ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๔ ศึกนันทบุเรง

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๔ ศึกนันทบุเรง (2554/2011) เรื่องราวอันเป็นผลจากการปราชัยของหงสาวดีในคราวศึก พระยาพะสิม และ พระเจ้าเชียงใหม่ ซึ่งทำให้ พระเจ้านันทบุเรง ทรงตระหนักในพระปรีชาสามารถของ สมเด็จพระนเรศวร และในความเข้มแข็งของกองทัพอยุธยา จึงทรงยกทัพใหญ่เป็นทัพกษัตริย์มาย่ำยีราชธานีสยามหวังให้ราบเป็นหน้ากลองเพื่อเป็นการแก้มือ และเพื่อรักษาซึ่งพระเกียรติยศ มิให้เป็นที่ดูแคลนแก่เหล่าเจ้าประเทศราชในการปกครองของฝ่ายพม่า กองทัพกษัตริย์ของ พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง มีความสมบูรณ์ยิ่งใหญ่น่าเกรงขามกว่าทุกศึก ประกอบด้วยช้าง 3,200 ทัพม้า 12,000 และไพร่ราบซึ่งมีจำนวนถึง 252,000 โดยมีนายทัพผู้ปรีชาสามารถมาร่วมรบ ทั้ง พระมหาอุปราชา มังจาปะโร และลักไวทำมูทหารกล้า กิตติศัพท์ความยิ่งใหญ่น่าเกรงขามของทัพหงสาวดีที่ยกเข้ามานี้ ส่งผลให้เจ้าเมืองในขอบขัณฑสีมาของราชอาณาจักรอยุธยาข้างฝ่ายเหนือประหวั่นพรั่นพรึงถึงกับสมคบคิดกัน แปรพักตร์เข้าสมานสมัคร พระเจ้านันทบุเรง รบ สมเด็จพระนเรศวร เป็นเหตุให้ สมเด็จพระนเรศวร ต้องเผชิญทั้งศึกนอกและศึกใน สถานการณ์กลับยิ่งบีบคั้นให้คับขันยิ่งขึ้น เมื่อ พระศรีสุพรรณธรรมาธิราช พระอนุชาเจ้ากรุงละแวกซึ่งขัดพระทัย สมเด็จพระนเรศวร แต่กาลก่อน ได้ยุยงให้พระเชษฐาตัดสัมพันธไมตรีกับอยุธยา ละแวกจึงกลายเป็นหอกข้างแคร่ที่พร้อมจะกระหน่ำซ้ำเติมสยามให้ย่อยยับหากมีอันพลาดท่าเสียทีในศึกนันทบุเรงนี้ ภัยรอบด้านบีบรัดให้ สมเด็จพระนเรศวร ทรงต้องเผชิญศึกอย่างโดดเดี่ยว ซ้ำเคราะห์กลับทับทวีคูณเมื่อสหายศึก เช่น เลอขิ่น และกองกำลังเมืองคัง ซึ่งร่วมกรำศึก กันมาแต่เบื้องต้นคิดถอนตัวตีจากเนื่องจากพิษรักระหว่างรบที่จบลงด้วยความร้าวฉานระหว่าง เลอขิ่น กับ พระราชมนู ขุนศึกคู่พระทัย ความขัดแย้งด้วยเหตุส่วนตัวได้บานปลายกลายเป็นภัยของแผ่นดินในคราวคับขันเมื่ออยุธยาต้องเผชิญศึก ซึ่งประมาณได้ว่าเป็นมหาสงครามภายใต้โทสจริตของ พระเจ้านันทบุเรง ด้วยข้อจำกัดที่รุมเร้าหลายประการ ผสานกับจำนวนไพร่พลที่เป็นรองหงสาวดีอยู่หลายขุม ทำให้ สมเด็จพระนเรศวร ทรงจำต้องปรับยุทธศาสตร์การตั้งรับทัพหงสาวดี โดยทรงใช้พระนครศรีอยุธยาซึ่งมีทำเลที่ตั้งที่ได้เปรียบเป็นฐานบัญชาการรบแต่เพียงแห่งเดียว ทรงส่งกำลังออกไปปักปราการ วางแนวป้องกันมิให้พม่าเข้ามาปลูกค่ายใกล้ขอบคูพระนครและกำแพงเมือง ทั้งยังแต่งกำลังเป็นกองโจรเข้าปล้นค่ายข้าศึกอย่างอาจหาญ เมื่อศึกเหนือเสือใต้รุมกระหน่ำ ขุนนางผู้ใหญ่ขาดสามัคคีคิดคดคำนึงแต่ประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง จอมทัพผู้รั้งราชบัลลังก์และความอยู่รอดของแผ่นดินก็มาพลาดท่า ต้องศาสตรากลางสมรภูมิศึก ยอดทหารเอกกรุงศรีถูกขุนศึกผู้ชาญณรงค์กว่าจับเป็นเชลย ชะตากรรมกรุงศรีอยุธยา และ สมเด็จพระนเรศวร จะลงเอยอย่างไร

