จึงมีการส่งสมุนผีดิบมาอาละวาด แต่ลุงอินทร์หมอผีก็เสกควายธนูไปฆ่าผีดิบเหล่านั้นจนสิ้นฤทธิ์ ยามค่ำคืน วิญญาณของผีสาวดาวก็มักจะปรากฏตัวมาหามารุตเสมอ โดยแม่ของมารุต (มาลี เวชประเสริฐ) ไม่ว่าอะไรเพราะสงสาร คงมีเพียงบุหงา (ปรียา รุ่งเรือง) คู่หมั้นของมารุตที่แสดงอาการหึงหวงอย่างออกหน้าและยังไปจ้างหมอผีมาทำพิธีให้วิญญาณของผีสาวดาวเข้ามาในบ้านไม่ได้ มารุตจึงต้องไปหาผีสาวดาวที่หลุมศพแทน เมื่อลุงอินทร์กำจัดผีดิบผู้เป็นนายใหญ่ได้สำเร็จจึงเริ่มพิธีช่วยชุบชีวิตให้ผีสาวดาว โดยมารุตจะต้องบำเพ็ญศีลภาวนานุ่งขาวห่มขาวให้ครบ 20 วันเต็ม เมื่อครบกำหนด ผีสาวดาวก็มีร่างเป็นคนปกติ มารุตกับดาวจึงรักกัน แต่ต่อมามารุตก็ถูกบังคับให้แต่งงานกับบุหงา ทำให้ดาวซึ่งร่างกายเป็นมนุษย์เศร้าเสียใจ แต่เพราะความรักที่มีต่อกัน ทำให้ทั้งสองแอบได้เสียเป็นเมียผัวกันหลังจากมารุตแต่งงานแล้ว บุหงาก็ให้หมอผีทำเสน่ห์จนมารุตหลงใหลและลืมตัวไล่ดาวออกจากบ้าน แต่แม่ของมารุตก็ยังสงสารและรับดาวไว้เป็นลูกบุญธรรม ครั้นเมื่อแม่รู้ว่าดาวกำลังท้องกับมารุต แม่ก็ดีใจที่จะได้อุ้มหลาน จึงจ้างให้ลุงอินทร์หาทางแก้มนต์เสน่ห์ที่บุหงาทำไว้ สุดท้ายมารุตก็เลิกกับบุหงาและกลับมาอยู่กินกับดาวอย่างมีความสุข
นางสมิงพราย (2506)
นางสมิงพราย (2506/1963) แปลก..มหัศจรรย์..เป็นประวัติการณ์ของหนังไทย จากละครวิทยุที่ตรึงใจประชาชนทั่วกรุง ในเรื่อง...ชีวิตเถื่อน ของคณะ กันตนา เรื่องราวของปัญจนี เด็กสาวผู้ไปกัดเด็กในหมู่บ้านจนเสียชีวิต เป็นเหตุให้ชาวบ้านต้องการจะเผาเธอ เพราะคิดว่าเธอเป็นผีพรายสมิง แต่ภิกษุรูปหนึ่งได้มาเห็นเหตุการณ์และบอกความจริงว่า เธอเพียงถูกวิญญาณพรายสมิงเข้าสิงเท่านั้น พออายุครบยี่สิบปีบริบูรณ์ก็สูญสิ้นไปเอง ปัญจนีและยายจึงหนีไปอยู่พม่า วันหนึ่ง ยายของเธออยากกลับไปใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายที่บ้านเกิด ปัญจนีจึงจำต้องกลับมา พร้อมด้วยผีพรายสมิงที่ยังสิงอยู่ในตัวเธอ
ผีพยาบาท (2503)
ผีพยาบาท (2503/1960) กันตนาภาพยนตร์ ภูมิใจเสนอเรื่องยอดเยี่ยม ของคณะกันตนา ที่เร้าใจท่านทางวิทยุกระจายเสียง มาทั่วทุกมุมเมืองแล้ว...กำลังฉายที่โรงหนังเอ็มไพร์ โดยการพากย์ของคณะกันตนา ครบชุด ดุเดือด ตื่นเต้น หวาดเสียว เร้าใจ จนกระทั่งไทยทีวีห้ามแพร่ภาพ ฉะนั้นควรรีบไปชมที่เอ็มไพร์เสียแต่วันนี้
ยอดผี (2503)
ยอดผี (2503/1960) ยอดผี เป็นภาพยนตร์ไทยที่ออกฉายในปี พ.ศ. 2503 เป็นผลงานบทภาพยนตร์ของ ส.อาสนจินดา
แม่นาคคืนชีพ (2503)
แม่นาคคืนชีพ (2503/1960) ข้อความบนใบปิด ภาพยนตร์รุ่งกานต์ วิญญาณนั้นเป็นวิญญาณรักอันอมตะ วนเวียนอยู่เพื่อคุ้มครองผัว แต่เมื่อผัวมีเมียใหม่... วิญญาณนั้นจึงเต็มไปด้วยความเคียดแค้น..หึงหวง..อาฆาต แม่นาคคืนชีพ นำโดย อดุลย์ ดุลยรัตน์ วิไลวรรณ วัฒนพานิช พงษ์ลดา พิมลพรรณ ศิริพงษ์ อิศรางกูร อบ บุญติด, สมพงษ์ พงษ์มิตร, ล้อต๊อก, สุคนธ์ คิ้วเหลี่ยม, ล้อต๊อกน้อย, หม่อมชั้น พวงวัน, แป๊ะอ้วน, แคหลอ, บังเละ, กุญชร ชุมนุมดาวตลกทั่วประเทศไทย ฉลอง กลิ่นพิกุล ถ่ายภาพ อนุมาศ บุนนาค สร้างบท-กำกับการแสดง (ที่มา :Thai Movie Posters)
