หวีดสยอง รับน้องใหม่ (2550/2007) เรื่องราวของกลุ่มนักศึกษาใหม่ซึ่งสมัครเข้าชมรมภาพยนตร์ และได้ไปรับน้องที่ต่างจังหวัด โดยมี พาย หนูนา ตั้ม และแมน ไปด้วย แต่เมื่อไปถึงสถานที่รับน้อง ซึ่งเป็นรีสอร์ทกลางป่าใหญ่ ได้มีนักศึกษาหายไปทีละคน ทำให้กลุ่มนักศึกษาต่างพากันหวาดกลัวและพยายามที่จะหาทางหนีกลับบ้านแต่ก็ไปไม่รอด
นารีผล (2550/2007) *ปีอาจไม่ตรง* ต้นไม้ปีศาจ ซ่อนเร้นแรงเสน่หา หลอกล่อให้ทุกคนเข้าสู่ความตาย นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งได้ค้นพบว่าผลไม้นารีผลสามารถรักษาโรคได้ จึงเดินทางเข้าป่าเพื่อไปหาผลไม้ดังกล่าว แต่ระหว่างทางพวกเขาต้องพบกับอุปสรรคมากมาย จนได้เข้าไปในเขตทะเลหมอกซึ่งเป็นเขตอาถรรพ์ของป่านารีผล ปีศาจซึ่งสิงอยู่ในลูกนารีผลได้กลายร่างเป็นหญิงสาวสวยออกมาเพื่อหลอกล่อให้แต่ละคนเข้าไปหาและฆ่าตายทีละคน สุดท้ายจะมีใครสามารถเอาชีวิตออกมาจากป่าอาถรรพ์ได้หรือไม่
เขี้ยว..เพชฌฆาต (2550/2007) *ปีอาจไม่ตรง* อสรพิษร้ายที่คอยไล่ล่าผู้มาเยือนด้วยคมเขี้ยวมรณะ การแข่งขันแรลลี่ของกลุ่มนักเดินทาง ที่เกิดพลัดหลงเข้าไปในป่าลึกจนทำให้พวกเขาต้องเผชิญหน้ากับโจรป่าและสัตว์ร้ายที่ค่อย ๆ ฆ่าชีวิตของพวกเขาทีละคน ๆ โดยเฉพาะสรพิษร้ายซึ่งมีเขี้ยวอันแหลมคมที่คอยไล่ล่าพวกเขาด้วยเช่นกัน เพราะแค้นที่กลุ่มนักเดินทางได้ไปทำร้ายไข่ของพวกมัน
วีดีโอคลิปสยอง (2550/2007) *ปีอาจไม่ตรง* คนรัก....เพื่อนรัก....คลิปฉาว...และความตาย... อามาโนะ นักธุรกิจหนุ่ม ต้องการตัดขาดความสัมพันธ์กับทิม เมียน้อยของเขา ทำให้เธอเสียใจมาก กิ๊ก จึงพาไปหาอาจารย์คงเพื่อทำเสน่ห์ แต่อาจารย์คงหลอกให้ทิมมีความสัมพันธ์กับเขา แล้วแอบถ่ายคลิปวีดีโอเก็บไว้ อามาโนะกลับมาหาทิมอีก ทิมจึงแอบถ่ายคลิปส่งไปให้ภรรยาของเขาจนเธอเสียใจและตรอมใจตาย ทิมเสียใจมาก แต่ก็ได้เต้ย คอยปลอบใจ เธอจึงตัดสินใจแต่งงานกับเต้ย และในวันแต่งงานคลิปฉาวของทิมก็ถูกปล่อยออกมา สุดท้ายเรื่องราวของคลิปสยองนี้จะจบลงอย่างไร และใครคือผู้อยู่เบื้องหลังเรื่องทั้งหมด
The Passion Python เมียงู (2550/2007) *ปีอาจไม่ตรง* ลดา เด็กสาวกำพร้า ที่เติบโตมาพร้อมกับงูเผือก เธอมีฝันอยากเป็นนักแสดง จนกระทั่ง เธอได้พบกับเจ๊ไก่ที่ชักนำเธอเข้าสู่วงการบันเทิง แต่โชคชะตากลับเล่นตลก เพราะยิ่งเธอ ประสบความสำเร็จ เธอก็ยิ่งถูกคนรอบข้างกลั่นแกล้งและทำร้าย รวมถึง วิศวะ หนุ่มคนรัก ของเธอด้วย แต่โชคดีที่งูเผือกคอยช่วยเหลือเธอตลอด ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับ งูตัวนั้นลึกซึ้งจนยากที่จะอธิบายได้ และนี่เองจึงเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวความรักความ ผูกพันระว่างคนกับงู ที่ไม่มีใครรู้นอกจากเธอ...