วีรชน คนถูกลืม ขุนรองปลัดชู (2554/2011) นปี พ.ศ. 2302 หลังการสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ดาวหางฮัลเลย์ได้โคจรผ่านโลกเสมือนหนึ่งลางร้าย ขุนรองปลัดชู (สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ) ครูดาบอาตมาทและนายหมู่บ้านแขวงเมืองวิเศษไชยชาญ ได้ไปยังกรุงศรีอยุธยาพร้อมกับกรมการเมืองผู้ใหญ่ เพื่อเฝ้าสถานการณ์การผลัดแผ่นดิน ขุนรองปลัดชูเฝ้ามองดูสถานการณ์ของบ้านเมืองด้วยความเป็นห่วง เนื่องจากการผลัดแผ่นดิน เจ้านายในพระราชวังแย่งชิงพระราชบัลลังก์ ขุนนางก็แตกแยกสนับสนุนแต่ละฝ่ายกัน เจ้าสามกรม ถูกกุมตัวไปประหารชีวิตยังวัดโคกพระยาแล้ว พระเจ้าอุทุมพร ขึ้นเสวยราชสมบัติยังมิทันได้ 2 เดือน เจ้าฟ้าเอกทัศ พระบรมเชษฐาแสดงเจตนาชัดเจนว่า ต้องการขึ้นเสวยราชย์เอง ด้วยการประทับอยู่ในพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ ซ้ำยังการเข้าเฝ้าบางครั้งยังพกเอาพระแสงขรรค์ขึ้นวางพาดตัก พระเจ้าอุมทุมพรยอมหลีกให้พระบรมเชษฐาขึ้นเสวยราชย์แต่โดยดี โดยพระองค์เสด็จออกผนวช แม้น กรมหมื่นเทพพิพิธจะเสด็จหนีราชภัยออกผนวชเช่นกัน แต่ก็ไม่พ้นถูกกำจัดด้วยน้ำมือของตัวขุนรองฯเอง แม้นตัวขุนรองฯจะไม่เข้าข้างผู้ใดและสลดใจกับเหตุการณ์ที่คนในชาติเดียวกันต้องมาเข่นฆ่ากันเองก็ตาม ในเวลาเดียวกัน ทางอังวะ พระเจ้าอลองพญาสถาปนาตนเองขึ้นครองราชย์ หลังจากปราบปรามมอญได้สิ้น โดยมีพระราชบุตรมังระ (จักรกฤษณ์ พณิชย์ผาติกรรม) และมังฆ้องนรธา เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ ที่ตะนาวศรีทางฝ่ายอยุธยาได้ริบเรือสินค้าของอังวะไป พระเจ้าอลองพญาเห็นเป็นจังหวะเหมาะ ประกอบกับได้สดับรู้ความของพระเจ้าแผ่นดินองค์ใหม่ของอยุธยาว่า โฉดเขลา ไม่เป็นที่ยอมรับของราษฎร โดยที่พระองค์ต้องการจะทำสงครามเพื่อให้อาณาประชาราษฎร์และสมณชีพราหมณ์ได้เป็นอยู่อย่างเป็นสุข เมื่อขุนรองฯได้กลับวิเศษไชยชาญ ได้เล่าเรื่องราวที่ตนเองประสบพบเจอมาที่อยุธยา พร้อมย้ำอยู่เสมอว่า บ้านเมืองอ่อนแอ เหมือนบ้านไม้ที่ถูกปลวกมอดกัดแทะ แม้ต้องลมเพียงนิดก็จะพังทลายทั้งหมด ต้องเตรียมทำสงคราม สู้เพื่อวิเศษไชยชาญ โดยรวบรวมอาสาสมัครได้ 400 คน ฝึกดาบอาตมาท และอาบน้ำว่านเพื่อปลุกขวัญกำลังใจและอยู่ยงคงกระพัน เดินทางไปยังด่านสิงขรเพื่อสกัดกั้นทัพพม่า โดยที่กรมการเมืองวิเศษไชยชาญได้แจ้งไปยัง