นางแมวผี (2503)
นางแมวผี (2503/1960) แมน-จรัสศรี ข้อความบนใบปิด สุรัชนีภาพยนตร์ ภูมิใจเสนอ ตื่นเต้น! สั่นประสาท! และเขย่าขวัญท่านมาแล้ว จากเสียงของละครวิทยุ คณะกันตนา บัดนี้... มาสร้างเป็นภาพชีวิตที่เคลื่อนไหว สั่นประสาท...สยดสยอง...และเร้าใจกว่า! นางแมวผี สมศรี จันทรประเสริฐ อำนวยการสร้าง รัตน์ เศรษฐภักดี ถ่ายภาพ-กำกับการแสดง นำแสดงโดย แมน ธีระพล จรัสศรี สายะศิลปี จรูญ สินธุเศรษฐ์, ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์, วงทอง ผลานุสนธิ์, ด.ช. ฉกรรจ์ พึ่งสังข์ และขิเสนิดาวดวงใหม่ ดวงสุดา ปาริชาติ ที่ โรงหนังเอ็มไพร์ เริ่มวันศุกร์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2503 นี้ ฉายวันละ 4 รอบ 12.00 น., 14.00 น., 19.00น. และ 21.00 น. วันหยุดราชการเพิ่มรอบเช้า 10.00 น. พากย์โดย คณะกันตนา ครบชุด (ที่มา :Thai Movie Posters)
แม่นาคพระโขนง (2502)
แม่นาคพระโขนง (2502/1959) จากแรงรักของนางที่มีต่อเขา เมื่อนางได้ตายจากเขาไป วิญญาณรักของนางจึงยังคงเวียนว่าย อยู่ในร่างร้าย เพื่อรอคอยสามี ภาพยนตร์ไทยเรื่องเดียวในยุคนี้ ที่สามารถทำรายได้ เกินล้าน ด้วยเวลาอันรวดเร็วที่สุด! เรื่องราวของนายมาก ผู้ต้องจากภรรยาที่กำลังตั้งท้องอ่อนๆ ไปเป็นทหารตามกฎบ้านเมือง นางนาคเฝ้ารอสามีจนท้องแก่ใกล้คลอด และในวันคลอดนั้นเอง เธอก็ทนความเจ็บปวดไม่ไหวจนตายไปพร้อมลูกในท้อง แต่ความอาวรณ์ทำให้เธอยังคงเฝ้ารอพี่มากอยู่ กลายเป็นเรื่องเล่าสยองขวัญ เมื่อหลายคนพยายามเข้าไปข้องแวะกับเธอ ล้วนเจอฤทธิ์เดชที่ถ้าไม่ตายก็เสียสติไป
ซากผีดิบ (2495)
ซากผีดิบ (2495/1952) ดร.ชาญ จบจากประเทศฝรั่งเศสเป็นคนไม่เชื่อว่าผีมีจริงในโลก ได้โคจรมาพบ ผ่องพรรณ ลูกสาวของ ขุนจำนง และเริ่มชอบผ่องพรรณ แต่เธอมีคนรักแล้วคือ สาโรช ขุนจำนงมีภรรยาชื่อ พวง เป็นภรรยาหลวง และ พริ้ง เป็นภรรยาน้อย แม่พริ้งยังสาวและสวยอยู่ ส่วนขุนจำนงวันๆ เอาแต่หมกมุ่นอยู่กับการเล่นแร่แปรธาตุ เมื่อ ดร.ชาญ มาคลุกคลีในบ้านขุนจำนงนานเข้า ทั้งสองจึงเล่นชู้กัน คืนหนึ่ง ขุนจำนงฝันว่ามีผู้วิเศษมาเข้าฝัน บอกให้ขุนจำนงเอาตะกั่วหลอมเป็นลูกกลมๆ เอาไปใส่น้ำยาสมุนไพร นำไปบวงสรวงและฝังกลางโบสถ์ร้าง เมื่อครบกำหนด 3 วัน 3 คืน ให้ไปขุดขึ้นมา ก้อนตะกั่วจะกลายเป็นแก้วสารพัดนึก สามารถขอพรได้ 3 ประการ ขุนจำนงทำตามความฝันโดยมี ดร.ชาญ ตามไปด้วย แต่แล้ว ดร.ชาญ ผู้ไม่เชื่อเรื่องผีสางก็ถูกผีบีบคอตายอย่างน่าสยดสยอง เมื่อครบกำหนดขุนจำนงไปขุดเอาแก้วสารพัดนึก แล้วให้ภรรยานึกสิ่งที่ต้องการคนละ 1 ข้อ ไม่นานนักทุกคนในบ้านก็ถูกลอตเตอรี่พร้อมกันเป็นไปตามที่พวงขอ ส่วนพริ้ง ไม่มีใครล่วงรู้ว่าขอเรื่องอะไร จนกระทั่ง ผีดิบ ดร.ชาญ ตามมาอาละวาดที่บ้าน ทุกคนจึงได้รู้ว่าพริ้งขอให้ ดร.ชาญ ฟื้นคืนชีพ
Placeholder
นางนาคคืนชีพ (2480/1937) "นางนาคพระโขนง" เท่าที่ทราบกันแต่เพียงว่า ได้ถูกถ่วงน้ำและหายสาบสูญไปนั้น บัดนี้นางนาคได้กลับคืนชีพมาอีก และหนีจากถ่วงน้ำมาแผลงฤทธิ์ ดุร้าย น่าหวาดเสียว น่าตื่นเต้น และแสดงอภินิหารร้ายกาจกว่าเก่าหลายสิบเท่า (ที่มา: หนังสือพิมพ์รายวัน ศรีกรุง 8 มิถุนายน พ.ศ. 2480)