สู้นี้เพื่อเธอ (Sumolah) (2550/2007) "อาฟฟลิน" ชายหนุ่มซึ่งอ่อนแอ แต่เมื่อเกิดความรักแท้ ทำให้เขาได้รับแรงบันดาลใจ พยายามทำทุกสิ่งเพื่อคนที่เขารัก เพื่อจุดหมายที่คาดหวังไว้ ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการร่วมทุนถ่ายทำถึง 3 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น, มาเลเซียและประเทศไทย และเปิดฉายที่มาเลเซีย และญี่ปุ่น เป็นที่เรียบร้อย เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับกีฬาประจำชาติของประเทศญี่ปุ่น นำมาร้อยเรียงเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนที่ท้อแท้ สิ้นหวัง
Final Score 365 วัน ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์ (2550/2007) เรื่องราวการเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย ของเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 4 คน ในช่วงปีการศึกษา พ.ศ. 2548 ซึ่งเป็นปีแรกที่ใช้การสอบแอดมิดชันส์ แทนการสอบเอ็นทรานซ์ และชีวิตที่ถูกฟันธงของเด็ก ปี 2549 ปีนี้ไม่เหมือนปีไหน ๆ เพราะมันเป็นปีที่ปฏิทินการเมืองร้อนระอุด้วยม็อบกู้ชาติ ปีที่ใคร ๆ ก็ถามไถ่ "ไปพารากอนมารึยัง?" ปีที่ขวัญและกำลังใจของนักเรียน ม.6 แหลกสลาย เมื่อพระพรหมเอราวัณถูกทุบทำลาย ที่สำคัญมันเป็นปีแรกของการประกาศใช้ระบบแอดมิชชั่นส์ ปีนี้... วัยรุ่นไทยวัย 17 ที่อยากเอ็นทรานซ์ต้องสอบ โอเน็ต-เอเน็ต สดจากโรงเรียน กองถ่ายภาพยนตร์สุดอึดจาก GTH ทุ่มเทเวลา 1 ปีเต็มเฝ้าติดตามชีวิตของนักเรียน ม.6 จำนวน 4 คนในปีที่พวกเขาก้าวเข้าสู่สนามการแข่งขันที่ดุเดือดที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต โดยไม่รู้ว่าพระเจ้าจะดลบันดาลใจให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง
ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๑ องค์ประกันหงสา

ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๑ องค์ประกันหงสา (2550/2007) พุทธศักราช 2106 “พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง” ทรงกรีฑาทัพเข้าตีราชอาณาจักรอยุธยาทางด่านระแหงแขวงเมืองตาก ทัพพม่ารามัญซึ่งมีรี้พลเหลือคณานับได้เข้ายึดครองหัวเมืองฝ่ายเหนือของราชอาณาจักรอยุธยาอันมีเมืองพิษณุโลกเป็นประหนึ่งเมืองราชธานีได้เป็นผลสำเร็จ ครั้งนั้น “สมเด็จพระมหาธรรมราชา” (ฉัตรชัย เปล่งพานิช) พระราชบิดาของ “สมเด็จพระนเรศวร” หรือ “พระองค์ดำ” (ปรัชฌา