พระยารัตนาธิเบศร์ ขุนนางชั้นผู้ใหญ่ในอยุธยาได้ทราบแล้ว และจะยกทัพไปสมทบ แต่เมื่อได้ปะทะกับทางพม่าแล้ว ขุนรองฯได้ใช้ป่าชายเลนริมหาดซุ่มโจมตี แม้ตัดกำลังพม่าได้ส่วนหนึ่ง แต่เมื่อทางพม่าโต้กลับก็มิอาจทานได้ ทั้งหมดจึงหนีไปอยู่ริมหาด และถูกฆ่าตายทั้งหมดด้วยการจับกดน้ำและใช้ช้างกระทืบ ด้วยทั้งตัวขุนรองปลัดชูด้วย ก่อนตาย ขุนรองฯเหลือบเห็นทัพของพระยารัตนาธิเบศร์ที่สัญญาว่าจะยกมาช่วยยืนมองอยู่ห่าง ๆ โดยไม่มาช่วยจริงดังคำที่ว่าไว้ ขุนรองฯรู้สึกสลดกับเหตุการณ์และระลึกถึงเรื่องราวทั้งหมดที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ต้น
ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๓ ยุทธนาวี

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๓ ยุทธนาวี (2554/2011) การประกาศเอกราชที่เมืองแครง และสังหารสุระกำมาเหนือยุทธภูมิฝั่งแม่น้ำสะโตงของ “สมเด็จพระนเรศวรมหาราช” (สมเด็จพระนเรศ) ในปีพุทธศักราช 2127 ได้สร้างความตระหนกแก่ “พระเจ้านันทบุเรง” องค์ราชันหงสาวดีพระองค์ใหม่ ด้วยเกรงว่าการแข็งข้อของอยุธยาในครั้งนี้จะเป็นเยี่ยงอย่างให้เหล่าเจ้าประเทศราชที่ขึ้นกับหงสาวดีอาศัยลอกเลียนตั้งตัวกระด้างกระเดื่องตาม แต่จนพระทัยด้วยติดพันศึกอังวะ จึงจำต้องส่งเพียงทัพ “พระยาพะสิม” และ “พระเจ้าเชียงใหม่” เข้าประชิดกรุงศรีอยุธยา ทางหนึ่งนั้นพระเจ้านันทบุเรงทรงประมาทสมเด็จพระนเรศ ด้วยเห็นว่ายังอ่อนพระชันษาคงมิอาจรับมือจอมทัพผู้ชาญณรงค์ทั้งสองได้ ทางหนึ่งก็สำคัญว่ากรุงศรีอยุธยายังบอบช้ำแต่คราวสงครามเสียกรุง ไพร่พลเสบียงกรังยังมิบริบูรณ์คงยากจะรักษาพระนคร ครั้งนั้นพม่ารามัญยกเข้ามาเป็นศึกกระหนาบถึง 2 ทาง ทัพพระยาพะสิมยกเข้ามาทางด่านพระเจดีย์สามองค์เลยล่วงเข้ามาถึงแดนสุพรรณบุรี ส่วนพระเจ้าเชียงใหม่-นรธาเมงสอมาจากทางเหนือ นำทัพบุกลงมาตั้งค่ายถึงบ้านสระเกศ แขวงเมืองอ่างทอง กิตติศัพท์การชนะศึกของสมเด็จพระนเรศหลายครั้งหลายคราระบือไกลถึงแผ่นดินละแวก “เจ้ากรุงละแวก” มิได้ทอดธุระ ได้ลอบส่งจารชนชาวจีนฝีมือกล้านามว่า “พระยาจีนจันตุ” มาลอบสืบความที่กรุงศรีอยุธยาแต่ถูกจับพิรุธได้จนต้องลอบตีสำเภาหนีกลับกรุงละแวก สมเด็จพระนเรศทรงนำทัพเรือออกตามจนเกิดยุทธนาวี แต่พระยาจีนจันตุหนีรอดได้ เมื่อเจ้ากรุงละแวกได้ทราบกิตติศัพท์การณรงค์ของพระนเรศจึงเปลี่ยนพระทัยหันมาสานไมตรีกับอยุธยา และส่ง “พระศรีสุพรรณราชาธิราช” ผู้อนุชามาช่วยอยุธยาทำศึกหงสา หากแต่พระศรีสุพรรณผู้นี้ต่างจากเจ้ากรุงละแวกเพราะหาใคร่พอใจผูกมิตรด้วยอยุธยา การได้พระศรีสุพรรณฯ มาเป็นสหายศึกจึงประหนึ่งอยุธยาได้มาซึ่งหอกข้างแคร่

กำลังแสดงผลลัพธ์ทั้งหมด 3 รายการ