สนั่นวัฒนานนท์) ซึ่งเป็นเจ้าแผ่นดินครองเมืองพิษณุโลกจำต้องยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าบุเรงนองเพื่อรักษาไว้ซึ่งชีวิตอาณาประชาราษฎร์มิให้ต้องมีภยันตรายและจำต้องยอมร่วมกระบวนทัพพม่าเข้าตีกรุงศรีอยุธยา ศึกครั้งนั้นสมเด็จพระมหา จักรพรรดิเจ้าแผ่นดินอยุธยาทรงยอมเจรจาหย่าศึกกับพม่ารามัญ และยอมถวายช้างเผือก 4 เชือก ทั้งให้สมเด็จพระราเมศวรราชโอรสโดยเสด็จพระเจ้าบุเรงนองไปประทับยังนครหงสาวดีตามพระประสงค์ของกษัตริย์พม่า ข้างสมเด็จพระมหาธรรมราชาซึ่งได้ยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าบุเรงนองก็ได้ถวายสมเด็จพระนเรศวรราชโอรสองค์โตให้ไปเป็นองค์ประกันประทับยังหงสาประเทศเฉกเช่นกัน ครั้งนั้นพระองค์ทรงมีพระชนมายุได้เพียง 9 ชันษา สมเด็จพระนเรศวรทรงเป็นที่รักใคร่ของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองประดุจพระราชบุตรร่วมสายสันตติวงศ์ ด้วยองค์ยุพราชอยุธยาทรงมีพระปรีชาสามารถด้านพิชัยยุทธ ทั้งยังองอาจกล้าหาญสบพระทัยกษัตริย์พม่าซึ่งก็ทรงเป็นนักการทหาร นิยมผู้มีคุณสมบัติเป็นนักรบเยี่ยงพระองค์ พระเจ้าบุเรงนองทรงมีสายพระเนตรยาวไกล แลเห็นว่าสืบไปเบื้องหน้าสมเด็จพระนเรศวรจะได้ขึ้นเป็นใหญ่ในอุษาคเนย์ประเทศ จึงทรงคิดใคร่ปลูกฝังให้สมเด็จพระนเรศวรผูกพระทัยรักแผ่นดินหงสา เพื่อจะได้อาศัยพระองค์เป็นผู้สืบอำนาจอุปถัมภ์ค้ำชูราชอาณาจักรซึ่งพระองค์ทรงสถาปนาขึ้นด้วยความยากลำบาก เป็นที่ประจักษ์ชัดว่าพระเจ้าบุเรงนองนั้นหาได้วางพระทัยในพระราชโอรสคือ “มังเอิน – พระเจ้านันทบุเรง” (จักรกฤษณ์ อำมะรัตน์) และพระราชนัดดา “มังสามเกียด” (โชติ บัวสุวรรณ) นัก ถึงแม้ทั้งสองพระองค์จะทรงเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขโดยตรง ด้วยทรงเล็งเห็นว่าราชนิกุลทั้งสองพระองค์นั้นหาได้เป็นผู้ทรงคุณธรรมอันจะน้อมนำเป็นพื้นฐานให้เติบใหญ่เป็นบูรพกษัตริย์ ปกป้องครองแผ่นดินที่พระองค์ทรงสร้างและทำนุบำรุงมาด้วยกำลังสติปัญญาและความรักใคร่หวงแหน เหตุทั้งนี้เป็นชนวนให้พระเจ้านันทบุเรงและราชโอรสมังสามเกียดขัดพระทัย ทั้งผูกจิตริษยาสมเด็จพระนเรศวรซึ่งเป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองกว่าราชนิกุลข้างพม่าทั้งหลายทั้งสิ้น พระเจ้าบุเรงนองทรงโปรดให้ “พระมหาเถรคันฉ่อง” (สรพงษ์ ชาตรี) พระรามัญผู้มากด้วยวิทยาคุณและเจนจบในตำราพิชัยสงครามเป็นพระอาจารย์ถ่ายทอดศิลปะวิทยาการแก่สมเด็จพระนเรศวร นับแต่เริ่มเข้าประทับในหงสานครยังผลให้ยุพราชอยุธยาเชี่ยวชาญการยุทธ กลช้าง กลม้า กลศึก ทั้งข้างอยุธยาและข้างพม่ารามัญหาผู้เสมอเหมือนมิได้ ข้อได้เปรียบตามกล่าวเป็นเสมือนทุนทางปัญญาอันส่งผลให้สมเด็จพระนเรศวรสามารถกอบกู้เอกราช แก้ทางศึกจนมีชัยเหนือพม่ารามัญในภายภาคหน้า พุทธศักราช 2112 ปรากฏข่าวระบือไปถึงหงสาวดีว่าหัวเมืองพิษณุโลกฝ่ายเหนือแลกรุงศรีอยุธยาราชธานีฝ่ายใต้ของราชอาณาจักรสยามครั้งนั้นเกิดขัดแย้งปีนเกลียวกัน เหตุเนื่องมาจาก “สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ” (ศรัณยู วงศ์กระจ่าง) เจ้าแผ่นดินอยุธยาเสด็จออกผนวช แลสถาปนา “สมเด็จพระมหินทร์” (สันติสุข พรหมศิริ) ราชโอรสองค์รองขึ้นเสวยราชสมบัติสืบแทน สมเด็จพระมหินทร์ทรงคลางแคลงพระทัยในความจงรักภักดีของสมเด็จพระมหาธรรมราชาแต่ครั้งสงครามชิงช้างเผือกในปีพุทธศักราช 2106 ขณะที่เจ้าแผ่นดินพิษณุโลกก็หาได้ยำเกรงสมเด็จพระมหินทร์เช่นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เมื่อเห็นการใดมิควรก็บังคับบัญชาให้สมเด็จพระมหินทร์ปฏิบัติตามพระประสงค์จนเป็นที่ขุ่นเคืองพระราชหฤทัยกษัตริย์อยุธยาพระองค์ใหม่ถึงกับหันไปสมคบกับ “สมเด็จพระไชยเชษฐาธิราช” (รอน บรรจงสร้าง) พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตล้านช้างร่มขาวร่วมกันแต่งกลเข้าตีเมืองพิษณุโลก แต่กระทำการมิสำเร็จพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองเห็นเชิงสบโอกาสก็ยกทัพใหญ่เข้าตีกรุงศรีอยุธยาอีกคำรบ ครั้งนั้นสมเด็จพระนเรศวรร่วมโดยเสด็จมากับทัพหงสาแต่หาได้ตามพระเจ้าบุเรงนองลงมาล้อมกรุงศรีอยุธยา ทรงประทับอยู่เพียงเมืองพิษณุโลก มีเพียงสมเด็จพระมหาธรรมราชาโดยเสด็จกษัตริย์หงสาลงมาล้อมกรุงด้วยตั้งพระทัยจะเกลี้ยกล่อมให้สมเด็จพระมหินทร์ยอมสวามิภักดิ์พระเจ้าบุเรงนอง เพราะเล็งเห็นว่าอยุธยายากจะต่อรบเอาชัยทัพพม่ารามัญซึ่งมีกำลังไพร่พลเหนือกว่าได้ หากขัดขืนต่อรบจะได้ยากแก่สมณชีพราหมณ์อาณาประชาราษฎร์ ศึกครั้งนั้นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงลาผนวชมาบัญชาการรบด้วยพระองค์เอง แต่อยู่ได้มิช้านานก็เสด็จสวรรคตเสียระหว่างศึกพุทธศักราช 2112 มะเส็งศก วันอาทิตย์ เดือน 9 แรม 11 ค่ำ กรุงศรีอยุธยาก็เสียแก่พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง ข้างสมเด็จพระนเรศวรซึ่งประทับอยู่ยั้งยังนครพิษณุโลกแต่ต้นศึก หาได้ทรงเห็นงามหรือคิดครั่นคร้ามอ่อนน้อมต่อหงสา ถึงจะทรงรู้ซึ้งว่าสมเด็จพระมหาธรรมราชาพระราชบิดามิได้คิดคดเป็นกบฏต่อแผ่นดิน แต่ก็หาได้เห็นด้วยกับการอ่อนข้อสวามิภักดิ์พม่ารามัญ น้ำพระทัยอันมั่นคงเด็ดเดี่ยวนั้น ถึงแม้จะมิได้แพร่งพรายถึงพระกรรณพระเจ้าบุเรงนอง แต่ก็ประจักษ์อยู่ในหมู่ข้าราชบริพารใกล้ชิดผู้รักและหวงแหนในเอกราชของแผ่นดินจึงพากันนิยมในน้ำพระทัย แลพร้อมใจถวายความจงรักภักดีแต่นั้นมา ครั้นเสร็จศึกอยุธยาพุทธศักราช 2112 สมเด็จพระมหาธรรมราชาทรงถวาย “พระสุพรรณกัลยา” (เกรซ มหาดำรงค์กุล) พระพี่นางสมเด็จพระนเรศวรแก่พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง แลขอตัวสมเด็จพระนเรศวรไว้ช่วยราชการข้างอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรจึงประทับยั้งอยู่ยังเมืองพิษณุโลก สืบต่อมาครั้นลุปีพุทธศักราช 2114 สมเด็จพระมหาธรรมราชา ซึ่งพระเจ้าบุเรงนองสถาปนาขึ้นเป็นกษัตริย์ครองกรุงศรีอยุธยาสืบต่อจากสมเด็จพระมหินทร์ก็โปรดให้สมเด็จพระนเรศวรเสวยราชย์ครองเมืองพิษณุโลกเป็นใหญ่เหนือหัวเมืองเหนือทั้งปวง เหตุการณ์ข้างพม่า หลังจากพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองสิ้นพระชนม์ในปีพุทธศักราช 2124 พระเจ้านันทบุเรงได้ขึ้นเสวยราชสืบต่อและได้สถาปนามังสามเกียดขึ้นเป็นรัชทายาทครองตำแหน่งมหาอุปราชาแห่งราชอาณาจักรหงสาวดี เมื่อแผ่นดินหงสามีอันต้องผลัดมือมาอยู่ในปกครองของพระเจ้านันทบุเรง สัมพันธไมตรีระหว่างอยุธยาและหงสาวดีก็เริ่มสั่นคลอน ด้วยพระเจ้าหงสาวดีพระองค์ใหม่มิได้วางพระทัยในสมเด็จพระนเรศวร และสมเด็จพระนเรศวรเองก็หาได้เคารพยำเกรงในบุญบารมีของพระเจ้าแผ่นดินพม่ารามัญเช่นกาลก่อน มิเพียงเท่านั้นสมเด็จพระนเรศวรยังได้ทรงแสดงพระปรีชาสามารถให้เป็นที่ปรากฏครั่นคร้าม ดังคราวนำกำลังทำยุทธนาวีกับพระยาจีนจันตุและศึกเมืองคังเป็นอาทิ พระเจ้านันทบุเรงทรงเกรงว่าสืบไปเบื้องหน้าสมเด็จพระนเรศวรจะเป็นภัยต่อพระราชวงศ์แลแผ่นดินหงสา จึงหาเหตุวางกลศึกหมายจะปลงพระชนม์สมเด็จพระนเรศวรเสียที่เมืองแครง แต่พระมหาเถรคันฉ่องพระราชครูลอบนำแผนประทุษร้ายนั้นมาแจ้งให้ศิษย์รักได้รู้ความ สมเด็จพระนเรศวรจึงถือเป็นเหตุประกาศเอกราช ตัดสัมพันธไมตรีกับหงสาวดี แลกวาดต้อนครัวมอญไทยข้ามแม่น้ำสะโตงกลับคืนพระนคร ซึ่งเป็นชนวนให้พระเจ้านันทบุเรงเปิดมหายุทธสงครามสั่งทัพเข้ารุกรานราชอาณาจักรอยุธยาสืบแต่นั้นมา

วังนางเงือก (2550/2007) มิติแห่งกาลเวลา นำพาความรักมาสู่เขาและเธอ ชลาชล ได้เขียนเรื่องราวเกี่ยวกับเงือกที่บ้านพักชายทะเลแห่งหนึ่ง และระหว่างที่เขากำลังเขียนพ็อตเรื่องอยู่นั้น ได้เกิดปาฏิหาริย์เรื่องมิติเวลา ทำให้เขาได้พบกับหญิงสาวนางหนึ่งซึ่งหลุดออกมาโดยที่ชลาชลเองก็ไม่รู้ตัว เขาจึงให้หญิงสาวอาศัยอยู่ด้วยโดยไม่รู้เลยว่าเธอเป็นนางเงือก จากวันเวลาที่อยู่ด้วยกันหัวใจของทั้งสองก็เกิดเป็นความรัก แต่ก็ไม่อาจคู่กันได้เพราะมิติแห่งกาลเวลาที่กำลังจะพรากให้เขาทั้งสองจากกัน